คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ
1. กมธ.สาย รบ.เตรียมชง กม.นิรโทษฯ เข้าสภาวาระ 2 ชัด “ทักษิณ” หลุดทุกคดี แถมได้เงินคืน 4.6 หมื่นล้าน ด้าน ปชช.เตรียมชุมนุมใหญ่ -ปชป.พร้อมเป่านกหวีด!
เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน โดยมีการพิจารณามาตรา 3 ของร่างฯ ซึ่งกำหนดว่า “การกระทำใดที่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2549 ถึงวันที่ 10 พ.ค.2554”
ทั้งนี้ นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ รองประธาน กมธ.คนที่ 1 เสนอให้ปรับแก้ข้อความในมาตรา 3 เป็น “ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 8 ส.ค.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้พ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง การกระทำตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112”
ด้าน กมธ.จากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยและแย้งว่า การเสนอดังกล่าวเป็นการทำตามใบสั่งและจงใจที่จะล้างความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในคดีซุกหุ้นและคดีที่ถูกยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่สน เดินหน้าขอให้ที่ประชุมลงมติทันที แม้พรรคประชาธิปัตย์จะพยายามทัดทาน เนื่องจากยังมี กมธ.หลายคนที่เสนอคำแปรญัตติไว้แต่ยังไม่ได้อภิปราย สุดท้ายที่ประชุมก็เดินหน้าลงมติเห็นชอบมาตรา 3 ตามที่นายประยุทธ์เสนอด้วยคะแนน 18 เสียง ซึ่งเป็น กมธ.ในสัดส่วนพรรคเพื่อไทย รวมทั้ง พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิด้วย
จากนั้นได้พิจารณามาตรา 4 ที่ระบุว่า “ให้ระงับการดำเนินคดี การสอบสวน รวมถึงการพิจารณาที่อยู่ในการพิจารณาของกระบวนการ รวมถึงให้คนที่ต้องคำพิพากษา ให้ถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิด และหากอยู่ระหว่างการรับโทษ ให้ถือว่าการลงโทษสิ้นสุด” ซึ่งมี ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอให้ปรับเพิ่มถ้อยคำโดยกำหนดให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัด เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามหลักนิติธรรมมากขึ้น
ด้านนายแก้วสรร อติโพธิ กมธ.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การบัญญัติถ้อยคำเช่นนั้น จะทำให้คดีที่ คตส.ดำเนินการและสั่งฟ้อง จนคดีสิ้นสุดแล้ว จะได้รับผลกระทบหรือไม่ ทั้งคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ คดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ 4.6 หมื่นล้าน สุดท้ายที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบตามที่ ส.ส.เพื่อไทยเสนอ
จากนั้นได้พิจารณามาตรา 5 “ว่าด้วยการระงับสิทธิผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรม จะดำเนินการเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ” ซึ่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอให้เพิ่มคำว่า “อันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง” ก่อนที่ประชุมจะลงมติเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว จากนั้นพิจารณามาตรา 6 ว่าด้วยการตัดสิทธิหน่วยงานรัฐจะไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับบุคคลที่ได้รับการนิรโทษกรรม เว้นแต่เอกชน นั่นหมายถึงกรณีที่คนเสื้อแดงเผาศาลากลางจังหวัด 4 แห่ง และมีการสั่งจำคุกบุคคลที่เผาแล้ว ก็จะได้รับการนิรโทษกรรม และหน่วยงานรัฐไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากบุคคลเหล่านี้ ซึ่งแม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะเสนอแก้โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐหรือบุคคลเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งกับผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมได้ แต่ที่ประชุมก็ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มข้อความ จึงเป็นอันว่า การพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.นิรโทษกรรมครบทุกมาตราแล้ว ด้านนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.คาดว่า ต้นเดือน พ.ย.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมน่าจะเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาในวาระ 2 ได้
ทั้งนี้ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กหลัง กมธ.เสียงข้างมากฝ่ายรัฐบาลผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า การมีมติให้ยกเลิกความผิดที่เกิดจากการสอบสวนของ คตส.จะส่งผลต่อ 4 คดี 1.คดีที่ดินรัชดาฯ ที่ศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ 2 ปี 2.คดีที่ศาลฎีกาฯ สั่งยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน 3.คดีทุจริตรถดับเพลิงที่ศาลฎีกาฯ สั่งจำคุกนายประชา มาลีนนท์ กับพวก นอกจากนี้ยังมีมติให้นิรโทษกรรมคดีก่อการร้ายแกนนำคนเสื้อแดงทุกคดีด้วย
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า ไม่น่าเชื่อว่าจะมีการนิรโทษกรรมให้ทั้งคนฆ่า คนเผา คนยิงระเบิด รวมทั้งคนทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย และนี่จะเป็นกฎหมายฉบับแรกในประวัติศาสตร์โลก ที่ฝ่ายนิติบัญญัติกล้าออกกฎหมายว่าคนทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ผิด แปลว่าคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านจะได้รับการนิรโทษกรรม และ พ.ต.ท.ทักษิณก็มีสิทธิยื่นศาลเพื่อขอคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยประมาณ 4 พันล้าน สรุปแล้วคนไทยต้องหาเงิน 5 หมื่นล้านเพื่อคืนให้คนทุจริต “ปชป.ยืนยันว่าจะคัดค้านเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เชื่อว่าจะมีคนคัดค้านเยอะ เราได้ประกาศแล้วว่าจะทำงานทั้งในและนอกสภา แต่อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย จากนี้กิจกรรมคัดค้านจะเข้มข้นขึ้น...”
ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปราศรัยที่สนามหลวง 2 เมื่อวันที่ 19 ต.ค. โดยชี้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะได้รับการฟอกตัวจากร่างกฎหมายนิรโทษฯ ในทุกความผิด แถมได้เงินที่ถูกยึด 4.6 หมื่นล้านคืน กลายเป็นผู้บริสุทธิ์กลับมาเสวยอำนาจทางการเมืองได้ต่อไป ขอให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศค้นรายชื่อคณะกรรมมาธิการทั้ง 18 คนที่เห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ แล้วจดใส่บัญชีหนังสุนัขเอาไว้ คิดบัญชีกับมันในวันข้างหน้า “ยอมไม่ได้ที่จะให้ระบอบทักษิณกลับมาปกครองประเทศ ยอมไม่ได้ที่ให้ทักษิณาธิปไตยมาแทนประชาธิปไตย ยอมไม่ได้ที่จะเห็นระบอบทุนสามานย์มาเหยียบย่ำหัวใจคนไทยแบบนี้ มาคลุมสภา คลุมวุฒิสภา องค์กรอิสระ ตำรวจ ทหาร สื่อมวลชน และคลุมพ่อค้านักธุรกิจทั่วประเทศ”
นายสุเทพ ยังย้ำด้วยว่า วันที่กฎหมายนิรโทษฯ ผ่านสภาวาระ 3 คือวันที่เราจะลุกขึ้นทั่วประเทศ “ตนเองบอกกับลูกกับเมียแล้ว พร้อมนอนข้างถนนกับประชาชน แล้วบอกให้ทักษิณได้ยินว่า พวกกูประชาชนผู้รักชาติทั้งหลายไม่กลัวมึงอีกต่อไปแล้ว ตายเป็นตาย คุกเป็นคุก ไม่ยอมให้กลับมากดขี่ข่มเหงอีกต่อไปโดยเด็ดขาด”
ขณะที่เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน นำโดย นายสุริยะใส กะตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ,นายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษากลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) ,นายอุทัย ยอดมณี นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่ม คปท. , นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ประธานสภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(สปท.) , นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) และ พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ เสนาธิการร่วม กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ถึงสถานการณ์บ้านเมือง พร้อมย้ำจุดยืนของเครือข่ายว่า คือการคัดค้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมจับตากรณีศาลโลกเตรียมพิจารณาคดีปราสาทพระวิหาร โดยวันที่ 22 ต.ค.จะยื่นหนังสือถึงสถานทูตต่างๆ เพื่อชี้แจงถึงการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นอกจากนี้ยังมีมตินัดประชุมใหญ่ของเครือข่ายในวันอาทิตย์ที่ 27 ต.ค. เพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหว รวมถึงกำหนดวันชุมนุมใหญ่
ขณะที่รัฐบาลได้มีมติขยายการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงออกไป จากเดิมที่กำหนดสิ้นสุดในวันที่ 18 ต.ค. เป็นสิ้นสุดในวันที่ 30 พ.ย. ในพื้นที่เดิม 3 เขต คือ เขตดุสิต ,เขตพระนคร และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ไม่ขยายถึงแยกอุรุพงษ์ ที่มวลชนกลุ่ม คปท.ยังปักหลักชุมนุมอยู่ ทั้งนี้ การขยาย พ.ร.บ.มั่นคง ไปจนถึงวันที่ 30 พ.ย. นอกจากเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนมายังทำเนียบรัฐบาลหรือรัฐสภา จนกว่าจะปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 29 พ.ย.แล้ว รัฐบาลยังหวังผลเพื่อคุมม็อบที่อาจจะเกิดขึ้นหลังการตัดสินคดีพระวิหารของศาลโลกในเดือน พ.ย.ด้วย
2. รัฐสภาเสียงข้างมาก ลากร่างฯ แก้ ม.190 ผ่านวาระ 2 ด้าน “อภิสิทธิ์” ชี้ เป็นร่างฯ สุดเลวร้าย ขณะที่ “คำนูณ” ซัด รบ.อำมหิตกว่าที่คาด!
เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ได้มีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ในวาระ 2 ว่าด้วยหนังสือสัญญาที่ต้องผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภา หลังจากกรรมาธิการ(กมธ.) พิจารณาแล้วเสร็จ ทั้งนี้ นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร ในฐานประธาน กมธ.กล่าวรายงานโดยยืนยันว่า คณะ กมธ.ได้พิจารณาการแก้ไขมาตราดังกล่าวอย่างรอบคอบแล้ว โดยเชิญผู้รู้และเกี่ยวข้องกับการระหว่างประเทศมาให้ข้อมูล
ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ค้านว่า ร่างดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้มีการพิจารณาคำแปรญัตติของนายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง ของพรรค จึงอยากให้มีการไตร่ตรองให้รอบคอบ ไม่เช่นนั้นกฎหมายฉบับนี้จะกลายเป็นตราบาปต่อไป
จากนั้นได้เริ่มพิจารณามาตรา 1 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ว่าด้วยชื่อของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เสนอให้ตัดมาตรานี้ออก เพราะไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องแก้ไข พร้อมยืนยัน การที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไม่ได้ทำให้กรอบการเจรจาเกิดความล่าช้าแต่อย่างใด หากมีการแก้ไขมาตรา 190 ต่อไปรัฐสภาจะตรวจสอบได้อย่างไรว่าการทำข้อตกลงของรัฐบาลมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ และจะส่งผลให้ ครม. แอบอนุมัติข้อตกลงต่างๆ ได้
ทั้งนี้ หลังอภิปรายไปได้ระยะหนึ่ง นายนิคมได้ตัดบทให้ลงมติมาตรา 1 ซึ่งที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นชอบตาม กมธ.ด้วยคะแนน 345 ต่อ 133 เสียง จากนั้นได้พิจารณามาตรา 2 ต่อ ว่าด้วยการการบังคับใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมาตรานี้ไม่มีการแก้ไข จึงให้ลงมติทันที ซึ่งที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นชอบมาตรา 2 ด้วยคะแนน 341 ต่อ 132 เสียง
จากนั้นจึงเริ่มพิจารณามาตรา 3 ซึ่งนายสรรเสริญ สมะลาภา ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายกรณีที่ กมธ.เสียงข้างมากแก้ไขมาตรา 190 ให้เหลือเพียงหนังสือที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือมีบทให้เปิดเสรีด้านการค้าหรือการลงทุนต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยเสนอให้เพิ่มหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองหรือการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงานเข้าไปด้วย เพราะแหล่งพลังงานซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชายังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ เพราะมีมูลค่ามหาศาล จึงต้องการให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนไทยทุกคน ไม่ใช่ตกอยู่กับนักธุรกิจคนใดคนหนึ่งที่จูงใจให้รัฐบาลไทยเสียเปรียบกัมพูชา จะกลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนและถือว่าเป็นการโกงชาติ
นายสรรเสริญ ยังยกตัวอย่างคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เคยบอกว่าสนใจทำธุรกิจเหมืองทอง เหมืองแร่ น้ำมัน และก๊าซ ที่เคยลงในหนังสือพิมพ์มาประกอบการอภิปรายด้วย เช่น “พ.ต.ท.ทักษิณ โพสต์เฟซบุ๊กคุยนายกฯ อิรักจ่อดึง ปตท.ร่วมขยายกำลังการผลิตน้ำมัน” และ “พล.อ.เตีย บัน รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา เผย พ.ต.ท.ทักษิณเคยสนใจลงทุนในธุรกิจพลังงาน” ด้าน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่พอใจที่มีการอภิปรายพาดพิง พ.ต.ท.ทักษิณ จึงพากันประท้วง และเกิดการโต้เถียงกันไปมา จนประธานต้องสั่งพักการประชุม
ทั้งนี้ การอภิปรายวันแรกค้างอยู่มาตรา 3 เกี่ยวกับการกำหนดประเภทหนังสือสัญญาที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ประธานจึงได้นัดประชุมต่อในวันรุ่งขึ้น(16 ต.ค.) โดยการอภิปรายเปิดฉากด้วยนางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า การแก้ไขมาตรา 190 จะทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียเขตแดน ขณะที่นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายโดยตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขมาตรา 190 อาจเอื้อประโยชน์ให้นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่เคยถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้มูลความผิดกรณีลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เพื่อสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งอาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของไทย โดยขณะนี้คดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา ด้านนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย อ้างว่า กรณีนายนพดล ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา และว่า แม้ไม่มีแถลงการณ์ร่วม ทางกัมพูชาก็นำปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอยู่ดี
ทั้งนี้ หลังสมาชิกอภิปรายครบแล้ว ได้มีการลงมติมาตรา 3 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้ให้ที่ประชุมลงมติมาตราดังกล่าวทีละวรรค ส่งผลให้ต้องมีการลงมติกันถึง 6 รอบ สร้างความสับสนแก่สมาชิกเป็นอันมาก ด้าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ถึงกับตะโกนว่า เป็นการลงมติที่มั่วที่สุด พร้อมด่าทอนายสมศักดิ์ว่าบ้าอำนาจ แต่นายสมศักดิ์ไม่สน เดินหน้าลงมติมาตรา 3 จนแล้วเสร็จ
จากนั้นได้มีการอภิปรายมาตรา 4 ที่กำหนดให้มีกฎหมายประกอบมาตรา 190 ภายใน 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์และ ส.ว.ต่างสลับกันอภิปรายสนับสนุนมาตรา 4 วรรค 2 ตามที่ กมธ.ได้เพิ่มเติม เนื่องจากมีบทบัญญัติให้ ครม.มีการรับฟังเสียงของประชาชนในการทำหนังสือสัญญา ก่อนจะออก พ.ร.บ.ประกอบ อย่างไรก็ตาม ระหว่างอภิปราย ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้เสนอญัตติปิดอภิปรายเพื่อลงมติ แม้จะมี ส.ว.เสนอเปิดอภิปรายต่อ แต่ก็สู้เสียงข้างมากไม่ได้ จึงมีการปิดอภิปรายและลงมติ ซึ่งที่ประชุมมีมติ 62 ต่อ 335 เสียง ไม่เห็นชอบตามที่ กมธ.มีการแก้ไข ทำให้ต้องกลับไปใช้ร่างฯ ที่รับหลักการในวาระ 1 โดยประธานนัดลงมติมาตรา 190 วาระ 3 ในวันที่ 2 พ.ย. เวลา 10.00น.
ทั้งนี้ หลังที่ประชุมรัฐสภาผ่านวาระ 2 มาตรา 190 ปรากฏว่า ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เผยว่า รู้สึกหดหู่กับสิ่งที่เกิดขึ้น และเป็นเรื่องแปลกที่ประธานรัฐสภาให้สมาชิกลงมติมาตรา 3 ทีละวรรค แต่สรุปว่า ต่อไปนี้ ข้อตกลงทางเศรษฐกิจเรื่องพลังงาน ทรัพยากร จะไม่นำเข้าที่ประชุมรัฐสภาตามมาตรา 190 แล้ว จะเหลือแค่เรื่องเอฟทีเอ ที่เมื่อเจรจาเสร็จจะขอความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยที่รัฐสภาจะไม่รู้ว่ามีการเจรจาอะไรบ้าง ขณะที่บทบัญญัติการเยียวยา การฟังความเห็น การมีส่วนร่วมของประชาชนถูกตัดออกหมด ถือว่าเป็นทางเลือกเลวร้ายที่สุดและเลวร้ายกว่าที่จินตนาการไว้ “ยืนยันว่าการทุ่มเทแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ลิดรอนอำนาจประชาชน ทั้งที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นนักประชาธิปไตย แต่กลับบอกว่าประชาชนอย่ายุ่ง อย่างไรก็ตาม วิปฝ่ายค้านและฝ่ายกฎหมายจะพิจารณากระบวนการพิจารณาเรื่องนี้ โดยเฉพาะการลงมติมิชอบว่า เข้าเงื่อนไขส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่”
ด้านนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ถึงผลเสียของการแก้มาตรา 190 ที่ผ่านวาระ 2 ไปแล้วว่า ต่อไปนี้การประชุมลับเรื่องข้อตกลงทางเศรษฐกิจก็สามารถทำได้โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พร้อมยกตัวอย่างว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเคยบอกว่ามีบริษัทลงทุนเรื่องพลังงาน หากบริษัทของทักษิณทำข้อตกลงกับรัฐบาลกัมพูชา แล้วขอขุดเจาะก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันในอ่าวไทย ในพื้นที่พิพาททางทะเล รัฐบาลก็สามารถอนุญาตได้โดยไม่ต้องนำเข้าที่ประชุมรัฐสภา เพราะเป็นการตกลงเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องเส้นเขตแดนหรือพื้นที่ประเทศ
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้แฉถึงความอำมหิตของรัฐบาลในการแก้มาตรา 190 ว่า ร่างแรกที่เสนอแก้มา มีการตัดเงื่อนไขบทเปลี่ยนอำนาจอธิปไตยของไทยนอกอาณาเขต เหลือแค่บทเปลี่ยนอาณาเขตไทย ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ 2 ประเภทตัดออกหมด พอชั้น กมธ.มีการแก้ไข โดยเอาหนังสือประเภทที่มีบทเปลี่ยนอำนาจอธิปไตยของไทยนอกอาณาเขตกลับเข้ามา แต่โหดร้ายโดยเติมคำว่า “โดยชัดแจ้ง” เข้าไป ส่วนหนังสือสัญญาทางเศรษฐกิจ 2 ประเภทไม่ได้กลับคืนมา เหลือแต่เอฟทีเอเท่านั้นที่ต้องเอาเข้าที่ประชุมรัฐสภา ส่วนเรื่องการรับฟังความคิดเห็นประชาชน การเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญา การเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาล่วงหน้า ไปอยู่ในกฎหมายลูกทั้งหมด ส่วนเรื่องเปลี่ยนอาณาเขตและอธิปไตยนอกอาณาเขตไม่ต้องเสนอกรอบเจรจาต่อรัฐสภา เท่ากับว่าเป็นการตัดการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในหนังสือสัญญาทุกประเภท ซึ่งตนคาดไม่ถึงว่ารัฐบาลจะอำมหิตถึงเพียงนี้
3. ศาลโลก นัดชี้คดีพระวิหาร 11 พ.ย.นี้ - “สุรพงษ์” เชื่อ ตัดสินอย่างไร คนไทยก็รับได้ ด้าน “บิ๊กตู่” สั่งทหารนิ่ง-ห้ามเสริมกำลังชายแดน!
เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ได้มีการประชุมคณะกรรมการดำเนินคดีปราสาทพระวิหารฝ่ายไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานต่างๆ หลังประชุม นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าคดีที่กัมพูชายื่นขอให้ศาลศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 และการเตรียมความพร้อมของฝ่ายไทยต่อผลการตัดสินของศาลที่จะมีขึ้น ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ฝ่ายไทยจะร่วมมือกับกัมพูชาในการปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลก โดยมุ่งรักษาความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศ โดยฝ่ายไทยประเมินว่า ศาลโลกอาจเลื่อนตัดสินกรณีปราสาทพระวิหารออกไปเป็นหลังเดือน ม.ค.ปีหน้า
ด้านนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ คาดว่า ศาลโลกอาจมีคำตัดสินออกมากว้างๆ 4 แนวทาง คือ 1.ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดี 2.ศาลมีคำพิจารณาออกมาตามที่ฝ่ายกัมพูชาขอ 3.ศาลมีคำพิจารณาออกมาตามที่ฝ่ายไทยขอ หรือ 4.ศาลมีคำพิจารณาออกมากลางๆ ทั้งนี้ นายวีรชัยได้เสนอให้ฝ่ายไทยจัดตั้งกลไกขึ้นมาเพื่อให้เกิดความพร้อมในการพูดคุยกับฝ่ายกัมพูชาหลังศาลโลกมีคำตัดสินออกมาด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังมีการประเมินว่าศาลโลกอาจเลื่อนตัดสินกรณีปราสาทพระวิหารเป็นเดือน ม.ค.ปีหน้า ปรากฏว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รีบออกมาบอกว่า ศาลโลกได้โทรศัพท์แจ้งมายังสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ว่า ศาลนัดให้ไปฟังคำพิพากษาคดีพระวิหารในวันที่ 11 พ.ย.นี้ เวลา 10.00น. โดยศาลได้เลื่อนคดีของเปรูและชิลีออกไป และนำคดีพระวิหารขึ้นมาแทน นายสุรพงษ์ ยังเชื่อด้วยว่า การตัดสินคดีนี้จะไม่ส่งผลให้มีฝ่ายใดได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ เนื่องจากมีเป้าหมายให้ประชาชนได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข “เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจและรับได้ในคำตัดสิน ที่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม”
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 21 ต.ค.นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับการตั้งกลไกระดับชาติเพื่อรองรับการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก ส่วนจะมีการถ่ายทอดสดคำตัดสินของศาลโลกหรือไม่นั้น นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่า ต้องรอผลประชุมในวันที่ 21 ต.ค.
ขณะที่ พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง แม่ทัพภาค 2 เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการให้ทหารที่ประจำบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา และด้านเขาพระวิหารนิ่ง ไม่ต้องตื่นตระหนก โดยกำชับไม่ให้มีการปรับกำลังหรือเพิ่มเติมกำลังใดๆ เพื่อไม่ให้เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ส่วนที่มีข่าวว่า ทหารเขมรส่งกำลังเข้ามาเพิ่มที่ชายแดนด้านเขาพระวิหารนั้น พล.ท.ชาญชัย บอกว่า เป็นการหมุนเวียนกำลังทหารเฉยๆ และเป็นกำลังทหารที่เคยเข้าไปดูแลสถานการณ์การเมืองภายในตั้งแต่ตอนเลือกตั้งแล้ว ก็ต้องส่งกลับมา ไม่ได้ถือว่าเป็นการเพิ่มเติมกำลังทหารแต่อย่างใด
4. ปตท. ส่งหนังสือขู่ฟ้อง “ASTVผู้จัดการ” หากไม่หยุดเสนอข่าวผลกระทบน้ำมันรั่ว ด้าน ASTVผู้จัดการ ไม่หวั่น ยัน เสนอข่าวถูกต้องและจะขุดคุ้ยความจริงต่อไป!
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. เว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ เผยว่า จากกรณีที่ “ASTVผู้จัดการ” ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดจากน้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด กลุ่ม ปตท.ได้มีหนังสือมาถึงกองบรรณาธิการASTVผู้จัดการ ลงวันที่ 10 ต.ค.2556 โดยนายไตรรงค์ ตันทสุข ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก ปตท.สผ และบริษัท พีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย PTTEP AA ชี้ว่า การนำเสนอข่าวของ ASTVผู้จัดการ ใน 6 กรณีทำให้ ปตท.สผ.และ PTTEP AA ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากประชาชน โดย 6 ข่าวดังกล่าว ประกอบด้วย 1. แฉสัมปทาน “ปตท.” ชนวนเด้ง รมต.พม่า 2. รัฐอุ้ม PTTGC หนีความผิด แบไต๋ส่อไม่ฟ้อง 3. สุดฉาว! เครือ ปตท.พัวพันสินบนสัมปทานปิโตรเลียมพม่า 4. 3 หมื่นชื่อจี้รัฐ ตั้ง กก.อิสระสอบ ติดตามน้ำมัน ปตท.รั่ว 5. ตามน้ำมันรั่ว ยื่น 3.2 หมื่นชื่อ 6. คราบน้ำมันที่ “เสม็ด” บทพิสูจน์ความสามารถ ในการจัดการสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท.ยืนยันว่า เครือ ปตท.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินบนนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ของประเทศอินโดนีเซียเพื่อปกปิดผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ ประเทศออสเตรเลีย รวมทั้งไม่ได้มีเรื่องสินบนเพื่อให้ได้สัมปทานจากพม่าแต่อย่างใด จึงขอให้ ASTVผู้จัดการ ระงับการเผยแพร่ข่าวทั้ง 6 ข่าว และเผยแพร่ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ หากเพิกเฉย เครือ ปตท.จำเป็นต้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อ ASTVผู้จัดการ ทั้งทางแพ่งและอาญาต่อไป
ด้าน ASTVผู้จัดการ ได้ชี้แจงแสดงจุดยืนต่อเครือ ปตท.ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการข่มขู่ โดยเจตนาใช้มาตรการทางกฎหมายมาปิดปากให้หยุดนำเสนอข้อมูลอีกด้านที่สังคมยังไม่รู้ นอกจากนี้ยังส่อให้เห็นเจตนาของกลุ่ม ปตท.ที่ต้องการปิดบังความจริง ทั้งที่ ปตท.ประกาศตัวว่าเป็นกลุ่มบริษัทที่มีธรรมาภิบาล ดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่ความเคลื่อนไหวที่ออกมากลับตรงกันข้าม
ASTVผู้จัดการ ยังยืนยันด้วยว่า ผลกระทบจากน้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าว จนถึงขณะนี้การเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ยังไม่ทั่วถึง ทำให้มีการเคลื่อนไหวร้องเรียนอยู่เป็นระยะ นี่ยังไม่รวมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและในทะเล ซึ่งยังไม่มีการพิสูจน์อย่างแน่ชัดว่าจะใช้เวลาในการฟื้นฟูนานเท่าใด เนื่องจากดูเหมือนมีการปิดบังข้อมูล
ส่วนกรณีที่กลุ่ม ปตท.อ้างว่าได้รับผลกระทบจากข่าวทั้ง 6 ข่าวนั้น ASTVผู้จัดการ ยืนยันว่า ทั้งหมดล้วนเป็นการรายงานข่าวที่ปรากฏในสื่อต่างประเทศ ที่เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินธุรกิจทั้งสิ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อสงสัยของประชาชนว่า แท้จริงแล้ว กลุ่ม ปตท.มีธรรมาภิบาลตามที่อ้างจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงบริษัทที่เป็นเครื่องมือของกลุ่มทุนสามานย์ของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่ร่วมกันขูดรีดทรัพยากรของคนไทย
ทั้งนี้ ASTVผู้จัดการ ยืนยัน ไม่หวั่นไหวต่อคำขู่คุกคาม โดยจะทำหน้าที่ขุดคุ้ยหาความจริงเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ต่อไป พร้อมย้ำ ที่ผ่านมา ASTVผู้จัดการได้นำเสนอข้อมูลอย่างถูกต้องครบถ้วนทุกด้าน หาก ปตท.มีข้อมูลที่เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือต้องการชี้แจงเพิ่มเติม ก็ทำได้ตลอดเวลา ยืนยันว่า การข่มขู่ปิดปากแบบนี้ใช้ไม่ได้ผลกับ ASTVผู้จัดการ แน่นอน
1. กมธ.สาย รบ.เตรียมชง กม.นิรโทษฯ เข้าสภาวาระ 2 ชัด “ทักษิณ” หลุดทุกคดี แถมได้เงินคืน 4.6 หมื่นล้าน ด้าน ปชช.เตรียมชุมนุมใหญ่ -ปชป.พร้อมเป่านกหวีด!
เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน โดยมีการพิจารณามาตรา 3 ของร่างฯ ซึ่งกำหนดว่า “การกระทำใดที่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2549 ถึงวันที่ 10 พ.ค.2554”
ทั้งนี้ นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ รองประธาน กมธ.คนที่ 1 เสนอให้ปรับแก้ข้อความในมาตรา 3 เป็น “ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 8 ส.ค.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้พ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง การกระทำตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112”
ด้าน กมธ.จากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยและแย้งว่า การเสนอดังกล่าวเป็นการทำตามใบสั่งและจงใจที่จะล้างความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในคดีซุกหุ้นและคดีที่ถูกยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่สน เดินหน้าขอให้ที่ประชุมลงมติทันที แม้พรรคประชาธิปัตย์จะพยายามทัดทาน เนื่องจากยังมี กมธ.หลายคนที่เสนอคำแปรญัตติไว้แต่ยังไม่ได้อภิปราย สุดท้ายที่ประชุมก็เดินหน้าลงมติเห็นชอบมาตรา 3 ตามที่นายประยุทธ์เสนอด้วยคะแนน 18 เสียง ซึ่งเป็น กมธ.ในสัดส่วนพรรคเพื่อไทย รวมทั้ง พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิด้วย
จากนั้นได้พิจารณามาตรา 4 ที่ระบุว่า “ให้ระงับการดำเนินคดี การสอบสวน รวมถึงการพิจารณาที่อยู่ในการพิจารณาของกระบวนการ รวมถึงให้คนที่ต้องคำพิพากษา ให้ถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิด และหากอยู่ระหว่างการรับโทษ ให้ถือว่าการลงโทษสิ้นสุด” ซึ่งมี ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอให้ปรับเพิ่มถ้อยคำโดยกำหนดให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัด เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามหลักนิติธรรมมากขึ้น
ด้านนายแก้วสรร อติโพธิ กมธ.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การบัญญัติถ้อยคำเช่นนั้น จะทำให้คดีที่ คตส.ดำเนินการและสั่งฟ้อง จนคดีสิ้นสุดแล้ว จะได้รับผลกระทบหรือไม่ ทั้งคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ คดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ 4.6 หมื่นล้าน สุดท้ายที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบตามที่ ส.ส.เพื่อไทยเสนอ
จากนั้นได้พิจารณามาตรา 5 “ว่าด้วยการระงับสิทธิผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรม จะดำเนินการเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ” ซึ่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอให้เพิ่มคำว่า “อันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง” ก่อนที่ประชุมจะลงมติเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว จากนั้นพิจารณามาตรา 6 ว่าด้วยการตัดสิทธิหน่วยงานรัฐจะไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับบุคคลที่ได้รับการนิรโทษกรรม เว้นแต่เอกชน นั่นหมายถึงกรณีที่คนเสื้อแดงเผาศาลากลางจังหวัด 4 แห่ง และมีการสั่งจำคุกบุคคลที่เผาแล้ว ก็จะได้รับการนิรโทษกรรม และหน่วยงานรัฐไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากบุคคลเหล่านี้ ซึ่งแม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะเสนอแก้โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐหรือบุคคลเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งกับผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมได้ แต่ที่ประชุมก็ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มข้อความ จึงเป็นอันว่า การพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.นิรโทษกรรมครบทุกมาตราแล้ว ด้านนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.คาดว่า ต้นเดือน พ.ย.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมน่าจะเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาในวาระ 2 ได้
ทั้งนี้ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กหลัง กมธ.เสียงข้างมากฝ่ายรัฐบาลผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า การมีมติให้ยกเลิกความผิดที่เกิดจากการสอบสวนของ คตส.จะส่งผลต่อ 4 คดี 1.คดีที่ดินรัชดาฯ ที่ศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ 2 ปี 2.คดีที่ศาลฎีกาฯ สั่งยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน 3.คดีทุจริตรถดับเพลิงที่ศาลฎีกาฯ สั่งจำคุกนายประชา มาลีนนท์ กับพวก นอกจากนี้ยังมีมติให้นิรโทษกรรมคดีก่อการร้ายแกนนำคนเสื้อแดงทุกคดีด้วย
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า ไม่น่าเชื่อว่าจะมีการนิรโทษกรรมให้ทั้งคนฆ่า คนเผา คนยิงระเบิด รวมทั้งคนทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย และนี่จะเป็นกฎหมายฉบับแรกในประวัติศาสตร์โลก ที่ฝ่ายนิติบัญญัติกล้าออกกฎหมายว่าคนทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ผิด แปลว่าคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านจะได้รับการนิรโทษกรรม และ พ.ต.ท.ทักษิณก็มีสิทธิยื่นศาลเพื่อขอคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยประมาณ 4 พันล้าน สรุปแล้วคนไทยต้องหาเงิน 5 หมื่นล้านเพื่อคืนให้คนทุจริต “ปชป.ยืนยันว่าจะคัดค้านเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เชื่อว่าจะมีคนคัดค้านเยอะ เราได้ประกาศแล้วว่าจะทำงานทั้งในและนอกสภา แต่อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย จากนี้กิจกรรมคัดค้านจะเข้มข้นขึ้น...”
ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปราศรัยที่สนามหลวง 2 เมื่อวันที่ 19 ต.ค. โดยชี้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะได้รับการฟอกตัวจากร่างกฎหมายนิรโทษฯ ในทุกความผิด แถมได้เงินที่ถูกยึด 4.6 หมื่นล้านคืน กลายเป็นผู้บริสุทธิ์กลับมาเสวยอำนาจทางการเมืองได้ต่อไป ขอให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศค้นรายชื่อคณะกรรมมาธิการทั้ง 18 คนที่เห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ แล้วจดใส่บัญชีหนังสุนัขเอาไว้ คิดบัญชีกับมันในวันข้างหน้า “ยอมไม่ได้ที่จะให้ระบอบทักษิณกลับมาปกครองประเทศ ยอมไม่ได้ที่ให้ทักษิณาธิปไตยมาแทนประชาธิปไตย ยอมไม่ได้ที่จะเห็นระบอบทุนสามานย์มาเหยียบย่ำหัวใจคนไทยแบบนี้ มาคลุมสภา คลุมวุฒิสภา องค์กรอิสระ ตำรวจ ทหาร สื่อมวลชน และคลุมพ่อค้านักธุรกิจทั่วประเทศ”
นายสุเทพ ยังย้ำด้วยว่า วันที่กฎหมายนิรโทษฯ ผ่านสภาวาระ 3 คือวันที่เราจะลุกขึ้นทั่วประเทศ “ตนเองบอกกับลูกกับเมียแล้ว พร้อมนอนข้างถนนกับประชาชน แล้วบอกให้ทักษิณได้ยินว่า พวกกูประชาชนผู้รักชาติทั้งหลายไม่กลัวมึงอีกต่อไปแล้ว ตายเป็นตาย คุกเป็นคุก ไม่ยอมให้กลับมากดขี่ข่มเหงอีกต่อไปโดยเด็ดขาด”
ขณะที่เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน นำโดย นายสุริยะใส กะตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ,นายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษากลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) ,นายอุทัย ยอดมณี นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่ม คปท. , นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ประธานสภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(สปท.) , นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) และ พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ เสนาธิการร่วม กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ถึงสถานการณ์บ้านเมือง พร้อมย้ำจุดยืนของเครือข่ายว่า คือการคัดค้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมจับตากรณีศาลโลกเตรียมพิจารณาคดีปราสาทพระวิหาร โดยวันที่ 22 ต.ค.จะยื่นหนังสือถึงสถานทูตต่างๆ เพื่อชี้แจงถึงการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นอกจากนี้ยังมีมตินัดประชุมใหญ่ของเครือข่ายในวันอาทิตย์ที่ 27 ต.ค. เพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหว รวมถึงกำหนดวันชุมนุมใหญ่
ขณะที่รัฐบาลได้มีมติขยายการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงออกไป จากเดิมที่กำหนดสิ้นสุดในวันที่ 18 ต.ค. เป็นสิ้นสุดในวันที่ 30 พ.ย. ในพื้นที่เดิม 3 เขต คือ เขตดุสิต ,เขตพระนคร และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ไม่ขยายถึงแยกอุรุพงษ์ ที่มวลชนกลุ่ม คปท.ยังปักหลักชุมนุมอยู่ ทั้งนี้ การขยาย พ.ร.บ.มั่นคง ไปจนถึงวันที่ 30 พ.ย. นอกจากเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนมายังทำเนียบรัฐบาลหรือรัฐสภา จนกว่าจะปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 29 พ.ย.แล้ว รัฐบาลยังหวังผลเพื่อคุมม็อบที่อาจจะเกิดขึ้นหลังการตัดสินคดีพระวิหารของศาลโลกในเดือน พ.ย.ด้วย
2. รัฐสภาเสียงข้างมาก ลากร่างฯ แก้ ม.190 ผ่านวาระ 2 ด้าน “อภิสิทธิ์” ชี้ เป็นร่างฯ สุดเลวร้าย ขณะที่ “คำนูณ” ซัด รบ.อำมหิตกว่าที่คาด!
เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ได้มีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ในวาระ 2 ว่าด้วยหนังสือสัญญาที่ต้องผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภา หลังจากกรรมาธิการ(กมธ.) พิจารณาแล้วเสร็จ ทั้งนี้ นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร ในฐานประธาน กมธ.กล่าวรายงานโดยยืนยันว่า คณะ กมธ.ได้พิจารณาการแก้ไขมาตราดังกล่าวอย่างรอบคอบแล้ว โดยเชิญผู้รู้และเกี่ยวข้องกับการระหว่างประเทศมาให้ข้อมูล
ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ค้านว่า ร่างดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้มีการพิจารณาคำแปรญัตติของนายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง ของพรรค จึงอยากให้มีการไตร่ตรองให้รอบคอบ ไม่เช่นนั้นกฎหมายฉบับนี้จะกลายเป็นตราบาปต่อไป
จากนั้นได้เริ่มพิจารณามาตรา 1 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ว่าด้วยชื่อของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เสนอให้ตัดมาตรานี้ออก เพราะไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องแก้ไข พร้อมยืนยัน การที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไม่ได้ทำให้กรอบการเจรจาเกิดความล่าช้าแต่อย่างใด หากมีการแก้ไขมาตรา 190 ต่อไปรัฐสภาจะตรวจสอบได้อย่างไรว่าการทำข้อตกลงของรัฐบาลมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ และจะส่งผลให้ ครม. แอบอนุมัติข้อตกลงต่างๆ ได้
ทั้งนี้ หลังอภิปรายไปได้ระยะหนึ่ง นายนิคมได้ตัดบทให้ลงมติมาตรา 1 ซึ่งที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นชอบตาม กมธ.ด้วยคะแนน 345 ต่อ 133 เสียง จากนั้นได้พิจารณามาตรา 2 ต่อ ว่าด้วยการการบังคับใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมาตรานี้ไม่มีการแก้ไข จึงให้ลงมติทันที ซึ่งที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นชอบมาตรา 2 ด้วยคะแนน 341 ต่อ 132 เสียง
จากนั้นจึงเริ่มพิจารณามาตรา 3 ซึ่งนายสรรเสริญ สมะลาภา ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายกรณีที่ กมธ.เสียงข้างมากแก้ไขมาตรา 190 ให้เหลือเพียงหนังสือที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือมีบทให้เปิดเสรีด้านการค้าหรือการลงทุนต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยเสนอให้เพิ่มหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองหรือการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงานเข้าไปด้วย เพราะแหล่งพลังงานซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชายังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ เพราะมีมูลค่ามหาศาล จึงต้องการให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนไทยทุกคน ไม่ใช่ตกอยู่กับนักธุรกิจคนใดคนหนึ่งที่จูงใจให้รัฐบาลไทยเสียเปรียบกัมพูชา จะกลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนและถือว่าเป็นการโกงชาติ
นายสรรเสริญ ยังยกตัวอย่างคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เคยบอกว่าสนใจทำธุรกิจเหมืองทอง เหมืองแร่ น้ำมัน และก๊าซ ที่เคยลงในหนังสือพิมพ์มาประกอบการอภิปรายด้วย เช่น “พ.ต.ท.ทักษิณ โพสต์เฟซบุ๊กคุยนายกฯ อิรักจ่อดึง ปตท.ร่วมขยายกำลังการผลิตน้ำมัน” และ “พล.อ.เตีย บัน รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา เผย พ.ต.ท.ทักษิณเคยสนใจลงทุนในธุรกิจพลังงาน” ด้าน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่พอใจที่มีการอภิปรายพาดพิง พ.ต.ท.ทักษิณ จึงพากันประท้วง และเกิดการโต้เถียงกันไปมา จนประธานต้องสั่งพักการประชุม
ทั้งนี้ การอภิปรายวันแรกค้างอยู่มาตรา 3 เกี่ยวกับการกำหนดประเภทหนังสือสัญญาที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ประธานจึงได้นัดประชุมต่อในวันรุ่งขึ้น(16 ต.ค.) โดยการอภิปรายเปิดฉากด้วยนางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า การแก้ไขมาตรา 190 จะทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียเขตแดน ขณะที่นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายโดยตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขมาตรา 190 อาจเอื้อประโยชน์ให้นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่เคยถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้มูลความผิดกรณีลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เพื่อสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งอาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของไทย โดยขณะนี้คดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา ด้านนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย อ้างว่า กรณีนายนพดล ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา และว่า แม้ไม่มีแถลงการณ์ร่วม ทางกัมพูชาก็นำปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอยู่ดี
ทั้งนี้ หลังสมาชิกอภิปรายครบแล้ว ได้มีการลงมติมาตรา 3 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้ให้ที่ประชุมลงมติมาตราดังกล่าวทีละวรรค ส่งผลให้ต้องมีการลงมติกันถึง 6 รอบ สร้างความสับสนแก่สมาชิกเป็นอันมาก ด้าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ถึงกับตะโกนว่า เป็นการลงมติที่มั่วที่สุด พร้อมด่าทอนายสมศักดิ์ว่าบ้าอำนาจ แต่นายสมศักดิ์ไม่สน เดินหน้าลงมติมาตรา 3 จนแล้วเสร็จ
จากนั้นได้มีการอภิปรายมาตรา 4 ที่กำหนดให้มีกฎหมายประกอบมาตรา 190 ภายใน 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์และ ส.ว.ต่างสลับกันอภิปรายสนับสนุนมาตรา 4 วรรค 2 ตามที่ กมธ.ได้เพิ่มเติม เนื่องจากมีบทบัญญัติให้ ครม.มีการรับฟังเสียงของประชาชนในการทำหนังสือสัญญา ก่อนจะออก พ.ร.บ.ประกอบ อย่างไรก็ตาม ระหว่างอภิปราย ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้เสนอญัตติปิดอภิปรายเพื่อลงมติ แม้จะมี ส.ว.เสนอเปิดอภิปรายต่อ แต่ก็สู้เสียงข้างมากไม่ได้ จึงมีการปิดอภิปรายและลงมติ ซึ่งที่ประชุมมีมติ 62 ต่อ 335 เสียง ไม่เห็นชอบตามที่ กมธ.มีการแก้ไข ทำให้ต้องกลับไปใช้ร่างฯ ที่รับหลักการในวาระ 1 โดยประธานนัดลงมติมาตรา 190 วาระ 3 ในวันที่ 2 พ.ย. เวลา 10.00น.
ทั้งนี้ หลังที่ประชุมรัฐสภาผ่านวาระ 2 มาตรา 190 ปรากฏว่า ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เผยว่า รู้สึกหดหู่กับสิ่งที่เกิดขึ้น และเป็นเรื่องแปลกที่ประธานรัฐสภาให้สมาชิกลงมติมาตรา 3 ทีละวรรค แต่สรุปว่า ต่อไปนี้ ข้อตกลงทางเศรษฐกิจเรื่องพลังงาน ทรัพยากร จะไม่นำเข้าที่ประชุมรัฐสภาตามมาตรา 190 แล้ว จะเหลือแค่เรื่องเอฟทีเอ ที่เมื่อเจรจาเสร็จจะขอความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยที่รัฐสภาจะไม่รู้ว่ามีการเจรจาอะไรบ้าง ขณะที่บทบัญญัติการเยียวยา การฟังความเห็น การมีส่วนร่วมของประชาชนถูกตัดออกหมด ถือว่าเป็นทางเลือกเลวร้ายที่สุดและเลวร้ายกว่าที่จินตนาการไว้ “ยืนยันว่าการทุ่มเทแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ลิดรอนอำนาจประชาชน ทั้งที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นนักประชาธิปไตย แต่กลับบอกว่าประชาชนอย่ายุ่ง อย่างไรก็ตาม วิปฝ่ายค้านและฝ่ายกฎหมายจะพิจารณากระบวนการพิจารณาเรื่องนี้ โดยเฉพาะการลงมติมิชอบว่า เข้าเงื่อนไขส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่”
ด้านนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ถึงผลเสียของการแก้มาตรา 190 ที่ผ่านวาระ 2 ไปแล้วว่า ต่อไปนี้การประชุมลับเรื่องข้อตกลงทางเศรษฐกิจก็สามารถทำได้โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พร้อมยกตัวอย่างว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเคยบอกว่ามีบริษัทลงทุนเรื่องพลังงาน หากบริษัทของทักษิณทำข้อตกลงกับรัฐบาลกัมพูชา แล้วขอขุดเจาะก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันในอ่าวไทย ในพื้นที่พิพาททางทะเล รัฐบาลก็สามารถอนุญาตได้โดยไม่ต้องนำเข้าที่ประชุมรัฐสภา เพราะเป็นการตกลงเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องเส้นเขตแดนหรือพื้นที่ประเทศ
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้แฉถึงความอำมหิตของรัฐบาลในการแก้มาตรา 190 ว่า ร่างแรกที่เสนอแก้มา มีการตัดเงื่อนไขบทเปลี่ยนอำนาจอธิปไตยของไทยนอกอาณาเขต เหลือแค่บทเปลี่ยนอาณาเขตไทย ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ 2 ประเภทตัดออกหมด พอชั้น กมธ.มีการแก้ไข โดยเอาหนังสือประเภทที่มีบทเปลี่ยนอำนาจอธิปไตยของไทยนอกอาณาเขตกลับเข้ามา แต่โหดร้ายโดยเติมคำว่า “โดยชัดแจ้ง” เข้าไป ส่วนหนังสือสัญญาทางเศรษฐกิจ 2 ประเภทไม่ได้กลับคืนมา เหลือแต่เอฟทีเอเท่านั้นที่ต้องเอาเข้าที่ประชุมรัฐสภา ส่วนเรื่องการรับฟังความคิดเห็นประชาชน การเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญา การเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาล่วงหน้า ไปอยู่ในกฎหมายลูกทั้งหมด ส่วนเรื่องเปลี่ยนอาณาเขตและอธิปไตยนอกอาณาเขตไม่ต้องเสนอกรอบเจรจาต่อรัฐสภา เท่ากับว่าเป็นการตัดการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในหนังสือสัญญาทุกประเภท ซึ่งตนคาดไม่ถึงว่ารัฐบาลจะอำมหิตถึงเพียงนี้
3. ศาลโลก นัดชี้คดีพระวิหาร 11 พ.ย.นี้ - “สุรพงษ์” เชื่อ ตัดสินอย่างไร คนไทยก็รับได้ ด้าน “บิ๊กตู่” สั่งทหารนิ่ง-ห้ามเสริมกำลังชายแดน!
เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ได้มีการประชุมคณะกรรมการดำเนินคดีปราสาทพระวิหารฝ่ายไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานต่างๆ หลังประชุม นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าคดีที่กัมพูชายื่นขอให้ศาลศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 และการเตรียมความพร้อมของฝ่ายไทยต่อผลการตัดสินของศาลที่จะมีขึ้น ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ฝ่ายไทยจะร่วมมือกับกัมพูชาในการปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลก โดยมุ่งรักษาความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศ โดยฝ่ายไทยประเมินว่า ศาลโลกอาจเลื่อนตัดสินกรณีปราสาทพระวิหารออกไปเป็นหลังเดือน ม.ค.ปีหน้า
ด้านนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ คาดว่า ศาลโลกอาจมีคำตัดสินออกมากว้างๆ 4 แนวทาง คือ 1.ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดี 2.ศาลมีคำพิจารณาออกมาตามที่ฝ่ายกัมพูชาขอ 3.ศาลมีคำพิจารณาออกมาตามที่ฝ่ายไทยขอ หรือ 4.ศาลมีคำพิจารณาออกมากลางๆ ทั้งนี้ นายวีรชัยได้เสนอให้ฝ่ายไทยจัดตั้งกลไกขึ้นมาเพื่อให้เกิดความพร้อมในการพูดคุยกับฝ่ายกัมพูชาหลังศาลโลกมีคำตัดสินออกมาด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังมีการประเมินว่าศาลโลกอาจเลื่อนตัดสินกรณีปราสาทพระวิหารเป็นเดือน ม.ค.ปีหน้า ปรากฏว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รีบออกมาบอกว่า ศาลโลกได้โทรศัพท์แจ้งมายังสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ว่า ศาลนัดให้ไปฟังคำพิพากษาคดีพระวิหารในวันที่ 11 พ.ย.นี้ เวลา 10.00น. โดยศาลได้เลื่อนคดีของเปรูและชิลีออกไป และนำคดีพระวิหารขึ้นมาแทน นายสุรพงษ์ ยังเชื่อด้วยว่า การตัดสินคดีนี้จะไม่ส่งผลให้มีฝ่ายใดได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ เนื่องจากมีเป้าหมายให้ประชาชนได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข “เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจและรับได้ในคำตัดสิน ที่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม”
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 21 ต.ค.นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับการตั้งกลไกระดับชาติเพื่อรองรับการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก ส่วนจะมีการถ่ายทอดสดคำตัดสินของศาลโลกหรือไม่นั้น นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่า ต้องรอผลประชุมในวันที่ 21 ต.ค.
ขณะที่ พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง แม่ทัพภาค 2 เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการให้ทหารที่ประจำบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา และด้านเขาพระวิหารนิ่ง ไม่ต้องตื่นตระหนก โดยกำชับไม่ให้มีการปรับกำลังหรือเพิ่มเติมกำลังใดๆ เพื่อไม่ให้เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ส่วนที่มีข่าวว่า ทหารเขมรส่งกำลังเข้ามาเพิ่มที่ชายแดนด้านเขาพระวิหารนั้น พล.ท.ชาญชัย บอกว่า เป็นการหมุนเวียนกำลังทหารเฉยๆ และเป็นกำลังทหารที่เคยเข้าไปดูแลสถานการณ์การเมืองภายในตั้งแต่ตอนเลือกตั้งแล้ว ก็ต้องส่งกลับมา ไม่ได้ถือว่าเป็นการเพิ่มเติมกำลังทหารแต่อย่างใด
4. ปตท. ส่งหนังสือขู่ฟ้อง “ASTVผู้จัดการ” หากไม่หยุดเสนอข่าวผลกระทบน้ำมันรั่ว ด้าน ASTVผู้จัดการ ไม่หวั่น ยัน เสนอข่าวถูกต้องและจะขุดคุ้ยความจริงต่อไป!
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. เว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ เผยว่า จากกรณีที่ “ASTVผู้จัดการ” ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดจากน้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด กลุ่ม ปตท.ได้มีหนังสือมาถึงกองบรรณาธิการASTVผู้จัดการ ลงวันที่ 10 ต.ค.2556 โดยนายไตรรงค์ ตันทสุข ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก ปตท.สผ และบริษัท พีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย PTTEP AA ชี้ว่า การนำเสนอข่าวของ ASTVผู้จัดการ ใน 6 กรณีทำให้ ปตท.สผ.และ PTTEP AA ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากประชาชน โดย 6 ข่าวดังกล่าว ประกอบด้วย 1. แฉสัมปทาน “ปตท.” ชนวนเด้ง รมต.พม่า 2. รัฐอุ้ม PTTGC หนีความผิด แบไต๋ส่อไม่ฟ้อง 3. สุดฉาว! เครือ ปตท.พัวพันสินบนสัมปทานปิโตรเลียมพม่า 4. 3 หมื่นชื่อจี้รัฐ ตั้ง กก.อิสระสอบ ติดตามน้ำมัน ปตท.รั่ว 5. ตามน้ำมันรั่ว ยื่น 3.2 หมื่นชื่อ 6. คราบน้ำมันที่ “เสม็ด” บทพิสูจน์ความสามารถ ในการจัดการสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท.ยืนยันว่า เครือ ปตท.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินบนนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ของประเทศอินโดนีเซียเพื่อปกปิดผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ ประเทศออสเตรเลีย รวมทั้งไม่ได้มีเรื่องสินบนเพื่อให้ได้สัมปทานจากพม่าแต่อย่างใด จึงขอให้ ASTVผู้จัดการ ระงับการเผยแพร่ข่าวทั้ง 6 ข่าว และเผยแพร่ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ หากเพิกเฉย เครือ ปตท.จำเป็นต้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อ ASTVผู้จัดการ ทั้งทางแพ่งและอาญาต่อไป
ด้าน ASTVผู้จัดการ ได้ชี้แจงแสดงจุดยืนต่อเครือ ปตท.ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการข่มขู่ โดยเจตนาใช้มาตรการทางกฎหมายมาปิดปากให้หยุดนำเสนอข้อมูลอีกด้านที่สังคมยังไม่รู้ นอกจากนี้ยังส่อให้เห็นเจตนาของกลุ่ม ปตท.ที่ต้องการปิดบังความจริง ทั้งที่ ปตท.ประกาศตัวว่าเป็นกลุ่มบริษัทที่มีธรรมาภิบาล ดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่ความเคลื่อนไหวที่ออกมากลับตรงกันข้าม
ASTVผู้จัดการ ยังยืนยันด้วยว่า ผลกระทบจากน้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าว จนถึงขณะนี้การเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ยังไม่ทั่วถึง ทำให้มีการเคลื่อนไหวร้องเรียนอยู่เป็นระยะ นี่ยังไม่รวมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและในทะเล ซึ่งยังไม่มีการพิสูจน์อย่างแน่ชัดว่าจะใช้เวลาในการฟื้นฟูนานเท่าใด เนื่องจากดูเหมือนมีการปิดบังข้อมูล
ส่วนกรณีที่กลุ่ม ปตท.อ้างว่าได้รับผลกระทบจากข่าวทั้ง 6 ข่าวนั้น ASTVผู้จัดการ ยืนยันว่า ทั้งหมดล้วนเป็นการรายงานข่าวที่ปรากฏในสื่อต่างประเทศ ที่เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินธุรกิจทั้งสิ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อสงสัยของประชาชนว่า แท้จริงแล้ว กลุ่ม ปตท.มีธรรมาภิบาลตามที่อ้างจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงบริษัทที่เป็นเครื่องมือของกลุ่มทุนสามานย์ของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่ร่วมกันขูดรีดทรัพยากรของคนไทย
ทั้งนี้ ASTVผู้จัดการ ยืนยัน ไม่หวั่นไหวต่อคำขู่คุกคาม โดยจะทำหน้าที่ขุดคุ้ยหาความจริงเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ต่อไป พร้อมย้ำ ที่ผ่านมา ASTVผู้จัดการได้นำเสนอข้อมูลอย่างถูกต้องครบถ้วนทุกด้าน หาก ปตท.มีข้อมูลที่เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือต้องการชี้แจงเพิ่มเติม ก็ทำได้ตลอดเวลา ยืนยันว่า การข่มขู่ปิดปากแบบนี้ใช้ไม่ได้ผลกับ ASTVผู้จัดการ แน่นอน