xs
xsm
sm
md
lg

หมอไหน ไฟแรงเฟร่อ? “หมอตุ๊ด” นพ.อุเทน บุญอรณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ราว 2 สัปดาห์ก่อนยื่นประกาศเอนทรานซ์ (แอดมิดชั่น ในปัจจุบัน) ในปีการศึกษาหนึ่ง เด็กชายวัยรุ่นชั้น ม.6 คนหนึ่ง ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะเข้าศึกษาต่อด้านอักษรศาสตร์ เพื่อความฝันที่จะได้เป็นนักเขียนอันเนื่องมาจากเป็นคนรักการอ่านที่สะสมมาจากห้องสมุดโรงเรียนที่เขาแทบจะอ่านหมดเกือบทุกชั้นทุกหมวด จนเริ่มอยากจะเป็นไปในการเดินทางต่อของการศึกษาตามที่หวังไว้

แต่เมื่อทั้งพ่อและแม่ทราบ บุคคลทั้งสองได้ชี้แนะถึงความสำคัญในการเลือกศึกษาต่อและความมั่นคงทั้งชีวิตและความรู้ในอนาคตข้างหน้า และนั่นคือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต ที่ทำให้เขาทิ้งอาชีพนักเขียนไว้เป็นเบื้องหลัง แล้วมุ่งหน้าสู่รั้วแพทยศาสตร์ ผ่านทั้งการร่ำเรียนในวิชา, ใช้ชีวิตอย่างหรรษา และประสบการณ์ระหว่างทั้งฝึกหัดจนเป็นนายแพทย์อย่างเป็นทางการอย่างเต็มขั้น ในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน

หลายปีผ่านไป เขาคือ นายแพทย์อุเทน บุญอรณะ หรือ หมอแพท ผู้มีหลากสถานะ ทั้งนายแพทย์หนุ่ม, เป็นตุ๊ด, เจ้าของแฟนเพจ “หมอตุ๊ด” ที่มีผู้ติดตามกว่าแสนราย พ่วงด้วยผลงานหนังสือเรื่องแรก ‘กว่าเจ้จะเป็นหมอ’ ได้หวนกลับมาขีดเขียนดั่งที่ตนเองตั้งใจ ผ่านทางหนังสือเล่มดังกล่าว ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงในสมัยช่วงปีสุดท้ายของนักศึกษาแพทย์ ให้ได้ซาบซึ้ง ตลกโปกฮา และมีดราม่า พอเป็นกระสาย ของ ว่าที่หมอตุ๊ด คนนี้

และในขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าหนังสือเล่มนี้อาจจะเป็นความทรงจำสั้นๆ ของผู้เขียนในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ก็นับได้ว่าน่าจะให้แง่คิดกับผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อย ว่าชีวิตมีหนเดียว ในเมื่อเลือกแล้วก็ต้องทำให้เต็มที่ ‘ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะแบบไหนก็ตามที’

  • ถามเป็นข้อมูลเบื้องต้นครับว่า เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จะเล่าถึงอะไรบ้าง

หลักๆ จะเกี่ยวกับช่วงสุดท้ายของการเรียนแพทย์ เพราะมันจะเป็นปีที่ไม่ได้เรียน เนื่องจากทุกอย่างที่เรียน เรียนหมดแล้ว ซึ่งปี 6 เป็นปีที่ 6 เดือนอยู่ในคณะ และอีก 6 เดือนอยู่นอกคณะ ทำงานๆๆๆ แล้วก็สอบ สอบเสร็จก็มาทำงานต่อ จนกระทั่งครบ 12 เดือน แล้วก็เป็นหมอ มันเป็นช่วงชีวิตที่สนุกที่สุดของการเรียนแพทย์ ก็เลยเลือกปีนี้แหละเอามาเขียน เพราะว่าหนังสือเกี่ยวกับหมอเล่มอื่นๆ ที่ออกใกล้ๆ กันนะ เช่น เรียนหมอหนักมาก จะเป็นแบบ ไล่แต่ละช่วงปี 1 ปี 2 เราก็รู้สึกว่า คนอื่นก็เขียนแล้ว เราอยากเขียนเรื่องหมอที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับคณะแพทย์บ้าง อยากเขียนเรื่องหมอในมุมอื่นในชีวิตนักเรียนแพทย์แบบที่คนอื่นไม่ได้เขียน ก็เลยเลือกช่วงนี้ เลยมีทั้งเรื่องเพื่อน อาจารย์ คนไข้ คนรัก และครอบครัว

  • แล้วสถานะจริงๆ ของคุณคือ

เป็นอายุรแพทย์ด้านสมองครับ ทำงานอยู่โรงพยาบาลเอกชนด้วย แล้วก็มีสอนที่โรงเรียนแพทย์ด้วย ทำแค่ 2 ที่ และตอนนี้เตรียมตัวลดงานในโรงเรียนแพทย์น้อยลงแล้ว เพราะว่าเตรียมตัวที่จะไปเรียนต่อเพิ่มอีก ด้านเดิม เพื่อให้ลงลึกไปอีก ซึ่งตอนแรกเรียนด้านสมองอยู่แล้ว คือเรียนด้านสมองทั่วๆ ไป แต่ต่อไปจะไปอยากจะเรียนพวกสมองปลายๆ ด้านกล้ามเนื้อ

  • ทำไมถึงสนใจด้านสมองละครับ

มันมีจุดหักเหในชีวิต คือ ตอนแรกจะเป็นอายุรแพทย์อยู่แล้ว คือจบมา ทุกคนจะไปเรียนเฉพาะทาง บางคนก็จะแบบ โรคหัวใจบ้าง โรคทางเดินอาหารบ้าง แต่คุณตาผมเป็นโรคสมองอัลไซเมอร์ ทำให้ได้รู้ว่าคนที่เป็นโรคสมอง ไม่ใช่ป่วยแค่คนไข้คนเดียว แต่ครอบครัวจะป่วยด้วย เพราะว่าตอนที่คุณตาป่วย แล้วเราก็คิดว่าจริงๆ แล้วเนี่ย หมอคนอื่นเขาจะดูคุณตาแบบเรียบร้อยกลับ ซึ่งเราคิดว่า จริงๆ แล้ว มันควรจะดูแลทั้งบ้านด้วย เราก็เลยคิดว่า อยากเป็นหมอโรคสมองที่คิดและดูแลทางครอบครัวด้วย เราก็ตัดสินใจว่า เรียนเรื่องนี้แล้วกัน เพราะมันตรงไปตรงมา ง่ายดี และคู่แข่งที่จะสมัครเรียนก็น้อย คือเมืองไทยผลิตแพทย์เฉพาะทางไม่เยอะมาก สมมติว่า นักเรียนแพทย์ ปีหนึ่งจบมา 2,000 คน แต่โควตาในการผลิตแพทย์เฉพาะทางไม่ถึงพัน เพราะฉะนั้นแล้ว ในตัวแพทย์เองก็ต้องแย่งกันแล้ว อะไรที่มันไปง่าย ก็เลือกอันนั้นแล้วกัน ก็เลยเลือกอันนี้มา ตอนเรียนก็สนุกดี ทำงานก็สนุก

  • ตัวคุณเริ่มมีความฝันที่จะเป็นหมอมาตั้งแต่เมื่อไหร่

มาฝันตอนเมื่อ 2 สัปดาห์หลังจากยื่นคะแนนเอนทรานซ์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตอนที่ยื่นคะแนน ใจจริงเราอยากเป็นนักเขียนในตอนแรก ตั้งใจที่จะเข้าอักษร จุฬาฯ อยากเป็นสาวอักษรจังเลย แต่พ่อกับแม่บอกอ้อมๆ ว่า พ่อกับแม่ส่งเรียนได้แค่ 1 ครั้ง อยากเรียนอะไรเรียน ทันทีที่ลูกเรียนจบ จะไม่มีเงินจากบ้านอีกต่อไป คือลูกต้องอยู่ด้วยลำแข้งตัวเอง คือ หลังจากที่ลูกกากากบาทข้อสุดท้ายเสร็จ จะไม่มีเงินจากทางบ้านส่งให้ลูกอีกแล้ว

เราก็เลยเปลี่ยนใจครั้งแรกว่า เรียนวิศวะดีกว่า แต่แม่บอกว่า ลองเลือกหมอดูสิ เราก็ตัดสินใจว่าหมอก็ได้ ก็เลยเลือกหมอเป็นอันดับ 1 แล้ววิศวะอันดับ 2 เพราะตอนนั้นคะแนนเอนท์ค่อนข้างสูง มั่นใจยังไงก็ติด ไม่ติดอันดับ 1 ก็ 2 นี่แหละ ก็เลยใส่ไป 2 อันดับ แล้วพอส่งไปเรียบร้อยแล้ว ก็เห็นแม่เวลาคุยกับญาติพี่น้อง จะแบบ ลูกลงเอนท์หมอด้วยนะ ดีใจจังอยากให้เขาติด เลยรู้สึกว่า แม่คาดหวังในตัวเราอยู่เหมือนกัน จริงๆ เราเป็นผู้ชายแมนๆ มีเมียมีลูกให้แม่ไม่ได้ แต่อยากเป็นหมอให้แม่ภูมิใจจัง นั่นคือ 2 สัปดาห์ที่ยื่นคะแนนไปแล้วนะ เราก็ภาวนานะว่า ขอให้ติดคณะแพทย์ทีเถอะ จนติดแพทย์ที่ธรรมศาสตร์ อันดับ 2 วิศวะ จุฬาฯ


  • แล้วการเจอตัวเอง

ตั้งแต่เด็กนะ คือรู้อยู่แล้วว่า ชอบเล่นกับเพื่อนผู้หญิงมากกว่า ไม่ชอบเล่นกับเพื่อนผู้ชาย แล้วก็รู้สึกแปลกแยกในเวลาที่เข้ากลุ่มกับเพื่อนผู้ชาย เพราะไม่ได้ชอบในสิ่งที่เขาทำ ตอน ประถมถึง ม.ต้น อาจจะสับสนเล็กน้อย แล้วพอมาช่วง ม.ปลาย เราก็มีผู้หญิงเข้ามาหาแล้วอยากคบกับเรา แต่พอคบไปแล้วรู้สึกว่า ไม่ใช่อ่ะ ไม่ได้ชอบแบบนี้ ก็เลยโอเค คงชอบผู้ชายแหละ ตอนที่เรียนพิเศษเพื่อเอนทรานซ์ ก็มีแฟนเป็นผู้ชาย ก็ชัวร์แล้วว่าเป็น มั่นใจจริงๆ ก็ตอนขึ้น ม.ปลาย

  • แล้วพอได้มาเรียนคณะนี้จริงๆ มันค่อนข้างยากอย่างที่เขาบอกมาไหม

เรียนจริงๆ ไม่ยากนะ ซึ่งหลายคนคิดว่ามันยาก แต่ไม่นะ แค่เรียนเยอะเฉยๆ คือเนื้อหามันเยอะมาก แล้วไม่มีทางที่เราจะเรียนหมดได้ จะเลือกเป็นบางเรื่องเท่านั้น แล้วก็รู้ว่าเมื่อไหร่ต้องรู้ รู้ว่าเมื่อไหร่ไปรู้ทีหลังได้ แล้วการเรียนหมอ มันคือการเรียนแบบหมู่คณะ คือเราต้องมีเพื่อนและเรียนจบไปด้วยกันได้ โชคดีมากที่ตอนที่มาเรียนที่นี่ เพื่อนดีทุกคน ไม่มีเพื่อนที่ไม่ดีเลย แล้วก็ทำให้เราได้เจอสังคมที่ไม่รังเกียจเพศทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ เพื่อน ไม่มีใครรังเกียจ เราอยู่ได้เหมือนเป็นคนที่ปกติทั่วๆไป ที่ไม่ต้องระวังอะไรเลย ทุกคนมองว่าก็เป็นมนุษย์ เป็นเพื่อนหรือน้องคนหนึ่ง เพราะตอนที่เข้าไป เราเป็นคนที่อายุน้อยที่สุด แล้วเขาก็อาจจะมองว่าเป็นเพื่อนแพทย์ในอนาคตแค่นั้นเอง

  • แล้วพอเราขึ้นมาเป็นแพทย์ฝึกหัดแล้ว ได้มาตรวจคนไข้จริงๆ

จริงๆ เจอคนไข้ตั้งแต่ปี 4 แล้ว แต่มาเป็นแบบแพทย์จริงๆ ก็ตอน extern เราก็จะเจอคนไข้ที่โอเคและไม่โอเคกับเรา แต่จริงๆ ผมมีหมวกไง ถ้าสมมติว่าเวลาที่จะเป็นหมอ แล้วใส่หมวกมืออาชีพเข้าไป เราก็จะมีเก็บปากเก็บคำ ไม่จีบไม้จีบมือ แต่บางทีก็มีคนไข้ที่แบบนี้ได้อยู่แล้ว มันก็จะมีช่วงนึงที่คนไข้คนหนึ่งไม่ยอมให้เราตรวจแล้วจะเปลี่ยนหมอ คือเขาก็ขอโทษแหละ ไม่ได้อะไรหรอก แต่ไม่ชอบให้หมอตุ๊ดตรวจ แต่ในที่สุด คนไข้คนนั้นหัวใจหยุดเต้น แล้วเราก็ต้องไปช่วยเขาอยู่ดี แล้วเขาก็ฟื้นขึ้นมาได้

คือในโลกนี้มี 2 ประเภท คือคนที่รักและเกลียดเรา โอเคมีอีกแบบคือ คนที่ไม่รู้จักเรา คือการที่เขาเกลียดเรา ไม่ได้แปลว่าเขาผิด เขาแค่เกลียดเรา หรือเราอาจจะผิดเองด้วยซ้ำก็ได้ ในอดีตเราอาจจะทำอะไรให้เค้าเกลียดมาก่อน แต่มันไม่ใช่งานของเรา ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะไปเปลี่ยนทัศนคติเขาได้ คือเราไม่สิทธิ์ที่จะไปตัดสินว่า มึงผิด มึงต้องเปลี่ยน ไม่ใช่ เรามีหน้าที่ที่หลีกหนีเขาให้ไกลๆ ดีกว่า แล้วก็พยายามไม่ทำให้เขาเกลียดเรามากขึ้น แค่นั้นเอง ถ้าเขาไม่อยากตรวจกับหมอแบบเรา ก็เปลี่ยนหมอ แค่นั้นเอง เราแค่ไม่อยู่ใกล้เขาก็พอ อันนี้คือข้อคิดที่ได้จากการเป็นหมอ

  • การที่เราเป็นทั้งสองสถานะค่อนข้างเหนื่อยมั้ย

ช่วงที่เรียนมาไม่เหนื่อย แต่ช่วงที่ทำงาน ไม่เรียกว่าเหนื่อย แต่รู้สึกว่ามีการบ้านต้องทำนิดนึง ถ้าว่าง เราเป็นตัวของเราเองได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบที่เหมาะสม อย่างเช่น ถ้าคนไข้มาแบบนี้ ดูเป็นกันเอง ก็จะแบบ คุณเป็นยังไงมาบ้าง แต่ถ้าเป็นคนไข้ที่ซีเรียสเกินไป หรือ ผู้สูงอายุ เราก็ต้องใส่หน้ากากของมืออาชีพว่า จำกัดพฤติการณ์แค่นี้พอ เขาจะได้เชื่อถือเรา

เมื่อก่อนเคยคิดว่าตัวเองเป็นคนผิด และคิดว่าตัวเองอยู่คนเดียวในโลกนี้ ไม่มีคนเหมือนเรา คือพอเด็กซักประมาณ 6-7 ขวบ ก็จะมีความรู้สึกว่าแตกต่างจากคนอื่น ความรู้สึกแรกก็คือว่า ทำไมถึงแตกต่างจากคนอื่น จะมีคนอื่นที่เป็นแบบเรามั้ย หรือเราเกิดมาผิดปกติคนเดียวในโลกนี้ เด็กจะมีความรู้สึกแบบนั้น แล้วพอไปเจอเด็กที่เป็นแบบเดียวกัน เขาก็จะรู้สึกว่า โอเคเขามีเพื่อน อันนี้คือความเหนื่อยแรก ความเหนื่อยถัดมาก็คือว่า แล้วเขาจะรู้จักอยู่โลกนี้ได้มั้ย สมัยที่ผมเรียนอยู่ที่โรงเรียน รู้สึกว่าคงจะอยู่ลำบาก คือตอนนั้นรู้แค่ว่า ไม่มีคนชอบหรือยอมรับเรา ไม่มีใครอยากจะเล่นหรือรวมกลุ่มกับเรา หลายๆ คนหรือแม้แต่ตัวผมเองก็ยังรู้สึกว่าการเป็นเพศที่สามมันยังไม่สมบูรณ์ แต่พอเข้ามหา'ลัยและเรียนหมอแล้ว เราก็มีอย่างน้อยที่เรามีความภูมิใจในตัวเอง ผมคิดว่าในทุกๆ คนเป็นหมด ในเมื่อสังคมหรือคนส่วนใหญ่ตีค่าว่าด้อยลงไป เขาก็ต้องหาอะไรซักอย่างมาเพื่อทำให้เขาภูมิใจคือความสมดุลในจิตใจเฉยๆ คือเมื่อก่อนรู้สึกแค่แปลก แต่ปัจจุบันนี้โอเคแล้ว เราก็หาด้านอื่นมาเติม แค่นั้นเอง

  • แล้วการที่คุณหมอเป็นแบบนี้ ซึ่งขัดกับภาพลักษณ์แบบจำทั่วไปของหมอ แบบหนังเรื่องหมอเจ็บ คิดว่าตัวเองเป็นลักษณะนั้นมั้ย

รู้สึกว่าเป็นเยอะกว่า (หัวเราะเบาๆ) คือจริงๆ แล้ว ต้องบอกก่อนว่า ประชากรในคณะเป็นประชากรที่หลากหลายอยู่แล้ว หมอที่เป็นตุ๊ดก็ไม่ใช่ผมคนเดียว อาจารย์ที่เป็นตุ๊ดก็มี เป็นทอมก็มี หรือแบบเฮ้วๆ หน่อยก็มี หรือแบบสายกินเหล้าหนัก แบบผ่าตัดอยู่ อยู่ๆ ก็หงุดหงิดขึ้นมา “ไอ้เหี้ย ไม่ผ่าแล้ว” แล้วเดินออกไปสูบบุหรี่ข้างนอกก็มี คือจริงๆ มันก็เป็นสังคมหนึ่งที่เป็นทุกแบบเหมือนกัน แต่พอทุกคนที่จะออกมาเจอคนไข้ ความเป็นมืออาชีพในระดับนึง เพราะฉะนั้น เราก็เป็นตัวของตัวเองได้ในสังคมแพทย์ สังคมแพทย์ยอมรับทุกคน คือกึ่งย่อยๆ อีกนะ ยอมรับในแบบที่ตัวเองเป็น แต่ทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเองเวลาที่มีนายแพทย์แปะหน้าไว้ แล้วทุกคนจะต้องทำหน้ายังไง ใส่หน้ากากยังไง

ถ้าเป็นแบบคนไข้ ที่แบบเป็นกันเอง เขายอมรับได้ คือมันมีเซนส์อยู่แล้วล่ะ เราก็จะเป็นตัวเราเองได้นิดนึง ให้เขารู้สึกว่า หมอก็เป็นมนุษย์ดูใส่ใจเขาเหมือนกันนะ รู้สึกลดกำแพงลง เขาจะได้คุยอะไรได้มากขึ้น มันขึ้นๆ ลงๆ นะ แล้วแต่คนไข้จริงๆ ซึ่งหมอมันก็เคยเป็นเด็ก ม.ปลาย เหมือนกับเรานี่แหละ มันก็เคยเตะบอลกับเรา ไม่แตกต่างกัน มันแตกต่างแค่งานที่เขาทำเฉยๆ กับการใช้เวลา 6 ปี ในคณะแพทย์ ในขณะที่คนอื่นใช้เวลาแค่ 4 ปี หรือ 5 ปี ก็ได้ออกไปทำงาน แตกต่างแค่นี้

  • ด้วยที่บุคคลเพศทางเลือกนั้น เริ่มที่จะมีหมดในทุกอาชีพแล้ว มันถึงเวลารึยังที่บุคคลเพศสภาวะปกติ เปิดใจยอมรับกันได้หรือยัง

หนึ่ง คนที่ไม่พร้อมเปิดใจยอมรับ อย่างที่บอก คนในสังคมมีสองประเภท คือ คนที่ยอมรับกับคนที่ไม่ยอมรับ ซึ่งก็ไม่ใช่หน้าที่ของใครที่จะมาบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่จะยอมรับ ซึ่งถ้าไม่เปิดรับ ก็ไม่เปิด แต่ไม่ต้องมาระรานคนอื่นก็พอ คนที่เปิดรับ ก็ สังคมเปิดรับเพศที่สาม ก็เหมือนกัน เพศที่สามก็ไม่มีหน้าที่ที่จะไปพยายามเปลี่ยนทัศนคติของคนที่ไม่ชอบเราได้ แค่คุณมีหน้าที่เป็นตัวของตัวเอง และไม่ไห้คนอื่นเกลียดเธอไปมากกว่า แค่นี้พอ แต่ไม่ว่าสังคมจะพร้อมหรือไม่ก็ตาม แต่สังคมไปในทางนั้นอยู่แล้ว คนที่เป็นเพศทางเลือก ก็จะเปิดตัวมากขึ้น มีแนวโน้มที่จะมีบทบาทในสังคมมากขึ้น ขึ้นมาเท่าเทียมกับคนอื่นมากขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ นี่คือสิ่งที่กำลังจะเป็น คือโลกก็เปลี่ยนไป แต่อาจจะช้ากว่าประเทศอื่น แต่ยังไงก็ต้องเกิดขึ้นอยู่ดี ถ้าเกลียดนักก็ไปอยู่เงียบๆ ของตัวเองสิ เพราะยังไงฉันก็ยังแฮปปี้อยู่




  • สมมติว่ามีคนไข้เด็กรายนึงมาตรวจกับหมอ แล้วเขาบอกว่า ผมเป็นตุ๊ดเนี่ย หมอจะบอกอะไรกับเขาครับ

เจอเยอะนะ เจอแบบพ่อแม่พาลูกให้มารักษาต่อตัว หรือ เด็กมาปรึกษาว่า เขารู้สึกผิดที่เป็นตุ๊ด มันรักษาได้มั้ย ก็มี แต่เราจะบอกเขาว่า หนูไม่หายหรอก ยังไงหนูก็เป็น หนูถูกกำหนดมาให้เกิดมาเป็นแบบนี้อยู่แล้ว สิ่งที่ผิดไม่ใช่หนูผิด แต่ความคิดหนูต่างหากที่ผิด คือหนูจะเป็นคนสุดท้ายที่เกลียดตัวเอง เปลี่ยนแปลงตัวเอง หนูควรที่จะเรียนรู้ เพราะอายุยังน้อยอยู่ ยังไงก็ยังไม่ตายวันพรุ่งนี้หรอก หนูเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันไปได้ จนกว่าจะโต แต่หาสิ่งที่ตัวเองภูมิใจให้ได้ แล้วก็ทำเลย ส่วนใหญ่จะบอกพวกเขาว่า หนูไม่ได้ผิด และก็บอกพ่อกับแม่ว่า ถึงแม้เขาจะเป็นแบบเด็กตุ๊ด แต่เชื่อเหอะว่า เขาก็รักพ่อแม่ได้เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ เหมือนกัน คือพ่อแม่ต้องการให้ลูกรักตัวเอง รักพ่อแม่ และรักดีไม่ใช่เหรอ ซึ่งเด็กพวกนี้ก็จะรักตัวเองได้ รักพ่อแม่อยู่แล้ว เหลือแต่ว่า คุณต้องช่วยเลี้ยงให้เขาเป็นคนรักดี ซึ่งถ้าหนูทำได้ 3 อย่างนี้ อีก 10 ปีข้างหน้า หนูจะมีความสุขแน่นอน

เคยมีคุณพยาบาล เขาพาลูกชายมาเจอหมอ ตอนที่หมอเป็น resident เขาบอกว่าลูกเป็นตุ๊ด จะพามาให้รู้จักเรา แล้วบอกว่า เขาก็เป็นตุ๊ดเหมือนกัน แต่ว่าเขาได้ดี เขาเป็นหมอ เป็นหัวหน้าแม่ด้วย เพราะฉะนั้นเป็นได้แม่ไม่ว่า แต่ให้รักดี และได้ดีด้วย คือเป็นตุ๊ดก็ได้ดีได้ ซึ่งตอนนั้นก็รู้สึกดีใจมากที่มีแม่แบบนี้ด้วย แล้วเขาก็อยากให้ลูกเขาเป็นเหมือนเรา คือจริงๆ สามข้อ รักตัวเอง รักดี และรักพ่อแม่ ต้องประสบความสำเร็จแน่นอน แต่ถ้ารักดีแล้วไม่รักตัวเอง ก็จะมองคนอื่นว่า คนอื่นได้อย่างงั้น แล้วจะมองตนเองว่าด้อยค่าไป แล้วมันจะไม่อัปตัวเองขึ้นมาไง อย่าให้ตัวเองอยู่ในจุดแบบนั้น

  • ความคาดหวังข้างหน้าของแพทย์และตุ๊ด ในความคิดคุณหมอครับ

ถ้าระยะใกล้ๆ แค่อยากให้เมืองไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวกับเพศที่สาม ที่ทำให้พวกเรามีสิทธิ์ เทียบเท่ากับคนอื่น เช่น คู่รักเพศเดียวกัน สามารถจดทะเบียนกันได้ สามารถทำประกันชีวิต แล้วผลประโยชน์ให้กับอีกฝ่ายนึงได้ สามารถตัดสินใจแทนคู่สมรสได้ คือเคยเจอเคสคู่รักชาย-ชาย ด้วยกัน อยู่ด้วยกันจนกระทั่งแก่ พอถึงเวลาคนนึงตาย ครอบครัวเดิมซึ่งเขาเคยมีลูกมีเมีย แล้วมาเอาศพไปจัดการบำเพ็ญกุศล แล้วไม่ให้แฟนเขามาในงานศพ เพราะน่ารังเกียจ แล้วบ้านก็เป็นของผู้ตาย เพราะฉะนั้น ทรัพย์สมบัติทั้งหมดก็ตกมาที่ทายาท คุณออกไปซะ คุณไม่มีสิทธิ์ คุณเป็นแค่คนรัก แต่ไม่มีทะเบียนสมรส กฎหมายไม่ครอบคลุม คือบางคนก็คิดว่าแค่จด แต่จริงๆ มันมีผลค่อนข้างเยอะ อยากให้ตรงนี้มันเกิดขึ้นในประเทศไทยจริงๆ แต่ระยะยาว หวังแบบยูโธเปียเนอะ ซึ่งการมีเพศสภาพแบบนี้ จะเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนมองว่า ก็เป็นคนคนนึงเหมือนกัน อยากให้สังคมที่ผมเคยเจอในคณะแพทย์ เป็นสังคมแบบเดียวกัน

ส่วนวงการการแพทย์ ไม่ได้หวังอะไร เพราะแพทย์ไทยเป็นผู้นำระดับโลกอยู่แล้ว หมอไทยค่อนข้างเก่งมาก เวลาผมไปต่างประเทศ อย่างอเมริกา ทั้งๆ ที่เขามีความก้าวหน้ากว่าเรา ล้ำหน้ามาก แต่การเรียนการสอนเกี่ยวกับแพทย์ค่อนข้างเข้ม ทักษะค่อนข้างดี ต่างประเทศยอมรับ อยู่ระดับต้นๆ ของโลกเลย แทบจะทุกสาขาเลย โดยเฉพาะพวกโรคติดเชื้อ ตำราแพทย์นี่อ้างอิงงานวิจัยของเมืองไทยเยอะมาก หมออันดับต้นๆ ที่ถูกเชิญไปพูดก็หมอไทย รู้สึกดีใจที่ได้เรียนหมอ ได้อยู่วงการแพทย์

แต่จะมีแค่ว่า มีน้องหลายคนที่เป็นตุ๊ดแล้วแปลงเพศ โอเคเรียนหมอจบแล้ว และแปลงเพศ แต่เขายังต้องแบกคำว่านายแพทย์อยู่ใช้อยู่ตลอด จริงๆ ก็อยากจะให้เกิดขึ้นว่า ในเมื่อเขาเปลี่ยนแปลงแล้วอย่างงี้ ให้เขาได้ใช้คำว่าแพทย์หญิงได้มั้ย จริงๆ มันก็ยังมีบางสาขาในวงการแพทย์ไทยที่จำกัดน้องที่เรียนจบมา ไม่อยากให้มาเรียน คือผมก็มีรุ่นน้องที่แปลงเพศมาแล้ว สวย อยากมาเรียนหมอตา แต่ไม่มีที่ไหนให้เรียนเลย อาจารย์ไม่อยากให้เรียน ซึ่งเราไม่รู้ว่าเพราะอะไร อาจจะคิดว่าน้องเรียนไม่เก่งมั้ง ปีถัดมาก็เจอเหมือนกัน ซึ่งหวังว่าในอนาคต ไม่ว่าน้องจะแปลงเพศแล้วสวยหรือไม่ก็ตาม สามารถเทียบเท่ากับหมอชายหมอหญิงท่านอื่นๆ แล้วมีโอกาสได้เปลี่ยนคำนำหน้าได้ซักที เพื่อจะได้มีความสุขกับการทำงานบ้าง และหวังว่าคนไทยจะไม่เลือกหมอนะ ไม่ว่าหมอแต่ละท่านจะเป็นหมอตุ๊ด หมอกะเทยก็ตาม



เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ศิวกร เสนสอน

กำลังโหลดความคิดเห็น