xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 3-9 พ.ย.2556

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“ยิ่งลักษณ์” ยอมถอยนิรโทษสุดซอย หลัง ปชช.แห่ต้าน ด้าน “สุเทพ” ไม่ไว้ใจ-ให้ผู้ชุมนุมตัดสิน 11 พ.ย. ขณะที่ 3 กลุ่มยกระดับไล่ รบ. ด้าน “เสื้อแดง” ออกโรงป้อง!
บรรยากาศผู้ชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย ณ จุดต่างๆ
ความคืบหน้าหลังที่ประชุมสภาฯ เสียงข้างมาก ที่มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นประธาน เดินหน้าประชุมมาราธอนข้ามคืนเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่งหรือฉบับสุดซอย โดยใช้เวลาประชุมแค่ 19 ชั่วโมง ก็สามารถลงมติเห็นชอบร่างดังกล่าวทั้งในวาระ 2 และ 3 ท่ามกลางความไม่พอใจของพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมที่สถานีรถไฟสามเสน ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำ ได้ประกาศจะยกระดับการชุมนุมในวันที่ 4 พ.ย. เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ นั้น

ปรากฏว่า เมื่อถึงกำหนด(4 พ.ย.) นายสุเทพและแกนนำพรรคได้นำผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจากสถานีรถไฟสามเสนมาปักหลักที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน โดยไม่กลับไปที่เดิมอีก ขณะที่ผู้ชุมนุมกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ(กปท.) ที่สวนลุมพินี ก็ได้เคลื่อนพลไปรวมกับผู้ชุมนุมกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) ที่แยกอุรุพงษ์ เพื่อเป็นการยกระดับการชุมนุมเช่นกัน ก่อนจะย้ายไปปักหลักบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ทั้งนี้ ไม่เพียงมีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมกับทั้ง 3 กลุ่มเป็นจำนวนมาก แต่ยังมีอีกหลายภาคส่วนในสังคมทยอยเปิดตัวแสดงพลังคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษฯ อย่างกว้างขวาง เช่น คณาจารย์-นิสิตนักศึกษาทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ,แพทย์พยาบาลทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ,ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย ,ข้าราชการหลายหน่วยงาน ,ดาราศิลปิน รวมทั้งองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และผู้พิพากษา ฯลฯ

โดยในส่วนของกรรมการ ป.ป.ช. ให้เหตุผลที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ว่า มาตรา 3 และ 4 ของร่างฯ ดังกล่าวจะส่งผลให้คดีความที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ,สำนวนที่ คตส.ส่งมอบให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อ 24 เรื่อง รวมทั้งข้อกล่าวหาที่ ป.ป.ช.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อีก 25,331 เรื่อง จะต้องระงับหมด ส่วนเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ก็จะถือว่าไม่เคยมีคำพิพากษา เพราะผู้กระทำพ้นจากความผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ ป.ป.ช.ได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ(UNODC) เพื่อแจ้งถึงการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษฯ ด้วย

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของผู้พิพากษา ปรากฏว่า มีกลุ่มผู้พิพากษารวมตัวกันในนาม “กลุ่มตุลาการผู้รักแผ่นดิน” จำนวน 63 คน ได้ใช้สิทธิส่วนตัว ออกหนังสือแสดงจุดยืนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ โดยชี้ว่า เป็นการออกกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ ทำลายระบบนิติรัฐ และก่อความร้าวฉานในสังคม

หลังเกิดกระแสคัดค้านอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รีบออกมาแถลงเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ทำนองว่า เนื้อหาของ พ.ร.บ.นิรโทษฯ ถูกบิดเบือนเพื่อล้มรัฐบาล “ดิฉันไม่อยากเห็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำให้เกิดข้อถกเถียงและมีการให้ข้อมูลที่สับสนและถูกบิดเบือนโดยมีเจตนาที่จะล้มล้างรัฐบาลและระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง” พร้อมย้ำว่า รัฐบาลจะไม่ใช้เสียงข้างมากฝืนความรู้สึกประชาชน ขอให้วุฒิสภาใช้ดุลพินิจในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ อย่างเต็มที่บนพื้นฐานความปรองดองและเมตตาธรรมกับผู้ที่เดือดร้อน

ทั้งนี้ คำแถลงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์สร้างความสับสนให้สังคมอย่างมาก เพราะไม่ชัดเจนว่านายกฯ จะถอยหรือเดินหน้า พ.ร.บ.นิรโทษฯ กันแน่ ขณะที่กระแสคัดค้านจากหลายภาคส่วนในสังคมยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวันและเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ด้านพรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์(6 พ.ย.) ยืนยันว่า หากวุฒิสภาลงมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ และส่งคืนมายังสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทยจะไม่หยิบยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ นอกจากนี้พรรคจะขอให้ ส.ส.ของพรรคถอนร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมฉบับอื่นๆ ทั้งหมดที่ค้างอยู่ในสภาฯ ออกโดยเร็ว ส่วนฉบับที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ไม่สามารถถอนได้

ขณะที่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) รับออกมารับลูกพรรคเพื่อไทยโดยมีมติเห็นชอบที่จะถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 5 ฉบับ และร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ อีก 1 ฉบับที่ค้างอยู่ในสภาฯ โดยที่ประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ได้เชิญผู้เสนอร่างทั้ง 6 ฉบับแจ้งความประสงค์ขอถอนร่างฯ ก่อนลงมติเห็นชอบให้ถอนด้วยคะแนน 301 ต่อ 1 เสียง

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ไม่ไว้ใจรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ประกาศบนเวทีปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยว่า เห็นคลิปเสียง จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ปราศรัยว่า หลังพ้น 180 วัน จ.ส.ต.ประสิทธิ์ และ ส.ส.เพื่อไทยจะยื่นญัตติร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ เข้าสภาฯ ใหม่ ดังนั้นผู้ชุมนุมจะไม่เชื่อนายกฯ อีกต่อไป และจะต่อสู้จนกว่าชัยชนะจะเป็นของประชาชน พร้อมยื่นคำขาดต่อรัฐบาลว่า “ขอประกาศว่ากฎหมายนี้จะต้องตายจากสภาไม่เกินเวลา 18.00น.วันที่ 11 พ.ย. หากไม่ทำตาม โปรดรอฟังนกหวีดได้เลย” นายสุเทพ ยังประกาศภายหลังด้วยว่า วันที่ 11 พ.ย.จะตั้งศาลประชาชนขึ้นบนถนนราชดำเนินเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินพฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ทำมาทั้งหมดผิดหรือถูก และจะทำอย่างไรต่อบุคคลทั้งสอง

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ขอให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม เพราะทุกฝ่ายแสดงเจตนารมณ์แล้ว และที่ผ่านมาประเทศบอบช้ำแล้ว ไม่อยากให้มาซ้ำเติมอีก และว่า การชุมนุมกระทบต่อระบบเศรษฐกิจความเชื่อมั่นของประเทศ รัฐบาลอยากเห็นความสงบ

ขณะที่นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ออกอาการลุกลี้ลุกลนรีบเรียกประชุม ส.ว.นอกรอบเมื่อวันที่ 7 พ.ย.พร้อมใช้อำนาจประธานนัดประชุมวุฒิสภานัดพิเศษในวันที่ 8 พ.ย.เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ซึ่งเป็นการเลื่อนขึ้นจากเดิมที่กำหนดว่าจะพิจารณาในวันที่ 11 พ.ย. ส่งผลให้ ส.ว.สรรหาบางส่วนไม่พอใจว่าเหตุใดต้องเลื่อนวันประชุมทั้งที่กำหนดวันไว้แล้ว อีกทั้งเกรงว่า การรีบประชุมอาจเข้าทางรัฐบาลในการอ้างเป็นเหตุใช้กำลังสลายการชุมนุมของประชาชน ส.ว.สรรหาจึงไม่เข้าร่วมประชุมด้วยในวันที่ 8 พ.ย. ส่งผลให้การประชุมล่ม เพราะองค์ประชุมไม่ครบ ทั้งนี้ หลังทำความเข้าใจกับ ส.ว.สรรหาแล้ว นายนิคมจึงนัดประชุมใหม่ในวันที่ 11 พ.ย. เวลา 10.00น. พร้อมสั่งเลขาธิการวุฒิสภาประสานช่อง 11 เพื่อถ่ายทอดสดการประชุมด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากไม่ค่อยมีคนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวหนุนรัฐบาลในยามวิกฤตเช่นนี้ เนื่องจากคนเสื้อแดงและแกนนำ นปช.ไม่หนุน พ.ร.บ.นิรโทษฯ ฉบับสุดซอย แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยก็ไม่ฟัง แถมยังปรับแกนนำ นปช.พ้นผังรายการทีวี “เอเชียอัพเดท” ของพรรคเพื่อไทยด้วย จนนายจตุพร พรหมพันธุ์ ออกมาประกาศตัดขาดจาก “เอเชียอัพเดท แต่สุดท้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยก็ได้ประชุมพรรคเพื่อเคลียร์ใจกับแกนนำ นปช.แล้ว หลังตกลงกันเรียบร้อย แกนนำ นปช. จึงเริ่มทำงานด้วยการประกาศระดมพลคนเสื้อแดงเพื่อออกมาปกป้องรัฐบาลทันที โดยเตรียมเปิดเวที “นปช.เพื่อไทย เพื่อประชาธิปไตย” 10 จังหวัด ประเดิมใน กทม.วันที่ 10 พ.ย. พร้อมยืนยัน จะไม่มีการปะทะกับม็อบต้าน พ.ร.บ.นิรโทษฯ ที่จ้องล้มรัฐบาล

ขณะที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปประเทศไทย 77 จังหวัด กลุ่มกองทัพธรรม และกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ(กปท.) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ยกระดับการชุมนุมขั้นสูงสุดตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย.เพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติกรรมรับใช้ระบอบทักษิณอย่างชัดเจน ก่อให้เกิดวิกฤตของชาติในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคอร์รัปชั่นโกงกินทุกรูปแบบ ทั้งยังบังอาจกล้าท้าทายพระราชอำนาจโดยนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว. ที่รอการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ และยังประกาศว่า รัฐบาลจะยอมรับมติศาลโลกคดีพระวิหาร ไม่ว่าผลการตัดสินในวันที่ 11 พ.ย.จะออกมาอย่างไรก็ตาม ซึ่งอาจจะส่งผลให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดนบางส่วนให้กัมพูชา จึงขอให้ประชาชนผู้รักชาติเข้าร่วมชุมนุม เพื่อเคลื่อนทัพใหญ่ล้มล้างระบอบทักษิณให้สิ้นซาก

2.ศาล รธน. ไต่สวนแก้ที่มา ส.ว. เสร็จสิ้นแล้ว นัดฟังคำวินิจฉัยขัด รธน.หรือไม่ 20 พ.ย.!

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีนายจรูญ อินทจาร เป็นประธาน ได้นัดไต่สวนพยานผู้ร้องและผู้ถูกร้องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเว่าด้วยที่มา ส.ว.ว่าเข้าข่ายการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้ต้องยุบ 6 พรรคร่วมรัฐบาลและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ โดยมีพยานเข้าไต่สวน 8 ปาก จากทั้งหมด 10 ปากที่ศาลฯ กำหนดให้เข้าไต่สวน ซึ่งมีทั้ง ส.ว.สรรหา ,ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก ส.ว.เลือกตั้งที่ถูกร้องในคดีนี้ ขณะที่ผู้ถูกร้องอื่นๆ ได้แก่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ประธานสภาฯ ,นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และสมาชิกรัฐสภารวม311 คน ไม่ได้เข้าไต่สวน

ทั้งนี้ พยานฝ่ายผู้ร้องต่างให้ถ้อยคำสอดคล้องกันว่า เนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ฉบับที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย และคณะ ผู้เสนอร่าง ยื่นต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กับร่างที่นำมาให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาในวาระ 1 เป็นคนละฉบับกัน ทำให้ร่างฯ ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเป็นร่างฯ ปลอม ขณะที่ ส.ว.ที่ลงชื่อเสนอร่างฯ ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับเนื้อหาสาระที่มีการแก้ไข นอกจากนี้เนื้อหาที่มีการแก้ไขยังเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอำนาจรัฐ ทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้องค์กรวุฒิสภาเป็นองค์กรตรวจสอบ กลั่นกรองการใช้อำนาจรัฐ สูญเสียไป ไม่เท่านั้นกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ของรัฐสภายังมีการตัดสิทธิการอภิปรายของผู้สงวนคำแปรญัตติ การพิจารณาไม่ได้เรียงเป็นมาตรา มีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน และเป็นการลิดรอนอำนาจการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญว่าร่างฯ ดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งยังมีพฤติกรรมที่บ่งชี้ว่า มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันในการเสนอและลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญระหว่าง ส.ส.กับ ส.ว.ด้วย

โดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา บอกว่า หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวสำเร็จ จะทำให้องค์กรวุฒิสภากลายเป็นองค์กรที่มีที่มาลักษณะเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นพวกเดียวกับ ส.ส.และฝ่ายบริหาร ทำให้การเป็นองค์กรตรวจสอบของวุฒิสภาถูกทำลาย ขณะที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.มีลักษณะ “ผลัดกันเกาหลัง” คือ มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันระหว่าง ส.ส.และ ส.ว. โดยให้ ส.ว.เสียงข้างมากเป็นผู้เสนอและให้ความเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เกี่ยวกับการกระทำใดที่เข้าข่ายเป็นสนธิสัญญาไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากรัฐบาลต้องการทำสัญญากับกัมพูชาในเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางทะเล ขณะเดียวกัน ส.ส.เสียงข้างมากในสภาฯ ก็เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.และมีการเพิ่มมาตราที่เป็นการปลดล็อกให้ ส.ว.ที่กำลังจะหมดวาระในเดือน มี.ค.2557 สามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.ได้ทันทีไม่ต้องเว้นวรรค นอกจากนี้ยังมีหลักฐานชัดเจนทั้งภาพและเสียงของการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่พบว่า มีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการตรวจสอบการทุจริตของวุฒิสภา บอกว่า อนุกรรมาธิการได้เรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาสอบถาม ยืนยันว่า มีเจ้าหน้าที่มายื่นขอให้แก้ไขร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ 23 มี.ค. และเป็นการแก้ไขที่สำคัญ เพราะมีการเพิ่มขึ้นมาอีก 1 มาตรา โดยเป็นประเด็นเกี่ยวกับการให้ผู้ที่เป็น ส.ว.อยู่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.ได้ทันทีไม่ต้องเว้นวรรค “เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการวุฒิสภาที่ไปสอบก็ยืนยันว่า มีเจ้าหน้าที่ของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมายื่นขอแก้ไขร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และบอกว่าจำไม่ได้ว่าเป็นใคร แต่ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผมเชื่อว่า เลขาฯ สภา ประธานรัฐสภา และนายอุดมเดช รัตนเสถียร ผู้ที่เสนอร่างแก้ไข น่าจะสมคบกันปลอมญัตติ และใช้ญัตติปลอม ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาโดยวิธีการซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ”

ทั้งนี้ หลังใช้เวลาไต่สวนนานกว่า 5 ชั่วโมง ตุลาการฯ ได้แจ้งคู่กรณีทราบว่า การที่นายชวน หลีกภัย พยานผู้ร้อง และนายสุรเดช จิรัฐติเจริญ พยานผู้ถูกร้อง ขอเลื่อนการไต่สวน ศาลไม่อนุญาต และเห็นว่า จากการไต่สวน ข้อมูลเพียงพอให้ศาลวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องยื่นคำแถลงปิดคดีภายใน 7 วันนับแต่วันที่ 8 พ.ย. หากไม่ยื่น ถือว่าไม่ติดใจ พร้อมนัดคู่กรณีฟังคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 20 พ.ย. เวลา 11.00น.

3.รัฐสภาเสียงข้างมาก ผ่านร่างแก้ ม.190 วาระ 3 แล้ว ด้านศาล รธน. รับวินิจฉัยขัด รธน.หรือไม่!
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรค ปชป. ผู้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจัยร่างแก้ รธน. มาตรา 190 ขัด ม. 68 หรือไม่
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ได้มีการประชุมรัฐสภานัดพิเศษเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ในวาระ 3 โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาเป็นประธาน ทั้งนี้ ทันทีที่เปิดประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายคนได้ลุกขึ้นโจมตีรัฐบาลที่พยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมโจมตีนายสมศักดิ์ที่ทำหน้าประธานการประชุมเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ว่าเร่งรีบรวบรัดให้มีการผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ในวาระ 3 ในเวลา 04.25น. ส่งผลให้เกิดการชุมนุมต่อต้านร่างกฎหมายดังกล่าวจำนวนมาก

ด้านนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นปกป้องนายสมศักดิ์ โดยยืนยันว่าประธานทำถูกต้องแล้ว พร้อมถามคนที่ออกมาประท้วงต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ว่า ลึกๆ แล้วเป็นการสร้างภาพหลอกลวงประชาชนหรือไม่ ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไม่พอใจนายวรชัย จึงส่งเสียงโห่เป็นระยะๆ พร้อมยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้หลอกลวงประชาชน แต่ได้ทำหน้าที่ปกป้องผู้สูญเสียจากการถูกสั่งฆ่า แต่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ มีการบิดเบือนปล่อยให้คนฆ่าลอยนวล ด้านนายสมศักดิ์ ชี้แจงโดยยืนยันว่า สิ่งที่ตนดำเนินการในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ อยู่ในกรอบของข้อบังคับและรัฐธรรมนูญแล้ว

หลังที่ประชุมมีการโต้เถียงกันไปมา ระหว่าง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย นายสมศักดิ์ได้ตัดบทให้เริ่มลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ด้วยวิธีขานชื่อทันที ท่ามกลางการประท้วงของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่ม 40 ส.ว. โดยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ พยายามประท้วงว่านายสมศักดิ์ทำผิดข้อบังคับ แต่นายสมศักดิ์ไม่สน ยังคงเดินหน้าให้ลงมติต่อไป นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ จึงตะโกนต่อว่า “ประธานสภาทาส” ขณะที่นายสมศักดิ์ยังคงเดินหน้าให้มีการลงมติต่อไป

ซึ่งผลการลงมติปรากฏว่า ที่ประชุมรัฐสภาเสียงข้างมากเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ในวาระ 3 ด้วยคะแนน 381 ต่อ 165 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง เมื่อคะแนนเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง จึงถือว่าที่ประชุมเห็นชอบร่างดังกล่าว นายสมศักดิ์จึงสั่งปิดประชุมทันที

เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างลงมติ ได้เกิดความปั่นป่วนขึ้นเล็กน้อย เมื่อมีการขานชื่อนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แต่นายวัชระกลับหยิบนกหวีดขึ้นมาเป่าเสียงดังลั่นห้องประชุมประมาณ 10 ครั้ง พร้อมกล่าวว่า “ไม่เห็นชอบกับทรราช” ส่งผลให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่พอใจ และตะโกนต่อว่ากันไปมา

ทั้งนี้ หลังที่ประชุมเสียงข้างมากผ่านวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 นายวิรัคน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เผยว่า ตนได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่รัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบแล้วนั้น เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะกระบวนการพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการปิดอภิปราย การที่องค์ประชุมไม่ครบ และการแก้ไขมาตราดังกล่าวโดยเพิ่มอำนาจและเปิดช่องให้ฝ่ายบริหารสามารถทำหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ส่งผลให้รัฐบาลสามารถหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากรัฐสภาได้

ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมพิจารณาคำร้องของนายวิรัตน์ที่ยื่นผ่านประธานสภาฯ ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยกรณีที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ,นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา และรัฐสภา กระทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 โดยให้การกระทำใดซึ่งมีลักษณะเป็นหนังสือสัญญา ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา รวมทั้งกรณีมีการปิดการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา กรณีองค์ประชุมไม่ครบ กรณีการพิจารณาลงมติในวาระ 2 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลฯ วินิจฉัยว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่

ทั้งนี้ ตุลาการมีมติ 6 ต่อ 3 รับคำร้องของนายวิรัตน์ไว้วินิจฉัย เนื่องจากเห็นว่ากรณีมีมูลเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง ส่วนคำขอคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉินให้ศาลสั่งรัฐสภาระงับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ไว้ก่อนนั้น ศาลมีคำสั่งยกคำขอ

สำหรับตุลาการเสียงข้างน้อย 3 เสียง ประกอบด้วย นายบุญส่ง กุลบุปผา เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของรัฐสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ขณะที่นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี เห็นว่า กรณีนี้ยังไม่มีมูลการกระทำฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง ด้านนายชัช ชลวร เห็นว่า รัฐธรรมนูญมุ่งประสงค์ให้เฉพาะอัยการสูงสุดเท่านั้นเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงตามมาตรา 68

4.ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ลดโทษ “สนธิ” คดีหมิ่น “หม่อมอุ๋ย” จากจำคุก 2 ปี เหลือ 1 ปี รอลงอาญา!
นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ และนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ศาลอาญาได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด ,นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ,บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ,นายขุนทอง ลอเสรีวานิช บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เป็นจำเลยที่ 1-4 ฐานหมิ่นประมาท

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2550 นายสนธิ จำเลยที่ 2 ได้ใส่ความโจทก์ผ่านรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ซึ่งจำเลยปฏิเสธ ด้านศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 10 ก.ย.2552 จำคุกนายสนธิ 2 ปี จำคุกนายขุนทอง 1 ปี ปรับ 30,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา ส่วนบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ศาลยกฟ้อง ต่อมาจำเลยที่ 1 ,2 และ 4 ยื่นอุทธรณ์

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 2 กล่าวถึงโจทก์ว่าได้หลอกลวงประชาชนและรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กล่าวหาว่าโจทก์เป็นผู้สั่งอนุมัติโครงการสลากบนดิน 2 ตัว 3 ตัว ก่อนที่จะเสนอแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อล้างมลทินให้ผู้กระทำความผิด รวมทั้งตัวโจทก์ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกล่าวหาว่าโจทก์ช่วยเหลือปกป้องนายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งการพูดคุยของจำเลยที่ 2 ทำให้ประชาชนผู้ฟังเข้าใจผิดในตัวโจทก์ว่าเป็นคนมีพฤติการณ์บริหารงานต่างๆ เพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้อง ทั้งที่ข้อเท็จจริงกรณีนายศิโรตม์ ปรากฏว่ากระทรวงการคลังสั่งพักราชการนายศิโรตม์ และมีมติเอกฉันท์ไล่ออกจากตำแหน่ง โจทก์ไม่มีพฤติการณ์ปกป้อง ส่วนการอนุมัติโครงการหวยบนดิน ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้สั่ง

การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการใส่ร้ายโจทก์ให้เสื่อมเสียชื่อเสียง จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนามุ่งร้ายกับโจทก์ เนื่องจากเป็นการพูดเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะและผลประโยชน์ของส่วนรวม ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 2 ปี เห็นว่ารุนแรงเกินไป จึงเห็นควรลงโทษให้เหมาะสม โดยให้จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 1 ปี และปรับเงิน 30,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ขณะที่บริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำเลยที่ 1 ศาลเห็นว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 โดยการบันทึกถ้อยคำที่กล่าวหมิ่นประมาทโจทก์ลงในวีซีดีออกเผยแพร่ ให้ลงโทษปรับเงิน 100,000 บาท ส่วนนายขุนทอง จำเลยที่ 4 ศาลเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นลงโทษมานั้นถือว่าเหมาะสมแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น