xs
xsm
sm
md
lg

สวย-แกร่ง-กล้า! “ปูเน่-อนัญญาลันน์ วัฒนะนุพงศ์” นางงาม ครูสาว และนักแข่งบิ๊กไบค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เก่งแล้วต้องอย่าทะนงตัว อยากให้ถ่อมตน
ไม่ใช่ว่าพอเราเก่งแล้ว
เราใช้ความสามารถนั้นมากดคนอื่นให้ต่ำลง
แล้วยกตัวเองสูงขึ้น”
________________________________________________________________________

คนรุ่นก่อนรู้จักเธอในฐานะ “รองนางงาม” แห่งแดนสยาม และดาราดาวรุ่งพุ่งแรงผู้มากด้วยฝีไม้ลายมือ
คนรุ่นต่อมารู้จักเธอในฐานะ “อาจารย์” ผู้มากด้วยความสามารถและประสบการณ์ทางแฟชั่นดีไซน์จากต่างประเทศ
ขณะที่คนในวงการ “สองล้อ” ต่างได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของเธอในฐานะ “สิงห์สาวนักบิด” หรือ “นางฟ้าแห่งวงการมอเตอร์ไซค์” แล้วแต่ใครจะเรียกขาน...

แนะนำกันอย่างนี้อย่าเพิ่งสับสนอลหม่านว่าเธอคือใคร? หรือตั้งคำถามเธอทำอะไรถึงได้เป็นหลากหลายอย่างเช่นนี้ เพราะหลังตะวันบ่ายคล้อยในวันที่ไม่มีการแข่งขัน ไม่ตรงตารางสอน เรานำพาตัวเองเข้าสู่โลกของหญิงสาว เจียดเอาคำตอบที่สงสัยใคร่รู้มาเปิดเผย

ค้นหาสิ่งที่ใช่
ทำทุกอย่างที่อยากทำ

"เพราะเราเป็นคนที่อยากทำอะไรหลายๆ อย่าง คือเราเชื่อว่าชีวิตมันควรจะสนุก ไม่ควรซีเรียส และที่สำคัญ ถ้าอยากจะทำแล้วต้องทำให้ได้ จะไม่หยุดทำอย่างหนึ่ง เพื่อไปทำอีกอย่างหนึ่ง" นั่นคือคำจำกัดความสั้นๆ ที่เธอเริ่มต้นสนทนาถึงเหตุและผลที่ทำให้ถนนชีวิต ณ ตอนนี้ เธอเป็นทั้งอาจารย์อยู่หน้ากระดานไวต์บอร์ด ยืนคุมนักเรียน ให้ความรู้ ในขณะที่ชีวิตอีกด้านอยู่บนอานมอเตอร์ไซค์ “บิ๊กไบค์” ควบคุมความเร็วระดับ 1000cc

...หลังจากจับพลัดจับผลูเข้าประกวดนางสาวไทยในปี พ.ศ. 2544 (รุ่นเดียวกับนุ้ย สุจิรา) จนได้รองมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สมาครองแบบไม่คาดฝัน

"คือคนอื่นอาจจะคิดว่ามันอาจจะขัดๆ กัน แต่ส่วนตัว ปูคิดว่ามันก็เข้ากันดีนะ เพราะทั้งการเป็นอาจารย์หรือเป็นนางสาวไทย คนอื่นๆ เขาจะติดภาพเราที่เป็นผู้หญิง คิดว่าหน้าตาดี สวย แบบนี้จะต้องนิ่งๆ เรียบร้อย ทำแต่สิ่งที่สวยๆ งามๆ

"คือเรื่องสวยๆ งามๆ อย่างนั้นเราก็ทำได้...แต่เราแค่ไม่ชอบ นิสัยส่วนตัวเราไม่ใช่อย่างนั้น" หญิงสาวว่าพลางหัวเราะต่อมุมมองที่ใครๆ หลายคนพากันยัดเยียดให้เมื่อถูกความสวยงามระดับประเทศบังตา ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว ตัวตนของเธอเรียกได้ว่าระดับ 'ม้าดีดกะโหลก' ก็ไม่ปาน

"คือด้วยความที่เรานิสัยอย่างนี้ กระโดกกระเดก คุณพ่อก็เลยจับเราเข้าประกวดนางสาวไทย ตอนนั้นเราก็ยังไม่เปลี่ยนเท่าไหร่หรอก พี่บุ๋ม (ปนัดดา วงศ์ผู้ดี) ตอนนั้นเขาเป็นรุ่นพี่ เขายังเรียกเราไปสอนเลยว่า เราเดินอย่างกับผู้ชาย (หัวเราะ)

"เพราะด้วยจริงๆ แล้ว ตัวเราเองไม่ชอบความเป็นผู้ยิ้งผู้หญิง ไม่ชอบเลย คืออย่างไปเดินชอปปิ้งกับคุณแม่กับน้องสาว หูยยย...น่าเบื่อมาก เราก็ให้คุณแม่ไปกับน้องสองคน ส่วนเราเลือกที่จะนั่งรอดีกว่า"

และจากอุปนิสัยนี้เองที่ทำให้ขยับกลายเป็นตัวตนและการกระทำที่เธอต้องการพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถที่มากกว่าความสวย เพราะแม้ว่าหลังจากจบการประกวดนางงาม ชีวิตที่ปูลาดด้วยพรมแห่งวงการบันเทิงจะเปิดอ้าแขนรับ และส่งให้เธอมีผลงานทั้งละคร ถ่ายแบบ ถ่ายโฆษณาหรือพิธีกร จนมีโอกาสตกฟากแจ้งเกิด แต่ท้ายที่สุดในระยะเวลา 2 ปี เธอก็เล็งเห็นแล้วว่านอกจากจะไม่ยั่งยืนแล้ว ยังไม่ใช่ทางที่ตัวเองวาดฝันไว้อีกด้วย

"เพราะเราไม่ได้เป็นนัมเบอร์วัน แต่ถามว่าตอนนั้นมีชื่อไหม ก็มีชื่อระดับหนึ่ง คือแรกๆ ตอนเข้ามาใหม่ๆ ก็มีงานติดต่อมาเรื่อยๆ แต่พอทำได้สักระยะ งานเริ่มซา เราก็มองเห็นแล้วว่ามันไม่จีรัง

"แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือ บางครั้ง การอยู่ในวงการต้องแลกมาด้วยการประจบประแจงผู้ใหญ่เพื่อให้ได้งาน แต่เราไม่ใช่อย่างนั้น เราไม่ชอบคุกเข่าอ้อนวอนหรือว่าทำอะไรแอบแฝงไม่ชอบมาพากลเพื่อให้ได้งาน เราก็เลยรู้สึกว่าอาจจะไม่ใช่ที่ของเรา ก็เลือกที่จะออกมาดีกว่า"

"คือคนเรา พออยู่ตรงไหนแล้วมีความสุข เราก็อยากอยู่ แต่ถ้าเราอยู่ตรงไหนแล้วไม่มีความสุข เราก็ออกมา" อดีตดาราสาวกล่าวสรุปอย่างชัดเจนเป็นการตอกย้ำลักษณะนิสัยห้าวๆ ตรงๆ แมนสไตล์ผู้ชาย ก่อนจะอธิบายเสริมถึงเรื่องนี้อีกว่า
"บางทีคนเราต้องกล้าที่จะแลกโอกาสบางอย่างที่ชอบ กับเสียโอกาสบางอย่างที่ทำอยู่"

"ถามว่าทำไมถึงกล้าที่จะทำอย่างนั้น...ก็เพราะเราคิดว่าการไปอยู่แบบนั้นแล้วมันได้อะไรมากกว่ากับชีวิต คือการอยู่ต่างประเทศเนี่ย เราไม่ได้ไปอย่างเศรษฐีหรือไปอย่างคนมีชื่อเสียง แต่เราไปอยู่ที่นั่น เรากลายเป็นคนธรรมดาเลย ขึ้นรถไฟฟ้าไปเรียน กลับมาอพาร์ตเมนต์ที่เช่า ทำการบ้าน ถึงวันเสาร์-อาทิตย์ไปทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟร้านอาหาร"

แน่นอนว่าเธอเลือกอย่างหลัง ก่อนจะบินลัดฟ้าไปศึกษาปริญญาโทด้านแฟชั่นดีไซน์ตัวคนเดียวโดดๆ ไร้ซึ่งคนรู้จักหรือกระทั่งสิทธิพิเศษการเป็นดารานางงามคนดังจากประเทศบ้านเกิดเมืองนอน

"ไม่คิดว่าอายหรือแคร์ด้วยว่าเราเป็นใคร ต่อให้คนไทยที่นั่นเห็นเราแล้วคิดว่าเราตกต่ำถึงขนาดนั้นหรือว่าอะไร เราเฉยๆ เราไม่ได้ทำในสิ่งที่ไม่ดี ก็ไปทำงานเสิร์ฟเหมือนนักเรียนไทยปกติทั่วไป แต่คนไทยชอบคิดไปทางอย่างนั้น ไม่เหมือนฝรั่งที่เขาพออายุ 15-16 ยังไม่ทันจะเรียนจบ เขาก็เริ่มทำงานพิเศษหาเงินด้วยตัวเองแล้ว หรือจะเรื่องความเท่าเทียมให้เกียรติงานทุกตำแหน่ง อันนั้นคือสิ่งที่เรียนรู้มา

"แต่สิ่งที่ได้รับคือชีวิตแบบนั้นมันจะสอนเราให้แกร่งขึ้น จากเมื่อก่อนไปที่ติงต๊อง บ้าๆ บอๆ (หัวเราะ) แต่พอกลับมาก็รู้สึกว่าได้อะไรมาเยอะ เพราะเราลุยขึ้น ทำอะไรได้มากขึ้น เก่งขึ้น ไม่ค่อยยอมคน"

"คือการที่คนไม่รู้จักเรา เราไปแบบคนธรรมดา วิ่งเข้าเอเยนซีนั้น เอเยนซีนี้ เพื่อเสนอแฟ้มสะสมงานที่เราเตรียมไว้เพื่อทำงานโฆษณา แล้วโดนปฏิเสธบ้าง ให้รอบ้าง จนกระทั่งได้ทำงานตรงนั้นที่ไม่มีใครคนไทยส่วนใหญ่ได้ทำงานโฆษณา ได้เห็นการทำงานอาร์ตไดเรกเตอร์ งานครีเอทีฟ มันเป็นความภาคภูมิใจสุดๆ ที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง"

"ก็สนุกดีชีวิตช่วงนั้น" หญิงสาวเผยแซมรอยยิ้มให้กับความมุ่งมานะของตัวเองในวันนั้น
"และนอกจากมันทำให้เห็นโลกกว้างอย่างที่บอก เพราะเราไปทำอะไรหลายๆ อย่างที่หลากหลายฐานะ ในหลายๆ อาชีพบทบาททางสังคมที่เขาเป็นกัน แล้วมันทำให้รู้สึกว่าเราได้รับสิ่งที่หลากหลาย ซึ่งทำให้เรารู้ว่าคนเราบางทีไม่รู้ตัวว่าตัวเองสามารถทำอะไรเก่งๆ ได้หลายอย่าง"

"ถึงวันนี้เวลาสอนเด็กๆ ก็มักจะบอกเสมอว่า อย่าเป็นอะไรเพียงอย่างเดียว คนเราสามารถเก่งสามารถทำอะไรได้หลายๆ อย่าง อยู่ที่เรา คือเราอยากให้พยายามค้นหาตัวเองให้เจอ ให้มันเป็นความหลากหลาย ก็บอกเขาเสมอว่าอย่าเป็นอย่างเดียว เพราะพอตัวเองมีความสามารถรอบด้าน มันก็จะสนุกในการใช้ชีวิต"

"สนุกกับการใช้ชีวิต" ที่เธอว่า คงหมายถึงใช้มันสำหรับสามสี่บทบาท...
การเป็นอาจารย์ คือการงานที่เธอเลือกนำประสบการณ์มาถ่อยทอดเรื่องราวความรู้—ที่เธอกำลังก้าวหน้าในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์
'นักแข่งรถ' หลุมรักที่เพิ่งแทรกตัวเข้ามาเมื่อ 2 ปี--โดยที่เธอไม่คาดคิด—และคิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้
'เจ้าของธุรกิจ' เครื่องสำอางบำรุงหน้า--ที่โอกาสกำลังต่อยอดไปได้สวย ฯลฯ

"คือคนเราทุกคนมี 24 ชั่วโมงเท่ากัน เวลาเรามีเท่ากัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำอะไร เราจะทำอย่างเดียว หรือเราจะทำหลายๆ อย่าง ก็ขึ้นอยู่กับเรา บางคนอาจจะบอกว่าคอนโทรลไม่ได้ หรือถ้าทำอาจจะต้องเสียบางอย่าง ทำเพิ่มแล้วอีกอย่างก็ต้องช้าลง เราก็ต้องแยกแยะลำดับก่อนหลัง ก็ค่อยๆ เริ่ม ค่อยๆ ทำไป ถึงจุดจุดหนึ่งแล้วเราจะรู้สึกว่าเราทำได้ ทุกคนทำได้"

กล้า แกร่ง อย่างมีกรอบ
ผิดชอบชั่วดี ต้องรู้

หลังจากลัดเลาะคมความคิดและการกระทำจนพบสาเหตุที่ทำให้อดีตสาวงามระดับประเทศเลือกเส้นทางที่ใช้ “ความสามารถ” มากกว่า “ความงามเรือนร่าง” กระทั่งกลายเป็นสาวมั่นไอดอลผู้หญิง ที่มองอย่างไรทั้งสองอย่างก็ดูจะมีมากพอๆ กัน

"แต่คือเราก็ต้องอยู่ในกรอบที่พอดีๆ ด้วย" สาวมั่นกล่าวอย่างรวดเร็วเมื่อเราถามถึงการที่จะเป็นหญิงเก่ง แกร่ง มากความสามารถที่นอกเหนือจากข้างต้นเรื่องที่มา ก่อนที่เธอจะเล่าวีรกรรมสมัยชวนอมยิ้มเคล้าน้ำตาในอดีตที่เลือกขัดคำสั่งทั้งที่คุณพ่ออยากจะให้เรียนต่อมัธยมปลายในโรงเรียนไฮโซชื่อดัง แต่เธอกลับเลือกเดินเข้ารั้วศิลปะที่วิทยาลัยช่างศิลป์ลาดกระบัง หรือจะเรื่องการหกคะเมนคว่ำบนลู่แข่งจนขยาดคิดท้อเลิกการขับมอเตอร์ไซค์ครั้งแรก การแข่งครั้งแรก ไปจนถึงกล้าที่จะแตกต่างให้ทุกคนได้รู้ในฐานะ 'อาจารย์สาวดีไซเนอร์นักแข่งรถ'

"พอเรารู้สึกว่าตัวเองชอบอะไร เราอยากจะทำอย่างนั้น อย่างตอนที่ออกจากโรงเรียนหญิงล้วน แล้วเราก็ไปต่อ ปวช.ที่วิทยาลัยช่างศิลป์ลาดกระบัง คือพ่อก็ไม่รู้ แต่คุณแม่รู้ ทีนี้พอพ่อรู้ พ่อก็ทะเลาะกับแม่ลั่นบ้านเลย เพราะเขาอยากให้เราต่อที่นั่นจนจบก่อนที่จะเลือกเรียนอย่างอื่น แต่เรารู้ตัวเองแล้ว เราหาตัวเองเจอแล้ว เราก็อธิบายว่าชอบเรียนศิลปะ แต่เขาก็ยังเป็นห่วงเนื่องจากคุณพ่อจบโฟโต้ เทคนิค กรุงเทพฯ เคยผ่านชีวิตเด็กศิลป์มาแล้วท่านก็กลัวว่าเราจะเป็นคนแรง เด็กแรง

"แต่คือเราไปเรียนตรงนั้น เราเรียนเพราะเราชอบศิลปะจริงๆ เราไม่ได้ไปอย่างที่คุณพ่อคิดเลย เรามีใจศิลปะ ใจเรานักเลง แต่ว่าเสื้อผ้าหน้าผมก็ยังเรียบร้อยอยู่ได้ คือปูเน่ติดนิดหนึ่งว่า เด็กศิลปะไม่จำเป็นต้องสกปรก ไม่จำเป็นต้องซ่า ไม่จำเป็นต้องดูเซอร์ๆ หรือไม่จำเป็นต้องสูบบุหรี่ กินเหล้า เสพยา คือโชคดีอย่างที่เรารู้ว่าอะไรผิดชอบชั่วดีและไม่คิดอยากจะลองพวกไม่ดีเลยสักครั้ง แต่เราก็อยู่กับพวกเขาได้ เราแรงแต่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น"

"ตั้งแต่นั้นมา พอเราเรียนศิลปะจบก็เรียนปริญญาตรีด้านอินทิเรียดีไซน์ต่อ คืออะไรที่ชอบก็คือไปทำ คุณพ่อก็ไม่มานั่งชี้บอกว่าต้องไปเรียนหมอ ต้องไปเรียนนั่นไปเรียนโน่น ไม่เลย” หญิงสาวหัวเราะร่วนให้กับความห้าวของตัวเองเมื่อครั้งอดีตอันเป็นบทเรียนและรากฐานส่วนหนึ่งที่ทำให้มีวันนี้

"ชีวิตมันเหมือนแพตเทิร์นรูปแบบต่อๆ กันมา เรื่องบิ๊กไบค์ก็เหมือนกัน มันเป็นสิ่งที่เราทำเพราะชอบ แต่ตอนแรกๆ ก็คิดแค่ว่าอยากขับเฉยๆ เพราะพอเราได้ดูรายการ 'MotoGP' มันเลยทำให้เราอยากจะขับมอเตอร์ไซค์ เราก็เลยเริ่มลองไปเรียน พอเรียนจบคอร์สได้ไม่ถึงเดือนดี อาจารย์โฮ้ (ชาติชาย แซ่ลิ้ม) ก็ถามเราว่าอยากแข่งไหม

"คือตอนเรามาเรียน เรายังถามอยู่เลยว่าหนูขี่มอเตอร์ไซค์ได้ไหม คือถ้าหนูกล้าๆ กลัวๆ เงอะๆ งะๆ บ้าๆ บอๆ มันไม่ควรขี่ เราก็จะได้ไม่ขี่เพราะมันอันตราย มอเตอร์ไซค์มันไม่เหมือนรถยนต์ อาจารย์เขาดูเราออกว่าเราทำได้ ก็เลยลองแข่ง"

"ครั้งแรกก็ตัวแข็งทื่อเลย ที่เรียนมาลืมหมด (หัวเราะ) หัวเข่าไม่เช็ดพื้นเลย มันตื่นเต้นไปหมด เวลาเข้าโค้งก็เพี้ยนๆ ผิดๆ นั่นเป็นครั้งแรกที่กลัว แต่เราก็ไล่บี้อาศัยแซงทางตรง ส่วนทางโค้งใครจะแซงก็แซง เชิญเลย ปล่อยให้เขาไป"

"ก็จบด้วยอันดับที่ 7 จากทั้งหมด 16-17 คน" นักแข่งสาวบอกกับเราถึงตำแหน่งที่ได้รับการแข่งขันครั้งแรก ก่อนที่หลังจากนั้นทุกเดือนเว้นเดือนที่ทุกสนามแข่ง KSR-Lady หรือ D-Tracker 150 cc เธอจะค่อยๆ ไต่อันดับขึ้นเรื่อยๆ จนเท้าแตะแท่นโพเดียมได้ในที่สุด

"มากสุดที่ทำได้ก็อันดับที่ 3 แล้วก็ที่ 4 ที่ 5 อยู่อย่างนี้ แต่ถือว่าพอใจในระดับที่ตัวเองทำ เพราะว่าเราไม่ได้จับมอเตอร์ไซค์ทุกวัน เนื่องจากเรามีหน้าที่หลักคือสอนหนังสือ เราไม่ได้แบบขี่แข่งเป็นอาชีพ เราก็เลยมีโอกาสที่จะจับมอเตอร์ไซค์น้อยลง ซ้อมก็ไม่ได้ซ้อมมากมาย ไม่ได้ซ้อมทุกอาทิตย์

"แต่ถ้าถามว่ายังกลัวอยู่ไหม ก็ยังกลัวอยู่ ทุกวันนี้ก็ยังกลัวอยู่ คือทุกครั้งที่แข่งจะตื่นเต้น จะกลัว เพราะว่าเราเคยเกิดอุบัติเหตุ เราเคยคว่ำ เคยล้ม ทีนี้มันก็จะทำให้เรารู้สึกว่ากลัว มันจะรู้สึกเป๋ เพราะว่ามันขยาด" นักแข่งสาวเผยความรู้สึกที่เกือบทำให้เลิกล้มความกล้าทั้งหมด

"คือพอคนคว่ำมันก็จะค่อยๆ ช้าลง มันก็จะเกิดอาการพอถึงตรงนี้ที่เราคว่ำ มันก็จะไม่ค่อยกล้า คือเคยขนาดที่ว่าคว่ำแล้วมาซ้อมไม่ได้ ตัวมันแข็งคือมันกลัว ร้องไห้เลย ก็บอกอาจารย์ เราคงทำไม่ได้ มันล้ม มันงอไม่ได้ มันเลี้ยวไม่ได้"

"เราก็ได้รับคำแนะนำ เราก็ค่อยๆ ซ้อมใหม่ อาจารย์เขาดูออก เขาไม่เร่ง เขาปล่อยให้เราไปเรื่อยๆ จนชิน ซ้อมพลิกซ้าย-ขวาเป็นเลขแปด สลับไปมา ทำให้เรารู้ว่าทุกอย่างต้องค่อยๆ ไปเรื่อยๆ มันพลิกแพลงได้หมด อันนี้ไม่ได้ก็เริ่มจากอันนี้ก่อน แล้วพอได้ก็หยุด ให้จำตรงนั้นไว้ เพราะเดี๋ยวเราจะคะนอง เร่งสปีดตัวเองกลายเป็นขับแบบโหดๆ แล้วก็จะล้มอีก"

"เรื่องพวกนี้ที่เราเรียนรู้และก็เป็นประสบการณ์จากตรงนั้นด้วย ที่ทำให้เราไม่สนใจว่าคนจะมองเรื่องภาพลักษณ์เราอย่างไร คือกับการที่เป็นอาจารย์สอนนักเรียนแล้วก็เป็นนักแข่งรถในเวลาเดียวกัน" หญิงสาวว่า ก่อนจะอธิบายเหตุผลอีกยกใหญ่

"จริงๆ ภาพมันเสียเหมือนกัน เพราะเด็กบางคนแยกแยะไม่ออกระหว่างงานส่วนตัว งานอดิเรกหรือว่าหน้าที่หลัก พอเขารู้ว่าเราเป็นนักแข่งด้วย เราก็ต้องบอกว่าเราห้าวๆ ก็จริง แต่เราก็ไม่ได้ออกนอกกรอบ ไม่ได้ทำอะไรในสิ่งที่น่ากลัวหรือไม่ดี

"แต่ในฐานะที่เป็นอาจารย์ คือถ้าเด็กจะพูดถึงความเป็นส่วนตัว เราจะไม่ขอพูดถึง เพราะถ้าเล่าแล้วเราก็กลัวเขาจะติดภาพว่าเราเป็นลุคนักแข่ง มาดอาจารย์จะหายไป แล้วเด็กๆ ก็จะไม่กลัว เวลาที่สอนก็ต้องดุหน่อย เฮี้ยบๆ เพื่อให้เด็กเชื่อฟังเพราะเป็นประโยชน์ของเขา"

"เพราะเราอยากจะให้เด็กมีมารยาท คือตั้งแต่เด็กรู้ว่าเราเป็นนักแข่ง บางคนก็เอาเราเป็นตัวอย่าง เอาเราเป็นไอดอล บางทีคนอื่นก็อาจจะคิดว่าไม่เหมาะสม เราควรจะอยู่อย่างนี้ ในกรอบแบบนี้ แต่พอเรากล้าฉีกออกมา เราก็ต้องชี้แจงให้ถี่ถ้วน เรื่องกรอบเกณฑ์ให้ชัดเจน เพราะเราเองก็ไม่ได้ทิ้งกรอบไปซะหมดอย่างที่บอก เรื่องขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมหรือมารยาทเราก็ถ่ายทอดให้เขา"

"แต่ก็ไม่ลืมที่จะบอกเขาว่าอย่าเป็นคนที่อ่อนแอ อย่าเป็นผู้หญิงที่อ่อนแอยอมถูกรังแก เพราะว่าสังคมทุกวันนี้มันไม่ได้สวยงาม เราต้องรู้จักกล้าที่จะสู้เพื่อตัวเอง ไม่แคร์ในเรื่องที่ไม่ใช่ความจริง เราก็ควรดูแลตัวเองให้เป็น แต่ก็ถ้าสู้ไปแล้วมันมีแต่เสียกับเสียก็นิ่งๆ ถ้าเขาไม่มีอะไรที่เกี่ยวพันกับเรา คือพอเราได้เรียนรู้ธรรมเนียมฝรั่ง เรื่องสิทธิเสรีภาพในกรอบเกณฑ์จะรู้ว่าเขาพึ่งพาตัวเองสูงมาก ก็อยากให้เรารับแง่ดีตรงนั้นเอามาปรับใช้กับแง่ดีของเรา อยากให้ทุกคนพึ่งพาตัวเองได้"

ความหมายของไอดอล
แก่นแท้ของ “ต้นแบบที่ดี”

ถึงบรรทัดนี้เมื่อเราค้นหาใจที่รักเจอ เมื่อเรารวบรวมความกล้าที่จะเพียรพยายามทำได้ สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เราเป็นคนเก่งได้อย่างเธอ เธอกล่าวสั้นๆ ว่า "ก็แค่ทำให้สุด"

"คือถ้าเราเจออะไรที่ชอบแล้ว กล้าเดินตามสิ่งที่ตัวเองรักแล้ว ที่เหลือก็แค่ทำให้สุด สมมติถ้าเราชอบเรียนรู้เหมือนปูเน่ ก็เรียนไปให้สุด ดอกเตอร์ไหวไหม ถ้าไหวก็ทำ อย่างตอนนี้ปูเน่ก็สอบดอกเตอร์อยู่แต่ว่าไม่ได้สักที (หัวเราะ)

"หรือถ้าชอบอย่างอื่นก็ทำ" ครูสาวดีกรีนักบิดกล่าวพลางพยักหน้าเป็นการยืนยัน ถึงความไม่ธรรมดาของครูที่มีเบื้องหลังเป็นนักแข่งความเร็วสูงสองล้อของนักเรียน

"ก็ดีใจที่มีนักเรียนชื่นชมบอกว่าเราเป็นตัวอย่างที่ดี" อาจารย์ดีกรีนักบิดสนามแข่งเผยรอยยิ้มอย่างเป็นสุขเมื่อเอ่ยถึงตรงนี้
"คือเราไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นตัวอย่าง เป็นไอดอลแก่เด็กๆ แต่ทุกวันนี้หลังจากที่มาเป็นนักแข่ง เฟซบุ๊กทะลุเลย เพื่อนเพิ่มมากขึ้น เด็กมีแอกทิวิตี้กับเราเพิ่มมากขึ้น มีเพื่อนที่เป็นสองล้อ เพิ่มมากขึ้น คุยมากขึ้น รู้สึกชอบ รู้สึกมีความสุข

"คือนอกจากข้อดีของการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอๆ คุณก็จะได้ความรู้เพิ่มขึ้นจากทั้งในเนื้อหาหรือรอบๆ สิ่งที่คุณกำลังหาความรู้นั้น เช่น เจอเพื่อน เพื่อนแต่ละคนก็ให้ความรู้ ให้ประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกันออกไป เราก็จะไม่ย่ำอยู่กับที่"

แต่สำหรับคนที่อาจจะไม่เห็นด้วยหรือคิดต่างในเรื่องนี้ ครูสาวสิงห์นักบิดบอกกับเราว่า "การที่เราทำนั่นทำโน่น ผาดโผนบ้าง สนุกๆ แปลกๆ แตกต่างบ้าง ปูเน่ว่ามันเป็นชีวิตเรา ช่วงชีวิตเรา ที่ปูเน่คิดว่าควรจะทำ คือก็อย่างที่คนเขาว่า เดี๋ยวเราก็ตายแล้ว เราก็ควรจะทำชีวิตเราให้สนุกๆ

"แต่ถ้าใครหลายคนเลือกที่จะอยู่แบบนั้นว่าดีกว่า ถูกต้องกว่าแล้วมีความสุขดี ตรงนี้เราก็จะไม่แนะนำ เพราะว่าเราให้เกียรติเขามากกว่า คือถ้าคุณมีความสุขในการอยู่อย่างนี้ก็ได้แล้วแต่คุณ ยินดีด้วยที่เขาไม่เจออย่างเรา เขาไม่ล้มไม่เจ็บเหมือนเรา"

"แต่กระนั้น สิ่งที่อยากย้ำเตือนเลยคือคนที่เก่งทั้งหลาย..." ครูสาวสิงห์นักบิดเน้นเสียง
"เก่งแล้วต้องอย่าทะนงตัว อยากให้ถ่อมตน ไม่ใช่พอเราเก่งแล้ว เราใช้ความสามารถนั้นมากดคนอื่นให้ต่ำลงแล้วยกตัวเองสูงขึ้น"

"แต่คือเก่งแล้วอยากให้มีความพอดี เก่งในสิ่งที่ตัวเราเป็น ทำให้ดีที่สุด แค่ไหนไม่รู้ คือถ้าเราจะซีเรียสได้ก็ดี ไม่ซีเรียสก็ดี ก็ไม่เป็นไร แต่เก่งแล้วขอให้เป็นคนดี เพราะคนเก่งๆ มีเสน่ห์ หากเราทำตรงนี้ได้ก็จะไม่มีใครเกลียด ไม่ชอบ ก็จะมีแต่คนรัก และนั่นจะทำให้เราเป็นคนเก่งอย่างแท้จริง"




ขอบคุณสถานที่: บริษัทเบเนลลี่ คีเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด
15/66 ถนนประเสริฐมนูกิจ ต่อมอที่ 237 แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 10230
เรื่อง: รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช

กำลังโหลดความคิดเห็น