xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.ชงแผนปี 58 ลงทุนกว่าแสนล้าน ผุดทางด่วน 3 สายเล็งร่วมทุน PPP

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กทพ.เตรียมเสนอลงทุนทางด่วน 3 สายในปี 58 ฟื้นด่วนขั้นที่ 3 ตอน N1, N2, N3 ลุยลงทุนด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ และสายกระทู้-ป่าตอง รวมวงเงินกว่า 1 แสนล้าน “อัยยณัฐ” ชี้ลงทุนแบบ PPP เหมาะสมที่สุด เหตุลดการลงทุนภาครัฐ ส่วนตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ชัดเจนหลายเรื่อง เตรียมเสนอ “ประจิน” หาทางออก ปัญหาหนี้ 7 หมื่นล้าน และภารกิจทับซ้อนกรมทางหลวง หวั่นนักลงทุนไม่สนใจกองทุนฯ



นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในงานวันคล้ายวันก่อตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ครบรอบปีที่ 42 วานนี้ (27 พ.ย.) ว่า ในปี 2558 กทพ.จะนำเสนอเพื่อขอดำเนินการก่อสร้างทางพิเศษ 3 สายประกอบด้วย โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1, N2, N3 ระยะทาง 40.9 กม. วงเงินลงทุนรวม 101,367 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเวนคืน 41,428 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง 59,939 ล้านบาท, โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 16.923 กม. วงเงินลงทุน 2.7 หมื่นล้านบาท และโครงการทางพิเศษสายกระทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 3.9 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 8.37 พันล้านบาท โดยทางด่วน N1, N2, N3 ถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญในการเชื่อม East-West Corridor ของกรุงเทพฯ และรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้ดำเนินการต่อ ส่วนปัญหาการต่อต้านจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น เป็นหน้าที่ของ กทพ.ที่จะต้องไปทำความเข้าใจ

ส่วนปัญหาความซ้ำซ้อนในการดำเนินโครงการทางด่วนของ กทพ.และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ของกรมทางหลวง (ทล.) นั้น ได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่าไม่มีปัญหา โดยยึดกฎหมายของ กทพ.ปี 2550 สามารถดำเนินการก่อสร้างทางด่วนได้ทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาจราจรและสนับสนุนลอจิสติกส์ และไม่ให้ทับซ้อนกับโครงข่ายมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวง ซึ่งจากที่ประชุมร่วมกันพบว่าแผนแม่บทระบบทางด่วน 10 สายของ กทพ. และแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ 13 สายของ ทล.ไม่มีปัญหา

ด้านนายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA ) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ, สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก และสายกระทู้-ป่าตอง คาดว่าจะเสนอ ครม.ขออนุมัติดำเนินโครงการและเปิดประกวดราคาให้ได้ภายในปี 2558 โดยคาดว่าในไตรมาส 1/58 จะเสนอ ครม.เห็นชอบสายพระราม 3-ดาวคะนองได้ก่อน ส่วนทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ จะประมูลก่อสร้างช่วง N2, N3 ก่อน เนื่องจากช่วง N1 จะต้องทำความเข้าใจกับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการให้เรียบร้อยก่อน

ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้นมีการศึกษาไว้ 3 แนวทาง คือ 1. ความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) 2. กทพ.ลงทุนเอง และ 3. การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละโครงการจะเหมาะสมกับรูปแบบใด โดย กทพ.เคยลงทุนรูปแบบ PPP และแบบลงทุนเองแล้ว ส่วนการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานนั้น เป็นนโยบายซึ่งจะต้องพิจารณาโครงการที่มีรายได้เพื่อให้สามารถนำรายได้มาคืนให้นักลงทุนได้ ซึ่งมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาประกอบ ทั้งกรณีที่ กทพ.มีภาระหนี้สินสะสมประมาณ 70,000 ล้านบาท และภารกิจของหน่วยงานที่ยังไม่ชัดเจนเนื่องจากยังมีกรมทางหลวงที่มีหน้าที่ในการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ที่เป็นระบบทางพิเศษเก็บค่าผ่านทางเช่นเดียวกัน

“คงต้องเสนอปัญหาให้ รมว.คมนาคมรับทราบ ซึ่งคาดว่าจะประชุมเกี่ยวกับเรื่องการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเร็วๆ นี้ เพราะตั้งกองทุนฯ จะต้องมองที่นักลงทุนเป็นสำคัญ ถ้าภารกิจของ กทพ.ไม่ชัดเจนอาจทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจได้ ตอนนี้ กทพ.ไม่ได้ทำทางด่วนคนเดียว มีกรมทางหลวงด้วย รวมถึงภาระหนี้กว่า 7 หมื่นล้านบาทด้วย ซึ่งรัฐบาลต้องเข้ามาอุดหนุนในแต่ละโครงการเพื่อให้มีผลตอบแทนทางการเงินที่ดี ซึ่งรูปแบบ PPP จึงยังเป็นแนวทางที่มีความเหมาะสมและดีที่สุดในการลงทุนก่อสร้างทางด่วน เนื่องจากเอกชนเป็นผู้ลงทุนและจัดเก็บรายได้ให้ รัฐบาลไม่ต้องลงทุน” นายอัยยณัฐกล่าว

ส่วนการก่อสร้างโครงการทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 16.7 กม. ขณะนี้ก้าวหน้า 33% ซึ่งได้ให้บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL ผู้รับสัมปทานเร่งรัดการก่อสร้าง โดยจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้กลางปี 2559 จากแผนเดิมจะเปิดในเดือนธันวาคม 2559 นอกจากนี้ กทพ.จัดทำโครงการทางจักรยานใต้ทางพิเศษ ตามนโยบายรัฐบาล โดยโครงการแรกเส้นทางจากถนนแจ้งวัฒนะ-ถนนงามวงศ์วาน จะแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2559 ประชาชนจะใช้เป็นเส้นทางสัญจร ทางลัด และออกกำลังกาย นอกจากนี้จะดำเนินการปรับปรุงขยายช่องเก็บค่าผ่านทางที่ด่านบางขุนเทียน และเพิ่มด่านเก็บค่าผ่านทางชั้นที่ 2 ที่ด่านบางแก้ว เนื่องจากมีปริมาณตจราจรหนาแน่น และพื้นที่ด้านข้างไม่สามารถก่อสร่างได้แล้ว เพื่อให้รถออกจากระบบได้สะดวกมากขึ้น

ส่วนระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ (Easy Pass) ปัจจุบันมีผู้ใช้เกือบ 9 แสนใบ คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1 ล้านใบภายในสิ้นปี 2559 โดยมีรถสี่ล้อใช้บริการถึงประมาณ 35% ของจำนวนรถทั้งหมดที่ใช้ทางด่วน 1.8 ล้านเที่ยวต่อวัน ซึ่งถือว่ามีการเติบโตขึ้น ซึ่ง กทพ.ได้มีการปรับปรุงพัฒนาจุดให้บริการ จุดทดสอบ จุดเติมเงิน และบริการหลังการจำหน่ายเพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น