xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 6-12 ก.ย.2558

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“บิ๊กตู่-คสช.” เตรียมเคาะ 21 คกก.ร่าง รธน.-200 สมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูป ปท. 22 ก.ย. ด้าน “วิษณุ” เผยอีก 20 เดือนเลือกตั้ง!
(บน) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. (ล่างซ้าย) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ (ล่างขวา) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีต ประธาน กมธ.ยกร่าง รธน.
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ได้มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เพื่อลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยกร่างแล้วเสร็จและส่งให้ สปช.พิจารณาเพื่อลงมติ ซึ่งผลการลงมติปรากฏว่า มี สปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 105 คน ไม่เห็นชอบ 135 คน และงดออกเสียง 7 คน เมื่อเสียงข้างมากไม่เห็นชอบ ส่งผลให้ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นอันตกไป และที่ประชุม สปช.ไม่จำเป็นต้องพิจารณาญัตติประเด็นคำถามที่จะเพิ่มเติมในการจัดทำประชามติอีกต่อไป

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 กำหนดว่า เมื่อ สปช.ลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว สปช.จะสิ้นสุดลงทันที และให้นายกรัฐมนตรีตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขึ้นมาแทน สปช.ภายใน 30 วัน โดยสภาขับเคลื่อนฯ จะมีสมาชิกไม่เกิน 200 คน ขณะเดียวกัน เมื่อร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับความเห็นชอบจาก สปช. ส่งผลให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 21 คนต้องสิ้นสุดลงเช่นกัน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดให้ คสช.ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ 21 คน ภายใน 30 วันเช่นกัน

ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงขอบคุณ สปช.ที่ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 105 คน พร้อมยืนยันว่า หากถูกทาบทามให้มาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง จะไม่รับ พร้อมแสดงความเสียดายสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญที่ตกไป ที่ให้พลเมืองเป็นใหญ่ ให้ความสำคัญกับชุมชน ผู้หญิง คนยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส

ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงผลการลงมติว่า เป็นไปตามแผนของคณะทำงาน ซึ่งมี 5 คน หลังจากพิจารณาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญแล้วเห็นร่วมกันว่า หากปล่อยให้ผ่านไปจนถึงขั้นตอนการทำประชามติ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งสูง คณะทำงานจึงเห็นพ้องว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมยืนยันว่า ไม่เคยมีใครมาติดต่อว่า ถ้าคว่ำร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะได้เข้าไปเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ผู้สื่อข่าวถามว่า จะคืนเงินเดือนเหมือนกับ สปช.สิระ เจนจาคะ หรือไม่ นายวันชัยปฏิเสธที่จะตอบคำถาม

เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่นายวันชัยกำลังให้สัมภาษณ์อยู่นั้น นายสิระ เจนจาคะ สปช.ด้านสังคม (ที่ประกาศก่อนหน้านี้ว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน จะคืนเงินเดือนที่ได้จากการดำรงตำแหน่ง สปช.1.7 ล้านบาท พร้อมจี้ให้ สปช.ที่ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คืนเงินเดือนเหมือนตน เพราะถือว่าทำงานล้มเหลว) ได้ยืนฟังการให้สัมภาษณ์ของนายวันชัย จากนั้นได้กล่าวแสดงความยินดีกับนายวันชัยที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านมติ สปช. ทำให้สูญเงินกว่า 1,000 ล้านบาทไปฟรีๆ ด้านนายวันชัย รีบเดินหนีออกจากวงสัมภาษณ์ทันที

ทั้งนี้ นายสิระ ยืนยันอีกครั้งว่า พร้อมคืนเงินเดือน 1.7 ล้านบาทตามที่ได้ประกาศไว้ อย่างไรก็ตาม ภายหลังนายสิระทราบจากทางสภาว่า ระเบียบไม่เปิดช่องให้คืนเงินเดือน นายสิระ จึงประกาศว่า พร้อมบริจาคเงินเดือนส่วนนี้ให้องค์กรสาธารณกุศลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง สำหรับมูลนิธิหรือองค์กรการกุศลที่ประสงค์จะใช้เงินดังกล่าวเพื่อสาธารณประโยชน์ให้ติดต่อมาได้ที่บริษัท บ้านทรงไทย จำกัด 99/519 ถ.แจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม. 10210 ภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ตนจะพิจารณาว่าจะมอบเงินให้มูลนิธิหรือองค์กรใดบ้าง

สำหรับท่าทีของฝ่ายต่างๆ ต่อกรณีที่ สปช.เสียงข้างมากไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้น ปรากฏว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย รีบออกมาขอบคุณ สปช.ทั้ง 135 คนที่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับสารพัดปัญหา ข้ามหัวประชาชน พร้อมเชื่อว่า บทเรียนครั้งนี้ จะทำให้ผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ต่อจากนี้ ไม่ผลิตรัฐธรรมนูญที่แย่หรือไม่เป็นประชาธิปไตยเหมือนที่ล้มไป

ขณะที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ออกแถลงการณ์เสนอให้นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาประกาศใช้ทันที เพื่อนำประเทศไปสู่การเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตยและให้กลไกรัฐที่มาจากประชาชนจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และเดินหน้ากระบวนการปฏิรูปต่อไป

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “ผมขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้โอกาสนี้ปรับปรุงรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การปฏิรูป เก็บสิ่งที่ดีไว้และแก้ไขจุดอ่อน”

ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งประกาศก่อนหน้านี้ว่าหนุนร่างรัฐธรรมนูญ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กหลังร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน สปช.ว่า “ขอส่งกำลังใจถึงประชาชนผู้รักชาติรักแผ่นดินทุกท่าน เราได้แสดงเจตนารมณ์แทนพี่น้องมวลมหาประชาชนว่าเราต้องการเห็นการปฏิรูปประเทศไทยอย่างจริงจังต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำไปเสียแล้ว พวกเราอย่าเสียกำลังใจ ขอยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศให้จงได้ สุขุม หนักแน่นเอาไว้”

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เผยโรดแมปการทำงานหลังจากนี้ว่า จะใช้สูตร 6-4-6-4 คือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน ทำประชามติ 4 เดือน ถ้าผ่าน ใช้เวลาทำกฎหมายลูกและให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา 6 เดือน ส่วนอีก 4 เดือนสำหรับการเลือกตั้ง รวมแล้ว 20 เดือนนับจากเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป นั่นหมายถึงการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นประมาณเดือน พ.ค.2560 อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ กล่าวว่า ระยะเวลาอาจจะสั้นกว่า 20 เดือนก็ได้ อาจจะเหลือ 15 เดือน หรือ 10 เดือน หากมีการปรองดองเกิดขึ้น

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เผยว่า การตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 23 ก.ย. เนื่องจากตนต้องเดินทางไปประชุมสหประชาชาติที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในวันที่ 23 ก.ย. โดยวันที่ 22 ก.ย. จะประชุมร่วม ครม.-คสช.เพื่อพิจารณาและลงนามการแต่งตั้งดังกล่าว

2. “ทักษิณ” ลั่น ไม่ยึดติดลาภยศ พร้อมเหน็บ “บิ๊กตู่” ทำแต่เรื่องเล็กๆ เรื่องใหญ่ไม่ทำ ด้าน “พล.ต.อ.วสิษฐ” ชี้ถอดยศแล้วต้องเรียกคืนเครื่องราชฯ !

 (บนซ้าย) นายทักษิณ  ชินวัตร (บนขวา) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. (ล่าง) พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ เขียนบทความว่าเมื่อถอดยศแล้ว ต้องยึดคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ความคืบหน้าเรื่องการถอดยศ “พ.ต.ท.” ของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งหลบหนีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ให้จำคุก 2 ปีคดีทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาฯ หลังจาก พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เสนอความเห็นเรื่องถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ดำเนินการต่อ โดยตอนแรก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจลงนามและนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ภายหลัง เปลี่ยนใจมาใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ในการถอดยศแทน

โดยเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช.เมื่อวันที่ 5 ก.ย.เรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากยศตำรวจ โดยระบุว่า ตามที่สำนักงานตำรวจห่งชาติได้รายงานและเสนอเรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ กรณีมีความผิดตามคำพิพากษาศาลซึ่งถึงที่สุดแล้วว่ามีความผิดและยังมีข้อหาความผิดอาญาอื่นๆ อีกหลายฐาน ซึ่งเป็นการเสื่อมเสีย หัวหน้า คสช.จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 โดยความเห็นชอบของ คสช.แล้วเห็นว่า เป็นกรณีกระทบต่อความมั่นคงของชาติและมีความจำเป็นต้องดำเนินการเป็นการด่วน รวมทั้งได้ตรวจสอบข้อกฎหมายตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 และข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่ามีมูล สมควรใช้อำนาจของ คสช. จึงมีคำสั่งให้ถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณออกจากยศตำรวจตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ต่อมา พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยยืนยันว่า กระบวนการดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งมี 2 วิธี คือการยื่นทูลเกล้าฯ และการใช้มาตรา 44 พล.อ.ประยุทธ์ จึงนำเรื่องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) เสนอ เข้ามาหารือใน คสช.อีกครั้ง และ คสช.มีมติเห็นควรว่า เพื่อไม่ให้ฝ่ายการเมืองหรือกลุ่มใดนำสถาบันมาเกี่ยวโยงกับเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 44 ดำเนินการ เพราะเห็นว่าเป็นกระบวนการที่เหมาะสมที่สุดกับสถานการณ์ “ยืนยันว่า การถอดยศอดีตนายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งทางกาเรมือง แต่มาจากฐานความผิดหลายคดีทางอาญาที่ทาง ตร.เห็นควรว่าต้องดำเนินการ และหัวหน้า คสช.จะรับผิดชอบแต่เพียงคนเดียว”

2 วันต่อมา(7 ก.ย.) นายธนเดช พ่วงพูล ซึ่งเคยเป็นทนายความให้นายทักษิณ ชินวัตร ในคดีก่อการร้าย ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ให้ดำเนินคดี พล.อ.ประยุทธ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยชี้ว่า เมื่อมีการอ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติในการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ควรทำให้ครบขั้นตอนตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ คือนำเรื่องทูลเกล้าฯ แต่ คสช.กลับใช้อำนาจตามมาตรา 44 ทั้งที่ไม่มีอำนาจทำเช่นนั้น ทั้งนี้ นายธนเดช ออกตัวด้วยว่า ที่มายื่นหนังสือให้ดำเนินคดี พล.อ.ประยุทธ์ครั้งนี้ ไม่มีใบสั่งหรือรับการจ้างวานหรือไหว้วานจากใคร และไม่เคยติดต่อกับนายทักษิณแต่อย่างใด

ด้าน พล.ต.อ.สมยศ พูดถึงการถอดยศนายทักษิณ โดยยืนยันว่า ตนได้ทำหน้าที่ในส่วนที่ตนรับผิดชอบเสร็จเรียบร้อยและถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว “เรื่องการยื่นหนังสือร้องเรียนให้ตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ ผมยังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว จึงยังไม่สามารถตอบได้ พอทำเสร็จก็คิดว่าเป็นการกลั่นแกล้ง แต่พอทำช้าก็หาว่าเตะถ่วง แต่ยืนยันทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย”

ทั้งนี้ วันเดียวกัน(7 ก.ย.) ได้มีการเผยแพร่คลิปนายทักษิณ ชินวัตร ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยนายทักษิณ พูดทำนองว่า ตนไม่ยึดติดกับลาภยศ เพราะทุกอย่างในโลกล้วนอนิจจัง อย่างไรก็ตาม นายทักษิณ ได้พูดเหน็บ พล.อ.ประยุทธ์ว่า “เมื่อไม่ให้ใช้ก็ไม่ว่ากัน ไม่ได้ยึดติด... คนที่จะโกรธแทนผม อย่าไปโกรธ ช่างเถอะครับ เป็นเรื่องขำเหมือนเด็ก ผมมองพวกนี้เหมือนเด็ก ตำแหน่งใหญ่แต่พฤติกรรมเหมือนเด็ก... เรื่องใหญ่ๆ ไม่ทำ... เรื่องความเดือดร้อนของประชาชนไม่ทำ ทำแต่เรื่องเล็กๆ...”

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีทนายความยื่นเรื่องให้ พล.ต.อ.สมยศ ดำเนินคดี พล.อ.ประยุทธ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีใช้อำนาจตามมาตรา 44 ถอดยศนายทักษิณ ว่า อย่าเอาเรื่องมาตรา 44 ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องพระราชอำนาจ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่สมควร และว่า มาตรา 44 เป็นอำนาจที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ ซึ่งเหตุที่ต้องใช้มาตรา 44 ในการถอดยศนายทักษิณ เนื่องจากฝ่ายข่าวพบว่า อาจมีกรณีที่ไประคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท จึงใช้วิธีให้หัวหน้า คสช.รับผิดชอบไว้เอง เมื่อใช้เส้นทางนี้แล้วถือว่าจบ

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย. พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจและอดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ ได้เขียนบทความเรื่อง “การถูกถอดยศ ตราบาปในชีวิตข้าราชการ” โดยระบุตอนหนึ่งว่า “เมื่อนายทักษิณถูกถอดยศ เพราะมีความผิดฉกรรจ์ที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของชาติ สิ่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องรีบดำเนินการโดยด่วนอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลและชั้นต่างๆ ที่นายทักษิณเคยได้รับพระราชทาน... การเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ.2548 ข้อ 7(2) ซึ่งกำหนดกระทำกับผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และโดยที่นายทักษิณเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระเบียบดังกล่าวจึงกำหนดให้การเรียกคืนเป็นหน้าที่ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี”

พล.ต.อ.วสิษฐ ยังทิ้งท้ายด้วยว่า “การถูกถอดยศและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นตราบาปสำคัญในชีวิตของข้าราชการทุกคน ขายหน้าทั้งตนเองและวงศ์ตระกูล คนหน้าด้านเท่านั้นที่จะบอกว่าไม่เดือดร้อนแต่อย่างใด ในขณะที่สังคมมองดูด้วยความสมเพชและเหยียดหยามไปชั่วชีวิต”

3.“อิซาน” หน.ขบวนการบึ้มราชประสงค์ เผ่นพ้นไทยแล้ว ไม่ชัดชายเสื้อเหลือง-เสื้อฟ้าอยู่กัวลาลัมเปอร์ ด้าน ปปง.พบสามี “วรรณา” รับโอนเงินจาก ตปท.นับล้าน!

(บนซ้าย)นายมีไรลี ยูซุฟู ผู้ส่งระเบิดให้ชายเสื้อเหลืองไปวางที่ศาลท้าวมหาพรหม (บนขวา) นายอาบูดาซาตาร์ อาบูดูเระห์มาน หรืออิซาน หัวหน้าขบวนการ (ล่าง)ตำรวจนำตัวนายยูซุฟู ทำแผนฯ
ความคืบหน้าคดีระเบิดศาลท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ และท่าเรือสาทร หลังเจ้าหน้าที่จับกุมผู้เกี่ยวข้องกับการวางระเบิดได้แล้ว 2 คน คือนายอาเดม คาราดัค หรือนายบิลาเติร์ก มูฮัมหมัด ชาวตุรกี และนายยูซุฟู มีไรลี ชาวซินเจียง ประเทศจีน และออกหมายจับผู้ต้องหาอีก 9 คน โดยใน 9 คน มีหญิงไทยด้วย คือ น.ส.วรรณา สวนสัน หรือนางไมซาเราะห์ พร้อมนายเอ็มระห์ ดาวูโตกลู ชาวตุรกี สามี น.ส.วรรณา

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ตำรวจได้ออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มอีก 2 ราย คือ นายอับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์มาน และชายไม่ทราบชื่อ ไม่ทราบสัญชาติ ซึ่งทั้งสองพักอาศัยอยู่ในห้อง 412 และ 414 ของพูลอนันต์อพาร์ตเมนต์เช่นเดียวกับนายบิลาเติร์ก ที่ถูกจับคนแรก

ทั้งนี้ วันเดียวกัน ทหารได้นำตัวนายยูซุฟู ส่งมอบให้ตำรวจนครบาลดำเนินการต่อ หลังทหารควบคุมตัวครบ 7 วัน ซึ่งจากการสอบปากคำ นายยูซุฟูยอมรับว่า เคยเห็นชายเสื้อเหลืองและชายเสื้อฟ้า โดยทั้งคู่เคยมาที่ห้องพักพูลอนันต์อพาร์ตเมนต์ แต่ปฏิเสธว่าไม่รู้จักชื่อบุคคลทั้งสอง นอกจากนี้นายยูซุฟู ยังยอมรับว่าเป็นคนนำระเบิดใส่กระเป๋าเป้ไปให้ชายเสื้อเหลือง เพื่อให้ชายเสื้อเหลืองนำระเบิดไปวางที่ศาลท้าวมหาพรหม โดยนัดพบและสลับกระเป๋าเป้กันที่หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า นายยูซุฟูสารภาพในเวลาต่อมาว่า รู้จักชายเสื้อฟ้าที่เตะระเบิดทิ้งท่าเรือสาทร เพราะพักอยู่ห้องเดียวกัน โดยมีนายอาบูดาซาตาร์ อาบูดูเระห์มาน หรืออิซาน อายุ 28 ปี เป็นผู้นำทุกคนมารวมกันและวางแผนแบ่งหน้าที่ให้แต่ละคนทำงาน และว่า ก่อนเกิดเหตุระเบิดเพียง 1 วัน คือวันที่ 16 ส.ค. นายอิซานได้เดินทางออกนอกประเทศผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ

ด้านตำรวจได้นำตัวนายยูซุฟูไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพเมื่อวันที่ 8-9 ก.ย. โดยจุดที่ทำแผน ได้แก่ ที่พูลอนันต์อพาร์ตเมนต์ ย่านหนองจอก ที่พบอุปกรณ์และชิ้นส่วนประกอบระเบิด , หอพักไมมูณา การ์เด้นโฮม ย่านมีนบุรี ซึ่งเป็นสถานที่พักอาศัย , บริษัท เคมีภัณฑ์ คอร์ปอเรชั่น ย่านรามอินทรา ซึ่งเป็นสถานที่ซื้ออุปกรณ์ประกอบระเบิด , บริเวณสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมข้างสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งนายยูซุฟูนัดพบชายเสื้อเหลือง ก่อนสับเปลี่ยนกระเป๋าเป้ที่บรรจุระเบิดให้ชายเสื้อเหลืองนำไปวางที่ศาลท้าวมหาพรหม , ลานหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งนายยูซุฟูนั่งรถสามล้อเครื่องจากหัวลำโพงมา เพื่อรอถ่ายรูประหว่างเกิดเหตุระเบิด , หน้าห้างประตูน้ำเซ็นเตอร์ ซึ่งนายยูซุฟูเรียกรถแท็กซี่ไปรามคำแหงเพื่อต่อรถเมล์กลับที่พักที่มีนบุรี , ซอยรามคำแหง 22 ซึ่งนายยูซุฟูนั่งรถแท็กซี่จากห้างประตูน้ำเซ็นเตอร์มายังธนาคารกรุงเทพ สาขาหัวหมาก โดยจากการสืบสวนพบว่า นายยูซุฟูและนายอิซานเคยเดินทางมาที่ธนาคารแห่งนี้เมื่อวันที่ 5 ส.ค. เพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน

หลังทำแผนประกอบคำรับสารภาพแล้วเสร็จ ตำรวจได้นำตัวนายยูซุฟู ไปขอศาลฝากขังผลัดแรกเป็นเวลา 12 วัน โดยค้านการประกันตัว ซึ่งศาลอนุญาต จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษมีนบุรีเช่นเดียวกับนายบิลาเติร์กที่ขอฝากขังก่อนหน้านี้

วันต่อมา(10 ก.ย.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผยความคืบหน้าคดีระเบิดศาลท้าวมหาพรหมและท่าเรือสาทรว่า พบเบาะแสนายอาบูดูซาตาร์ อาบูดูเระห์มาน หรืออิซาน หลบหนีออกนอกประเทศไปกบดานอยู่ที่ประเทศบังกลาเทศแล้ว แต่ยังไม่อยากให้รีบสรุปว่านายอิซานเป็นหัวหน้าใหญ่คอยสั่งการ ส่วนกรณีที่บีบีซีรายงานโดยอ้างรายงานจากโกลบอลไทม์สว่า นายยูซุฟู คือหนึ่งในขบวนการแบ่งแยกยินแดนซินเจียง ประเทศจีน พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงาน

ด้าน พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า ได้รับการยืนยันจาก น.ส.ไซดา มูนา ทาสนีม เอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำประเทศไทย ที่เข้าหารือเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ว่า นายอิซานได้เดินทางเข้าบังกลาเทศจริงหลังเดินทางออกจากไทยเมื่อวันที่ 16 ส.ค. แต่พักอยู่ในบังกลาเทศ 14 วัน ก็เดินทางออกจากบังกลาเทศในวันที่ 30 ส.ค. ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบว่านายอิซานเดินทางต่อไปประเทศใด ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าชายเสื้อเหลืองที่วางระเบิดศาลท้าวมหาพรหมและชายเสื้อฟ้าที่วางระเบิดท่าเรือสาทรหลบหนีออกจากไทยไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียแล้วนั้น พล.ต.ท.ประวุฒิ บอกว่า ยังไม่มีรายงานยืนยัน โดยได้ประสานประเทศเพื่อนบ้านช่วยตรวจสอบแล้ว และว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อหาความเชื่อมโยงของขบวนการที่ก่อเหตุระเบิด ซึ่งชัดเจนแล้วว่าทำงานเป็นทีมแบ่งงานกันทำ โดยเชื่อว่า ในวันที่ 14 ก.ย. นี้ จะสามารถได้ข้อมูลและความชัดเจนทั้งหมดอย่างแน่นอน

ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบเส้นทางเงินของผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดนั้น เมื่อวันที่ 11 ก.ย. พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เผยว่า ปปง.ได้วิเคราะห์ข้อมูลธุรกรรมทางการเงินของกลุ่มบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว เบื้องต้นพบข้อมูลเงินฝากของผู้เกี่ยวข้อง 3 คน ประกอบด้วย น.ส.วรรณา สวนสัน มีการเปิดบัญชีเงินฝากจำนวน 8 บัญชี , นายเอ็มระห์ ดาวูโตกลู สามีชาวตุรกีของ น.ส.วรรณา เปิดบัญชีเงินฝาก 1 บัญชี และนายมีไรลี ยูซุฟู เปิดบัญชีเงินฝาก 1 บัญชี

จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของนายเอ็มระห์ สามี น.ส.วรรณา พบว่า ตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมาจนถึงเดือน เม.ย. ได้รับโอนเงินจากบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศกว่า 7 แสนบาท ก่อนจะทยอยถอนเงินออกไปเป็นระยะ กระทั่งเดือน ก.ค.มียอดเงินเหลือในบัญชีไม่ถึง 400 บาท และเมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค.มีการนำเงินเข้าบัญชีอีกจำนวนกว่า 14,000 บาท สำหรับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรายอื่นๆ นั้น ทาง ปปง.กำลังตรวจสอบเส้นทางการเงินอย่างต่อเนื่อง จากการตรวจสอบขยายผลบัญชีของนายเอ็มระห์นั้น ทราบว่ามีชาวต่างชาติทั้งที่อยู่ในประเทศจีนและตุรกีประมาณ 7 คน โอนเงินเข้ามาให้ชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย 4 คน รวมถึงนายเอ็มระห์ด้วย โดยเริ่มโอนเงินตั้งแต่เดือน ก.พ.2557 ถึง มี.ค.2558 รวมเป็นเงินประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อของขบวนการนี้ได้ ทั้งนี้ เงินดังกล่าวถูกนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และนำไปซื้อวัตถุหรือสารเคมีสำหรับประกอบระเบิด

4.“บิ๊กตู่” ใช้อำนาจ ม.44 ตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน” หวังหลุดใบแดง ICAO !

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. และคำสั่งตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เมื่อวันที่ 11 ก.ย. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เรื่อง การแก้ไขปัญหาการกํากับดูแลและพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศไทย โดยระบุว่า ตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้เข้ามาทําการตรวจสอบการกํากับดูแลความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนตามโครงการ Universal Safety Oversight Audit Program โดยกรมการบินพลเรือนซึ่งเป็นหน่วยงานกํากับดูแลด้านการบินพลเรือนของประเทศไทย เป็นหน่วยรับการตรวจนั้น ผลการตรวจสอบพบว่า การกํากับดูแลความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนของประเทศไทย มีข้อบกพร่องจํานวนมาก ซึ่งรวมถึงข้อบกพร่องที่มีนัยสําคัญต่อความปลอดภัยด้วย และหากมิได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วนแล้ว จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศโดยรวมได้

ดังนั้น เพื่อให้สามารถเร่งดําเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว และพัฒนาการบินพลเรือนเพื่อยกระดับมาตรฐานการบินพลเรือนของประเทศไทยให้สอดคล้องมาตรฐานสากล และเพื่อปฏิรูปราชการแผ่นดิน อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่งให้จัดตั้ง "ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน" หรือ ศบปพ. เป็นศูนย์เฉพาะกิจขึ้นตรงต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยมีผู้บัญชาการทหารอากาศ(ผบ.ทอ.) เป็นผู้บัญชาการ แก้ไขปัญหาการบินพลเรือน มีอํานาจแต่งตั้งข้าราชการสังกัดกองทัพอากาศไปช่วยปฏิบัติงาน หรือไปช่วยทําการใดๆ ที่กรมการบินพลเรือน

ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวระบุด้วยว่า หากคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ ศบปพ. ที่กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่ โดยสุจริตไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา ทางวินัย หรือทางปกครอง แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้เพื่อให้การปฏิบัติตามคําสั่งนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในกรณีที่คณะกรรมการ ศบปพ. สั่งการให้ส่วนราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดกระทําการหรืองดเว้นกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่ง ในการปฏิบัติตามคําสั่งนี้ แต่ส่วนราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นเพิกเฉยหรือละเลยไม่กระทําการ หรืองดเว้นกระทําการตามคําสั่งของคณะกรรมการ ศบปพ. ให้ผู้บัญชาการ ศบปพ. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รายงานพฤติกรรมดังกล่าวพร้อมกับผลการพิจารณาเกี่ยวกับการลงโทษ ต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านรองนายกรัฐมนตรีที่กํากับดูแล

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงการใช้อำนาจตาม ม.44 ตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน โดยมี ผบ.ทอ.เป็นผู้บัญชาการว่า ไม่ได้ให้ ผบ.ทอ.มาคุม แต่ให้มาสนับสนุนช่วยเหลือดูแลสิ่งที่เป็นปัญหา สิ่งที่กฎหมายปกติจัดการไม่ได้ จึงต้องใช้อำนาจตรงนี้เข้ามาจัดการ เพื่อให้สะดวกขึ้น “ที่ผ่านมาติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมายเยอะแยะ วันนี้พยายามแก้ไขปัญหาให้มีความยั่งยืน... จึงต้องใช้มาตรา 44 ตั้งองค์กรขึ้นมา โดยทั้งหมดต้องทำตามนโยบายของนายกฯ ของรัฐบาล โดยให้นโยบายคือ ไปช่วยกระทรวงคมนาคมและกรมการบินพลเรือนว่าจะทำยังไงกับเขา เพราะจะให้ทำนี่ทำโน่น แต่เขาติดปัญหาเรื่องกฎหมาย”

5.ศาลออกหมายจับอดีตตำรวจสระแก้ว แนวร่วม นปช. หลังเบี้ยวฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดียิงอาร์พีจีใส่ ก.กลาโหม ปี ’53 !

ส.ต.ต.บัณฑิต หรือนายบัณฑิต สิทธิทุม อดีตตำรวจ สภ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว และแนวร่วมกลุ่ม นปช.
เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ศาลอาญา ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็น โจทก์ ยื่นฟ้อง ส.ต.ต.บัณฑิต หรือนายบัณฑิต สิทธิทุม อายุ 48 ปี อดีตตำรวจ สภ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว และแนวร่วมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย, ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินผู้อื่น, ร่วมกันพยายามทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันยิงปืนโดยใช้ดินระเบิดในที่ชุมนุม, ร่วมกันมีเครื่องยิงระเบิดไว้ในครอบครอง ซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้, ร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง ซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้, ร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา135/1, 221, 222, 258, 265, 295, 358, 371, 376 ประกอบมาตรา 80 และ 83 และพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดไปในเมือง ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ตามความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน พ.ศ.2490

คดีนี้ โจทก์ฟ้อง สรุปว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค.53 จำเลยกับพวกอีก 1 คน ร่วมกันใช้เครื่องยิงจรวดอาร์พีจี 2 เล็งและยิงลูกระเบิดไปยังอาคารกระทรวงกลาโหม เขตพระนคร ทำให้นายศักดิ์ หาญสงคราม ได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ สายเคเบิลโทรศัพท์ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน 39,421 บาท จำเลยกับพวกมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญ บังคับ รัฐบาลในขณะนั้นให้ยุบสภา ทั้งยังสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน การกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือการก่อการร้ายของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จำเลยมีเครื่องยิงจรวดอาร์พีจี 2 จำนวน 1 กระบอก ลูกระเบิดแบบสังหาร เอ็ม 67 จำนวน 3 ลูก ปืนกลมือ (เอ็ม 3) ขนาด .45 จำนวน 1 กระบอก และกระสุนปืน .45 จำนวน 48 นัด

ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2554 ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม รวมจำคุกทั้งสิ้น 38 ปี และให้ริบของกลาง ขณะที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี

ต่อมา ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 9 ส.ค.2556 เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้มีพยานโจทก์หลายปาก ซึ่งเห็นคนร้ายในช่วงเวลาแตกต่างกัน และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า พยานพบเห็นคนร้ายขับรถยนต์ โตโยต้า วีโก้ สีบรอนซ์ทอง หมายเลขทะเบียน ตศ 9818 กทม. เข้ามาจอดภายในซอยบริเวณด้านหลังกระทรวงกลาโหม ซึ่งพยานระบุว่าเห็นจำเลยอยู่ในรถคันดังกล่าวด้วย จากนั้นประมาณ 1 ชม.ก็ได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้น หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่พบรถยนต์ดังกล่าวจอดอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ สภาพกระจกแตกทั้งคัน ประตูรถเสียหายทั้งบาน และตัวรถได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก และภายในรถยังพบเครื่องยิงจรวดอาร์พีจี 2 จำนวน 1 กระบอก และระเบิดสังหารเอ็ม 67 จำนวน 3 ลูก และเสื้อแจ็คเก็ต 1 ตัว แสดงว่าคนร้ายใช้รถยนต์คันดังกล่าวในการก่อเหตุจริง

อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ระบุว่า มีประเด็นปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ ซึ่งศาลเห็นว่า โจทก์ได้นำพยานขึ้นเบิกความจำนวนหลายปาก แต่คำเบิกความของพยานถึงสาระสำคัญ ตำแหน่งที่นั่งภายในรถยนต์ของคนร้ายไม่ตรงกัน โดยพยานบางรายระบุเห็นจำเลยเป็นคนขับ แต่พยานบางรายระบุว่าจำเลยนั่งข้างคนขับรถ พยานบางคนระบุว่าจำเลยใส่หมวกแก๊ป ขณะที่พยานบางคนบอกว่าไม่ได้ใส่หมวก ซึ่งพยานให้การขัดแย้งกันเองไม่มีน้ำหนักมั่นคงน่าเชื่อถือ และขัดแย้งกับคำให้การของตนเองที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน จึงยังไม่แน่ใจว่าคนร้ายใช่จำเลยหรือไม่ ซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งคดี พยานต้องเบิกความให้ชัดเจนมั่นคง

ศาลอุทธรณ์ ยังระบุอีกว่า ขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลากลางคืนแสงไฟมีน้อย ถึงแม้ว่าผลตรวจลายนิ้วมือแฝงภายในรถและเสื้อแจ็คเก็ต จะพบว่ามีสารพันธุกรรมจำเลยปะปนอยู่ แต่ก็มีของบุคคลอื่นรวมอยู่ด้วย ส่วนที่พยานให้การว่าจำเลยมีส่วนเกี่ยวกับรถยนต์คันก่อเหตุที่มีการซื้อขายต่อกันมาหลายทอด แต่พยานโจทก์ก็ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าจำเลยอยู่ในรถยนต์คันเกิดเหตุด้วยและเป็นคนร้ายจริงหรือไม่ ศาลเห็นว่าแม้พยานแวดล้อมจะเบิกความระบุว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับรถยนต์คันดังกล่าว แต่โจทก์ไม่มีพยานเบิกความเน้นว่าจำเลยเป็นคนร้ายแต่อย่างใด จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับยกฟ้อง

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อถึงเวลาที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ปรากฏว่า นายบัณฑิต จำเลย ซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างฎีกาโดยตีราคาประกัน 1 ล้านบาท ไม่เดินทางมาศาล มีเพียงนายประกันของจำเลยเท่านั้นที่เดินทางมา เมื่อนายประกัน ไม่สามารถติดต่อจำเลยได้ ศาลเห็นว่า จำเลยน่าจะมีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับจำเลยเพื่อนำตัวมาฟังคำพิพากษา ทั้งนี้ เมื่อนายประกันไม่นำตัวจำเลยมาส่งให้ศาล ถือว่าผิดสัญญา จึงให้ปรับนายประกันเต็มตามสัญญา โดยยึดเงินสด 1 ล้านบาท พร้อมนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาอีกครั้งวันที่ 20 ต.ค. เวลา 09.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น