ศาล ปค. สูงสุด ไฟเขียว กม. สิทธิการตาย ชี้เป็นสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายที่บุคคลมีสิทธิเลือก ขณะที่กระบวนการออกชอบด้วยกฎหมาย เนื้อหาไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี หรือทำให้หมอทิ้งคนไข้ ไม่รักษา ระบุแม้คนไข้มีหนังสือแสดงเจตนา แต่หากหมอกระทำไม่ชอบก็ต้องรับผิด
ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล ยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข ต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ. 2553 โดยศาลเห็นว่า กระบวนการออกกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นไปตามหลักการและวิธีการที่รัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 57 และกฎหมายบัญญัติไว้แล้วโดยก่อนออกกฎกระทรวง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องนี้ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีการจัดสัมมนา เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ จึงแสดงให้เห็นว่ารัฐได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างทั่วถึง
ส่วนเนื้อหาสาระของกฎกระทรวงดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า สิ่งที่ยืนยันความเป็นมนุษย์ คือ เสรีภาพอันมิอาจก้าวล่วงได้ แต่เสรีภาพย่อมถูกจำกัดเมื่อล่วงล้ำเสรีภาพของบุคคลอื่นภายใต้การรับรองของรัฐธรรมนูญ เสรีภาพจึงเป็นการกระทำโดยอิสระของบุคคลที่มิได้อยู่ภายใต้บังคับของบุคคลอื่น สำหรับสิทธินั้นเป็นเครื่องยืนยันถึงเสรีภาพดังกล่าวของบุคคล ทำให้มีสภาพบังคับต่อบุคคลภายนอก สิทธิ และเสรีภาพ จึงเป็นสิ่งเดียวกันที่มิอาจแยกจากกันได้ ส่วนที่บุคคลใดเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ หรือเลือกที่จะไม่มีชีวิตนั้นย่อมเห็นได้ชัดว่าเป็นเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย แต่การที่บุคคลแสดงเจตนาในการไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้าย ของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย ซึ่งมีผลทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องเคารพการตัดสินใจดังกล่าวนั้น การดังกล่าวย่อมเรียกว่าสิทธิของบุคคล ทั้งสิทธิดังกล่าวมิใช่สิทธิที่จะเลือกไม่มีชีวิตอยู่ แต่เป็นสิทธิในการเลือกที่จะปฏิเสธการรักษาพยาบาลเพื่อที่จะได้ตายโดยธรรมชาติ หากพิจารณาหลักเกณฑ์ของกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว การที่ให้บุคคลทำหนังสือแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า ว่า ไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตนหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย เป็นการยื่นความประสงค์ไว้ล่วงหน้าเพื่อประกาศให้สาธารณชนทราบความประสงค์ของตนว่าจะใช้สิทธิเช่นใด จึงไม่ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
อีกทั้งเมื่อพิจารณาถ้อยคำตามกฎกระทรวงดังกล่าว ก็ไม่ใช่การปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตลงโดยงดเว้นไม่ให้การรักษา หรือการใช้ยา และเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเพื่อยุติชีวิต ถึงแม้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาประสงค์จะให้ใช้วิธีการปล่อยให้ผู้คนเสียชีวิตลงโดยงดเว้นไม่ให้การรักษาหรือการใช้ยา และเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเพื่อยุติชีวิตก็หาต้องตามกฎกระทรวงดังกล่าวไม่ และไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ประกาศใด หากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขกระทำตามหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องถือว่ากระทำความผิดและไม่พ้นจากความรับผิดทั้งปวง นอกจากนี้การปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าวมิได้เป็นการทอดทิ้งผู้ที่พึ่งตนเองไม่ได้ เนื่องจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมยังคงมีหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคอง ดังนั้น การออกกฎกระทรวงดังกล่าว จึงไม่ได้เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และองค์ประกอบอันมีความหมายในการปล่อยให้ผู้ที่ทำหนังสือแสดงเจตนาเสียชีวิตลงโดยงดเว้นไม่ให้การรักษา หรือ การใช้ยา เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเพื่อยุติชีวิต แต่เป็นการรักษาอย่างประคับประคองเพื่อให้ผู้ที่ทำหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าวตายอย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อมิให้ยื้อความตายอย่างสิ้นหวัง หรืออทำให้ผู้นั้นต้องทรมานจากการเจ็บป่วยอยู่ตลอดเวลาทั้งๆ ที่ หากไม่มีบริหารสาธารณะที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจาการเจ็บป่วยแล้วผู้นั้นควรจะตายอย่างธรรมชาติแล้ว จึงวินิจฉัยว่าเนื้อหาสาระของกฎกระทรวงดังกล่าวไม่ปรากฎว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 50 หรือกฎหมายแต่อย่างใด