xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยวาทะ “ปิยสวัสดิ์” ก่อนเถลิง บอร์ด ปตท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ บอร์ด และว่าที่ประธานบอร์ด ปตท. (แฟ้มภาพ)
เพียงแค่เผยชื่อออกมาภาคประชาชนที่เรียกร้องการปฏิรูปพลังงาน ก็ออกมา “ยี้” กันแล้ว สำหรับชื่อ “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” กับคำสั่งแต่งตั้งเป็น คณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ บอร์ด ปตท. ชุดใหม่ ซึ่งหลายคนจับตาว่า นายปิยสวัสดิ์ จะถึงขั้น “ประธานบอร์ด ปตท. คนใหม่หรือไม่” เพราะ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจออกมาการันตีว่า นายปิยสวัสดิ์ มีความรู้และเชี่ยวชาญในด้านพลังงานอย่างมากคนหนึ่งในประเทศไทย

ASTVผู้จัดการ จึงขอรวบรวมวาทะ คำพูดของนายปิยสวัสดิ์ในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงที่ดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมานำเสนอ

• 2541 ให้สัมภาษณ์วิทยุ “แปรรูปแล้วต้องให้ได้ตามเป้าหมาย”

เมื่อ 10 มิถุนายน 2541 นายปิยสวัสดิ์ สมัยนั่ง ตำแหน่ง “เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ” ในขณะนั้นได้ให้สัมภาษณ์กับทางสถานีวิทยุ FM 101 บางประโยคที่คนไทย ณ วันนี้ฟังแล้วเจ็บปวดหัวใจยิ่งก็คือ

“เป้าหมายผมคิดว่าต้องทำให้ได้ อันนี้สำคัญมาก ถ้าแปรรูปไปแล้วไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อาจจะไม่แปรดีกว่า เช่น ถ้าเปลี่ยนการผูกขาดของภาครัฐเป็นเอกชน ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วอยู่เฉยๆ ไม่ดีกว่าหรือ แปรรูปแล้วต้องให้ได้ตามเป้าหมาย”

การแปรรูปไปแล้วก็ต้องทำให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่คุณภาพบริการและราคาที่ต่ำลงเมื่อเทียบกับในกรณีไม่มีการแปรรูป หมายความว่าจะต้องแปรรูปในลักษณะให้มีการแข่งขันด้วย มีการแข่งขันอย่างแท้จริง เปิดกว้างทั้งหมด

เพราะความเป็นจริงนั้น ที่ว่าเอาเงินเข้าประเทศแต่เมื่อแปรรูปแล้วเงินกลับไปเข้ากระเป๋าบริษัทเอกชนต่างๆ และไม่ได้เพิ่มการแข่งขันแต่กลับเกิดการผูกขาดอย่างไม่น่าเกิดขึ้น สวนกลับคำพูดของเขาชัดเจน ซึ่ง นายปิยสวัสดิ์ ยังเป็นคนริเริ่มการแปรรูปบริษัท ปตท.สำรวจและผลิต (ปตท.สผ.) ซึ่งการมีแปรรูปหลายครั้งในลักษณะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ และจนนำไปสู่การแปรรูป ปตท.ด้วยการผ่องถ่ายออกอยู่ตลอดเช่นกัน

นายปิยสวัสดิ์เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง

1. ในฐานะเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) และกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งเป็นผู้จัดทำและพิจารณาอนุมัติแผนการแปรรูป ปตท. ในปี 2544

2. ในฐานะเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท. ซึ่งทำหน้าที่ตราร่าง พ.ร.ฎ.เพื่อแปลงสภาพ ปตท. เป็น บมจ.ปตท. ในปี 2544

3. ในฐานะเป็นกรรมการในคณะกรรมการดำเนินการระดมทุนจากภาคเอกชนในการแปรสภาพ ปตท. ซึ่งทำหน้าที่กำกับการประเมินทรัพย์สิน ราคาหุ้น และแนวทางการกระจายหุ้น ในปี 2544

4. ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด ซึ่ง ปตท. ถือหุ้นอยู่ด้วย

5. ในฐานะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรรมการ กพช. และ คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ (กนท.) ในปี 2549 - 2550 ในยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งมีส่วนโดยตรงในการตรา พ.ร.ฎ. กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550 ซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่าไม่ชอบโดยกฎหมายเช่นกัน

• 27 มีนาคม 2549 การันตีแปรรูป “ปตท.” ถูกกฎหมาย

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ในเวลานั้นกล่าวว่า ปตท. แปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะการคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นกรรมการเพื่อดำเนินการแปรรูป เพราะไม่มีคณะกรรมการคนใดเกี่ยวโยงทางธุรกิจซึ่งกันและกัน รวมถึง ปตท. มีสิทธิการรอนสิทธิการวางท่อก๊าซธรรมชาติ และมีคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ปตท.สามารถดำเนินการแปรรูปได้ หลังจากมีสนามกอล์ฟแห่งหนึ่งฟ้องร้อง ปตท. ว่ามีการละเมิดที่ดินในการวางท่อน้ำมัน

• พ.ศ.2550 นั่ง รมว.พลังงานขิงแก่ ชูนโยบายทำใน 1 ปี

ช่วงเข้าสู่ตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน” สมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ. 2550

“นโยบายพลังงานจะเดินหน้าส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจพลังงานอย่างเสรี โดยไม่ต้องการให้ใครเข้ามาแทรกแซงราคาน้ำมัน เพราะที่ผ่านมามีการแซงแทรงโดยบริษัทของรัฐ ทำให้ผู้ค้ารายย่อยต้องปิดตัวไปจำนวนมาก”

“ส่วนเรื่องค่าไฟฟ้าจะมีการปรับสูตรโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานให้เป็นธรรมและเหมาะสม เพราะสูตรปัจจุบันให้ความสำคัญเรื่องผลตอบแทน กับ กฟผ. มากเกินไป ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าฐานลดลง ส่วนเรื่องค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ เอฟที จะดูแลให้ปรับขึ้น-ลงตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่แท้จริง ไม่ให้นำต้นทุนแฝงมารวม”

“ค่าไฟฟ้าจะต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยเป็นต้นทุนที่มาจากการทำงานที่มีประสิทธิภาพไม่ใช่การดำเนินงานที่ไม่มีประสิทธิภาพแล้วผ่านเข้ามารวมเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้า กฟผ. ต้องบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้ประหยัดที่สุด เช่น เมื่อราคาน้ำมันเตาสูงขึ้นก็ไม่ใช่จะต้องปรับค่าเอฟที แต่ควรหันไปใช้พลังงานอื่นๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติและพลังงานจากถ่านหิน หาก กฟผ.ไม่สามารถบริหารจัดการได้ก็ต้องรับภาระไป”

“ส่วนเรื่อง ปตท. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองนั้น คงต้องให้เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย แต่จะดำเนินการปรับปรุงร่างกฎหมายดูแล ปตท. ตามที่เคยประกาศไว้ก่อนการแปรรูป อาทิ การโอนอำนาจมหาชน และการโอนที่ดินจากการเวนคืน ไปให้บริษัท ปตท. ต้องปรับปรุงให้เหมาะสม

“ในช่วง 1 ปีจะไม่แปรรูป กฟผ. แน่นอน เพราะเห็นว่าการแปรรูปจะต้องมีกฎหมายกำกับกิจการพลังงาน และมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเข้ามาดูแล”

“เรื่องใดที่ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการเกินกว่า 1 ปี เช่น แปรรูป กฟผ. ก็จะยังไม่ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม มีหลายเรื่องที่จะต้องทำ เช่น การปรับโครงสร้างการกำกับดูแลโครงสร้างการบริหาร เพื่อไม่ให้มีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งที่ควรจะดำเนินการ เช่น อำนาจมหาชนที่อยู่ในรัฐวิสาหกิจที่ผ่านการแปรรูปไปแล้ว เช่น ปตท. ก็จัดการเอาอำนาจเหล่านี้ไปอยู่ในองค์กรกำกับดูแล ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมา (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร - นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) ไม่ได้ทำ ในขณะที่เรื่องดังกล่าวควรดำเนินการตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว เพราะทำให้เกิดปัญหาฟ้องร้องต่อศาลปกครอง”

“นอกจากนี้ จะเร่งผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศที่เหลืออยู่ เนื่องจากที่ผ่านมามีเพียงนโยบายแต่ไม่ได้มีการปฏิบัติอย่างเพียงพอ มีการปฏิบัติเพียงบางเรื่อง เช่น เอทานอล และไบโอดีเซล ในขณะที่วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร น้ำเสีย ขยะ ไม่ได้มีการสานต่อให้เดินหน้าเร็วเท่าที่ควร ทั้งนี้ การลงทุนของเอกชนด้านพลังงานก็มีเอกชนพร้อมที่จะลงทุนในพลังงานจากวัสดุทางการเกษตร และจากการที่นโยบายไม่เดินหน้าในทุกเรื่องทำให้ปัจจุบันโรงผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้จากยางพาราไม่มีแม้แต่แห่งเดียวในประเทศไทย ทั้งๆ ที่มีวัสดุเหลือใช้อย่างยางพารา และรากยางพาราอยู่มาก”

• 2550 ทำไม “ปิยสวัสดิ์” ถึงปฏิเสธซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนสาละวิน

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2550 สำนักข่าวเบอร์นามา ของมาเลเซีย ลงข่าวว่า นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการ พลังงานของประเทศไทย ระหว่างเยี่ยมชมโครงการเกี่ยวกับพลังงานที่จังหวัดกระบี่ ได้ปฏิเสธที่จะซื้อพลังงานจากโครงการเขื่อนสาละวินของรัฐบาลทหารพม่า โดยกล่าวว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะไม่มองหาแหล่งพลังงานจากประเทศพม่า

“กระทรวงพลังงานของไทยยังไม่ได้เคยเซ็นสัญญาซื้อขายพลังงานใดๆ กับประเทศพม่า เพียงแต่ที่ผ่านมาแค่ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้เท่านั้น (conduct a feasibility study on the project)”

“นโยบายของรัฐบาลชุดนี้แตกต่างจากรัฐบาลชุดที่แล้ว มันแตกต่างจากเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา”

“ในส่วนการซื้อพลังงานจากลาว 5,000 เมกะวัตต์นั้น ก็จะยังคงดำเนินการต่อไป และก็กำลังมองหาการร่วมลงทุนกับจีน ซึ่งทั้งหมดนั้นอาจจะเริ่มดำเนินการในรัฐบาลหน้า”

“รัฐบาลชุดที่แล้วมีความผูกพันโยงใยกับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าในด้านผลประโยชน์ทางธุรกิจ ทำให้กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์หลายครั้งถึงกรณีที่รัฐบาลไทยจะซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนสาละวิน”

• 24 ธ.ค. 51 ค้านถอน ปตท. จากตลาดหุ้น แนะลอยตัว LPG ขึ้นราคา NGV

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานที่ปรึกษามูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงแนวคิดรัฐบาลที่จะเพิกถอน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เนื่องจากที่ผ่านมา ปตท. ไม่สามารถดูแลผู้บริโภคได้ ทั้งราคาน้ำมัน และราคาก๊าซในประเทศ ที่ต้องใช้สูงกว่าตลาดโลก โดยช่วงที่ตลาดโลกปรับขึ้น ปตท.กลับประกาศขึ้นราคาทุกวัน แต่พอราคาในตลาดโลกลดลง ปตท. กลับไม่ค่อยปรับราคาลงตามตลาดโลก ทั้งที่เป็นผู้ทำธุรกิจผูกขาด

นายปิยสวัสดิ์ ให้เหตุผลในการคัดค้านการเพิกถอน ปตท. ออกจากตลาดหุ้น โดยเสนอแนะให้รัฐบาลใช้ทางเลือกอื่น อาทิ การกำหนดกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลเพื่อให้เป็นธรรมแก่บริโภคและผู้ลงทุน ซึ่งต้องเร่งดำเนินการ คือ การออกกฎเกณฑ์ และระเบียบต่างๆ ในการกำกับดูแลกิจการก๊าซธรรมชาติของ ปตท. เพื่อให้การประกอบธุรกิจ การกำหนดราคาและเงื่อนไขในการจำหน่ายก๊าซให้มีความโปร่งใส เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เป็นการสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม มีคุณภาพบริการที่ดี

นายปิยสวัสดิ์ ยังได้เสนอมาตรการที่รัฐบาลควรดำเนินการใน 99 วันแรกของปีหน้า โดยแนะนำว่า รัฐบาลควรลอยตัวก๊าซหุงต้ม (LPG) โดยสั่งยกเลิกการกำหนดราคาก๊าซ LPG ทั้งภาคขนส่งและครัวเรือน เพราะไม่สามารถควบคุมการลักลอบถ่ายเทก๊าซ และจำมีการปลอมแปลงเอกสาร เพื่อขอรับเงินส่วนต่างจากอัตรากองทุนที่อุดหนุนราคาที่ต่างกัน

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวถึงเหตุผลในการประกาศลอยตัว LPG เพราะเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันลดลง จากระดับสูงสุดที่ 924 ดอลลาร์ต่อตัน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา เหลือเพียง 338 ดอลลาร์ต่อตัน ในเดือนธันวาคม 2551 หรือคิดเป็น 11.7 บาทต่อกิโลกรัม พร้อมแนะนำให้กำหนดสูตรราคา ณ โรงกลั่นที่ชัดเจน

ส่วนการปรับขึ้นราคาก๊าซ NGV ควรปฏิบัติตามเกณฑ์ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เช่น การปรับราคาจากกิโลกรัมละ 8 บาท 50 สตางค์ เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 11 บาท และปรับขึ้นไม่เกินครึ่งหนึ่งของราคาดีเซล เพราะราคาในปัจจุบันถูกเกินควรจากการอุดหนุน ถึงแม้จะปรับราคาขึ้นไปถึง 3 บาท 50 สตางค์ แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่าดีเซล

นอกจากนี้ นายปิยสวัสดิ์ ยังเสนอให้รัฐบาลปรับภาษีสรรพาสามิตน้ำมันมาอยู่ระดับเดิมในทันที ซึ่งอาจมีผลกระทบกับราคาขายปลีกบ้าง แต่ก็สามารถลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน

ส่วนนโยบายพลังงานทดแทนควรเร่งส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ อี20 และ อี10 ที่มีค่าออกเทน 91 ให้มีการใช้เพิ่มขึ้น สำหรับน้ำมัน อี 85 ควรวางแผนระยะยาว เพราะต้องคำนึงถึงความพร้อมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ

นอกจากนี้ ควรกำหนดให้น้ำมันดีเซล บี3 ซึ่งมีการเติมสัดส่วนของไบโอดีเซลสูงขึ้น ให้เป็นมาตรฐานสำหรับผู้ใช้ ตั้งแต่ 1 เมษายนปีหน้า และปรับเป็น บี4 และ บี5 ในปีถัดไป เพราะการตึงตัวของน้ำมันปาล์มดิบลดลงไปมาก

• 8 พ.ค. 57 แนะปฏิรูปพลังงานไทย ไล่การเมืองพ้น ปตท. ดีกว่าทวงคืน

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมและอดีต รมว.พลังงาน กล่าวในงานสัมมนา “พลังงานไทย ปฏิรูปอย่างไรให้ถูกทาง” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจว่าในขณะนี้ประเทศไทยมีพลังงานสำรองในประเทศลดลงมากเรื่อยๆ ส่งผลให้ไทยต้องนำเข้าพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศสูงมาก และจะส่งผลต่อความมั่นคงของพลังงานและต้นทุนค่าไฟของประเทศในอนาคต ทำให้ในอนาคตค่าเอฟทีของไทยจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนในอนาคต ส่วนสิ่งที่กังวลกันของธุรกิจพลังงานคือ การเมือง หรือเอกชนอื่นที่จะเข้ามาแทรกแซงการทำงานของ ปตท.

ดังนั้น สิ่งที่จะปฏิรูปพลังงานให้ถูกทางควรจะดำเนินการใน 4 ข้อ คือ 1. การปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้เหมาะสมและเป็นจริง โดยเฉพาะการเก็บภาษีจากราคาน้ำมัน ควรจะเท่าเทียมกันไม่ควรจะให้คนที่ใช้พลังงานประเภทหนึ่งมารับภาระของคนใช้พลังงานอีกประเภท เพราะการใช้นโยบายประชานิยมอุดหนุนราคาพลังงานจำนวนมากในที่สุดไปไม่รอด เช่น ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศผลิตน้ำมัน เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศโอเปกใช้วิธีอุดหนุนราคาน้ำมันมาอย่างต่อเนื่อง แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด ขณะเดียวกัน ทุกพรรคการเมืองในประเทศไทย ขณะนี้เน้นประชานิยมในด้านพลังงาน พรรคเพื่อไทยก็ประชานิยม พรรคประชาธิปัตย์ก็ประชานิยม ส่วนคนที่ต่อต้านรัฐบาลในขณะนี้ก็ประชานิยมสุดซอย แต่ขณะนี้ ควรต้องกลับมาคิดแล้วว่า ถ้าเราต้องการความยั่งยืนและมั่นคงทางพลังงาน ราคาก็ต้องสะท้อนกลไกตลาด ไม่เช่นนั้น คนไทยอาจจะได้ใช้น้ำมันราคาถูกวันนี้ แต่จะแพงขึ้นอย่างรวดเร็วใน 10 - 20 ปีข้างหน้า

“ส่วนกรณีที่มองว่า คนจนอาจจะลำบากหากราคาน้ำมัน และพลังงานแพงขึ้นนั้น อยากให้การอุดหนุนของรัฐบาลเป็นไปอย่างโปร่งใส คือตั้งงบประมาณ และกำหนดบุคคลเป้าหมายในการให้การอุดหนุนที่ชัดเจน แทนที่จะอุดหนุนโดยวิธีเอาเงินของคนหนึ่งมาให้อีกคนหนึ่งซึ่งไม่เป็นธรรม”

2. จัดโครงสร้างของพลังงานของไทยใหม่ โดยสร้างการแข่งขันให้มีความเท่าเทียมกันโดยเชื่อว่าหากมีการแข่งขันที่เท่าเทียมไม่มีการผูกขาด จะทำให้ราคาที่ซื้อขายกันเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด

3. ลดการแทรกแซงธุรกิจพลังงานจากฝ่ายการเมือง โดยแทนที่จะทวงคืน ปตท. กลับมาเป็นของรัฐ ซึ่งคุมโดยนักการเมืองก็ควรจะขับไล่นักการเมืองออกไปจาก ปตท. มากกว่า โดยให้ข้าราชการการเมืองกำหนดนโยบายอย่างเดียว ไม่ต้องอนุญาตในทุกเรื่อง และ 4. คือการเร่งรัดในการสนับสนุนการสร้างระบบพลังงานทดแทนของประเทศ โดยดูแลให้การอนุญาตการดำเนินการพลังงานทดแทน ทำได้อย่างโปร่งใส หรือไม่ต้องรับใบอนุญาตเลย เพราะในขณะนี้ส่วนหนึ่งมีการหาผลประโยชน์จากการอนุญาตเหล่านี้จำนวนมาก

• เปิดตัว “กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน”

12 พฤษภาคม 2557 “นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน” แถลงข่าวเปิดตัว “กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มบุคคลจากหลายอาชีพผู้มีประสบการณ์ด้านพลังงานโดยตรงกว่า 30 คน มารวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มปฏิรูปพลังงาน เพื่อนำเสนอข้อมูลและแนวทางการปฏิรูปพลังงานที่ยั่งยืนบนฐานข้อมูลที่ถูกต้อง แนวทางที่กลุ่มนี้นำเสนออาจจะไม่ถูกใจประชาชนทั่วไป เพราะไม่ใช่ประชานิยม แต่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานให้กับประเทศในอนาคต

การปฏิรูปพลังงานที่ยั่งยืน ตามข้อเสนอของนายปิยสวัสดิ์แบ่งเป็น 3 กลุ่่ม แต่ละกลุ่มมีการนำเสนอทางแก้ หรือขั้นตอนที่จะนำไปสู่การปฏิรูปพลังงานที่ยั่งยืน 6 ประการ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 การกำหนดราคาที่เป็นธรรมและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แนวทางในการปฏิรูปพลังงานในกลุ่มนี้ นายปิยสวัสดิ์เสนอให้ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อนำไปสู่การใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมแก่ผู้ใช้พลังงานกลุ่มต่างๆ ขณะนี้มีผู้ใช้พลังงานบางกลุ่มใช้พลังงานในราคาที่ถูก โดยมีผู้ใช้อีกกลุ่มเป็นผู้จ่ายเงินอุดหนุนในอัตราที่สูง ดังนั้น รัฐบาลจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ราคาพลังงานเป็นเครื่องมือในการให้สวัสดิการสังคมแก่ประชาชน แต่ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีการอุดหนุนราคาพลังงาน ควรทำเท่าที่จำเป็นเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย โดยไม่ให้กระทบต่อกลไกตลาด และมีกรอบการใช้เงินที่ชัดเจน

กลุ่มที่ 2 ปฏิรูปบริษัท ปตท. เป็นธุรกิจขนาดใหญ่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในกลุ่มนี้นายปิยสวัสดิ์มีข้อเสนอ 2 ประการ คือ 1) เพิ่มการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน และเพื่อไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค กิจการที่มีการแข่งขันของรัฐวิสาหกิจต้องเข้ามาอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า และให้บริษัท ปตท. ขายหุ้นทั้งหมดในโรงกลั่นบางจากและโรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียม (SPRC Refinery) รวมทั้งแยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติออกจาก ปตท. เปิดให้บริการใช้ท่อก๊าซธรรมชาติแก่บุคคลที่สาม (Third party access) เพื่อให้ผู้ใช้มีทางเลือก โดยขั้นแรก ขอเสนอให้ ปตท. ถือหุ้นโรงแยกก๊าซ 100% ขั้นที่ 2 ให้แยกความเป็นเจ้าของจากผู้ให้บริการ โดยให้รัฐถือหุ้นโรงแยกก๊าซมากกว่า 50% ซึ่งจะเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กำหนดผู้ให้บริการส่งก๊าซธรรมชาติ ห้ามทำธุรกิจที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เช่น ไฟฟ้า

นายปิยสวัสดิ์ ยังเสนอให้โอนการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าภูมิภาค เข้ามาอยู่ในสังกัดกระทรวงพลังงาน เช่นเดียวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกิจการไฟฟ้า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต อาทิ สายส่ง Smart grid ระบบจำหน่าย และมาตรฐานการให้บริการ การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand side management: DSM) และการกำกับนโยบาย ปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าให้มีการแข่งขันให้ประชาชนมีทางเลือกในการซื้อไฟฟ้า และปรับปรุงบทบาทการทำงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้เข้มแข็ง ทั้งในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน

ข้อเสนอที่ 2) ลดการแทรกแซงทางการเมือง ลดการแทรกแซงโดยมิชอบและแสวงหาประโยชน์ในกิจการพลังงานที่รัฐถือหุ้น และการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีดังนี้

- แยกการกำกับดูแล การกำหนดนโยบาย และการดูแลผลประโยชน์ของรัฐในฐานะของผู้ถือหุ้นออกจากกันอย่างชัดเจน โดยห้ามข้าราชการที่มีหน้าที่กำกับดูแล หรือมีอำนาจในการกำหนดนโยบายที่อาจจะให้คุณให้โทษต่อกิจการ เป็นกรรมการในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีรัฐถือหุ้น

- ปรับปรุงระบบการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการในบริษัทที่รัฐถือหุ้นให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลของบริษัทชั้นนำของโลก มีความโปร่งใส ประชาชนสามารถตรวจสอบได้

- ข้าราชการที่เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ หรือกรรมการในบริษัทมหาชนที่รัฐถือหุ้น ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติหน้าที่ ควรได้รับผลตอบแทนในอัตราที่เหมาะสมหากมีผลตอบแทนส่วนที่เกินควรให้นำส่งคลัง

- เมื่อแยกกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกไปจาก ปตท. จากนั้นรัฐบาลต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นใน ปตท. ลงต่ำกว่า 50% จนพ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อลดการแทรกแซงจากภายนอก เพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ

• 25 มิ.ย. 57 แนะลอยตัวน้ำมันเลิกประชานิยม

ล่าสุด 25 มิ.ย. 57 นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน เปิดเผยในงานสัมมนา “ปฏิรูปพลังงาน...เพื่อความยั่งยืนของไทย ซึ่งจัดโดยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ว่า มาตรการตรึงราคาน้ำมันควรจะทำในระยะสั้นๆ เท่านั้น เพราะหากรัฐดำเนินการในระยะยาว จะกลายเป็นนโยบายประชานิยม ที่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะยิ่งทำให้โครงสร้างพลังงานถูกบิดเบือน และในที่สุดประชาชนก็ต้องรับภาระ”

โดยเมื่อปี 2547 ในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลเอาไว้ เพราะคิดว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับลดลง แต่กลายเป็นว่า กองทุนน้ำมันต้องแบกภาระหนี้ถึง 90,000 ล้านบาท และมาใช้หนี้จนหมดในรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า รัฐไม่ควรที่จะทำให้น้ำมันเป็นสินค้าการเมือง โดยควรที่จะปล่อยให้มีการลอยตัว เพื่อให้ราคาปรับขึ้นลงตามกลไกตลาด ซึ่งที่ผ่านมา การกำหนดเพดานราคาดีเซลเอาไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และไม่ยอมเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซล ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปประมาณปีละแสนล้านบาท ซึ่งผ่านมา 3 ปี ก็คิดเป็นเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท ทั้งๆ ที่เงินจำนวนนี้ควรจะนำมาใช้พัฒนาระบบขนส่งมวลชน ที่จะช่วยให้การใช้น้ำมันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“การลอยตัวราคาน้ำมันและมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอย่างเป็นธรรม จะทำให้ราคาเบนซินถูกลงมาได้ 1-2 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซลก็ควรจะทยอยจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นมาอีก 3-4 บาทต่อลิตร จากที่ยังเก็บอยู่ 0.005 บาทต่อลิตร ส่วนเอ็นจีวีที่มีไม่ภาษีสรรพสามิตเลย ก็ควรจะมีการจัดเก็บภาษี เพราะยังมีราคาที่ต่ำมาก ซึ่งหากจะช่วยให้รัฐมีรายได้ปีละแสนล้านบาท ที่จะมาใช้ลงทุนระบบรถไฟฟ้า แทนที่จะกู้เงินมาลงทุนเพียงอย่างเดียว” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

ในส่วนของแอลพีจี เห็นว่า รัฐควรจะจัดสรรแอลพีจีไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากกว่าใช้ในภาคขนส่ง ทั้งนี้หากยกเลิกการใช้แอลพีจีในภาคขนส่ง จะทำให้มีแอลพีจีเพียงพอที่จะใช้ในภาคครัวเรือน ที่ยังมีความจำเป็นมากกว่า และจะช่วยให้ราคาแอลพีจีลดลงได้ 2.30บาทต่อกิโลกรัม

สำหรับประเด็นที่บางกลุ่มเสนอให้มีการยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นั้น มองว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสียที่รัฐควรจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ ซึ่งในความเป็นจริงหากยกเลิกกองทุนน้ำมันฯ จะส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงได้จริง 10 บาทต่อลิตร รวมถึงราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์บางชนิดลดลงด้วย แต่จะส่งผลกระทบให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี85 จะปรับขึ้น 12 บาทต่อลิตร รวมถึงก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) จะต้องปรับขึ้นเป็น 26 บาทต่อกิโลกรัมตามต้นทุนที่แท้จริง โดยแอลพีจีภาคครัวเรือนและขนส่งจะต้องถูกปรับขึ้น แต่แอลพีจีภาคอุตสาหกรรมจะได้รับการปรับลดลงจาก 30.13 บาทต่อกิโลกรัมในปัจจุบัน ลงมาเหลือ 26 บาทต่อกิโลกรัม

“การยกเลิกกองทุนน้ำมันจะทำให้อุตสาหกรรมเอทานอลมีปัญหาเพราะคนจะหันมาใช้เบนซินที่มีค่าความร้อนที่สูงกว่า และอาจจะทำให้ผู้ประกอบการเอทานอลล้มละลายได้”

• หนุนยุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ชี้โครงสร้างราคาน้ำมันควรสะท้อนกลไกตลาด

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องการยุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะสอดคล้องกับข้อเสนอของกลุ่มที่ผ่านมา ที่ต้องการเห็นโครงสร้างราคาน้ำมันสะท้อนกลไกตลาด เพราะที่ผ่านมาทั้งอดีตรัฐบาลตั้งแต่ปี 2547 สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ล้วนใช้กลไกกองทุนน้ำมันในการจัดทำนโยบายประชานิยมอุดหนุนราคาพลังงานมาโดยตลอด จนทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ใช้น้ำมันที่ต้องอุดหนุนผู้ใช้ก๊าซแอลพีจี และไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตั้งแต่แรกเริ่มที่ต้องการรักษาเสถียรภาพความมั่นคงพลังงานเป็นหลักตาม พ.ร.ก. แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 และใช้อำนาจตามข้อ 3 แห่ง พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวในการจัดตั้งกองทุนน้ำมัน

“การตั้งกองทุนน้ำมันมีตัวแทนของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้ามาดู ซึ่งที่ผ่านมามีความเป็นห่วงเรื่องการจัดตั้งว่าจะถูกต้องหรือไม่ ซึ่งได้รับคำยืนยันว่าถูกต้อง ทั้งนี้ แล้วแต่การตีความ แต่เมื่อสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ใช้การตรึงราคาน้ำมันจนหนี้สูงกว่า 80,000 ล้านบาท และในปี 2547 ได้มีการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่องการจัดตั้งกองทุนน้ำมันฯ และสถาบันบริหารกองทุนพลังงานมาจัดการ ซึ่งช่วงนั้นมีการออกพันธบัตร และขณะนี้ก็จะมีหนี้กู้เงินมาเพื่อชดเชยกองทุนที่ทำหน้าที่หลักในการอุดหนุนราคาพลังงาน” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นหากยกเลิกเงินกองทุนน้ำมันทันที คือ ราคาเบนซิน 95 จะลดทันที 10 บาท/ลิตร ราคา อี10 จะลดลงตามกองทุนที่เก็บ แต่ อี20 จะเพิ่มขึ้น 1.05 บาท อี85 จะเพิ่มขึ้น 11.60 บาท/ลิตร ดีเซลลดลง 25 ส.ต. ราคาแอลพีจีทุกภาคส่วนจะมีราคาเดียวกัน คือ 26 บาท/กก. ซึ่งเป็นราคาที่เฉลี่ยระหว่างราคาโรงแยกก๊าซ โรงกลั่น และการนำเข้าแอลพีจีที่บวกค่าขนส่งที่ 919 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ราคาเฉลี่ย 26 บาท/กก. หมายถึงราคาครัวเรือนและขนส่งจะขยับขึ้นจากที่ขณะนี้อยู่ที่ 22.63 บาท/กก. และ 21.38 บาท/กก.ตามลำดับ ส่วนภาคอุตสาหกรรมราคาจะลดลงจากที่อยู่ที่ 30.13 บาท/กก.

ดังนั้น หากยุบเลิกกองทุนน้ำมันจริง สิ่งที่กระทรวงพลังงานจะต้องพิจารณา คือ จะส่งเสริมเอทานอลอย่างไร เพราะราคาแก๊สโซฮอล์ใกล้เคียงน้ำมันเบนซิน โดยอาจจะใช้กองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานมาเป็นกลไกอุดหนุน จากที่ปัจจุบันจัดเก็บ 0.25 บาท/ลิตร ดังนั้นราคาน้ำมันจะไม่ได้ลดตามสัดส่วนกองทุนน้ำมันทั้งหมด และจะต้องหาทางบริหารจัดการเกี่ยวกับหนี้ของกองทุนที่มีกว่า 7,000 ล้านบาทอย่างไร

จากพฤติกรรม และคำพูดในอดีตของนายปิยสวัสดิ์ ว่าที่ประธานบอร์ด ปตท. คนใหม่ และผู้ทรงอิทธิพลในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานในยุค คสช. ก็คงพอจะทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า “นโยบายพลังงาน” และ “การปฏิรูปพลังงาน” นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปน่าจะมุ่งหน้าไปในทิศทางใด




นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ถ่ายรูปคู่กับนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทร์ อดีตรัฐมนตรีพลังงานและนางอานิก อัมระนันทร์ ผู้มีแนวคิดไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงระบบสัมปทานมาเป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. (แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น