xs
xsm
sm
md
lg

72 ยังฟิต! “สมเกียรติ จินดากุล” เฒ่ามาราธอน ไอดอลของนักวิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลายเป็นภาพที่เจนตาบนสนามมาราธอน สำหรับชายชราวัยเจ็ดสิบที่แม้จะออกสตาร์ทก่อนใครพวก แต่กลับเป็นคนท้ายๆ ที่ถึงเส้นชัย แต่นั่นหาใช่แก่นสาร เพราะสิ่งที่คนกล่าวขวัญและชื่นชม คือหัวใจที่แข็งแกร่ง ถึงขั้นที่ว่า แม้กระทั่งวัยรุ่นหนุ่มสาวยังยกให้ท่านผู้เฒ่าเป็นดั่งไอดอล พร้อมกับแชร์ภาพว่อนโลกออนไลน์

“สมเกียรติ จินดากุล” คือท่านผู้เฒ่าที่เรากำลังกล่าวถึงนั้น ถึงแม้อายุจะล่วงเลยเลขเจ็ดนำหน้าไปแล้วสองปี แต่กลับมิอาจหยุดยั้งสองเท้าที่พร้อมจะก้าวไป อาจไวบ้าง อาจช้าบ้าง แต่ยังคงมุ่งมั่นที่จะก้าวต่อ งานวิ่งไหนก็ตามที่เขาจัด และพอไปได้ “ลุงสมเกียรติ” จะไม่ลังเลแม้แต่น้อยที่จะก้าวเข้าไปร่วม

และนี่ก็คือเรื่องราวที่เราอยากนำเสนอสำหรับทุกๆ ท่าน
ที่รักสุขภาพ รักชีวิต...

สุขภาพดี
กิโลฯ ละ 3 บาท

“เรื่องการวิ่งมันเริ่มจากการที่หลังเลิกงานผมต้องไปรอรับภรรยาตอนที่เขาไปเรียนอบรมบัญชีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วผมก็ว่างๆ ไม่รู้จะทำอะไร เลิกงาน ผมก็ไปเดินเล่นที่สวนรมณีนาถ แถววังบูรพา ตรงข้ามร้านนายเหมือน แล้วก็เห็นเขาวิ่งกัน วันต่อมาก็เลยซื้อรองเท้าไปวิ่งกับเขาบ้าง"

ชายวัย 72 บอกกล่าวเล่าถึงจุดเริ่มต้นแห่งการวิ่ง จนการวิ่งกลายมาเป็นอีกเลนหนึ่งบนถนนชีวิต ซึ่งหากนับระยะเวลา ก็ร่วมกว่า 20 ปี

“ตอนนั้นก็อายุประมาณ 50 กว่าๆ คือพอเราวิ่งแล้วมันดี สุขภาพเราดีขึ้น ไม่อ่อนเพลีย มีความสดชื่น ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่เป็นหวัดง่าย จากที่เคยไม่สบาย เป็นไข้หวัด 4 วัน 5 วัน กว่าจะหาย ทุกวันนี้อย่างมากก็ 1-2 วัน ไม่เกิน 3 วัน เข้าโรงพยาบาลตรวจร่างกายอย่างเดียว ตั้งแต่ตอนนั้นก็เลยออกกำลังกายเรื่อยมา ไม่ขี้เกียจ

“แล้วพอไปวิ่งแล้ว มันมีเพื่อนฝูง ทักทายกัน พบปะสังสรรค์กัน ไม่ว่าจะชมรมสวนลุมพินี ชมรมสนามชัย ชมรมวังบูรพา เวลาเจอกัน เขาก็โบกไม้โบกมือทักทายกัน รุ่นลูกก็จะ "สวัสดีครับคุณลุง" "สวัสดีค่ะคุณลุง" หรือไม่ก็ชวนกันถอดกฐิน ทอดผ้าป่า (หัวเราะ) เกิดเป็นสังคม เราก็ไม่เหงา อย่างที่เขาบอกว่าสังคมดี เราก็จะอยู่ในสิ่งที่ดีๆ"

ดังนั้น นอกจากสุขภาพร่างกายที่จะได้รับ ยังมีผลพลอยได้คือสังคมที่ทำให้ชายชราผู้หนึ่งรู้สึกอบอุ่น จนทำให้เกิดเป็นภาพชินตาใครต่อใคร ทุกวันทำงาน จันทร์-ศุกร์ ที่สวนรมณีนาถช่วงโพล้เพล้ จะเห็นชายชราวิ่งด้วยท่าทางเนิบๆ แต่หนักแน่นทุกย่างก้าวด้วยความมุ่งมั่น ค่อยๆ วนครบรอบแล้วรอบเล่า หรือในทุกเช้าวันอาทิตย์รอบๆ ขอบเขตกรุงเทพมหานครฯ ตามท้องถนนและสถานที่จัดการวิ่งมินิมาราธอน

“จริงๆ หลังจากนั้น การออกกำลังกายก็เพื่อให้เราไม่ตกงานด้วยนะ (หัวเราะ) เพราะอายุงานเฉลี่ยทำงานอยู่ที่ 60 ปี แต่ทีนี้ ช.การช่าง เขาเห็นว่าเรายังแข็งแรง เจ้าของบริษัทเขาเห็น เขาก็บอกว่า "สมเกียรติ นายต้องรักษาสุขภาพนะ จะได้ทำงานกันนานๆ อย่าปล่อยให้ร่างกายมันเดินไม่ไหว" ก็ได้ต่ออายุการทำงานมาทุกปีจนถึงตอนนี้

“คือสุขภาพดีไม่มีขาย เมื่อมันไม่มีขาย เราจะไปบอกว่าขอซื้อสุขภาพ 5 บาท มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว จะทำให้สุขภาพดีได้ ไม่เป็นโรคเป็นภัย เราก็ต้องวิ่ง เราเหนื่อยไม่ได้ เราทำงาน 5 วัน ตกเย็นก็ไปออกกำลังกาย วันเสาร์เราก็พักวันหนึ่ง วันอาทิตย์ก็ตื่นไปวิ่งกับเพื่อนๆ ก็แล้วแต่ว่าเขาจะชวนไปวิ่งที่ไหน หรือมีการจัดวิ่งที่ไหน อย่างอาทิตย์ที่ผ่านมาไปวิ่งของกรมบัญชีกลางที่ศูนย์ราชการที่หลักสี่ ก็ตื่นสักตี 2 เพราะบ้านเราอยู่บางบอน ตารางวิ่ง ผมก็จะเป็นอย่างนี้แทบทุกอาทิตย์

“แล้วเราก็วิ่งช้าๆ ไง ค่อยๆ ช้าไปเร็ว คือตั้งแต่ตอนแรกที่เริ่มวิ่งแล้ว เราก็วิ่งของเราอย่างนี้ เนื่องจากอายุเรามาก แต่ผมวิ่งครั้งแรกก็ 10 กิโลเมตรขึ้นเลยนะ (ยิ้ม) ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง เคยวิ่งสูงสุดก็ 16 -17 กิโลเมตร"

ลุงสมเกียรติกล่าวด้วยรอยยิ้มเต็มดวงหน้า ก่อนจะนึกย้อนเรื่องชวนหัวที่ใครหลายๆ คนเป็นห่วงท่วงท่าการวิ่งของแกจนต้องถามว่าไหวไหม...

“คือหลายคนอาจจะสงสัยหรือเป็นห่วง อย่างพอเขาเห็นท่าทางเราวิ่ง เขาบอกเราว่าสู้ๆ นะ เป็นกำลังใจให้ มันก็มีเหมือนกัน รถพยาบาล รถปอเต็กตึ๊ง เขามักจะถามว่าไหวไหมลุง ไม่ไหวขึ้นรถนะ เราก็ "โหย...สบายมาก สู้อยู่แล้ว” ก็ตอบอย่างนั้นตลอด

“ตั้งแต่วิ่งมา วิ่งที่ไหนก็ตาม วิ่งตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่เคยมีหยุดกลางคัน อาจจะมีพักดื่มน้ำบ้าง เพราะยังไงก็ต้องสู้ สู้เพื่อตัวเอง เพื่อสุขภาพตัวเอง เพื่อไม่เจ็บไข้ได้ป่วย อย่างที่บอกเพราะมันซื้อไม่ได้ สุขภาพดีไม่มีขาย ต้องขวนขวายหาเอาเอง ทีนี้สุขภาพดีไม่มีขาย หาเอาเองได้โดยซื้อรองเท้าคู่หนึ่ง ลงทุนรองเท้าสักคู่หนึ่ง เงินไม่เยอะก็ซื้อแบบกลางเก่ากลางใหม่ก็ได้ รองเท้ามือสอง แล้วก็ใส่เสื้อผ้าเท่านั้นเอง แล้วก็ไปวิ่ง

“คิดดูว่าค่ารองเท้าหรือค่าไปสมัคร เสียค่าวิ่งครั้งหนึ่ง 200-300 บาท เราวิ่งได้ 10 กิโลเมตร ถ้าเราเอามาเฉลี่ยตกกิโลเมตรละประมาณ 3 บาทเอง แลกกับสุขภาพดีขึ้น เอาอย่างไหนล่ะ เราก็เอาสุขภาพไม่ดีกว่าหรือ คุ้มกว่าการเก็บเงินแล้วเอาเงินไปหาหมอ ไม่มีประโยชน์ หมอยังตายเป็น อยากนอนป่วยหรือ หรืออยากนั่งเฉยๆ อาศัยรถเข็น คนเรานี้นะ อายุมาก ถ้าไม่เดินบ้าง ไม่วิ่งบ้าง มันก็จะไม่แอคทีฟ พอไม่แอคทีฟโรคมันก็จะรุมเร้าถามหา

“ทั้งที่จริงๆ คนวัย 60 นี่กำลังเริ่มเลยนะ อย่างข้าราชการตอนนี้ยังเลื่อนเกณฑ์เกษียณเป็นอายุ 65 ปีอัป เพราะพูดจริงๆ คือคนอายุระดับนี้ไปทำงานบริษัทเอกชนเยอะแยะ นักวิชาการเอย ข้าราชการเอย หลังเกษียณไปทำงานเอกชน เพราะว่าเขาอาศัยประสบการณ์จากการทำงานราชการ เขารู้จักวิธีติดต่อ คล้ายๆ ว่าความคิดเขาแตกฉานแล้ว

“เราก็ต้องรักษาสุขภาพ นี่ก็ตั้งใจไว้ว่าจะวิ่งจนกว่าจะไม่มีแรงวิ่ง แต่มันก็ไม่มี มันไม่มีที่สิ้นสุด ไม่วิ่งก็เดิน เดินให้มันเร็วหน่อย สุขภาพของเรา ใครก็บังคับเราไม่ได้”

เราเท่านั้น
หาใช่ใครอื่นใด

ภายใต้ภาพความไม่ย่อท้อ แม้จะออกสตาร์ทเป็นคนแรกและถึงเส้นชัยเป็นคนสุดท้ายที่ถูกแชร์ออกไปของนักวิ่งวัย 72 ปีผู้นี้ เบื้องหลังนั้นยังมีเรื่องราวที่เป็นบทเรียนสำคัญให้ศึกษานอกหลักไมล์

“ก็เรารู้ว่าเราช้ากว่าเขาใช่ไหม เราก็ต้องมาต้นๆ เพราะคนตั้งประมาณ 2,000 คน คิดดูซิว่ามันยาวแค่ไหนใช่ไหม เราก็ไปเช็คพ้อยท์แล้วก็ไปยืนข้างหน้าเลย เดี๋ยวไอ้ข้างหลังเขาก็แซงเราเอง (หัวเราะ) แต่ถ้าเราไปอยู่หลังๆ มันจะยิ่งช้าเข้าไปใหญ่ แทนที่จะเป็น 2 ชั่วโมง หรือชั่วโมงกว่าๆ อาจจะเป็น 3 ชั่วโมงก็ได้ ชาวบ้านเขากลับแล้วเรายังวิ่งอยู่เลย ก็ไม่สนุก”

“เป้าหมายเดียวกัน ถึงช้าถึงเร็วไม่สำคัญ”
ลุงสมเกียรติ กล่าวด้วยรอยยิ้ม

ถึงตรงนี้ หลายๆ คนที่ได้รับรู้เรื่องราวคงจะมีใจเพิ่มฮึกเหิมที่จะออกกำลังกาย แต่สำหรับคนที่อายุมากไม่รู้จะเลือกวิธีการออกกำลังกายอย่างไร

“ไม่เห็นยาก...ก็ลองให้เขาไปเดินดูตามสวนลุม หรือตามสวนสาธารณะอื่นๆ ตอนเช้าๆ ประมาณสักตี 5 จะเห็นคนเยอะแยะ เราลองเข้าไปดูซิ เขาทำอะไรกัน ก็จะเห็นเขาวิ่งกันบ้าง จ๊อกกิ้งกันบ้าง คุยกันบ้าง รำไทเก๊กกันบ้าง ทีนี้เราไม่อยากรู้หรือว่าทำไมหน้าตาเขาดูสดใสทั้งนั้นเลย แต่ละคนไม่มีใครเศร้าอมโรคเลย ก็มีทางเดียวไปทำกับเขา

“แล้วก็ค่อยๆ เริ่มไปตามสเต็ป อย่างวิ่งก็ 3-5 หรือ 10 กิโลฯ แล้วดูว่าระยะไหนมันเหมาะกับเราที่สุด ถ้าเริ่มเจ็บก็คงระยะนั้นไว้ อย่าเกินนั้น อย่าไปแข่งกับคนอื่น แข่งกับตัวเอง อย่าออกกำลังกายให้มันเกินกำลังเรา ถ้าเกินกำลังเราแล้ว มันจะมีปัญหาข้อเข่า มีปัญหา แทนที่จะเดินได้ กลับเดินไม่ได้”

นอกจากเรื่องออกกำลังกายที่น่าสนใจ เรื่องอาหารการกินก็ควรใส่ใจ

“เพราะคนที่มีอายุแล้ว โรคมันมีมารอเราแน่นอน เราออกกำลังกายเพื่อให้มันน้อยที่สุด คนที่วิ่งยังเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้เลย เพราะว่าเขาไม่ระวังเรื่องอาหาร อย่างผม ที่บ้านผมปลูกผัก ก็ให้พี่ชายแฟนเขาปลูกผักข้างๆ บ้าน มีที่ดินนิดๆ หน่อยๆ ก็ให้เขาซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูก หรือไม่ก็เก็บผักบุ้งข้างบ้านที่ขึ้นตามรั้ว แล้วเก็บมากิน ใส่กล่องมาทำงาน

“แล้วก็ควรจะกินผักผลไม้ เมื่อเช้าก็กินฝรั่ง อาทิตย์หนึ่งเราซื้อฝรั่ง 2 กิโลกรัม 3 กิโลกรัม แล้วก็กินวันหนึ่งสัก 3 ลูก ตอนเช้าขับรถมา กินน้ำเปล่าสักแก้ว ส่วนหนึ่งที่คิดว่าร่างกายแข็งแรงทุกวันนี้ก็เพราะเรื่องอาหารด้วย คือตอนนี้ อายุเรามากขนาดนี้ เราควรลดอาหารพวกโปรตีนให้มันน้อยลง ควรจะมีผัก แล้วก็ข้าว กับข้าวสักอย่าง สองอย่าง แค่นี้

“คุณก็เป็นอย่างผมได้”
ลุงสมเกียรติกล่าวยืนยัน

“หรืออย่างหมออุดมศิลป์ แก่ต้องการจะมีอายุถึง 120 ปี 90 ปี แกไม่เอา แกก็ต้องออกกำลังกาย แกก็ต้องวิ่งหรือไม่ก็เดิน มันก็เช่นเดียวกัน คือตอนนี้ผม 72 ปี ใช่ไหม...เราก็อยากจะได้ 80 ปีขึ้นไปก่อน แต่จะมากกว่านั้นหรือไม่ ค่อยว่ากันอีกที

“ตอนนี้คนไทยก็เริ่มออกกำลังกายกันเยอะ เขาเห็นเราวิ่งแล้วเขาอยากวิ่งบ้าง คล้ายๆ ว่าเขาเห็นเราว่าทำได้ ยังแข็งแรง ทำไมเขาจะแข็งแรงอย่างเราไม่ได้ เขาบอกว่าผมเป็นไอดอล ก็งง (หัวเราะ) เมื่อวานผมไปวิ่ง ยังมีบางคนเข้ามาถาม มาขอถ่ายรูปกับผม เสร็จแล้วเขาก็บอกว่าเขาจะเอาไปให้พ่อเขาดูว่า อายุขนาดนี้ยังวิ่งเลย เขาจะไปบอกพ่อเขาให้มาออกกำลังกายกันเถอะ รถเราก็มีพร้อมแล้วไปด้วยกัน

“ส่วนตัวผมก็ภูมิใจครับที่ทำให้คนไทย คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือที่ได้เห็นได้รู้ และลุกขึ้นมามีกำลังใจในการออกกำลังกาย เพราะสุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำ และเราทำเท่านั้น ไม่ใช่ใคร”


เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พลภัทร วรรณดี

กำลังโหลดความคิดเห็น