xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิวัติสังคม ด้วยสารคดี "ลักษณา จีระจันทร์" นักสื่อสารมวลชนมือรางวัลของไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ไม่ใช่ดาราสาว ไม่ใช่นางแบบหรือนักร้อง แต่เชื่อว่าเราทุกคนแทบจะเคยหยุดสายต่อเพิ่งพินิจพิจารณาผลงานของเธอมาแล้วไม่มากก็น้อย และในจำนวนนั้น หลายคนยังคงตราตรึงใจไม่รู้ลืม

นั่นก็เพราะผลงานที่เธอสร้างมาตลอดระยะเวลากว่าสองทศวรรษที่นำไปสู่การเปิดโลกทัศน์ หยิบยื่นดวงตาแห่งความรู้มาสู่เรา โดยที่เราไม่รู้สึกว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นความน่าเบื่อ ยัดเหยียดจนอึดอัน เมื่อเอ่ยถึงสารคดี ขณะเดียวกัน ยังส่งผ่านแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ยุคหลัง ลุกขึ้นมามีพลังที่จะสร้างสรรค์ในสิ่งที่เคยอยู่นอกสายตา

อะไรทำให้เธอก้าวเดินบนถนนสายนี้ที่มุ่งเน้นนำเสนออย่างไม่เปลี่ยนจุดยืนตั้งมั่น ใน "ดวงตา" เธอเห็นอะไร ใน "ความคิด" เธอนึกและเข้าใจอะไร ใน "ความรู้สึก" เธอสัมผัสถึงสิ่งใด และกับผลงานที่เธอกำลังปลุกปั้น ในนาม “บวร บ้าน วัด โรงเรียน” เธอปรารถนาจะบอกกล่าวอะไรแก่คนดูหรือผู้คนในสังคม

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ไม่ต้องพักเบรกโฆษณา เราขอเชิญทุกท่านทำความรู้จักกับ "ลักษณา จีระจันทร์" นักทำสารคดีอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ผู้เคยหยุดสายตาให้เราใช้เวลาเพื่ออิ่มเอมจิตใจไปกับสารคดีชุด "ตามรอยพระพุทธเจ้า" และตราตึงใจพสกนิกรชาวไทยกับพระราชกรณียกิจของพ่อหลวงและแม่หลวงแห่งแผ่นดิน ในสารคดีชุด “พระเจ้าแผ่นดิน” และ “พระราชินี”...

 ฟังมาว่า คุณคือหนึ่งในบุคคลแรกๆ ในประเทศไทยที่ริเริ่มงานด้านสารคดี อยากให้ช่วยเล่าถึงแรงบันดาลใจตรงนี้หน่อยว่ามันเริ่มต้นมาอย่างไร

(ยิ้ม) คือตอนนั้นท่าน ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล แกรู้สึกว่าข่าวในเมืองไทยค่อนข้างดึกดำบรรพ์มาก รายการข่าวจะมานั่งอ่านข่าวกันอย่างเดียว แม้แต่สกู๊ปข่าวก็ยังไม่มีเลยตอนนั้น เทียบให้ฟังง่ายๆ เหมือนประเทศพม่าตอนนี้ที่กำลังพัฒนาเรื่องสื่อสารมวลชน ท่านเล็งเห็นว่าควรต้องเปลี่ยนแปลง เพราะด้วยความที่เป็นคนหัวก้าวหน้า จบต่างประเทศมา รุ่นใกล้เคียงกับคุณสุทธิชัย หยุ่น ก็เลยมีความคิดอยากที่จะปฏิวัติเรื่องข่าวในเมืองไทย ตอนนั้นท่านก็เริ่มทำ ก็มีนักข่าวของท่านที่เหมือนกับนักข่าวในยุคนี้ คือพี่นก (นิรมล เมธีสุวกุล) ก็ไปตระเวนทำข่าว ทำสกู๊ปมาออกอากาศ เริ่มมีการนั่งอ่านข่าวแบบที่ไม่ใช่ทางการอย่างสถานีโทรทัศน์เมืองนอก ABC CNN เป็นครั้งแรก

และด้วยความที่ท่านชื่นชอบงานสารคดีต่างประเทศด้วย ท่านก็ว่าทำไมคนไทยไม่มีงานประเภทนี้เลย ไม่มีกระเตื้องพัฒนาด้านทางงานสารคดีเลย มีแต่ละครที่พัฒนา งานด้านสารคดีของราชการก็ยังอยู่อย่างนั้น ท่านก็คิดจะทำตรงนี้ เลยสร้างคนขึ้น ตั้งบริษัท แปซิฟิค อินเตอร์ พวกเราจึงมีโอกาสได้ร่วมทำงาน ตั้งแต่นั้นก็เริ่มงานสารคดีชุดแรกในประเทศไทยที่ใช้ชื่อซีรีย์ว่า "โลกสลับสี" ออกฉายทางช่อง 9 อสมท. ในกลุ่มนั้น นอกจากพี่นิรมล ก็มีคุณชนินทร์ ชมะโชติ เป็นโปรดิวเซอร์และก็ทำสารคดีชุดทะเลไทย คุณธีรภาพ โลหิตกุล ทำสารคดีชุดเจ้าพระยา คุณวิชัย อุดมพงศ์ลักขณา ทำเรื่องของธรรมชาติสัตว์ป่า ส่วนเราทำเรื่องของพม่า เรื่องของทิเบต (48 วันในทิเบต) เรื่องของอันดามัน

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มันเหมือนกับว่าเป็นการเปิดกว้างโลก คืออย่างในชุดสารคดีเรื่องสิบสองปันนา เรื่องล้านช้าง คนลาวในยุคนั้นไม่มีใครเคยรู้เลยว่าเขาอยู่กันอย่างไรเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว พม่าเป็นอย่างไร พุกามยังต้องนั่งเกวียนเลาะตามเจดีย์อยู่เลย กระทั่งทิเบตในยุคนั้นจีนก็เพึ่งเข้าไปด้วยซ้ำ ยังเห็นความเป็นทิเบตอยู่เยอะมาก หรือสำรวจโลกใต้น้ำทำออกมาเป็นสารคดีให้คนได้ชมในบ้านเรา เราก็ทำกันเป็นกลุ่มแรก ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้ ถ้านับรวมๆ ก็ประมาณ 25-26 ปี ไม่มีใครเปลี่ยนแนวคิดเลย คือแม้ว่าหลังจากนั้นจะย่อยลงเพื่อให้เหลือกลุ่มเล็กๆ เป็น "พาโนราม่า" เพื่อจะดูแลกันสะดวกและแบ่งกรุ๊ปงานสารคดีที่แต่ละคนสนใจทำ และอยากให้มันมีเรื่องราวแบบนี้มาเป็นรายการให้คนไทยได้ดู

• นอกเหนือจากการจุดประกายและแรงกระตุ้นของคุณสมเกียรติ อ่อนวิมล มีอะไรอีกไหมที่ทำให้เราผูกพันกระทั่งคลุกคลีอยู่กับงานสารคดีมาจนทุกวันนี้

ความชอบ (ตอบเร็ว) ชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เป็นคนรักการเดินทาง อยากถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ที่เจอ ที่ไปขุดคุ้ยใหม่ๆ ทุกคนน่าจะเป็นอย่างนี้ในจุดเริ่มต้น เพราะส่วนตัวเราก็เป็นอย่างนั้น อีกอย่าง ที่บ้าน ตอนเราเด็กๆ เราเห็นคุณพ่ออ่าน คือเราเห็นตั้งแต่เล่มเก่าๆ เวลาเราเปิดแผนที่ที่แทรกในเล่ม เราก็จะตื่นเต้น อลาสก้าเป็นอย่างไร แอฟริกาเป็นอย่างไร เราก็รู้สึกว่าโลกนี้มันมีอะไรมากมายที่เราอยากจะไปเห็น ไปรู้ไปเห็นตลอดเวลา มันก็เก็บอยู่ในตัวเรามาเรื่อยๆ จนโตมาเรียนด้านวรรณคดีอังกฤษจบ เราก็ไปเรียนต่อสื่อสารมวลชนที่อเมริกา แล้วพอกลับมา เราก็มาทำงานข่าวต่างประเทศยุคสงครามอ่าวเปอร์เซียที่เราได้ถ่ายทอดสดจาก CNN เป็นครั้งแรกมาแปรออกอากาศเป็น Hotline News แล้วก็มาได้พบกลุ่มนี้ ก็รู้สึกว่ามันใช่ เราอยากทำงานด้วย สิ่งที่ถูกเก็บมานานก็เปิดออก ทีนี้พอเราได้ทำงานตรงนี้ เราลองได้ค้นพบ นอกจากมันจะสนุก ตรงกับความชอบเราแล้ว เวลาเราค้นพบอะไรใหม่ๆ ได้นำเสนอเรื่องราวที่มันอัพเดทต่อจากเรื่องเก่าที่มีคนทำมา เราก็รู้สึกภูมิใจ

 นอกจากเรื่องราวใหม่ๆ เราต้องการให้คนได้อะไรจากงานสารคดีของเรา

คือแต่ละเรื่อง เราจะมีเป้าหมายที่ต่างกัน แต่เป้าหมายที่เป็นหลักในการนำเสนอของเราก็คือให้คนเห็นมุมมองที่แตกต่าง เนื่องจากในแต่ละเรื่องที่เรารู้มา บางครั้งมันอาจจะไม่ใช่ หรือบางครั้งมันอาจจะมีอะไรมากกว่านั้น ก็อย่างที่คำนักสื่อสารมวลชนที่ว่า "อย่านำเสนออะไรด้านเดียว ทุกอย่างมันมีสองด้านเสมอ" ฉะนั้น แทบทุกเรื่องที่ทำ เวลาที่เราจะเลือกเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาเนี่ย เราจะพยายามที่จะหาจุดที่แตกต่างจากที่คนเคยรู้แล้วมาต่อยอด มาแตกความคิดออกไปให้คนได้รู้มากขึ้น ให้ได้เห็นอะไรกว้างขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ เราทำหมด คืออย่างชอบเดินทาง เดินทางนี่ไม่ได้หมายความว่าต้องไปนอกประเทศต่างประเทศอย่างเดียว ในประเทศไปแค่โคราชก็อยากจะไปดูว่าทำไมมันถึงเป็นที่ราบสูงโคราช ทำไมภาษาเขาถึงต่างกับคนอีสานภาคอื่น แค่นี้เราก็อยากจะทำ อยากจะไปค้นหาแล้ว

แล้วอีกอย่างหนึ่ง คือ เราไม่เคยคิดว่าความรู้มันจะจบลงที่คำว่า "มีคนทำแล้ว" เนื่องจากเวลามันเปลี่ยนผ่านเสมอ อย่างเวลาผ่านไป 5 ปี เราเคยไปพม่ามา ไปพุกาม วันนี้มันก็เปลี่ยนไปแล้ว เราก็รู้สึกว่ามันเป็นงานความรู้ที่ไม่ควรจะหยุด แล้วคนแต่ละรุ่นก็จะได้รับความรู้ที่ไม่เหมือนกัน ข้อมูลวันนี้สะท้อนมาจากเมื่อวันก่อน มันก็จะสะท้อนอันนั้นมาให้คนรุ่นปัจจุบันได้เห็น แล้วสามารถเปรียบเทียบกับข้อมูล ณ วันนี้ได้ ว่ามันเปลี่ยนไปถึงไหน เปลี่ยนไปเพราะอะไร ข้อมูลมันไม่หยุดนิ่งจริงๆ ก็เคยคุยกับ พี่สุจิตต์ (สุจิตต์ วงษ์เทศ) ปรมาจารย์นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีที่คอยให้ความรู้คนรุ่นหลังมาตลอด ท่านบอกว่าไม่เคยหยุดอยู่แค่นั้น

"สิ่งที่ค้นพบ มันเปลี่ยนไปทุกวันทุกปี เพราะฉะนั้น อะไรที่แกพูดออกไปแล้วว่ามันเป็นแบบนี้แบบนั้น อย่าได้เชื่อว่ามันไม่เปลี่ยน เพราะพอผ่านไปอีก 1 เดือน ข้อมูลที่แกค้นพบ ณ วันนั้นมันก็อาจจะเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อมีคนมาค้นพบใหม่ ฉะนั้น อย่าหยุด"

ท่านก็สอนเราว่าอย่าหยุด มันจะมีประโยชน์ต่อคนรุ่นใหม่ๆ คนที่จะหาข้อมูลใหม่ๆ ที่มันเปลี่ยนไป ก็เลยทำให้พวกเรารู้สึกว่างานที่เราทำ มันหยุดไม่ได้ แล้วก็ส่งต่อให้รุ่นน้อง อันนี้เป็นอีกมุมมองหนึ่งในการทำงานของเราด้วย

• คือนอกจากมองว่าสารคดีไม่ใช่แค่การขุดคุ้ยเรื่องเก่าหรือเรื่องใหม่ๆ เท่านั้นที่ถึงจะสามารถทำได้ สารคดียังไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่เสมอไปอีกด้วย

สารคดี 3-5 นาที เราก็ทำได้ มันขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราจะนำเสนอ อยากจะเก็บมาเป็นความรู้ให้คนได้รู้ต่อ อย่างเรื่องภูมิปัญญาไทย ตอนนั้นคุณบรรณวิทย์ บุญญรัตน์ ผู้บริหารใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์เมื่อตอนนั้น 20 ปีที่แล้วก่อนท่านจะเสีย ท่านแนะนำและถึงขนาดตัดงบส่วนประชาสัมพันธ์มาให้ทุนทางด้านสารคดี เพราะว่าท่านชื่นชอบศิลปวัฒนธรรมมาก เราก็ทำมาเป็นสารคดีสั้นๆ 3 นาที เป็นตอนๆ โดยตั้งโจทย์ไว้ว่าภูมิปัญญามันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันแทรกอะไรเอาไว้ เช่น เรื่องของตะกร้าไก่ชน ที่เวลาเขาจะพาไก่ไปตี เขาต้องใส่ตะกร้าหิ้วมันไป แล้วตะกร้านั้นมันทำจากอะไร ทำไมถึงคิดออกมาได้อย่างนั้น ก็ไปดูว่าที่หมู่บ้านเขามีวิถีชีวิตอย่างไร ถึงได้มีอาชีพสานตะกร้าไก่ชนอย่างนี้ด้วย หรือแม้กระทั่งไปเห็นหมอผีชาวเขา ทำไมหมอผีถึงชอบเอาพิธีลุยไฟมาแก้ปัญหาเรื่องการเพาะปลูก ทำให้การเพาะปลูกข้าวได้ผลดีขึ้น มันมีวิธีคิดอะไรแทรกอยู่หรือไม่ คือเราเคยตั้งคำถามกันไหมว่า ทำไมหมอผีถึงต้องฆ่าเชือดไก่ตลอด

ก็เพราะเวลาที่ทำนายด้วยกระดูกไก่ ว่าปีนี้หมู่บ้านนี้จะเกิดโรคระบาด ปีนี้ชาวบ้านจะเดือดร้อน จะแห้งแล้ง จริงๆ แล้วพวกนี้ พอศึกษามันไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้รู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องงมงาย การทำนายจากกระดูกไก่ ก็เนื่องจากไก่มันเป็นพวกสัตว์ที่ชอบจิกกินไปตามพื้นดิน แล้วมันก็ยังชอบออกไปนอกหมู่บ้าน ทีนี้มันก็จะมีโอกาสได้รับเชื้อต่างๆ ก่อนใครเพื่อน การเชือดไก่ ดูกระดูก ดูเลือดก็ทำให้สามารถรู้ว่าจะมีโรคระบาดเข้ามาในหมู่บ้านหรือเปล่า เขาก็จะทำนายได้ ซึ่งมันเป็นการผสมผสานระหว่างความจริงกับความเชื่อหลักของสังคมมานุษยวิทยา เรื่องลักษณะนี้มันก็ทำเป็นสารคดีสั้นๆ ได้ สารคดีไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นเรื่องใหญ่เรื่องต่างประเทศไม่ใช่เลย เรื่องเล็กๆ ก็สำคัญ

• แล้วอย่างนี้ขั้นตอนในการเลือกเรื่อง ขั้นตอนในการหาข้อมูลเพื่อทำสารคดีสักหนึ่งเรื่อง เราต้องทำอย่างไรบ้าง การทำงานหลักๆ

เกิดจากการสังเกต เกิดจากการต่อยอดอย่างที่บอก อย่างสารคดีชุด "ตามรอยพระพุทธเจ้า" เกิดจากการที่เราได้ไปเห็นพม่าเมื่อ 20 ปีก่อน คนพม่านับถือและเคร่งศาสนาพุทธมากๆ จนไม่น่าเชื่อ เพราะแตกต่างจากบ้านเราสิ้นเชิง ก็เลยถามเพื่อนพม่าว่าเป็นเพราะอะไร เขาก็บอกว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการที่คนพม่ามีความหวังที่จะพึ่งได้จากรัฐบาล ได้จากสังคม ได้จากอะไรพวกนี้ มันไม่มี ฉะนั้น เขาก็เลยเอาใจไปทุ่มที่ศาสนาเป็นหลักยึดเหนี่ยว ศาสนาพุทธจึงเป็นหลักทุกสิ่งอย่างที่เขารู้สึกว่าจะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้ กลายเป็นว่าความแข็งแรงของศาสนาของเขาส่วนหนึ่งมาจากการเป็นที่พึ่งทางใจมาก่อน นั่นคือจากมุมมองของคนๆ พม่าคนหนึ่ง แล้วก็ได้ไปเจอหนังสือที่ชาวตะวันตกเขียน ทำให้เรารู้ว่าศาสนาพุทธกระจายอยู่ทั่วไป ศาสนาพุทธมีอะไรที่น่าสนใจ ศาสนาพุทธไม่ใช่แค่ตัวหนังสือธรรมะหรือพระไตรปิฎกอย่างเดียว ศาสนาพุทธคือความจริง

ทีนี้พอเราสนใจเรื่องนี้ เราก็ต้องจับความสนใจเราก่อนว่าเราจะเจาะตรงแค่ไหน เอาแค่ไหนที่เราสนใจ อย่างสารคดีชุดตามรอยพระพุทธเจ้า เราใช้เวลาทั้งสิ้น 6 ปีในการทำงานถึงจะออกมาได้ เพราะพอเราคิดจะทำ เมื่อพูดถึงเรื่องศาสนาพุทธ มันก็กว้างใหญ่ไพศาลมาก เราก็ต้องกำหนดเรื่องว่า ทำไมที่ประเทศอินเดียที่เป็นต้นกำเนิดของศาสนาพุทธ แต่ตอนนี้เป็นฮินดูทั้งประเทศแล้ว ทำไมตอนนี้แทบหายไปหมด แล้ว ณ วันนี้มีเหลือร่องรอยอะไรอยู่บ้างจากที่เคยยิ่งใหญ่ เราก็เริ่มตั้งแต่ก่อนที่อินเดียจะนับถือพุทธ เขามีการนับถืออะไรมาก่อน และการที่ศาสนาพุทธล่มสลายในอินเดียตอนนี้ยังมีความจริงอะไรหลงเหลืออยู่บ้าง ย้อนไปถึงเรื่องของการนับถือเทพเจ้าของธรรมชาติ ซึ่งคือบุคคลก่อนที่ศาสนาพุทธจะเกิด ก็ต้องค้นหาข้อมูลว่าทำไม คนอินเดียถึงนับถือเทพพระเจ้าที่ยังมีอยู่ ณ วันนี้ ไม่ว่าจะเป็นพระพรหม พระวิษณุ พระนารายณ์ เทพเจ้าแห่งต้นไม้ ลม ก็ย้อนกลับไปถึงต้นแม่น้ำคงคา นั่นคือการหาข้อมูล ซึ่งข้อมูลก็จะมีทั้งจากในหนังสือ ก็เริ่มหาตั้งแต่หนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องเทพเจ้าแห่งธรรมชาติ เรื่องของประวัติศาสตร์โบราณคดีที่ยังมีเหลืออยู่ เช่น พิธีบูชาไฟ ที่เขานับถือพระอาทิตย์ นับถือแม่น้ำ ยังมีอยู่หรือเปล่า ข้อมูลจากพื้นที่ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้รู้ต่างๆ นานา โดยทั้งหมด เรายึดหลักเส้นเรื่องของเราว่าเราต้องการแบบไหน ต้องการสื่ออะไร

แต่ต้องบอกก่อนว่าเราเป็นคนทำสารคดี ไม่ใช่ผู้เผยแพร่ศาสนา ดังนั้น เราต้องแยกให้ออก คือเราต้องจับว่า "สารคดี" คือความจริง คือเหตุการณ์ที่ยืนอยู่บนพื้นบานความจริง ขณะที่เรามองว่าถ้าเราเอาแต่เรื่องธรรมะมาพูดในฐานะนักธรรม นอกจากไม่ใช่เรา คนยังจะเบื่ออีกด้วย เพราะฉะนั้น การทำสารคดีที่เกี่ยวกับศาสนา มันก็คือการหาความจริงที่ซ่อนอยู่ในศาสนาพุทธ งานของเราก็เลยออกไปในเชิงของมานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ สังคม โบราณคดี ซึ่งทุกอย่างมันคือความจริง เราก็นำเสนอให้คนรู้สึกสามารถไปเห็น ไปจับต้องได้ ในระหว่างนั้นก็แทรกข้อคิดของศาสนาพุทธที่เป็นแก่นจริงๆ ทำให้คนยอมรับมันได้มากขึ้น

• ซึ่งผลตอบรับก็ดีเยี่ยมจนได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำครั้งที่ 3 ในชีวิต

เราถือว่าเป็นความสำเร็จจริงๆ คือเราไม่คิดว่าเราจะสามารถดึงคนที่เขาเชื่อในเรื่องบางเรื่องจนงมงายในด้านศาสนาให้มาดู เราก็ดีใจแล้ว ด้วยความที่เขาคิดว่าศาสนาคือเรื่องที่จะช่วยเขาได้พ้นจากความทุกข์ จากโน่นจากนี่ แต่พอดูจบแล้ว เขาอาจจะได้อะไรบ้างอย่างอื่นๆ ที่แทรกอยู่ในนั้น นั่นคือเราสำเร็จแล้ว ส่วนที่ประสบความสำเร็จอีกอย่างคือหลังจากสารคดีชุดนี้ ก็จะมีกลุ่มบางกลุ่มที่พอรู้ว่ามีคนทำสารคดี เขาก็ดีใจที่จะได้ดู มีคนรุ่นใหม่ที่รู้ว่าเราเริ่มแล้ว ก็ตามกันมาเยอะๆ อย่างที่บอก เมื่อก่อนคือพวกเราเป็นกลุ่มแรกที่ลงไปถ่ายใต้น้ำ เรายังเป็นกลุ่มแรกที่ทำสารคดีสัตว์ป่าที่ลงไปลุยตามชีวิตนกเงือก ลุยเข้าไปตามคนกะเหรี่ยงในป่า หลังจากนั้นก็เห็นคนรุ่นใหม่ๆ ที่เขาทำพวกแบบเรา ก็ถือว่าน่าจะประสบความสำเร็จในแง่ของดึงคนบางกลุ่มให้ตามมาต่อยอด

• ฟังดูแล้วรู้สึกถึงความเหนื่อยยาก นอกจากความชอบที่บอกให้เราทำ สิ่งนี้มันเหมือนเป็นอุดมการณ์ของเราด้วยหรือเปล่า

จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ คือถ้าจะว่ามันเป็นงานก็เป็นงาน เป็นความชอบก็เป็นความชอบ มันเหมือนเป็นธรรมชาติ เพราะพอยิ่งทำไปนานๆ เข้า เราได้เข้าไปคลุกคลีกับคนพวกนี้ กับเรื่องราวพวกนี้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้รู้สึกว่าเรื่องราวต่างๆ มันไม่ควรสูญเปล่า มันควรหยิบเอามาให้คนภายนอกได้เห็น ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ อย่างที่บอกไปเมื่อสักครู่ หรืออย่างเรื่องสารคดีที่ทำเกี่ยวกับเด็กอุ้มผาง ที่เขาต้องโดนขู่ฆ่าเพราะต่อสู้เพื่อป่าไม้ของเขาจากผู้ใหญ่ที่เข้าไปเพื่อเอาผลประโยชน์ เราก็ต้องนำเสนอเรื่องของเขา ไม่งั้นเขาคงถูกฆ่าโดยไม่มีใครรู้หรือใส่ใจให้ความสำคัญ พอเราทำเรื่องเขา เราก็คิดว่ามันต้องมีอีกกลุ่มเด็กที่ต่อสู้ ก็เจอเด็กจริงๆ (ยิ้ม) ที่ต่อสู้เพื่อให้ได้เรียนที่ยะลาก็เหมือนกัน หรือเรื่องอื่นๆ ก็เหมือนกัน พอได้รู้ได้เห็นอะไรมากขึ้น มันก็เปลี่ยนทัศนะของเราได้เหมือนกัน จากความชอบที่จะได้นำเรื่องราวต่างๆ ที่ไปเจอ ที่ไปขุด มาถ่ายทอดเป็นความรู้ก็มาถึงขั้นนี้

 สิ่งเหล่านี้ได้นำไปสู่การก่อเกิดสารคดีชุดบวร ที่กำลังทำล่าสุด หรือสารคดีชุดอื่นๆ อย่างสารคดีชุด "พระเจ้าของแผ่นดิน" และ "พระราชินี" ที่เฉลิมพระเกียรติพ่อหลวงแม่หลวง สารคดีชุด “ประโยชน์สุขของแผ่นดิน” ของสำนักงาน กปร.ที่นำเสนอเรื่องราวพระราชกรณีย์กิจเพื่อประชาชนที่ไม่มีวันจบสิ้น

คือในมุมของคนภายนอกอาจจะคิดอย่างนั้น แต่จริงๆ เราทำสารคดีทุกรูปแบบ เพราะพอหลังจากได้สารคดี "พระเจ้าแผ่นดิน" ในชุดพาโนราม่า สเปเชียล เราก็ทำสารคดีเรื่องของป่าเรื่องของธรรมชาติ ช้าง เสือ ทะเล เรื่องโลกร้อนใช้ชื่อชุด "Sea Series" คือทำหลากหลายมาก แต่ที่ทำให้คนคิดอย่างนั้น ส่วนตัวคิดว่าอาจจะเป็นเพราะพอได้มีโอกาสลองทำ เราสามารถเปลี่ยนสารคดีเฉลิมพระเกียรติที่มีมาหลังข่าว 2-3 นาที ให้น่าสนใจได้ แถมยังลึกขึ้น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกเลยที่มีคนทำเรื่องในหลวงอย่างเจาะลึก 9 ชั่วโมง ตั้งแต่ท่านประสูติ ผลงานแต่ละเรื่องท่านทำอะไร โดยเน้นที่เรื่องของคน ประชาชนพสกนิกรที่ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ท่านทำไว้ในพื้นที่ที่ท่านเคยเสด็จไป คนที่ทำงานกับรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทมีใครบ้าง คนดูก็สามารถได้ความรู้ ได้ฟังเรื่องราวจากคนต้นเรื่อง ทำให้เข้าใจเรื่องของพระองค์ท่านมากขึ้นและสนุกที่จะรับรู้ หลังจากนั้นก็มีสารคดีเรื่อยมาที่สำนักงานต่างๆ ให้เราช่วยทำ ให้น่าดูชวนติดตามทั้งสั้นและยาว

ส่วนความเป็นมาของสารคดีชุด "บวร" (บ คือ บ้าน ว คือ วัด ร คือโรงเรียน) เป็นความคิดของในหลวงที่ท่านเคยตรัสมานานแล้วถึงเรื่องสังคมของบ้านเรา ที่จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและเกื้อประโยชน์ ก็เพราะบ้าน เพราะวัด เพราะโรงเรียน เพราะ 3 สิ่งนี้ อย่างสภาพสังคมเมื่อก่อนที่ต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ชาวบ้านก็ต้องพึ่งพาพระ พึ่งพาวัด เพราะเป็นสถานที่ให้ความรู้อบรมตั้งแต่ไหนแต่ไร วัดเองก็ต้องพึ่งพาชาวบ้าน วัดก็อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีชาวบ้าน ชาวบ้านก็อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่ว่าความคิดนี้ได้ผลเฉพาะแค่ในต่างจังหวัดในสังคมชนบท ในขณะที่คนเมืองคนกรุงเทพฯ ค่อยๆ ห่างจากสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ บ้านก็แยก วัดก็แยก โรงเรียนก็แยก คือตัวใครตัวมันมากๆ ทั้งๆ ที่เราก็เห็นว่ามีหน่วยงานหลายๆ หน่วยงานที่พยายามเอาแนวคิดนี้มาทำมาสานต่อให้มันได้ผล

และอย่างก่อนหน้าที่เราจะมาทำสารคดีชุดนี้ เราก็ทำสารคดีชุด "ปราชญ์เดินดิน" เล่าเรื่องราวของคนที่ทำเรื่องดีๆ ให้กับสังคม ซึ่งในทุกๆ ครั้งที่เราไปพบคนที่เป็นปราชญ์ระดับชาวบ้านแต่ละท้องที่ เราก็พบว่าความสามารถของเขามีเรื่องแนวคิด "บวร" รวมอยู่ด้วยแทบจะทุกครั้ง เราก็เลยรู้สึกเกิดคำถามว่า หากเมืองใหญ่ๆ เอาแนวความคิดนี้มาใช้น่าจะได้ผล แล้วตอนนี้มีการนำเอาแนวคิดนี้มาใช้กันบ้างหรือเปล่า ปรากฏว่ามี (ยิ้ม) ในหลวงท่านทำเอาไว้ให้เราดูที่ชุมชนพระราม 9 นี่คือบวร แต่ไม่เคยมีใครเข้าไปดูอย่างจริงจัง ตอนนั้นใครๆ ก็เลยสงสัยว่าท่านสร้างวัดพระราม 9 ที่สวยงามจนใครต่อใครเอาไปเป็นแบบสร้างตามหรือโรงเรียนพระราม 9 คลีนิกศูนย์แพทย์พัฒนา สร้างบึงพระราม 9 ขึ้นมาทำไม นอกจากช่วยปัญหาน้ำเน่า น้ำเสีย น้ำท่วม เราก็เลยลองเข้าไปดูว่ารูปแบบเป็นอย่างไร ทฤษฎีจริงๆ เป็นอย่างไร

เพราะจากที่เคยอยู่เป็นสลัม เป็นชุมชนแออัด หลังจากแนวคิดนี้ของพระองค์ท่านเริ่มขึ้นทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้น วัดก็ทำหน้าที่ช่วยชาวบ้าน ชาวบ้านก็เริ่มเอาความรู้ เอาธรรมะ เอาสิ่งที่ได้จากวัดมาช่วยเด็กในชุมชนแออัด จากที่มียาเสพติดที่มีโน่นมีนี่ก็เปลี่ยนไป โรงเรียนที่ท่านสร้างให้ให้อยู่ใกล้ๆ ในชุมชน เขาก็ทำหน้าที่โรงเรียนที่ไม่ใช่แค่ให้เด็กในชุมชนได้มีโอกาสเรียน หรือแม้แต่โรงพยาบาลที่คนภายนอกอาจจะมองว่าไฮโซ คนมีเงินเท่านั้นถึงจะรักษาโรงพยาบาลนี้ได้ แต่ไม่ใช่โรงพยาบาลนี้ คุณหมอ พยาบาลเป็นฝ่ายเข้าไปหาชาวบ้านในชุมชน เข้าไปช่วย ไปรักษา ไปอบรมให้ความรู้ต่างๆ นานาด้านการแพทย์ สอนวิชาชีพนวดแผนโบราณแล้วให้ชาวบ้านแถวนั้นใช้พื้นที่บริเวณของโรงพยาบาลประกอบอาชีพ ใครที่มาโรงพยาบาลนี้ ก็สามารถมาใช้บริการนวดได้ ซึ่งเขาก็จะชอบกัน แล้วชาวบ้านก็จะมีรายได้ มันเลยเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง 3 สิ่งที่พระองค์ท่านพยายามจะสร้างในชุมชนแออัดนี้ขึ้นมาเป็นต้นแบบ เพราะแผนนี้กำลังจะถูกเอาไปใช้ในอีกหลายๆ ชุมชนแออัดทั่วกรุงเทพฯ และในเมืองใหญ่ๆ เราก็เลยรู้สึกว่าเป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่งที่ถ้าเราไม่เข้าไปก็ไม่มีทางเห็น ไม่มีทางรู้ นอกจากดึงมาให้คนได้รู้จัก เราก็เลยเลือกเรื่องนี้มาทำเป็นสารคดีเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่านอย่างที่คิดไว้ว่าปีนี้จะทำเรื่องหนึ่ง

• ตอนแรกก็คิดมามาจากมุมมองที่เรามองเห็นด้วยสายตานักทำสารคดี ที่ต้องการสะท้อนอะไรบางอย่างจากสังคม

ไม่ใช่ เป็นความคิดของในหลวงท่านซึ่งเราบังเอิญไปเห็นและมาต่อยอดดูว่ามีใครมาทำอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ พอพบว่ามี เราก็มานำเสนอ เพราะจริงๆ เราไม่ได้คิดอะไรลึกซึ้งขนาดนั้น เราทำสารคดีหลายๆ เรื่องในบ้านเรา เพราะเราคิดว่ามันน่าสนใจ แต่ตรงกันข้ามกับคนส่วนใหญ่ที่พอเห็นคำว่า "สารคดี" ก็เบือนหน้าหนี เราก็เลยอยากจะทำอยากเปลี่ยนความคิดคน

คือเราพวกเราจะรู้สึกว่า พอจะทำอะไรขึ้นมาที่เกี่ยวกับสารคดีจะถูกตอบรับว่า ทำไมไม่ทำอะไรที่คนเขาดูกัน อะไรที่คนส่วนใหญ่เขาชอบ ละคร เกมโชว์ ทำไมเราไม่ทำอย่างนั้น เรารู้สึกว่า หนึ่ง ก็มีคนทำแล้วไง สอง แทนที่ทำไมเราต้องทำตามที่คนดูเขาชอบ ทำไมเราไม่ทำอีกอย่างหนึ่งเพื่อจะเปลี่ยนคนดูให้รู้สึกว่าอีกอย่างหนึ่งมันก็มี คุณอาจจะชอบแบบนี้ก็ได้ เพียงแต่ยังไม่เคยเห็น แล้ววันหนึ่งคนไทยก็อาจจะเปลี่ยนมาชอบแบบนี้บ้างก็ได้ แต่ถ้าเกิดไม่มีคนทำเลย เขาจะรู้ไหมว่ามันยังมีแบบนี้อยู่ แล้วคุณก็อาจจะชอบมันนะ เราก็เลยลองทำในอีกมุมหนึ่ง

ซึ่งพฤติกรรมคนดูอาจจะเปลี่ยน แต่ต้องอาจจะใช้เวลาเป็น 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปี แต่วันหนึ่งเขาอาจจะเปลี่ยนมาอย่างนี้บ้างก็ได้ เหมือนกับที่เมืองนอกเขาชอบดูสารคดี ตอนนี้ก็เริ่มรู้สึกว่ามันก็เริ่มบ้างแล้ว แต่อาจจะไม่ได้เยอะ แต่ก็มีกลุ่มคนที่สนใจ กลุ่มคนที่อยากสนับสนุน คนที่รู้ว่าความรู้มันไม่ใช่ของน่ารังเกียจ ความรู้มันก็เป็นของที่น่าดูได้เหมือนกัน ถ้าเรารู้จักที่จะเอาเทคโนโลยี เอาศิลปะ เอาอะไรเข้ามาผสมกับมันในการเล่า ในการสอดแทรกให้คนหันมาดูบ้าง มันก็น่าจะทำได้ นี่คือมุมของพวกเรานะ จุดที่เรายืนกันมา

• สารคดีชุด "บวร" บ้าน วัด โรงเรียน คล้ายๆ จะบอกว่า นี่คือสามสถาบันที่แยกจากกันไม่ได้เลย

แยกกันก็แยกได้ แต่ถ้ารวมกันจะมีความแข็งแกร่งมากกว่า อย่างพอเราเข้าไปลงพื้นที่ชุมชน เราแทบไม่อยากจะเชื่อว่า นี่คือชุมชนแอดอัดหรือสลัม ความคิดจากที่เคยมองเข้ามาว่ามีแก๊ง มียาเสพติด อบายมุข มันเป็นอีกแบบไปเลย เพราะเนื่องจากการที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ลงหลักปักฐานอยู่กันไม่รู้มาตั้งกี่สิบปีแล้ว จากทุกภาคเลย น่าจะทำให้มีกรณีการทะเลาะแบะแว้งเรื่องการจับจองพื้นที่ การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แยกศาสนา แต่ที่นี่ไม่ใช่ เพราะหลังจากใช้แนวความคิดนี้ ชาวบ้านที่เคยทะเลาะ เขาก็มีการแต่งเพลงขึ้นมาเพลงหนึ่ง ที่บอกว่าเขามาจากแต่ละภาคแล้วเขามาอยู่รวมกันตรงนี้ แล้วเพลงนี้ก็เป็นตัวดึงหัวใจมาหลอมรวม จากที่เขาเคยแบ่งแยก ให้เกิดความสามัคคีอยู่ร่วมกันได้

แล้วอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้รู้ก็คือ เยาวชนมุสลิมกลุ่ม "ผลัดใบ" ที่ก่อตั้งขึ้นในชุมชนเพื่อช่วยเหลือกันในชุมชน ช่วยเหลือน้องๆ ที่เป็นเด็กกำพร้าในชุมชนในเรื่องต่างๆ อย่างทุนการศึกษา ช่วยคนแก่ที่เจ็บป่วย เพราะการที่จากต่างคนต่างอยู่แล้วพอได้มาร่วมกันได้มาเจอกันที่มัสยิดได้คุยกัน ก็ทำให้กลุ่มหนุ่มสาวเหล่านี้เกิดโครงการดีๆ ความคิดดีๆ ผู้ใหญ่ก็เล็งเห็น ก็เข้ามาช่วยร่วมมือกันคนละไม้ ช่วยจัดหาทุนงานเลี้ยงน้ำชาก่อนช่วงถือศีลอด มันก็เกิดความสัมพันธ์กัหรืออย่างเด็กๆ เมื่อก่อนที่ติดร้านเกม เพราะไม่รู้จะไปไหน ไม่อยากอยู่บ้าน ไม่อยากเข้าบ้าน เห็นพ่อแม่ทะเลาะกัน แต่พอโรงเรียนได้นิมนต์พระมาสอนมาอบรมเป็นประจำ เด็กๆ ก็หันไปติดหลวงพี่ เพราะหลวงพี่เหมือนพี่ชาย หลวงพี่อยู่วัดก็ตามไปเล่นกับหลวงพี่ หลวงพี่ก็สอนโน่นสอนนี้ สอดแทรกเรื่องความคิดดีๆ เด็กเขาก็เริ่มสนุก ทีนี้พอปิดเทอมชวนบวชเณรเขาก็บวช ไปบวชก็ได้ไปธุดงค์ คือพอทุกอย่างรวมกัน ก็ก่อให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ กลายเป็นแหล่งศูนย์รวมแชร์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น

• นี่คือสิ่งที่เราเห็นและได้รับหลังจากทำสารคดีชุด "บวร"

ใช่ๆ จริงอยู่ที่บ้านกับวัดมันเป็นเรื่องที่อยู่คู่ความคิดของคนไทยมานานแล้ว แต่สมัยนี้แม้กระทั่งตัวเราเอง ความผูกพันของเรา กับบ้านกับวัด ก็เริ่มห่าง อย่างที่ข่าวหนังสือพิมพ์ลงแทบจะรายวัน ถึงด้านไม่ดีๆ ที่เกิดขึ้น เราก็อยากจะเอาแนวคิดของพระองค์ท่านมาถ่ายทอด กับชุมชนเมืองที่กำลังห่างกันไป อย่างตอนเด็กๆ รุ่นเราจะรู้จักหลวงลุง หลวงตา เพราะทุกวันพระ จะต้องไปวัด ตามแม่เราไป แม่พาเราไป แต่นี้พอคุณแม่ไม่อยู่ มันก็หายไปทุกทีๆ

• จากที่เข้าไปสัมผัสมีปัญหาอะไรอีกไหมที่มองว่าควรได้รับการแก้ไขหรือช่วยเหลือ

ในความคิดของเรา สลัมนี่มันต้องแออัดใช่ไหม ไฟไหม้ทีรถเข้าไม่ถึง ใช่ไหม ที่นี้เขาก็พยายามที่จะจับมันแยกออกจากกัน จับเป็นหลังๆ สร้างถนนเข้าไป แต่คือทำโดยได้รับการยินยอมจากชาวบ้าน ทุกคนต้องยอมรับ ต้องเห็นด้วย ที่จะยอมแบ่งพื้นที่บ้านของตัวเองให้กลายเป็นถนน ให้กลายเป็นสวนสาธารณะ และก็ไม่ได้ทำแบบส่งๆ เราก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่าสถาปนิกที่เขาออกแบบที่นี่ เขาดูแม้กระทั่งก้อนอึของสนุก ดูแม้กระทั่งบ้านเรือนประชาชนว่าชีวิตความเป็นอยู่อยู่กันอย่างไร บ้านหลังหนึ่งอยู่กี่คน เขาก็จะแนะนำว่าพื้นที่ต้องแบ่งอย่างไร ห้องหนึ่งควรอยู่กี่คน จำลองผ้ามาขึงเป็นสี่เหลี่ยมแล้วให้ชาวบ้านทดลองเข้าไปว่าอึดอัดไหม ห้องครัวควรมีขนาดเท่าไหร่ เสนอจะปลูกสร้างรูปแบบที่ดีขึ้นให้เพื่อให้กลายเป็นชุมชนที่น่าอยู่ให้ได้

เราก็รู้สึกว่ามีความพยายามของคนที่จะพัฒนาเรื่องนี้เยอะมาก แต่คนข้างนอกไม่รู้ว่าเขาช่วยกันอยู่ เขาพยายามที่จะแก้ปัญหากันอยู่ ถ้าเรานำเสนอแล้วเขาได้รับได้รู้อะไรเพิ่มมุมมองอาจจะดีขึ้น มันก็น่าจะทำให้ชุมชนอื่นๆ เอาไปเป็นแบบอย่างได้ ถ้าเขาเห็นว่ามันได้ผล อย่างน้อยๆ เรื่องของการจัดระเบียบบ้านมันน่าจะดี เพราะว่าปกติคนเรามันไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว อยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น อยู่ดีๆ จะให้ย้ายไปอยู่ที่อื่นก่อนแล้วรื้อบ้านใหม่ปลูกให้ ก็ไม่มีใครอยากใช่ไหม เพราะรู้สึกว่ามันลำบาก คือมันเป็นพื้นฐานของมนุษย์อยู่แล้วที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเผื่อได้เห็นของคนอื่นเป็นตัวอย่าง เขาอาจจะเปลี่ยนได้ แม้กระทั่งตัววัดเอง โรงเรียนเอง ก็ควรอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงด้วยเพื่อทำประโยชน์ให้ชาวบ้านได้ คือมันไม่ใช่เรื่องไกลตัวของใครคนใดคนหนึ่ง

• เราจะทำอย่างไรไม่ให้เขามองว่าเป็นเรื่องไกลตัว

เรื่องไกลตัวคงต้องใช่เวลา จริงๆ เราก็ไม่รู้หรอกนะว่าทำไมกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เขารู้สึกว่ามันไกลตัวเขา จนกระทั่งทำเรื่องสารคดีชุด "ขุดที่ราก ถอดที่โคน” อันนี้ตรงคอนเซ็ปต์นี้เลยว่า ชาวบ้านมักจะคิดถึงเรื่องของหน้าบ้านตัวเอง เช่น เรื่องเกษตร เรื่องกั้นฝาย เพื่อที่จะมีน้ำหน้าบ้านตัวเองไว้รดเข้านา แต่ไม่สนใจเลยว่า ฝายที่เรากันน้ำเป็นของตัวเองนี้ ทำให้ชาวบ้านคนอื่นเขาจะเดือดร้อน หรือว่าก่อนหน้านี้ป่ามันจะแห้งแล้ง หรือมันจะไม่มีน้ำอย่างไร ก็ไม่สนใจ เราจะทำนาปรัง งานชิ้นนี้เราทำขึ้นมาเพื่อที่จะทำให้เขาเห็นว่า "ปัญหา" ที่เขาคิดว่ามันไม่ใช่ปัญหาของเขา จริงๆ เป็นของเขา

อันนี้นี้คือเรื่องใหญ่เลย เพราะด้วยรูปแบบชีวิต เขาเหมือนกับว่าในแต่ละวันต้องทำเพื่อหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง อยู่ดีๆ จะมารู้เรื่องคนอื่น ไม่มีประโยชน์ รู้ไปทำไม มันก็เลยทำให้เราต้องคิดถึงงานบางตัวที่จะเสนอเรื่องอะไรที่ทำให้มันใกล้ตัว ซึ่งมันสามารถโยงกับเขาได้ คำที่บอกว่าไกลตัว จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลยนะ มันคือเรื่องของคุณเลย เราก็พยายามดึงเอาเรื่องแบบนี้ โดยจากการที่เราลงพื้นที่ เรื่องราวของคนพวกนี้ที่ได้พบเจอ ประทับใจ อย่างที่บอกมาเป็นตัวแกนเรื่อง ในขณะเดียวกันก็มีพวกดาราพวกเซเลปที่ซึ่งเป็นคนทำงานจริงๆ ในเรื่องพวกนี้ อาทิ คุณโจอี้ บอย (อภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต) เขาก็เป็นคนหนึ่งที่เข้าไปเลี้ยงเด็กในชุมชนพระราม 9 ไปเลี้ยงวันเกิด ไปช่วยเด็ก พอเข้าไป เขาก็ไปเจอเรื่องราวของเด็กบางคนที่ไม่ธรรมดา เราก็หยิบเอาความผูกพันระหว่างคนสองคนนี้มาเล่า

หรืออย่างเรื่องที่ชาวบ้านแต่งเพลง เราก็ติดต่อคุณสิงโตนำโชค (นำโชค ทะนัดรัมย์) มาเป็นตัวแทนถ่ายทอดเรื่องราวคนอีสานคนผลัดถิ่นแล้วแต่งเพลงเล่นกีตาร์ในชุมชนนั้น แม้กระทั่งในนี้ใครจะรู้ว่าเป็นแหล่งกีตาร์ทำมือแฮนด์เมดที่ดีมาก กระทั่งคุณ ตูน บอดี้สแลม (อาทิวราห์ คงมาลัย) ก็ไปสั่งทำที่นี้ เราก็เอามาผูกเรื่องให้น่าสนใจเช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ที่เราเคยทำมาแล้วได้ผลตอบรับดี

• ถึงตรงนี้คิดว่ากระแสสารคดีในบ้านเราตอนนี้เป็นไปในทิศทางไหน

ค่อนข้างจะดีขึ้น ถึงแม้ว่ากลุ่มแมสคนส่วนใหญ่จะยังไม่ค่อยรู้ แต่ก็มีคนอีกกลุ่มเขารู้ กลุ่มคนที่พร้อมจะสนับสนุน บางคนอยากจะลงมาทำด้วยซ้ำ ก็ดีใจที่มันดีขึ้น ดีกว่าเมื่อก่อนที่เรารู้สึกเสียใจที่อุตส่าห์ทำมาเป็นปี แต่พอลงฉายไป 2 เดือนจบแล้วก็แล้วกันไป ใครที่ดูไม่ทันก็หาดูไม่ได้อีก แต่อย่างตอนนี้ก็มีเคเบิ้ล มีทีวีดิจิตอลเข้ามาซื้อไปฉายอีกครั้งบ้างแล้ว ก็เป็นโอกาสของสารคดีที่จะได้เผยแพร่มากขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าถ้าเขาอยู่ได้นะ เพราะด้วยความที่ยังใหม่ เขาก็ระวังตัว ก็ยังไม่รู้ว่าจะสามารถอยู่รอดหรือไม่อยู่รอดในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เราก็เข้าใจว่าเขาก็ต้องจะเลือกเฉพาะอันที่ชัวร์ๆ ว่าจะได้เงินแน่ๆ ก่อน เพราะว่าทุกคนก็จะพูดถึงกันในทาง ในจำนวน 16-17 ช่อง จะเหลือสัก 1-2-3 ไหม จะล้มหายตายจากไปแค่ไหน แต่บางช่องเขาตั้งมาด้วยอุดมการณ์มากๆ ไม่ใช่ช่องละครแน่ ไม่ใช่ช่องซีรีย์แน่ เขาต้องการรายการความรู้ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะมีบันเทิงอย่างเดียว เขาก็มาซื้อคอนเทนท์เราไปฉาย

อีกอย่างที่เห็นภาพง่ายๆ เลยก็คือในเรื่องของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาททำให้งานสารคดีง่ายขึ้น ไม่ต้องแบกอุปกรณ์กล้องเบต้าแคมพ่วงสายพะรุงพะรังทำงาน ด้วยความที่กล้องเล็กลง ตัดต่อก็ง่ายขึ้น คนก็เริ่มมาทำกันมากขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนนี้เรื่องหนึ่ง ทำยากมาก แล้วก็ต้องใช้เงินเยอะมาก แต่เดี๋ยวนี้เหมือนลดลงครึ่งต่อครึ่งเลย แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราเองจะรอให้ทุกอย่างเอื้ออำนวย ถึงมองอย่างนั้น เพราะเราเองก็ปรับเปลี่ยนตัวเองเหมือนกัน ไม่ใช่ว่านำเสนอสาระจนคนดูอ้วก ไม่ไหวแล้ว ก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ

คือถามว่า ทำไมเราถึงดูสารคดีดิสคัฟเวอรี่เมืองนอกได้ ทำไมเราถึงดูช่องของพวกฝรั่งทำได้ เพราะว่ามันมีอะไรบางอย่างสนุกใช่ไหม มันก็เหมือนกัน ในขณะนั้นเอง ณ วันนี้ก็เหมือนกัน คือต้องเปลี่ยนความคิดคนว่าสารคดีมันไม่ใช่ความรู้สาระอย่างเดียว มันคือเรื่องที่จะเอามาเล่นในรูปแบบต่างๆ สนุกได้ ครื้นเครงได้ ดราม่าได้บนพื้นฐานความเป็นจริงเพื่อให้เกิดความน่าติดตาม

• กลับมาที่สารคดีชุด "บวร" คาดว่าเมื่อไหร่จะออกสู่สายตา และเราสามารถรอรับชมได้ทางช่องทางไหนบ้าง

ก็น่าจะฉายประมาณเดือนมิถุนายนปีนี้ไปจนถึงปลายๆ เดือนพฤศจิกายน เดือนธันวาคม ทั้งหมด ก็ 24 ตอน ตกตอนละ 10 นาที ทางช่อง 5 ช่วงรายการ 5 เช้าข่าวใหญ่แล้วก็ช่อง เนชั่นทีวี ช่วงรายการข่าวข้นคนข่าว และก็คิดไว้ว่าจะเอาไปทำแผ่นแจกจ่ายในชุมชุนต่างๆ เพราะเราตั้งใจอยากทำถวายในหลวงท่านด้วย เราไม่อยากให้ความคิดนี้หายไป เนื่องจากเราใช้สโลแกนของเราว่า "เอกซ์พีเรียนส์ อินสไปเรชั่น" (Experience Inspiration) ประสบการณ์สร้างแรงบันดาลใจ ฉะนั้น เรารู้สึกว่าประสบการณ์ของเราที่เราทำ มันจะมีประโยชน์ในการสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้ อันนี้คือเป้าหมายอันหนึ่งที่เราวางเอาไว้

และการที่คนไม่มีประสบการณ์ ไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็น มันก็จะไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะมันไม่มีแรงกระตุ้นเขา ฉะนั้น จากประสบการณ์ของเราที่เราผ่านมาหรือที่เราหาใหม่ มันน่าจะสามารถมีประโยชน์ในการสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นไปต่อยอดได้อีก อันนี้คือเป้าหมายที่ทำให้เรายังต้องทำมันอยู่อย่างนี้ คือถ้าทุกคนเอาประสบการณ์ของตัวเองมาแชร์ต่อ มันก็จะส่งผลต่อให้กับคนอื่นๆ ต่อไปได้เรื่อยๆ อย่างนี้

Profile

ลักษณา จีระจันทร์ เริ่มต้นทำงานบนเส้นทางนักสื่อสารมวลชนในฐานะผู้สื่อข่าวต่างประเทศและผู้ควบคุมการผลิตรายการ “CNN HOTLINES” ผู้แทนการประชุม CNN WORLD REPORT ปี 2534 ต่อมาเป็นบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ บริษัท อี.เอ็ม.นิวส์ จำกัด โดยผลงานเกินกว่า 20 ปี หลังจากนั้นก็ผันตัวมาทำสารคดีตามความฝันที่ชอบตั้งแต่เด็กๆ กับดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ผลงานที่ได้รับรางวัล “โลกสลับสี” ชุด รอยอดีตอันดามัน,ชุด 48 วันในธิเบต,ชุด พุกามประเทศ ในปี พ.ศ.2538 - 2539 ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำจากสารคดีศิลปวัฒนธรรมชุด “ภูมิปัญญาไทย” และสารคดียอดเยี่ยมชุด "โลกสีน้ำเงิน" และในปี พ.ศ.2549 ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำอีกครั้งในสารคดีชุด "ตามรอยพระพุทธเจ้า"

ก่อนจะมีผลงานอีกมากมายที่สร้างปรากฏการณ์ต่อสังคมอย่างสารคดีชุด “พระเจ้าแผ่นดิน” และ “พระราชินี” สารคดีชุด “ประโยชน์สุขของแผ่นดิน” สำนักงาน กปร.สายคดีชุด “ทางสายพระราชไมตรี” สารคดีชุด “พลิกตำนานสยาม” เป็นต้นอีกมากมาย





เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : ปวริศร์ แพงราช

กำลังโหลดความคิดเห็น