xs
xsm
sm
md
lg

“หนังสือการ์ตูนไม่มีวันตาย!” วิชัย ลิ้มศิริโพธิ์ทอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กลายเป็นกระแสฮือฮาทั้งสำหรับคอการ์ตูนมังงะและคนทั่วไป เพราะจู่ๆ ผู้จัดจำหน่ายหนังสือการ์ตูนถูกลิขสิทธิ์เจ้าใหญ่รายแรกของเมืองไทยที่เติบเติบโตคู่คนรุ่นหนุ่มสาวมากว่าครึ่งค่อนชีวิต ประกาศ “เลิกพิมพ์” จัดจำหน่ายด้วยเหตุผลที่ยอดการซื้อลดลงฮวบชนิดไม่เหลือคุ้มค่าราคาพิมพ์
 
นอกจากจะสร้างความใจหาย ยังเกิดเสียงการวิพากษ์วิจารณ์ออกเป็นสองแง่ คือ “ผู้อ่าน” หันไปบริโภคสื่อการ์ตูนในรูปแบบออนไลน์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ทั้ง “ฟรี” และ “เร็ว” กว่าหลายเท่าเดือน และในขณะที่อีกด้านก็บ่งชี้ว่าเกิดจากความล่าช้าของทางสำนักพิมพ์ที่ดองต้นฉบับเอาไว้

อะไรคือสาเหตุต้นตอ และการ์ตูนเปเปอร์กระดาษถึงกาลล่มสลายหมดยุคสมัยแล้วจริงหรือไม่ คงไม่มีใครให้คำตอบได้ชัดเจนเท่ากับผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงการ์ตูน เราจึงไม่รีรอที่จะเดินทางไปพบกับผู้ที่ยังคงยืนอยู่เบื้องหลังการคัดสรรและจัดจำหน่ายการ์ตูนลิขสิทธิ์เบอร์ต้นๆ อีกเจ้าของบ้านเรา

"วิชัย ลิ้มศิริโพธิ์ทอง" บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมมิกส์ ผู้มีประสบการณ์กว่า 30 ปี ช่วยชี้แจงแถลงไข...
• ที่มาของปัญหากระแสความนิยมในการซื้อหนังสือการ์ตูนลดลงเกิดขึ้นเพราะอะไรเป็นสาเหตุ

คือต้องบอกก่อนว่า ปีสองปีที่ผ่านมา ที่หลายๆ คนมองว่ายอดมันตกลงไป จริงๆ มันไม่ได้ตกนะ เพราะหลังจากที่เราทำแคมเปญออกมาเพื่อวัด ผลตอบกลับทำให้รู้ว่าจริงๆ มันเพิ่มขึ้นมากกว่า คือคนรักหนังสือเหมือนกับว่ายังไงก็ต้องมีสะสม ที่สำรวจว่ายังมีคนซื้อหนังสืออ่านอยู่หรือเปล่า มีหลายๆ คนถ่ายรูปชั้นวางหนังสือมาโชว์ว่าชั้นวางหนังสือผมยังเหลืออีกเยอะในการที่จะซื้อหนังสือเก็บ

จริงๆ แล้วมันขยายตัวมากกว่า เพราะช่องทางมันเพิ่มขึ้น มันอาจจะมีช่องทางในการอ่านผ่านระบบดิจิตอลหรือ “อีบุ๊ก” (E-Book) แต่คนอ่านเป็นเล่มก็ยังอ่าน แต่ที่คนรู้สึกว่าตลาดหนังสือการ์ตูนซบเซาลง ขายไม่ได้ ก็เพราะกลุ่มคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ไม่ใช่กลุ่มที่เป็นผู้ซื้อ เป็นกลุ่มที่อ่านในเว็บสแกน และเว็บการ์ตูนละเมิดลิขสิทธิ์ที่ออกมาเผยแพร่ มีเยอะ คนก็เลยมองว่าความนิยมลดลง

• ในส่วนเว็บไซต์การ์ตูนละเมิดตรงนี้ส่งผลกระทบมากน้อยอย่างไร และเรามีมาตรการอย่างไรตอบโต้บ้างหรือไม่

ส่งผลในระดับหนึ่ง ก็มีการจัดการในระดับหนึ่ง เพียงแต่ว่าเราไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมด เพราะเป็นเว็บไซต์ต่างประเทศ แต่ถามว่ามีผลต่อยอดขายหรือไม่ ส่วนตัวผมคิดว่าไม่มี คืออย่างที่ใจผมคิดก็เพราะมีตัวอย่างให้ผู้อ่านได้อ่านก่อน เป็นอะไรให้เด็กได้สัมผัสก่อนว่า ดีไม่ดีจะได้ซื้อต่อ ซึ่งส่วนมาก พอเขาไปอ่านกันแล้ว เขาก็จะมาซื้อเล่ม ก็มีแต่ตัวนิตยสารที่จะดร็อปลง เพราะเรื่องความเร็วของเรา

เมื่อต้นปี เราก็แก้ไขในเรื่องนี้ จากที่เมื่อก่อนนิตยสารรายสัปดาห์ของเราจะตามทางต้นฉบับญี่ปุ่นเขาอยู่หลายตอน แต่ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เราเปลี่ยนเป็น C-Kid Express ก็กลายเป็นว่า ณ ตอนนี้ที่ประเทศญี่ปุ่นเขาอ่านกันตอนอะไร คนไทยก็ได้อ่านตอนนั้น ฟีดแบ็กก็ดีขึ้น เพราะถามเด็กหลายๆ คน เขาก็บอกว่า ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องไปอ่านเว็บสแกน ที่เมื่อก่อนอ่าน ก็เพราะว่าเร็วกว่าเท่านั้น

• เป็นเพราะอะไรทำไมก่อนหน้านี้บ้านเราถึงได้อ่านการ์ตูนช้ากว่าต้นฉบับประเทศญี่ปุ่น

พูดถึงที่ประเทศญี่ปุ่นก่อน คือเขาจะมีสเต็ปในการออกรายสัปดาห์ รวมเล่มจะห่างจากรายสัปดาห์เล่มครึ่ง ประมาณ 10 กว่าตอน คือในเรื่องของความเร็วมันก็มีหลายปัจจัย หนึ่งการแปล การแปล ถ้าด่วน ค่อนข้างควบคุมยาก เพราะมันมีเรื่องของเงื่อนไขเวลามาจำกัด และเรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วยของนักเขียนที่เขียนเรื่องลง ที่ผ่านมา เราแปลสต๊อกเก็บไว้ได้ พอฉุกเฉิน นักเขียนคนนี้ไม่ได้เขียน เราก็แก้ได้ตรงนั้น

แต่ตัวรวมเล่มนี้ไม่มีปัญหา เนื่องจากตัวเล่มมันก็มาจากรายสัปดาห์ คือพอเราแปลในรายสัปดาห์เรียบร้อยเสร็จ เหมือนว่าแปลเสร็จ แปลอีกนิดหน่อยก็สามารถรวมเล่มได้ ตัวรูปเล่มอย่างนี้จะเป็นสะสม กลุ่มคนอ่านในสุดสัปดาห์อ่านเหมือนว่าอ่านให้รู้ความคืบหน้า เรื่องราวมันไปถึงไหนแล้วอะไรแล้ว จะได้คุยกับเพื่อนๆ ได้ประมาณอย่างนั้น

เรื่องของราคา สร้างผลกระทบได้หรือเปล่า

คือเรื่องราคาไม่น่าจะมีปัญหา เพราะว่าเราขึ้นทีละ 5 บาท ตามราคากระดาษทุกๆ 4-5 ปี ซึ่งไม่ได้มีผลเนื่องจากค่าครองชีพเราก็สูงขึ้นตาม มันก็เหมือนอาหารจานหนึ่ง เรารักษาที่ลูกค้าเราดีกว่า เพราะคนที่อ่านในเว็บไซต์ที่ว่าเป็นคนละกลุ่มกับคนที่ซื้อ มันก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อยอดขายของเรา กลับกันในอีกมุมเว็บไซต์เหล่านี้อาจจะเป็นพาหนะที่ทำให้ผู้อ่านรู้จักการ์ตูนเราด้วยซ้ำ ถ้าเราสื่อสารให้เข้าใจ เราต้องสื่อสารกับผู้อ่านให้ได้มากที่สุด อย่างตัวอย่างการ์ตูนเรื่อง 'แวน เฮลซิ่ง' ที่เพิ่งออกเมื่อเร็วๆ นี้ กระแสตอบรับดีมาก พอเราทำการตลาดเชิงลึก กระแสตอบรับดีมาก ไม่น่าเชื่อว่า จากตอนแรกเราออกไป เรายังไม่คิดว่าจะขายดีขนาดนี้ ตอนนี้ เราก็มีการรวมกลุ่มกันของสำนักพิมพ์ เพื่อสร้างกิจกรรมให้คนอ่านมีความรู้สึกว่าเขาได้รับสิ่งพิเศษในการที่เราได้เป็นลูกค้าแฟนของแต่ละสำนักพิมพ์

• เดี๋ยวนี้ เห็นพูดกันมากถึงการอยู่รอดของหนังสือ สยามอินเตอร์คอมิกส์มีแนวทางของตนเองอย่างไร

อันดับแรก เราก็ต้องมาวิเคราะห์โปรดักต์แต่ละตัวของเราเพื่อหากลุ่มเป้าหมายว่าอยู่ตรงไหน เนื่องจากตอนนี้กลุ่มผู้อ่านมีแยกย่อยเยอะมาก ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่แอกชันก็แอกชันอย่างเดียว การ์ตูนผู้หญิงก็คือการ์ตูนผู้หญิง ขาวจัด ดำจัด เดี๋ยวนี้มีทั้งแอกชันแฟนตาซี แฟนตาซีแนวเกมของเด็ก แอกชันที่เป็นของผู้ใหญ่หน่อย วัยรุ่น รัก ก็ต้องจับจุดนักอ่านให้ได้ อย่างเรื่องลายเส้นก็มีผล ในช่วงยุคกลางช่วงประมาณปี 97 หรือยุคหลังจากนั้น เส้นจะต้องใสๆ สะอาดๆ แต่ถ้าเป็นรุ่นก่อนหน้านั้นก็ต้องดิบๆ เมื่อก่อนเคยถามเด็กเหมือนกันว่าอย่างเรื่อง “หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ” เด็กสมัยนี้รู้สึกอย่างไรกับลายเส้น เขาบอกลายเส้นอะไร สกปรกมาก (หัวเราะ) คือมันทำให้รู้สึกว่าเราต้องตามยุคสมัยให้ทัน ณ วันนี้ นักอ่านพัฒนาขึ้นไปเยอะมาก เราก็พยายามตามเก็บนักอ่านตามเซกชันพวกนี้ ก็สามารถที่จะเพิ่มยอดขายของเราได้

• แล้วเรื่องของไลฟ์สไตล์การบริโภคที่ส่วนมากอยู่ในสื่อโลกออนไลน์ส่งผลกระทบต่อหนังสือหรือไม่

ทุกวันนี้ก็ยังขายได้อยู่ปกติ เพียงแต่ว่ามันก็อาจจะมีบางช่วงที่ก็ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจทั่วโลกก็เป็นอย่างนี้ แต่หนังสือเราก็อยู่ในระดับที่ไม่ตกต่ำ คือขนาดประเทศญี่ปุ่นที่เขาพัฒนากว่าเรา เขาทำในรูปแบบของอีบุ๊กออกมาตั้งแต่ปี 2007 ณ วันนี้ ยอดพิมพ์หนังสือเขาก็ยังไม่ตก ส่วนบ้านเราเป็นช่วงคาบเกี่ยว อีบุ๊กเพิ่งเข้ามา เรามองว่าอนาคตมันน่าจะเติบโตขึ้นไปได้อีกเยอะ แล้วแถมหนังสือก็เติบโตได้อีกเยอะ

• คือมองว่าการ์ตูนในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ไม่มีตายแน่นอน

ไม่ตายแน่นอน คือการอ่านหนังสือมันต้องมีทั้งกลิ่นกระดาษ กลิ่นหมึก แล้วก็อย่างเวลาเปิดมันต้อง (ทำท่าจับหนังสือ) ไม่เหมือนอ่านในเว็บไซต์ มันไม่ได้อารมณ์ ต้องบอกอย่างนี้ ถึงบอกว่าเสน่ห์มันไม่ใช่หายไป ยังไงมันก็ยังอยู่ เพราะไม่งั้น ญี่ปุ่น พัฒนาไปมากกว่าเรา คนเขายังอ่านหนังสืออยู่ดี ก็ยังมหาศาลอยู่เหมือนเดิม เขาก็ยังรู้สึกว่าไม่สามารถที่จะทำลายสิ่งพิมพ์ได้

แล้วการอ่านหนังสือ เขาเรียกว่ามันเป็นจินตนาการใครจินตนาการมัน แต่ละคนความรู้สึกไม่เหมือนกันในการอ่าน แล้วแต่ละเรื่องช่วงระยะอายุ เวลา ก็มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างสมมติอ่านเรื่องนี้อาจจะชอบในระยะเวลานี้ บางคนอ่านแล้วเข้าใจในอีกช่วงเวลาหนึ่งในอายุที่มากกว่า ไม่ว่าจะการ์ตูน นิยาย ประเทศญี่ปุ่นจะมีเนื้อหาสอดแทรกปรัชญาตลอด คนที่อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นมากๆ จะเข้าใจเลยว่าทำไมการ์ตูนญี่ปุ่นถึงประสบความสำเร็จ หนึ่งคือพวกพ้อง มิตรภาพ มันจะส่งเสริมให้ตัวการ์ตูนมีเสน่ห์แล้วก็มีความลึกของเรื่อง ส่วนตัวก็เคยทดลองอ่านเรื่อง วันพีซ ก็ตั้งคำถามว่าทำไมถึงฮิต ถึงได้รับความนิยม อ่านวนไปวนมา 3-4 รอบ คือเขาเล่าเรื่องเดินหน้าไปเรื่อยๆ เสร็จ ก็จะมีย้อนหลังของตัวละครแต่ละตัว ทำให้เรารู้สึกว่าตัวละครตัวนี้เป็นอย่างไร แบบไหน มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ผมว่าอันนี้มันทำให้เขาประสบความสำเร็จในการทำอุตสาหกรรมการ์ตูน

• นอกเหนือไปจากเรื่องรายละเอียดกลุ่มประเภทผู้อ่านความชอบส่วนตัว เรื่องไลฟ์สไตล์การเสพสื่อออนไลน์ ตลอดจนปัจจัยด้านความรวดเร็วที่ผู้อ่านให้ความสำคัญ แล้วเรื่องคุณภาพ เรามีมาตรการคงไว้อย่างไรบ้าง

เรื่องคุณภาพก็ในระดับหนึ่งพอสมควร เราก็พยามปรับปรุงให้ได้คุณภาพ ทางประเทศญี่ปุ่นเองเขาก็ให้ความร่วมมือกับเราโดยการส่งต้นฉบับที่มันค่อนข้างเรียบร้อย 100 เปอร์เซ็นต์ให้ ส่วนเรื่องเนื้อหาการแปล ในแต่ละเรื่องของเราก็ไม่เหมือนกัน อย่างเรื่อง “กินทามะ” ต่อให้ใครแปล ก็สู้คนแปลของคนนี้ไม่ได้ เพราะว่ากินาทะถ้าอ่านแล้วจะขำ ต้องดูที่คำแปลด้วย กว่าจะเค้นมุก กว่าจะเค้นแก๊กออกมาได้ เพื่อให้เราอ่านแล้วเข้าถึง (ยิ้ม)

คือผมว่ามันแลกมากับความเร็ว เขารับได้ เพราะก่อนหน้านี้ อย่างเขาอ่านตามเว็บสแกน คุณภาพก็ไม่ใช่ว่าจะดีหรือสมบูรณ์ แต่ ณ วันนี้ เราทำในฉบับลิขสิทธิ์ นักอ่านเขารู้อยู่แล้วว่า มันเหนื่อยขนาดไหนในการทำงาน ผมเชื่อว่าเขารับได้ในระดับหนึ่ง

• สุดท้าย คิดว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่จะดึงคนอ่านการ์ตูนให้ติดตรึงอยู่กับหน้ากระดาษไว้ได้

สรุปแล้วก็คือ 3 อย่างที่บอกไปครับ หนึ่งความเร็ว สองคุณภาพ สามกลุ่มผู้อ่าน เราก็พยายามดูรูปแบบใหม่ๆ พยายามที่จะพัฒนาตัวโปรดักต์เราเรื่อยๆ อยู่แล้ว แต่ว่าเราต้องค่อยๆ พัฒนาขึ้นไป เพราะมันต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มเติม เราต้องมานั่งวิเคราะห์กัน ส่วนในเรื่องการสื่อสาร เรามีการโฆษณา สมมติว่าเป็นเรื่องที่มาใหม่ เราก็ทำขอต้นฉบับ 16 หน้าให้เขาได้อ่าน รีวิวไว้ก่อนว่าเป็นอย่างไร แล้วเราก็เอาเนื้อเรื่องย่อให้อ่านในเพจ ในช่องทางของเราก็จะมีทางออกเยอะๆ แล้วตอนนี้ เราก็ทำโฆษณา ก็มีหลายเรื่องๆ ที่เราใส่ไว้ท้ายเล่ม จะมีเรื่องย่อบอก อย่างเรื่อง “ชาแมนคิง ราชันแห่งภูติ” ก็จะมีรายละเอียดทุกภาค ให้เป็นเซต มีอะไรผู้อ่านจะได้รู้ ช่องทางรูปแบบการขายตอนนี้ เราก็มีเว็บไซต์ B-Friend แก้ไขเรื่องการสั่งหนังสือที่สั่งยาก ไม่มีเลขบัญชี เข้ามาก็สามารถคลิกดูได้เลยมีเรื่องอะไรบ้าง เล่มอะไร ราคาเท่าไหร่ ก็มีอยู่ในนั้น การสั่งซื้อของ B-Friend สามารถจ่ายได้ทางเคาน์เตอร์เซอร์วิส ทำให้เพิ่มความสะดวกในการซื้อมากขึ้น

คือถ้ามองในภาพของในปัจจุบันมันก็ดูเหมือนจะแย่ แต่จริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น มันคนละอย่างกัน อย่างที่ทำแคมเปญตรงนี้ขึ้นมา ก็ทำให้เรารู้สึกว่าก็ยังมีแฟนๆ ที่เกาะกับเราเหนียวแน่น เยอะมาก หลากหลายวัย คือเหมือนกับเขาผ่านการ์ตูนเรื่องนี้มาแล้ว เขาก็มีความประทับใจ มีการเติบโตระหว่างช่วงวัยด้วยกัน เขาก็อยากซื้อเก็บ เราเข้าใจนักอ่านว่าเขาต้องการอะไร ตอนนี้เราก็ต้องแก้ปัญหาทุกสัปดาห์ ถือว่าหนักกว่าที่ผ่านมามาก ก่อนที่จะออกมาเป็นเล่มรายสัปดาห์ได้ หนักขึ้น แต่ผลตอบรับดีขึ้นก็ถือว่าประสบความสำเร็จที่เราหาทางแก้ปัญหา



เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : สันติ เต๊ะเปีย

กำลังโหลดความคิดเห็น