xs
xsm
sm
md
lg

เปิดราคาประกันไข่ปีหน้า แนวโน้มได้เห็นฟองละ 10 บ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ “เบื้องหลังไข่แพง” ตอนที่ 2

ASTVผู้จัดการรายวัน-เปิดราคารับซื้อไข่ไก่ปีหน้า ทุนยักษ์ใหญ่กำหนดแล้ว 2.75 บาทต่อฟอง ค่าอาหาร ค่าพันธุ์สัตว์ปรับตามด้วย ฟันธงล่วงหน้าไข่ไก่แพงกว่าวันนี้ได้อีก แนวโน้มผู้บริโภคควักจ่ายไข่ฟองละ 10 บาทอีกไม่ไกล ย้อนรอยอดีตไขปม “ใครทำไข่แพง”

หลังจาก “ASTVผู้จัดการรายวัน”ได้เปิดรายงานพิเศษ“เบื้องหลังไข่แพง”ตอนที่ 1 ไปแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าขณะที่ราคาไข่ขยับสูงขึ้น ผู้บริโภคต้องจ่ายสูงขึ้น เกษตรกรผู้เลี้ยงก็เผชิญปัญหาต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้นและรับผลตอบแทนน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำธุรกิจฟาร์มในฐานะ “ลูกเล้า” หรือ คอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง (Contact farming) ตกเป็นเบี้ยล่างทุนยักษ์ใหญ่ด้วยเงื่อนไขที่ต้องยอมจำนน

เปิดราคาไข่ปีหน้าตัวชี้วัดราคา

นอกจากประเด็นของการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการคิดค่าตอบแทนด้วยการชั่งไข่แทนการคิดเป็นฟองให้กับเกษตรกรของบริษัทยักษ์ใหญ่ถือเป็นการควบคุมราคาไข่ให้เป็นไปตามที่บริษัทต้องการแล้ว ปัจจัยที่จะส่งผลต่อภาวะราคาที่ไข่ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของการกำหนดราคาประกันระหว่างคู่สัญญาคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง

แหล่งข่าวจากเจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวแทนของนายทุนยักษ์ใหญ่ที่เป็นคู่สัญญาได้กระจายส่งคนลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับเจ้าของฟาร์มแต่ละแห่งหลังจากปรากฎกระแสข่าวเรื่องราคาไข่ไก่ที่แพงขึ้นเรื่อยๆในท้องตลาด โดยแยกเจรจาไม่ให้เจ้าของฟาร์มแต่ละแห่งได้รับรู้ข้อมูลในคราวเดียวกัน เนื่องจากป้องกันการรวมตัวเรียกร้องของฟาร์มที่ต้องการให้ปรับเงื่อนไขการรับซื้อไข่ด้วยการชั่งกิโลเพราะเกษตรกรผู้เลี้ยงไม่ได้รับอานิสงฆ์จากราคาตลาดที่ขยับขึ้นเลย

อย่างไรก็ดี ในจังหวะนี้เมิ่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทได้ถือโอกาสประกาศราคาประกันรับซื้อที่ปรับขึ้นเพื่อให้เกษตรกรได้คาดหวังว่า จะได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นในปีหน้าหรือการเลี้ยงไก่ในรุ่นต่อไปที่จะมาถึง แต่ราคาพันธุ์สัตว์ และ ค่าอาหารที่จะใช้เลี้ยงไก่ก็แพงขึ้นด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การประกันราคาประจำปี 2557 ตลอดการเลี้ยง 13 เดือนจะรับซื้อไข่ดีในราคา 2.75 บาทต่อฟอง รับซื้อไก่ปลดระวางกิโลกรัมละ 30 บาท ราคาพันธุ์สัตว์ตัวละ 140 บาท และ ราคาอาหารสัตว์ 770 บาทต่อกระสอบ

หากคำนวณโดยใช้ข้อมูลพื้นฐานโดยเฉพาะค่าพันธุ์สัตว์ ค่าอาหารที่บริษัทรายใหญ่ขายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงนี้จะสามารถวิเคราะห์แนวโน้มราคาไข่ไก่ของปีหน้าว่าจะต้องสูงกว่าปัจจุบันอย่างแน่นอน

ณ วันที่ 30 พ.ค. ราคาขายที่ตลาดยิ่งเจริญ ไข่ใหญ่เบอร์ 0 ขายอยู่ที่ฟองละ 4.20-4.30 บาท เบอร์ 1 ฟองละ 4 บาท และขนาดเล็กเบอร์ 4 ขายอยู่ทีราคา 3.5 บาท

ขณะที่ราคาประกันถอยหลังกลับไปตั้งแต่ปี 2555และ ซึ่งใช้อยู่ในไก่รุ่นปี 2556 ซึ่งประกาศอยู่ที่ 2.45บาทต่อฟอง ก็จะเห็นว่า ราคาได้ขยับขึ่นทุกปี เช่นเดียวกับต้นทุนสำคัญ คือ ค่าพันธุ์สัตว์ ปีนี้อยู่ที่ 130 บาทต่อตัว เทียบกับปี2555 อยู่ที่ 119 บาทต่อตัว ค่าอาหารสัตว์ ปี2556 อยู่ที่ 685 บาทต่อกระสอบเทียบกับปี 2555 อยู่ที่ 625 บาทต่อกระสอบ (ดูอินโฟกราฟฟิคประกอบ)

ภายใต้ข้อมูลและแนวโน้มเช่นนี้ เจ้าของฟาร์มที่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงไก่ไข่มานานบอกว่า ผู้บริโภคจะต้องยอมรับว่าไม่สามารถซื้อไข่ในราคาถูกได้อีกแล้ว และ อีกไม่นานเราจะได้เห็นไข่ไก่ฟองละ 10 บาทก็เป็นได้

“ไข่ที่ออกมาในแต่ละปี คนเลี้ยงสามารถคำนวณประมาณการผลตอบแทนของตนเองได้ เช่นเดียวกับบอกได้ว่า ไข่ที่จะถึงมือผู้บริโภคจะเป็นเท่าไหร่” แหล่งข่าวบอก

สำหรับประมาณการรายได้ของฟาร์มนี้ซึ่งเป็นขนาดกลาง 1 โรงเรือนเลี้ยงได้ 10,000 ตัว คาดว่าจะมีรายรับปี 2557 จากการขายไข่ตามราคาประกันใหม่อยู่ที่ 344 ฟองต่อปีต่อตัว(ฟองละ 2.75บาท) คิดเป็นเงิน 947 บาทต่อตัว ขายไก่ปลดได้ตัวละประมาณ 56 บาท หักค่าใช้จ่ายหลักได้แก่ค่าพันธุ์สัตว์ 1 ตัว 140 บาท ค่าอาหารสัตว์ 735 บาทต่อตัว ค่ายา 3.44 บาทต่อตัว ซึ่งไม่รวมรายจ่ายจากค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า แรงงาน ค่าซ่อมบำรุง หนี้สินธนาคาร และอื่นๆ

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า แม้ราคาไข่จะปรับตัวสูง ในแง่ของคนเลี้ยงลูกเล้าหลายรายไม่ได้คาดหวังว่าจะร่ำรวยตามภาวะการณ์แต่ขอให้พออยู่ได้ เพราะ ทราบดีเมื่อตัดสินใจเข้าเป็นลูกเล้าของนายทุน พันธสัญญาต่างๆที่มีก็ต้องปฎิบัติตาม ทั้งราคาค่าพันธุ์สัตว์ ค่าอาหาร และ ราคาประกันที่รับซื้อ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

“ตั้งแต่ไข้หวัดนกระบาด เกษตรกรรายย่อยได้รับความเสียหาย บางรายเลิกเลี้ยงไก้ไปเลย วันนี้บรรดาพวกที่เลี้ยงเป็นลูกเล้านายทุนก็กัดฟันยอมที่จะทำหาเลี้ยงชีพตัวเอง บางคนอาจจะบอกว่าในเมื่อนายทุนเอารัดเอาเปรียบทำไมยังเลี้ยงและเป็นลูกเล้าอยู่ บอกได้เลยว่า เราไม่มีพันธุ์สัตว์เอง ทำอาหารสัตว์เองไม่ได้ สองอย่างนี้ทุนใหญ่คุมไว้หมด” แหล่งข่าวกล่าว

ใครทำไข่แพง?

เจ้าของฟาร์มคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่งหรือลูกเล้า นายทุนยักษ์ใหญ่ของวงการเกษตรเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นวงจรตลาดไข่ ซึ่งหากจะค้นหาปมว่า ใครทำให้ไข่แพง คงต้องอีกปัจจัยสำคัญ เรื่องของพันธุ์สัตว์

หากยังจำได้ย้อนหลังกลับไปช่วงรัฐบาลทักษิณ ตอนนั้นไข้หวัดนกระบาด รัฐบาลสั่งให้กรมปศุสัตว์เข้ามาควบคุมระบบการเลี้ยง ซึ่งทุกฟาร์มต้องเข้าสู่ระบบปิด evap หรือ โรงเรือนที่มีระบบการระบายอากาศประเภทหนึ่ง ที่เน้นการใช้ประโยชน์ จากความเร็วลมร่วมกับการระเหยของน้ำเพื่อให้อุณหภูมิของอากาศลดลง หรือเรียกว่า ระบบปรับอากาศแบบแผงระเหยไอเย็น (Evaporative cooling system) เป็นระบบที่เหมาะกับสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูง โดยต้องขึ้นทะเบียนมาตรฐานฟาร์มจึงจะเลี้ยงได้

นอกจากนี้ยังออกประกาศควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ต้องขออนุญาตเคลื่อนย้ายระบุรายละเอียดให้ชัดเจน

ขณะนั้นบริษัทยักษ์ไม่กี่รายที่ได้รับอนุญาตนำเข้า ปู่ย่าพันธ์ไก่มาจากต่างประเทศเท่านั้น ดังนั้นจึงเท่ากับการควบคุมปริมาณการนำเข้าไปโดยปริยาย
ข้อดีของการนำเข้าปู่ย่าพันธุ์สัตว์คือผู้นำเข้าจะสามารถขยายพันธุ์ต่อได้อีกหลายรุ่น จากนำเข้า 1 ตัวตั้งต้นก็จะกลายเป็นเพิ่มจำนวนเป็นทวีคูนไม่ยาก

ปี 2552 -53 ช่วงที่ไข่ล้นตลาด รัฐแก้ปัญหาด้วยการใช้กลไกนี้สั่งควบคุมการนำเข้าปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ เพื่อทำให้ปริมาณไข่ในตลาดให้น้อยลง เมื่อปริมาณไข่น้อยไข่จะก็ได้แพงขึ้นตามกลไกตลาด

ผลที่เกิดขึ้นขณะนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ต้องว่างงานไป 4-6 เดือนพักโรงเรือนเพราะไม่มีไก่ให้เลี้ยง เกษตรกรรายย่อยอิสระได้เลิกเลี้ยงจำนวนมาก ขณะที่เกษตรผู้เลี้ยงไก่ใข่ในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ้งก็ไม่มีไก่ให้เลี้ยงเช่นกัน

รัฐบาลยุคนั้นใช้กลไกควบคุมปริมาณพันธ์สัตว์เพื่อดึงราคาไข่ขึ้น แทนที่จะใช้การประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชนกินไข่เพิ่มขึ้นเพื่อไม่ให้ไข่ล้นตลาด

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า คนไทยกินไข่ 160 ฟอง/คน/ปี เท่านั้น ในขณะที่อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น กินไข่ 300กว่าฟอง/คน/ปี) ทั้งที่เป็นแหล่งโปรตีนที่มีประโยชน์ในราคาที่ไม่แพง

ระหว่างปี 2553-54 ราคาไข่เริ่มสูงขึ้น รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะสมัยนั้นได้สั่งให้กระทรวงพาณิชย์ ไปสำรวจว่า ไข่ในตลาด ปรากฎว่า ขาดไปประมาณวันละ 1 แสนฟอง

เมื่อไข่ขาด 1 แสนฟอง/วัน ก็เปิดโอกาสให้เอกชนนำเข้าไก่อิสระ 1 แสนตัว แต่บริษัทรายใหญ่ที่ทรงอิทธิพลแทนที่จะนำไก่ธรรมดาเข้ามาซึ่งมีราคาแพงด้วยก็จะซื้อปู่ย่าพันธุ์ 1 แสนตัว จากปู่ย่า ไป พ่อแม่ ไปลูกหลาน จะมีไก่เพิ่มขึ้นในระบบ 10 เท่าคือ 10 ล้านตัว

หลังจากนำเข้ามาแล้ว 10 -12เดือน ทำให้ไข่ล้นตลาดมาตลอดช่วงปี 2555 ไข่ถูกลงมาก เกษตรกรรายย่อยก็ล้มหายตายจากไปอีก ช่วงนั้นรัฐบาลประชาธิปัตย์สั่งใช้การชั่งไข่ขายเพื่อให้แม่ค้าได้ราคา แต่ก็ต้องเลิกไปเพราะไม่สะดวกในการซื้อขาย มีไข่แตกระหว่างการชั่งสุดท้ายก็ยกเลิกการชั่งไข่ไปขณะเดียวกันไก่ที่เคยเลี้ยง 60 สัปดาห์ก็บังคับให้เกษตรกรรีบปลดไก่ก่อนกำหนดที่56-58 สัปดาห์ เพื่อลดปริมาณไข่ในตลาด เกษตรกรรายย่อยก็ขาดทุนอีกเพราะยังไม่คุ้มทุน

มาถึงวันนี้ ปี 2556 ไข่เริ่มมาขยับราคาขึ้นอีกเพราะปริมาณไข่น้อยในตลาด โดยอาจจะเกิดจากปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม โรคระบาด และ สภาพของอากาศที่ร้อนตามที่ทราบกันบางส่วน เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยก็ต้องแบกรับต้นทุนค่าอาหารแพงมากเพราะวัตถุดิบข้าวโพดน้อยลงเพราะแล้งหรือถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนอย่างไบโอดีเซล ขณะที่เกษตรกรกลุ่มลูกเล้าก็ถูกควบคุมราคาโดยกลับไปใช้การชั่งน้ำหนักไข่ และนำน้ำหนักเฉลี่ยมาคิดราคาต่อฟอง ถูกเอาเปรียบจากการชั่งที่โรงคัดไข่แทนการซื้อขายที่หน้าฟาร์ม
กำลังโหลดความคิดเห็น