คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ
1.ศาลฎีกาฯ สอบคำให้การคดีละเลยทุจริตจำนำข้าว ด้าน “ยิ่งลักษณ์” ปฏิเสธ-ขอสู้คดี ศาลตีราคาประกัน 30 ล้าน-ห้ามออกนอกประเทศ!
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดพิจารณาคดีครั้งแรกและสอบคำให้การคดีที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาศาลพร้อมด้วยนายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามี และทีมทนาย โดยมีแกนนำพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีและอดีต ส.ส.ของพรรคเดินทางมาให้กำลังใจ นอกจากนี้ยังมีประชาชนบางส่วนมารอให้กำลังใจด้วย โดยมีตำรวจนครบาล 500 นาย มาคอยรักษาความปลอดภัยบริเวณโดยรอบศาล ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวหลังเดินทางถึงศาลว่า “วันนี้เตรียมตัวมาอย่างดี มั่นใจและพร้อมต่อสู้ไปตามกระบวนการ และขอยืนยันในความบริสุทธิ์ คาดว่าจะได้รับความยุติธรรมจากศาล”
ต่อมา องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีการวม 9 คน ได้ออกนั่งบัลลังก์เพื่อสอบคำให้การจำเลย ซึ่งศาลได้อ่านคำฟ้องให้จำเลยฟัง โดยสรุปว่า ระหว่างเดือน ส.ค.2554-พ.ค.2557 จำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน และเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) จำเลยเป็นนายกรัฐมนตรีดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกรวม 5 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการรับจำนำข้าวนาปี ระหว่างปี 2554-2555 2.โครงการรับจำนำข้าวนาปรัง ปี 2555 3.โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555-2556 (ครั้งที่ 1) 5.โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556-2557
ทั้งนี้ ระหว่างการดำเนินการตามนโยบายโครงการรับจำนำข้าว มีข้อทักท้วงจากหลายหน่วยงาน เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และพรรคฝ่ายค้านว่า โครงการมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งด้านคุณภาพข้าว การบิดเบือนราคาตลาดและอื่นๆ จำนวนมาก จำเลยและคณะรัฐมนตรี(ครม.) จะต้องมีความระมัดระวัง รอบคอบ ทุ่มเทเอาใจใส่ในการกำหนดหลักเกณฑ์ให้สมเหตุสมผล และมีมาตรการป้องกันความเสียหายด้านเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ แต่จำเลยกลับร่วมลงมติกับ ครม.โดยงดเว้นมาตรการป้องกัน ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายให้หมดสิ้นไปหรือปรับแก้ไขหลักเกณฑ์ในโครงการรับจำนำข้าว ก่อให้เกิดความเสียหายที่ประเมินเป็นตัวเลขได้และประเมินตัวเลขไม่ได้ โดยโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2,000-20,000 บาท และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 มีโทษจำคุก 1-10 ปี และปรับ 2,000-20,000 บาท
จากนั้น นายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา ในฐานะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ได้สอบถามจำเลยว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบศาลด้วยสีหน้าเรียบเฉยว่าปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี พร้อมแถลงขอยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรฉบับสมบูรณ์ไม่เกินวันที่ 3 ก.ค. หลังจากนั้นศาลได้สอบถามโจทก์และจำเลยว่า จะนำพยานบุคคลเข้าไต่สวนในคดีนี้กี่ปาก นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานอัยการโจทก์ แถลงว่า มีพยานบุคคลจะเข้าไต่สวนจำนวน 13 ปาก ขณะที่นายเอนก คำชุ่ม ทนายความจำเลย แถลงขอนำพยานเข้าไต่สวนไม่ต่ำกว่า 20 ปาก พร้อมบอกว่า พยานบางส่วนอยู่ในสำนวนของ ป.ป.ช. แต่บางส่วนอยู่นอกสำนวน
ด้านศาลพิเคราะห์แล้ว อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การฉบับสมบูรณ์ต่อศาลภายในวันที่ 3 ก.ค. พร้อมนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 21 และ 28 ก.ค. เวลา 09.30 น. ส่วนที่จำเลยร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังนั้น ศาลเห็นว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องมาศาลตามนัดทุกครั้ง หากจำเลยไม่สามารถมาศาลในนัดใด ให้จำเลยยื่นคำร้องแสดงเหตุจำเป็นต่อศาลพิจารณาเป็นครั้งคราวไป
ทั้งนี้ ศาลได้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยตีราคาประกัน 30 ล้านบาท ซึ่งผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตอนแรก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เตรียมหลักทรัพย์ไว้ประกันตัวจำนวน 5 ล้านบาท เพราะประเมินว่าคดีมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี การประกันตัวจึงไม่น่าจะใช้วงเงินเกินกว่าที่เตรียมมา แต่มาทราบจากทางศาลว่าต้อง 30 ล้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์และทีมทนายจึงรีบหาเงินเพิ่ม โดยใช้เวลาดำเนินการประมาณ 40 นาที พร้อมกันนี้ ศาลได้กำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
ด้านนายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา 1 ในองค์คณะผู้พิพากษาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เผยว่า การพิจารณาหลักทรัพย์ในการปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจะพิจารณาจากอัตราโทษในแต่ละคดีและมูลค่าความเสียหายในคดีเป็นหลัก ซึ่งกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ 30 ล้านบาท เป็นการตีราคาวงเงินประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวที่สูงที่สุด เนื่องจากมูลค่าความเสียหายในคดีสูงถึง 5 แสนล้านบาท
2.คสช.-ครม. ไฟเขียวแก้ รธน.ชั่วคราว 2557 ปลดล็อกเวลา-เปิดทางทำประชามติ คาดเลือกตั้ง ส.ค.ปีหน้า!
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้เป็นประธานการประชุมร่วมระหว่าง คสช.กับคณะรัฐมนตรี(ครม.) หลังประชุม พล.อ.ประยุทธ์ แถลงว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อรองรับการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “ถ้าสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องทำประชามติ หน้าที่ของเราคือทำกฎหมายให้สามารถทำได้” พล.อ.ประยุทธ์ เผยด้วยว่า คสช.จะไม่ส่งข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะส่งในนาม ครม.เท่านั้น เพื่อไม่ให้ คสช.ถูกมองว่าชี้นำการร่างรัฐธรรมนูญ
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมร่วม คสช.-ครม.มีมติเอกฉันท์เห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 โดยใช้อำนาจตามมาตรา 46 ไปแก้ไขมาตรา 36 และ 38 ที่ล็อกเรื่องเวลาเอาไว้ เพื่อเปิดทางให้ลงประชามติได้ในอนาคต ไม่เป็นอุปสรรค และจัดให้ลงประชามติได้โดยเร็ว โดย ครม.และ คสช.จะร่วมกันเป็นผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญภายในเดือน มิ.ย. จากนั้น สปช. จะใช้เวลาพิจารณาภายใน 15 วัน แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธย เพื่อประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
นายวิษณุ เผยด้วยว่า “ในร่างแก้ไขจะระบุไว้ว่า ให้ใครเป็นผู้ตัดสินใจอีกครั้งว่า จะทำประชามติหรือไม่ ซึ่งคนที่ตัดสินใจจะทำ อาจเป็นได้ทั้ง ครม.หรือ สปช.หรือองค์ใดก็ได้ แต่เร็วเกินไปที่จะพูดวันนี้ เพราะต้องรอดูการลงมติของ สปช.ในวันที่ 6 ส.ค.ก่อน ถ้า สปช.เห็นชอบ ก็มีกลไกรองรับให้ทำประชามติ ก็ทำได้อยู่แล้ว หากทำประชามติ จะให้ กกต.เป็นผู้จัดการเรื่องลงประชามติ”
นายวิษณุ ยังคาดด้วยว่า การทำประชามติน่าจะเกิดขึ้นภายในเดือน ม.ค.2559 หากผ่านการทำประชามติ ก็จะมีการทูลเกล้าฯ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญต่อไป หลังจากนั้น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 3 ฉบับ ซึ่งน่าจะใช้เวลา 1 เดือน ก่อนส่งให้ สนช.พิจารณา โดยใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน เมื่อ สนช.เห็นชอบก็ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีก 1 เดือน แล้วจึงสามารถทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้กฎหมายลูกในการจัดการเลือกตั้งได้ โดยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดไว้ว่า ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 3 เดือน หลังมีการประกาศใช้กฎหมายลูก รวมระยะเวลา 7 เดือน นั่นหมายความว่า น่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งได้ประมาณเดือน ส.ค.2559
3.สนช. ผ่านวาระ 3 ร่าง กม.ภาษีมรดกแล้ว หลัง กมธ.ปรับแก้เพิ่มมูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษีจาก 50 ล้าน เป็น 100 ล้าน!
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกในวาระ 2 และ 3 ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ทั้งนี้ กมธ. วิสามัญฯ ได้มีการปรับแก้สาระสำคัญจากร่างเดิมของรัฐบาลในมาตรา 12 และ 16 ซึ่งเดิมรัฐบาลเสนอให้ผู้รับมรดกมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเสียภาษีร้อยละ 10 แต่ถ้าผู้ได้รับมรดกเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานให้เสียภาษีร้อยละ 5 แต่ กมธ.วิสามัญฯ ปรับแก้จาก 50 ล้านบาทขึ้นไป เป็น 100 ล้านบาทขึ้นไป จึงจะเสียภาษีร้อยละ 10
ทั้งนี้ เดิมมี กมธ. เสียงข้างน้อย 7 คนที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีมรดกที่เกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป ประกอบด้วย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ , พล.ท.ชาตอุดม ติตถะสิริ , นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล , นายประสงค์ พูนธเนศ , น.ส.จารุวรรณ เฮงตระกูล และนายชุมพร เสนไสย โดยยืนยันจะสงวนคำแปรญัตติ แต่พอได้ฟังนายสมหมาย ชี้แจงว่า ครม. ยอมให้มีการเก็บมรดกจากทรัพย์สินที่มูลค่าเกิน 100ล้านบาทแล้ว ไม่ใช่ 50 ล้านบาท ทำให้ กมธ.วิสามัญฯ เสียงข้างน้อย ขอถอนคำสงวนแปรญัตติ รวมทั้งไม่มี สนช. คนใดติดใจหรือคัดค้านประเด็นนี้อีก จากนั้นได้พิจารณาผ่านมาตราดังกล่าวไปอย่างรวดเร็ว โดยมีมติเห็นด้วยกับ กมธ. เสียงข้างมาก ที่เปลี่ยนแปลงให้จัดเก็บภาษีมรดกตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป ด้วยคะแนน 148 เสียง ต่อ 6 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง
นอกจากนี้ สนช. ยังมีการเสนอให้ทรัพย์สินบางประเภท ไม่ต้องจัดเก็บภาษีมรดก เช่น ไม่ให้จัดเก็บภาษีมรดกจากอาคาร เคหสถานหรือบ้านที่มีความงาม มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมหรือประวัติศาสตร์ พื้นที่การเกษตรไม่เกิน 25 ไร่ รวมทั้งที่ดินเกษตรกรรมที่ได้รับตกทอดจากบุพการี ที่อยู่อาศัยที่ไม่เกิน 200 ตารางวา ที่ได้รับจากบิดามารดา แต่ กมธ.วิสามัญฯ ไม่เห็นด้วย และยืนยันว่าทรัพย์สินที่ไม่ควรจัดเก็บภาษีมรดก ต้องเกี่ยวข้องกับการศาสนา การศึกษา และสาธารณประโยชน์เท่านั้น
ด้าน พล.อ.อ.ชนะ อยู่สถาพร กมธ. เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า สาเหตุที่เปลี่ยนการเก็บภาษีมรดกจากทรัพย์สิน 50 ล้านบาทขึ้นไปเป็น 100 ล้านบาท เนื่องจากเกรงจะกระทบต่อประชาชนที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว และธุรกิจที่กำลังจะเติบโต หากส่งมอบให้ลูกหลานจะขาดช่วงได้ จึงเห็นว่าการเก็บภาษีตั้งแต่ 100 ล้านบาท ไม่กระทบคนยากไร้แน่นอน ส่วนข้อกังวลเรื่องที่ดินการเกษตร หรือที่พักอาศัย ที่ไม่ควรจัดเก็บนั้น ยืนยันว่า หากบุคคลใดมีทรัพย์สินเกิน 100 ล้านบาท ก็เป็นคนรวยหรือนายทุนแน่นอน ไม่ใช่เกษตรกร อีกทั้งไม่มีใครไปทำนาในพื้นที่ 25 ไร่ในพื้นที่ราชประสงค์แน่นอน ที่จะทำให้ราคาเกิน 100 ล้านบาท นอกจากนี้ยังแก้ปัญหาพวกนักค้าเก็งกำไรที่ดินได้อีกด้วย จากนั้นที่ประชุม สนช. ได้พิจารณาเรียงลำดับรายมาตราจนจบร่างทั้งหมดจำนวน 38 มาตรา ก่อนที่ประชุมจะเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนน 145 ต่อ 5 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง
ทั้งนี้ มรดกที่ต้องเสียภาษีมี 5 ประเภท ได้แก่ 1. อสังหาริมทรัพย์ 2. หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 3. เงินฝาก หรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ 4. ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน และ 5. ทรัพย์ทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้น โดยกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 180 วัน
เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ใดไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และผู้ใดทำลาย ย้าย ซ้อนเร้นทรัพย์สินมรดกไปให้ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 4 แสนบาท ผู้ใดจงใจยื่นข้อความเท็จ หรือใช้กลอุบาย พยายามฉ้อโกง หลีกเลี่ยงการเสียภาษี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือ ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ฯลฯ
4.กสทช.มีมติ 6 ต่อ 0 ไม่เลื่อนเวลาจ่ายค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอลงวด 2 เตือนรายใดไม่จ่ายภายใน 25 พ.ค.นี้ โดนปรับร้อยละ 7.5 !
เมื่อวันที่ 20 พ.ค. นายวีรพล ปานะบุตร รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ได้ทำหนังสือถึงนายฐากร ตันฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการเลื่อนกำหนดเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ซึ่งจะครบกำหนดจ่ายในวันที่ 24 พ.ค. นี้ และผู้ชนะการประมูลได้ยื่นข้อร้องเรียน เพื่อขอให้ กสทช. เลื่อนเวลาการจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าว ออกไปอีก 1 ปี โดยอ้างว่าอุตสาหกรรมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลไม่เติบโตตามที่คาดหมาย
ทั้งนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 ข้อ 10 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การแยกชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ในงวดต่างๆ ไว้แบบตายตัว ไม่ได้เปิดช่องให้ กสทช. สามารถใช้ดุลพินิจเลื่อนเวลาการจ่ายในงวดใดๆ ได้ ประกอบกับประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 80/2557 ลงวันที่ 9 ก.ค. 2557 ให้เงินที่ได้จากการประมูลเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว นำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน แทนการนำส่งเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นกองทุนในสำนักงาน กสทช. เอง ตามบทบัญญัติเดิม
นอกจากนี้ กำหนดการชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ยังเป็นไปตามประกาศ กสทช. ซึ่งเป็นกฎหมายอนุบัญญัติของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ไม่ใช่เป็นนิติกรรมในทางแพ่งที่คู่สัญญาอาจตกลงกันเลื่อนกำหนดระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียม หรือนำมาตรา 205 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับได้ กสทช. จึงไม่อาจเลื่อนกำหนดเวลาการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 2 ให้แก่ผู้ชนะการประมูลได้ นอกจากจะแก้ไขประกาศ กสทช. ให้สามารถเลื่อนได้ หรือออกประกาศ กสทช. ฉบับใหม่ เพื่อผ่อนผันการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต
อย่างไรก็ตาม หนังสือของอัยการสูงสุด ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่การประมูลได้เสร็จสิ้นไปแล้ว การแก้ไขหรือออกประกาศฉบับใหม่ดังกล่าว จะมีผลเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนบางรายหรือไม่ รวมทั้งจะเป็นการทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบแก่ผู้เข้าประมูลหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาที่ กสทช. ควรพิจารณาด้วยความรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจมีปัญหาข้อกฎหมายว่าการออกประกาศให้มีผลย้อนหลังไปถึงการประมูลที่เสร็จสิ้นไปแล้วจะสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ควรหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ชัดเจนก่อน
ทั้งนี้ หลัง กสทช.ได้รับหนังสือตอบกลับจากสำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ซึ่งให้ข้อแนะนำในทางเดียวกัน คือไม่สามารถเลื่อนเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวีดิจิตอลงวดที่ 2 ได้ บอร์ด กสทช.จึงได้ประชุมหาข้อสรุปในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 22 พ.ค. โดยมีมติ 6 ต่อ 0 เห็นชอบตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดและ สตง. ไม่ให้เลื่อนเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวีดิจิตอลงวดที่ 2 และให้ผู้ประกอบการทั้ง 24 ราย ชำระเงินภายในวันที่ 25 พ.ค.นี้ หากไม่มาชำระ ต้องเสียค่าปรับร้อยละ 7.5 ต่อปี
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เผยว่า จนถึงวันที่ 22 พ.ค. มีผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจ่ายค่าประมูลทีวิดิจิตอลงวดที่ 2 แล้วจำนวน 16 ช่องจากทั้งหมด 24 ช่อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,647.375 ล้านบาท โดย กสทช.จะนำเงินที่ได้รับมานำส่งเป็นรายได้แผ่นดินให้แก่ทางกระทรวงการคลังต่อไป
มีรายงานว่า ทีวีดิจิตอล 8 ช่องที่ยังไม่ได้จ่ายค่างวดที่ 2 แก่ กสทช. ประกอบด้วย ช่องไทยรัฐทีวี , ช่อง 8 , นิวส์ทีวี , สปริงนิวส์ , วอยซ์ทีวี , ไบร์ททีวี , ไทยทีวี , และช่องโลก้า ซึ่งคาดว่าอาจมาจ่ายในวันที่ 25 พ.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ กสทช.กำหนด
5.ตำรวจ รวบตัว “กิตติศักดิ์” ตัวการใหญ่ยักยอกทรัพย์ สจล. 1,600 ล้าน คาสนามบินสุวรรณภูมิ หลังบินจากอังกฤษกลับไทย!
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยตำรวจหลายหน่วยที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ต.อ.กรไชย คล้ายคลึง รองผู้บังคับการกองปราบปราม และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ ผู้กำกับการฝ่ายตำรวจสากลและประสานงานภูมิภาค 1 กองการต่างประเทศ และตำรวจสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้นำกำลังเข้าจับกุมนายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาข้อหาปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม , ร่วมกันลักทรัพย์ , ร่วมกันฟอกเงิน ซึ่งเป็นผู้ต้องหารายสำคัญในคดียักยอกเงินสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) 1,600 ล้านบาท หลังสืบทราบว่านายกิตติศักดิ์ ซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนีกำลังเดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยจับกุมได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ
สำหรับการจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจาก พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร. และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ ผกก.ฝ่ายตำรวจสากลและประสานงานภูมิภาค 1 กองการต่างประเทศ เดินทางไปประสานข้อมูลกับทางตำรวจอังกฤษ หลังสืบทราบว่านายกิตติศักดิ์ หลบหนีไปกบดานที่ประเทศอังกฤษ จึงขอให้ทางตำรวจอังกฤษช่วยแจ้งเบาะแส กระทั่งทางตำรวจอังกฤษ ได้ประสานข้อมูลมาว่า นายกิตติศักดิ์จะเดินทางจากกรุงลอนดอนเข้ามาประเทศไทย ด้วยสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 911 ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเวลา 05.45 น. ของวันที่ 22 พ.ค. เจ้าหน้าที่จึงได้นำกำลังเข้าจับกุม ก่อนนำตัวไปสอบสวนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ซึ่งต่อมา พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงผลการจับกุมนายกิตติศักดิ์ โดยนายกิตติศักดิ์ ยอมรับว่า ตนเป็นบุคคลตามหมายจับจริง พร้อมอ้างว่า รู้สึกไม่สบายใจที่ครอบครัวถูกจับกุม จึงหนีไปตั้งหลัก ก่อนกลับมาสู้คดี เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ นายกิตติศักดิ์ ยังยอมรับด้วยว่า รู้จักนายทรงกลด ศรีประสงค์ อดีตผู้จัดการธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาห้างบิ๊กซี ศรีนครินทร์ และเป็นอดีตผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมก่อนหน้านี้ โดยนายทรงกลดได้โอนเงินให้ตนครั้งละ 200-300 ล้านบาท จำนวนหลายครั้ง ตลอดระยะเวลา 3 ปี เพื่อนำไปลงทุน และเล่นการพนันฟุตบอลต่างประเทศ รวมทั้งโอนไปให้ครอบครัวตน โดยตนไม่รู้มาก่อนว่าเงินดังกล่าว เป็นเงินที่ยักยอกมาจาก สจล.
ด้าน พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า การจับกุมนายกิตติศักดิ์ครั้งนี้ ไม่ใช่การมอบตัว แต่เป็นการเข้าจับกุม โดยก่อนหน้านี้ได้ส่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ และ พ.ต.อ.กฤษณะ ไปประเทศอังกฤษ ประสานความร่วมมือกับตำรวจอังกฤษ กดดันนายกิตติศักดิ์ จนเดินทางกลับประเทศไทย และว่า จากการตรวจสอบพบนายทรงกลดโอนเงินให้นายกิตติศักดิ์กว่าพันล้าน โดยมีพยานหลักฐานเกี่ยวกับการทำธุรกรรมการเงินชัดเจน พล.ต.อ.สมยศ ยังกล่าวด้วยว่า ไม่เชื่อคำให้การของนายกิตติศักดิ์ โดยเชื่อว่านายกิตติศักดิ์มีการเตรียมตัว ปรึกษากับนักกฎหมายมาเป็นอย่างดี และว่า หลังจากนี้จะส่งตัวนายกิตติศักดิ์ให้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามสอบปากคำต่อ ก่อนขออำนาจศาลฝากขังพร้อมคัดค้านการประกันตัว
ทั้งนี้ บันทึกการจับกุมของตำรวจกองปราบฯ ระบุว่า คดีนี้ สจล. ได้เข้าร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับนายทรงกลด ศรีประสงค์ และ น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ รวมทั้งกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันลักทรัพย์และใช้เอกสารสิทธิปลอม ร่วมกันฟอกเงินต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม และได้มีการขออนุมัติหมายจับจากศาลอาญาเพื่อจับกุมผู้กระทำผิดจำนวน 10 คน โดยสามารถจับกุมได้แล้ว 7 คน และหลบหนี 3 คน นายกิตติศักดิ์เป็นรายที่ 8 ที่จับกุมได้ ส่วนผู้ที่ยังหลบหนีอีก 2 คน คือ นายสมพงษ์ สหพรอุดมการ และนายธวัชชัย ยิ้มเจริญ ซึ่งตำรวจคาดว่ายังหลบหนีอยู่ในประเทศบริเวณชายแดน
6.ศาลฎีกา พิพากษายืนยกฟ้อง “สนธิ-อดีตแกนนำพันธมิตรฯ” คดี “ทักษิณ” ฟ้องหมิ่นออกแถลงการณ์ “กลียุคมาแล้ว” !
เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ศาลฎีกาได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้ทนายความเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพวก ประกอบด้วย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายพิภพ ธงไชย, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสุริยะใส กตะศิลา, และบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา กรณีออกแถลงการณ์พันธมิตรฯ เรื่อง กลียุคมาแล้ว เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2551
คดีนี้ โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2551 จำเลยที่ 1 ถึง 6 ได้ร่วมกันโฆษณาด้วยเอกสารและแถลงการณ์ โดยจำเลยที่ 6 เป็นผู้อ่านเอกสารชื่อว่า แถลงการณ์ฉบับที่ 2/2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่องกลียุคมาแล้ว ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง ส่วนจำเลยที่ 7 เป็นผู้ดำเนินการถ่ายทอดออกอากาศโฆษณาแถลงการณ์ดังกล่าวทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี ช่องนิวส์วัน ให้ประชาชนทราบ สาระสำคัญของแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวมุ่งหมายใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากประชาชนทั่วไป
โดยปรากฏในแถลงการณ์ตอนหนึ่งว่า “...มีการดำเนินการโยกย้ายข้าราชการอย่างอุกอาจสำคัญๆ เช่น เลขาธิการองค์การอาหารและยา (อย.) และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อย่างไร้เหตุผล กระทำการโยกย้ายใช้อำนาจแบบเผด็จการทุนนิยมสามานย์อย่างโจ่งแจ้ง ดังที่เคยปรากฏมาแล้วเหมือนในอดีตในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่คุมอำนาจตัดสินใจสั่งการแต่เพียงผู้เดียว ทำลายระบบคุณธรรม ก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงในการบริหาร สั่งราชการ และการตัดสินใจในการดำเนินการใดๆ ขึ้นอยู่กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรแต่เพียงผู้เดียว...”
ซึ่งคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์คดี ขณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2556 โดยเห็นว่า โจทก์เป็นบุคคลสาธารณะ จึงเป็นวิสัยของประชาชนที่จะติชมด้วยความเป็นธรรมได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่ามีการดำเนินการโยกย้ายข้าราชการอย่างไร้เหตุผล และโจทก์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศหลายสำนัก โดยกล่าววิพากษ์วิจารณ์ถึงกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ตลอดจนมีการพาดพิงไปถึงสถาบันสำคัญของประเทศว่าเป็นตัวการสำคัญอยู่เบื้องหลัง การที่จำเลยที่ 1 ถึง 6 ออกแถลงการณ์ดังกล่าว เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ แม้จะใช้คำเกินเลยไปบ้าง ก็ยังอยู่ในวิสัยปกติธรรมดาของการแสดงความคิดเห็น การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึง 6 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) และจำเลยที่ 7 ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
ต่อมาโจทก์ยื่นฎีกา ทั้งนี้ ศาลฎีกามีความเห็นว่า แถลงการณ์ดังกล่าวของพันธมิตรฯ เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1), (3) เพื่อไม่ให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลุแก่อำนาจ ทบทวนสิ่งที่ทำไปโดยไม่ควร ยับยั้งที่จะทำสิ่งไม่ถูกต้อง และคำนึงถึงคุณธรรมในการปกครองประเทศเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ จำเลยที่ 1 ถึง 6 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ส่วนจำเลยที่ 7 ก็ย่อมไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
1.ศาลฎีกาฯ สอบคำให้การคดีละเลยทุจริตจำนำข้าว ด้าน “ยิ่งลักษณ์” ปฏิเสธ-ขอสู้คดี ศาลตีราคาประกัน 30 ล้าน-ห้ามออกนอกประเทศ!
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดพิจารณาคดีครั้งแรกและสอบคำให้การคดีที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาศาลพร้อมด้วยนายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามี และทีมทนาย โดยมีแกนนำพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีและอดีต ส.ส.ของพรรคเดินทางมาให้กำลังใจ นอกจากนี้ยังมีประชาชนบางส่วนมารอให้กำลังใจด้วย โดยมีตำรวจนครบาล 500 นาย มาคอยรักษาความปลอดภัยบริเวณโดยรอบศาล ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวหลังเดินทางถึงศาลว่า “วันนี้เตรียมตัวมาอย่างดี มั่นใจและพร้อมต่อสู้ไปตามกระบวนการ และขอยืนยันในความบริสุทธิ์ คาดว่าจะได้รับความยุติธรรมจากศาล”
ต่อมา องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีการวม 9 คน ได้ออกนั่งบัลลังก์เพื่อสอบคำให้การจำเลย ซึ่งศาลได้อ่านคำฟ้องให้จำเลยฟัง โดยสรุปว่า ระหว่างเดือน ส.ค.2554-พ.ค.2557 จำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน และเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) จำเลยเป็นนายกรัฐมนตรีดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกรวม 5 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการรับจำนำข้าวนาปี ระหว่างปี 2554-2555 2.โครงการรับจำนำข้าวนาปรัง ปี 2555 3.โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555-2556 (ครั้งที่ 1) 5.โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556-2557
ทั้งนี้ ระหว่างการดำเนินการตามนโยบายโครงการรับจำนำข้าว มีข้อทักท้วงจากหลายหน่วยงาน เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และพรรคฝ่ายค้านว่า โครงการมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งด้านคุณภาพข้าว การบิดเบือนราคาตลาดและอื่นๆ จำนวนมาก จำเลยและคณะรัฐมนตรี(ครม.) จะต้องมีความระมัดระวัง รอบคอบ ทุ่มเทเอาใจใส่ในการกำหนดหลักเกณฑ์ให้สมเหตุสมผล และมีมาตรการป้องกันความเสียหายด้านเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ แต่จำเลยกลับร่วมลงมติกับ ครม.โดยงดเว้นมาตรการป้องกัน ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายให้หมดสิ้นไปหรือปรับแก้ไขหลักเกณฑ์ในโครงการรับจำนำข้าว ก่อให้เกิดความเสียหายที่ประเมินเป็นตัวเลขได้และประเมินตัวเลขไม่ได้ โดยโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2,000-20,000 บาท และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 มีโทษจำคุก 1-10 ปี และปรับ 2,000-20,000 บาท
จากนั้น นายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา ในฐานะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ได้สอบถามจำเลยว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบศาลด้วยสีหน้าเรียบเฉยว่าปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี พร้อมแถลงขอยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรฉบับสมบูรณ์ไม่เกินวันที่ 3 ก.ค. หลังจากนั้นศาลได้สอบถามโจทก์และจำเลยว่า จะนำพยานบุคคลเข้าไต่สวนในคดีนี้กี่ปาก นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานอัยการโจทก์ แถลงว่า มีพยานบุคคลจะเข้าไต่สวนจำนวน 13 ปาก ขณะที่นายเอนก คำชุ่ม ทนายความจำเลย แถลงขอนำพยานเข้าไต่สวนไม่ต่ำกว่า 20 ปาก พร้อมบอกว่า พยานบางส่วนอยู่ในสำนวนของ ป.ป.ช. แต่บางส่วนอยู่นอกสำนวน
ด้านศาลพิเคราะห์แล้ว อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การฉบับสมบูรณ์ต่อศาลภายในวันที่ 3 ก.ค. พร้อมนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 21 และ 28 ก.ค. เวลา 09.30 น. ส่วนที่จำเลยร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังนั้น ศาลเห็นว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องมาศาลตามนัดทุกครั้ง หากจำเลยไม่สามารถมาศาลในนัดใด ให้จำเลยยื่นคำร้องแสดงเหตุจำเป็นต่อศาลพิจารณาเป็นครั้งคราวไป
ทั้งนี้ ศาลได้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยตีราคาประกัน 30 ล้านบาท ซึ่งผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตอนแรก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เตรียมหลักทรัพย์ไว้ประกันตัวจำนวน 5 ล้านบาท เพราะประเมินว่าคดีมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี การประกันตัวจึงไม่น่าจะใช้วงเงินเกินกว่าที่เตรียมมา แต่มาทราบจากทางศาลว่าต้อง 30 ล้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์และทีมทนายจึงรีบหาเงินเพิ่ม โดยใช้เวลาดำเนินการประมาณ 40 นาที พร้อมกันนี้ ศาลได้กำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
ด้านนายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา 1 ในองค์คณะผู้พิพากษาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เผยว่า การพิจารณาหลักทรัพย์ในการปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจะพิจารณาจากอัตราโทษในแต่ละคดีและมูลค่าความเสียหายในคดีเป็นหลัก ซึ่งกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ 30 ล้านบาท เป็นการตีราคาวงเงินประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวที่สูงที่สุด เนื่องจากมูลค่าความเสียหายในคดีสูงถึง 5 แสนล้านบาท
2.คสช.-ครม. ไฟเขียวแก้ รธน.ชั่วคราว 2557 ปลดล็อกเวลา-เปิดทางทำประชามติ คาดเลือกตั้ง ส.ค.ปีหน้า!
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้เป็นประธานการประชุมร่วมระหว่าง คสช.กับคณะรัฐมนตรี(ครม.) หลังประชุม พล.อ.ประยุทธ์ แถลงว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อรองรับการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “ถ้าสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องทำประชามติ หน้าที่ของเราคือทำกฎหมายให้สามารถทำได้” พล.อ.ประยุทธ์ เผยด้วยว่า คสช.จะไม่ส่งข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะส่งในนาม ครม.เท่านั้น เพื่อไม่ให้ คสช.ถูกมองว่าชี้นำการร่างรัฐธรรมนูญ
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมร่วม คสช.-ครม.มีมติเอกฉันท์เห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 โดยใช้อำนาจตามมาตรา 46 ไปแก้ไขมาตรา 36 และ 38 ที่ล็อกเรื่องเวลาเอาไว้ เพื่อเปิดทางให้ลงประชามติได้ในอนาคต ไม่เป็นอุปสรรค และจัดให้ลงประชามติได้โดยเร็ว โดย ครม.และ คสช.จะร่วมกันเป็นผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญภายในเดือน มิ.ย. จากนั้น สปช. จะใช้เวลาพิจารณาภายใน 15 วัน แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธย เพื่อประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
นายวิษณุ เผยด้วยว่า “ในร่างแก้ไขจะระบุไว้ว่า ให้ใครเป็นผู้ตัดสินใจอีกครั้งว่า จะทำประชามติหรือไม่ ซึ่งคนที่ตัดสินใจจะทำ อาจเป็นได้ทั้ง ครม.หรือ สปช.หรือองค์ใดก็ได้ แต่เร็วเกินไปที่จะพูดวันนี้ เพราะต้องรอดูการลงมติของ สปช.ในวันที่ 6 ส.ค.ก่อน ถ้า สปช.เห็นชอบ ก็มีกลไกรองรับให้ทำประชามติ ก็ทำได้อยู่แล้ว หากทำประชามติ จะให้ กกต.เป็นผู้จัดการเรื่องลงประชามติ”
นายวิษณุ ยังคาดด้วยว่า การทำประชามติน่าจะเกิดขึ้นภายในเดือน ม.ค.2559 หากผ่านการทำประชามติ ก็จะมีการทูลเกล้าฯ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญต่อไป หลังจากนั้น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 3 ฉบับ ซึ่งน่าจะใช้เวลา 1 เดือน ก่อนส่งให้ สนช.พิจารณา โดยใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน เมื่อ สนช.เห็นชอบก็ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีก 1 เดือน แล้วจึงสามารถทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้กฎหมายลูกในการจัดการเลือกตั้งได้ โดยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดไว้ว่า ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 3 เดือน หลังมีการประกาศใช้กฎหมายลูก รวมระยะเวลา 7 เดือน นั่นหมายความว่า น่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งได้ประมาณเดือน ส.ค.2559
3.สนช. ผ่านวาระ 3 ร่าง กม.ภาษีมรดกแล้ว หลัง กมธ.ปรับแก้เพิ่มมูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษีจาก 50 ล้าน เป็น 100 ล้าน!
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกในวาระ 2 และ 3 ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ทั้งนี้ กมธ. วิสามัญฯ ได้มีการปรับแก้สาระสำคัญจากร่างเดิมของรัฐบาลในมาตรา 12 และ 16 ซึ่งเดิมรัฐบาลเสนอให้ผู้รับมรดกมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเสียภาษีร้อยละ 10 แต่ถ้าผู้ได้รับมรดกเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานให้เสียภาษีร้อยละ 5 แต่ กมธ.วิสามัญฯ ปรับแก้จาก 50 ล้านบาทขึ้นไป เป็น 100 ล้านบาทขึ้นไป จึงจะเสียภาษีร้อยละ 10
ทั้งนี้ เดิมมี กมธ. เสียงข้างน้อย 7 คนที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีมรดกที่เกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป ประกอบด้วย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ , พล.ท.ชาตอุดม ติตถะสิริ , นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล , นายประสงค์ พูนธเนศ , น.ส.จารุวรรณ เฮงตระกูล และนายชุมพร เสนไสย โดยยืนยันจะสงวนคำแปรญัตติ แต่พอได้ฟังนายสมหมาย ชี้แจงว่า ครม. ยอมให้มีการเก็บมรดกจากทรัพย์สินที่มูลค่าเกิน 100ล้านบาทแล้ว ไม่ใช่ 50 ล้านบาท ทำให้ กมธ.วิสามัญฯ เสียงข้างน้อย ขอถอนคำสงวนแปรญัตติ รวมทั้งไม่มี สนช. คนใดติดใจหรือคัดค้านประเด็นนี้อีก จากนั้นได้พิจารณาผ่านมาตราดังกล่าวไปอย่างรวดเร็ว โดยมีมติเห็นด้วยกับ กมธ. เสียงข้างมาก ที่เปลี่ยนแปลงให้จัดเก็บภาษีมรดกตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป ด้วยคะแนน 148 เสียง ต่อ 6 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง
นอกจากนี้ สนช. ยังมีการเสนอให้ทรัพย์สินบางประเภท ไม่ต้องจัดเก็บภาษีมรดก เช่น ไม่ให้จัดเก็บภาษีมรดกจากอาคาร เคหสถานหรือบ้านที่มีความงาม มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมหรือประวัติศาสตร์ พื้นที่การเกษตรไม่เกิน 25 ไร่ รวมทั้งที่ดินเกษตรกรรมที่ได้รับตกทอดจากบุพการี ที่อยู่อาศัยที่ไม่เกิน 200 ตารางวา ที่ได้รับจากบิดามารดา แต่ กมธ.วิสามัญฯ ไม่เห็นด้วย และยืนยันว่าทรัพย์สินที่ไม่ควรจัดเก็บภาษีมรดก ต้องเกี่ยวข้องกับการศาสนา การศึกษา และสาธารณประโยชน์เท่านั้น
ด้าน พล.อ.อ.ชนะ อยู่สถาพร กมธ. เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า สาเหตุที่เปลี่ยนการเก็บภาษีมรดกจากทรัพย์สิน 50 ล้านบาทขึ้นไปเป็น 100 ล้านบาท เนื่องจากเกรงจะกระทบต่อประชาชนที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว และธุรกิจที่กำลังจะเติบโต หากส่งมอบให้ลูกหลานจะขาดช่วงได้ จึงเห็นว่าการเก็บภาษีตั้งแต่ 100 ล้านบาท ไม่กระทบคนยากไร้แน่นอน ส่วนข้อกังวลเรื่องที่ดินการเกษตร หรือที่พักอาศัย ที่ไม่ควรจัดเก็บนั้น ยืนยันว่า หากบุคคลใดมีทรัพย์สินเกิน 100 ล้านบาท ก็เป็นคนรวยหรือนายทุนแน่นอน ไม่ใช่เกษตรกร อีกทั้งไม่มีใครไปทำนาในพื้นที่ 25 ไร่ในพื้นที่ราชประสงค์แน่นอน ที่จะทำให้ราคาเกิน 100 ล้านบาท นอกจากนี้ยังแก้ปัญหาพวกนักค้าเก็งกำไรที่ดินได้อีกด้วย จากนั้นที่ประชุม สนช. ได้พิจารณาเรียงลำดับรายมาตราจนจบร่างทั้งหมดจำนวน 38 มาตรา ก่อนที่ประชุมจะเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนน 145 ต่อ 5 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง
ทั้งนี้ มรดกที่ต้องเสียภาษีมี 5 ประเภท ได้แก่ 1. อสังหาริมทรัพย์ 2. หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 3. เงินฝาก หรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ 4. ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน และ 5. ทรัพย์ทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้น โดยกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 180 วัน
เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ใดไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และผู้ใดทำลาย ย้าย ซ้อนเร้นทรัพย์สินมรดกไปให้ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 4 แสนบาท ผู้ใดจงใจยื่นข้อความเท็จ หรือใช้กลอุบาย พยายามฉ้อโกง หลีกเลี่ยงการเสียภาษี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือ ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ฯลฯ
4.กสทช.มีมติ 6 ต่อ 0 ไม่เลื่อนเวลาจ่ายค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอลงวด 2 เตือนรายใดไม่จ่ายภายใน 25 พ.ค.นี้ โดนปรับร้อยละ 7.5 !
เมื่อวันที่ 20 พ.ค. นายวีรพล ปานะบุตร รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ได้ทำหนังสือถึงนายฐากร ตันฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการเลื่อนกำหนดเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ซึ่งจะครบกำหนดจ่ายในวันที่ 24 พ.ค. นี้ และผู้ชนะการประมูลได้ยื่นข้อร้องเรียน เพื่อขอให้ กสทช. เลื่อนเวลาการจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าว ออกไปอีก 1 ปี โดยอ้างว่าอุตสาหกรรมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลไม่เติบโตตามที่คาดหมาย
ทั้งนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 ข้อ 10 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การแยกชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ในงวดต่างๆ ไว้แบบตายตัว ไม่ได้เปิดช่องให้ กสทช. สามารถใช้ดุลพินิจเลื่อนเวลาการจ่ายในงวดใดๆ ได้ ประกอบกับประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 80/2557 ลงวันที่ 9 ก.ค. 2557 ให้เงินที่ได้จากการประมูลเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว นำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน แทนการนำส่งเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นกองทุนในสำนักงาน กสทช. เอง ตามบทบัญญัติเดิม
นอกจากนี้ กำหนดการชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ยังเป็นไปตามประกาศ กสทช. ซึ่งเป็นกฎหมายอนุบัญญัติของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ไม่ใช่เป็นนิติกรรมในทางแพ่งที่คู่สัญญาอาจตกลงกันเลื่อนกำหนดระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียม หรือนำมาตรา 205 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับได้ กสทช. จึงไม่อาจเลื่อนกำหนดเวลาการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 2 ให้แก่ผู้ชนะการประมูลได้ นอกจากจะแก้ไขประกาศ กสทช. ให้สามารถเลื่อนได้ หรือออกประกาศ กสทช. ฉบับใหม่ เพื่อผ่อนผันการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต
อย่างไรก็ตาม หนังสือของอัยการสูงสุด ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่การประมูลได้เสร็จสิ้นไปแล้ว การแก้ไขหรือออกประกาศฉบับใหม่ดังกล่าว จะมีผลเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนบางรายหรือไม่ รวมทั้งจะเป็นการทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบแก่ผู้เข้าประมูลหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาที่ กสทช. ควรพิจารณาด้วยความรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจมีปัญหาข้อกฎหมายว่าการออกประกาศให้มีผลย้อนหลังไปถึงการประมูลที่เสร็จสิ้นไปแล้วจะสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ควรหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ชัดเจนก่อน
ทั้งนี้ หลัง กสทช.ได้รับหนังสือตอบกลับจากสำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ซึ่งให้ข้อแนะนำในทางเดียวกัน คือไม่สามารถเลื่อนเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวีดิจิตอลงวดที่ 2 ได้ บอร์ด กสทช.จึงได้ประชุมหาข้อสรุปในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 22 พ.ค. โดยมีมติ 6 ต่อ 0 เห็นชอบตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดและ สตง. ไม่ให้เลื่อนเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวีดิจิตอลงวดที่ 2 และให้ผู้ประกอบการทั้ง 24 ราย ชำระเงินภายในวันที่ 25 พ.ค.นี้ หากไม่มาชำระ ต้องเสียค่าปรับร้อยละ 7.5 ต่อปี
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เผยว่า จนถึงวันที่ 22 พ.ค. มีผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจ่ายค่าประมูลทีวิดิจิตอลงวดที่ 2 แล้วจำนวน 16 ช่องจากทั้งหมด 24 ช่อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,647.375 ล้านบาท โดย กสทช.จะนำเงินที่ได้รับมานำส่งเป็นรายได้แผ่นดินให้แก่ทางกระทรวงการคลังต่อไป
มีรายงานว่า ทีวีดิจิตอล 8 ช่องที่ยังไม่ได้จ่ายค่างวดที่ 2 แก่ กสทช. ประกอบด้วย ช่องไทยรัฐทีวี , ช่อง 8 , นิวส์ทีวี , สปริงนิวส์ , วอยซ์ทีวี , ไบร์ททีวี , ไทยทีวี , และช่องโลก้า ซึ่งคาดว่าอาจมาจ่ายในวันที่ 25 พ.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ กสทช.กำหนด
5.ตำรวจ รวบตัว “กิตติศักดิ์” ตัวการใหญ่ยักยอกทรัพย์ สจล. 1,600 ล้าน คาสนามบินสุวรรณภูมิ หลังบินจากอังกฤษกลับไทย!
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยตำรวจหลายหน่วยที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ต.อ.กรไชย คล้ายคลึง รองผู้บังคับการกองปราบปราม และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ ผู้กำกับการฝ่ายตำรวจสากลและประสานงานภูมิภาค 1 กองการต่างประเทศ และตำรวจสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้นำกำลังเข้าจับกุมนายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาข้อหาปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม , ร่วมกันลักทรัพย์ , ร่วมกันฟอกเงิน ซึ่งเป็นผู้ต้องหารายสำคัญในคดียักยอกเงินสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) 1,600 ล้านบาท หลังสืบทราบว่านายกิตติศักดิ์ ซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนีกำลังเดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยจับกุมได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ
สำหรับการจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจาก พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร. และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ ผกก.ฝ่ายตำรวจสากลและประสานงานภูมิภาค 1 กองการต่างประเทศ เดินทางไปประสานข้อมูลกับทางตำรวจอังกฤษ หลังสืบทราบว่านายกิตติศักดิ์ หลบหนีไปกบดานที่ประเทศอังกฤษ จึงขอให้ทางตำรวจอังกฤษช่วยแจ้งเบาะแส กระทั่งทางตำรวจอังกฤษ ได้ประสานข้อมูลมาว่า นายกิตติศักดิ์จะเดินทางจากกรุงลอนดอนเข้ามาประเทศไทย ด้วยสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 911 ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเวลา 05.45 น. ของวันที่ 22 พ.ค. เจ้าหน้าที่จึงได้นำกำลังเข้าจับกุม ก่อนนำตัวไปสอบสวนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ซึ่งต่อมา พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงผลการจับกุมนายกิตติศักดิ์ โดยนายกิตติศักดิ์ ยอมรับว่า ตนเป็นบุคคลตามหมายจับจริง พร้อมอ้างว่า รู้สึกไม่สบายใจที่ครอบครัวถูกจับกุม จึงหนีไปตั้งหลัก ก่อนกลับมาสู้คดี เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ นายกิตติศักดิ์ ยังยอมรับด้วยว่า รู้จักนายทรงกลด ศรีประสงค์ อดีตผู้จัดการธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาห้างบิ๊กซี ศรีนครินทร์ และเป็นอดีตผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมก่อนหน้านี้ โดยนายทรงกลดได้โอนเงินให้ตนครั้งละ 200-300 ล้านบาท จำนวนหลายครั้ง ตลอดระยะเวลา 3 ปี เพื่อนำไปลงทุน และเล่นการพนันฟุตบอลต่างประเทศ รวมทั้งโอนไปให้ครอบครัวตน โดยตนไม่รู้มาก่อนว่าเงินดังกล่าว เป็นเงินที่ยักยอกมาจาก สจล.
ด้าน พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า การจับกุมนายกิตติศักดิ์ครั้งนี้ ไม่ใช่การมอบตัว แต่เป็นการเข้าจับกุม โดยก่อนหน้านี้ได้ส่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ และ พ.ต.อ.กฤษณะ ไปประเทศอังกฤษ ประสานความร่วมมือกับตำรวจอังกฤษ กดดันนายกิตติศักดิ์ จนเดินทางกลับประเทศไทย และว่า จากการตรวจสอบพบนายทรงกลดโอนเงินให้นายกิตติศักดิ์กว่าพันล้าน โดยมีพยานหลักฐานเกี่ยวกับการทำธุรกรรมการเงินชัดเจน พล.ต.อ.สมยศ ยังกล่าวด้วยว่า ไม่เชื่อคำให้การของนายกิตติศักดิ์ โดยเชื่อว่านายกิตติศักดิ์มีการเตรียมตัว ปรึกษากับนักกฎหมายมาเป็นอย่างดี และว่า หลังจากนี้จะส่งตัวนายกิตติศักดิ์ให้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามสอบปากคำต่อ ก่อนขออำนาจศาลฝากขังพร้อมคัดค้านการประกันตัว
ทั้งนี้ บันทึกการจับกุมของตำรวจกองปราบฯ ระบุว่า คดีนี้ สจล. ได้เข้าร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับนายทรงกลด ศรีประสงค์ และ น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ รวมทั้งกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันลักทรัพย์และใช้เอกสารสิทธิปลอม ร่วมกันฟอกเงินต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม และได้มีการขออนุมัติหมายจับจากศาลอาญาเพื่อจับกุมผู้กระทำผิดจำนวน 10 คน โดยสามารถจับกุมได้แล้ว 7 คน และหลบหนี 3 คน นายกิตติศักดิ์เป็นรายที่ 8 ที่จับกุมได้ ส่วนผู้ที่ยังหลบหนีอีก 2 คน คือ นายสมพงษ์ สหพรอุดมการ และนายธวัชชัย ยิ้มเจริญ ซึ่งตำรวจคาดว่ายังหลบหนีอยู่ในประเทศบริเวณชายแดน
6.ศาลฎีกา พิพากษายืนยกฟ้อง “สนธิ-อดีตแกนนำพันธมิตรฯ” คดี “ทักษิณ” ฟ้องหมิ่นออกแถลงการณ์ “กลียุคมาแล้ว” !
เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ศาลฎีกาได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้ทนายความเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพวก ประกอบด้วย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายพิภพ ธงไชย, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสุริยะใส กตะศิลา, และบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา กรณีออกแถลงการณ์พันธมิตรฯ เรื่อง กลียุคมาแล้ว เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2551
คดีนี้ โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2551 จำเลยที่ 1 ถึง 6 ได้ร่วมกันโฆษณาด้วยเอกสารและแถลงการณ์ โดยจำเลยที่ 6 เป็นผู้อ่านเอกสารชื่อว่า แถลงการณ์ฉบับที่ 2/2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่องกลียุคมาแล้ว ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง ส่วนจำเลยที่ 7 เป็นผู้ดำเนินการถ่ายทอดออกอากาศโฆษณาแถลงการณ์ดังกล่าวทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี ช่องนิวส์วัน ให้ประชาชนทราบ สาระสำคัญของแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวมุ่งหมายใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากประชาชนทั่วไป
โดยปรากฏในแถลงการณ์ตอนหนึ่งว่า “...มีการดำเนินการโยกย้ายข้าราชการอย่างอุกอาจสำคัญๆ เช่น เลขาธิการองค์การอาหารและยา (อย.) และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อย่างไร้เหตุผล กระทำการโยกย้ายใช้อำนาจแบบเผด็จการทุนนิยมสามานย์อย่างโจ่งแจ้ง ดังที่เคยปรากฏมาแล้วเหมือนในอดีตในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่คุมอำนาจตัดสินใจสั่งการแต่เพียงผู้เดียว ทำลายระบบคุณธรรม ก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงในการบริหาร สั่งราชการ และการตัดสินใจในการดำเนินการใดๆ ขึ้นอยู่กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรแต่เพียงผู้เดียว...”
ซึ่งคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์คดี ขณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2556 โดยเห็นว่า โจทก์เป็นบุคคลสาธารณะ จึงเป็นวิสัยของประชาชนที่จะติชมด้วยความเป็นธรรมได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่ามีการดำเนินการโยกย้ายข้าราชการอย่างไร้เหตุผล และโจทก์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศหลายสำนัก โดยกล่าววิพากษ์วิจารณ์ถึงกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ตลอดจนมีการพาดพิงไปถึงสถาบันสำคัญของประเทศว่าเป็นตัวการสำคัญอยู่เบื้องหลัง การที่จำเลยที่ 1 ถึง 6 ออกแถลงการณ์ดังกล่าว เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ แม้จะใช้คำเกินเลยไปบ้าง ก็ยังอยู่ในวิสัยปกติธรรมดาของการแสดงความคิดเห็น การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึง 6 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) และจำเลยที่ 7 ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
ต่อมาโจทก์ยื่นฎีกา ทั้งนี้ ศาลฎีกามีความเห็นว่า แถลงการณ์ดังกล่าวของพันธมิตรฯ เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1), (3) เพื่อไม่ให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลุแก่อำนาจ ทบทวนสิ่งที่ทำไปโดยไม่ควร ยับยั้งที่จะทำสิ่งไม่ถูกต้อง และคำนึงถึงคุณธรรมในการปกครองประเทศเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ จำเลยที่ 1 ถึง 6 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ส่วนจำเลยที่ 7 ก็ย่อมไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน