xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอประสาน UNODC ผุดสถาบันพัฒนาการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ย่านหนองจอก

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.กระทรวงยุติธรรม (แฟ้มภาพ)
ดีเอสไอประสาน UNODC ผุดสถาบันพัฒนาการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ย่านหนองจอก ชี้ผลักดันให้เป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ และได้รับการยอมรับในระดับประเทศ ตลอดจนสนับสนุนให้มีการสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ

วันนี้ (6 พ.ย.) ที่กระทรวงยุติธรรม เวลา 10.00 น. นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายสุชน ชาลีเครือ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นางสุวณา สุวรรณจูฑะ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ร่วมประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานด้านต่างๆ ตามที่ได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานไปดำเนินการ พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการอำนวยความยุติธรรมสู่ประชาชน

นายธาริตกล่าวภายหลังการประชุมถึงการประสานความร่วมมือ Letter of Intent (L.O.I)ระหว่างสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) กับดีเอสไอ กรมราชทัณฑ์ และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย(TIJ) ซึ่งถือเป็นความร่วมมือในการจัดตั้งสถาบันพัฒนาการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษกับดีเอสไอ ซึ่งกำลังดำเนินการสร้างอยู่ที่แขวงหนองจอก เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร การพัฒนาระบบการควบคุมผู้ต้องขังกับกรมราชทัณฑ์ และการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์กับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย โดยจะมีการลงนามประสานความร่วมมือในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent - LOI) ในวันที่ 14 พ.ย.นี้ เวลา 15.00 น. ทั้งนี้ การจัดตั้งสถาบันพัฒนาการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ นั้นเป็นการวางโครงร่างเบื้องต้นเกี่ยวกับการแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนาสถาบันพัฒนาการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อต่อยอดไปสู่กรอบความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และดีเอสไอจะร่วมมือผลักดันให้สถาบันพัฒนาการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ และได้รับการยอมรับในระดับประเทศ ตลอดจนสนับสนุนให้มีการสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ พร้อมกับแสดงถึงการปรับบทบาทในการเป็นผู้พัฒนาและผลักดันนโยบาย (Policy Initiation and Advocacy)ในกิจการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษให้มีประสิทธิผลในอนาคต ผ่านกระบวนการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ พัฒนาเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ตามกระบวนการจัดการความรู้ โดยการนำองค์ความรู้จากหน่วยงานวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ เพื่อการพัฒนาการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ โดยการพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เหมาะสมและมีศักยภาพต่อการสืบสวนสอบสวนตามที่กฎหมายกำหนด
กำลังโหลดความคิดเห็น