xs
xsm
sm
md
lg

ขับบิ๊กไบค์ยังไงไม่ให้ “ตายข้างถนน”! ด้วยความปรารถนาดีจาก อ.โฮ้ เรซซิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“มันไม่มีใครเก่งเกินอุบัติเหตุหรอก ถ้าเราไม่ประมาทอุบัติเหตุก็ไม่เกิด คนส่วนใหญ่มักคิดว่าไม่เป็นไร ไม่เมา หรือแค่โชว์เล็กๆ น้อยๆ แต่พอพลาดมันชีวิตเรา ครอบครัวเราทั้งหมดเสียใจเพราะเราคนเดียว ไม่ได้มันก็ต้องนึกถึงครอบครัวก่อน ไอ้นี่มันเป็นของฟุ่มเฟือย เป็นปัจจัยที่หกแล้ว” !!
.............................................................................................................................................................................................................................................
'อุบัติเหตุสยองบิ๊กไบค์ชนเสาไฟฟ้า ร่างขาดสองท่อน'
'ก๊อบปี้กลางลำ บิ๊กไบค์ซิ่งอัดชนรถกระบะบี้'
'เหลือแต่ซาก ภาพบิ๊กไบค์ซิ่งแหลกปะสานงาเก๋ง'
...และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ปรากฏเป็นพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ รวมทั้งแชร์กันว่อนในโลกโซเชียล ตลอดระยะเวลาหลายขวบปีที่ผ่านมา หรือกระทั่งตอนนี้เองก็ยังมีออกมาเป็นระยะๆ ประหนึ่งเทรนด์ฮิตก็ว่าได้ ซึ่งแน่นอนว่า ในทางตรงกันข้าม รถมอเตอร์ไซค์ขนาดเขื่องและความเร็ว 750 ซีซีขึ้นไป หรือที่เราเรียกว่า “บิ๊กไบค์” นับว่าเป็นกระแสของเหล่าคนรุ่นใหม่ คนดัง ดารานักร้องทั้งชายและหญิงที่มาแรงที่สุดในเวลานี้

ท่ามกลางค่านิยมแบบนี้ เราจึงเดินทางไปหากูรูตำนานนักซิ่งผู้กวาดรางวัลจากการแข่งขันจรวดทางเรียบแทบทุกรุ่น เก็บเกี่ยวความสำเร็จทั่วสารทิศมาตั้งแต่ครั้งสมัยเด็กหนุ่มวัย 14 ปี ทั้งเมืองไทยและเมืองนอก ก่อนจะผันตัวเองสู่สถานะผู้ฝึกสอน หลังจากเต็มอิ่มกับโลกแห่งการแข่งขันด้วยความเร็ว

“โฮ้-ชาติชาย แซ่ลิ้ม” หรือ “โฮ้ เรซซิ่ง” ฉายานามนี้ สำหรับผู้ที่รักความเร็วในบ้านเรา ไม่มีใครไม่เคยได้ยิน

เพราะในแวดวงคนขับขี่บิ๊กไบค์ล้วนแต่ผ่านฝีไม้ลายมือการปลุกเสกของเขาแทบทั้งสิ้น ขนาด "ฟิล์ม-รัฐภาคย์ วิไลโรจน์" นัมเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทยก็เริ่มจากเป็นอนุบาลทางเรียบ หรือกระทั่ง “บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี” นักซิ่งสาวแถวหน้าของเมืองไทยก็คือหนึ่งในจำนวนลูกศิษย์ลูกหากว่าแสนคน

ทั้งเกียรติประวัติและความนับถือที่ผู้คนมีให้ ไม่ใช่ได้มาเพราะโชคช่วยหรือความฟลุก แต่มาจากประสบการณ์และฝีมือเทคนิคชั้นเยี่ยมล้วนๆ ดังนั้น เชื่อว่าบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จึงน่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยที่จะช่วยลดอุบัติเหตุสำหรับเทรนด์กระแสการขับขี่ที่กำลังได้รับความนิยมทะลุนรกอย่าง “บิ๊กไบค์”

• ช่วงหลังๆ มานี้ดูเหมือนว่าข่าวเกิดอุบัติเหตุของผู้ใช้รถบิ๊กไบค์จะถี่ขึ้นมาก สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการขับขี่มอเตอร์ไซค์อย่างเรามีความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างไร

เดี๋ยวนี้ การขี่บิ๊กไบค์มันกลายเป็นกระแสไง แต่ถ้าจะให้แยกแยะ กลุ่มคนขี่บิ๊กไบค์ในประเทศไทยขณะนี้มันมีด้วยกันทั้งหมด 3 กลุ่ม หนึ่ง ขี่ใช้งาน สอง ขี่ท่องเที่ยวเพราะรัก และสาม ขี่เพราะความอยากเท่ อยากโชว์ออฟ แล้วที่เราเห็นเกิดอุบัติเหตุก็ส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มที่ 3 ทั้งนั้น เพราะคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่รู้จักมอเตอร์ไซค์ ไม่ได้ชอบมอเตอร์ไซค์เป็นทุนเดิม แต่อยากจะขี่ เป็นมือใหม่ซื้อรถแล้วก็ออกไปขับเพราะคิดว่าขับได้ ก็ขับได้ แต่ขับได้กับขับเป็นมันคนละอย่างกัน

คือถ้าให้พูดตามตรง คนส่วนใหญ่ในบ้านเราขับรถมอเตอร์ไซค์ก็แค่ขับได้ ไม่ใช่ขับเป็น ที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ก็รถเล็ก 95 เปอร์เซ็นต์มากกว่ารถบิ๊กไบค์ เพียงแต่ว่าเมื่อรถเล็กเกิดอุบัติเหตุแล้วมันกลายเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเรา แต่บิ๊กไบค์ไม่ใช่ แล้วก็คือคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าขับรถเล็กได้ ขับรถยนต์ได้ จะขับบิ๊กไบค์ได้ มันไม่เหมือนกัน แต่แค่พอขี่ไปนานๆ พอเกิดความคล่องขึ้นเลยรู้สึกไปเองว่าเราขับเป็น แต่มันไม่ได้ปลอดภัยขึ้น เซฟตี้ขึ้น ถึงได้เกิดอุบัติเหตุ เพราะด้วยความแรงของรถ ด้วยน้ำหนัก การควบคุมมันต่างกัน

• การขับขี่ ควบคุม มันต่างกันอย่างไร ระหว่างบิ๊กไบค์กับมอเตอร์ไซค์ธรรมดา

ง่ายๆ เลย คือวิธีการเลี้ยว ถ้าเป็นธรรมดา เราขับรถเล็ก คนส่วนใหญ่ใช้แฮนด์เลี้ยว ซึ่งต่อให้เข้าโค้ง 60 กิโลเมตร/ชั่วโมงก็เข้าโค้งได้ แต่ถ้าเป็นบิ๊กไบค์ ด้วยขนาด ด้วยล้อ ทุกอย่างที่ใหญ่ มีน้ำหนักเยอะ เราจะใช้แฮนด์รถเลี้ยวผิดครับ ไม่ได้ ล้มแน่นอน ก็ต้องใช้ไหล่เลี้ยว ใช้บอดี้ใช้ตัวเลี้ยว เราจึงต้องรู้วิธีการขับอย่างถูกต้อง รู้จักการเชนเกียร์ ใช้เบรกหน้า เบรกหลัง ใช้รอบเครื่องเบรก ใช้เอนจิ้นเบรก เพราะที่ล้มๆ ก็จากสาเหตุนี้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ กะทันหัน ตกใจ กำเบรกกำคลัตช์ แล้วก็ล้ม พอล้มก็โทษอย่างแรกเลยคือ ถนนลื่น ถนนเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่เคยรู้ว่าตัวเองขับไม่ถูกวิธี

เมื่อปีที่แล้วเขาถึงได้ทำใบขับขี่เป็นรุ่น ป้องกันเด็กอายุก่อนเกณฑ์ที่จะทำใบขับขี่ทั่วไป ขับบิ๊กไบค์ เพราะมันอันตรายกว่ารถธรรมดา

• อาจารย์กำลังจะบอกว่าสภาพถนนไม่ใช่ปัจจัยหลักในการเกิดอุบัติเหตุอย่างที่นึกตอนแรกเสมอเวลาล้มอย่างนั้นหรือครับ

ครับ...หลักๆ มันไม่เกี่ยวเลย มันอยู่ที่เรามากกว่า คือรถถ้าเราพามันไปได้ไม่มีเจ็บ แต่ส่วนมากรถพาเราไป เนื่องจากคนส่วนมากไม่รู้จักรถตัวเอง ถึงได้บอกขับได้ แต่ไม่ได้ขับเป็น แต่ถ้าคนขับเป็น เขาก็จะรู้จักวิธีแต่งตัวควบคุมความบาลานซ์สมดุล รู้ว่ารถตัวเองเลี้ยวแล้วเป็นอย่างนี้ เบรกเป็นอย่างนี้ เร่งเป็นอย่างนี้ เราก็ไปได้ไง เราก็จะสามารถหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุความเสี่ยงนั้นได้

แล้วอีกอย่างหนึ่งที่บอกว่า “อยู่ที่เรา” คือ เราต้องระมัดระวังตัวเองมากกว่าการขับขี่รถประเภทอื่นเพราะคนบ้านเรายังไม่รู้สมรรถนะความเร็วของบิ๊กไบค์ที่ทำให้เกิดเหตุบ่อยๆ ตามที่กลับรถ ทางแยก เนื่องจากเขายังเคยชินกับความเร็วของรถเล็ก คือเขาเห็นไฟ เขารู้อยู่แล้วว่าเป็นรถมอเตอร์ไซค์ เห็นว่าไฟยังอยู่โน่น ยังไม่มาถึงหรอก เลี้ยวทัน ข้ามแยกทัน เพราะคิดว่าพ้น แต่จริงๆ ไม่ใช่ ความเร็วคูณสาม เห็นไฟปุ๊บ รถก็ถึงตัวแล้ว มันเลยเป็นอันตรายมากๆ ฉะนั้น ผู้ขับบิ๊กไบค์ก็ต้องดูเอาเอง ถ้าหากมีแยกให้ชะลอ ไม่ใช่ว่าจะหลบให้ เพราะเขาเห็นแต่เขาเห็นเป็นรถเล็ก เขาเห็นแต่ไฟ เขาไม่รู้ว่านี่เป็นรถใหญ่ มันถึงได้ชนขาดกลาง ชนหัว ชนท้าย ก็เพราะอย่างนี้ นี่คือความประมาทของคนขับบิ๊กไบค์เอง โทษอะไรไม่ได้เลย เพราะว่ารถเราเร็วกว่าเขา 3 เท่า

• นอกจากเรื่องการขับขี่ อาจารย์มีอย่างอื่นที่จะเพิ่มเติมไหมครับเกี่ยวกับเรื่องการลดอุบัติเหตุ

ก็มีเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในการขับขี่ พอเราต้องการโชว์ ต้องการเท่ ก็มักจะใส่กางเกงยีนส์ ใส่เสื้อแขนสั้น แล้วใส่ถุงมือคู่หนึ่ง ไม่สวมหมวกกันน็อก ล้มไปเจ็บหนักแน่นอน คือเราต้องลบค่านิยมเมื่อสัก 10 ปีก่อนที่ว่า ถ้าใส่ของพวกนี้คนจะรู้สึกว่า “ไอ้นี่กลัวตาย” แล้วจะไปขับมอเตอร์ไซค์ทำไม ใช่ไหม แต่ปัจจุบันต้องเปลี่ยนครับ “ไม่ใส่อะไรเลย” ไม่กลัวตายหรือ

เพราะรถมันแรงมาก เดี๋ยวนี้รถแต่ละคันมันวิ่ง 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง รถใหม่ๆ ปีสองปีนี้ วิ่งได้หมดแน่นอน แล้วคนเราพอใช้รถแรงปุ๊บเราก็คึกคะนอง แต่ตัวเองไม่คิดว่าพร้อมหรือยัง ไม่ใส่อุปกรณ์หมวกกันน็อก การ์ดหลังที่เซฟคอ ชุดขับ รองเท้าเต็มแข้งกันข้อเท้าหักข้อเท้าแพลง หรือใส่ก็อย่างหมวกกันน็อกไม่คาดที่รัดคาง ใส่หมวกแบบสามารถสูบบุหรี่ได้ ด้วยความเร็วอย่างนี้ เวลาคว่ำก็กลายเป็นคว่ำแรงคูณสองไป ผลคือแรงเหวี่ยงจากการดีดที่มันอันตรายมาก ล้มแต่ละที ไม่เจ็บเป็นเดือนๆ ปีๆ ก็ตาย อุปกรณ์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในการแข่ง เขามาด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 200 กิโลเมตร/ชั่วโมงทั้งนั้น แต่เราดูเวลาล้มปะทะไม่มีอะไรเลย เนื่องจากชุดเขาครบ อุปกรณ์มีเยอะแยะครับมอเตอร์ไซค์ เขาพัฒนามารองรับความเร็วเราก็ควรจะใส่กันดีกว่า ซ่อมรถดีกว่ารักษาตัว และเดี๋ยวนี้ใส่แล้วก็ทำให้เท่ เพราะพอใส่ชุดเต็ม เขาก็รู้ทันทีว่านี่ขี่บิ๊กไบค์

อีกเรื่องก็ค่านิยมเหมือนกัน แต่เป็นค่านิยมเกี่ยวกับรถ ทั้งเรื่องความชอบที่ต้องรู้ตัวเองว่าชอบแบบไหนกันแน่จริงๆ ไม่ใช่เพื่อนชวนเป็นกลุ่ม เราก็ไปตามเขา เพราะพอขับไม่สนุก เราก็ไม่อยากขับ มันก็เกิดอันตราย ขับรถก็ต้องขับที่เราสนุก เราชอบ แล้วเรื่องอารมณ์ไม่ดี พอมาขับรถมันก็จะรู้สึกดี แล้วเราก็จะไม่ขับเร็วขับแรงเพื่อระบาย อย่าตามกระแสไปเรื่อย หรือเรื่องความเชื่อ รถแพงต้องดีเสมอ คือเราต้องดูสภาพบ้านเมืองเราด้วย อย่างรถยุโรปบางรุ่นอาจจะไม่เหมาะกับบ้านเรา เพราะด้วยความที่เขาเป็นเมืองหนาว ตัวเครื่องที่เราต้องคร่อมและใช้ขาแนบกับตัวถังอาจจะมีความร้อนสูงเพื่อให้เกิดความอบอุ่น แต่บ้านเราอากาศร้อน ถ้าเราเลือกมาใช้ขับขี่ก็จะส่งผลให้เรานั่งกางขาออกเพื่อหลีกความร้อน มันก็จะทำให้เรานั่งผิดท่า เกิดความไม่สมดุล การควบคุมรถก็ยากขึ้น ก็ส่งผลต่ออุบัติเหตุได้ ดังนั้น การเลือกรถ เราก็ควรจะต้องศึกษาให้รอบคอบ

• นี่คือสิ่งที่ผู้ขับขี่บิ๊กไบค์จำเป็นต้องรู้ต้องศึกษาด้วย

ใช่ครับ อย่างสมมติภูมิประเทศบ้านเรา มีถนนเป็นหลุม มีทางลูกรัง มีฝุ่นเยอะสลับทางเรียบ ก็เล่นรถ โมตาร์ด รถวิบากที่ใส่ล้อทางเรียบดีกว่า แต่ถ้าภูมิทัศน์บ้านโล่งๆ ถนนเรียบๆ ก็เอาสปอร์ตได้ เน็กเก็ต ชอปเปอร์ คือพอรู้จักเรื่องพวกนี้เราก็รู้ว่าจะใช้งานอย่างไหน แบบไหนด้วย ถึงได้บอกว่าเราต้องรู้ตัวเองไง ไม่ใช่ตามเทรนด์

• อย่างเรื่องที่ว่ามานี้ที่พูดถึงความแตกต่างเรื่องภูมิประเทศ แล้วอย่างเรื่องสรีระร่างกายมีส่วนมากน้อยแค่ไหนครับ เนื่องจากบ้านเรามีสัดส่วนความสูงแตกต่างเช่นเดียวกัน

ไม่เกี่ยวครับ เพราะเวลาขี่ ถ้าคนขับเป็น เราใช้เทคนิคช่วย เทคนิคก็คือรูปแบบการขับ ง่ายๆ ผู้หญิงสูง 150 เซนติเมตร แต่สามารถขับฮายาบูสะ ที่ขึ้นชื่อว่าจรวดทางเรียบได้ ความอันตรายหรือการเกิดอุบัติเหตุประเด็นนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย แต่เราก็จะบอกว่าไม่จำเป็น ขับแค่ 250 ซีซีก็พอ ขึ้นอยู่กับเรา ขึ้นอยู่กับความชอบ อยากขับเพื่อความสวยงามของเขา พวกนั้นเขาก็จะหาฝันเขา เราก็ปรับๆ ให้เขา เดี๋ยวเดียวก็ขับได้แล้ว เพราะมันปรับได้ มันเรียนรู้กันได้หมด ไม่มีปัญหา

• จากข่าวอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจนอาจเรียกได้ว่าเป็นกระแสรายวัน ความตื่นตัวในเรื่องนี้มีมากน้อยแค่ไหนครับ

ก็ดีขึ้นนะ 5 ปีหลังนี้ ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ๆ แต่สำหรับคนรุ่นเก่าอายุเกือบ 40-50 ปีจะไม่ค่อย เพราะยังมีบางส่วนที่คิดว่าก็มอเตอร์ไซค์เหมือนกัน แต่คนไหนที่คิดว่าปลอดภัย เขาก็จะมาเรียน คือคิดว่าซื้อรถคันเป็นล้านสองล้าน เรียนไม่กี่สตางค์ อันไหนคุ้มกว่า ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดีที่คนรู้สึกว่าเริ่มรู้จักหาความปลอดภัยให้ตัวเอง ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่เพื่อความสนุกอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้ถ้าไม่ปลอดภัยก็ไม่อยากสนุก เพราะคนส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้ไง พอคนเริ่มรู้ว่าเริ่มเจ็บ เริ่มตาย ถึงได้เริ่มกลัวกัน จริงๆ มันไม่คุ้มกันหรอก ที่เห็นเสียชีวิตกันไปก็คนดีๆ มีวุฒิภาวะ มีคุณวุฒิดีๆ ทั้งนั้น แต่ต้องมาตายข้างถนน

แต่ที่ไม่ดีคือ พอเรียนตอนนี้ เนื่องจากบิ๊กไบค์มันเป็นกระแสก็จะมีอาจารย์กำมะลอ กูรูรู้ไม่จริงเต็มเลยครับ ก็ต้องระวัง คือไม่ว่าจะในสนาม ในสื่อออนไลน์โซเชียล เยอะแยะไปหมด พวกนั้นมันแค่คนที่พอขับได้ ตกงานมา มันก็มาสอนแล้ว สอนตามมีตามเกิด ให้คนซื้อมาแล้วก็ไปเรียน อันตรายมาก และที่สำคัญที่เป็นปัญหาคือถ้าคนไม่เป็น ไม่มีพื้นฐานก็จะดูไม่ออก เพราะบางคนเก่งแต่ในตำรา สอนตามตำรา ทั้งๆ ที่ตัวเองแค่ขับได้ ไม่ใช่ขับเป็น แถมเราก็ไม่รู้อีกว่าตำราที่เขาใช้สอนนั้นมันเมื่อสมัยไหน เพราะทุกๆ 5 ปี ผมต้องบินไปเรียนเพิ่ม เนื่องจากโมเดลรถใหม่จะออก เพราะรถแต่ละปีมันจะเริ่มเร็วขึ้น แต่ตัวถังตัวรถมันจะสั้นลง มันก็คุมง่ายขึ้น แต่เราก็ต้องปรับวิธีการสอนใหม่ วิธีการขี่ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ เราก็ต้องไปศึกษาเอามาใช้สอน ก็ต้องชั่งน้ำหนัก แต่ถ้าคนที่เขารู้จริง เขาก็จะตอบได้

• เรื่องตรงนี้ยังไม่มีบรรทัดฐานรองรับใช่ไหมครับ

ยังไม่มีครับ แต่ทางบริษัทรถก็จะมีการส่งพนักงานไปเรียนขับรถที่ญี่ปุ่นแล้วกลับมาสอน แต่รายละเอียดก็สอนกันในเฉพาะบริษัท ไม่ค่อยมีในวงนอก ดังนั้น คนจึงไม่รู้ว่าหลักๆ การเรียนขับขี่รถมอเตอร์ไซค์มีอะไรบ้าง ซึ่งสำหรับคนที่ยังไม่รู้หรือสงสัยตรงนี้อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเลือกที่จะไม่มาเรียน เพราะว่าคนนั้นบอกมา คนนี้บอกมา แล้วขี่ได้

แต่ถ้าเรียนกันจริงๆ เราก็จะเน้นสอนการใช้ในชีวิตจริงครับ เบสิกในการขับขี่ทั้งหมด เพราะคนบ้านเราไม่ชอบทฤษฏี พูดเกินครึ่งชั่วโมงไม่รู้เรื่อง คุยกันแล้วไม่ฟัง แล้วพอไปขี่ก็ไม่รู้เรื่อง เราก็ต้องให้ไปขี่ก่อนเลยครับ ขี่ไม่เป็นขี่เลย แค่ขับจักรยานได้พอ พอขี่เราเร่งได้ เราก็ปรับตา ปรับเอว ปรับหลัง ปรับท่าทุกอย่างหมดให้รู้จักมันก่อน แล้ววันที่สองก็ใส่เกียร์ ใส่คลัตช์ได้หมดแล้ว ก็ขี่เป็นแล้ว คือเหมาะกับสภาพบ้านเมืองเราแล้วก็นิสัยของคน ไม่ใช่ว่าใครมาก็สอนเหมือนกันหมด เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการรู้อะไร รู้แค่อยากขับอย่างเดียว อย่างบางคนแค่อยากขับรถก็ไปซื้อรถมาแล้ว แล้วก็ไปลองกัน แล้วมันก็อันตราย

ที่โรงเรียนของเรา (โฮ้ เรซซิ่งสกูล) เรามีทุกแบบให้ลอง เพราะเราอยากให้เขารู้ว่าเขาขับได้หรือไม่ได้ อย่างบางคนไม่เหมาะกับขับมอเตอร์ไซค์ แต่เหมาะกับขับรถยนต์จะดีกว่า อย่างนี้เป็นต้น เขาจะได้ไม่ต้องเสียเวลาค้นหาตัวเอง อย่างที่ประเทศเกาหลีหรือประเทศจีนที่ผมบินไปสอน เขาอยากเป็นอะไร เขามาเรียนเลยนะ มันเหมือนเป็นระบบของเขา ทุกอย่างต้องมีพื้น คือไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องรถ เรื่องอื่นก็เหมือนกันหมด อยากเล่นดนตรี คุณต้องไปเล่นดนตรีเลย อยากเตะบอล ไปโรงเรียนกีฬาโรงเรียนบอลเลย มันเลยมีทางชัดเจน เขาจะรู้ว่าไปได้หรือไม่ได้ แต่ถ้าไม่รู้เราไปหาพรสวรรค์เอง พอรู้ก็เปลี่ยนๆ ไปเรื่อยๆ หาตัวเองไม่เจอสักที มันเป็นอย่างนั้น บ้านเรายังตามวิธีคิดเรื่องพวกนี้เขาอยู่ เราอาศัยใจได้ ร่างกายได้ แต่ขาดแนวทางที่ชัดเจน

• แนวทางที่ว่านี้ ถ้าเป็นเรื่องการขับขี่ เราควรจะมีการวางเป็นบรรทัดฐานเลย

คือจริงๆ แล้วเราต้องเซตระบบคน คือหมายความว่าคนที่มีมอเตอร์ไซค์ต้องมาเรียน จะเปิดสอนในหมู่บ้าน ตำบล ก็ได้ เพื่อเรียนการขับขี่ได้อย่างถูกวิธี บุคลากรเราดีเรื่องตรงนี้ มันก็ลดโอกาสเสี่ยงลง ยกตัวอย่างเช่น อาชีพขับวินมอเตอร์ไซค์ ตกงาน ไม่มีงานทำ ก็ขับวินมอเตอร์ไซค์ มีใบขับขี่ มีรถ ก็สามารถขับได้แล้ว ยิ่งเดี๋ยวนี้มอเตอร์ไซค์ออกง่าย ไม่ต้องใช้เงิน ไม่ดอก ไม่ดาวน์ แถมได้หม้อหุงข้าวกลับอีกต่างหาก มันก็ทำให้ไม่มีบุคลากรที่มีคุณภาพ ขับมอเตอร์ไซค์ไม่เป็นแต่ขับวินมอเตอร์ไซค์ ทำคนเกิดอุบัติเหตุ หัวร้าว สมองแตก แขนขาหักเยอะมาก พื้นๆ เลย คือคนที่จะขี่มอเตอร์ไซค์ ต้องขี่ให้เป็นก่อน

• ย้ำว่ามอเตอร์ไซค์ไม่ใช่ใครก็จะขี่เป็นเพียงแต่ขี่ได้

ได้แต่ไม่เป็น คือจริงๆ ถ้าเป็นก็ต้องเรียนทั้งหมดครับ และก็ต้องสอนให้รู้อย่างจริงจัง ไม่ใช่กลับไปแล้ว ไม่เห็นได้อะไรเลย คือก่อนมาเรียนกับหลังเรียน คุณต้องรู้ว่าได้อะไรบ้าง ไม่ใช่สร้างภาพแค่ว่าขี่ได้เหมือนอย่างที่คิดกันอยู่

อย่างเวลาไปสอนทหาร ตำรวจ หน่วยรบทั้งหลาย เราก็ต้องดูแล้วว่าพื้นที่ที่ทำงานเขาอยู่ตรงไหน เราก็จะหาพื้นที่ใกล้เคียงให้มากที่สุดสอนเขา คือเราสอนแบบสถานที่จริงให้เรียนแล้วใช้ได้จริงไง หรือสอนเด็กก็จะสอนอีกอย่าง สอนผู้หญิงต้องสอนอีกอย่าง คนสี่ภาค เหนือ อีสาน กลาง ใต้ ก็ใช้การสอนไม่เหมือนกัน บอกเลยเพราะจากประสบการณ์ 40 ปี ที่อยู่ในวงการนี้มาตั้งแต่อายุ 14 ปี จนถึงตอนนี้อายุ 55 ปี ไม่คุ้มหากจะเอาชีวิตมาเสี่ยงกับเรื่องตรงนี้

• จากประสบการณ์เกือบทั้งชีวิตทั้งนักแข่งและผู้สอน อาจารย์มีคำแนะนำถึงเรื่องหลักการขับขี่ให้ปลอดภัยอย่างไรบ้างครับ

ก็อย่างแรกเลยครับ เราควรจะศึกษาเส้นทางก่อนว่าเรากำลังจะไปที่ไหน อันนี้ปลอดภัยแน่นอน ขับเว้นห่างระหว่างคันช่วงหนึ่งเสาไฟฟ้า ถ้าไปไกลๆ ก็สวมเสื้อสะท้อนแสง กำหนดจุดพัก อย่าง 50 กิโลเมตร แล้วพักที่นี่ ร้อยกิโลเมตรพักตรงนี้ ไม่อย่างนั้น นิสัยคนบ้านเรา ไม่ว่าจะมือใหม่หรือแม้แต่มือเก่าเองก็ตาม ก็ซัดซะ ไม่ไหวก็บอกไหว มันก็เลยเกิดอุบัติเหตุ เพราะมือไม่เหมือนกัน แล้วที่สำคัญคืออย่าโชว์ออฟ อย่ากินเหล้า เพราะ 80 เปอร์เซ็นต์ที่มอเตอร์ไซค์เกิดอุบัติเหตุหรือว่าตายก็เพราะเหล้า เพราะประมาท

คือมันไม่มีใครเก่งเกินอุบัติเหตุหรอกครับ ถ้าเราไม่ประมาทอุบัติเหตุก็ไม่เกิด คนส่วนใหญ่มักคิดว่าไม่เป็นไร ไม่เมา หรือแค่โชว์เล็กๆ น้อยๆ แต่พอพลาดมันชีวิตเรา ครอบครัวเราทั้งหมดเสียใจ เพราะเราคนเดียว ไม่ได้ มันก็ต้องนึกถึงครอบครัวก่อน ไอ้นี่มันเป็นของฟุ่มเฟือย เป็นปัจจัยที่หกแล้ว

ก็อยากฝากแนะนำสำหรับมือใหม่หรือคนที่คิดจะเข้าวงการ เราควรจะขับขี่อย่างไรให้ปลอดภัย ก็อยากให้ลองเอารอบชานเมือง วิ่งแถวชานเมืองก่อน วิ่งไม่ต้องไกลเกิน 100 กิโลเมตร ไปประมาณ 2-3 คนก็พอแล้ว หัดขี่ให้เป็นก่อน มันไม่ใช่ว่ารีบร้อน ชีวิตเรามีอะไรให้ทำอีกเยอะ อย่าเอาชีวิตมาทิ้งข้างถนนอย่างนี้








เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พลภัทร วรรณดี

กำลังโหลดความคิดเห็น