xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 30 ส.ค.-5 ก.ย.2558

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“พล.ต.อ.สมยศ” เซ็นถอดยศ “ทักษิณ” แล้ว ด้าน “บิ๊กตู่” ลงนามทูลเกล้าฯ เรียบร้อย!
(บนซ้าย) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. (บนขวา) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. (ล่าง) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาฯ
เมื่อวันที่ 2 ก.ย. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาฯ ว่า หลังจากได้รับหนังสือตอบกลับจากคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ(สขร.) โดยยืนยันว่า ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศ พ.ศ.2547 ไม่จำเป็นต้องลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงเป็นหน้าที่ของตนต้องสรุปเรื่องส่งให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยตนส่งเรื่องไปยังเลขาธิการ ครม.แล้วเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าได้ทำหน้าที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ไม่แถลงต่อสื่อมวลชน เพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ในงานประจำ “เรื่องนี้ผ่านมาพอสมควร... ผมถือว่าได้ทำหน้าที่ของตัวเองเรียบร้อยแล้ว ได้ทำทุกอย่างตามขั้นตอนของกฎหมาย... และได้ลงนามเสนอไปยังเลขาธิการ ครม.เรียบร้อยแล้ว” ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่า มีมติให้ถอดยศใช่หรือไม่ พล.ต.อ.สมยศ ตอบสั้นๆ ว่า “ถอด”

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องถอดยศไม่ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ หลังจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งเรื่องให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) แล้ว สลค.จะเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ ลงนาม แล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อเผยแพร่ต่อไป

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ว่า หลังจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอเรื่องถอดยศขึ้นมาตามลำดับขั้น ตนได้เซ็นรับทราบไปแล้ว แต่ยังไม่ได้เซ็นเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เนื่องจากเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนการขอคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่มีการดำเนินการ เพราะขั้นตอนการถอดยศยังไม่แล้วเสร็จ

ต่อมา เมื่อวันที่ 4 ก.ย. พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้นำเรื่องถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ขึ้นทูลเกล้าฯ ตามขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว รอเพียงการโปรดเกล้าฯ ลงมา จากนั้นจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ส่วนการพิจารณาเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาต่อไป

2.จับตา มติ สปช. 6 ก.ย.รับ-ไม่รับร่าง รธน. “สุเทพ” หนุน- “เพื่อไทย” คว่ำ ด้าน สปช. “สิระ” ลั่น คืนเงินเดือน 1.7 ล้านถ้า รธน.ไม่ผ่าน!

 (บนซ้าย) แกนนำพรรคเพื่อไทยแถลงไม่รับร่าง รธน.(บนขวา) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมอดีตแกนนำ กปปส.แถลงหนุนร่าง รธน.(ล่าง) นายสิระ เจนจาคะ ประกาศคืนเงินเดือน สปช.1.7 ล้านถ้า รธน.ไม่ผ่าน สปช.
ความคืบหน้าเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กรรมาธิการยกร่างฯ ส่งมอบให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) พิจารณา และ สปช.มีกำหนดประชุมลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวันที่ 6 ก.ย.ปรากฏว่า มีท่าทีจากหลายฝ่ายในสังคม ทั้งรับร่างฯ และไม่รับร่างฯ โดยประเด็นหลักที่ทำให้สังคมแตกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ กรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีการบัญญัติไว้ในมาตรา 260 ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.) ขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูป สร้างความปรองดอง และป้องกันหรือระงับความขัดแย้งหรือความรุนแรง โดยระบุว่า หาก ครม.ไม่มีเสถียรภาพ จนไม่สามารถบริหารประเทศได้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับจัดการสถานการณ์ดังกล่าว หลังจากได้ปรึกษากับประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลปกครองสูงสุดแล้ว เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยประธานกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจสั่งระงับยับยั้งหรือกระทำการใดๆ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลในทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร โดยให้ถือว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และถือเป็นที่สุด โดยอำนาจพิเศษตามมาตรานี้ กำหนดให้ใช้ได้เพียง 5 ปี

ส่งผลให้มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการมี คปป. โดยฝ่ายที่เห็นด้วยก็หนุนให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยยืนยันจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ฝ่ายที่หนุน ได้แก่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ ซึ่งได้เปิดแถลงพร้อมด้วยอดีตแกนนำ กปปส.เมื่อวันที่ 1 ก.ย. หนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะมีหลักประกันให้ประชาชนมั่นใจว่า เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ การปฏิรูปประเทศจะได้ดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยผู้ขับเคลื่อนการปฏิรูปคือ คปป. จึงถือเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ดีพอที่จะส่งให้ประชาชนตัดสินใจในการทำประชามติ

ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ได้แก่ พรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช. ซึ่งแกนนำพรรคเพื่อไทย ได้อ่านแถลงการณ์จุดยืนพรรคไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยชี้ว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับกดหัวประชาชน เพราะไม่เคารพในอำนาจของประชาชน อำนาจตกอยู่กับองค์กรและกลุ่มบุคคลที่สร้างกลไกเพื่อสืบทอดอำนาจ สร้างรัฐซ้อนรัฐ ขณะที่แกนนำ นปช.ได้ทำหนังสือขอ คสช.แถลงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวันที่ 6 ก.ย.แต่ คสช.ไม่อนุญาต เพราะ นปช.เคยพูดข้อเท็จจริงไม่ครบและพูดให้ร้าย คสช.

ด้านนายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เช่นกัน และจะลงมติคว่ำในชั้นประชามติ พร้อมชี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสร้างความวุ่นวายเสียหายแก่ระบบการเมืองและประชาธิปไตยในอนาคต

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้แต่ใน สปช.เอง ก็เสียงแตก มีทั้งฝ่ายที่หนุนและฝ่ายที่ค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ฝ่ายที่ค้าน ได้แก่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปช.ในฐานะประธานปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งชี้ว่า อำนาจของ คปป.เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะมีอำนาจสูงกว่า ครม. สูงกว่าอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ และอำนาจที่หมกเม็ดไว้ อาจจะสูงกว่าอำนาจตุลาการอีกก็ได้ ถ้าเป็นการไปออกกฎหมาย คปป.จะกลายเป็นยักษ์ที่มีฤทธิ์มาก

ส่วน สปช.ที่หนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้แก่ นายสิระ เจนจาคะ โดยถึงกับนำเงิน 1.7 ล้านบาทมาแถลงต่อสื่อมวลชนว่า ถ้าวันที่ 6 ก.ย. สปช.มีมติไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตนในฐานะที่อาสาเข้ามาผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศ จะขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการคืนเงินและสวัสดิการของ สปช.ตลอด 11 เดือน ที่เป็นภาษีของประชาชนจำนวน 1.7 ล้านบาท เพราะถือว่า สปช.ทำงานล้มเหลว ไม่สามารถผลักดันสิ่งที่เป็นประโยชน์ ขณะเดียวกันขอให้ สปช.ที่จะลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แสดงความรับผิดชอบด้วยการคืนเงินจำนวนดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สปช.(วิป สปช.) เผยว่า การประชุมของ สปช.ในวันที่ 6 ก.ย. มี 2 วาระ วาระแรก เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยการขานชื่อและลงมติอย่างเปิดเผย คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง หากที่ประชุมรับร่างรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาวาระ 2 คือพิจารณาว่า สปช.ควรตั้งประเด็นคำถามเพื่อประกอบการทำประชามติหรือไม่ หากเห็นควรให้ตั้ง จะพิจารณาจากญัตติที่มีการเสนอเข้ามา ซึ่งมีแล้ว 2 ญัตติ คือ ญัตติให้มีการปฏิรูปอีก 2 ปีก่อนเลือกตั้ง ที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา เป็นผู้เสนอ กับญัตติการมีกลไกป้องกันและขจัดความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยอย่างน้อยใน 4 ปีแรกหลังใช้รัฐธรรมนูญ ให้มีรัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูป ซึ่งนายประสาร มฤคพิทักษ์ และนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นผู้เสนอ

ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า รับได้ทั้งนั้นไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน สปช. “รัฐธรรมนูญจะผ่าน สปช.หรือจะผ่านประชามติหรือไม่ ผมรับได้หมด ถ้าผ่าน ผมดีใจแต่เหนื่อย เพราะต้องทำกฎหมายลูกต่ออีก 1 ปี ถ้าไม่ผ่าน 6 ก.ย. ผมก็โล่งอก ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร กลับไปสอนหนังสือ เสียงวิจารณ์และเอ่ยชื่อผมก็จะลดลง และหายไป...”

3.ศาลฎีกาฯ ยกคำร้อง “ยิ่งลักษณ์” ค้านโจทก์เพิ่มพยานคดีจำนำข้าว พบอัยการฟ้องฐานทุจริตด้วย ด้าน ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเอกชนไทย-จีนเพิ่ม 15 ราย!

(ซ้าย) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลยคดีทุจริตจำนำข้าว เดินทางมาศาลในนัดพิจารณาคดีครั้งแรก (ขวา) นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษก ป.ป.ช.
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้นัดพิจารณาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวเป็นครั้งแรก ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ละเลยไม่ระงับยับยั้งทุจริตโครงการรับจำนำข้าว สร้างความเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางมาศาลพร้อมด้วยทนายความ โดยมีแกนนำพรรคเพื่อไทยและมวลชนมาให้กำลังใจกว่า 100 คน จากนั้นทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว เนื่องจากเห็นว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่ศาลฎีกาฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลฎีกาฯ มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ไม่มีมาตราใดที่กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา จึงให้ยกคำร้อง

ส่วนที่จำเลยยื่นขอคัดค้านบัญชีพยานโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์เพิ่มเติมพยานโดยไม่สุจริต ไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลไม่รับพยานดังกล่าวเข้าสู่สำนวนนั้น องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า แม้ตามกฎหมาย ในการไต่สวนจะให้ยึดสำนวนจาก ป.ป.ช.เป็นหลัก แต่ศาลฎีกาฯ ก็มีอำนาจเรียกพยานไต่สวนได้ และฝ่ายจำเลยก็สามารถนำพยานเข้าสืบเพื่อหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ จึงให้ยกคำร้อง

จากนั้นฝ่ายโจทก์ได้ส่งพยานเอกสารจำนวน 161 แฟ้ม ขณะที่ฝ่ายจำเลยส่งพยานเอกสารจำนวน 61 แฟ้ม ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้อ้างพยานบุคคลจำนวนหลายปากและพยานเอกสารจำนวนมาก ด้านศาลฎีกาฯ ได้นัดพร้อมคู่ความเพื่อกำหนดวันไต่สวนพยานในวันที่ 29 ต.ค.นี้ เวลา 09.30 น.

รายงานข่าวแจ้งว่า ในสำนวนคำฟ้องของอัยการ นอกจากฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว ยังมีข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตด้วย เนื่องจากมีหลักฐานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนโดยยืนยันว่า มีการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) จริง จึงเข้าข่ายปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตด้วย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. นายวิชา มหาคุณ กรรมการ และโฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. เผยว่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กับพวก รวม 22 รายจากทั้งหมด 111 ราย กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 ซึ่งอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลฎีกาฯ ได้ประทับฟ้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณาแล้วนั้น

ล่าสุด คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติต่อผู้ถูกกล่าวหาที่เหลือ โดยมีมติว่า เอกชนจากประเทศจีน 7 ราย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 จึงให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญา ประกอบด้วย 1.บริษัท Guangdong stationery & sporting goods imp. & exp. (GSSG) จำกัด 2.Ms. Luo Wensui ผู้จัดการทั่วไป บริษัท GSSG 3.Mr. Chen Li ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ บริษัท GSSG 4.Mr. Lam Win ผู้ประสานงาน บริษัท GSSG 5.บริษัท Hainan grain and oil industrial trading company 6.Mr. Lin Haihui รองผู้จัดการทั่วไป บริษัท Hainan และ 7.Mrs. Zhou Jing ผู้ประสานงาน บริษัท Hainan

พร้อมกันนี้ ยังมีมติว่า เอกชนของไทย 8 ราย มีความผิดกรณีสนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ อันมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.บ.ด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 จึงให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญา ประกอบด้วย 1.ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีกิจทวียโสธร 2.นายทวี อาจสมรรถ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีกิจทวียโสธร 3.บริษัทกิจทวียโสธรไรซ์ จำกัด 4.นายทวี อาจสมรรถ กรรมการบริษัทกิจทวียโสธรไรซ์ จำกัด 5.บริษัทเค.เอ็ม.ซี.อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด 6.นายปกรณ์ ลีศิริกุล กรรมการบริษัท เค.เอ็ม.ซี. อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด 7.บริษัท เจียเม้ง จำกัด และ 8.นางประพิศ มานะธัญญา กรรมการบริษัทเจียเม้ง จำกัด ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่เหลือ ในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่จะรับฟังได้ว่ามีการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงเห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป

4.ศาลฎีกาฯ มีมติ 6 : 3 ยกฟ้อง “นพดล” ลงนามแถลงการณ์ร่วมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไม่ผ่านสภา ชี้ไม่เข้าข่าย ม.157 !

(บน) นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ (ล่าง) ปราสาทพระวิหาร
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2551 และที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีที่นายนพดล ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิ.ย. 2551 ที่สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทย

คดีนี้ โจทก์ฟ้องสรุปว่า ระหว่างวันที่ 16-18 มิ.ย.2551 จำเลย ซึ่งเป็น รมว.ต่างประเทศ รู้อยู่แล้วว่าการที่ประเทศไทยสนับสนุนประเทศกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก จะทำให้ประเทศไทยอาจเสียดินแดน และเสียอำนาจการบริหารจัดการร่วมในพื้นที่ทับซ้อน แต่ปรากฏว่าวันที่ 16 มิ.ย.2551 จำเลยเสนอร่างคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ให้ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พิจารณาเห็นชอบในลักษณะปิดบังอำพรางไม่โปร่งใส และมีมูลเหตุจงใจอื่นแอบแฝง ซึ่ง สมช. เห็นชอบตามที่จำเลยเสนอ จากนั้นวันที่ 17 มิ.ย. 2551 จำเลยเสนอร่างคำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเป็นวาระจร โดยไม่แจกเอกสารในที่ประชุมล่วงหน้า ไม่มีแผนที่หรือเอกสารอื่นแนบประกอบ เพียงแต่แสดงแผนที่บนจอภาพที่ใช้เวลาเพียง 15 นาที โดยมีรัฐมนตรีอภิปรายทักท้วง แต่จำเลยสรุปข้อทักท้วงว่าไม่มีปัญหา และไม่เข้าตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 มาตรา 190 ทำให้ ครม.ลงมติยอมรับร่างคำแถลงการณ์ดังกล่าว และให้จำเลยลงนามในร่างนั้น

ต่อมาวันที่ 18 มิ.ย.2551 จำเลยได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯ ทำให้ราชอาณาจักรไทยต้องสละสิทธิ์ในข้อสงวนที่จะเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา และเป็นการยอมรับว่าปราสาทพระวิหารเป็นของประเทศกัมพูชา รวมทั้งเป็นการยอมรับแผนที่ที่จัดทำขึ้นโดยประเทศกัมพูชา ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนการลงนามตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 มาตรา 190 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า คำแถลงการณ์ร่วมฯ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าการลงนามดังกล่าวอาจมีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนของประเทศไทย มีผลกระทบทางสังคม แต่จำเลยกระทำโดยปกปิด ซ่อนเร้น บิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริงโดยไม่สุจริต ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 190 วรรคสอง

ทั้งนี้ องค์คณะผู้พิพากษา อ่านคำพิพากษาว่า จำเลยได้นำข้อเสนอของฝ่ายกัมพูชามาหารือและขอความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สมช. และครม.ก่อน จึงแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยว่า ได้คำนึงถึงผลประโยชน์และระมัดระวังรักษาสิทธิ์ในดินแดนของประเทศไทยเป็นอย่างดีแล้ว อีกทั้งเป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอมา และเห็นว่า การลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาของจำเลย ไม่ได้ทำโดยเร่งรีบ และมีการปรึกษาหารือกับคณะทำงาน ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติก่อน ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศก็ได้ให้กรมแผนที่ทหารลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วว่าไม่มีการรุกล้ำพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. ที่ไทยและกัมพูชามีข้อพิพาทกัน

อีกทั้งเมื่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาในคดีที่มีผู้ฟ้องเกี่ยวกับการสนับสนุนขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่ศาลปกครองห้าม รมว.ต่างประเทศนำแถลงการณ์ร่วมไปใช้ดำเนินการใดๆ แล้ว จำเลยก็ได้มีคำสั่งให้หยุดการดำเนินการดังกล่าวไว้ทันที และเสนอขอให้คณะกรรมการพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเลื่อนการประชุมออกไปก่อน แต่ภายหลังที่มีการประชุมใหม่เนื่องจากยูเนสโกพิจารณาว่าสามารถขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้โดยไม่กระทบปัญหาเขตแดน การกระทำของจำเลยจึงสมเหตุสมผล ไม่กระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย การสงวนสิทธิ์ทวงคืนปราสาทและการบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบร่วมกันก็ยังคงอยู่

ส่วนที่ไม่ได้มีการนำร่างแถลงการณ์ร่วมฯ เสนอที่ประชุมสภาตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 มาตรา 190 วรรคสองนั้น องค์คณะฯ เห็นว่า ได้ความจากอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะพยานระบุว่า ร่างแถลงการณ์ไม่ใช่หนังสือสัญญา จึงไม่ได้เสนอผ่านรัฐสภาให้ความเห็นชอบ นอกจากนี้องค์คณะฯ ยังเห็นว่า ป.ป.ช. ในฐานะโจทก์ ไม่มีพยานหลักฐานที่จะทำให้เห็นว่า การกระทำของนายนพดล เป็นการร่วมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะได้รับประโยชน์แลกเปลี่ยนการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่พิพาทตามที่โจทก์อ้าง มีเพียงพยานคือนายสมชาย แสวงการ และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ที่ให้การซึ่งได้ข้อมูลจากสื่อ แต่ยังไม่มีหลักฐานอื่นที่จะอนุมานได้ตามที่อ้าง โดยภายหลังการลงนามแถลงการณ์ฯ ก็ไม่ปรากฏว่ามีเอกชนรายใด หรือบริษัทเอกชนที่ พ.ต.ท.ทักษิณและจำเลย ถือหุ้นอยู่ได้สิทธิเข้าไปขุดเจาะน้ำมัน

ดังนั้นองค์คณะฯ จึงมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่า พยานหลักฐานของ ป.ป.ช. ยังฟังไม่ได้ว่า นายนพดล ทุจริตหรือมีเจตนาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พิพากษายกฟ้อง

หลังฟังคำพิพากษา นายนพดล ได้ขอบคุณองค์คณะศาลฎีกาฯ ที่ให้ความยุติธรรม และว่า ตนใช้เวลาในการสู้คดีนี้มานานกว่า 7 ปี ซึ่งในช่วงที่ต่อสู้คดีนั้นรู้สึกเหมือนตกนรก ต่อข้อหาที่มีการดูถูกว่า เป็นรัฐมนตรีไทย ใจเขมร คนขายชาติ และว่า จากคำพิพากษาชี้ให้เห็นชัดว่าคำแถลงการณ์ร่วมของไทย-กัมพูชาที่ตนลงนามไปนั้น เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยระหว่างอ่านคำพิพากษานั้น ตนก็น้ำตาไหลออกมาและขออโหสิกรรมให้ทุกคน เลิกแล้วต่อกัน และไม่คิดจะนำคำพิพากษามาเล่นการเมืองฟ้องกลับใคร ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช หรือบุคคลที่เข้าใจตนผิด

5.จนท.รวบต่างชาติเอี่ยวบึ้มราชประสงค์-สาทรได้ 2 รายแล้ว ออกหมายจับ 8 พบหญิงไทยเกี่ยวโยง!

(ล่าง) ภาพสเกตช์ผู้ต้องหาที่ยังจับไม่ได้ (บนซ้าย) นายอาเดม คาราดัค หรือนายบิลาเติร์ก มูฮัมหมัด จับได้ที่พูลอนันต์อพาร์ตเมนต์ (บนขวา) นายยูซุฟู มีไรลี จับได้ที่สระแก้ว
ความคืบหน้ากรณีตำรวจและทหารได้สนธิกำลังเข้าตรวจค้นห้องพักภายในพูลอนันต์อพาร์ตเมนต์ ย่านหนองจอก กทม.เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ก่อนจับกุมชายต่างชาติได้ 1 คน พร้อมของกลางอุปกรณ์และวัตถุที่ใช้ประกอบระเบิดจำนวนมากภายในห้องพัก โดยเฉพาะลูกปรายแบบกลมขนาด 0.5 ซม.ซึ่งเป็นชนิดและขนาดเดียวกับที่พบที่ศาลท้าวมหาพรหมและท่าเรือสาทร นอกจากนี้ยังพบพาสปอร์ตปลอมกว่าร้อยเล่ม โดยเล่มหนึ่งระบุว่า ผู้ต้องหาเป็นหนุ่มสัญชาติตุรกี ชื่อนายอาเดม คาราดัก อายุ 28 ปี แต่ภายหลังทราบว่าเป็นชื่อปลอม โดยเจ้าตัวให้การว่า ชื่อนายบิลาเติร์ก มูฮัมหมัด อายุ 29 ปี พูดภาษาไทยได้เล็กน้อย ภาษาอังกฤษได้ แต่ชุดสืบสวนเชื่อว่าเป็นชาวอาหรับหรือแขกขาว เพราะพูดอาหรับได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งนี้ นายบิลาเติร์กยอมรับว่า เป็นเจ้าของอุปกรณ์ประกอบระเบิดทั้งหมดที่พบในห้องพัก แต่ปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่ท้าวมหาพรหมและท่าเรือสาทร

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้สอบขยายผล ก่อนนำกำลังเข้าตรวจค้นหอพักไมมูณา การ์เด้นโฮม ย่านมีนบุรี หลังจากผู้ต้องหาระบุว่าเป็นจุดซุกซ่อนระเบิด ผลการตรวจค้น พบวัตถุประกอบระเบิด เช่น ปุ๋ยยูเรีย ดินเทา ฯลฯ แต่ไม่พบเจ้าของห้องพัก คือนางวรรณา สวนสัน หรือนางไมซาเราะห์ แต่พบพยานหลักฐานว่ามีความเชื่อมโยงกับผู้ต้องหาที่พูลอนันต์อพาร์ตเมนต์ และทั้ง 2 กลุ่มเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดอย่างแน่นอน นอกจากนี้มีรายงานว่า กลุ่มพรรคพวกของ น.ส.วรรณาเคยมาค้างและมาหาที่ห้องเช่าดังกล่าวอีก 4-5 คน

ทั้งนี้ ตำรวจเชื่อว่า ผู้เกี่ยวข้องกับการวางระเบิดครั้งนี้ ไม่ใช่การก่อการร้ายสากล แต่น่าจะเป็นความแค้นส่วนตัวของแก๊งค้าชาวอุยกูร์ที่แค้นเพราะถูกตำรวจกวาดล้างจับกุม ทำให้สูญเสียผลประโยชน์ จึงวางแผนก่อเหตุระเบิด

ต่อมา(31 ส.ค.) ตำรวจได้ขอศาลมีนบุรีออกหมายจับผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดเพิ่มอีก 2 ราย คือ น.ส.วรรณา สวนสัน หรือนางไมซาเราะห์ อายุ 26 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ อ.คุระบุรี จ.พังงา ที่เป็นผู้เช่าห้องพักที่ไมมูณา การ์เด้นโฮม และชายไม่ปรากฏชื่อและสัญชาติอีก 1 คน ที่แวะเวียนมาพักอาศัยด้วยบ่อยๆ หลังออกหมายจับ ตำรวจและทหารได้เดินทางไปบ้าน น.ส.วรรณาที่ จ.พังงา แต่ไม่พบตัว จึงขอให้พ่อ-แม่และญาติๆ เกลี้ยกล่อมให้ น.ส.วรรณามอบตัวโดยเร็ว หากมั่นใจว่าไม่เกี่ยวข้องและเพื่อความปลอดภัยของ น.ส.วรรณาเอง ขณะที่แหล่งข่าวใกล้ชิดผู้ต้องหายืนยันว่า ก่อนหน้าไม่เกิน 1 สัปดาห์ เห็น น.ส.วรรณา เดินทางกลับมาที่บ้าน อ.คุระบุรี หลังจากหายหน้าไปจากหมู่บ้านเป็นเวลานาน เนื่องจากไปอาศัยอยู่กับสามีชาวตุรกีที่กรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา น.ส.วรรณา ได้ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศผ่านทางโทรศัพท์ โดยบอกว่า ตนอาศัยอยู่ที่เมืองไคเซรีของตุรกีกับสามี และว่า เพิ่งกลับจากไทยเมื่อ 3 เดือนก่อน พร้อมยอมรับว่า เคยไปที่อพาร์ตเมนต์ไมมูณา การ์เด้นโฮม นานกว่า 1 ปีแล้ว โดยเช่าห้องเพื่อให้เพื่อนสามีพัก แต่ไม่ทราบว่ามีใครเข้าพักบ้าง

เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งย้าย พ.ต.อ.ไพรัช พุกเจริญ ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) สระแก้ว พร้อมเจ้าหน้าที่ในสังกัดรวม 6 นาย มาช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีรายงานว่า การสั่งย้ายครั้งนี้มีขึ้นหลังฝ่ายความมั่นคงสืบทราบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบนำชาวอุยกูร์เข้ามาในประเทศ และโยงใยกับขบวนการก่อเหตุระเบิดที่ราชประสงค์และท่าเรือสาทร ไม่เพียง ตม.สระแก้วจะถูกย้าย แต่ตำรวจชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนของ สน.หนองจอกและ สน.มีนบุรี รวม 16 นาย ยังถูก พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 3(บก.น.3) สั่งย้ายไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการ บก.น.3 ด้วย หลังจากมีการรวบผู้ต้องหาเกี่ยวโยงระเบิดในอพาร์ตเมนต์พื้นที่ดังกล่าว

ต่อมา(1 ก.ย.) ตำรวจได้ขอศาลมีนบุรีออกหมายจับผู้ต้องหาเกี่ยวโยงระเบิดเพิ่มอีก 3 ราย เป็นชายชาวตุรกี ประกอบด้วย 1.นายอาลิ โจลัน 2.นายอาฮ์เม็ด โบซองแลน และ 3.ชายชาวตุรกี ไม่ทราบชื่อ ข้อหาร่วมกันมียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

วันเดียวกัน(1 ก.ย.) เจ้าหน้าที่รวบตัวชายชาวต่างชาติผู้ต้องสงสัยเกี่ยวพันเหตุระเบิดได้อีก 1 รายที่ด่านความมั่นคงทหารและตำรวจ ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ขณะเตรียมจะหลบหนีไปยังประเทศกัมพูชา เบื้องต้นชายดังกล่าวถือพาสปอร์ตประเทศจีน ระบุชื่อ นายยูซุฟู มีไรลี จากมณฑลซินเจียง ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาวอุยกูร์ในประเทศจีน ทั้งนี้ ชายดังกล่าวมีใบหน้าคล้ายชายในภาพสเก็ตช์ที่ใส่เสื้อเหลืองและนำเป้บรรจุระเบิดไปวางในรั้วศาลท้าวมหาพรหม แต่จากการตรวจสอบภายหลัง พบว่าไม่ใช่คนเดียวกัน แต่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น โดยขณะเกิดเหตุระเบิด นายยูซุฟูอยู่ที่ราชประสงค์ด้วย นอกจากนี้ยังตรวจพบดีเอ็นเอและลายนิ้วมือของนายยูซุฟูปรากฏอยู่ในห้องพักที่พูลอนันต์อพาร์ตเมนต์เช่นกัน

วันต่อมา(2 ก.ย.) ตำรวจได้ขอศาลมีนบุรีออกหมายจับนายเอ็มระห์ ดาวูโตกลู ชาวตุรกี สามี น.ส.วรรณา ข้อหาร่วมกันมียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเชื่อว่าอยู่ในขบวนการก่อเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ วันเดียวกัน น.ส.สุดา สวนสัน พี่สาว น.ส.วรรณา กล่าวว่า เชื่อว่าน้องสาวจะมอบตัวในสัปดาห์หน้า แต่ญาติพี่น้องห่วงความปลอดภัยของ น.ส.วรรณา จึงอยากให้ทหารเป็นคนไปรับตัว น.ส.วรรณาจากเครื่องบินมากกว่าตำรวจ เพราะกลัวตำรวจไม่ให้ความเป็นธรรม

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังได้จับกุมผู้ต้องสงสัยเพิ่มอีก 1 รายที่ ต.ปาเสมัส จ.นราธิวาส เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับเครือข่าย น.ส.วรรณา ทราบชื่อคือ นายกามารุเด็ง สาเหาะ อายุ 38 ปี โดยถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 เป็นเวลา 7 วัน ส่วนนายบิลาเติร์ก ผู้ต้องหารายแรกที่ถูกควบคุมตัวจากพูลอนันต์อพาร์ตเมนต์นั้น หลังจากทหารควบคุมตัวครบ 7 วัน ได้นำตัวส่งมอบให้ตำรวจนครบาลดำเนินการต่อเมื่อวันที่ 4 ก.ย. ขณะที่ตำรวจนำตัวนายบิลาเติร์กไปขอศาลมีนบุรีฝากขังในวันที่ 5 ก.ย.พร้อมค้านการประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีอุกฉกรรจ์ มีอัตราโทษสูง และเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ทั้งนี้ มีรายงานว่า ตำรวจจะพยายามค้นหาแหล่งที่ใช้เก็บและประกอบวัตถุระเบิดที่อื่นๆ อีก เนื่องจากเชื่อว่าผู้ต้องหาในคดีนี้ได้กระจายสถานที่ประกอบวัตถุระเบิดไปในหลายจุด ไม่ใช่แค่ที่พูลอนันต์อพาร์ตเมนต์และหอพักไมมูณา การ์เด้นโฮมเท่านั้น

6.ศาล พิพากษาประหารชีวิต 4 จำเลยคดียิงเอ็ม 79 ใส่กลุ่ม กปปส.หน้าบิ๊กซี ราชดำริ จำเลยสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต!

 โฉมหน้าจำเลยคดียิงเอ็ม 79 ใส่ผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.ที่หน้าบิ๊กซี ราชดำริ
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่นายชัชวาล หรือชัช ปราบบำรุง อายุ 45 ปี , นายสมศรี มาฤทธิ์ อายุ 40 ปี, นายสุนทร ผิผ่วนนอก อายุ 49 ปี และนายทวีชัย วิชาคำ อายุ 39 ปี เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน พ.ศ.2490 และความผิดตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
       
       คดีนี้ อัยการฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2557 จำเลยทั้งสี่ กับพวกอีก 3 คน ซึ่งหลบหนี ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ใช้เครื่องยิงลูกกระสุนระเบิดแบบเอ็ม 79 ยิงลูกระเบิดชนิดสังหาร(HE) จากบริเวณสะพานข้ามแยกประตูน้ำ เข้าใส่ผู้ชุมนุมกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ต่อเนื่องถึงหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ราชดำริ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บ 21 ราย
       
      ด้านศาลฯ พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า หลักฐานที่จำเลยนำสืบมา ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ จึงพิพากษาว่าจำเลยทั้งสี่มีความผิดตามฟ้อง ให้ประหารชีวิตสถานเดียว แต่คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกตลอดชีวิต และให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้บาดเจ็บด้วยจำนวน 534,700 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น