xs
xsm
sm
md
lg

แฉมหกรรมงาบเครื่องส่งฯ ทีวีดิจิตอล ตอนที่ 2 : กระบวนจัดหาพิรุธอื้อ ล็อกสเปกชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เปิดกระบวนการจัดหาเครื่องส่งทีวีดิจิตอล “อสมท” พิรุธอื้อ เตะถ่วงรอรวบรัดจัดซื้อพิเศษ แก้ TOR ล็อกสเปกวุ่นวาย พิลึกกำหนดให้ผู้ประมูลต้องมีผลงานภายในประเทศมาก่อน ทั้งที่ทีวีดิจิตอลเพิ่งเกิด สุดคลาสสิกวางยาตั้งสเปกอุปกรณ์ชิ้นเล็กชิ้นน้อย หวังใช้ของเล็กล็อกของใหญ่ ปูดระดับบิ๊กเคยขอไขก๊อกหลังกระบวนการไม่ชอบมาพากล หวั่นต้องรับบาปคนเดียว เทียบราคาสูงลิ่วทั้งที่สั่งของน้อยกว่าช่อง 5-TPBS จับตาซ้ำรอยประมูลพรีเมียร์ลีกจาก CTH แบบไม่ต่อรองสักแอะ

หลังจาก “ASTVผู้จัดการออนไลน์” ได้นำเสนอแฉมหกรรมงาบเครื่องส่งฯ ทีวีดิจิตอล ตอนที่ 1 โดย “อสมท-NBT” ยังไม่คืบหาอุปกรณ์ส่งสัญญาณ ทั้งที่กำหนดออนแอร์ใกล้จะมาถึงอีกทั้งพบพิรุธขบวนการเหลือบจ้องหาประโยชน์ มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง ตั้งราคาเครื่องส่งฯสูง แถมถ่วงเวลาเพื่อหวังจัดซื้อเข้าวิธีพิเศษ เมื่อวานนี้ (อ่าน แฉมหกรรมงาบเครื่องส่งฯ ทีวีดิจิตอล (ตอนที่ 1) : ใบสั่งการเมืองจ้องหอยม่วง-อสมท....) แล้วนั้น

“กสทช.ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการโครงข่าย (Multiplex : Mux) ทีวีดิจิตอล ที่ได้รับใบอนุญาตทั้ง 4 ราย ใช้สถานีส่งสัญญาณหลัก ซึ่งกำหนดทั่วประเทศ 39 สถานีส่ง “ร่วมกัน” โดยแบ่งเป็นสถานีส่งหลักของไทยพีบีเอส 34 สถานี และ อสมท 5 สถานี ทำให้บริษัทต้องปรับแผนการลงทุนโครงข่ายใหม่ จากเดิมกำหนดลงทุนเองทั้งหมดในสถานีส่งหลัก 39 สถานีซึ่งต้องใช้งบลงทุนประมาณ 1,600 ล้านบาท เมื่อปรับเป็นการลงทุนโครงข่ายโดยใช้สถานีส่งหลักร่วมกัน ทำให้ใช้งบประมาณลดลง เหลือประมาณ 700 ล้านบาท โดยเป็นรูปแบบการซื้ออุปกรณ์ส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลไปติดตั้งในสถานีส่งหลักทั้ง 39 สถานีทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามระยะเวลาที่ กสทช.กำหนดให้เริ่มส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง ในวันที่ 1 เม.ย.นี้”

คำให้สัมภาษณ์ของ นายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งก็ตรงกับข้อเท็จริงที่ว่า กสทช.ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการโครงข่ายทีวีดิจิตอล ที่ได้รับใบอนุญาตทั้ง 4 ราย ใช้งานในส่วนของตัวแพร่กระจายคลื่นโทรทัศน์ดิจิตอล DVB-T2 (Combiner) ร่วมกัน เพราะเล็งเห็นว่าทั้ง 5 โครงข่ายสามารถใช้ Combiner ร่วมกันได้ เพื่อลดต้นทุนให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล เพราะจะสามารถลดการลงทุนวางโครงข่ายของผู้ให้บริการแต่ละราย ทั้งค่าอุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงค่าที่ดินในการตั้งสถานีฐาน ซึ่งประเมินแล้วไม่ต่ำกว่ารายละ 1 พันล้านบาท ตรงนี้เองทำให้ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการโครงข่ายเหลือเพียงการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณในสถานีหลัก แต่จนถึงขณะนี้ อสมท และ กรมประชาสัมพันธ์ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการจัดหาเครื่องส่งสัญญาณ ทั้งที่มีกำหนดการ “ออกอากาศจริง” ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ และกลายเป็นว่า ในขณะที่ทาง ททบ.5 และTPBS มีความพร้อม “ออกอากาศจริง” แล้ว แต่ต้องถือว่า อสมท และ กรมประชาสัมพันธ์ ยังเป็น “ช่องทดลองการออกอากาศ” เช่นเดิม เพราะต้องใช้เครื่องทดสอบการส่งสัญญาณที่ใช้อยู่ในตอนนี้ให้บริการออกอากาศไปก่อน

แหล่งข่าวในวงการทีวีดิจิตอล เล่าให้ฟังถึงความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการจัดหาเครื่องส่งสัญญาณของทาง อสมท ว่า ในขณะที่ผู้ประกอบการโครงข่ายเจ้าอื่นเปิดกว้างให้ผู้สนใจเข้าร่วมเสนอราคาหรือประมูลตัวเครื่องส่งสัญญาณ แต่สำหรับ อสมท ดูเหมือนจะมีความผิดปกติในหลายจุด ทั้งการไม่รีบดำเนินการให้ทันการออกอากาศในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ทั้งที่ทราบดีว่ากระบวนการจัดซื้อหรือนำเข้าเครื่องส่งสัญญาณมีความซับซ้อนมาก ต้องมีการขออนุญาตจาก กสทช.อีก ใช้เวลาร่วมเดือนทีเดียว ซึ่งในวงการมองว่าต้องการดึงเวลาทำให้เข้าหลักเกณฑ์การจัดซื้อวิธีพิเศษ แหล่งข่าวรายเดิมเล่าอีกว่า ในส่วนของการจัดทำร่างข้อกำหนด “ทีโออาร์” ที่จะใช้ประกาศให้ผู้สนใจเข้ามาร่วมเสนอราคาของอุปกรณ์ส่งสัญญาณของ อสมท ก็ยังมีความไม่ชอบมาพากลอีก ทั้งการที่ไม่นำข้อมูลของ ททบ.5 และ TPBS ที่จัดหาแล้วเสร็จมาประกอบการพิจารณา

รวมทั้งยังมีการแก้ไขหลายจุด จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีร่างที่สมบูรณ์ ซึ่งในวงการวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีความพยายามในการล็อกสเปก และเอื้อให้แก่บริษัทเอกชนที่เป็นพวกพ้องตัวเอง ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในข้อ 3.1.4 ของร่างทีโออาร์ระบุว่า “ผู้เสนอราคาจะต้องนำเสนออุปกรณ์หลักที่เป็นยี่ห้อ ซึ่งเคยมีผลงานในโครงการขนาดใหญ่ของทางราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน อันมีประสบการณ์เฉพาะด้าน Broadcast หรือด้าน IT หรือด้านโทรคมนาคมในประเทศไทยมาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยจะต้องแสดงหลักฐานเป็นเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ว่าเป็นผู้ได้รับงานดังกล่าว” แหล่งข่าว มองว่าเฉพาะคุณสมบัติข้อนี้ก็สามารถกีดกัน หรือบล็อกบริษัทที่สนใจเข้าร่วมประมูลออกได้เกือบหมด อย่างของ อสมท ตอนนี้มีผู้แจ้งความจำนงอยู่ 8 ราย หากใช้คุณสมบัติข้อนี้จริง จะทำให้ผู้ประกอบการเข้าข่ายเพียง 3 รายเท่านั้น

“ในความเป็นจริง ถ้า อสมท ใช้กฎเกณฑ์ข้อนี้อย่างเคร่งครัดจริง ก็ไม่มีใครสามารถเข้าร่วมประมูงหรือเสนอราคาได้เลย เพราะอย่าลืมว่าทีวีดิจิตอลเพิ่งเกิดในประเทศไทย ดังนั้นอุปกรณ์ส่งสัญญาณก็ยังไม่เคยมีการใช้งานจริงในประเทศมาก่อน จึงดูเป็นข้อกำหนดคุณสมบัติที่ค่อนข้างพิลึก นี่ยังไม่รวมกับรายละเอียดทางเทคนิคอื่นๆ อีก ที่มีการดัดแปลงตรงนั้นนิดตรงนี่หน่อยจนวุ่นวายไปหมด ก็เพื่อจะล็อกสเปกให้รายอื่นๆ ที่อยู่นอกวงไม่สามารถเข้าร่วมเสนอราคาได้ พูดง่ายเอาของเล็กมาล็อกของใหญ่”

นอกจากนี้ในส่วนของ “หลักเกณฑ์และสิทธิในการพิจารณาราคา” ก็ยังมีการกำหนดไว้ 2 ขั้นตอน คือให้คณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติผู้เสนอราคาให้ถูกต้องตามเงื่อนไขของ อสมท ก่อน โดยต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 จึงได้ผ่านไปพิจารณาในส่วนราคาในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งเอื้อต่อการ “กีดกัน” ผู้ประกอบการรายที่ไม่ต้องการออกไปได้โดยง่าย เพราะการพิจารณาให้คะแนนนั้นขึ้นอยู่กับ “ดุลยพินิจ” ของคณะกรรมการอีกด้วย ซึ่งหากถึงขั้นตอนนั้นจริงก็คงเลือกจิ้ม “ผู้ประกอบการ” ได้ตาม “ใบสั่ง” ความไม่ชอบมาพากลตรงนี้เอง ทำให้มีกระแสข่าวว่า “รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท” รายหนึ่ง ถึงกับขอถอนตัวออกจากการทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการจัดหาเครื่องส่งสัญญาณ เพราะรู้ดีว่าหากปล่อยให้กระบวนการดำเนินไป ตัวเองในฐานะผู้รับผิดชอบก็อาจต้องเป็น “ผู้รับเคราะห์” แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งงบประมาณในการจัดหาสำหรับโครงการระบุที่ 1 ของ อสมท นั้นก็ตั้งไว้ถึง 440 ล้านบาทซึ่งสูงเกินจริงเมื่อจากการเปรียบเทียบข้อมูลการจัดหาของ ททบ.5 จำนวน 2 โครงข่าย 38 สถานี 114 เครื่องส่งโทรทัศน์ ตั้งงบประมาณไว้ที่ 840 ล้านบาท ก่อนจะได้ผู้ชนะที่ราคาเพียงไม่ถึงร้อยละ 60 หรือทาง TPBS จำนวน 1 โครงข่าย 44 สถานี 88 เครื่องส่ง ที่ตั้งงบประมาณไว้เพียง 550 ล้านบาท และผู้ชนะประมูลได้ต่ำกว่าถึงกว่าร้อยละ 50 แต่งบประมาณ 440 ล้านบาทของ อสมท เป็นเพียงโครงการระยะที่ 1 คือสำหรับการติดตั้ง 1 โครงข่าย 14 สถานีหลัก หรือ 14 เครื่องส่งเท่านั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มองเป็นอื่นไม่ได้ นอกเสียจาก “เงามืด” ของ “ฝ่ายการเมือง” ที่ทาบทับเหนือ อสมท อีกครั้ง ส่งผลให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องภายในองค์กรเกิดความไม่สบายใจในนโยบายของฝ่ายบริหาร รวมทั้ง สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อสมท ซึ่งเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ขององค์กร และของชาติ ก็เข้ามาเกาะติดเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะ อสมท ในยุคที่มี “สุธรรม แสงประทุม” เป็นประธานกรรมการ ก็เคยสร้างผลงานอันเอกอุมาแล้วเมื่อปีก่อน จากกรณีการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก 3 ปี 480 ล้านบาท จาก CTH โดยไม่ต่อรองราคา ที่ยังมีปมข้อสงสัยมาจนทุกวันนี้

(โปรดติดตามอ่านตอนที่ 3 ได้ในวันพรุ่งนี้)
กำลังโหลดความคิดเห็น