ASTVผู้จัดการ – เปิดคำพิพากษาศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ฉบับสมบูณ์ กับคำตัดสินให้ “สนธิ ลิ้มทองกุล” ไม่ผิดและผิดกรณีหมิ่นสถาบันฯ ตามมาตรา 112 หลังยกคำปราศรัย ดา ตอร์ปิโด มาบอกเล่า เหตุผลกลใดที่ผู้เจตนาพิทักษ์และปกป้องสถาบัน ทั้งเร่งให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ใส่เกียร์ว่างดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดจึงมีความผิด?
จากกรณีเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.2066/2553 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 8 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2551 โดยศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจแล้ว พิพากษากลับเห็นว่านายสนธิมีความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันฯ ตาม ป.อาญา มาตรา 112 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี
ทั้งนี้ในคดีดังกล่าวในศาลชั้นต้นกลับมีความเห็นให้ “ยกฟ้อง” ซึ่งมีความแตกต่างจากความเห็นของผู้พิพากษาชั้นอุทธรณ์ ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ จึงนำคำพิพากษาทั้ง 2 ฉบับมาเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบ ดังนี้
คำพิพากษาศาลชั้นต้น
(คัดมาเฉพาะส่วนพิเคราะห์)
26 กันยายน 2555
พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยนำคำพูดปราศรัยของนาง หรือนางสาวดารณี มาพูดสรุปให้ประชาชนฟังบนเวทีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่มีการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีและผ่านอินเทอร์เน็ตตามเอกสารถอดบันทึกภาพและเสียงหมาย จ.1 ถึง จ.3 และช่วงเวลานั้นมีเว็บไซต์ต่างๆ มีเนื้อหาโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์จริง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การพูดสรุปของจำเลยไม่พอฟังว่าเป็นการขยายความคำพูดของนาง หรือนางสาวดารณี เพราะพยานโจทก์เองก็ยืนยันว่าทราบความหมายดีว่าหมายถึงทั้งสองพระองค์ แม้จะไม่มีการระบุพระนาม ส่วนเรื่องที่ผู้ที่ไม่เคยได้ฟังคำปราศรัยของนาง หรือนางสาวดารณี มาก่อนจะมาทราบเรื่องนี้เอาจากจำเลยนั้น ได้ความจากพยานโจทก์ตรงกันว่าขณะพูดเรื่องดังกล่าวโดยระบุชื่อเจ้าพนักงานตำรวจระดับสูงหลายนายนั้นในมือจำเลยถือแผ่นบันทึกภาพและเสียงเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่จะนำไปแจ้งความแสดงเจตนาว่าต้องการเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับนาง หรือนางสาวดารณี จริง
ในขณะที่ นายอนันต์ เหล่าเลิศวรกุล นักวิชาการที่มีความชำนาญเฉพาะทางด้านภาษาในระดับปริญญาเอก โดยเฉพาะภาษาไทยฯ เมื่อได้อ่านเอกสารหมาย จ.1 ก็เข้าใจอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยต้องการบอกเล่าถึงความไม่ดีของนาง หรือนางสาวดารณี เท่านั้น ดังนั้น แม้คำพูดของจำเลยจะหมิ่นเหม่และในฐานะสื่อมวลชนคนหนึ่งอาจใช้วิธีอื่นดำเนินการในเรื่องเดียวกันนี้ได้ก็ตาม แต่วิญญูชนก็ไม่อาจเข้าใจไปได้ว่าจำเลยมีเจตนาใส่ร้ายโจมตีสถาบันดังกล่าว
ประกอบกับจำเลยมีหลักฐานตามข่าวเอกสารหมาย ล.5 ประกอบกับคำยืนยันของ พลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์ ที่ยังเกี่ยวข้องกับงานด้านข่าวกรองหลังเกษียณราชการว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยพูดปราศรัยบนเวทียังไม่มีการดำเนินคดีในการกระทำในครั้งเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2551 กับนาง หรือนางสาวดารณี ทั้งที่เคยกระทำในลักษณะเดียวกันนี้มาหลายครั้งแล้ว โดยหาควรจำประวัติการกระทำผิดครั้งก่อนๆ ไม่ว่าจะยุติถึงที่สุดแล้วหรือไม่มารับฟังให้เป็นผลร้ายกับตัวจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่มีเจตนากระทำความผิดตามฟ้อง
พิพากษายกฟ้อง./
นางสาวสุจิตรา โพทะยะ
นางสาวภูรีวรรณ์ ประเสริฐศักดิ์
(สำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉบับเต็ม จำนวน 8 หน้า)
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์
(คัดมาเฉพาะส่วนพิเคราะห์)
1 ตุลาคม 2556
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และพระราชินี ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ทั้งตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์
โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังกล่าวที่ในฟ้อง จำเลยนำคำปราศรัยของนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ดังที่กล่าวในฟ้องซึ่งเป็นข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาพูดบนเวทีปราศรัยของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ให้ประชาชนฟัง เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” การที่จำเลยนำคำปราศรัยของนางสาวดารณีที่พูดบนเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 18 และวันที่ 19 กรกฎาคม 2551 อันเป็นถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถมาพูดในที่เกิดเหตุย่อมมีผลเท่ากับจำเลยกล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถนั้น ด้วยตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์และพระราชินีตามกฎหมายดังกล่าว
ที่จำเลยอ้างว่า การที่จำเลยออกมาพูดทำให้บุคคลทั่วไปประณามการกระทำของนางสาวดารณี และเรียกร้องให้เจ้าพนักงานตำรวจและกองทัพดำเนินคดีแก่นางสาวดารณี การกระทำของจำเลยเป็นการทำหน้าที่ของคนไทยในการปกป้องชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 70 ทั้งจำเลยกระทำไปด้วยความจกรักภักดีซึ่งผู้ที่ได้ยินได้ฟังเข้าใจได้ว่า จำเลยไม่มีเจตนาจาบจ้วงหรือดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของทั้งสองพระองค์นั้น ก็ไม่มีเหตุจำเป็นอย่างใดที่จำเลยจะต้องยกเอาคำพูดที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่นางสาวดารณีพูดไว้มาพูดซ้ำอีก บุคคลส่วนใหญ่อาจไม่ทราบว่านางสาวดารณีกล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จะพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ว่าอย่างไร ก็ได้ทราบจากที่จำเลยพูดในคราวนี้ ทั้งประชาชนยังอาจตั้งข้อสงสัยว่าเรื่องดังกล่าวที่จำเลยนำมาพูดเป็นความจริงหรือไม่ แล้วอาจทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางที่จะเกิดความเสื่อมเสียต่อพระเกียรติยศของทั้งสองพระองค์ได้ จำเลยไม่ได้ระมัดระวังในอันที่จะกล่าวหรือกระทำการใดๆ เป็นการกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยมิบังควรไม่ว่าจะเพื่อประโยชน์ขอฝ่ายใด เมื่อได้มีการกระทำเข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายมาตราดังกล่าวแล้ว จำเลยก็หาพ้นความผิดไม่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำคุก 3 ปี คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยที่ 5 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1241/2550 และต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.5068/2550 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.3356/2552 คดอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2765/2553 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.524/2555 ของศาลชั้นต้น
นายเฉลิมชัย จารุไพบูลย์
นายประจวบ พัชนีรัตนกรณ์
นายณรงค์ ธนะปกรณ์
(สำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับเต็ม จำนวน 6 หน้า)