xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 6-12 ธ.ค.2558

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 ภาพบรรยากาศกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติ ปั่นเพื่อพ่อ BIKE FOR DAD เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“สมเด็จพระบรมฯ” พร้อมด้วย “พระองค์ภา-องค์สิริวัณณวรีฯ” ทรงนำขบวน “ปั่นเพื่อพ่อ BIKE FOR DAD” ประชาชนสุดปลาบปลื้ม ลงทะเบียนร่วมปั่นกว่า 6 แสนคน!

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. เวลา 15.19 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้นำขบวนประชาชนทั่วประเทศร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ่านกิจกรรม “ปั่นเพื่อพ่อ BIKE FOR DAD” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา 5 ธ.ค. 2558

ทั้งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจักรยานพระที่นั่งออกจากพระที่นั่งอัมพรสถาน ไปยังพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระลานพระราชวังดุสิต พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เพื่อทรงเป็นประธานเปิดกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คณะองคมนตรี และคณะรัฐมนตรี เฝ้าฯ รับเสด็จ

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงมุ่งมั่นให้ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่ารวมพลังความสามัคคี แสดงความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า กิจกรรมครั้งนี้ มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมทุกจังหวัดทั่วประเทศจำนวน 607,909 คน ประกอบด้วย ผู้ลงทะเบียนใน กทม. 99,999 คน ในภูมิภาค 75 จังหวัด 498,105 คน ในต่างประเทศ 9,805 คน นอกจากนี้ยังมีคณะทูตานุทูต ผู้แทนส่วนราชการ และองค์กรต่างๆ รวมทั้งตัวแทนผู้พิการจำนวนกว่า 6,000 คน

สำหรับเส้นทางกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติใน กทม. มีจุดเริ่มต้น ณ พระลานพระราชวังดุสิต เข้าสู่ถนนศรีอยุธยาไปจนถึงแยกมักกะสัน เลี้ยวขวาเข้าถนนราชปรารภ เมื่อถึงแยกราชประสงค์เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนพระรามที่ 1 ต่อด้วยถนนพญาไท และเลี้ยวซ้ายเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นจุดพักที่ 1 จากนั้นผ่านแยกสามย่านเข้าสู่ถนนพระรามที่ 4 ผ่านแยกศาลาแดง เลี้ยวขวาเข้าถนนสีลม ตามด้วยถนนเจริญกรุง ไปจนถึงวงเวียนโอเดียน เข้าถนนเยาวราช จนถึงแยกวัดตึก แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนจักรวรรดิ ข้ามสะพานพระปกเกล้า แล้วกลับรถรอบวงเวียนใหญ่ เข้าถนนประชาธิปก ผ่านแยกบ้านแขก เข้าถนนอรุณอมรินทร์ และเข้าสู่พระราชวังเดิม ภายในกองบัญชาการกองทัพเรือ ซึ่งเป็นจุดประทับที่ 2 จากนั้นเข้าสะพานพระราม 8 กลับเข้าถนนราชดำเนินนอก ก่อนกลับสู่พระลานพระราชวังดุสิต รวมระยะทาง 29 กิโลเมตร ทรงใช้เวลาปั่น 2 ชั่วโมง 9 นาที โดยตลอดเส้นทางจักรยานเฉลิมพระเกียรติ ได้มีประชาชนมารอเฝ้าฯ รับเสด็จเพื่อชื่นชมพระบารมี พร้อมเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ

ทั้งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจักรยานนำขบวนเอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงนำขบวนบี และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ทรงนำขบวนซี โดยตลอดเส้นทางที่ทรงจักรยาน ทั้ง 3 พระองค์ทรงแย้มพระสรวลและโบกพระหัตถ์ทักทายประชาชนอย่างเป็นกันเอง สร้างความปลาบปลื้มแก่ประชาชนที่เฝ้าฯ รับเสด็จเป็นอันมาก

2.ไทยเฮ “เอียซา” ไม่แบนสายการบินของไทย บินไปยุโรปได้ตามปกติ แต่จะจับตาการแก้ไขด้านความปลอดภัยต่อไปอย่างใกล้ชิด!

 การบินไทย
ตามที่หลายฝ่ายลุ้นกันว่า วันที่ 10 ธ.ค. สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป(เอียซา) จะประกาศผลการตรวจสอบสายการบินของไทยออกมาในรูปแบบใด จะซ้ำรอยสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา(เอฟเอเอ) ที่ประกาศลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของไทยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาหรือไม่ หากไปในแนวทางเดียวกัน จะส่งผลให้สายการบินของไทยไม่สามารถบินไปยุโรปได้นั้น

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. รายงานข่าวจากคณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า สายการบินของไทยไม่ได้ถูกจัดอยู่ในแบล็กลิสต์ด้านความปลอดภัยทางอากาศ โดยคณะกรรมาธิการยุโรป และเอียซา ระบุว่า ยินดีที่จะทำงานร่วมกับทางการไทย เพื่อปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยต่อไป

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปและเอียซาจะติดตามการปรับปรุงแก้ไขของทางการไทยในอนาคตอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร ทางคณะกรรมาธิการยุโรปก็ยังสามารถเสนอให้เพิ่มสายการบินจากประเทศไทยเข้าไปในลิสต์ได้

ด้านผู้แทนสหภาพยุโรปประเจำประเทศไทย ได้เผยแพร่เอกสารข่าว มีใจความว่า คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ด้วยการสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการความปลอดภัยทางอากาศ ได้ตัดสินใจไม่ลงรายชื่อสายการบินของประเทศไทยในรายชื่อความปลอดภัยทางอากาศของอียู (EU Air Safety List) โดยการตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นเนื่องจากคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเชื่อมั่นในความมุ่งมั่นและความพยายามอย่างต่อเนื่องของทางการไทยในการจัดการปัญหาในระดับสูงสุดต่อข้อกังวลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และดำเนินการสร้างระบบที่จะรับรองความปลอดภัยสูงสุดของการขนส่งทางอากาศของประเทศในระยะยาว รวมทั้งความมุ่งมั่นที่โดดเด่นของไทยในการให้การสนับสนุนที่จำเป็นแก่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อการดำเนินงานที่เป็นอิสระและปราศจากการแทรกแซง

ด้านนายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน และรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่เอียซาประเมินให้ไทยผ่านมาตรฐานด้านการบิน เป็นผลจากแผนงานแก้ปัญหาของไทยที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจแก้ปัญหา ที่ได้มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ปัญหาการบินพลเรือน และหยุดการออกใบอนุญาตทันที จนกว่าจะสามารถแก้ปัญหาด้านมาตรฐานการบินได้ รวมถึงการร่วมมือกับเอียซาในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จึงทำให้ไทยได้คะแนนในส่วนนี้มาก

ขณะที่นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าว ว่า การบินไทยยังคงรักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยในระดับสูง โดยยึดมาตรฐานของเอียซาเป็นแนวทาง นอกจากนี้ การบินไทยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนและร่วมมือกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ในการทบทวนการต่ออายุใบรับรอง (Recertificate) ที่จะเกิดขึ้นต่อไป รวมทั้งให้ความช่วยเหลือสายการบินอื่นๆ ของประเทศไทย ในการยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัย เพื่อให้ธุรกิจการบินของประเทศไทยมีความเข้มแข็งขึ้นโดยเร็ว

อนึ่ง ปัจจุบัน การบินไทยมีเส้นทางบินสู่ยุโรป 11 จุดหมายปลายทาง ได้แก่ ลอนดอน, โคเปนเฮเกน, แฟรงก์เฟิร์ต, บรัสเซลส์, มิวนิก, ออสโล, ปารีส, สตอกโฮล์ม, ซูริก, มิลาน และโรม

3.“ประยุทธ์-ประวิตร” ฉุนถูกกลุ่ม ปชต.ใหม่ทำแผนผังโยงทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ด้าน จนท.รวบคนแพร่แผนผังแล้ว ขณะที่ “อุดมเดช” ตำหนิ “ไพบูลย์” รีบฟันธงมีทุจริต!

(บน) จนท.คุมตัวนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว กลุ่ม ปชต.ศึกษา ที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง เพื่อเจรจาไม่ให้ไปอุทยานราชภักดิ์ (ล่าง) นายจตุพร และนายณัฐวุฒิ ยื่นข้อมูลให้ รมว.ยุติธรรม ตรวจสอบทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์
ความคืบหน้าปมปัญหาเกี่ยวกับการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่พรรคเพื่อไทยและแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) พยายามจี้ให้รัฐบาลตรวจสอบทุจริตการก่อสร้างอุทยานดังกล่าว แม้คณะกรรมการตรวจสอบที่ผู้บัญชาการทหารบกตั้งขึ้นจะสรุปว่า การก่อสร้างโปร่งใสไร้การทุจริต แต่ก็ไม่ทำให้บางฝ่ายหายคาใจ กระทั่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาตรวจสอบ แต่ขณะที่ยังไม่รู้ผล แกนนำ นปช.นำโดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้ออกมาเคลื่อนไหว ด้วยการประกาศจะเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์เพื่อตรวจสอบการทุจริต ซึ่งในที่สุด ไปไม่ถึง เพราะถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวไปทำความเข้าใจและทำข้อตกลงว่าจะไม่เคลื่อนไหวหรือชุมนุมทางการเมืองหรือก่อความขัดแย้งใดๆ เพราะจะขัดต่อข้อตกลงที่ทำไว้กับ คสช.ก่อนหน้านี้ หากฝ่าฝืนพร้อมให้ดำเนินคดีและระงับธุรกรรมทางการเงินนั้น

ปรากฏว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวสอดคล้องกับแกนนำ นปช.คือ กลุ่มประชาธิปไตยศึกษา นำโดยนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่าจะนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ในวันที่ 7 ธ.ค.เพื่อส่องแสงหากลโกง โดยบอกขบวนรถและเวลาเดินทางอย่างละเอียด แม้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะปรามว่า หากไปแล้วมีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมาย ละเมิดความสงบเรียบร้อย ต้องรับผลของการกระทำ พร้อมเตือนว่า ไม่ควรทำให้สถานที่ซึ่งสร้างขึ้นด้วยศรัทธาและความจงรักภักดีของคนไทยทั้งชาติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมัวหมองแปดเปื้อน แต่นายสิรวิชญ์ไม่สน

ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนดเดินทาง ปรากฏว่า นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ได้เดินทางไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย ขณะที่นายสิรวิชญ์ หรือจ่านิว มาถึงสถานีช้า อ้างว่ามีเจ้าหน้าที่สกัดขบวน อย่างไรก็ตาม ในที่สุดนักศึกษากลุ่มนี้ไปไม่ถึงอุทยานราชภักดิ์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้เข้าเจรจาที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง จ.ราชบุรี เพื่อไม่ให้เดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ เมื่อการเจรจาไม่สำเร็จ จึงมีการแยกตู้รถไฟที่กลุ่มประชาธิปไตยศึกษานั่งมาออกจากขบวน เพื่อให้ขบวนรถไฟที่ประชาชนโดยสารมาเดินทางต่อไปได้ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะคุมตัวจ่านิวพร้อมกลุ่มนักศึกษาและประชาชนแนวร่วมของกลุ่มดังกล่าวไปเจรจาอีกครั้ง ท่ามกลางประชาชนในพื้นที่ที่มาสังเกตการณ์และตะโกนโห่ไล่นักศึกษากลุ่มดังกล่าว

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้นักศึกษาและประชาชนกลุ่มดังกล่าวจะถูกควบคุมตัวไปเจรจา แต่สุดท้ายก็มีการปล่อยตัวในวันเดียวกัน โดยมีการทำข้อตกลงเช่นเดียวกับที่เจ้าหน้าที่เคยทำข้อตกลงกับนายจตุพรและนายณัฐวุฒิ ทั้งนี้ จ่านิวและนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยศึกษาได้ประกาศจะแถลงข่าวที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันรุ่งขึ้น(8 ธ.ค.) แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาดูแลพื้นที่ ไม่อนุญาตให้มีการแถลงข่าว โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้มีการขอใช้สถานที่ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ได้อนุญาตให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์ได้ โดยนายสิรวิชญ์ หรือจ่านิว ได้ให้สัมภาษณ์พร้อมประกาศด้วยว่า ภายในปีใหม่จะหาโอกาสนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ให้ได้

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.พูดถึงกรณีที่ทหารสกัดไม่ให้จ่านิวและกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ว่า เพราะมีคนรอตีอยู่ไม่รู้เท่าไหร่ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังอารมณ์ไม่ดีจากกรณีที่กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ทำแผนผังเปิดปมทุจริตอุทยานราชภักดิ์โดยมีการโยงถึงรัฐมนตรีในรัฐบาลและบุคคลใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าได้เห็นแผนผังดังกล่าวหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกับตอบว่า “ทุเรศ เชื่อเขาก็ตามใจ ขยายกันอยู่ได้...”

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ไม่พอใจแผนผังดังกล่าวเช่นกัน โดยบอกกับผู้สื่อข่าวว่า “เห็นแล้ว มีรูปผมด้วย ผมจะไปเกี่ยวอะไรกับอุทยานราชภักดิ์ จะต้องตรวจสอบที่มาที่ไปของผังและหาตัวผู้กระทำผิด เขียนถึงครอบครัวนายกรัฐมนตรีด้วย ประหลาดหรือไม่ คนเขียนผังนั่งเทียนเขียน...”

ทั้งนี้ ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมมือโพสต์แผนผังดังกล่าวทางโซเชียลมีเดีย ทราบชื่อคือ นายฐนกร ศิริไพบูลย์ หรือเอฟ อายุ 27 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ จ.สมุทรปราการ โดยนายฐนกรได้นำแผนผังดังกล่าวไปเผยแพร่ลงในเพจสถาบันคนเสื้อแดงแห่งชาติ เหตุผลที่ทำ เพื่อให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มคน เพื่อต่อต้านและเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ด้านเจ้าหน้าที่เผยว่า การกระทำของนายฐนกรเข้าข่ายผิดมาตรา 112 และมาตรา 116 หลังกดถูกใจรูปภาพที่ไม่เหมาะสม เข้าข่ายหมิ่นสถาบันเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา และเข้าข่ายเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้จากการตรวจสอบพบว่า กลุ่มสถาบันคนเสื้อแดงแห่งชาติ เป็นกลุ่มหมิ่นสถาบัน และเผยแพร่ข้อความไม่เหมาะสมทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างขยายผลผู้ร่วมกระทำผิดเพิ่มเติม

ส่วนความเคลื่อนไหวของนายจตุพรและนายณัฐวุฒิ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ได้เข้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานราชภักดิ์ต่อ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจาก พล.อ.ไพบูลย์ จะรับตรวจสอบเรื่องอุทยานราชภักดิ์ รวมทั้งจะให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ตรวจสอบด้วยแล้ว พล.อ.ไพบูลย์ ยังพูดเหมือนกับฟันธงว่าการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์มีการทุจริตจริง “บอกพี่น้องประชาชนได้เลยว่าเรื่องนี้มีการทุจริต เพราะผู้รับผิดชอบออกมาชี้แจงเองว่ามีการทุจริต และหากผมไปตรวจและบอกว่าไม่พบการทุจริต และมันจะอยู่กันอย่างไร”

ด้านนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่น ได้ยื่นหนังสือขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ไต่สวนข้อเท็จจริงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ๋ โดยกล่าวหา พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม โดยระบุว่า มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ากระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต

ขณะที่ พล.อ.อุดมเดช ได้ยืนยันความสุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์อีกครั้ง พร้อมชี้แจงเรื่องโรงหล่อว่า คณะกรรมการดำเนินงานอุทยานราชภักดิ์ได้ทำข้อตกลงกับโรงหล่อแล้วก็เป็นไปตามนั้น ส่วนเรื่องโรงหล่อไปคุยกับภาคเอกชนอื่น ไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมการที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่เมื่อทราบว่ามีการดำเนินการที่อาจไม่เหมาะสม ทางคณะกรรมการก็เข้าไปพูดคุยให้ออกมาในลักษณะที่เป็นบุญกุศล ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นหลักที่อาจเกิดความไม่เข้าใจและทำให้ถูกมองไปในทางไม่สุจริต พล.อ.อุดมเดช กล่าวด้วยว่า ไม่เคยคิดว่าในชีวิตจะต้องเจออะไรแบบนี้ เพราะในชีวิตผ่านการรบ ฝ่าดงระเบิดก็ผ่านมาได้ แต่กรณีนี้กระทบต่อชื่อเสียงที่สั่งสมมาตลอดชีวิต ที่ผ่านมาทำหน้าที่ปราบคนโกง ผู้มีอิทธิพล แต่กลับถูกตราหน้าว่าเป็นคนโกงเสียเอง

พล.อ.อุดมเดช ยังกล่าวตำหนิ พล.อ.ไพบูลย์ ที่ระบุว่ามีการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ว่า “เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แล้วมีคนสองคนเดินมาหา แล้วนำซองเอกสารสีน้ำตาลบางๆ มาให้... คุยกันอยู่สักพัก เสร็จแล้วมาบอกว่าทุจริตแน่นอน มีที่ไหนเขาทำกัน จริงๆ แล้วทำแบบนี้ผิด เพราะเป็นการชี้นำ เพราะกรรมการที่ตรวจสอบต้องหาคนผิดให้ได้ ต้องเป็นลักษณะที่ว่าเอาข้อมูลมาแล้วไปให้กับ สตง. ป.ป.ช. ไปไล่ดูแต่ละจุดว่ามีความผิดต่างๆ อย่างไร ไม่ใช่ออกมาพูดแบบนี้”

4.กกต. มีมติ 4 : 1 เลิกจ้าง “ภุชงค์” เลขาธิการ กกต. หลังไม่ผ่านการประเมิน ขณะที่เจ้าตัวร้องนายกฯ พร้อมแฉแหลก กกต.!

(ซ้าย) นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. (ขวา) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ อดีตเลขาธิการ กกต.
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. นายธนิศร์ ศรีประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) แถลงว่า ที่ประชุม กกต.มีมติ 4 ต่อ 1 ให้เลิกจ้างนายภุชงค์ นุตราวงศ์ จากตำแหน่งเลขาธิการ กกต. และมีมติเอกฉันท์ให้มีผลทันทีในวันเดียวกัน(8ธ.ค.) โดยให้เหตุผลที่เลิกจ้างนายภุชงค์ว่า ได้พิจารณาการปฏิบัติงานของนายภุชงค์ ประจำปี 2558 ตามที่คณะอนุกรรมการเพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานของเลขาธิการ กกต. รายงานผลต่อที่ประชุมเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมาแล้ว พบว่า นายภุชงค์ ไม่ผ่านการประเมินผลตามหลักเกณฑ์ 4 ด้านที่กำหนด คือ 1.การดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานประจำปี 2.การดำเนินการตามมติ กกต. 3.การบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล และ 4.งานที่ต้องทำในฐานะผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ที่มีความท้าทาย พัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้าตามมาตรฐานสากล

มีรายงานว่า ในการประชุม กกต.เมื่อวันที่ 1ธ.ค. หลังที่ประชุมได้รับทราบผลการประเมินของอนุกรรมการแล้ว ได้มีมติมอบหมายให้นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ไปพูดคุยกับนายภุชงค์ ถึงผลการประเมินว่านายภุชงค์จะดำเนินการอย่างไรก่อนที่จะนำมาพิจารณาอีกครั้งในการประชุม กกต.วันที่ 8 ธ.ค. แต่นายภุชงค์ยังคงยืนยันว่า พร้อมที่จะทำงานต่อไป และขอให้ กกต.พิจารณาลงมติได้เลย

ขณะที่การประชุมวันที่ 8 ธ.ค. นายภุชงค์ได้ยื่นหนังสือลาประชุม โดยระบุว่า ตกบันได มีอาการเจ็บที่แขนขวา และเมื่อ กกต.เริ่มประชุม ได้มีการหยิบยกกรณีมีคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งระบุถึงปัญหาภายใน กกต.ทำนองว่า กกต.ไม่ให้ความเป็นธรรมกับนายภุชงค์ และมีขบวนการเลื่อยขาเลขาธิการ กกต. ทำให้ที่ประชุมเห็นว่าควรจะยุติเรื่องดังกล่าวด้วยการลงมติ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีแนวคิดที่จะเลื่อนการพิจารณาเรื่องดังกล่าวออกไปอีก 1 เดือน ทำให้ที่ประชุมลงมติด้วยคะแนนเสียง 4 ต่อ 1 เลิกจ้างนายภุชงค์ โดย 4 เสียง เห็นว่า นายภุชงค์ไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบาย 9 ข้อที่ได้ให้ไว้กับ กกต.เมื่อครั้งเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ ขณะที่ 1 เสียงคือ ประธาน กกต. เห็นว่า การปฏิบัติงานของนายภุชงค์ผ่านเกณฑ์ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้สำนักงาน กกต.ไปพิจารณาเรื่องการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยนายภุชงค์ กรณีมีการนำความลับของที่ประชุม กกต.ไปเผยแพร่ผ่านสื่อ รวมถึงกรณีถูกร้องเรียนเรื่องทุจริตด้วย

ด้านนายภุชงค์ ให้สัมภาษณ์ขณะเดินทางเข้าสำนักงาน กกต.เพื่อเก็บของส่วนตัวเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ว่า หลังจากนี้จะยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ กกต.ภายใน 15 วัน แต่หาก กกต.ยังยืนยันมติเดิม ตนจะยื่นต่อศาลปกครองเพื่อขอความเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป เพื่อให้เป็นบทเรียนแก่องค์กร พร้อมยืนยันว่า การต่อสู้ครั้งนี้ ไม่ได้ต้องการกลับมารับตำแหน่งเลขาธิการ กกต.อีก โดยจะใช้เวลาหลังจากนี้ให้ความรู้ด้านประชาธิปไตยแก่เยาวชน

นายภุชงค์ ยังยืนยันด้วยว่า ตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ทำงาน กกต. ตนทำหน้าที่อย่างเต็มที่ แต่การทำงานกับ กกต.ชุดนี้ ตลอด 2 ปี มีการล้วงลูกการทำงานภายในสำนักงาน ทั้งๆ ที่เป็นอำนาจของเลขาธิการ ต่างจาก กกต.ชุดก่อนหน้าที่ให้เกียรติการทำงานแก่สำนักงาน กกต.มาโดยตลอด แต่ กกต.ชุดนี้เข้ามาล้วงลูกการทำงาน โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ มีการขึ้นเงินเดือนที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญประจำตัว กกต. การดำเนินโครงการต่างๆ มีความล่าช้า เพราะทุกโครงการถูกกรรมการ กกต.สั่งรื้อ สั่งให้แก้ไข และว่า ในการประเมินผลการทำงานที่ผ่านมา ก็ไม่เคยเปิดโอกาสให้ตนเข้าไปชี้แจงเลย ทั้งนี้ นายภุชงค์ ยืนยันว่า ไม่น้อยใจที่โดนปลดกลางอากาศ แต่ขอเรียกร้องให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยเฉพาะนายอภิชาต สุขัคคานนท์ อดีตประธาน กกต. และนายประพันธ์ นัยโกวิท อดีต กกต. เขียนรัฐธรรมนูญกำหนดโครงสร้างขอบเขตอำนาจของกรรมการ กกต. กับสำนักงาน กกต.ให้มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้มีเจ้าหน้าที่ถูกกระทำเหมือนตนอีก

เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างการให้สัมภาษณ์ นายภุชงค์น้ำตาคลอเบ้า ตาแดงก่ำ และในช่วงหนึ่งนายภุชงค์พยายามจะเข้าไปแนะนำตัวต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่เดินทางมาร่วมงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากลที่จัดขึ้นบริเวณใกล้เคียงด้วย

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ในวันต่อมา(9 ธ.ค.) ถึงกรณีที่ กกต.มีมติเลิกจ้างนายภุชงค์ว่า หากนายภุชงค์จะร้องขอความเป็นธรรมก็ร้องเรียนโดยทำหนังสือขึ้นมาตามช่องทาง และว่า ที่ผ่านมา มีหลายเรื่องขอความเป็นธรรมมา ตนก็ให้คณะกรรมการไปตรวจสอบความถูกต้อง หลายอย่างเป็นเรื่องของการประเมิน ก็มาชี้แจงให้ชัดเจนขึ้น ถ้าเป็นข้าราชการ แต่กรณีนายภุชงค์เป็นการจ้าง ถ้าประเมินแล้วไม่ผ่าน ก็จ้างต่อไม่ได้ ต้องไปดูว่าไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินเพราะอะไร ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า แทบไม่เคยเจอนายภุชงค์ คุยกันนานๆ ที

ขณะที่นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวถึงกรณีที่นายภุชงค์ระบุว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและมี กกต.แทรกแซงล้วงลูกการทำงานว่า ยิ่งเขาออกมาพูดมากเขาก็ยิ่งเสียเอง เท่ากับประจานตัวเอง กกต.เลิกจ้างเลขาฯ ก็พาลมาด่า กกต. พร้อมยืนยันว่า ตนไม่เคยล้วงลูก เพราะงานในหน้าที่ก็เยอะอยู่แล้ว จะไปล้วงลูกเลขาฯ ทำไม และที่ผ่านมา เลขาฯ ทำหน้าที่หรือไม่ “คนเราส่วนมากจะไม่ดูตัวเอง ตอนนี้ปล่อยให้เขาพูดไปก่อน แล้วค่อยมาสรุป โดยผมจะเก็บข้อมูลทั้งหมดไว้ หากเลขาฯ พูดข้อความใดที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทก็จะฟ้องหมิ่นประมาททันที ผมเป็นผู้ใหญ่แล้ว ไม่ไปทะเลาะและไม่ตอบโต้ด้วย... คนโดนเลิกจ้างมักจะหน้ามืดไม่คิดอะไร ผมก็อโหสิกรรมให้... หากสังคมและผู้ใหญ่เห็นว่าผมไปรังแกเลขาฯ ก็พร้อมที่จะลาออกทันทีไม่ยึดติดตำแหน่ง”

5.คปพ.วอนนายกฯ เบรก 2 กม.ปิโตรเลียมของ ก.พลังงาน เหตุยังไม่แก้ปัญหาตามการศึกษาของ สนช. ชี้หากผ่าน ทำชาติเสียหายแน่!

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ยุติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับของกระทรวงพลังงาน (8 ธ.ค.)
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดย ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี, นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, พญ.กมลพรรณ ชีวะพันธ์ศรี, พล.อ.กิติศักดิ์ รัฐประเสริฐ แกนนำเครือข่ายฯ และนายนพ สัตยาศัย อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) สาขาพลังงาน พร้อมมวลชนกว่า 200 คน ได้เดินทางไปยังศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนยื่นจดหมายเปิดผนึกผ่านนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเรียกร้องขอให้ยุติการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันดังกล่าว และขอให้ตั้งคณะทำงานยกร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับตามการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)

โดยนายปานเทพได้อ่านจดหมายเปิดผนึกว่า ด้วยคณะบุคคลและประชาชนทั่วไปต่างมีความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมืองที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะนำร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เข้าที่ประชุม ครม. ทั้งที่ร่างฯ ทั้ง 2 ฉบับไม่ได้แก้ไขปัญหาข้อกฎหมายต่างๆ ตามที่กรรมาธิการวิสามัญฯ ของ สนช.ได้เสนอให้ปรับแก้กว่า 50 มาตรา หาก ครม.อนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าว และหากผ่านกระบวนการทางกฎหมายแล้วนำไปบังคับใช้ ให้เอกชนเข้ายื่นขอสิทธิเพื่อสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 21 จะสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศและประชาชนอย่างยิ่ง เนื่องจากร่างฯ ที่กระทรวงพลังงานเสนอมีรายละเอียดไม่ครบถ้วน ขาดเนื้อหาสำคัญที่แตกต่างจากรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สนช.

ทั้งนี้ นายปานเทพ ชี้ว่า สาระสำคัญในร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานได้เพิ่มคำว่า “แบ่งปันผลผลิต” เข้ามา แต่ไม่ใช่ระบบแบ่งปันผลผลิตที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลกจริง และร่างฯ ของกระทรวงพลังงานไม่ได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในรายงานการศึกษาของ สนช. จึงนำไปสู่ปัญหาในภาคปฏิบัติมากยิ่งขึ้น ไม่ส่งเสริมการแข่งขันที่แท้จริง ขาดความโปร่งใสในการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ได้ปรับปรุงจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อชุมชน และไม่ได้แก้ไขช่องโหว่ของกฎหมายเรื่องจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ดังนั้นหากนำไปใช้ย่อมเกิดความเสียหายต่อประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต

มีรายงานว่า นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เผยหลังประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ที่กระทรวงพลังงานเสนอแล้ว

ซึ่งขัดแย้งกับที่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เผยในเวลาต่อมาถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมว่า ตนได้นำความเห็นจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) รวม 26 ประเด็น เสนอที่ประชุม ครม. ซึ่ง ครม.ยังไม่ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เมื่อกระทรวงพลังงานพูดคุยกันเรียบร้อยแล้ว จึงอยากให้มีการทบทวนหรือปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวให้ครบถ้วน โดยให้นำความเห็นของกระทรวงพลังงานส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาทบทวนกฎหมายต่อไป พร้อมให้แนวคิดว่า สิ่งใดควรใส่ลงไปในกฎหมายก็ให้ใส่ลงไป เพื่อให้เกิดความสบายใจกับทุกฝ่าย และส่งให้ สนช.พิจารณา 3 วาระตามปกติ

พล.อ.อนันตพร เผยด้วยว่า ครม.มีมติให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญร่างกฎหมายฉบับนี้ 15 คน แบ่งเป็น สนช.12 คน และรัฐบาล 3 คน เพื่อให้เกิดความหลากหลาย และประสาน สนช.ให้มีคณะกรรมาธิการอีก 30-35 คน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เสนอความเห็น ทั้ง สนช. รัฐบาล เอกชน ประชาสังคม และนักวิชาการ เพื่อหาข้อยุติ และให้ สนช.นำไปตรากฎหมายต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น