xs
xsm
sm
md
lg

“แม่เล้าสร้างวัด” ทั้ง ร.๔ และสมเด็จโตเทศน์ตรงกัน ได้บุญไม่ครบเงิน!!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค

รูปปั้นคุณแม่แฟงในอาคาร ยังมีดอกไม้สดวางอยู่เสมอ
ประวัติศาสตร์โลกกล่าวว่า โสเภณีมีมาตั้งแต่สมัยโรมันแล้ว ส่วนเมืองไทย กฎหมายลักษณะผัวเมียที่ออกสมัยพระเจ้าอู่ทองผู้สร้างกรุงศรีอยุธยา ก็กล่าวถึงหญิงนครโสเภณีเหมือนกัน แสดงว่ากรุงสยามของเราทันสมัยกับเขาไม่เบา

ความจริงถ้าไม่มีโสเภณีก็อาจจะทำให้หลายคนอกแตกตาย หรือมีปัญหาสังคมเพิ่มขึ้นอีก บางประเทศที่รุ่งเรืองเชิดหน้าอยู่ในขณะนี้ ก็เคยใช้นโยบายให้โสเภณีหาเงินสร้างชาติมาก่อน รัฐบาลถึงกับเปิดคอร์สอบรมวิทยายุทธกันเลย สมัยก่อนหนุ่มไทยยกขบวนไปไต้หวันกันเป็นประจำ แต่พอเศรษฐกิจดีโสเภณีก็หายไปเองโดยไม่ต้องไปปราบ เพราะไม่มีใครอยากเป็นกันอยู่แล้ว

ฉะนั้นถ้าประเทศไหนมีโสเภณีก็อย่าไปโทษคนที่มีอาชีพนี้ ต้องโทษรัฐบาลที่ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่จนคนที่ไม่มีทางไปต้องยอมขายตัวกิน

คนเป็นโสเภณีนั้นน่าเห็นใจ แต่อาชีพโสเภณีกลับเป็นที่รังเกียจ จะเอาเงินทำบุญก็หาว่าได้บุญไม่ครบจำนวนเงินเหมือนเงินคนอื่น

ที่บ่นมานี้ก็อยากจะบ่นแทน “คุณแม่แฟง” กับ “คุณแม่กลีบ” ผู้สร้าง “วัดคณิกาผล” กับ “วัดกันมาตุยาราม” ซึ่งแกน้อยอกน้อยใจในเรื่องนี้มาก ทั้งๆ ที่เงินของแกก็สร้างวัดได้เท่ากับเงินของคนอื่น ไม่ได้น้อยด้อยค่ากว่ากันเลย

คุณแม่แฟงเป็นแม่เล้าชื่อดังในสมัยรัชกาลที่ ๓ สำนักของแกอยู่ที่ตรอกเต๊า ซึ่งเดี๋ยวนี้มีชื่อว่าซอยเจริญกรุง ๑๔ ซึ่งย่านนั้นมีซ่องโสเภณีมากมายทั้งชั้นสูงและไม่สูง เรื่อยมาจนถึงสำเพ็ง ซ่องของคุณแม่แฟงจัดอยู่ในขั้นชั้นนำ มีลูกค้ามาอุดหนุนกันคึกคัก คุณแม่แฟงจึงร่ำรวยจากกิจการนี้

สมัยก่อนคนมีเงินนิยมสร้างวัด โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนาอย่างมาก กล่าวกันว่าใครสร้างวัดก็ถือเป็นคนโปรดประจำรัชกาล พวกขุนนางจึงสร้างวัดกันมาก คุณแม่แฟงเป็นคนใจบุญสุนทานอยู่แล้ว จึงได้ร่วมกับหญิงงามเมืองในสำนักสร้างวัดขึ้นที่ตรอกวัดโคกใน พ.ศ.๒๓๗๖ เรียกกันว่า “วัดใหม่ยายแฟง” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ลูกหลานของยายแฟงได้บูรณะวัดขึ้นใหม่ แล้วทูลขอพระราชทานนาม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนามว่า “วัดคณิกาผล”

คำว่า “คณิกา” แปลว่า นางบำเรอ หรือ หญิงงามเมือง

“วัดคณิกาผล” ที่อยู่ตรงข้าม สน.พลับพลาไชยขณะนี้ จึงหมายถึงวัดที่สร้างจากผลของหญิงงามเมืองนั่นเอง

ตอนแรกสร้าง คุณแม่แฟงได้นิมนต์สมเด็จพระพุฒาจารย์โต วัดระฆัง ไปเทศน์ในงานฉลองวัด ตอนนั้นสมเด็จฯโตยังเป็น“มหาโต” ท่านเทศน์ประเภทขวานผ่าซากอยู่แล้ว จึงได้เทศน์ว่า เจ้าภาพทำบุญด้วยทุนรอนจากผลเช่นนี้ ย่อมได้อานิสงส์เพียงสลึงเฟื้องเท่านั้น

จากนั้นก็ได้ชักนิทานมาเปรียบเทียบให้ฟังว่า ยังมีตากับยายฝังเงินสลึงเฟื้องไว้ใต้แผ่นศิลารองหน้าบันได เงินสลึงเฟื้องได้หนีไปเข้าคลังเศรษฐี ตาจึงขุดตามเงินที่หนีไปจนถึงคลังนั้น เศรษฐีมาห้ามไม่ให้ขุดตาก็ไม่ยอมฟัง ว่าจะขุดตามหาอ้ายน้อยไปหาอ้ายใหญ่ เศรษฐีถามว่าอ้ายน้อยคืออะไร ตาก็บอกว่าอ้ายน้อยคือเงินที่เทวดาให้มาสลึงเฟื้อง เศรษฐีก็ว่าเงินในคลังของแกมีแต่เงินก้อนใหญ่ เงินย่อยๆ แบบนี้ไม่มี และท้าว่าถ้าขุดได้เงินสลึงเฟื้องอยู่ในคลังแก จะจ่ายค่าทำขวัญให้หนักเท่าน้ำหนักตัวตา แต่ถ้าขุดไม่เจอตาต้องรับโทษฐานเป็นคนร้ายบุกรุก ตาก็ยินยอม เมื่อขุดไปถึงคลังของเศรษฐีก็พบเงินสลึงเฟื้องเข้าไปกอดติดกับเงินก้อนใหญ่ เศรษฐีเป็นฝ่ายแพ้เลยยอมให้ตาปรับตามที่ตกลงกันไว้ แต่ครั้นเอาตัวตาขึ้นชั่งก็ได้น้ำหนักเพียงแค่สลึงเฟื้องตามที่เทวดาเคยชั่งให้ เพราะผลบุญที่ทำไว้ตั้งอยู่บนมูลฐานที่ผิด ดังเจ้าของวัดนี้ ตั้งบุญอยู่บนมูลฐานที่ไม่ถูก จึงได้บุญไปแค่สลึงเฟื้องของเศษบุญเท่านั้น

คุณแม่แฟงได้ฟังคารมเทศน์ของมหาโตก็โกรธจนหน้าแดง เกือบจะด่าเสียแล้ว แต่ก็เกรงที่มหาโตมีผู้คนทั้งในรั้วในวังนับถือกันมาก จึงได้ยกเครื่องกัณฑ์เทศน์กระแทกถวาย

คุณแม่แฟงคิดจะแก้หน้าที่ถูกมหาโตเทศน์จนเสียหน้า จึงไปนิมนต์ “ทูลกระหม่อมพระ” จากวัดบวรฯ ก่อนขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเทศน์อีกครั้ง

ทูลกระหม่อมพระทรงแสดงธรรมเทศนาถึงจิตของบุคคลที่ทำกุศลว่า ถ้าทำด้วยจิตผ่องใสไม่ขุ่นมัว ก็จะได้ผลมาก หากทำด้วยจิตขุ่นมัวก็จะได้ผลน้อย ดังเช่นสร้างวัดนี้ด้วยเรื่องขุ่นมัวทั้งนั้น มหาโตท่านชักนิทานเรื่องบุรุษที่เคยทำกุศลเศร้าหมองไว้แต่ชาติปางก่อน ครั้นชาตินี้ได้เกิดเป็นมนุษย์เหมือนเขาแต่ยากจน จึงได้ไปอ้อนวอนขอเงินเทวดาที่ต้นไม้ใหญ่ เทวดารำคาญ ครั้นจะให้น้อยก็จะว่าแกล้งให้ ครั้นจะให้มากก็ไม่เห็นมีความดีที่ควรจะให้มาก เทวดาจึงใช้วิธีชั่งน้ำหนักตัวจะได้ไม่มีเรื่องต่อว่าต่อขานกัน มหาโตท่านตัดสินบุญรายนี้โดยแบ่งบุญออกเป็น ๘ ส่วน เหมือนเงิน ๑ บาทมี ๘ เฟื้อง โค้งเว้าหายไปเสีย ๕ เฟื้องคือ ๕ ส่วน คงได้แค่ ๓ ส่วน ซึ่งก็ยังดี ถ้าเป็นความเห็นของอาตมาแล้ว คงจะตัดสินให้ได้บุญเพียง ๒ ไพเท่านั้น

คุณแม่แฟงนิมนต์ทูลกระหม่อมพระมาจะให้ช่วยแก้หน้า เลยกลับหนักเข้าไปอีก ก็น่าที่แกจะน้อยใจ

คุณแม่แฟงมีลูกสาวอยู่คนหนึ่งชื่อ กลีบ ซึ่งได้ดำเนินกิจการต่อเมื่อคุณแม่แฟงเสียชีวิต โรงคุณแม่กลีบได้พัฒนายกระดับขึ้นเป็นซ่องชั้นสูง นอกจากจะมีสาวๆ หน้าตาสะสวย สะอาดสะอ้านแล้ว ห้องที่รับแขกยังแต่งเสียหรูยังกับห้องของลูกสาวขุนนาง หมอนมุ้งสะอาด เครื่องใช้ในห้องล้วนแต่เป็นเครื่องถม เฟอร์นิเจอร์ระดับไฮโซ มีโต๊ะเครื่องแป้งกระจก พานเครื่องแป้งถม ขนาดกระโถนยังทำด้วยเงิน

คุณแม่กลีบเป็นคนใจบุญสุนทานเหมือนกัน จึงได้สร้างวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๗ ปลายรัชกาลที่ ๔ โดยสร้างขึ้นในที่ซึ่งเป็นสวนดอกไม้ของคุณแม่แฟง ปลายตรอกเต๊า ซึ่งขณะนี้ทะลุติดกับซอยศูนย์การค้าคาเธ่ย์ เยาวราช มีชื่อว่า วัดกันมาตุยาราม มีความหมายว่า วัดของมารดานายกัน

คุณแม่กลีบมีลูก ๒ คน คนพี่ชื่อสวาท เสียชีวิตก่อนสร้างวัด เมื่อนิมนต์สมเด็จพระพุฒาจารย์โต เจ้าอาวาสวัดระฆัง เจ้าเก่าของคุณแม่แฟงมาเทศน์ คุณแม่กลีบได้ยกลูกชายคนเล็กใส่กัณฑ์เทศน์เพื่อให้เลี้ยงง่าย และตั้งชื่อให้ว่า “กัณฑ์” ซึ่งต่อมาได้เป็น พระดรุณรักษา ในรัชกาล ๕ แต่เมื่อมีการเขียนป้ายชื่อวัดได้เพี้ยนไปเป็น “ กันมาตุยาราม” ก็ต้องเลยตามเลย

เมื่อตอนสร้างวัดกันมาตุยารามเสร็จ คุณแม่กลีบได้นิมนต์พระจีนอุปนันทะโก จากวัดโสมนัสวิหารมาเป็นสมภาร แต่อยู่ได้เพียง ๔ พรรษาก็ต้องขอย้าย เนื่องจากทนเสียงหนวกหูของบรรดาโสเภณีและอันธพาลที่เอะอะโวยวายกันดึกดื่นทุกคืนไม่ได้

ที่วัดคณิกาผล หลังพระอุโบสถมีศาลาเล็กๆ ตั้งรูปปั้นของคุณแม่แฟงผู้สร้างวัดไว้ มีคำจารึกที่ฐานรูปปั้นว่า
“วัดคณิกาผลนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๖ โดยคุณยายแฟง บรรพบุรุษของตระกูลเปาโรหิตย์”

ส่วนที่วัดกันมาตุยารามตรงปากประตูที่จะทะลุออกทางตรอกเต๊า มีอาคารรูปโดมแปลกตาตั้งอยู่ มีป้ายติดไว้ว่า “อนุสาวรีย์คุณแม่กลีบ มารดาพระดรุณรักษา (กัน สาครวาสี) ผู้สร้างวัดกันมาตุยาราม เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๗” และมีรูปปั้นของคุณแม่กลีบตั้งอยู่ภายใน

ทั้งอนุสาวรีย์ของคุณแม่แฟงและคุณแม่กลีบทุกวันนี้ ยังมีลูกหลานในตระกูลเปาโรหิตย์ และตระกูลสาครวาสี มากราบไหว้กันไม่ขาด
ที่ระลึกคุณแม่แฟงในกำแพงบรรจุอัฐิที่วัดคณิกาผล
อนุสรณ์คุณแม่กลีบที่วัดกันมาตุยารามย่านแออัด

กำลังโหลดความคิดเห็น