ไชน่าเดลี่ - หญิงชาวจีนเหยื่อข่มขืนระหว่างสงครามในมณฑลไห่หนันยังรอฟังคำขอโทษจากญี่ปุ่น แม้พวกเธอปัจจุบันอายุล่วงสู่วัย 80 ปีแล้วก็ตาม
หนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ทราบว่า หญิงผู้ประสบเคราะห์กรรม ซึ่งรอดชีวิตจากสงครามมาไม่ถึง 100 คนในมณฑลทางภาคใต้แห่งนั้น มีอายุยืนยาวเหลือมาถึงทุกวันนี้เพียง 8 คน
ในช่วงสงครามสตรีบนดินแดนจีนถูกบังคับให้เป็นนางบำเรอในกองทัพญี่ปุ่นราว 2 แสนคน เฉพาะในมณฑลไห่หนัน หรือไหหลำ ซึ่งถูกกองทัพญี่ปุ่นรุกรานเมื่อพ.ศ. 2482 และยึดครองอยู่นาน 6 ปี ผู้หญิงราว 1 หมื่นคนถูกบังคับเป็นทาสปรนเปรอกามารมณ์ตามสถานีบริการทางเพศของกองทัพ ที่มีอยู่ประมาณ 60 แห่ง จากการเปิดเผยของซู่ จื้อเหลียง อาจารย์ของมหาวิทยาลัยครุศาสตร์เซี่ยงไฮ้ ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของนางบำเรอกองทัพญี่ปุ่น
หญิงเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าลี และเหมียว ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการถูกทรมานข่มเหง ส่วนที่เหลือรอดมาก็อยู่ในสภาพบอบช้ำอย่างหนักทั้งร่างกายและจิตใจ
หวง โยวเหลียง วัย 88 ผู้รอดชีวิตคนหนึ่ง เป็นโรครูมาติกรุนแรง คุณยายต้องนอนอยู่บนเตียง เดินไม่ได้มานานหลายปี แต่ก็ยังมีแรงอยู่บนโลกใบนี้ ด้วยความหวังว่า จะได้รับคำขอโทษอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลญี่ปุ่น
ชีวิตของหวงตกอยู่ในขุมนรก เมื่อกองทัพซามูไรบุกยึดเขตปกครองตนเองหลิงสุ่ยในพ.ศ. 2484 โดยวันหนึ่งขณะหวงกำลังทำงานอยู่ตามลำพังในไร่ ทหารลาดตระเวนญี่ปุ่นผ่านมาเห็นเข้า จึงฉุดคร่า เวลานั้นหวงอายุแค่ 14 ปี
หวงถูกข่มขืนและถูกทุบตีภายในบ้านของเธอเองอยู่ทุก ๆ คืน รวมเกือบ 3 เดือน จากนั้น จึงถูกส่งไปยังซ่องทหาร ที่สถานีเมืองเหลียงเฉียว
“ พวกนั้นมาที่สถานี ยืนเข้าแถวรอ ฉันจำไม่ได้แล้วว่าถูกย่ำยีข่มเหงมากมายกี่ครั้งในแต่ละวัน” หญิงชราเล่า
จนกระทั่งเดือนมิ.ย พ.ศ. 2487 หวงหนีออกมา โดยหลอกว่า ต้องรีบกลับไปงานศพบิดา ครอบครัวของเธอแกล้งบอกว่า หวงโศกเศร้าจนเสียชีวิต และทำหลุมศพ 2 แห่งใกล้ ๆ บ้าน เป็นหลักฐาน
หวงและครอบครัวอพยพไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเมืองเป่าถิง ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านเดิมกว่า 100 กิโลเมตร ท่ามกลางความผวากลัวทหารญี่ปุ่นจะตามมา
เฉิน หย่าเปียน เหยื่อกองทัพญี่ปุ่นอีกคนจากหลิงสุ่ย แท้งถึง 6 ครั้ง กว่าจะมีลูกได้เพียงคนเดียว เฉิน ถูกบังคับเป็นนางบำเรออยู่นาน 3 ปี แต่เธอไม่เคยบอกครอบครัว
ความเจ็บปวดที่เก็บกดอยู่ในจิตใจ ทำให้เฉินผวาตื่นกลางดึก และร้องไห้ออกมาบ่อย ๆ
เฉินบอกว่า เธอเกลียดญี่ปุ่นจับใจ ทุกครั้งที่นึกถึงช่วงเวลา อันบัดซบ
อาจารย์ซู่กล่าวว่า เหยื่อกามารมณ์หลายคนไม่อาจกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อย่างเป็นสุข
หู หย่าเฉียน บุตรชายคนสุดท้องของหวง ถูกเพื่อนที่โรงเรียนล้อว่า มีแม่เป็นโสเภณีทหารญี่ปุ่น
ผู้คนจำนวนหนึ่งดูถูกเหยียดหยามเหยื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่แทบไม่รู้เรื่องราวความเจ็บปวดของหญิงผู้น่าสงสารเหล่านี้
กระทั่งพ.ศ. 2543 หวง เฉิน และเหยื่ออีก 6 คนในมณฑลไห่หนัน จึงตัดสินใจยื่นฟ้องร้องรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อเรียกร้องคำขอโทษอย่างเป็นทางการ และการจ่ายเงินชดใช้ เป็นการฟ้องดำเนินคดีของเหยื่อชาวจีนครั้งที่ 5 นับตั้งแต่พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา จากการเปิดเผยของฉิว เพ่ยเพ่ย ผู้อำนวยการโครงการเอเชียศึกษาของวิทยาลัยวาสซาร์ ในสหรัฐฯ
เฉินต้องเดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อขึ้นให้การต่อศาลแขวงโตเกียวถึง 3 ครั้ง การต่อสู้คดีดำเนินมานาน 5 ปี ในที่สุดเมื่อวันที่ 30 ส.ค. พ.ศ. 2549 ศาลก็ตัดสินให้ฝ่ายโจทก์แพ้ ด้วยเหตุผลว่า ชาวจีนไม่มีสิทธิ์ฟ้องร้องรัฐญี่ปุ่นเป็นการส่วนตัว ซึ่งรายละเอียดมีอยู่ในหนังสือที่ฉิวและคณะเขียน ชื่อว่า “ Chinese Comfort Women : Testimonies from Imperial Japan’s Sex Slaves”
การยื่นฟ้องร้องครั้งนั้นผ่านมา 14 ปีแล้ว โจทก์ที่ร่วมกันฟ้องร้องเวลานี้เสียชีวิตไปหมด เหลืออยู่แต่เฉิน หย่าเปียน และหวงกันแค่ 2 คน
เมื่อถามว่า จะพยายามต่อไปไหม คุณยายเฉิน หย่าเปียนยอมรับว่า โอกาสเลือนรางเต็มที
“ ยายรู้สึกว่า ชีวิตมันร่วงโรย และเกรงว่าจะไม่มีแรงเดินทางไปไหนไกล ๆ ไม่ต้องพูดถึงไปญี่ปุ่นอีก แค่ไปเมืองอื่นในไห่หนันยังไม่ไหวเลย” นางกล่าว
“แต่ยายจะรอ (คำขอโทษ) ตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่” นี่คือประโยคสุดท้ายจากเหยื่อนางบำเรอผู้น่าสงสารคนนี้