xs
xsm
sm
md
lg

“มนูญ” ยันปิโตรเคมีใช้ LPG เป็นธรรม เชียร์ขึ้นราคาแล้วช่วยเฉพาะคนเดือดร้อนจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มนูญ ศิริวรรณ
“มนูญ” ย้ำน้ำมันแพงเพราะภาษี - กองทุนฯ ส่วนการตั้งราคาอิงสิงคโปร์ของโรงกลั่น ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายจริงทั้งสิ้น อ้างภาคปิโตรเคมีมีคุณูปการต่อประเทศมาก ระบุการได้ใช้แอลพีจีก่อนกลุ่มอื่นเหมาะสมแล้ว เหตุก๊าซจากอ่าวไทยมีคุณสมบัติแยกเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานปิโตรเคมีได้ เชียร์ขึ้นราคาหน้าโรงแยกก๊าซให้ไปสู่ต้นทุนที่แท้จริง แล้วค่อยไปช่วยประชาชนกลุ่มที่เดือดร้อนจริงๆ ยันไม่ต้านระบบแบ่งปันผลผลิต เพียงแต่สัมปทานรอบ 21 ต้องเร่งให้เกิด เลยจำเป็นต้องใช้แบบสัมปทานไปก่อน

วันที่ (3 ก.ค.) นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน และอดีตผู้บริหาร บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร่วมสนทนาในรายการ “ตอบโจทย์ ไทยพีบีเอส” ดำเนินรายการโดย นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์

โดย นายมนูญ กล่าวว่า ประเทศไทยผลิตน้ำมันดิบและก๊าซรวมกันได้ 8.7 แสนบาร์เรล / วัน ใน 8.7 แสนบาร์เรล มีน้ำมันดิบบวกกับคอนเดนเสทประมาณ 2 แสนบาร์เรลนิดๆ และก๊าซประมาณ 4 พันกว่าล้านลูกบาศก์ฟุต เอาก๊าซมาเปลี่ยนเป็นน้ำมันดิบ รวมกันแล้วได้ประมาณ 8.7 แสนบาร์เรล / วัน แต่ข้อมูลที่ไม่ได้พูดกันคือ จริงอยู่ที่เราผลิตได้เยอะ แต่เราใช้ 1.7 ล้านบาร์เรล / วัน ผลิตได้แค่ 49 เปอร์เซ็นต์ของการใช้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมต้องนำเข้าน้ำมันดิบกับก๊าซเพิ่มขึ้น

การผลิตน้ำมันดิบเราอยู่อันดับที่ 33 ของโลก ส่วนการใช้น้ำมันดิบเราอยู่อันดับที่ 19 ของโลก ส่วนก๊าซผลิตอันดับที่ 22 ของโลก แต่ใช้อันดับที่ 25 ของโลก เราผลิตได้เยอะจริงแต่ไม่ได้สูงมากกว่าการใช้

ส่วนส่งออกก็มี เราผลิตน้ำมันดิบกับคอนเดนเสทได้ประมาณ 2 แสนบาร์เรล / วัน ส่งออกน้ำมันดิบประมาณ 2 หมื่นบาร์เรล / วัน และน้ำมันสำเร็จรูปประมาณ 2 แสนบาร์เรล / วัน เหตุผลที่ต้องส่งน้ำมันสำเร็จรูปออกเยอะเพราะเรามีกำลังการกลั่นเยอะ ประมาณ 1 ล้านบาร์เรล / วัน แต่เราใช้แค่ 8 แสนบาร์เรล เหตุที่ต้องกลั่นเหลือเยอะ เพราะใช้กำลังการกลั่นให้เต็มกำลังการผลิต ต้นทุนต่อหน่วยจะได้ถูกลง

นายมนูญ กล่าวต่อว่า น้ำมันดิบกลั่นได้น้ำมันสำเร็จรูปในสัดส่วนที่ไม่เหมือนกัน ประเทศไทยต้องการน้ำมันดีเซลเยอะ ซึ่งเวลากลั่นดีเซลออกมาให้เพียงพอต่อความต้องการก็ได้เบนซินออกมาด้วย แต่ความต้องการเบนซินในประเทศน้อยกว่า ทำให้เบนซินเหลือจึงต้องส่งออก ส่วนน้ำมันดิบที่ส่งออก 2 หมื่นบาร์เรล ก็เพราะน้ำมันส่วนนี้เป็นน้ำมันเบา ซึ่งมันไม่เหมาะต่อโรงกลั่นของไทย เราต้องกลั่นน้ำมันปานกลาง (Medium Light) เพื่อที่จะได้ดีเซลเยอะๆ ถ้าเราเอาน้ำมันเบามากลั่นจะทำให้ได้เบนซินเยอะ ฉะนั้นเลยต้องส่งออกน้ำมันเบาแล้วเราเอาน้ำมันปานกลางจากตะวันออกกลางมากลั่น

ประโยชน์ทั้งหมดนี้ตกอยู่ที่ทั้งผู้รับสัมปทานและประชาชน เพราะส่งออกได้เงินกลับประเทศ และทำให้รัฐบาลได้ค่าภาคหลวงในอัตราที่สูงขึ้น ถ้าเอาน้ำมันตรงนี้มาขายในประเทศจะได้ราคาไม่ดีเท่ากับส่งออก รัฐบาลก็เก็บค่าภาคหลวงได้น้อย เพราะเก็บค่าภาคหลวงเป็นสัดส่วนของราคาน้ำมัน

นายมนูญ กล่าวถึงเรื่องราคาน้ำมัน ว่า จะถูกหรือแพงต้องดูที่โครงสร้างราคาน้ำมัน จะพบว่าส่วนใหญ่โครงสร้างราคาน้ำมันประมาณ 30 - 40 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ภาษีกับกองทุนฯ ส่วนที่เป็นเนื้อน้ำมันจริงๆ ประมาณ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่างเรื่องของเบนซิน 95 หรือแก๊สโซฮอล์ รัฐบาลเก็บภาษี 30-44 เปอร์เซ็นต์ คนใช้เบนซิน 95 จ่ายภาษีสรรพสามิตบวกกองทุนน้ำมันลิตรละ 21 บาทของราคาขายปลีก ทำให้มีราคาแพง ถ้าต้องการใช้ในราคาถูกก็ต้องแตะเรื่องของภาษี การที่บอกว่าโรงกลั่นตั้งราคาสูงไปเพราะบวกค่าใช้จ่ายเทียม จริง ๆแล้วเป็นค่าใช้จ่ายจริงทั้งนั้น เช่นค่าปรับปรุงคุณภาพ เพราะตัวคุณภาพน้ำมันที่ใช้ในบ้านเราเป็นยูโรโฟร์ แต่น้ำมันที่ใช้ในสิงคโปร์ที่อ้างอิงกันเป็นยูโรทรี เมื่อเราเปลี่ยนมาใช้ยูโรโฟร์มันก็ต้องมีค่าปรับปรุงคุณภาพ หรือแม้กระทั่งค่าสำรองน้ำมัน ก็เป็นจริง เพราะโรงกลั่นน้ำมันสิงคโปร์ไม่มีสำรองน้ำมันตามกฎหมาย แต่ของไทยมีค่าสำรองน้ำมันตามกฎหมาย หรือแม้แต่ค่าขนส่งก็จริง ค่าประกันก็จริง เพราะสิ่งเหล่านี้มันติดมากับน้ำมันดิบ อย่าลืมว่าต้องขนน้ำมันดิบมาจากตะวันออกกลาง ส่วนกรณีที่ขุดได้เองในประเทศมันก็ตัดค่าขนส่งออกไป แต่เราขุดได้เองแสนกว่าบาร์เรลเท่านั้น มันเป็นเรื่องของการเทียบเคียงว่าให้ราคาหน้าโรงกลั่นใช้น้ำมันสิงคโปร์เป็นตัวเทียบเคียง แต่ไม่ให้ตั้งราคาสูงกว่านั้น

กลไกทุกวันนี้ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพราะรัฐบาลผูกเงื่อนไว้เยอะมาก ด้วยการกดราคาน้ำมันประเภทนึงเอาไว้ให้ถูก และให้ผู้ใช้อีกประเภทจ่ายแพง แล้วเก็บเงินกองทุนน้ำมันเพื่ออุดหนุนแอลพีจี ผูกเงื่อนอย่างนี้มานาน ถ้าสะท้อนต้นทุนจริงต้องไปแก้สิ่งเหล่านี้ ประชาชนกลุ่มที่ใช้ดีเซล - แอลพีจี ก็ต้องแบกรับภาระสูงขึ้น ส่วนกลุ่มที่ใช้เบนซิน - โซฮอล์ ก็จะได้ใช้ในราคาที่ถูกลง

นายมนูญ กล่าวอีกว่า เรื่องการใช้ก๊าซแอลพีจีในภาคปิโตรเคมี ก๊าซจากอ่าวไทยมีคุณสมบัติพิเศษ คือ เป็นก๊าซเปียก สามารถแยกคุณสมบัติออกมาเป็นวัตถุดิบที่สามารถป้อนโรงงานปิโตรเคมีได้ มันไม่เหมือนก๊าซทั่วไป อย่างก๊าซจากพม่าเป็นก๊าซแห้ง ไม่สามารถแยกเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงงานปิโตรเคมีได้ เป็นเชื้อเพลิงได้อย่างเดียว เพื่อบริหารทรัพยากรธรรมชาติให้ได้ประโยชน์สูงสุดเลยจำเป็นต้องแยกก๊าซเหล่านี้ออกมาเป็นวัตถุดิบเพื่อป้อนโรงงานปิโตรเคมีก่อน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับโรงแยกก๊าซในการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

เมื่อสมัย พล.อ.เปรม ตอนนั้นเราค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย แล้วยังไม่มีโรงแยกก๊าซ เราเอาทั้งหมดไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เพราะเอาของที่มีคุณสมบัติพิเศษไปเผาทำเชื้อเพลิง เราถึงสร้างโรงแยกก๊าซเพื่อแยกเอาก๊าซเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานปิโตรเคมี สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนั้นพัฒนาไปพร้อมๆ กัน และเกิดก๊าซแอลพีจีให้ภาคประชาชนใช้ซึ่งเป็นผลพลอยได้ ตรงนี้ไม่ใช่เป็นการแย่งกันใช้ แต่แบ่งกันใช้ แต่ตอนนั้นการใช้ยังไม่มาก เลยไม่เป็นปัญหา ตอนนั้นเหลือก็ส่งออก รัฐบาลก็บอกแทนที่จะส่งออกให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีสร้างเตาที่ใช้แอลพีจีเขาก็อุตส่าห์ไปสร้าง พอมาถึงวันนี้แอลพีจีที่มาจากโรงแยกก๊าซมันไม่พอใช้ขึ้นมา เราก็จะมาแย่งกันใช้แล้วจะให้ประชาชนใช้ก่อน แล้วปิโตรเคมีที่เคยถูกขอร้องให้ใช้ก็จะไปไล่เขาให้เอาแอลพีจีนำเข้ามาใช้ อันนั้นก็ไม่ยุติธรรมต่อธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตอนนี้มันเป็นเรื่องที่ต้องสร้างสมดุลกันมากกว่า ว่าแบ่งก๊าซยังไงให้ยุติธรรม

เมื่อถามว่าภาคปิโตรเคมีมีคุณูปการขนาดนั้นเลยหรือ นายมนูญ ตอบว่า ถูกต้อง เพราะธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเกิดพร้อมกับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เกิดขึ้นพร้อมกับโรงแยกก๊าซ แล้วธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมีก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อนื่องมากมาย ขณะนี้สร้างงานมากกว่า 4 - 5 แสนคน สร้างรายได้ให้ประเทศมากมาย เสียภาษีให้ประเทศมากกว่าการเอาก๊าซไปเผาทำเชื้อเพลิงเยอะ

ผู้ดำเนินรายการถามว่า เปรียบเทียบแล้วคุ้มค่าไหม ที่ให้ภาคปิโตรเคมีใช้การอุดหนุนจากกองทุนน้ำมัน ทำให้ประชาชนใช้น้ำมันราคาแพงขึ้น นายมนูญตอบว่า ไม่ใช่ ทุกวันนี้แอลพีจีแยกเป็นสองสาย สายหนึ่งให้ประชาชนใช้เป็นเชื้อเพลิง อีกสายให้ปิโตรเคมีใช้เป็นวัตถุดิบ ราคาก็ต่างกัน เพราะปิโตรเคมีซื้อจากโรงแยกก๊าซในราคาแพงกว่าที่ประชาชนซื้อ เพราะซื้อตามสูตรราคาเม็ดพลาสติกในตลาดโลก ซึ่งราคาที่ปิโตรเคมีซื้อจากโรงแยกก๊าซ อยู่ที่ประมาณ 550 เหรียญสหรัฐฯ /ตัน หรือ 17.50 บ. / กก. ส่วนภาคประชาชนซื้อ 333 เหรียญสหรัฐฯ / ตัน หรือ 10.80 บ. / กก. แล้ว 333 เหรียญสหรัฐฯ รัฐบาลตรึงไว้ตั้งแต่ปี 2547 สิบปีที่แล้ว ตอนนั้นราคาก๊าซในอ่าวไทยอยู่ที่ 260 กว่าเหรียญฯ / ตัน แต่ตอนนี้ก๊าซในอ่าวไทย 360 เหรียญฯแล้ว แต่ราคาหน้าโรงแยกก๊าซยังไม่ขึ้นเลย และที่นำเข้าแอลพีจี 700 - 800 ตัน ไม่ได้เอามาใช้ในปิโตรเคมี แต่เอามาให้ประชาชนใช้ ปิโตรเคมีใช้จากโรงแยกก๊าซส่วนหนึ่ง และใช้จากโรงกลั่นซึ่งต้องซื้อที่ราคาเกือบ 800 เหรียญฯ ฉะนั้น ซื้อจากโรงแยกก๊าซกับโรงกลั่น สองแหล่งรวมกันซื้อที่ต้นทุนประมาณ 720 เหรียญฯ / ตัน

“หากจะทำราคาน้ำมันให้สมเหตุสมผล ควรเริ่มจากการปรับราคาหน้าโรงแยกก๊าซ ราคาก๊าซจากอ่าวไทย 360 เหรียญฯ มาถึงหน้าโรงแยก 380 เหรียญฯ ยังไม่บวกต้นทุนโรงแยก ถ้าบวกเข้าไปอยู่ที่ 555 เหรียญฯ แต่ราคาขายที่รัฐบาลกำหนด 333 เหรียญฯ ตรงนี้มันไม่ถูกต้อง ฉะนั้นต้องปรับราคาขึ้นไปสู่ราคาต้นทุนที่แท้จริง นั่นก็คือราคาปลายทาง จากปัจจุบันภาคขนส่งตรึงอยู่ที่ 21 บาท / กก. ครัวเรือน 22 บาท / กก. ตรงนี้ต้องขึ้นไปสู่ราคาที่แท้จริง ก็อาจจะเป็น 28 บาท อะไรก็แล้วแต่ แล้วเราก็ไปช่วยเหลือประชาชนกลุ่มที่เดือดร้อนจริงๆ มีผลการศึกษาว่าถ้าตรึงราคาไว้ เงินช่วยเหลือส่วนใหญ่ไปสู่ประชาชนที่มีรายได้สูง เพราะคนรวยใช้พลังงานมากกว่าคนจน” นายมนูญ กล่าว

นายมนูญ ยังกล่าวอีกว่า ระบบการให้สัมปทานกับแบ่งปันผลผลิต โดยเนื้อแท้แทบไม่มีอะไรต่างกันเลย เราจะใช้ระบบไหนก็ได้ ถ้าเปรียบเป็นที่ดิน หากเราไม่อยากเข้าไปยุ่งมากก็เรียกคนมาจัดการ แล้วกำหนดขอแบ่งกำไร แต่ในขณะที่อยากเข้าไปขอหุ้นด้วย นี่คือแบ่งปันผลผลิต เนื้อแท้ไม่มีอะไรต่าง ทีนี้เราจะบอกว่าอันไหนดีกว่า ขึ้นอยู่กับว่าที่ดินของคุณสวยแค่ไหน ถ้าสวยมากก็ต่อรองได้มาก ตั้งราคายังไงคนก็สนใจ แต่ถ้าไม่สวย ตั้งราคาถูกยังไงก็ไม่มีใครมา

“ทางออกเรื่องปฏิรูปพลังงาน สำคัญสุดต้องยอมรับซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่างเรื่องสัมปทานกับแบ่งปันผลผลิต กลุ่มตนไม่ยืนหยัดหัวเด็ดตีนขาดว่าต้องเอาสัมปทาน เอาแบบผสมผสานกันก็ได้ แต่อีกกลุ่มยืนยันแต่ว่าจะเอาแบ่งปันผลผลิต ซึ่งสัมปทานรอบที่ 21 ควรใช้ระบบสัมปทาน จำเป็นต้องเร่งให้เกิดเพราะถ้าใช้แบ่งปันผลผลิตต้องรื้อใหม่หมดเลย รอไม่ได้แล้ว เราช้าไป 7 ปี ที่ไม่เจอแหล่งน้ำมันใหม่ๆเลย ถ้าจะทำแแบแบ่งปันผลผลิต ทำตอนต่ออายุที่จะหมดลงใน 8 ปีข้างหน้าก็ได้ ซึ่งต้องต่ออายุก่อนหมดสัญญา 5 ปี ฉะนั้นมีเวลาศึกษา 3 ปี” นายมนูญ กล่าวปิดท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น