xs
xsm
sm
md
lg

ช่างสักมือทอง คิวจองข้ามปี “อานนทร์ พีรนันทปัญญา” แบบอย่างนักสร้างชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ไม่ใช่เพียงรายได้หรือความสำเร็จ หากยังเก็บกวาดรางวัลเกี่ยวกับรอยสักมาแล้วหลายเวที นี่คือคนไทยที่มีชื่อเสียงขจรไกลระดับโลก กระทั่งนิตยสารแทตทูชั้นนำของเมริกาอย่าง INKED Magazine ยังนำภาพรอยสักของเขาไปลง อีกทั้งตอนนี้ผลงานของเขายังไปแสดงโชว์ที่งานใหญ่ประเทศฝรั่งเศส “อานนทร์ พีรนันทปัญญา” จากเด็กที่เรียนหนังสือไม่จบ แต่พบความรักความชอบส่วนตน และต่อยอดจนเป็นระดับเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย ว่ากันว่าใครอยากสักกับเขา ต้องจองคิวกันเป็นปี!

“อานนทร์ พีรนันทปัญญา” ปรากฏเป็นข่าวเมื่อไม่กี่วันก่อน กับสถานะเจ้าของร้าน Mimp Tattoo ร้านสักลายศิลปะบนเนื้อหนังซึ่งกำลังเฟื่องฟูอยู่ในขณะนี้ เขาไม่ใช่คนที่ยิ่งใหญ่มาจากไหน แต่เรื่องราวของเขาน่าสนใจ ในฐานะมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง ซึ่งเพียงรู้ว่ารักอะไร และก็พร้อมยอมตายไปกับมัน!...

เรียนไม่จบ
ใช่จะจบทั้งชีวิต

"จริงๆ ตอนแรก ผมฝันอยากจะเป็นนักวาดการ์ตูนนะ ผมเคยลองไปสมัครงานด้วย แต่ก็ไม่ได้ คือตอนสัมภาษณ์ เขาถามว่าผมเป็นคนบุคลิกนิสัยอย่างไร เวลาว่างชอบทำอะไร เคยประกวดอะไรที่ไหนบ้าง ผมก็บอกไปว่าไม่ได้ประกวดที่ไหน เงินจะกินข้าวยังไม่มีเลย ผมเพิ่งเข้ากรุงเทพฯ มาไม่นาน เวลาว่าง หัดดีดกีตาร์ ร้องเพลง กินเหล้ากับเพื่อนตามประสา ก็อาจจะไม่ตรงที่เขาต้องการ เหมือนคนวาดการ์ตูนในความรู้สึกเขาที่ผมมองเข้าไปก็คือ ต้องเป็นแบบเนิร์ดๆ คอการ์ตูนหน่อยๆ ผมไม่จัดอยู่ในประเภทนั้น

"และตอนนั้นก็บอกเขาไปว่าเราวาดใช้เวลาเท่านี้ๆ ผมทำได้แบบนี้ๆ เขาบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ระดับประเทศเขายังทำไม่ได้เลย อ้าว...ถ้าระดับประเทศทำไม่ได้ พี่จะพิจารณาให้ผมทดลองก่อนไม่ได้เหรอ (หัวเราะ) ผมก็เลยเริ่มรู้แล้วว่าวงการการ์ตูนมันจำกัดวงไว้แบบหนึ่ง มันไม่เปิด มันไม่ใช่เรามานั่งวาดการ์ตูนเล่นแล้วก็ขาย เราจะต้องอยู่ในกรอบของเขา"

มิ้ม เริ่มต้นเล่าถึงความรักความชอบในการวาดรูปซึ่งเป็นความใฝ่ฝันแรก อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เขากลายเป็น “ช่างสัก” ฝีมือฉกาจระดับประเทศอย่างทุกวันนี้ โดยที่เขาเองก็ไม่คาดคิด

"คือผมชอบเรื่องวาดรูป มันก็ทำให้ผมหลงรักในรอยเส้น เรื่องการสัก สองทางนี้ผมไปทางใดทางหนึ่ง ผมเอาหมดเลย แต่การสักแค่ชอบผลงานก็สักได้เลยไม่เหมือนการวาดการ์ตูนต้องมีสำนักพิมพ์ แล้วมันเป็นช่องทางการหาเงินได้ด้วย มันง่ายกว่า ไม่เหมือนวาดการ์ตูน

"เพราะอย่างที่บอก ตอนนั้นผมไม่มีเงิน" ช่างหนุ่มบอกกล่าวอย่างซื่อๆ ถึงเหตุผลที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตที่ต้องเลือก

"ต้องเล่าย้อนไปถึงสมัยเด็กๆ เดิมทีพ่อแม่ผมมีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ใช้ชีวิตอยู่ในแคมป์คนงานก่อสร้างแถวๆ กรุงเทพฯ ย่านชานเมือง ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่ขอนแก่นตอน ป.3 เพราะว่าครอบครัวมีปัญหาในช่วงเศรษฐกิจ แล้วก็โดนโกงด้วย ก็เลยต้องปักหลักอยู่ที่นั่น

"คือตอนที่อยู่ในโรงงานก่อสร้าง ฟังเหมือนลำบาก แต่ว่าพ่อกับแม่มีงานทำไงครับ ไม่เหมือนตอนไปอยู่ขอนแก่น ตกงาน มีที่มีบ้านอยู่แล้วก็จริง แต่ว่าบ้านก็สร้างไม่เสร็จ อยู่บ้านแบบไม่มีฝาผนังไม่ครบมุม ทุกอย่างก็คือแย่มาก"

"ผมก็เรียนอยู่ที่โรงเรียนในหมู่บ้าน “หนองกุงขี้ควง” ฟังชื่อหมู่บ้านก็ตลกดี หมายถึงขี้ที่เอาไว้จุดไต้ไฟ ไม่ค่อยบอกใคร" ช่างหนุ่มหัวเราะเบาๆ ถึงชีวิตที่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากโรงเรียนเอกชนสู่สถาบันการศึกษาที่โอบล้อมด้วยความยากไร้

"พอไปอยู่ตรงนั้น ทุกอย่างมันก็เปลี่ยนเลยคือ ไปเรียนโรงเรียนแบบยากจน ที่เด็กนักเรียนเขาไม่มีรองเท้าใส่ แต่เรามี เสื้อผ้าเราสะอาด แล้วก็เรียนเช้าวิชา เย็นวิชา ถ้าใครเคยอยู่บ้านนอกจะรู้ว่าโรงเรียนเขาเรียน เช้าวิชา-เย็นวิชา เช้าเรียน สปช.สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต เย็นเรียนคณิต เพราะว่าอาจารย์เขาวนกันไม่ทัน แต่ก็เป็นโรงเรียนตามหลักสูตร

"ตอนนั้นผมก็ไม่ได้เรียนศิลปะเลย เพราะว่าเขาไม่สอน ส่วนใหญ่เด็กเตะบอลกันทั้งวัน เตะบอลเก่งมากด้วย เก่งจนผมเตะบอลไม่เป็นเลย คือผมเตะกับใครไม่ได้ สู้เขาไม่ได้ ไม่มีสิทธิ์เลย เขาแข็งแรงกันมาก เด็ก ป.3 ที่นั่น เตะตูมเดียว ลูกบอลแทบข้ามสนาม ตอนนั้นยังแอบคิดว่าพวกนี้โตขึ้นน่าจะเป็นทีมชาติ"

ช่างหนุ่มหัวเราะร่วนให้คืนวันเก่าก่อนอย่างอารมณ์ดี ก่อนจะเล่าถึงชีวิตในช่วงต่อมาของระดับชั้นมัธยมว่า แม้จะก้าวขึ้นสู่ระบบการศึกษาโรงเรียนที่มีความพร้อมเพรียงมากขึ้น แต่กระนั้นเขาก็ยังไม่ได้ร่ำเรียนวิชา “ศิลปะ” ที่ตัวเองรักอย่างเต็มที่ เพราะด้วยระบบทางการศึกษาที่มุ่งเน้นความรู้จึงทำให้ได้แต่ขีดๆ เขียนๆ ลงบนกระดาษระหว่างเรียนเท่านั้น

"จบจากที่นั่นผมก็ไปเรียนมัธยมในตัวอำเภอน้ำพอง ก็ขยับตัวได้ดีหน่อย ไม่เท่ากับระดับในตัวจังหวัดขอนแก่น แต่ก็ไม่ถือว่าขี้เหร่ แต่คือวิชาศิลปะที่เราอยากเรียน ก็แทบไม่ได้เรียน มีเรียนน้อยมาก แล้ววิชาเลือกเสรีหรือว่าอะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราได้เรียนในทางสายนี้ พอขึ้นมัธยมปลายก็มีสายวิชาให้เลือก อังกฤษ-คณิต ศิลป์-ภาษา เราก็เลยเลือกศิลป์ภาษา เพราะคิดว่าพอเลือกศิลป์แล้ว เราจะได้เรียนศิลปะเยอะขึ้น แต่ก็ไม่ได้เรียนศิลปะเยอะขึ้น (หัวเราะ) มันก็อาจจะเป็นความอัดอั้นที่ทำให้ผมต้องนั่งวาดรูปเล่นเรื่อยเปื่อย

"ก้มหน้าก้มตาวาด อยู่หลังห้อง จนอาจารย์คิดว่าเราตั้งใจเรียน เลยบอกกับเพื่อนๆ ให้ดูเป็นตัวอย่าง ขยันเรียน ผมนี่อึ้งไปเลย (หัวเราะ) แต่พอวัดเกรดออกมาปั๊บ อาจารย์ถามว่าทำไมนายอานนทร์เป็นอย่างนั้นไปได้ เธอมีปัญหาอะไรหรือเปล่า ดูก็ไม่น่าจะขนาดนี้ เราก็อยากจะบอกว่า ผมไม่ได้ตั้งใจเรียนอย่างที่คิด ผมนั่งวาดรูปทั้งวันเลย ไม่ได้ฟังที่อาจารย์พูดเลย"

"เหมือนคนที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก แล้วเขาไม่ให้เราวิ่ง"
อานนทร์บอกถึงความรู้สึกตัวเองในวันนั้น ซึ่งทำให้ทั้งดราก้อนบอล สแลมดังก์ หรือคนเก่งฟ้าประทาน ต่างออกมาโลดแล่น สนุกสนาน อยู่บนหน้ากระดาษสมุดและหนังสือเรียนอย่างคับคั่ง และไม่ใช่แค่เพียงวาดตามเพื่อให้เหมือนต้นฉบับ แต่อานนทร์ยังได้เริ่มค้นหาลายเส้นเป็นของตัวเองนับแต่นั้นมา...

"วาดๆ ไป ก็มีความรู้สึกในการค้นหารูปแบบลายมือของตัวเอง เพราะการวาดการ์ตูนแต่ละเรื่อง เขาจะมีลายมือที่แตกต่างกัน ผมก็เลยเหมือนรู้แล้วว่า คนเรามันต้องมีลายเส้นของเรา เราต้องหา แม้มันยาก แต่ผมมองว่ามันเป็นความเหนื่อยที่ทำให้เห็นตัวตน มันคุ้มค่า คือของบางอย่างคุ้มค่าเหนื่อยกับไม่คุ้มค่าเหนื่อย ผมมองว่าคุ้มค่าเหนื่อยในตอนที่วาดการ์ตูน แล้วผมก็หวังว่าจะเป็นนักวาดการ์ตูนชื่อดังในอนาคต วันๆ ผมนั่งคิดแค่นี้แหละครับ"

"คิดจนเรียนติด 0 ห้าตัว ติด ร 2-3 ตัว ใบเกรดมีแต่เกรด 1"
อานนทร์ว่าด้วยเสียงหัวเราะแหะๆ ในลำคอ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่สำหรับการสานฝันที่อยากจะเป็น “นักเขียนการ์ตูน” หรือได้ทำในสิ่งที่รัก

"คือสภาพทางบ้านก็ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ คุณพ่อก็ไม่ค่อยมีงานทำ คุณแม่ก็ขายก๋วยเตี๋ยวอยู่โรงเรียนมัธยมแถวนั้น เพื่อนก็ดูถูก เราเริ่มโตก็รู้สึกมองเห็นว่าบ้านเราจน เราจะวาดแต่รูปจนไม่สนใจเรียน ปล่อยให้ติด 0 ห้าตัว ติด ร 2-3 ตัว ใบเกรดมีแต่เกรด 1 อย่าง ม.ต้น หรือ ม.4 ไม่ได้แล้ว เพราะว่าวันหนึ่งเราต้องทำเอง เราขอเงินพ่อแม่กินข้าวไม่ได้

"แม้กระทั่งเราเห็นเพื่อนที่มีตังค์ วันนี้พ่อแม่ให้ตังค์เขามา แต่เรารู้เลยว่าวันหนึ่งเขาต้องหาใช้เอง จำนวนเงินเท่านั้นมันไม่พอหรอก เราก็บอกตัวเราเองได้เลย แล้วเราจะเหลืออะไร ก็เลยเริ่มตั้งใจเรียน เกรดมันเริ่มดีขึ้น จากที่แบบติด 0 ติด ร ก็เป็นผ่าน เกรด 3 ภาษาไทยบ้าง แอบมีเกรด 4 วิชาพละที่ใครๆ เขาก็ได้กัน เราก็เริ่มมีความภูมิใจ

"พอเข้ามหา'ลัยคือเป็นอะไรที่ตั้งใจมาก ก็เรียนออกแบบผลิตภัณฑ์ที่วิทยาลัยราชภัฏวไลอลงกรณ์ เพราะว่าเป็นคนชอบเรื่องของดีไซน์ รูปลักษณ์ รูปทรง ไม่ว่าจะรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ หรือของทุกอย่างที่เราใช้ ถ้ามันดูรูปลักษณ์สวย มีวิวัฒนาการการพัฒนา ผมดูหมดเลย ดูแล้วมองมันขาดอะไร มันเติมอะไรลงไปได้ ผมจะชอบมองอย่างนี้ตลอดเวลา หาจุดบอดแก้ไขอย่างนี้"

"แต่ก็เรียนไม่จบ...
เพราะด้วยปัญหาความยากจนของทางบ้านส่วนหนึ่งที่ทำให้มีผลต่อการเรียน ด้วยระบบ ระเบียบ ด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งไม่สามารถทำตรงนั้นได้ คืออาจารย์เขาเช็กชื่อจากงานที่ส่ง เราไม่มีงานเขาก็ไม่เช็กชื่อเรา แล้วบวกกับความเกเรของเราด้วย เราก็เลยคิดว่าต่อให้เรียนจบไปในด้านนี้ เรียนก็จะไม่รอดอยู่แล้ว เราจะไปหางานทำรอดได้อย่างไร เพราะการหางานทำมันก็ต้องมีทุน ใช่ไหม ดูแล้วเราไม่น่าจะเลี้ยงตัวเองหรือเลี้ยงครอบครัวได้"

"แต่ตอนเรียนผมก็หวังไว้สูงว่าจะไปให้ถึงที่สุดของที่วงการออกแบบผลิตภัณฑ์เขาจะทำได้อันนั้นคือความคิดผม"

แม้ท้ายที่สุด การเรียนจะจบที่คำว่าไม่ “จบ”
แต่จุดจบของบางอย่าง กลับเป็นจุดเริ่มที่สร้างบางสิ่ง

กำเนิดช่างสักคิวทอง
ต้อง “ล้ม” ก่อนถึง “สำเร็จ”

"คือเรื่องสัก เข้ามาช่วงตอนขึ้นปีสอง เราไปสัก พอสักแล้วก็เลยเหมือนว่าเป็นจุดประกายเล็กๆ แต่ก็ไม่ได้ถึงขนาดที่เราคิดว่าเราจะต้องไปซื้อเครื่องสัก หรือเป็นช่างสักนะครับ พอเรียนไม่จบ กลับไปอยู่ที่บ้าน เพื่อนก็เล่าถึงช่างสักแถวบ้านให้ฟังว่าขนาดคนวาดรูปไม่เป็น ยังสักได้เลย คือที่เขาพูด เหมือนเขาอยากถามผมก่อนว่าทำได้ไหม เพราะเขาเห็นว่าผมชอบวาดรูป ผมก็คิดว่าทำได้ ก็เลยไปหาพี่ช่างสักแถวบ้าน ไปถามเขาว่าจะหาซื้ออุปกรณ์ได้ที่ไหน ผมก็เลยขอตังค์พ่อแม่เลย ตอนนั้น

"โชคดีที่บ้าน คุณพ่อคุณแม่ท่านไม่ว่าอะไร แม้ว่าเราจะเรียนไม่จบ คงอาจจะเพราะท่านคิดว่าเราน่าจะทำได้ หรือแบบ...จะส่งลูกคนนี้ออกไปจากครอบครัวสักที (หัวเราะ) อะไรอย่างนี้ จะได้ไม่ต้องลำบาก ผมก็ไปซื้อเครื่องสักมาด้วยเงินจำนวน 6-7 พันบาท จากการขายหมู 9 พันบาท ที่เลี้ยงไว้คอกเล็กๆ คอกหนึ่ง

"ก็ซื้อเครื่องสักจีนสมัยนั้นมาเครื่องหนึ่ง แล้วก็พยายามอะแดปต์เอา อันไหนไม่ซื้อได้ ก็ไม่ซื้อ แล้วก็กลับมาสักเพื่อนที่บ้าน มีแต่เพื่อนกันเอง ร้านที่สักมันก็ไม่ได้เป็นการเปิดร้านเลย จริงๆ เรียกว่ายืมสถานที่นั่งสักเฉยๆ มีโต๊ะญี่ปุ่นตัวหนึ่งอยู่ในร้านขายอุปกรณ์การเกษตร ขายปุ๋ย ขายกระดิ่งวัวกระดิ่งควาย จอบเสียม (หัวเราะ) ใครมาสัก ก็นั่งสักตรงนั้น นั่งสักอยู่ข้างเชือกจูงควายที่เขาม้วนๆ ไว้ ก็แอบคิดว่ามันก็ดูเหมือนตัวตลกเหมือนกันนะ แล้วเราก็ไปแปะป้าย “มิ้ม รับสักลาย” อยู่ในตลาด ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นวงแคบมาก คือตอนนั้นผมมีความรู้แค่นั้นไง

"สักครั้งแรกรู้สึกได้ประมาณ 900 บาท ผมก็รู้สึกเงินเยอะดีนะ ผมก็เลยลองยึดเป็นอาชีพดู แต่พอหลังๆ ผู้ใหญ่พ่อแม่เพื่อนๆ เขาก็ไม่อยากให้ลูกๆ หลานๆ เขาอยู่กับเรา เพราะเราไปสักให้ลูกเขา สักๆ อยู่ไล่ด่า ต้องวิ่งหนีกันก็มี แล้วตอนนั้นเราก็เริ่มคิดว่าเราก็ทำได้ เรามีฝีมือพอๆ หรือมากกว่าช่างสักในตัวเมือง เราไม่ควรจะอยู่ตรงนี้ เราควรจะไปให้ถึงที่สุด ก็เลยตัดสินใจมากรุงเทพฯ"

ทว่าการมาครั้งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ความมั่นใจที่พกพามาก็ค่อยๆ หล่นหายหลังออกเดินสมัครงานร้าน “สัก” เนื่องจากวงการสักเป็นเรื่องของการเชื่อมือ การจะรับทีมงานช่างสักจึงเป็นเรื่องของการบอกต่อๆ ในวงว่าคนนี้ๆ ฝีมือเป็นอย่างไร

"มากรุงเทพฯ ก็หางานร้านสักทำ ก็เดินหาแถวถนนข้าวสาร แถวตลาดนัดตะวันนา ก็ไม่ได้งาน แม้ว่าเรามีโปรไฟล์งานให้ดู แต่เขาก็ไม่ดูเลย เขาไม่แม้แต่จะเสียเวลาดูผลงานเรา เพราะเราไม่รู้จักใคร ส่วนใหญ่วงการช่างสักก็คือรู้จักกัน แนะนำกัน"

"ตอนนั้นก็นั่งคิดแต่ว่าเดือนนี้ต้องเซฟพลังงาน เดี๋ยวหิวน้ำตังค์ไม่พอ ซื้อน้ำปั๊บเดี๋ยวกลับห้องไม่ได้ กลับห้องไปต้องกินข้าวอีก ต้องซื้ออาหาร เดี๋ยวตังค์ไม่พอ ทุกอย่างต้องเซฟมาก เพราะแม่ผมให้เงิน 2,700 บาท ติดตัวขึ้นมากรุงเทพฯ มาขอเช่าห้องหารกับเพื่อนๆ เช่าห้องอยู่ด้วยกัน 4-5 คน อยู่กันแบบแออัดๆ

“ชีวิตโหดจริงๆ ตอนนั้น” ช่างหนุ่มว่าพลางยิ้ม เพราะแม้จะดูสิ้นหวังในตอนแรก แต่หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ได้เป็นช่างร้านสักสมใจที่ตลาดนัดตะวันนา ย่านบางกะปิ

"ก็มีโอกาสได้ทำงานอยู่ที่ตะวันนา 3 เดือน แต่ว่ามันไม่ค่อยเหมาะกับเราเท่าไหร่ เราก็เหมือนไม่รู้ว่าเขาผลักดันให้เราออก หรือเราออกเองนะ ก็ออกแล้วก็รับสักที่ห้อง โดยอาศัยความรู้คอมพิวเตอร์ที่ได้เรียนมาสมัยมหาวิทยาลัย นั่งโพสต์ประกาศรับสัก ก็มีคนติดต่อมา เพราะว่าเราสักราคาถูกๆ เวลาสักเราก็ให้เพื่อนออกมานอกห้อง เราก็นั่งสักๆ ในห้องร้อนๆ ไม่มีแอร์ พัดลมอย่างเดียว แต่ด้วยราคาเราถูกเขาก็เลยรับได้"

สนนราคาตั้งแต่ 300-500 บาท ขนาดเท่าฝ่ามือ ใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็พันต้นๆ ไม่เกินนั้น

"ก็อาจจะไม่ได้มากมายอะไร แต่จริงๆ มันก็ดีกว่าอาชีพอื่นๆ ที่เราจะหาได้ในตอนนั้น ทำไปได้สักระยะ หลังจากนั้นก็ไปเปิดร้านแถวตลาดนัดหลังรามซอย 24 เป็นร้านที่ประกอบด้วยท่อพีวีซี ลงทุนประมาณพันกว่าบาท ทั้งหมด 3 ชิ้นส่วน ถอดออกก็เหลือคานเหลือขาสองข้าง แล้วก็เอาผ้าดำรองพื้น ก็เปิดอยู่ข้างร้านของคนที่เช่าล็อกอีกทีหนึ่งนะครับ เพราะค่าเช่าล็อกแพง"

ครั้งนี้ก็ไม่ต่างอะไรไปจากครั้งแรก ผิดก็แต่ไม่มีใครมาไล่ด่าให้ต้องวิ่งกระเจิง แต่กระนั้นลูกค้าส่วนใหญ่ก็ยังเป็นคนคุ้นเคยที่ได้แค่ช่วงแรกๆ เท่านั้น ซึ่งนั่นทำให้เขาต้องเลิกล้มและหันไปเป็นเด็กเสิร์ฟเพื่อประทังชีวิต

"ก็ไปเสิร์ฟอยู่ที่ร้านปูม้า หลัง ม.รามคำแหง ได้วันละ 190 บาท ทำไปทำมาเหลือ 150 บาท เพราะว่าผมไปสายเป็นตลอด แต่ก็ดีที่เขาก็ไม่ไล่เราออก เขาให้เป็นอภิสิทธิ์ ลดเงินไป 40 บาท ก็คือไม่ต้องจัดโต๊ะทำตอนเริ่มร้านถึงเวลาก็เสิร์ฟเลย ทำอยู่สองเดือนเห็นจะได้ แต่ก็เป็นสองเดือนที่มีความสุข เพราะตื่นมาก็คือไปกินข้าวที่ทำงาน กินข้าวอิ่ม ก็เสิร์ฟอาหาร จบ ได้เงิน 150 บาท เข้าร้านอินเทอร์เน็ต"

แชตสาว บ้าเกม วันๆ ไม่ทำอะไร คือสิ่งที่ใครต่อใครรอบข้างต่างพูดถึงอดีตช่างสักหนุ่มคนนี้ในเวลานั้น แต่ทว่าจริงๆ แล้ว เหตุผลที่เขาเดินเข้าร้านอินเทอร์เน็ต หรือร้านเกมคอมพิวเตอร์ กลับมีจุดประสงค์อื่นแอบแฝงอย่างอื่น ที่ทำให้เขาได้บินลัดฟ้าข้ามประเทศในฐานะช่างสัก

"ทุกคนจะชอบล้อผมว่า ไปเล่นแต่แชตสาว เล่นเน็ตอีกแล้ว เหมือนเราวันๆ ไม่ทำอะไร มีแค่นี้ ล้อผมจนผมรำคาญเลยนะ แต่จริงๆ ผมหางานครับ แต่ผมจะไปนั่งบอกทุกคนว่าจริงๆ แล้วตอนนี้กำลังหางาน วางแผนธุรกิจ โปรเจกต์ไปเป็นช่างสักที่ประเทศเกาหลี ผมไม่ใช่คนขี้โม้แบบนั้น ผมก็หัวเราะๆ คนก็ล้อจนผมอยากร้องไห้

"จนเราได้ไป คนแถวนั้นก็เหมือนตกใจเหมือนกัน เราไปได้อย่างไร เพราะมันก็ไปยากอยู่ แต่คือตอนสมัยอยู่ที่ตะวันนา เราก็รู้จักช่างสักมากขึ้น เราก็เห็นหลายๆ คนไป ยิ่งช่วงนั้นมีโปรแกรม MSN เลยทำให้เกิดการติดต่อกับช่างสักด้วยกันก็เลยได้รู้ เราก็เลยเห็นว่าช่องทางนี้คือช่องทางที่เราจะเก็บเงินเพื่อที่จะมาทำร้าน ทำในแบบที่เราคิดไว้

"ก็เอาผลงานให้ดูครับ เพราะเราก็เก็บ ผมเป็นคนชอบเก็บพอร์ต อันนี้สำคัญเรื่องการเก็บงาน ก็คือผมเอาผลงานให้เขาดู ก็นานกว่าที่จะมีคนเชื่อใจ เพราะว่าในยุคนั้นก็จะไปกันเอง กลุ่มคนในจะรู้ว่าไปยากมาก เค้าบอกกันว่ามันโหดมันงานหนักเราทำไม่ได้หรอก แต่ผมมองว่าคนอื่นเขาไปได้ ผมก็ต้องไปได้ สุดท้ายก็ได้ไปจนได้"

ค่าใช้จ่าย ค่าเครื่องบินเดินทาง รวมไปถึงค่าที่พักทุกอย่างฟรี แถมด้วยเงินเดือน ถ้าตีเป็นเงินไทยถึงเดือนละ 7 หมื่นบาท

"ก็นั่งเครื่องไปมีเงินติดตัวอยู่น่าจะ 500 บาท การไปต่างประเทศก็น่ากลัว เรารู้ว่าเขาให้กินฟรี แต่ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น เราจะกลับยังไง แต่ที่เรากล้าไป ก็เพราะถ้าให้ผมอยู่ตรงนั้น อยู่ที่เดิม ตายดีกว่าครับ อย่ามีชีวิตดีกว่า มันไร้ค่าเหลือเกิน เราไม่ได้สร้างสรรค์ ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย

"แล้วอีกอย่าง ความจริงตอนนั้นก็คือถ้าอดข้าวมากๆ มันก็ตายจริงๆ อดมากๆ ไส้มันกิ่ว กลับไปหาพ่อแม่ ก็จนแล้วจนอีก ก็คิดว่าถ้าไปแล้วก็ตาย อยู่นี่ก็ตาย คนเราเกิดมาก็ตาย ไปตายเอาข้างหน้าดีกว่า (หัวเราะ) อย่างน้อยได้มีโอกาสที่จะทำในสิ่งที่เราอยากจะทำ"

แม้ว่าการไปครั้งนั้น จะไม่ตายอย่างที่จินตนาการ ทว่าก็หนักหน่วงไม่ต่างจาก “กรรมกรก่อสร้าง” ต้องเดินทางสักตั้งแต่เหนือจดใต้ ไปตะวันออกมาตะวันตก จนเรียกได้ว่าแทบทั่วประเทศเกาหลีใต้

"ไปแล้วก็ตั้งใจทำงาน เก็บเงินทุกบาททุกสตางค์ ใส่เสื้อคอย้วย หัวเปียกหัวมัน สักทั้งวันทั้งคืน หนักมาก หนักยิ่งกว่ากรรมกรอีก เพราะพอเขาจ่ายเป็นเงินเดือนเสร็จเขาใช้คุ้มเลย เราไปสักตามบ้านคน เขาจะมีคิวให้เราไป ไปหมดขึ้นเหนือลงใต้"

และถึงจะมองว่าหนักหนาสาหัสสากรรจ์ในทุกๆ วันที่ต้องตระเวนเดินทาง จนบางคนที่ไปทำอาจจะคิดว่าทำเพื่อให้เสร็จๆ รับเงินแล้วก็จบก็ได้ แต่นั่นไม่ใช่เขา

"ผมมองว่าที่นี่คือการสร้างโปรไฟล์งาน การเก็บเงินก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ผมมองเรื่องผลงานมากกว่า เพราะที่ผ่านมา ผมไม่มีโอกาสทำงาน มันไม่ได้แสดงความสามารถเราออกมา ถึงมีคนเคยบอกไงว่า คนเราจะประสบความสำเร็จจริงๆ มาจากการตั้งใจทำงานและสร้างโปรไฟล์สร้างผลงาน ไม่ใช่เป็นการพูดบอกเขาว่าเราทำได้ ผมก็เลยพยายามเก็บโปรไฟล์งานกลับมาให้ดีที่สุด หมายความว่าผมต้องยอมทนเหนื่อยกว่าคนทั่วไป

"เพราะจริงๆ เราทำงานปั่นแบบเลิกๆ ก็ได้ แต่ถ้าผมปั่นแบบเลิกๆ ผมก็แค่ได้เงินก้อนหนึ่งกลับไปเมืองไทย ก็เหมือนจะมีลุงๆ น้าๆ ที่อายุมากๆ เขาบอกว่า รู้ไหม ลุง อา ก็เคยไปประเทศซาอุมานะ เงินดีมากเลย อย่างโน้นอย่างนี้ในวงเหล้า แต่ทุกวันนี้ ชีวิตทั้งผอมโซ ไม่มีตังค์ไม่มีเงินติดตัวเลย ผมไม่อยากเป็นคนแบบนั้น ผมจึงจำเป็นต้องเก็บโปรไฟล์กลับมา ผมจะบอกตัวเองตลอดว่า ผมจะต้องไม่ใช่คนที่แก่ไปแล้ว แล้วไปเล่าเรื่องราวในอดีตว่าตัวเองดีแค่ไหน แต่ทุกวันนี้ไม่เหลืออะไรเลย

"นั่นก็คือสิ่งที่ผมจดจำ อาจจะเป็นเพราะว่าผมได้เห็นเป็นบทเรียน ได้เห็นพ่อแม่ที่ทำงานเคยมีตังค์แล้วก็ไม่มีตังค์ คือผมไม่อยากเล่าให้ใครฟังแบบนั้น ก็เลยตั้งใจ"

แต่ทว่าพอกลับมา ความตั้งใจที่คิดไว้ก็มลายหายไป เงินเกือบ 2 แสนบาทที่คาดว่าจะเป็นทุนในการก่อร่างสร้างตัว หมดไปกับการสนองความอยากของตัวเอง

"คนไม่เคยจับเงินเยอะขนาดนี้ แต่จริงๆแล้วเงินสองแสนไม่เยอะนะครับ ใช้แป๊บเดียวหมด เพราะว่าคนที่จนมาก่อนอย่างผม คือผมขาดนาฬิกา รองเท้า เสื้อผ้า ที่อยู่ ให้พ่อแม่ มันมีอะไรหลายอย่างที่ผมไม่เคยลอง อย่างละนิดหน่อยรวมกันก็หมดตังค์แล้วครับ ก็เอาไปใช้เที่ยวเรื่อยเปื่อย ชอบนาฬิกา อยากได้ซื้อ เพราะผมเกิดมาไม่เคยมีปัญญาซื้อนาฬิกาเลยดีๆ เลย ซื้อตอนทำงานแรกๆ ก็ 200-300 บาท ทีนี้ เราก็ไปซื้อนาฬิกาในห้างเรือนละ 5-6 พัน ซื้อเสื้อผ้าจิปาถะ

"แต่ส่วนใหญ่จะหมดไปกับค่าเหล้า เลี้ยงเพื่อน คือไปร้านเหล้าในตัวจังหวัดขอนแก่นเนี่ย คือจากที่เด็กโคโยตี้เต้นอยู่กับป๋าๆ พอผมไปปุ๊บ ย้ายโต๊ะมานั่งกับผมหมดเลย เพราะผมแจกคนละร้อย ใครคุยทักทายแจกคนละร้อยเลย มีความสุขมาก (หัวเราะ) เด็กจุดบุหรี่ ผมก็ให้แล้วร้อยหนึ่ง ผมได้เป็นเหมือนคนที่ผมไม่อยากเป็น เป๊ะเลย” ใช่เงินหมดเหลื่อแต่เรื่องเล่าว่าเคยมีเงิน

นั่นจึงทำให้สัญญาที่ให้ไว้กับตัวเองว่าจะไม่ไปเกาหลีใต้ แดนทรมานช่างสัก อีกครั้ง ต้องถูกกลืนลงคอ

"คือตอนแรกสัญญาตัวเองว่าจะไปแค่รอบเดียว เพราะมันหนักมาก แต่ดันเอาเงินมาใช้หมด ก็ต้องไปอีกรอบหนึ่ง ก็ทำงานหนักเหมือนเดิม เก็บเงินอีกรอบ กลับมาผมก็คบกับแฟนคนปัจจุบัน แล้วก็เลิกยุ่งกับอบายมุขทุกชนิด เลิกเหล้า
เลิกขาดเลยครับ เจอเพื่อนสนิทนี่ไม่กินด้วยเลย เปลี่ยนเลย เป็นอีกคนเลย ตอนนั้นก็เลยได้เปิดร้านที่ห้างยูเนี่ยนมอลล์"

ทำท่าเหมือนจะไปได้สวย หลังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมปัจจัยภายในที่ควบคุมได้ อย่างการลดละเลิกงานสังสรรค์และการใช้เงินที่ฟุ่มเฟือย ก็มิวายที่ปัจจัยภายนอกเรื่องค่าที่เช่าจะทำให้ร้านแรกที่เรียกอย่างเต็มปากเต็มคำ ต้องไม่ประสบความสำเร็จอีกครั้ง

"คือค่าที่มันขึ้นตลอด เราก็อยู่ไม่ได้ ก็เจ๊ง ก็ไปภูเก็ต ที่ไปเพราะมีโอกาสได้รู้จักพี่ช่างสักที่นั่น เป็นร้านใหญ่ดังอันดับต้นๆ ของภูเก็ตเลย เราก็ได้เห็นการทำงานอย่างมีระบบระเบียบวิธีการดูแลร้าน เป็นตัวอย่างเจ้านายที่ดีของผม ผมยังจำจดมาทุกวันนี้"

“อยู่ภูเก็ตสักระยะผมก็กลับมา ด้วยความที่เคยทำร้านมาก่อนที่ยูเนี่ยนมอลล์ ก็มีลูกค้าเดิมที่รอผมอยู่ จากที่ปกติเปิดร้านมีมาเดือนละไม่กี่คน แต่พอเราไม่อยู่ปีหนึ่ง ลูกค้าก็รอเยอะมาก ผมก็เช่าคอนโดสัก ยังไม่ได้เปิดร้าน ก็สักไปเรื่อยๆ ตอนนั้นก็คิดที่จะสร้างงานสไตล์ของตัวเองอย่างจริงจัง พอมีโอกาสแล้วตั้งใจว่าจะสร้างงานนั้นให้เป็นงานชิ้นที่เกิดมาเราไม่เคยทำได้ขนาดนี้มาก่อน และก็ต้องเป็นงานที่ไม่มีใครทำได้เหมือนผมด้วย

"เพราะผมต้องการที่จะทำให้เป็นที่รู้จักในไทยให้ได้ เราจะแค่ทำตามคนอื่นไม่ได้ เราต้องทำให้เหนือกว่าและแตกต่าง คือต้องก้าวไประดับสากลเลย นั่นคือความรู้สึกตอนนั้นนะ ส่วนการที่ว่าผมทำได้หรือไม่ได้เป็นเรื่องของความพยายาม ก็เกิดเป็นหนุมานสีแดง หนุมานสีม่วง หน้ายักษ์ ผมก็เลยกลายเป็นช่างในสไตล์แบบจะไทยก็ไม่ไทย ญี่ปุ่นก็ไม่ญี่ปุ่น สรุปผมก็เลยได้เป็นตัวตนของผมขึ้นมา ทำให้มีลูกค้าติดตามมาอยู่เรื่อยๆ คิวเริ่มยาว ยาวเต็มปี"

"ผมก็เลยเปิดร้านที่อาร์ซีเอ เพราะว่าคิดว่าลูกค้าเยอะพอแล้ว ความเชื่อมั่นเยอะพอแล้ว แล้วรางวัลที่เราได้จากการประกวด Best of Show ที่มาบุญครองปี 2012 รางวัลที่ 1 Japanese tattoo ปีเดียวกันรวมทั้งหมด 5 รางวัล และที่ได้ก่อนหน้านั้นตั้งแต่ปี 2008 ครั้งแรกที่ลงประกวด ผมก็เลยคิดว่าเปิดร้าน ผมสร้างบรรยากาศร้านในแบบที่ผมชอบ และทุกคนที่มาทำงานต้องชอบ ผมอยากมีพื้นที่ให้ช่างแสดงฝีมือ เปิดมาปุ๊บทุกคนต้องมีงานทำ ถึงยังไม่เก่ง ผมต้องทำให้เขาเก่งให้ได้"

ล่าสุดผลงานของอานนทร์ ได้รับการติดต่อจากนิตยสาร Tattoo ชั้นนำชื่อดังของสหรัฐอเมริกา inked magazine ให้นำไปลงในหนังสือ และยังได้นำผลงานไปแสดงโชว์ที่งานศิลปะรอยสักพิพิธภัณฑ์ Musée Ouai Branly ที่ประเทศฝรั่งเศส และจากราคาหลักร้อย ไต่มาเป็นหลักพันเรือนหมื่นแสนต่อการจรดปลายเข็มบนผิวหนัง และไม่ใช่ใครก็สามารถเดินเข้ามาสักได้เหมือนแต่เก่าก่อน หากระบุจะให้เขาเป็นผู้วาดลวดลายก็ต้องรอคิวกันข้ามปีเลยทีเดียว

ซึ่งความสำเร็จทั้งหมดทั้งมวลหลังจากล้มลุกคลุกคลานมาหลายต่อหลายครั้ง อานนทร์บอกว่าต้นแบบที่ทำให้ชีวิตเขามาได้จนถึงทุกวันนี้คือ ความมุ่งมั่นที่มีของตัวเอง และการเรียนรู้จากผู้ที่ประสบความสำเร็จ

"คือผมเป็นคนมุ่งอยู่แล้ว อย่างตอนเรียนผมก็วาดการ์ตูนจนเรียนไม่รู้เรื่องเลย หรือตอน ม.ปลาย ผมเคยเล่นบาสเกตบอลด้วยนะ ตอนนั้นผมก็คิดมุ่งจะต้องไประดับ NBA เลย (หัวเราะ) แต่ก็ไม่ได้ไปไหน แต่ผมคิดว่าการจะประสบความสำเร็จเรารอจังหวะโอกาสเรารอไม่ได้เราต้องทุ่มเทและอุทิศตนด้วย

"อีกอย่างหนึ่งผมมีต้นแบบในการใช้ชีวิต ซึ่งต้นแบบของผมคือ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี แล้วก็อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ คือผมมองคนพวกนี้ ท่านทำให้เราเห็นความพยายาม เอกลักษณ์ต่างกันแต่มีความพยายามเหมือนกัน ฉลาดเหมือนกัน เป็นคนเรียนรู้เหมือนกัน อย่างอาจารย์ถวัลย์ จริงๆ ท่านเกิดในครอบครัวที่ดี แล้วก็เป็นคนเก่ง น่าจะได้เรียนหมอ แต่เลือกที่จะเป็นศิลปิน เป็นคนที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ส่วนอาจารย์เฉลิมชัย เป็นลูกคนจนมาก่อนที่จะรวย นั่นก็ต้องฉลาด แล้วความฉลาดย่อมไม่ได้มาตั้งแต่เกิด มันย่อมเกิดจากความใฝ่รู้เรียนรู้ ก็คือจุดบรรจบ ผมหาจุดเชื่อมว่า คนเหล่านี้เป็นอย่างไร ศึกษาชีวิตของเขา

"เขาบอกว่าถ้าเราอยากจะประสบความสำเร็จหรือถ้าเราอยากรวย ให้ดูคนที่ประสบความสำเร็จและรวย แล้วดูว่าเขากินอย่างไร เดินอย่างไร ทำเหมือนเขาครับ ไม่ใช่ไปถามเขาว่าทำอย่างไร เราจะสัมผัสได้เองว่าทำไมเขาถึงกินแบบนั้น ทำไมเขาถึงกินฟุ่มเฟือย ทำไมเขาถึงกินง่ายๆ ทำไมเขาถึงเดินเร็ว หรือเดินช้า อย่าไปหัวเราะเพียงแค่เขาดูแปลกกว่าคนอื่น ก็เขาประสบความสำเร็จ จะให้เขาเหมือนคนอื่นได้อย่างไร ทุกคนมันก็ไม่เหมือนกัน

"ต้นแบบที่มีอีกก็คือ สตีฟ จ็อบส์, บิล เกตส์, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าของเว็บของจีนปัจจุบัน อลีบาบา และคนอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จ ผมศึกษาอ่านประวัติพวกเขา เท่าที่เราคิดว่าเราจะได้อะไรจากการใช้ชีวิตของเขา"

ผลึกความคิด
โลกทัศน์ชีวิตบนลายเส้นรอยสัก

จากจุดเริ่มสู่เส้นทางความสำเร็จ ถ้าหากไม่นับที่จำนวนตัวเงินเป็นที่ตั้ง ไม่มากไม่น้อยที่ใครหลายคนจะยกให้เขาเป็นบทเรียนชีวิต ต้นแบบในการฝ่าฟันต่อสู้กับอุปสรรค ส่วนตัวเขามีความคิดอ่านอย่างไร ยิ่งเป็นในเรื่องคาบเกี่ยวที่คนส่วนใหญ่มองว่าไม่ดีอย่างศิลปะบนเรือนร่างแขนงนี้

"ทำในสิ่งที่รักแล้วเราต้องรู้ว่ามันถูกต้องนะครับ ก็คือไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม บางคนอาจจะบอกว่าแล้วถ้าพ่อแม่มองไม่ดีหรือไม่เห็นด้วย อาจจะด้วยความหวังดีก็จริง แต่เราอย่าลืมว่าพ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงเราจนตาย คือจริงๆ แล้วมนุษย์เรามันเป็นวิวัฒนาการ ลูกต้องดีกว่าพ่อแม่ ถ้าลูกยังต้องเชื่อพ่อแม่ โดยไม่มีเหตุผลอันใด โดยที่เราไม่สามารถคิดได้ดีกว่าหรือคิดเองได้ แสดงว่าวิวัฒนาการเรามันจะถอยหลัง นั่นโดยหลักแล้วลูกควรดีกว่าพ่อแม่ พ่อแม่ต้องยอมรับเปิดโอกาสให้ลูกเจริญก้าวหน้ากว่าด้วย หมายถึงปล่อยให้ลูกได้เป็นพ่อแม่เป็นผู้พ่ายเรือไปส่ง" อานนทร์ เผยความคิดอ่านส่วนตัวทั้งจากมุมมองและประสบการณ์

"ผมมองอย่างนั้น เพราะผมก็ไม่ได้เชื่อพ่อแม่ทั้งหมด ก็แทบไม่เคยเชื่อเลยแต่ว่าพ่อแม่ก็คือพ่อแม่เราท่านรักเรา เรารักท่านก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งแต่ไม่ใช่ว่าบอกอะไรแล้วต้องทำ ผมเชื่อมาตั้งแต่เด็ก ผมเห็นว่าลูกคนรวย แต่รวยแค่นั้นความรวยของพ่อแม่เลี้ยงเขาจนตายไม่ได้ งั้นเขากับเราไม่ต่างกัน ผมจะไม่มองว่าลูกคนรวยทำได้ เราทำไม่ได้ ไม่มองอย่างนั้น ทุกคนทำได้หมด ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทำ"

"ทัศนคติรอยสักเมื่อก่อนคนเขาก็มองว่าไม่ดีใช่ไหมครับ" เจ้าตัวย้อนถาม
"มองไม่ดีเลย มองขี้คุก ขี้ยา ไม่มีงานทำ เกเร แต่ในสายตาผม โลกเรามีอินเทอร์เน็ต ผมก็มองนานแล้วว่าสังคมสากลเขาไม่ได้คิดอย่างนั้น แต่ว่าบ้านเราตอนนั้นมองเป็นอีกอย่าง มองเป็นไม่มีอนาคต ช่างสักต้องติดคุกมาก่อน คนสักต้องไปสักกันในคุกอะไรอย่างนี้

"แต่ความเป็นจริงคนเราควรวัดที่ผลของการกระทำหรือถ้าเป็นคนทำงานก็อยากให้วัดกันที่ผลของงาน อย่างตอนที่ผมวาดรูปการ์ตูน ผมนับว่าเป็นนักวาดการ์ตูนที่ดูเกเร ตอนเป็นช่างสักดูเป็นช่างสักเนิร์ด ตอนเรียนดูเหมือนเป็นเด็กเรียนแต่จริงๆ ไม่ใช่ มันมองอะไรกันไม่ได้เลย มันอยู่ที่ผลของการกระทำว่าใครเหมาะกับจุดไหมมากกว่า อยากให้มองกันตรงนี้มากกว่ารูปลักษณ์ภายนอก เพราะคนเราเดี๋ยวนี้จะมองกันที่รูปลักษณ์ภายนอก ไม่ว่าจะออปชัน ความรวย รูปร่างหน้าตา ผิวขาว ผิวดำ จริงๆ มันเป็นเรื่องของการเหยียด มันควรจะหมดไปจากบ้านเราได้นานแล้ว"

"อย่างไรก็ดี ตอนนี้มุมมองในการมองคนมีรอยสักและช่างสักดูดีขึ้น เปิดกว้างมากขึ้น คือกำลังจะพัฒนาไปในทางที่ดี ทุกอย่างถูกจัดระเบียบมากขึ้น ก็อยากจะให้ทุกคนร่วมกันทำให้มันเป็นระบบระเบียบและก็อยากให้สังคมมองว่างานสัก เป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่ง แล้วก็ไม่มองว่าสักแล้วจะต้องเป็นคนไม่ดี รอยสักไม่ได้บอกว่าคุณเป็นคนดีหรือคนไม่ดี รอยสักคือรอยสัก ไม่เกี่ยวกับส่วนบุคคล ตัวตนต่างหาก อยากให้แยกออกไปจากตรงนั้น มันก็แค่คนที่ชอบการมีรอยสัก ชอบความสวยงามชอบศิลปะ

"แล้วก็อยากให้ใส่ใจในเรื่องความสะอาดกันมากขึ้น ทั้งตัวผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ให้สนใจในเรื่องนี้มากขึ้น เพราะมันคือหัวใจสำคัญของงานสักเลย มันคือศิลปะที่ต้องใส่ใจความสะอาด มันไม่ใช่แค่นั่งเพนต์กันเล่นๆ มันติดตัวเราไปจนตาย"

อานนทร์กล่าวด้วยรอยยิ้มให้สถานการณ์ที่ดีตอนนี้เคยเป็นทั้งอุปสรรคและแรงขับเคลื่อนให้ต้องต่อสู้จนเข้มแข็งขึ้น

"ผมว่าความสำเร็จมาจากความยากลำบาก มันเป็นศัตรูที่น่านับถือมาก ขอบคุณทุกครั้งที่เกิดความยากลำบากที่มันผ่านเข้ามา มันดีมาก เพราะเราใช้ชีวิตไปเรื่อยเปื่อยไม่ได้ การที่ผมใช้ชีวิตไปเรื่อยเปื่อยอย่างนั้น คือเราจนอยู่แล้วมันก็น่าจะไม่รอดอยู่แล้ว เรายังไปเกเรด้วย แล้วจะเหลืออะไร ขนาดบางทีรวยแล้วตั้งใจ ยังเจ๊งได้เลย เพราะฉะนั้น ชีวิตคือสิ่งสำคัญ คือต้องตั้งใจ ใช้อย่างมีคุณค่า ชีวิตคล้ายๆ เงิน แต่ชีวิตหาใหม่ไม่ได้ เราใช้จ่ายเงินที่เราหามาได้จำนวนหนึ่ง เราจ่ายเยอะจ่ายน้อยมันมีเหลือและหาใหม่ได้ แต่ชีวิตหาใหม่ไม่ได้ เราตายไปทุกวันครับ ผมก็เลยต้องตั้งใจ

"ชีวิตผมยากมาตลอด ถ้าถามว่าแล้วเราต้องสู้กับมันอย่างไร เราทำอย่างไรไม่ให้จมไปกับมัน ผมจะคิดและหาวิธีแก้ตลอด บางคนก็บอกผมดูเป็นคนคิดมาก แต่ผมคิดมากในเรื่องที่ควรคิด ผมจะไม่คิดมากในเรื่องที่ไม่ควรคิดเลย ตัวอย่างเช่น คนที่มีปัญหาแล้วต้องการแก้ปัญหา ผมจะไม่เดินเข้าไปบอกเขาว่า เฮ้ย...คิดมากทำไม เพราะมันถึงเวลาที่เขาต้องคิดแล้ว"

จากชีวิตนอกตำราที่ดำเนินและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วยตัวเองจนประสบความสำเร็จ อาจจะเผลอทำให้คิดไปว่า “เรื่องเรียน” ไม่ใช่หลักใหญ่ใจความสำคัญ ตรงกันข้ามหากต้องการที่จะประสบความสำเร็จ

"การเรียนคือสิ่งสำคัญ แต่ทุกวันนี้เรายังเรียนผิดไปหน่อย เช่นเราเรียนนิเทศฯ มาแล้วไปขายเสื้อผ้า เราเรียนออกแบบเพื่อไปขายก๋วยเตี๋ยว ที่มันไม่ตรงกัน คือจริงๆ เราควรจะรู้ว่าเราจะเรียนอะไรแล้วไปทำสิ่งนั้น คุณจะไปขายเสื้อผ้า คุณไปเรียนธุรกิจ คุณไปเรียนแฟชั่น คุณจะทำอาหารคุณไปเรียนทำอาหาร ทุกวันนี้การเรียนของคนไทย ทำไมไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเราสักแต่ว่าเรียน อย่างเพื่อนผมบอกเลยว่าเรียนให้พ่อให้แม่หรือเรียนเอาใบปริญญา แต่สำหรับผมไม่ใช่ ทุกอย่างคือต้นทุน ผมไม่ได้มีต้นทุนชีวิตเหมือนคุณ ผมก็เลยคิดว่าการเรียนจริงๆ คือสิ่งสำคัญ แต่ต้องเรียน ในสิ่งที่เราควรจะรู้ เรียนให้ตรง

"และอย่ามองว่าอาชีพไหนทำแล้วรวย ทุกอาชีพสามารถรวยได้เหมือนกันหมด อย่างคนขายหนังสือพิมพ์คนนี้ ขายได้วันละแค่นี้ แล้วเจ้าของไทยรัฐ เดลินิวส์ คมชัดลึกล่ะ เขาก็คนขายหนังสือพิมพ์ คนขายน้ำชา ร้านชากาแฟ คือคนขายของชนิดเดียวกันทำไมมันรวยต่างกันขนาดนั้น คนทุกคน ทุกอาชีพรวยได้เหมือนกันหมด แต่เราต้องทำในสิ่งที่เรารักและเข้าใจ พร้อมที่จะตายไปกับมัน ทำไมผมถึงบอกว่าพร้อมที่จะตายไปกับมัน ก็คือเราไม่รู้เราจะตายเมื่อไหร่ เราจะเสียเวลากับสิ่งที่เราไม่ได้อยากอยู่กับมันทำไม เพราะพรุ่งนี้ เราอาจจะตายก็ได้ ถ้าพรุ่งนี้จะตายแล้วไปเที่ยวไม่ดีหรือ ถ้าเกิดจะอยู่กับงานที่เราไม่รัก ก็ไปเที่ยวไปเล่นกินเหล้ากับเพื่อนดีกว่า

"เคยมีคนบอกไว้ว่ายากตรงไหน ในเมื่อโลกตอนนี้ คนธรรมดาคนจนอยู่สบายยิ่งกว่าฮ่องเต้ในสมัยก่อน เขาพูดมาปุ๊บ ผมคิดเลย เรามีรถเมล์ให้นั่งสบายกว่าฮ่องเต้ที่ต้องนั่งเกี้ยวเข้าป่า ถูกเสือลาก ถูกโจรฆ่า ผมว่าจริงนะ เพราะฉะนั้น อย่าบอกว่าเราทำไม่ได้หรือไม่พร้อม ต้องบอกว่าเรายังพยายามไม่มากพอ"







เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร

กำลังโหลดความคิดเห็น