ASTVผู้จัดการ – การทางพิเศษฯ ออกประกาศชี้แจงข่าวลือโลกโซเชียลกรณีบัตรอีซี่ พาส แบตเตอรี่หมดอายุ ยันเปลี่ยนเครื่องไม่มีค่าใช้จ่ายไม่ว่ารุ่นไหน ระบุบัตรมีอายุใช้งานเฉลี่ย 7 ปี หรือ 14,000 เที่ยว โดยรุ่นแรกจำหน่ายไปเมื่อเดือนตุลาคม 2552
จากกรณีมีผู้ส่งต่อข่าวลือในโลกสื่อสังคมออนไลน์ กรณีบัตรทางอัตโนมัติ (อีซี่พาส) พร้อมบัตรสมาร์ทการ์ดว่า บัตรอีซี่พาสรุ่นที่จำหน่ายไปแรกๆ แบตเตอรี่ใกล้จะหมดอายุลงแล้ว ทั้งมีการส่งต่อข้อมูลที่คลาดเคลื่อนว่า มีเครื่องรุ่นเก่าสีม่วงที่ไม่สามารถนำไปเปลี่ยนได้ ต้องทำเรื่องคืน และต้องซื้อใหม่อย่างเดียว โดยกรณีดังกล่าว วานนี้ (19 ก.พ.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดย ได้ออกประกาศชี้แจง กทพ. ชี้แจงกรณีข่าวในสังคมออนไลน์ กรณีบัตร Easy Pass แบตเตอรี่ใกล้หมดอายุการใช้งาน ดังนี้
ข่าวลือในโลกสื่อสังคมออนไลน์
อีซี่พาส ใครที่ซื้อรุ่นแรกๆ แบตเตอรี่ จะทยอยเริ่มหมด หากมีเงินค้างอยู่ ก็ต้องไปทำเรื่องขอคืน แล้วเค้าก็จะโอนเงินเข้าบัญชีภายหลัง คืนตัวเก่า ได้ตัวใหม่มา..
แต่!! หากใครซื้อกับการทางพิเศษ คือ ตัวสีฟ้าบน ก็สามารถเปลี่ยนตัวใหม่ ทำเรื่องคืนเงินค้าง ได้ตามศูนย์เติมเงินทางด่วนต่างๆ ได้เลย
ส่วนหากใครเผอิญ ตอนซื้อไปเจอของ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ เหมือนสีม่วงตัวล่าง ก็ต้องนำไปเปลี่ยนหรือขอเงินคืนที่สำนักงานใหญ่ ตรงพระราม 9 ตามสถานีบอกไม่เกี่ยวกัน ไม่รับผิดชอบใดๆ ซื้อใหม่สถานเดียว และหากใครบอกไม่สนใจทิ้งตัวเก่าไปเลย อีก 3 เดือนก็จะมีจดหมายทวงถามเครื่องเก่า หากไม่คืนจะมีปรับ 1,500 บาท ...
คำชี้แจงจาก การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรณีข่าวในสังคมออนไลน์ “บัตรอัตโนมัติ (Easy Pass) แบตเตอรี่ใกล้หมดอายุการใช้งาน”
1. แบตเตอรี่ในบัตร Easy Pass มีอายุการใช้งานประมาณ 7 ปี หรือ 14,000 เที่ยว ขึ้นอยู่กับการใช้งาน
2. อุปกรณ์รุ่นแรกของ กทพ. เริ่มจำหน่ายเมื่อเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2552 (ค.ศ. 2009)
3. การตรวจดูอายุบัตร Easy Pass ดูได้จากใบสมัครหรือสอบถามเจ้าหน้าที่ หรือผู้ใช้บริการสามารถดูวันผลิตอุปกรณ์ได้จากแถบตัวเลข จำนวน 23 หลัก ด้านข้างอุปกรณ์ OBU ซึ่งจะขึ้นต้นด้วย 3085 86....... โดยดูเฉพาะตัวเลข 4 ตัวสุดท้าย เช่น 3085 86XX XXXXXXXXXXX0938
ตัวเลข 4 ตัวสุดท้าย 09 หมายถึง ปีที่ผลิต คือ ปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552)
38 หมายถึง สัปดาห์ที่ผลิตอุปกรณ์ในปี 2552
ในกรณีนี้ 09/38 หมายความว่า อุปกรณ์นี้ผลิตใน ปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) สัปดาห์ที่ 38
4. กทพ. มีแผนงานรองรับในกรณีที่แบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่แบตเตอรี่ใกล้หมดอายุการใช้งาน ซึ่ง กทพ. จะทำการคัดกรองผู้ใช้บริการที่อยู่ในข่ายแบตเตอรี่มีแนวโน้มจะหมดอายุการใช้งานจากฐานข้อมูล คือ เริ่มตั้งแต่อุปกรณ์รุ่นปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) โดยจะมีหนังสือแจ้งผู้ใช้บริการเป็นรายบัตรให้นำอุปกรณ์เดิมมาเปลี่ยนใหม่ ซึ่งจดหมายจะระบุสถานที่ให้บริการเปลี่ยนชัดเจน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ เงินสำรองที่คงเหลืออยู่ในบัญชีจะถูกถ่ายโอนไปยังบัตรใหม่ทันที ปัจจุบัน กทพ. ยังมิได้ออกหนังสือแจ้งผู้ใช้บริการแต่อย่างใด
5. มีผู้ใช้บริการสับสนเกี่ยวกับการเปลี่ยนและการคืนบัตร (ยกเลิกการใช้งาน) โดยการคืนบัตร ผู้ใช้บริการต้องยื่นใบคำร้องพร้อมอุปกรณ์ (บัตร Easy Pass และบัตร Smart Card) โดย กทพ. จะโอนยอดเงินคงเหลือคืนเข้าบัญชีธนาคารของเจ้าของบัตร ในกรณีไม่มีบัตร จะต้องชำระค่าอุปกรณ์สูญหาย คือ บัตร Easy Pass จำนวน 1,000 บาท และบัตร Smart Card จำนวน 100 บาท ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบสมัคร
อนึ่ง เมื่อช่วงปลายปี 2557 ที่ผ่านมา นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เคยเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ปัจจุบันการทางพิเศษฯ จำหน่ายบัตรผ่านทางอัตโนมัติ (อีซี่พาส) พร้อมบัตรสมาร์ทการ์ดไปแล้วราว 940,000 ใบ และทุกปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2558 เชื่อว่าจะมีผู้ถือบัตรอีซี่พาสมากกว่า 1,000,000 ใบ รวมทั้งแต่ละวันจะมีผู้ใช้บัตรอีซี่พาสมากถึงร้อยละ 10 ของผู้ใช้ทางพิเศษทั้งหมด สำหรับศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ติ-ชมของ กทพ. นั้นผู้ใช้บริการที่มีข้อสงสัยสามารถโทรไปได้ที่เบอร์ 1543 ตลอด 24 ชั่วโมง