xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 22-28 ก.พ.2558

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“บิ๊กตู่” ฟังเสียง ปชช.ชะลอเปิดสัมปทานปิโตรเลียมฯ -ตั้ง คกก.ร่วมหารือแก้ กม.ก่อน ด้าน “ณรงค์ชัย” เซ็นยกเลิกประกาศยื่นสำรวจแล้ว!
(บน) นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน โชว์เซ็นยกเลิกประกาศเปิดให้เอกชนเข้ายื่นสิทธสำรวจปิโตรเลียม  รอบ 21 (ล่าง)เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ยื่นหนังสือถึงนายกฯ  เสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและประชาชน 3 คณะ
ความคืบหน้าปมปัญหาการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 หลังรัฐบาลจัดให้มีการเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนที่ต้องการให้ชะลอการเปิดสัมปทานฯ ออกไป เพื่อแก้กฎหมายปิโตรเลียม และปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการด้านพลังงานให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุดก่อน ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 24 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้นำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี(ครม.) และ คสช.

หลังประชุม พล.อ.ประยุทธ์ เผยว่า ที่ประชุมได้หารือกันแล้ว จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษารายละเอียด โดยตนตัดสินใจแล้วว่าให้แก้กฎหมายให้เรียบร้อยก่อนค่อยเดินหน้าต่อไป และว่า การแก้กฎหมายต้องคุยในรายละเอียดว่าขัดข้องตรงไหน แล้วจึงเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จบเมื่อไหร่ก็ว่ากันในขั้นตอนของการเปิดสำรวจสัมปทาน สำหรับคณะกรรมการของรัฐบาล ได้มอบหมายให้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบ มีกระทรวงพลังงานกับกลุ่มที่จะเข้าร่วมหารือ

ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุม ครม.ว่า ได้รับทราบการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อแก้ปัญหาการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยสำนักนายกฯ ได้ประสานกับกระทรวงพลังงานและกลุ่มที่เห็นต่างเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการร่วมแล้ว ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากันฝ่ายละ 6 คน โดยฝ่ายกระทรวงพลังงานเสนอรายชื่อ 6 คน คือ 1.นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นหัวหน้าทีม 2.นายพล ธีรคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 3.นายมนูญ ศิริวรรณ สปช.ด้านพลังงาน 4.นายประภาส คงเอียด ที่ปรึกษากหมายกระทรวงการคลัง 5.นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อดีตอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 6.นายรักไทย บูรพ์ภาค อาจารย์พิเศษวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สถาบันเอ็มไอที

ส่วนฝ่ายที่เห็นต่าง ประกอบด้วย 1.น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าทีม 2.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระ 3.น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช.ด้านพลังงาน 4.นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 5.นายวิวัฒน์ชัย อัตถากร นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) 6.นายนพ สัตยาสัย อดีตอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และว่า คณะกรรมการร่วมชุดนี้กำหนดประชุมนัดแรกวันที่ 26 ก.พ. แต่เมื่อถึงกำหนด กลับไม่มีการประชุมแต่อย่างใด โดย ม.ล.ปนัดดา บอกว่า ยังไม่ได้นัดประชุมแต่อย่างใด รอกำหนดเวลาที่แน่นอนอีกครั้ง

ทั้งนี้ วันเดียวกัน(26 ก.พ.) นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เซ็นยกเลิกประกาศการเปิดให้เอกชนเข้ายื่นสิทธสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่เดิมกำหนดเปิดให้ยื่นได้ถึงวันที่ 16 มี.ค. โดยนายณรงค์ชัยเซ็นยกเลิกประกาศดังกล่าวต่อหน้าผู้สื่อข่าวที่สอบถามถึงเรื่องนี้ พร้อมให้เหตุผลที่เซ็นยกเลิกว่า เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการให้ชะลอออกไปก่อน 3 เดือนเพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมาย ซึ่ง สนช.จะพิจารณาต่อไป “การยกเลิกประกาศก็ถือเป็นเรื่องปกติมาก เพราะเราไม่รู้ว่าที่สุดเงื่อนไขจะเปลี่ยนเป็นอย่างไรภายใต้การแก้ไขกฎหมายใหม่ แต่หากครบ 3 เดือนหลังจากนั้นมีการแก้ไขกฎหมายก็สามารถประกาศใหม่ได้อีก”

ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ก.พ. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย นำโดย ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและภาคประชาชน 3 คณะ เพื่อทำงานคู่ขนานไปกับคณะกรรมการร่วมภาครัฐและประชาชนที่รัฐบาลตั้งขึ้นก่อนหน้านี้ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ครอบคลุมทุกประเด็น ทั้งความเป็นธรรมต่อการจัดสรรทรัพยากร การแก้ไขกฎหมาย การจัดการแปลงปิโตรเลียมที่จะสิ้นสุดสัมปทานและแปลงปิโตรเลียมใหม่ข้างเคียงที่ดำเนินการผลิตแล้วในปัจจุบัน โดยมีตัวแทนออกมารับหนังสือดังกล่าว

2.มส. รับรองรายงาน “ธัมมชโย” ไม่ปาราชิก ด้าน “หลวงปู่พุทธะอิสระ” ขู่แจ้งความ มส. ขณะที่ “หมอเหวง” รับ ธรรมกายฐานเสื้อแดง-ทักษิณ!

 (บน) หลวงปู่พุทธะอิสระ แจ้งความต่อตำรวจกองปราบฯ และยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบอัยการถอนฟ้องพระธัมมชโย (ล่างซ้าย) โฆษก มส.แถลงผลประชุมเมื่อ 27 ก.พ. (ล่างขวา) พระเมธีธรรมาจารย์ที่ขู่เคลื่อนไหว
ความคืบหน้ากรณีที่คณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา หรือคณะกรรมการปฏิรูปศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน มองว่า พระเทพญาณมหามุนี(ไชยบูลย์ สุทธิผล) หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และประธานมูลนิธิธรรมกาย ต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2542 เนื่องจากบิดเบือนพุทธธรรมคำสอนและยักยอกเงินและที่ดินที่ญาติโยมบริจาคให้วัดพระธรรมกายไปเป็นของตนเอง แต่ที่ประชุมมหาเถรสมาคมเมื่อวันที่ 20 ก.พ. มีมติว่าพระธัมมชโยไม่ปาราชิก เนื่องจากได้คืนทรัพย์สินต่างๆ ให้แก่วัดเรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2549 ถือว่าเรื่องยุติ และพระธัมมชโยพ้นมลทินแล้ว ก่อให้เกิดกระแสไม่พอใจต่อมติ มส.เป็นอย่างมาก และมองว่า มส.ปกป้องพระธัมมชโย ขณะที่บางฝ่ายมองว่า มติ มส.อาจขัดต่อพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชฯ

ทั้งนี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ได้เรียกร้องให้ มส.ส่งมติและเอกสารรายละเอียดทั้งหมดทั้งของเมื่อปี 2549 และเมื่อวันที่ 20 ก.พ. มาให้คณะกรรมการปฏิรูปศาสนาเพื่อวิเคราะห์ต่อไปด้วย เพราะมติ มส.เมื่อปี 2549 ถือว่าขัดต่อพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชฯ เมื่อปี 2542 ที่ชี้ว่าพระธัมมชโยผิดพระธรรมวินัย ต้องปาราชิก

ด้านพระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) ไม่พอใจ ได้ออกมาเรียกร้อง รวมทั้งยื่นหนังสือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. และนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ให้ยุบคณะกรรมการชุดนายไพบูลย์ โดยอ้างว่ากรรมการชุดนี้มีความคิดสุดโต่งด้านศาสนาและการเมือง อย่างไรก็ตาม กระแสในโซเชียลมีเดียได้แฉภาพพระเมธีธรรมาจารย์ว่าเป็นพระที่ฝักใฝ่การเมืองเช่นกัน โดยมีภาพถ่ายกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ,นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. พระเมธีธรรมาจารย์ ยังขู่ด้วยว่า หากนายกฯ และนายเทียนฉายไม่ทำตามข้อเรียกร้องภายใน 15 วัน ตนและพระสงฆ์ทั่วประเทศจะเคลื่อนไหวต่อไป

ด้านหลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เช่นกัน เรียกร้อง 5 ข้อ คือ 1.ปฏิรูปศาสนาด้วยการจัดตั้งองค์คณะพิทักษ์พระธรรมวินัยและพุทธศาสนา เพื่อเข้ามาช่วยเหลือ มส.ในการทำงาน และเพื่อให้รู้เท่าทันฝ่ายอาณาจักร 2.ตรวจสอบทรัพย์สินของ มส.และเจ้าอาวาสทุกวัด รวมถึงวัดอ้อน้อยด้วย 3.ตรวจสอบเส้นทางการเงินวัดพระธรรมกาย 4.สั่งรื้อคดีธรรมกายทุกคดี รวมทั้งทำให้เป็นคดีพิเศษ และ 5.ปฏิรูปและตรวจสอบมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย(มมร.) และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) เนื่องจากไปดูงานต่างประเทศบ่อยครั้ง นอกจากนี้หลวงปู่พุทธะอิสระ ยังได้เข้าพบนางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เพื่อหารือความเป็นไปได้ในการรื้อฟื้นคดีพระธัมมชโยยักยอกเงินวัดพระธรรมกายกว่า 1,200 ล้านบาทที่อัยการถอนฟ้อง ขึ้นมาพิจารณาใหม่

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ พูดถึงปฏิกิริยาของฝ่ายต่างๆ ต่อมติ มส.กรณีพระธัมมชโยว่า กำลังดำเนินการอยู่ โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดูแลอยู่ “เอาให้มันสงบๆ กันเสียบ้างไม่ได้หรือ ทั้งคนทั้งพระทั้งฆราวาส วุ่นไปหมดเลยประเทศไทย” ขณะที่นายวิษณุ กล่าวว่า ได้เห็นพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชฯ ทั้ง 5 ฉบับแล้ว และมีคำตอบแล้ว แต่ไม่อยากพูดอะไรในตอนนี้ ขอตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 ก.พ. กลุ่มเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย(มปปท.) นำโดยนางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานกรรมการ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบกรณี มส.ไม่เอาผิดพระธัมมชโย ถือว่าขัดต่อพระธรรมวินัยและกฎหมายบ้านเมือง เนื่องจากพระธรรมวินัย ภิกษุไม่สามารถรับที่ดิน ไร่นามาเป็นของตนได้ ปรากฏตามพระสุตตันตปิฎก

เป็นที่น่าสังเกตว่า วันเดียวกัน(24 ก.พ.) นายสมชาย สุรชาตรี โฆษก พศ.ได้ออกมาพูดใหม่ว่า ที่ประชุม มส.เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ไม่ได้มีการโหวตเรื่องพระธัมมชโยแต่อย่างใด เมื่อนายสมชายออกมาปฏิเสธดังกล่าว หลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จึงได้เข้าร้องทุกข์ต่อตำรวจกองปราบฯ ให้ดำเนินคดีพระพรหมโมลี(สุชาติ ธมฺมรตโน) กรรมการ มส.ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ,พระพรหมเมธี(จำนง ธัมมจารี) กรรมการและโฆษก มส. และนายสมชาย สุรชาตรี โฆษก พศ. ในความผิดฐานใส่ความคณะสงฆ์ เนื่องจากได้มีการแถลงก่อนหน้านี้ว่า มส.มีมติเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ว่าธัมมชโยไม่ปาราชิก นอกจากนี้ หลวงปู่พุทธะอิสระยังได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบกรณีอัยการถอนฟ้องพระธัมมชโยข้อหาเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังเอาทรัพย์สินของวัดไปเป็นของตนโดยทุจริต เมื่อปี 2549 โดยทราบว่าอัยการชุดแรกไม่ยอมถอนฟ้อง อัยการสูงสุดจึงให้อัยการชุดใหม่ถอนฟ้อง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ได้มีการประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) อีกครั้ง หลังประชุม พระพรหมเมธี กรรมการและโฆษก มส.กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับรองรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่นายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการ พศ. ในฐานะเลขาธิการ มส.รายงานการเข้าพบนายไพบูลย์ นิติตะวัน เมื่อวันที่ 17 ก.พ. เพื่อชี้แจงเรื่องพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชฯ กรณีพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก และความคืบหน้าการดำเนินการตามพระลิขิต โดยรายงานว่า ที่ประชุม มส.เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2542 ได้รับทราบตามรายงานของอธิบดีกรมการศาสนาว่า พระธัมมชโยได้แสดงเจตนาที่จะมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่วัดพระธรรมกาย

ต่อมามีการฟ้องร้องพระธัมมชโยว่าบิดเบือนหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา อวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน ลักทรัพย์ ฉ้อโกง และหลอกลวงประชาชน เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2543 การดำเนินการตามพระธรรมวินัยจึงต้องรอไว้ก่อนตามกฎ มส.ฉบับที่ 11 ข้อ 15(1) อย่างไรก็ตาม คณะสงฆ์ได้มีคำสั่งพักเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายจากการปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2542 ต่อมานายมาณพ พลไพรินทร์ 1 ในผู้ฟ้องได้มีหนังสือถอนฟ้องวัดพระธรรมกายในทุกกรณีวันที่ 15 พ.ค. 2549 และอัยการได้ถอนฟ้อง โดยอ้างเหตุว่ามีการมอบที่ดินทั้งหมดให้วัดแล้ว ศาลอาญาจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากระบบในวันที่ 22 ส.ค.2549 เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ได้ตรวจลักษณะของผู้กล่าวหาที่เหลือ คือ นายสมพร เทพสิทธา และเห็นว่า มีความบกพร่อง จึงมีคำสั่งไม่รับคำกล่าวหาของผู้กล่าวหา โดยเป็นความเห็นชอบของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2549 จากนั้น เจ้าคณะตำบลคลองสี่ ได้มีคำสั่งให้ พระธัมมชโยกลับมาดำรงตำแหน่งดังเดิม ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค.2549

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการรื้อฟื้นมติ มส.เดิมหรือไม่ พระพรหมเมธี กล่าวว่า รื้อฟื้นไม่ได้ เพราะพระวินัยของพระสงฆ์ ถ้าเรื่องใดที่เจ้าคณะตามลำดับพิจารณาแล้วและมีมติไปแล้ว คณะที่ไปรื้อฟื้นจะเป็นอาบัติ ดังนั้นเราต้องรับทราบตามรายงาน การจะแก้ไขต้องแก้ที่ต้นทาง คือที่องค์คณะจังหวัดปทุมธานี เช่น ตั้งเรื่องฟ้องใหม่ หากไม่มีการฟ้องใหม่ก็ต้องยึดตามมติเดิม

ด้านหลวงปู่พุทธะอิสระ ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า มส.ประชุมว่า จะรอดูมติ มส.ในวันที่ 27 ก.พ. ถ้า มส.รักษาพระธรรมวินัย หลวงปู่ฯ ก็จะกลับวัดไปทำศาสนกิจเหมือนเดิม แต่ถ้า มส.รักษาธรรมกายมากกว่าพระธรรมวินัย หลวงปู่ฯ จะร้องทุกข์กล่าวโทษต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า นพ.เหวง โตจิราการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 25 ก.พ.อ้างว่า การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 มุ่งเป้าทำลาย 3 จุดที่เป็นฐานกำลังสำคัญของฝ่ายคนเสื้อแดง ฝ่าย นปช.ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือ 1.ทำลายนโยบายจำนำข้าว 2.ทำลายล้าง ส.ส.-ส.ว.ฝ่ายประชาธิปไตย และ 3.รุกโจมตีวัดธรรมกายด้วยข้อหาปาราชิก อวดอุตริมนุสธรรม

ส่วนความคืบหน้าคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นกว่า 12,000 ล้านบาทนั้น เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ดีเอสไอ-ทหาร-ปปง.ได้สนธิกำลังเข้าตรวจค้นบริษัท เอส.ดับบลิว.โฮลดิ้ง กรุ๊ป(ประเทศไทย) ที่ จ.ปทุมธานี ของนายสถาพร วัฒนาศิริกุล ผู้รับเช็คจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยบริษัทดังกล่าวตั้งอยู่ห่างจากวัดพระธรรมกายประมาณ 1 กม. ซึ่งจากการตรวจค้นบริษัทฯ พบหลักฐานทั้งโฉนดที่ดินและหลักฐานที่เชื่อมโยงคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ขณะที่เจ้าหน้าที่เร่งขยายผลตรวจสอบความเชื่อมโยงทางการเงินระหว่างสหกรณ์ฯ กับวัดพระธรรมกาย

ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากชุดสืบสวนดีเอสไอ เผยว่า สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นและสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐีที่ตั้งอยู่ภายในวัดพระธรรมกาย มีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร เป็นผู้บริหารทั้งสองแห่ง ซึ่งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบนายศุภชัยสั่งจ่ายเช็คให้สหกรณ์เครดิตมงคลเศรษฐีระหว่างปี 2552-2555 จำนวน 3 ครั้ง เป็นเงิน 46.5 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบการโอนเงินให้พระหลายรูปในวัดพระธรรมกาย โดยโอนให้พระธัมมชโย 225 ล้านบาท พระวิรัช 100 ล้านบาท พระปลัดวิจารณ์ 119 ล้านบาท พระมนตรี 100 ล้านบาท รวมถึงโอนให้นายสถาพร วัฒนาศิริกุล กรรมการบริษัท เอส.ดับบลิวฯ 127 ล้านบาท โดยนายสถาพรเคยบวชเป็นพระอยู่ที่วัดพระธรรมกายกว่า 20 ปี และเคยมีตำแหน่งเป็นไวยาวัจกรของวัดพระธรรมกายด้วย

3.กมธ.ยกร่างฯ เคาะแล้ว ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค พร้อมเปิดทางนายกฯ คนนอก เปลี่ยนที่มา ส.ว.เป็นเลือกตั้งโดยอ้อม!

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนอกสถานที่ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ พัทยา จ.ชลบุรี เป็นเวลา 6 วัน(23-28 ก.พ.) โดยประเด็นที่น่าสนใจอยู่ในส่วนของภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี หมวด 3 รัฐสภา โดยกำหนดให้ ส.ส.มีจำนวนไม่น้อยกว่า 450 คน แต่ไม่เกิน 470 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 250 คน และแบบบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 200 คน หรือไม่เกิน 220 คน โดยเปิดช่องให้ผู้สมัคร ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง สามารถสังกัดกลุ่มการเมืองได้ พร้อมกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม

ส่วนที่มาของนายกรัฐมนตรีนั้น ให้มาจาก ส.ส.หรือคนนอกก็ได้ เพื่อเปิดทางกรณีเกิดวิกฤต โดยนายกฯ จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ นอกจากนี้ยังกำหนดว่า ก่อนนายกรัฐมนตรีจะนำชื่อรัฐมนตรีกราบบังคมทูล ให้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อตรวจสอบประวัติและเปิดเผยให้ประชาชนทราบก่อน สำหรับคุณสมบัติต้องห้ามของรัฐมนตรีที่เพิ่มขึ้นจากเดิม คือ ไม่ได้แสดงสำเนารายการภาษีเงินได้ย้อนหลัง 3 ปีต่อประธานวุฒิสภา และเคยเป็น ส.ส.หรือ ส.ว.โดยสิ้นสภาพมายังไม่เกิน 2 ปี พร้อมกันนี้ยังกำหนดให้นายกฯ และรัฐมนตรีมีหน้าที่ร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา โดยให้ถือว่าการเข้าประชุมเป็นภารกิจสำคัญเหนือสิ่งอื่น หากเข้าร่วมประชุมน้อยเกินไป จะมีบทลงโทษตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การถอดถอนได้

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในส่วนของการสิ้นสุดสภาพ ส.ส.มีการวางแนวทางใหม่ โดยระบุว่า หากนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีถูกลงมติไม่ไว้วางใจ สภาผู้แทนราษฎรจะต้องถูกยุบตามไปด้วย ไม่ใช่แค่นายกฯ หรือคณะรัฐมนตรีเท่านั้นที่สิ้นสภาพ. เหตุที่ กมธ.ยกร่างฯ เสนอหลักการดังกล่าวเนื่องจากมองว่า แนวโน้มการเลือกตั้งน่าจะได้รัฐบาลผสม จึงต้องการป้องกันปัญหาพรรคเล็กอาจกดดันการหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม หลักคิดดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งจากอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ เนื่องจากมองว่าหากลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ หรือคณะรัฐมนตรี แล้วต้องยุบสภา ทำให้ ส.ส.ต้องพ้นสภาพทั้งหมด จะส่งผลให้ไม่มีใครกล้าลงมติไม่ไว้วางใจ ถือเป็นการทำลายหลักการตรวจสอบถ่วงดุลในสภา และอาจส่งผลให้รัฐบาลลักไก่ออกกฎหมายสำคัญได้ โดยนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า แนวคิดในการยกร่างดังกล่าวเป็นเรื่องประหลาด สวนทางกับความเป็นจริง และเป็นหลักคิดที่พิกลพิการในรัฐธรรมนูญ

ส่วนที่มาของ ส.ว.นั้น กมธ.ยกร่างฯ มีการกำหนดหลักการแบบใหม่ ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2550 โดยให้มี ส.ว.ไม่เกิน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม คือ (1) มาจากผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และประธานศาลฎีกา เลือกกันเองไม่เกิน 10 คน (2) มาจากผู้เคยเป็นข้าราชการพลเรือนตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ฯลฯ (3) มาจากผู้แทนองค์กรวิชาชีพหรืออาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้ง เลือกกันเองไม่เกิน 10 คน (4) มาจากองค์กรด้านเกษตรกรรม แรงงาน วิชาการ ชุมชนท้องถิ่น เลือกกันเองไม่เกิน 50 คน (5) มาจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเมือง ความมั่นคง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น และอื่นๆ ฯลฯ ไม่เกิน 100 คน

ทั้งนี้ เหตุผลที่ กมธ.ยกร่างฯ กำหนดที่มา ส.ว.ให้จากการเลือกตั้งทางอ้อม เนื่องจากหากให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง อาจมีช่องทางทำให้การเมืองแทรกแซงได้ พร้อมยืนยันว่า สภานี้ไม่ใช่สภาสรรหาหรือสภาลากตั้งตามที่เข้าใจ แต่เป็นสภาเลือกตั้งโดยอ้อมจากประชาชนหรือสภาพหุนิยม ซึ่งมีความหลากหลายจากกลุ่มต่างๆ ส่วนคุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ว. ต้องไม่ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐภายในระยะเวลา 2 ปีก่อนวันเข้าดำรงตำแหน่ง ส.ว.

ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่พอใจที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มา ส.ว.ว่าเป็น ส.ว.ลากตั้ง จึงออกมาตอบโต้ว่า ประเทศฝรั่งเศสก็ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม “ผมถามหน่อย โครงสร้างวุฒิสภาในอดีตเคยมีตัวแทนชาติพันธุ์เข้ามาหรือไม่ ปราชญ์ชาวบ้านเคยเข้าหรือไม่ ยิ่งใช้ระบบเลือกตั้ง คนเหล่านี้ชายขอบทั้งนั้น จะมีแต่นักเลือกตั้งที่มาจากการเลือกตั้ง”

4.ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหา “มาร์ค-สุเทพ” คดีสลายแดงปี ’53 ด้าน “บิ๊กตู่” พร้อมเป็นพยานแก้ข้อกล่าวหา ชี้ มีชายชุดดำในกลุ่มเสื้อแดง!

(บนซ้าย) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ (บนขวา) พระสุเทพ ปภากโร (ล่างซ้าย) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.(ล่างขวา) ภาพชายชุดดำในกลุ่มเสื้อแดงพร้อมอาวุธที่ใช้ยิงทหาร-ประชาชนเมื่อปี 53
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ประชุมพิจารณาคดีถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กรณีสั่งทหารและตำรวจเข้าสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เมื่อวันที่ 10 เม.ย.-19 พ.ค.2553 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากจากการขอคืนพื้นที่ ทั้งนี้ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.แถลงผลการพิจารณาคดีนี้ว่า

“ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ฝ่ายนโยบายหรือฝ่ายผู้สั่งการคือ นายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกฯ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ และนายสุเทพ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) เป็นผู้ควบคุมการใช้กำลังทั้งหมด ซึ่งในการใช้กำลังทหารเข้าขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น ในกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้มีเฉพาะแต่กลุ่มผู้ชุมนุมที่รุนแรง แต่มีกลุ่มผู้ชุมนุมปราศจากอาวุธ และประชาชนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย เป็นเหตุให้มีนายพัน คำกอง ,ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ และนายสมร ไหมทอง ได้รับบาดเจ็บสาหัส และมีประชาชนอื่นเสียชีวิตอีกหลายราย ปรากฏตามคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลชั้นต้น ความตายเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานทหาร พฤติการณ์ดังกล่าวจึงส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองออกจากตำแหน่ง มีมติให้มีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพมาแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันหลังได้รับหนังสือ”

ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งอื่นๆ ในฐานะผู้ปฏิบัติจะต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่ จะมีการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป ผู้สื่อข่าวถามว่า นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพจะโดนคดีอาญาด้วยหรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า ทางอาญายังต้องสอบไปเรื่อยๆ เพราะยังมีการชันสูตรพลิกศพที่ยังไม่จบ ในชั้นนี้ต้องดูการแก้ข้อกล่าวหาก่อนว่าแก้ได้หรือไม่ ซึ่ง ป.ป.ช.ดูค่อนข้างละเอียดว่า กระบวนการขอคืนพื้นที่ได้ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์หรือไม่

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พร้อมที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และยืนยันว่า ได้มีการปรับหลักการทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียแล้ว แต่ในสถานการณ์ที่มีการก่อการร้ายมีการใช้อาวุธ ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย จะเป็นการผิดกฎหมายฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ ยังเผยด้วยว่า “เรื่องนี้ คนที่ทำงานร่วมกันรู้ดี เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น เพราะร่วมประชุมและรู้ดีถึงการทำงานในขณะนั้น หาก ป.ป.ช.ได้ข้อมูลจากบุคคลเหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา แต่ไม่แน่ใจว่าบุคคลทั้งหมดพร้อมที่จะเป็นพยานให้หรือไม่”

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวโดยส่งสัญญาณว่าพร้อมจะเป็นพยาน พร้อมจะให้ข้อมูลกรณีขอคืนพื้นที่เมื่อปี 2553 พล.อ.ประยุทธ์ ยังถามผู้สื่อข่าวด้วยว่า “ขอถามข้อเท็จจริงว่า มีคนใช้อาวุธในประชาชนหรือเปล่า มีหรือเปล่า ขอให้พูดดังๆ มีชายชุดดำอยู่ในกลุ่มคนเสื้อแดงหรือเปล่า และมีคนยิงใส่ทหารหรือเปล่า ถ้ามีก็จบ”

ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ว่า “ขอตอบคำถามนายกลุงตู่ แทนนักข่าวที่ตอบเสียงอ้อมๆ แอ้มๆ เบา เมื่อถูกถามว่าใครยิงทหาร? ในฐานะนักข่าวเก่าตอบดังๆ ย้ำชัดๆ ครับว่า คนยิงทหารคือ ชายชุดดำในกลุ่ม นปช.ฮาร์ดคอร์ที่ผ่านการฝึกอาวุธเป็นคนยิง ปรากฎทั้งภาพถ่าย หลักฐานชัดเจนทั้งคนเจ็บเเละคนตายที่ถนนตะนาวเเละถนนดินสอคืนวันที่ 10 เม.ย. 2553 ข้อมูลไม่เปลี่ยนเป็นอื่นได้ เเละพร้อมตลอดเวลาที่จะให้การเป็นพยานในทุกชั้นศาลเเละในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช.ทั้งพยานเอกสารหลักฐานเเละพยานบุคคล ในฐานะที่เป็นประธานอนุตรวจสอบข้อเท็จจริง ในคณะกรรมมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา”

5.คดีโกงเงิน สจล.สาวถึงอดีตผู้บริหารแล้ว “ถวิล-ศรุต-สรรพสิทธิ์” โดน 3-5 ข้อหา ด้านแบงก์ไทยพาณิชย์ ชดใช้ค่าเสียหายให้ สจล.แล้ว 1,500 ล้าน!

 (บน) ผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์แถลงร่วมกับผู้บริหาร สจล. (ล่าง) นายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดี สจล.เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาต่อตำรวจกองปราบฯ
ความคืบหน้าคดียักยอกเงินสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กว่า 1,500 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ตำรวจกองปราบปรามได้ออกหมายเรียกให้อดีตผู้บริหาร สจล.3 คนมารับทราบข้อกล่าวหา ประกอบด้วย นายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดี สจล. ,นายศรุต ราชบุรี อาจารย์ สจล. และนายสรรพสิทธิ์ ลิ่มนรรัตน์ อดีตผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการคลัง สจล. ทั้งนี้ ตำรวจได้แจ้งข้อหานายถวิล 5 ข้อหา ฐานร่วมกันลักทรัพย์ ปลอมและใช้เอกสารปลอม เป็นเจ้าพนักงานฯ เบียดบังทรัพย์ของหน่วยงานเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฟอกเงิน ในคดีลักทรัพย์ สจล.1,474 ล้านบาท

ด้านนายถวิล ยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว และจำไม่ได้ว่าเคยเซ็นเอกสารอะไรบ้าง แต่ตำรวจพบพิรุธว่า นายถวิลลงนามเปิดบัญชี สจล.ก่อนจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งอธิการบดี รวมทั้งเป็นผู้ปิดบัญชีหลังจากพ้นตำแหน่งอธิการบดีแล้ว และยังทำหนังสือถึงธนาคารโดยระบุว่าไม่อนุญาตให้ธนาคารตรวจสอบบัญชีหรือสถานะทางการเงินของ สจล. นอกจากนี้ยังพบว่านายถวิลสนิทสนมกับนายทรงกลด ศรีประสงค์ 1 ในผู้ต้องหาคดีนี้ เกินกว่าปกติ เนื่องจากเป็นผู้รับรองความประพฤติให้นายทรงกลดขณะที่ทางธนาคารไทยพาณิชย์พบพิรุธในพฤติกรรมและเตรียมโยกย้ายนายทรงกลด

ขณะที่นายศรุต ราชบุรี อาจารย์ สจล.ถูกตั้งข้อหา 3 ข้อหา ฐานร่วมสนับสนุนให้เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ร่วมสนับสนุนเจ้าพนักงานให้ใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต และร่วมกันฟอกเงิน ซึ่งนายศรุตปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาเช่นกัน ส่วนนายสรรพสิทธิ์ ลิ่มนรรัตน์ อดีตผู้ช่วยอธิการบดี สจล.ซึ่งถูกดำเนินคดี 5 ข้อหาเช่นเดียวกับนายถวิลได้ขอเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเป็นวันที่ 25 ก.พ. เนื่องจากติดภารกิจ ซึ่งนายสรรพสิทธิ์ก็ยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเองเช่นกัน

ทั้งนี้ หลังสอบปากคำและแจ้งข้อหาแล้วเสร็จ พนักงานสอบสวนได้นำตัวผู้ต้องหาขอศาลมีนบุรีฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.-7 มี.ค. เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น โดยผู้ต้องหาได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัว ซึ่งศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวโดยตีราคาประกันคนละ 5 ล้านบาท

ส่วนความเคลื่อนไหวของธนาคารไทยพาณิชย์นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ก.พ. นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารฯ ได้เปิดแถลงข่าวร่วมกับผู้บริหาร สจล.นำโดย ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิการบดี สจล. โดยทางธนาคารฯ ได้แสดงความรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีพนักงานของธนาคารมีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริต โดยจะให้เงินเพื่อดูแลความเสียหายแก่ สจล.ในวงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาท ตามมูลค่าความเสียหายที่ทาง สจล.ประเมินไว้ แต่หากที่สุดแล้วมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า สจล.มีความเสียหายน้อยกว่าวงเงินดังกล่าว สจล.จะจ่ายคืนส่วนต่างแก่ธนาคาร

6.ตำรวจส่งฟ้อง “พ่อ-แม่ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์” คดีหมิ่นเบื้องสูง-แจ้งความเท็จ-กลั่นแกล้งผู้อื่นให้ได้รับโทษอาญา ด้านศาลไม่ให้ประกันตัว!


เมื่อวันที่ 27 ก.พ.นายอภิรุจ สุวะดี อายุ 72 ปี และนางวันทนีย์ สุวะดี อายุ 66 ปี บิดาและมารดาท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี ได้เดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ พ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี รักษาราชการแทนผู้บังคับการปราบปราม เพื่อนำตัวส่งฟ้องต่ออัยการในคดีหมิ่นเบื้องสูง, ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนได้รับความเสียหาย และใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานแจ้งความเพื่อกลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษทางอาญา กรณีถูก น.ส.ศวิตา หรือแสงระวี หรือนก มณีจันทร์ อายุ 31 ปี เจ้าหน้าที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง แจ้งความดำเนินคดีไว้ก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ หลังทั้งสองรับสารภาพ ตำรวจได้นำตัวไปขอศาลฝากขังครั้งแรก โดยคำร้องระบุว่า เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2546 นางวันทนีย์และนายอภิรุจ ได้แอบอ้างด้วยการข่มขู่ น.ส.ศวิตา กับครอบครัวให้เกิดความเกรงกลัว เนื่องจากโกรธเคือง น.ส.ศวิตา ที่ไปพูดกับบุคคลอื่นว่ารู้จักกับนายอภิรุจ จนทำให้เกิดข่าวลือว่า น.ส.ศวิตา กับนายอภิรุจ มีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาว ซึ่งการข่มขู่ของผู้ต้องหาทั้งสองทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องเกิดความกลัว จนมีการแจ้งความดำเนินคดี น.ส.ศวิตา ฐานฉ้อโกง ถึงแม้ น.ส.ศวิตาจะไม่ได้กระทำผิดก็ตาม ซึ่ง น.ส.ศวิตาเกิดความหวาดกลัวการข่มขู่ จึงยอมรับสารภาพไม่กล้าโต้แย้ง จนเป็นเหตุให้ น.ส.ศวิตา ต้องถูกศาลพิพากษาจำคุก 24 เดือน และเมื่อจำคุกไปแล้ว 1 ปี 6 เดือน จึงได้รับอภัยโทษ

การกระทำของทั้งสองทำให้ น.ส.ศวิตา และครอบครัวได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติ เพราะเกรงกลัวจะได้รับอันตราย จนเวลาผ่านมา 10 ปีเศษ น.ส.ศวิตา เห็นว่า ครอบครัวผู้ต้องหาทั้งสองถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการแอบอ้างสถาบันไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบหลายคดี จึงตัดสินใจเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบ มาตรา 83 ซึ่งในชั้นแรกผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ อ้างว่า ไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตาม ที่ น.ส.ศวิตา เข้าร้องทุกข์ แต่มาสารภาพในภายหลัง ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนขอศาลฝากขัง 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.-10 มี.ค.พร้อมคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากคดีมีความร้ายแรง มีอัตราโทษสูง และเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีออกนอกประเทศ ด้านศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ฝากขังได้

ต่อมาญาติและลูกสาวได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 1 ล้านบาทขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสอง แต่ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อหาความผิดมีความร้ายแรง พยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนเสนอเพียงพอให้เชื่อได้ว่า หลังรับทราบข้อกล่าวหา ผู้ต้องหาเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และมีพฤติการณ์จะหลบหนีออกนอกประเทศ ดังนั้นจึงมีเหตุอันควรไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ให้ยกคำร้อง จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวนายอภิรุจ ไปควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วนนางวันทนีย์ ถูกแยกไปควบคุมไว้ที่ทัณสถานหญิงกลางบางเขน
กำลังโหลดความคิดเห็น