โดยคุณดุษณี เกลียวปฏินนท์ CFP
สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ในที่สุดก็ได้บทสรุปเสียทีนะคะ สำหรับภาษีการรับมรดก &ภาษีการให้ ที่จะมีผลในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
หลายท่านอาจคิดว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องเนื่องจาก จำนวนเงินสูงถึง 100 ล้านบาท (หลังหักนี้สิน) ต่อหนึ่งผู้รับมรดก แต่ขอให้ใช้โอกาสนี้ในการเตรียมความพร้อมและเริ่มวางแผนการเงินด้านมรดกและการส่งต่อความมั่นคั่งนะคะ
ในเรื่องภาษีมรดก ขอสรุปง่ายๆเป็น 3 คำถามหลักเพื่อการเตรียมความพร้อมนะคะ
1.ใครต้องเสียภาษีมรดก : ผู้รับมรดก ไม่ว่าจะเป็น
-บุคคล (สัญชาติไทย หรือ ต่างชาติที่อยู่ในไทย เกิน 3ปีหรือ มีทรัพย์มรดกอยู่ในประเทศไทย)
-นิติบุคคล (จดทะเบียนในประเทศไทย หรือจัดตั้งตามกฎหมายไทย หรือมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นเกินร้อยละ 50 หรือ มีผู้มีสัญชาติไทยเป็นผู้บริหารกิจการเกินกึ่งหนึ่งของคณะบุคคลซึ่งมีอำนาจบริหารกิจการ)
ยกเว้น
คู่สมรสของเจ้ามรดก
-กรณี เจ้ามรดกเสียชีวิตก่อน ก.พ 2559
-มรดกที่ยกให้การกุศล เช่น ศาสนา การศึกษา สาธารณประโยชน์
-บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศตามข้อผูกพันที่ไทยมีต่อองค์การสหประชาชาติ หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ
2.ทรัพย์สินอะไรที่เข้าข่าย : ทรัพย์สินทั่วโลก (ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ) โดยในเบื้องต้นครอบคลุมทรัพย์ที่มีทะเบียนต่างๆ 4 ประเภท คือ
-อสังหาริมทรัพย์ (ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง) โดยตีมูลค่าตามราคาประเมินกรมธนารักษ์หักด้วยภาระที่ถูกรอนสิทธิ์ (ถ้ามี)
-หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วย หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร หน่วยลงทุน หุ้น วอแรนท์ หุ้นกู้) ตามราคาปิด ณ วันที่ได้มรดก กรณี บริษัทนอกตลาด ใช้ราคาตามมูลค่าทางบัญชี
-เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายกัน (เงินฝาก, B/E, PN, NCD เป็นต้น)
-ยานพาหนะ ที่มีหลักฐานทางทะเบียน (รถยนต์ เครื่องบิน เรือ)และ ทรัพย์สินอื่น รอกำหนดเพิ่มในราชกฤษฎีกา
3.อัตราภาษี : คิดเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้าน ในอัตรา 5% (บุพการี และผู้สืบสันดาน) และ 10% (บุคคลอื่นๆ)
สำหรับ การให้ซึ่งเป็นการโอนทรัพย์สินโดยเสน่หา (ปราศจากค่าตอบแทน) เสียภาษี 5 % โดยแบ่งเป็น สังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ กรณี อสังหา จะมีส่วนยกเว้นคือผู้สืบสันดานเท่านั้น
ในขณะที่อสังหาริมทรัพย์จะยกเว้น 20 ล้านแรก สำหรับ คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน และ 10 ล้านแรกสำหรับบุคคลอื่นที่ให้ตามหน้าที่ ธรรมจรรยา หรือโอกาสประเพณี
ข้อควรระวัง
1.ผู้รับมรดกมีหน้าที่ยื่นแบบภาษีภายใน 150 วัน หลังจากได้รับมรดกซึ่งรวมแล้วมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท โดยสามารถขอผ่อนเป็นงวดได้สูงสุด 5 ปี
2.การยื่นเสียภาษีไม่ถูกต้อง กรมสรรพากรสามารถทำการประเมินภาษีใหม่ และสามารถยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินส่วนที่ชำระภาษีไม่ถูกต้องได้ โดยไม่ต้องขอหมายศาล
3.มีบทลงโทษทั้งทางแพ่ง และอาญา (จำคุก)
คำแนะนำ สำหรับการวางแผนมรดก และการเตรียมเรื่องภาษีมรดก
-จัดทำบัญชีทรัพย์สิน (รายละเอียด ราคาซื้อ และราคาตลาด สถานที่ที่เก็บเอกสารสำคัญ ผู้ดูแลเอกสาร) และ ทบทวนราคาและรายการ ตลอดจนการแบ่งทรัพย์สินแก่ทายาทให้เป็นปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ อย่าลืมระบุภาระหนี้สินนอกเหนือจากทรัพย์สินด้วย
-บอกกล่าวแก่คนใกล้ชิด โดยควรกำหนดวันที่จะทบทวนกัน ล่วงหน้า เช่น ทุกวันครบรอบแต่งงาน วันเกิด วันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น เพื่อจะได้ไม่ลืม และสร้างเป็นนิสัย
-ทำพินัยกรรม โดยปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน เพื่อป้องการความขัดแย้ง รวมถึงเป็นการวางแผนทางภาษี (คู่สมรสไม่โดนภาษีมรดก) และให้ได้มรดกตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง โดยกำหนดผู้จัดการมรดกตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ผู้รับผลประโยชน์ห้ามเซ็นเป็นพยานในพินัยกรรมนะคะ
-จัดโครงสร้าง และวางแผนการสืบทอดกิจการเพื่อให้กิจการสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยอาจให้ทายาทที่มีความเหมาะสมและมีความสามารถ บริหารกิจการต่อ และให้มรดกอื่นแก่ทายานอื่นที่มีความถนัดด้านอื่น
-ทำประกันชีวิตโดยยกผลประโยชน์ให้ทายาท นอกจากเงินประกันได้รับยกเว้นภาษีมรดกแล้ว ยังใช้เป็นการเตรียมเงินเพื่อเป็นภาษีมรดกไว้ล่วงหน้าให้แก่ทายาทได้อีกทาง
-ปรึกษาที่ปรึกษาทางภาษี เพิ่มเติม ทั้งด้านภาษีและการทำพินัยกรรมและอย่าลืมแบ่งเงินบริจาคเงินเพื่อการกุศลในพินัยกรรม (ไม่เสียภาษีมรดก) และใช้เงินเพื่อความสุขส่วนตัวตอนมีชีวิตนะคะ