xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 1-6 ก.ย.2557

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“ประยุทธ์” นำ ครม.เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว ย้ำ รมต.ติดดิน-ยึดหลัก “ทำก่อน ทำจริง” ยัน เลือก สปช.ไม่มีล็อกสเปก!
(บน) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ (ล่าง) นายกฯ และ ครม.ถ่ายรูปร่วมกันที่ตึกไทยคู่ฟ้า (4 ก.ย.)
ความคืบหน้าหลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) “ประยุทธ์ 1” ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 31 ส.ค. ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ก.ย. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช

ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม.ได้เดินทางไปถ่ายภาพหมู่ร่วมกันที่หน้าตึกไทยคู่ฟ้าในเวลา 18.30น. ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้มีพระราชกระแสอะไร

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ เมื่อวันที่ 5 ก.ย.ว่า คณะรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเข้ารับหน้าที่แล้ว หลังจากนี้จะมีการประชุม ครม.นัดแรกในวันที่ 9 ก.ย. จากนั้นจะต้องมีการแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยจะนัดเวลากับ สนช.อีกครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ย้ำกับรัฐมนตรีด้วยว่า เราเป็นข้าราชการ ต้องติดดินให้มากที่สุด ต้องดูแลประชาชน และขอให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศ โดยยึดหลัก “ทำก่อน ทำจริง เกิดผลสัมฤทธิ์ในปี 58 และยั่งยืน”

ส่วนที่มีกระแสเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกนั้น พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า อย่ากังวล จะพยายามทำทุกอย่างให้ทุกสถานการณ์คลี่คลายได้โดยเร็ว “ท่านก็ทราบดีว่ายังมีอะไรเกิดขึ้นในปัจจุบัน อาจจะมองไม่เห็น แต่พวกเรามองเห็น เพราะเรามีคณะทำงาน มีคนติดตามสถานการณ์ ประเมินสถานการณ์มาโดยตลอด ผมไม่ได้ต้องการจะประกาศไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องมีการลดไปตามลำดับในระยะเวลาข้างหน้า เมื่อไหร่ผมจะบอกให้เอง...”

ส่วนความคืบหน้าการเปิดรับสมัครสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ระหว่างวันที่ 14 ส.ค.-2 ก.ย.นั้น มีรายงานว่า ยอดผู้เข้ารับการเสนอชื่อยังไม่นิ่ง เนื่องจากยังคงมีเอกสารของผู้สมัครทางไปรษณีย์ที่ประทับตรา ณ วันที่ 2 ก.ย.ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ทยอยเข้ามายัง กกต.เป็นระยะๆ โดยตัวเลขยอดรวมล่าสุด ณ วันที่ 5 ก.ย.อยู่ที่ 7,355 คน

ขณะที่คณะกรรมการสรรหา สปช.ทั้ง 11 ด้าน ได้ประชุมลับเพื่อเลือกประธานของแต่ละด้านเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 4 ก.ย.ประกอบด้วย 1.ด้านการเมือง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน 2.ด้านบริหารราชการแผ่นดิน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน 3.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธาน 4.ด้านการปกครองท้องถิ่น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นประธาน 5.ด้านการศึกษา นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นประธาน 6.ด้านเศรษฐกิจ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี เป็นประธาน 7.ด้านพลังงาน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นประธาน 8.ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม พล.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ เป็นประธาน 9.ด้านสื่อสารมวลชน พล.อ.นพดล อินทปัญญา เป็นประธาน 10.ด้านสังคม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธาน และ 11.ด้านอื่นๆ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็นประธาน

ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.เผยขั้นตอนการสรรหา สปช.ว่า กกต.มีเวลา 10 วันระหว่างวันที่ 3-12 ก.ย.ในการรวบรวมรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น สปช. หลังจากนั้นวันที่ 13-22 ก.ย.คณะกรรมการสรรหา สปช.ทั้ง 11 ด้านจะคัดเลือกผู้ถูกเสนอชื่อให้เหลือด้านละไม่เกิน 50 คน ขณะที่คณะกรรมการสรรหา สปช.ประจำจังหวัดจะคัดเลือกให้เหลือจังหวัดละ 5 คน เพื่อส่งให้ คสช.พิจารณาในขั้นตอนสุดท้ายระหว่างวันที่ 23 ก.ย.-2 ต.ค.เพื่อคัดเลือกให้ได้ไม่เกิน 250 คน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวล็อกสเปก สปช.จากทหารสายบูรพาพยัคฆ์ว่า ขอให้เลิกได้แล้วว่ามีการล็อกสเปก ขอชี้แจงว่าสเปกบูรพาพยัคฆ์ ที่สื่อไปพูด ไม่เคยมี บูรพาพยัคฆ์หรือวงศ์เทวัญ ไม่มี บูรพาพยัคฆ์อยู่ตะวันออก ใครอยู่ตรงไหน ก็โตตรงนั้น

2.อสส. ยังไม่ฟ้อง “ยิ่งลักษณ์” คดีจำนำข้าว อ้างสำนวน ป.ป.ช.ไม่สมบูรณ์ ด้าน ป.ป.ช. ยันพยานหลักฐานครบ-พร้อมฟ้องเอง!

 (บน) นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นำทีมอัยการแถลงกรณีอัยการสูงสุดเห็นว่า สำนวนของ ป.ป.ช.คดียิ่งลักษณ์ละเลยระงับทุจริตจำนำข้าวมีข้อไม่สมบูรณ์ (ล่าง) นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.แถลงยืนยัน พยานหลักฐานครบ
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นำทีมอัยการเปิดแถลงความคืบหน้าคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ส่งสำนวนพร้อมมติชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการกรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 123/1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจโดยมิชอบ จากกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาทว่า หลังจาก ป.ป.ช. ได้ส่งรายงานการไต่สวนคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวมายังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาส่งฟ้องนั้น อัยการสูงสุดได้ตั้งคณะทำงานซึ่งมีนายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุดเป็นหัวหน้าคณะทำงาน พร้อมคณะทำงานอัยการรวม 9 คน โดยคณะทำงานมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า สำนวนคดียังมีข้อไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีตามข้อกล่าวหา และเสนอความเห็นต่อนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด(อสส.) ซึ่งอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า สำนวนของ ป.ป.ช.มีประเด็นที่ยังไม่สมบูรณ์

สำหรับประเด็นที่เห็นว่ายังไม่สมบูรณ์มี 3 ประเด็น คือ 1.ควรรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการยับยั้งโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาหรือไม่ 2.ควรไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานให้สิ้นกระแสความว่า หลังจากที่โครงการรับจำนำข้าวได้ถูกท้วงติงจาก ป.ป.ช. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาได้ดำเนินการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตหรือไม่ อย่างไร ผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร 3. ควรไต่สวนพยานเพิ่มเติมให้ได้ความว่า โครงการรับจำนำข้าวที่ยืนยันว่ามีการทุจริตนั้น พบการทุจริตในขั้นตอนใดและมีการทุจริตอย่างไร นอกจากนั้นกรณีที่มีการกล่าวอ้างถึงรายงานวิจัยโครงการนโยบายข้าวของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ว่า โครงการดังกล่าวมีการทุจริตและมีความเสียหายจำนวนมาก แต่ในสำนวนการไต่สวนปรากฏว่า มีเพียงหน้าปกรายงานวิจัยเท่านั้น จึงให้รวบรวมรายงานวิจัยทั้งฉบับเป็นพยานหลักฐานในสำนวนการไต่สวนให้สมบูรณ์ด้วย

นายวันชัย เผยด้วยว่า สำนักงานอัยการสูงสุดได้มีหนังสือแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ไปยัง ป.ป.ช. แล้ว และมีคำสั่งตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างอัยการและ ป.ป.ช. ภายใน 14 วัน เพื่อพิจารณาหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์ และรวบรวมพยานหลักฐาน ไต่สวนพยานเพิ่มเติมให้สำนวนคดีมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับการฟ้องคดีต่อไป สำหรับกรอบเวลาในการพิจารณานั้นขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานในสำนวนว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน และว่า ตามขั้นตอนแล้ว เมื่อคณะทำงานร่วมพิจารณาเสร็จสิ้น จะเสนอความเห็นไปยังอัยการสูงสุดชี้ขาดอีกครั้ง หากมีความเห็นตรงกันว่าสั่งฟ้อง ก็จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่หากความเห็นไม่ตรงกัน สำนักงานอัยการสูงสุดจะส่งสำนวนกลับคืนให้ ป.ป.ช. ซึ่งทาง ป.ป.ช. สามารถแต่งตั้งทนายความยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ เองได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า สำนวนของ ป.ป.ช. มีความไม่สมบูรณ์อย่างไรบ้าง นายวันชัย กล่าวว่า รายละเอียดในสำนวนของ ป.ป.ช. ระบุเพียงว่ามีการทุจริตทุกขั้นตอน แต่ไม่ลงรายละเอียดว่ามีการทุจริตอะไรบ้าง ตรงส่วนไหน ที่ไหน อย่างไร ใครเป็นคนทำ และผู้ถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร ซึ่งหากคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์มากกว่านี้ ขณะนี้ถือว่ายังไม่เพียงพอ

ด้านนายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษก ป.ป.ช. ในฐานะกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวนไต่สวนโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงถึงกรณีที่อัยการสูงสุดยังสั่งไม่ฟ้องคดีรับจำนำข้าว และมีคำสั่งให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการสูงสุดกับ ป.ป.ช. เพื่อหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมว่า ป.ป.ช. ไม่แปลกใจที่อัยการสูงสุดระบุว่าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ เพราะอัยการสูงสุดยังไม่เห็นข้อมูลที่อยู่ในมือ ป.ป.ช.ในการเชื่อมโยงให้เห็นความชัดเจน และว่า รู้สึกเห็นใจอัยการสูงสุด เพราะขณะนี้สถานะท่านง่อนแง่นมาก จะเห็นได้ว่าอัยการสูงสุดคนก่อนก็ถูกปลดกลางอากาศทางโทรทัศน์ นายวิชา บอกด้วยว่า ป.ป.ช.ในฐานะที่เป็นองค์กรในกระบวนการยุติธรรมก็ต้องขอแสดงมุทิตาจิต พร้อมยืนยันว่า ป.ป.ช.ไม่ได้ส่งหลักฐานอ่อนไปให้อัยการสูงสุด

นายวิชา ยังชี้แจงกรณีอัยการสูงสุดแถลงเรื่องข้อไม่สมบูรณ์ในพยานหลักฐานคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ใน 3 ประเด็นด้วย โดยยืนยันว่า ประเด็นนายกฯ มีอำนาจยับยั้งโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่เก่ามากแล้ว และหลักฐานมีครบถ้วน ส่วนประเด็นที่อัยการสูงสุดตั้งข้อสังเกตว่า รวบรวมพยานหลักฐานครบถ้วนหรือไม่นั้น ยืนยันว่า ได้สอบพยานจนครบถ้วนแล้ว และทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ได้เสนอให้สอบเพิ่ม แต่ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องเพียงพอที่จะต้องสอบพยานเพิ่มแต่อย่างใด นายวิชา ยังชี้ด้วยว่า ถ้าอัยการสูงสุดได้เห็นหลักฐานที่ ป.ป.ช.จะส่งตามไปอีก ป.ป.ช.อาจไม่ทำคดีต่อ แต่เป็นลมล้มคว่ำไปเอง เพราะมันเหลือกำลังรับจริงๆ

สำหรับประเด็นเรื่องงานวิจัยโครงการรับจำนำข้าวของ TDRI ที่อัยการสูงสุดระบุว่ามีแต่ปกนั้น นายวิชา บอกว่า ความจริงมีอยู่ในพยานหลักฐานที่มาเบิกความกันไว้หมดแล้ว และว่า อัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมด้วยกัน หากสงสัยอะไร เราเคยมีข้อตกลงกันว่าถ้ามีข้อมูลอะไรยังไม่ครบถ้วนก็ขอมาได้ ไม่จำเป็นต้องมาตั้งคณะทำงานร่วม ทั้งนี้ นายวิชาทิ้งท้ายด้วยว่า ถ้าตกลงกันได้ อยากให้อัยการสูงสุดฟ้อง แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ ป.ป.ช. จะต้องดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลเอง เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจน

3.“สุขุมพันธุ์” เฮ ได้นั่งผู้ว่าฯ กทม.ต่อ หลังศาลอุทธรณ์ยกคำร้องใบเหลือง ชี้ “สุเทพ” ปราศรัยตามข้อเท็จจริง ไม่ได้ใส่ร้าย “พงศพัศ” !

ประชาชนมอบดอกไม้ให้กำลังใจ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ขณะเดินทางมาฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์แผนกคดีเลือกตั้ง (5 ก.ย.)
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเลือกตั้ง ได้นัดฟังคำสั่งคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใหม่ เนื่องจากมีผู้คัดค้านผลการเลือกตั้งที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม.เมื่อปี 2556 ซึ่ง กกต.ได้มีมติ 3 ต่อ 2 ให้ใบเหลือง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จากกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือพระสุเทพ กล่าวปราศรัยเมื่อวันที่ 13 และ 25 ก.พ.2556 ที่วงเวียนใหญ่และลานคนเมือง โดยมีข้อความกล่าวโจมตี พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่ง ทำนองว่า หากเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ เป็นผู้ว่าฯ กทม. อาจจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองประเทศสู่ระบบสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเพียงคนเดียวกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ส่งผลให้ประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเข้าใจผิดในตัว พล.ต.อ.พงศพัศ อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัย 3 ประการ คือ 1.มติของ กกต.ที่สั่งสอบเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2556 หลังจากที่คณะอนุกรรมการ กกต.ได้ไต่สวนและมีความเห็นมาแล้ว และมติของ กกต.ที่ให้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์เห็นว่า กกต.มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้ง หากมีกรณีร้องเรียน กกต.มีอำนาจเรียกสืบสวนสอบสวนจนได้ข้อยุติ ดังนั้น กกต.จึงมีอำนาจในการออกมติดังกล่าว

2.การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2556 ไม่เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม เพราะนายสุเทพปราศรัยให้ประชาชนเข้าใจผิดในคะแนนนิยมของ พล.ต.อ.พงศพัศ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ มาตรา 57(5) หรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์เห็นว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และนายสุเทพ ในฐานะผู้คัดค้านมติ กกต.มีหลักฐานเป็นหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวคิดของกลุ่มคนเสื้อแดงแบ่งแยกประเทศ และกลุ่ม ส.ส.ภาคเหนือและภาคอีสาน รวมทั้งกลุ่มคนเสื้อแดงสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการตั้งรัฐไทยใหม่ สปป.ล้านนา และ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบัน สอดคล้องเชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงที่นายสุเทพได้กล่าวปราศรัย

ขณะเดียวกัน บุคคลที่เป็นข่าวก็ไม่ได้ยื่นฟ้องสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวในลักษณะติดตามข้อเท็จจริงให้สาธารณชนทราบ การกระทำของนายสุเทพจึงเป็นการนำข้อเท็จจริงซึ่งสังคมไทยทั่วไปรับรู้อยู่แล้วมาปราศรัยอีกครั้ง และข้อเท็จจริงยังปรากฏอีกว่า นายสุเทพไม่ได้ถูกดำเนินคดีอาญา จึงไม่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า การกล่าวปราศรัยเป็นการหลอกลวงให้ร้ายที่ฝ่าฝืนตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ มาตรา 57(5) และ 118

และ 3.ประเด็นการกระทำของนายสุเทพที่ กกต.อ้างว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตเกี่ยวกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ หรือเป็นเหตุให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้รับเลือกตั้งหรือไม่ ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำปราศรัยทั้งหมดของนายสุเทพ ซึ่งได้อ้างอิงถึงคำปราศรัยของนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช.ที่เคยกล่าวถึงการชุมนุมในพื้นที่ กทม.และนายสุเทพได้กล่าวถึงวิธีการ แนวคิดของกลุ่ม นปช.โดยที่ไม่ได้กล่าวถึง พล.ต.อ.พงศพัศ ที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ว่าเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ศาลอุทธรณ์จึงไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้

ส่วนที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความที่ร้องเรียนเรื่องนี้ต่อ กกต.ระบุว่า การชุมนุมของ นปช.เป็นไปโดยสงบและเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า มีข้อเท็จจริงตามรายละเอียดคำพิพากษาศาลแพ่งคดีการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ระหว่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2553 ที่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน กทม. ซึ่งศาลแพ่งได้มีคำวินิจฉัยว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช.จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการใช้เส้นทางจราจร ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่า พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนนี้ ยังไม่พอฟังว่า การกล่าวปราศรัยของนายสุเทพเป็นการจูงใจหรือหลอกลวงประชาชนให้เข้าใจผิดในตัว พล.ต.อ.พงศพัศ ที่จะเป็นเหตุให้ประชาชนลงคะแนนเสียงให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จึงยังไม่มีเหตุให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ใหม่ตามคำร้อง ดังนั้นจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของ กกต.

เป็นที่น่าสังเกตว่า ศาลอุทธรณ์ใช้เวลาอ่านคำสั่งครั้งนี้นานเกือบ 5 ชั่วโมง เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลค่อนข้างละเอียด หลังรู้ผลคำสั่งศาล ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ซึ่งเดินทางมาฟังคำสั่งศาล ได้สวมกอดมารดาและทีมรองผู้ว่าฯ กทม.ด้วยความดีใจ ขณะที่ผู้ที่เดินทางมาให้กำลังใจ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ต่างปรบมือและส่งเสียงแสดงความยินดี

ทั้งนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวหลังฟังคำสั่งศาลว่า หลังจากนี้ตนจะกลับไปทำงานในฐานะผู้ว่าฯ กทม.ทันที และจะทำงานให้หนักกว่าเดิม และว่า ขณะนี้มีเรื่องที่ตนเป็นห่วงอยู่ 2 เรื่อง คือ เรื่องฝนและโรคระบาด ซึ่งมีหลายโรคที่ต้องให้ความสำคัญ ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ กกต.แจกใบเหลือง ถือว่าเป็นการสูญเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์หรือไม่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บอกว่า ไม่อยากพูดถึงเรื่องการเสียเวลา ขอให้มองไปข้างหน้าดีกว่า โดยทาง กทม.จะร่วมมือกับรัฐบาลในการดูแลผลประโยชน์ของพี่น้องชาว กทม.เพื่อให้เป็นมหานครที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

4.กสท.ยังไม่กล้าฟันช่อง 3 อนาล็อก หลังยื้อออกเคเบิล-ดาวเทียมต่อ แถมปัดเป็นเพย์ทีวี อ้างศาลยังไม่ตัดสิน!

(บน) พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.และประธาน กสท. (ล่าง) สรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการของช่อง 3 ชี้แจงปัญหาช่อง 3 เมื่อวันที่ 3 ก.ย.
จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์(กสท.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2557 เห็นชอบให้ฟรีทีวี 6 ช่องเดิม(ช่อง 3-5-7-9-11-ไทยพีบีเอส) ในระบบอนาล็อก สิ้นสุดการเป็นฟรีทีวีตามประกาศหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป(Must Carry) นับตั้งแต่วันที่เริ่มต้นแพร่ภาพดิจิตอลแล้ว 30 วัน คือวันที่ 25 พ.ค.2557 ซึ่งส่งผลให้ผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีไม่สามารถนำรายการของ 6 ช่องดังกล่าวในระบบอนาล็อกไปออกอากาศได้อีกต่อไป ซึ่งต่อมา บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด หรือช่อง 3 ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่า มติของ กสท.ดังกล่าวไม่ชอบ พร้อมขอให้ศาลสั่งยกเลิกมติของ กสท. และขอให้ศาลทุเลาการบังคับใช้มติของ กสท.จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ด้าน กสท.ได้มีมติขยายเวลาการบังคับใช้มติเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ออกไปอีก 100 วัน นับจากวันที่ 26 พ.ค. โดยครบกำหนดในวันที่ 1 ก.ย. ขณะที่ศาลปกครองได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 ส.ค.ยกคำขอของช่อง 3 ที่ต้องการให้ทุเลาการบังคับใช้มติของ กสท. เมื่อศาลปกครองยกคำขอดังกล่าว ส่งผลให้ช่อง 3 จะไม่สามารถออกอากาศทางทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีได้หลังวันที่ 1 ก.ย.เป็นต้นไป โดยสามารถรับชมช่อง 3 ระบบอนาล็อกได้ผ่านทางเสาก้างปลาและหนวดกุ้งเท่านั้น ขณะที่หลายฝ่ายลุ้นว่า หลังวันที่ 1 ก.ย.ช่อง 3 อนาล็อกจะจอดำจากทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีหรือไม่ หรือ กสท.จะดำเนินการอย่างไรกับช่อง 3 ต่อไป

ซึ่งปรากฏว่า เมื่อวันที่ 1 ก .ย. ที่ประชุมบอร์ด กสท.ได้มีมติให้ช่อง 3 สิ้นสุดการเป็นช่องที่ให้บริการเป็นการทั่วไป โดยไม่ขยายเวลาให้อีก ส่งผลให้ช่อง 3 ไม่สามารถออกอากาศทางทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีได้ พร้อมนัดประชุมอีกรอบในวันที่ 2 ก.ย.เพื่อพิจารณาว่า ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีที่ยังนำช่อง 3 ในระบบอนาล็อกไปออกอากาศจะมีความผิดหรือไม่ หากมีความผิด โทษจะเป็นอย่างไร

ขณะที่ทางช่อง 3 ได้ออกแถลงการณ์ชี้ให้ กสท.เห็นว่า ช่อง 3 สามารถออกอากาศทางทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีได้ต่อไป เพราะมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ฉบับที่ 27 คุ้มครองอยู่ โดยอ้างว่า ประกาศดังกล่าวให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ออกอากาศได้ทั้งภาคพื้นดิน ทีวีดาวเทียมและเคเบิล

ทั้งนี้ แถลงการณ์ของช่อง 3 ส่งผลให้ที่ประชุมบอร์ด กสท.เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่มี พ.อ.นที ศุกลรัตน์ เป็นประธาน มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ทำหนังสือถึง คสช.ในวันที่ 3 ก.ย.เพื่อสอบถามความชัดเจนเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของช่อง 3 ภายใต้ประกาศ คสช.ฉบับที่ 27

แต่ยังไม่ทันที่ กสทช.จะทำหนังสือถาม คสช.ปรากฏว่า พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช.ได้ออกมาประกาศผ่านสื่อเมื่อวันที่ 3 ก.ย.โดยยืนยันว่า ที่ผ่านมา ไม่มีประกาศของ คสช.ฉบับใดที่เกี่ยวข้องกับการจัดระบบอนาล็อกหรือดิจิตอลของ กสทช.เลย ดังนั้นเป็นเรื่องที่ กสทช.ต้องตัดสินใจเอง ไม่ต้องมาถาม คสช. “กสทช.ต้องไปคุยกับเอกชนคู่กรณีเอง จะส่งมาให้ผมดูทำไม ผมอ่านคำสั่ง คสช.ทุกฉบับมา 2-3 วัน ยังไม่เห็นว่าตรงไหนไปเกี่ยวข้องกับการจัดระบบของ กสทช.จึงขอฝากไปบอกด้วยว่าไม่ต้องมาถามผม จะถามทำไม ไปทำหน้าที่ของตัวเอง”

วันเดียวกัน(3 ก.ย.) พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.และประธาน กสท.พูดถึงกรณีที่ คสช.ชี้แจงเรื่องช่อง 3 ว่าเป็นอำนาจของ กสทช.ว่า ได้มีคำสั่งให้สำนักงาน กสทช.ยกเลิกส่งหนังสือสอบถาม คสช.แล้ว เนื่องจาก คสช.ให้ความเห็นที่ชัดเจนแล้ว ทั้งนี้ วันเดียวกัน กสทช.ได้เชิญผู้บริหารช่อง 3 และผู้ประกอบการช่องรายการในระบบทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง มาหารือเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาช่อง 3 ในระบบอนาล็อกยังคงแพร่ภาพผ่านทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี แม้จะสิ้นสุดสถานะการเป็นช่องให้บริการเป็นการทั่วไปแล้ว ซึ่งปรากฏว่า มีผู้บริหารทีวีดิจิตอลมาร่วมหารือ แต่กลับไม่มีผู้บริหารของช่อง 3 มา มีเพียงฝ่ายกฎหมายมาประชุมแทนเท่านั้น ซึ่งหลังประชุม พ.อ.นที เผยว่า ที่ประชุมเสนอให้ช่อง 3 จัดทำทางออกของปัญหาเสนอ กสท.อีกครั้งในสัปดาห์หน้า และ กสท.จะนำไปประกอบการพิจารณาในที่ประชุมบอร์ด กสท.วันที่ 8 ก.ย.

ด้านนายสุภาพ คลี่ขจาย ประธานชมรมผู้ประกอบการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภาคพื้นดิน เผยว่า ได้เสนอที่ประชุมให้ กสท.บังคับใช้อำนาจที่มีกับทางช่อง 3 ในกติกาเดียวกัน โดยบังคับให้ช่อง 3 ทำตามกฎและออกอากาศคู่ขนาน ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลต่อช่องอื่นๆ จากความล่าช้าในการเปลี่ยนผ่านการรับชมโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบทีวีดิจิตอล เพราะมีความเป็นไปได้ที่ประชาชนอาจจะยังอยากดูช่อง 3 แบบเดิมๆ อยู่

ขณะที่นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธ์ รองกรรมการผู้จัดการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ยืนยันว่า การที่ช่อง 3 อนาล็อกไม่ออกอากาศในระบบดิจิตอล ไม่ได้ทำให้การเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลไม่ประสบผลสำเร็จ แต่อยู่ที่แต่ละช่องต้องปรับปรุงคุณภาพคอนเทนต์ของตัวเอง เพราะถ้าคอนเทนต์ดี ใครๆ ก็อยากดู และว่า เมื่อช่อง 3 พร้อม ก็จะย้ายขึ้นสู่ทีวีดิจิตอลเอง ไม่ต้องให้ใครมาบอก

ทั้งนี้ ผู้บริหารช่อง 3 ได้ออกแถลงการณ์ด้วยว่า บริษัทในเครือช่อง 3 ที่ประมูลทีวีดิจิตอลมา เป็นคนละนิติบุคคลกับช่อง 3 ซึ่งวางแผนไว้ว่า 1 ใน 3 ช่องที่ประมูลมา คือช่อง 33 HD เป็นช่องที่เตรียมไว้รองรับช่อง 3 อนาล็อกเมื่อสิ้นสุดสัญญาในปี 2563 โดยระหว่างนี้กำลังพัฒนาให้เป็นช่องรายการคุณภาพสูง หาก กสทช.ต้องการให้ช่อง 3 อนาล็อกออกคู่ขนานกับทีวีดิจิตอลเร็วกว่าแผนที่ช่อง 3 วางไว้ ทางสถานีก็ยินดีที่จะหารือ แต่ต้องเป็นธรรมและเคารพสิทธิของช่อง 3 ด้วย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ก.ย. บอร์ด กสท.ได้ประชุมนัดพิเศษเพื่อหารือกรณีช่อง 3 แต่ปรากฏว่า มีบอร์ด 2 คนไม่เข้าประชุม คือ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท. และ พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า ทำให้ต้องยกเลิกการประชุม และกำหนดประชุมอีกครั้งในวันที่ 8 ก.ย. อย่างไรก็ตามหลังการประชุมล่ม มีบอร์ด 3 คนเปิดแถลง คือ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ,พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ และ ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตภาษ์นันท์ โดยแสดงจุดยืนว่า กสท.ต้องปฏิบัติตามมติเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ด้วยการออกคำสั่งทางปกครองแจ้งให้โครงข่ายเคเบิลและดาวเทียมห้ามออกอากาศช่อง 3 อนาล็อก เนื่องจากไม่มีฐานะเป็นฟรีทีวีแล้ว และให้เคเบิลและดาวเทียมแจ้งผู้ชมทราบเป็นเวลา 15 วันว่าจะไม่สามารถรับชมช่อง 3 อนาล็อกได้อีก อย่างไรก็ตาม บอร์ด กสท.ทั้งสามคนได้เสนอทางออกให้ช่อง 3 ว่า หากจะยังคงการออกอากาศในเคเบิลและทีวีดาวเทียม ต้องออกอากาศคู่ขนานกับทีวีดิจิตอล หรือขอใบอนุญาตเพย์ทีวี(โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก) โดยรับเงื่อนไขลดเวลาโฆษณาลงจาก 12 นาทีทางช่องอนาล็อก เหลือ 6 นาทีทางช่องเพย์ทีวี

ด้านช่อง 3 ได้ออกแถลงการณ์ในวันเดียวกัน(5 ก.ย.) โดยยืนยันว่า ไม่สามารถออกอากาศคู่ขนานกับทีวีดิจิตอลได้ เนื่องจากช่อง 3 อนาล็อก โดยบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ไม่ได้ร่วมประมูลทีวีดิจิตอล และว่า หาก กสทช.จะอนุญาตให้บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย ซึ่งประมูลช่องทีวีดิจิตอลมา 3 ช่อง นำช่อง 3 ไปออกอากาศคู่ขนาน ก็ต้องไม่ตัดเนื้อหาหรือโฆษณาของช่อง 3 ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหากับช่อง 3 นอกจากนี้ช่อง 3 ยังอ้างเหตุที่ไม่ขอเป็นเพย์ทีวีตามที่บอร์ด กสท.เสนอว่า เพราะช่อง 3 ฟ้องต่อศาลว่า กสท.ออกมติห้ามโครงข่ายเคเบิลและดาวเทียมออกอากาศช่อง 3 โดยไม่ชอบ หากช่อง 3 ขออนุญาตเป็นเพย์ทีวีโดยที่ศาลยังไม่ตัดสิน จะทำให้ช่อง 3 แพ้คดี อีกทั้งการขอเป็นเพย์ทีวี จะทำให้ช่อง 3 กลายเป็นธุรกิจใหม่ ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์และค่าธรรมเนียมใหม่ทั้งหมด จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น