xs
xsm
sm
md
lg

ศิษย์ก้นกุฏิน้าต๋อย เซมเบ้ "น้าตุ๊ก-อรุณี" นักพากย์การ์ตูนเจ้าของเสียงซูเนโอะและโคนัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พวกนายคงไม่มีของแบบนี้หรอกสินะ”
“ฉันไม่อยากให้โนบิตะ ไปเที่ยวกับฉันด้วย”
“ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว”
ฯลฯ

ประโยคข้างต้น หากใครเป็นคอการ์ตูน ย่อมจะพอนึกภาพเจ้าของคำพูดดังกล่าวออก โดยที่ไม่ต้องแทบเสียเวลาคิด เพราะมันมาจากคำพูดของ "ซูเนโอะ" เด็กชายปากแหลม บ้านรวย ขี้อวด จาก 'โดราเอมอน' และ “เอโดงาวะ โคนัน” นักสืบหนุ่มอัจฉริยะในร่างเด็กชายจาก 'ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน'

เมื่อการ์ตูนกระดาษถูกส่งผ่านสู่การ์ตูนโทรทัศน์ นอกเหนือจากงานภาพ...เสียงก็ต้องมา และผู้ที่เป็นเจ้าของเสียงพากย์ดังกล่าว ก็หาใช่ใครอื่น หากแต่เป็น “น้าตุ๊ก-อรุณี นันทิวาส” ศิษย์ก้นกุฏิของนักพากย์ระดับตำนานอย่าง “น้าต๋อย เซมเบ้”

เป็นเวลา 30 กว่าปีที่ “น้าตุ๊ก” ได้สร้างความสุขให้กับเด็กไทยผ่านทางการ์ตูนอนิเมะ และถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ร่วมบุกเบิกของการพากย์การ์ตูนทางโทรทัศน์ของไทย นอกจากเสียงซูเนโอะในเรื่องโดราเอมอน และโคนันในการ์ตูนยอดนักสืบรุ่นจิ๋ว ยังมีงานพากย์อีกนับร้อยๆ เรื่อง และยังคงมีงานต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้

• อย่างที่รู้ว่าน้าตุ๊กเริ่มชีวิตการเป็นนักพากย์มาหลายสิบปีแล้ว อยากรู้ว่าตอนแรกที่เข้าสู่เส้นทางนักพากย์นั้น เริ่มต้นมาอย่างไรครับ

เริ่มมาจากที่เราทำงานทีวีในฝ่ายผลิตรายการโทรทัศน์ เราเป็นพนักงาน อ.ส.ม.ท.ก่อน ค่อยค่อยได้มาทำงานพากย์ตั้งแต่ปี 2525 ตอนนั้นเรายังได้ทันนักพากย์รุ่นเก่า อย่างเช่น น้าสมจินต์ ธรรมทัต, น้ากำธร สุวรรณปิยะศิริ, คุณศุภมิตร-คุณดาเรศ ศาตะจันทร์ ซึ่งตอนนั้นจะพากย์หนังฝรั่ง เช่น เรื่อง Little House On The Prairie, เรื่อง กลอยใจจอมเปิ่น รวมไปจนถึงหนังฝรั่งยุคบุกเบิกอะไรพวกนั้น ซึ่งเราได้เคยเห็นตอนออกอากาศ แล้วพอเรามาทำงาน เราได้เห็นเขาพากย์จริงๆ เราได้เห็น น้ากำธร น้าสมจินต์ พากย์จริงๆ แล้วพวกน้าๆ ส่วนใหญ่ๆ จะพากย์แบบทีวีซีรี่ย์ที่เป็นหนังคนแสดง ประจวบเหมาะกับช่วงเวลานั้น เริ่มมีทีมพากย์การ์ตูน ทั้งน้าต๋อย เซมเบ้ (นิรันดร์ บุณยรัตพันธ์) แล้วก็มีพี่ติ๋ม (ฉันทนา ธาราจันทร์) และพี่นิด (ศันสนีย์ วัฒนานุกูล) ก็จะเป็นทีมพากย์การ์ตูน ซึ่งสมัยก่อนเขาจะพากย์กันสดๆ แล้ว

ในขณะนั้น เราทำงานเป็นผู้ประกาศคั่นรายการ หรือสปอตโปรโมท สมัยก่อนยังไม่มีเทปโปรโมทอย่างงี้ค่ะ จะเป็นสไลด์ขึ้นไป ก็อ่านแบบสดๆ พอสัญญาณออนแอร์แดงปุ๊บ เราก็อ่าน (ทำเสียงอ่านประกาศ) “ประกาศ ที่นี่ไทยทีวีสีช่อง 9 ต่อไปขอเชิญชมรายการ...” แล้วมันจะมีสปอตอะไร ซึ่งเราจะอ่านกันสดๆ พอเราได้มาทำงานอย่างงี้ ได้เห็นการทำงานและบทแล้ว มันเหมือนเป็นแรงบันดาลใจ แล้วก็มีพี่ๆ และผู้ใหญ่ให้โอกาส ช่วยแนะนำสอนให้ ตอนนั้นเราเป็นเด็ก เราก็ดูเขาทำ และก็ดูหนังเยอะๆ ฟังช่องอื่นเขาด้วย ฟังทีมอื่นเขาด้วย แล้วเราก็มีโอกาสมาพากย์ จนผู้ใหญ่เขาให้โอกาส ก็เริ่มพากย์หนังฝรั่งเรื่องหนึ่ง

• ความรู้สึกกับการที่ได้ร่วมทำงานกับนักพากย์รุ่นใหญ่ทั้งหลาย เป็นยังไงบ้างครับ

ตอนนั้นระวังมากนะคะ เราต้องระวังมาก เพราะเราเป็นเด็กใหม่ บทเนี่ยเราไม่สามารถที่จะหยิบปุ๊บแล้วมาพากย์ได้เลย สมัยก่อนเราต้องฝึกค่ะ เราต้องเอาบทไป เราต้องเอาหนังไปเป็นเทป ยิ่งสมัยก่อนหน้าน้าตุ๊ก สมัยพี่ฉันทนานี่ เป็นฟิล์มเลย ต้องหมุนกันแล้วฝึก แต่สมัยน้าตุ๊กนี่ดีหน่อย ตอนนั้นเป็นเทปแล้ว เป็นแบบยูเมติก ยังไม่เป็นเบต้า เราก็เอาไปใส่แล้วเราก็ฝึกกับบท แล้วก็มีพี่ๆ คอยแนะนำ แล้วฝึกเรื่อยมา มันทำให้เราต้อง ยิ่งทำงานกับรุ่นใหญ่ แล้วระหว่างที่พากย์เนี่ย เราก็ตาดูหูฟังไปด้วย เขาจะเป๊ะมากเลย เราจะต้องตามบทเลย ตามไปเลย พอเขาพูดตัวไหน ถึงแม้ว่าไม่ใช่ตัวละครของเรา เราก็ต้องตามบท แล้วพอเขาวรรคตรงไหน วรรคแบบนี้นะ จริงๆ ด้วย แล้วอารมณ์แบบนี้ ตัวละครหันหน้ามาอย่างนี้ คือเขาเข้าใจหนัง แล้วมันเป็นประสบการณ์ด้วย ถ้าเข้าใจหนัง เขาจะรู้เลยว่า ลงตอนนี้เป็นยังไง เสียงที่ให้จะเป็นยังไง ตอนนี้เสียงประชด หรือตอนนี้เสียงโกรธ หรือตอนนี้เสียงเสียใจ การได้ร่วมงานกับผู้ที่มีประสบการณ์สูงๆ ก็เป็นกำไรของเรา แล้วเราก็ต้องพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น

• และในขณะเดียวกัน เครื่องไม้เครื่องมือ ก็ยังไม่ทันสมัยเท่าที่ควร

ใช่ค่ะ ยิ่งพากย์สดนี่ ไม่ต้องพูดถึงเลย ห้ามผิด แต่มาถึงยุคแรกๆ เนี่ยของเรา ยังโอเคเป็นเทป แต่ช่วงที่เป็นเรื่อง 'หน้ากากเสือ' อันนั้นเป็นพากย์สด แล้วน้าตุ๊กก็เป็นผู้ประกาศเข้ารายการ เราก็ไปเกาะดูตรงหน้าต่าง แล้วเราก็ดูว่า เขาพากย์กันยังไงนะ เขาเก่งมากเลย เราก็ชื่นชมพวกพี่ๆ อยู่แล้ว แล้วก็มีโอกาสได้ทำ ก็นับว่าเป็นโอกาสของเราค่ะ

คือช่วงที่เราเข้าไปพากย์ใหม่ๆ มันเป็นช่วงที่เครื่องมือกำลังผลัดใบพอดี ก็จากฟิล์มหนึ่งนิ้ว มาเริ่มเป็นเทป พอเป็นระบบเทป เขาก็จะเทคได้ แล้วก็จะอัดเทปเอาไว้ เริ่มเป็นเทปยูเมติก ตอนนั้นยังไม่มีเบต้าไง มันก็จะเจริญมาเรื่อยๆ แต่ตอนนี้เบต้าก็จะตายแล้ว ตอนนี้ก็จะเป็นดิจิตอลไปหมด อะไรแบบนี้ (หัวเราะเบาๆ)

• ตอนแรกเริ่มเป็นนักพากย์ มีความยากง่ายยังไงบ้าง และเราผู้มาใหม่มีการฝึกฝนตนเองอย่างไร

อย่างที่บอกคือ เราอยู่ในหมู่รุ่นเดอะ รุ่นพี่ๆ นักพากย์ รุ่นบุกเบิกการ์ตูน ใช่มั้ยคะ ในเมื่อเราทำงานอยู่ที่นี่ มีเวลาว่างปุ๊บ เราก็ต้องขนขวายความรู้ จริงๆ ถามว่าพรสวรรค์มีมั้ย ก็พอมีอยู่บ้าง อาจจะเป็นว่าเสียงเราให้ แต่มีพรแสวงเยอะมาก เราต้องฝึกฝน การพากย์หนังต้องใช้ทักษะจริงๆ พากย์เยอะแล้วมันก็จะไปเอง เหมือนกับคนที่เก่งไอทีอย่างเงี้ย ก็ต้องเล่นเยอะ ต้องรู้จักอะไรเยอะ เหมือนกัน จับอะไรก็ได้หมด หรือคุณจะเป็นช่างซ่อม คุณจะรู้เลยว่า อาการอย่างงี้เป็นยังไง แก้ซ่อมยังไง คล้ายๆ กัน ต้องใช้ทักษะ

• จากที่ทราบมา น้าตุ๊กได้รับคำแนะนำจากน้าต๋อย เซมเบ้ ด้วย

ตอนนั้นเราก็ดูพี่ๆ เขาพากย์ แล้วน้าต๋อยเป็นผู้ประกาศรุ่นพี่เรา เพราะน้าตุ๊กจะเริ่มจากการเป็นผู้ประกาศก่อน ยังไม่ได้พากย์ แล้วเวลาจะพากย์ น้าต๋อยก็จะแนะนำว่า เสียงคุณเหมาะกับอย่างงี้นะ คุณควรจะเป็นตัวอย่างงี้นะ เป็นตัวเด็กผู้ชาย ซึ่งเราเป็นคนเสียงใหญ่เสียงกว้าง ไม่ได้เป็นเสียงหวานอย่างนางเอก น้าต๋อยก็แนะนำว่า คุณควรจะเหมาะกับเป็นเด็กผู้ชายที่แก่นหน่อยนะ ต้องอย่างงี้นะ เวลาแก่นจะต้องทำยังไง ทำเสียงยียวนต้องทำยังไง แล้วเราก็ทำงานกับน้าต๋อยตลอดมา อย่างเวลาเราพากย์ไจแอนท์กับซูเนโอะ มันก็จะเป็นคู่หูกันเลย ดังนั้น น้าต๋อยมีลูกเล่นอะไรมาเนี่ย น้าตุ๊กก็จะได้ความรู้จากน้าต๋อยมาเยอะ แล้วก็อาศัยที่ฟังเขาด้วย และฟังพี่ๆ ด้วย แล้วด้วยความที่พี่เขาก็ให้ความเมตตาเรา สอนเรา แนะนำเรา แล้วน้าตุ๊กก็จะมาเป็นตัวเสริม จากทีมที่เคยมีสี่คนแต่เดิม เพิ่มเป็นมีน้องใหม่คนหนึ่ง ซึ่งก็คือเรา จากนั้นก็มีพี่เปียก (วิภาดา จตุยศพร) และพี่ผึ้งด้วย ค่อยๆ เข้ามา

นับว่า น้าต๋อยเป็นครูน้าตุ๊กเลย ก็ให้ความเมตตาสอน แต่ไม่ถึงขั้นโหดนะ เพราะพี่ต๋อยเป็นคนอารมณ์ดี แล้วเขาจะเป็นคนแนะนำ และเวลาพากย์ด้วยกัน เราก็สังเกต เพราะเราเห็นเขาพากย์มาก่อน รู้ว่าเขาจะเป็นคนอารมณ์ดี ลูกเล่นเขาก็จะตลก อะไรดีๆ เราก็จะเก็บเกี่ยว และสามารถทำงานเข้าขากันได้ พากย์ไปด้วยกันได้

• ใช้เวลาอยู่นานมั้ยครับ กว่าจะเรียกตัวเองว่า นักพากย์เต็มตัว

คือตอนที่เราฝึกพากย์เนี่ยนะคะ มันก็ต้องใช้เวลา เนื่องจากเราเป็นพนักงานประจำด้วย เราก็สามารถที่จะทำงานข้างในได้ แต่เรามีงานประจำ แล้วการพากย์มันก็จะมีคิว คือจะมีการติดต่อคนพากย์ข้างนอก ถ้าเป็นผู้หญิงจะเป็นคนพากย์ข้างใน แล้วเราจะต้องมีคิวกำหนดเลยว่า วันไหน จะพากย์เรื่องอะไร นัดกี่โมง ตอนนั้นระยะเวลาที่ฝึกพากย์ก็เป็นปีนะ แล้วจะมีคนประเมิน หัวหน้าแผนกที่เขารับผิดชอบเรื่องภาพยนตร์เนี่ย จะเป็นคนเลือกซื้อภาพยนตร์ เลือกตัวละครว่า ใครจะพากย์ตัวไหน และเขาเป็นคนที่ต้องเข้าใจหนัง เมื่อก่อนนี้คือ พี่เปียก ที่เป็นนักพากย์เหมือนกัน เขาเป็นคนที่พากย์เซเลอร์มูน ตัวเอก และเขาเป็นหัวหน้าแผนกภาพยนตร์อยู่ด้วยไง เขาก็จะเข้าใจหนัง เพราะเขาเป็นนักพากย์ด้วย เขาจะรู้ว่า ใครเหมาะกับตัวไหน เขาก็จะแบ่งคนตัวพากย์ อย่างงี้ค่ะ

• พากย์อยู่นานแค่ไหนกว่าจะได้มาพากย์เป็น 'ซูเนโอะ' ซึ่งถือว่าเป็นการแจ้งเกิดและมีชื่อเสียง

ตอนแรกๆ ก็ยังไม่ได้เป็น เพราะยังไม่ลงตัว ก็จะยังเป็นเป็นบทแม่ก่อน จนตอนหลังจะมาลงตัวที่ พี่นิด ศันสนีย์ เป็น โนบิตะ พี่ฉันทนา ธาราจันทร์ เป็นโดราเอมอน เป็น ซูเนโอะ น้าต๋อยเป็นไจแอนท์ พี่ผึ้ง ศรีอาภา เรือนนาค ก็พากย์เป็นชิซูกะ ก็พากย์มาตั้งแต่นั้นมา และก็เป็นการ์ตูนที่ทำให้เด็กๆ รู้จัก ละประเทศไทยรู้จักโดราเอมอน เป็นขวัญใจของเด็กๆ ตั้งแต่นั้นเรื่อยมา

• และต่อมาก็ถูกพูดถึงอีกครั้ง กับการพากย์เสียงเป็นโคนัน

ใช่ค่ะ เราได้รับโอกาสให้ได้พากย์ตัวละครตัวนี้ตั้งแต่ตัวที่ 1 เลย เราจะได้พากย์ตั้งแต่ตอนแรกเลย ก็เป็นปีที่ 14 แล้ว และยังไม่จบสักที พระเอกก็ยังตัวเล็กเหมือนเดิม (หัวเราะ) คิดว่าทางญี่ปุ่นก็ขายได้ล่ะเนอะ เขาก็คงขายได้เรื่อยๆ ไม่องค์กรชุดดำ ก็คดีของชาวบ้าน ก็มีมาเรื่อยๆ ซึ่งโคนันเป็นการ์ตูนที่พากย์ค่อนข้างยากหน่อย เพราะมันเป็นเรื่องทื่เวลาไปไขคดีเนี่ย อย่างการฆาตกรรมในห้องปิดตายเนี่ย เวลาเขาเฉลย จะต้องแปะสติ๊กเกอร์ตรงนี้แล้วลากเบ็ดมาตรงนี้ เราต้องพากย์ให้มันลงกับพากย์เลย เพราะว่ามันเป็นการไขคดีจริงๆ คือประตูมันปิดอย่างงี้นะ แล้วพระเอกมองปุ๊บ อ๋อ ฆาตกรมันทำอย่างงี้นี่เอง อะไรประมาณนี้ ต้องให้ลงโป๊ะๆ เลย แล้วคำพูดคำเฉลยของเขาเนี่ย น้าตุ๊กได้มีโอกาสได้คุยกับคนแปลเอง ยังบอกเลยว่า แปลยาก มันไม่เหมือนการ์ตูนรื่นเริงทั่วไป เล่นอะไรก็ได้สนุกสนาน ให้มันเป็นเหตุเป็นผล

อีกอย่าง การ์ตูนเรื่องนี้เป็นการ์ตูนที่จริงจังด้วย อย่างเพื่อนๆ ที่พากย์ด้วยกัน ก็จะแซวแบบ...อะไรก็ไม่รู้ ไอ้เด็กคนนี้ ไปที่ไหนก็มีคดีฆาตกรรม แต่ก็เป็นการ์ตูนสำหรับเด็กโตนะคะ เพราะเด็กเล็กๆ อาจจะไม่ดู เพราะว่ามันจะมีแต่บทพูด เด็กเล็กๆ อาจจะชอบการ์ตูนที่เคลื่อนไหวเร็ว มีแอ็คชั่นเยอะๆ มีหัวเราะ แต่นี่บทพูดจะเยอะมาก แล้วคนพากย์ก็ต้องพากย์ให้เป็นเหตุเป็นผลตามบทด้วย แล้วคนแปลก็แปลยาก

• ผ่านไปหลายสิบปี น้าตุ๊กก็ยังมีงานพากย์สม่ำเสมอนะครับ

ก็ตราบเท่าที่ช่อง 9 ยังมีการ์ตูนให้เราพากย์ เราก็ยังพากย์อยู่ ซึ่งตอนนี้ ทุกคนในทีม ไม่ได้เป็นพนักงานแล้ว เกษียณไปหมดแล้ว แต่เราก็ยังกลับมาพากย์ไง มันก็เหมือนความผูกพัน ซึ่งเราก็อยากจะกลับมาถิ่นเดิมของเรา เราพากย์กันมา 20-30 ปี เราก็ทำงานเต็มที่ และเสียงเราก็เป็นเอกลักษณ์ของช่อง 9 เวลาช่องซื้อหนังมา ก็จะเอามาพากย์ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ว่า การ์ตูนช่อง 9 ก็จะเป็นเสียงพวกเรา

อีกอย่าง คนข้างนอกเขาจะเรียกว่า ทีมพากย์ช่อง 9 หรือ “ช่อง 9 การ์ตูน” แม้แต่ข้างนอกที่เราทำอย่างบริษัท Dream X บริษัท Tiga ก็จะเป็นเสียงพวกเรานี่แหละ หรืออย่าง Rose Video ที่มีเสียงของพวกช่อง 9 เข้าไปด้วย คือมันก็เหมือนเป็นเครื่องหมายการค้าเหมือนกัน เขาอาจจะเชื่อมั่นในฝีมือเรา แล้วถ้าเป็นเสียงพวกเรา ลูกเล่นพวกเรา ก็จะขายได้ เด็กๆ ก็จะชอบดู อะไรประมาณนี้ค่ะ

• ด้วยความที่เราเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกของนักพากย์การ์ตูน แล้วเรามามองในตอนนี้ ในมุมมองของคุณ คิดว่ายังไงครับ

ก็มีน้องๆ มากขึ้น อย่างเวลาที่ไปทำงานข้างนอก ก็ได้มีโอกาสทำงานกับเด็กๆ รุ่นใหม่ อายุ 20 เศษๆ ก็มี หรือยังเรียนอยู่ก็มี อย่างมีน้องคนหนึ่ง ยังใส่ชุดนิสิตมาพากย์อยู่เลย เพราะเด็กๆ รุ่นใหม่ ก็สนใจมาก และก็ยังถามเราว่า ทำยังไงถึงจะได้เป็นนักพากย์ มีโรงเรียนฝึกสอนพากย์มั้ย ซึ่งอาจจะมี แต่ถึงจะมีคนแนะนำ แต่ถ้าไม่ได้ลองลงมาเอง ไม่ได้ลองพูดเองฟังเอง มันก็จะเก่งยาก ต้องมีสนามลง ซึ่งจะเก่งเร็วขึ้น หรือถ้าเรามีพี่เลี้ยงดีๆ คอยแนะนำ ก็ยิ่งเป็นโอกาสที่ดี แต่ว่ายังไงก็ต้องมีสนามลงอ่ะคะ แต่การฝึกฝนคนเดียว เราว่ามันก็ดีนะ

ยิ่งเด็กๆ สมัยนี้สามารถจะพูดใส่โทรศัพท์เอง เรียกหนังออกมาดูเองได้ ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อนที่ไม่มีเครื่องมือ มีแค่เทป เสร็จแล้วต้องเอาไปที่อ่าน แต่เดี๋ยวนี้มีคนแปล ซึ่งเมื่อก่อนก็ต้องถ่ายเทปกัน เมื่อก่อนก็เป็นเทป VHS เอาไปให้คนแปลๆ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว นั่งอยู่บ้าน ส่งเมล์ก็ได้แล้ว เทคโนโลยีช่วยให้เด็กๆ ฝึกพากย์ได้สะดวกขึ้น เคยมีน้องๆ คนพากย์เหมือนกัน เขาพากย์เอง แล้วไปลงในโทรศัพท์เหมือนกัน แล้วก็มาให้น้าตุ๊กดู น้าตุ๊กฟังให้หน่อยสิครับเป็นยังไง ว่าเขาจะใช้เสียงนั้นมั้ย ซึ่งเรามองแล้วไฮเทคมาก ไม่เหมือนสมัยเราเลย เขามีโอกาสดี (หัวเราะเบาๆ)

• สำหรับน้าตุ๊ก อะไรถือเป็นหลักของนักพากย์ครับ

ต้องพัฒนาตัวเราเอง คือเมื่อก่อนเราจะต้องตามบทอยู่ตลอดนะคะ แต่น้องๆ สมัยนี้บางคน พออยู่กับตัวเอง เอาแล้ว (ทำท่านิ้วเลื่อนโทรศัพท์) เขี่ยโทรศัพท์ อะไรอย่างงี้ ซึ่งแตกต่างจากรุ่นเราที่ไม่มีหรอกค่ะ เพราะคนอื่นพูดมา เราก็ต้องรับให้ได้ เราจะมาทำอะไรอยู่ เทค เสียเวลา แล้วยิ่งบางคนที่ต้องการจะไปเร็ว อย่างเมื่อกี้ (พูดถึงงานที่เพิ่งพากย์เสร็จ) คือเราต้องเสร็จ 3 โมง เพราะเวลาที่ควรเสร็จ เราต้องเสร็จ เราจะไม่ทำให้คนอื่นเสียเวลา

ระเบียบวินัยกับตัวเองต้องมี ต้องฝึกซ้อม ไม่สามารถที่จะทำเล่นๆ ได้ เพราะเราทำงานกับรุ่นพี่ เราก็ต้องทำตัวให้สมกับที่ได้รับโอกาสทำงานกับเขา ซึ่งถ้าเราจะไปเป็นตัวถ่วง เดี๋ยวก็เทค เดี๋ยวก็เทค มันน่ารำคาญ เสียเวลา เสียอารมณ์เขาด้วย พวกน้องๆ เองก็เหมือนกัน ถ้าเราจะฝึกเด็กสักคนหนึ่ง ถ้าเขามีความใส่ใจ แล้วพอเราถามปุ๊บ เราป้อนโจทย์ไปปุ๊บ แล้วตอบได้ เอออันนี้น่าสอน แต่ถ้าเขาให้โอกาสแล้ว แล้วเราไม่ขวนขวายไม่พัฒนาตัวเอง แล้วไปทำงานกับเขา ลงสนามจริง หนังเริ่มเล่น ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ ฝึกก็แล้ว ก็มีหลายคนก็มี เหมือนอย่างที่รู้กัน ดาราบางคน ยังเล่นแข็งเด่อยู่อย่างงั้น จนกระทั่งก็ตายไปเอง นักพากย์บางคนก็มีค่ะ ได้แค่ไหนก็แค่นั้น ไม่สามารถพากย์แล้วเป็นที่รู้จักได้ คือถ้าสมมุติว่าเรามีฝีมือ เราก็จะได้รับบทที่ดีไง ให้มันเข้ากับหนัง ให้คนดูอินไปกับหนัง คล้ายๆ กัน

พรสวรรค์มี ก็ต้องมีพรแสวง คือมันก็สะท้อนกับทุกๆ อาชีพ และถ้าเรามีความสุขกับการทำงาน เรายิ่งทำงานได้ดี แล้วงานพากย์มันไม่ใช่งานที่ซีเรียสเกินไป อย่างงานบางงาน เช่น งานคำนวณ มันยังดูหนัก แต่อันนี้ เราสนุกไปกับหนัง เพราะว่าตอนนั้นเราเป็นตัวละครตัวนี้ อย่างเวลาพากย์เป็นซูเนโอะ ถามว่ามันสนุกมั้ย มันมีความสุขนะ พอได้แกล้งหรือเยาะเย้ยเสียดสีโนบิตะ แล้วหัวเราะชอบใจ ดูแล้วเหมือนกับมันเป็นอีกด้านหนึ่งของตัวละคร ซึ่งซูเนโอะจะเป็นบุคลิกอย่างงี้ ชอบพูดอะไรถากถางให้โนบิตะเจ็บช้ำน้ำใจ มันก็สนุกไปอีกแบบหนึ่งค่ะ

• คือเราต้องใส่ใจรายละเอียดลงไปแล้ว ยังเป๊ะอีกด้วย

ใช่ค่ะ ก็ทุกคนที่ทำงานเนี่ย เป็นคนที่ทำงานด้วยกันมานาน พากย์ด้วยกันมา 20-30 ปี ก็จะเข้าขากันด้วย อันนี้จริงๆ เป็นลักษณะของบทภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนหรือหนังน่ะคะ คือเขาก็จะมีสคริปต์ที่เป็นภาษาต่างประเทศ แล้วเขาก็จะแปลมา คนแปลก็จะแปลมาโดยที่จะคัดตัวละครออกมาให้เรารู้ว่ามีผู้หญิงกี่คน ผู้ชายกี่คน มีเด็กผู้ชายมีเด็กผู้หญิงมั้ย แล้วคนแบบนี้ เขาก็จะดูจากคาแรกเตอร์พวกเรา แล้วก็จะแบ่งออกมา แล้วก็กำหนดว่าใครจะเป็นตัวไหนๆ แล้วถ้าใครเป็นตัวไหน เราก็จะขีดบทที่เป็นตัวเราไว้ อย่างถ้าเป็นของเรา เราก็จะขีดตัวของเราไว้ แล้วเวลาเพื่อนๆ พากย์ เพื่อนๆ เป็นตัวไหน เราก็ต้องดูว่า เขาพอสถึงไหนแล้ว พอถึงตัวเรา เราก็พูด

การพากย์หนังก็คือการทำงานเป็นทีมใช่มั้ยคะ เราเองก็ต้องดูเพื่อนว่าเพื่อนถึงไหนแล้ว เราก็ต้องต่อเขาให้ติด ถ้าเขามีลูกเล่นอะไรที่นอกเหนือไปจากบท ซึ่งบางครั้งหนังแบบนี้อาจจะมีน้อย แต่ถ้าเป็นการ์ตูน เราอาจจะมีลูกเล่นอะไรที่ใส่เข้าไป คนที่พากย์ต่อ เราก็ต้องรับลูกเล่นนั้นให้ได้ ให้หนังมันสมูธถูกมั้ยคะ ไม่งั้นอีกคนหนึ่งพูด ก็จะไปไหนมา 3 วา 2 ศอก มันก็ไม่เข้ากัน และที่สำคัญคือ นอกจากความชำนาญของผู้พากย์แล้ว บทก็มีความสำคัญมาก เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะฟังภาษาต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว อ่านอย่างรวดเร็ว ทำความเข้าใจอย่างรวดเร็ว แล้วพูดตามอย่างรวดเร็ว ซึ่งบทแปลนี่สำคัญมาก คนแปลก็มีความสำคัญมาก ถ้าเขาแปลบทได้ลงปากเป๊ะๆๆ ก็จะช่วยนักพากย์ได้มาก เพราะว่าเราก็อยากให้มันซิงค์กับปาก ใช่มั้ยคะ พอตัวละครพูดอะไรปุ๊บ ตัวละครหยุดพูด เราก็ควรจะหยุด ถ้าเกิดตัวละครหยุดแล้ว แล้วบทยังเหลือ เราก็ต้องเอาใหม่ แสดงว่าเราพากย์ไม่ทัน หรือเราพากย์เร็วกว่าเขา บทยังเหลือ แสดงว่า เราพากย์เร็วเกินไป เราก็ต้องเอาใหม่ เพื่อให้มีคุณภาพ

• พูดได้ไหมว่า การพากย์ก็เหมือนการเล่นกีฬา อย่างเช่นฟุตบอลที่ต้องทำงานกันเป็นทีม และต้องมีเซนส์ที่ทันกัน

ถูก (ตอบทันที) ใช่ค่ะ เพราะว่ามันเป็นการทำงานเป็นทีม อย่างนักฟุตบอลอย่างงี้ คุณมีความสามารถเฉพาะตัวดีเด่น อันนั้นเป็นพรสวรรค์ของคุณ หรือว่าเป็นเพราะการฝึกฝนของคุณก็ได้ แต่ถ้าคุณเป็นผู้รักษาประตู คุณเป็นศูนย์หน้า คุณเป็นกองกลาง พอรู้แล้วว่าจะส่งมาอย่างงี้ ถ้าเขารับได้ สอดคล้องกัน มันก็คล้ายน่ะค่ะ ทุกคนมีความสามารถเฉพาะตัวแล้ว พากย์แล้วมันจะต่อๆๆ กันได้ แต่บางคนที่อาจจะมีชั่วโมงบินน้อยกว่า หรืออาจจะอะไรก็แล้วแต่ พอถึงช่วงที่อารมณ์กำลังส่งกัน ทะเลาะกัน กำลังโศก กำลังบิลด์ ตอบโต้กันไปมา อีกคนหนึ่งจะมาเข้าบทรับไม่ทัน มันก็ต้องหยุด อารมณ์ก็จะไม่ต่อเนื่อง บางทีเห็นว่าอย่างการ์ตูนอย่างงี้ เจี๊ยวจ๊าว หรือกำลังร้องไห้กัน พ่อแม่โผล่มาในซีน นักพากย์ตามไม่ทัน ต้องเอาใหม่ ไอ้ที่เราทะเลาะกันเมื่อกี้ก็ต้องเอาใหม่ อะไรแบบนี้ค่ะ ดังนั้น การทำงานพากย์ต้องทำงานเป็นทีม ความสามารถเฉพาะตัวเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้ายิ่งทุกคนเก่งแล้วมารวมตัวกัน สามารถเข้าใจกัน มันก็ยิ่งผลงานออกมาดี

• การสวมบทบาทในด้านเสียงมาตลอด 30 ปี คิดว่ามันได้ให้อะไรกับเราบ้าง

ถ้าแบบพื้นๆ เลย ก็ได้อาชีพใหม่ กับการเป็นพนักงานประจำที่ อ.ส.ม.ท. ได้อาชีพนักพากย์ ซึ่งเกษียณแล้วก็ยังทำได้ แล้วก็ได้รู้จักคนเยอะ ได้ดูการ์ตูนสนุกๆ และได้เป็นส่วนหนึ่งของการ์ตูนเรื่องนั้น มีโอกาสพากย์การ์ตูนหลายเรื่อง ได้มีโอกาสเจอคนที่มีความสามารถเยอะๆ ได้ร่วมทำงานกับคนที่มีความสามารถ ได้มีเพื่อนเยอะ ได้มีรุ่นน้องเยอะๆ ก็นับว่าเป็นความโชคดี และก็มีความสุขกับอาชีพนี้ แต่ก็ไม่ได้ทำอาชีพนี้อย่างหนักหน่วงนะ เพราะว่าเกษียณแล้ว ก็ยังทำอยู่บ้าง ได้มาพบเพื่อนๆ ร่วมงาน สักวันหนึ่งก็อาจจะต้องเลิก เพราะว่าเราเกษียณแล้วไง แล้วมีบ้านอยู่ต่างจังหวัดด้วย จริงๆ งานพากย์มันเป็นงานที่ต้องรับผิดชอบ ถ้าเราเริ่มแล้ว เราจะทิ้งไปกลางคันไม่ได้ อย่างน้อยเราจะเลิกไป เราก็ควรรับผิดชอบว่า เราควรพากย์ให้จบซะก่อน อะไรแบบนี้

แต่ตอนนี้ก็ทำน้อยลงแล้ว อาทิตย์หนึ่งทำ 2-3 วัน แล้วก็ไปอยู่ต่างจังหวัดบ้าง เพราะเราไม่มีภาระอะไร ไม่มีลูกหลานต้องรับผิดชอบ ทำเพื่อความสุขตัวเอง แล้วเราก็คิดว่า เสียงเราก็ยังขายได้ไง แล้วเราจะทิ้งไปเหรอ โดราเอมอน โคนันก็ยังมาอีก แต่ก็คิดอยู่เหมือนกันว่า เรื่องอื่นๆ อาจจะเบาลง ถ้าเรื่องที่เรารับผิดชอบมาตั้งแต่ต้น ก็อาจจะทำต่อไป แต่ก็ไม่ได้ทิ้งซะทีเดียวหรอกค่ะ อาจจะทำน้อยลง อย่างพี่ต๋อยที่สุขภาพไม่ค่อยดี ด้วยความที่พี่ท่านมีฝีมือ แต่ก็ต้องเฟดตัวเองลงไป เพื่อรักษาสุขภาพตัวเอง แต่คิดว่ามีสายเลือดใหม่ทดแทนได้อยู่ค่ะ ถ้ามีโอกาสที่ช่อง 9 เพราะพี่ๆ ก็ให้โอกาส แต่ก็ต้องขวนขวายหาด้วยนะ ใครอยากจะเป็นนักพากย์ ก็ต้องขวนขวายหาโอกาสด้วย

เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ปวริศร์ แพงราช

กำลังโหลดความคิดเห็น