xs
xsm
sm
md
lg

เจาะเบื้องหลังไข่แพง คนกินแย่-ผู้เลี้ยงทรุด ทุนยักษ์รับเต็มๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ “เบื้องหลังไข่แพง” ตอนที่ 1

ASTVผู้จัดการรายวัน-ค้นหาเบื้องหลังไข่ไก่แพง พบทุนยักษ์ยิ้มกริ่มรับผลประโยชน์เต็มๆ อนาถใจคนกินไข่-ผู้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุดรันทด ฟาร์ม“ลูกเล้า” ถูกบีบหน้าเขียวด้วยเงื่อนไขใหม่เอาเปรียบเหลือรับ บังคับให้ชั่งกิโลฯสารพัดวิธีกดราคา-ลดน้ำหนัก สุดท้ายกินสองเด้งรับซื้อต่ำขายต่อแพง

จากกรณีไข่ไก่ปรับราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อยู่ในขณะนี้และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ซึ่งเบื้องต้นเหตุผลของการปรับตัวสูงถูกอ้างว่ามาจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดไก่ออกไข่ได้น้อย ปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ต้องไม่ลืมว่า นับแต่ไข้หวัดนกระบาด การเลี้ยงไก่ของไทยก็เปลี่ยนแปลงไป ระบบฟาร์มปิดหรือการควบคุมอุณหภูมิ การป้องกันโรคถูกนำมาใช้ เรื่องอากาศแทบจะมีผลน้อยมาก ตลอดจนร้อยละ 90 ของผลผลิตไข่ไก่มาจากการเลี้ยงแบบคอนแทรค ฟาร์มมิ่ง (Contact Framing) เทคนิคและการเลื้ยงเพื่อให้ไก่ออกไข่จึงพัฒนาขึ้นมาก ถ้าเช่นนั้น ปมของไข่ที่แพงขึ้นอยู่ตรงไหน ใครที่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่?

“ASTVผู้จัดการรายวัน” ได้พูดคุยกับเจ้าของฟาร์มไก่ไข่แห่งหนึ่ง(ขอสงวนนาม)ซึ่งทำสัญญานร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่กับบริษัทผู้ดำเนินธุรกิจการเกษตรรายใหญ่แห่งหนึ่ง หรือที่เรียกว่า คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contact Framing) หรือ “ลูกเล้า” ถึงภาวะการณ์ที่เกิดขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมไข่ไก่ที่จะให้ภาพต้นทางได้ดีที่สุด

สำหรับ เจ้าของฟาร์มแห่งนี้เดิมเป็นคนทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ จบการศึกษาระดับปริญญาโท เมื่อ 8 ปีก่อนตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อกลับไปบ้านเกิดโดยตั้งใจจะทำธุรกิจเล็กๆที่สามารถเลี้ยงตัวและครอบครัวได้บนพื้นที่ดินของแม่ที่มอบให้ หลังจากศึกษาข้อมูลรอบคอบแล้วจึงตัดสินใจเข้าสมัครเป็นลูกเล้าของนายทุนด้านการเกษตรยักษ์ใหญ่ด้วยความหวังว่า ธุรกิจฟาร์มไก่ไข่จะเป็นรากฐานของชีวิตได้ แต่ ณ วันนี้เธอเริ่มไม่มั่นใจเสียแล้ว

ไข่แพงแต่ลูกเล้าขมขื่น
ราคาไข่ไก่ที่ถีบตัวสูงถึงฟองละ 3.80-4.50 บาทในท้องตลาดเวลานี้ หากมองอย่างผิวเผินในสายตาคนทั่วไปอาจมองว่า คนที่ได้ประโยชน์คือ นายทุน พ่อค้า-แม่ค้า ตลอดจนเกษตรกรผู้เลี้ยง แต่ในความเป็นจริงหากพิจารณาภาพรวมของระบบการเลี้ยงไข่ไก่ทั้งหมดในปัจจุบัน เกษตรกรผู้เลี้ยงตกที่นั่งเดียวกับผู้บริโภค ขณะที่อาจจะหนักกว่าผู้บริโภคด้วยซ้ำตรงที่ผลตอบแทนจากการลงทุนแทบไม่ได้อะไรจากภาวะไข่ที่แพงขึ้น

ยิ่งเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงแบบลูกเล้าจะทราบกันดีว่า มีแต่บริษัทเอกชนคู่สัญญาเท่านั้นที่ตักตวงผลประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่ว่าราคาตลาดจะปรับตัวขึ้นไปสูงเท่าใด

เนื่องเพราะ เงื่อนไขสำคัญในการทำคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming)นั้นในสัญญาที่ว่า จะซื้อผลผลิตคืนจากอีกฝ่ายในราคาที่ตกลงกันตั้งแต่ต้นหรือเรียกว่า "ราคาประกัน" ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อครบกำหนดสัญญานั้น เปิดทางให้นายทุนเอารัดเอาเปรียบลูกเล้าในทุกขั้นตอน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ราคาไข่ 4.50 บาทหรืออาจจะแพงกว่านี้ขึ้นไปตามแน้วโน้มของตลาดได้อีกแต่ตามสัญญาราคาประกันเกษตรกรของปีนี้จะได้รับเฉลี่ยเพียง 2.45บาทต่อฟองซึ่งใน 2.45บาทคู่สัญญาคิดคำนวณให้โดยมาต้นทุนอาหารและพันธุ์สัตว์โดยไม่นำต้นทุนอื่นๆมารวมได้เช่น ค่าน้ำมัน ค่าแรงงาน ค่าขนส่ง ค่าดูแลและปรับปรุงโรงเลี้ยง หรือ ค่าความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะโรค การสูญเสียอย่างอื่น

นอกจากนี้ การลงทุนทำธุรกิจฟาร์มไก่ไข่ซึ่งต้องใช้เงินทุนสูง ค่าก่อสร้างและอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในฟาร์มนับเป็นต้นทุนที่ต้องแบกรับเข้ามาด้วย

สำหรับฟาร์มของแหล่งข่าวรายนี้มีขนาดกลาง คือ สามารถเลี้ยงได้ 10,000 ตัวต่อโรงเรือนต่อรุ่น รุ่นหนึ่งใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงทั้งสิ้น 13 เดือนตามสัญญา

หนึ่งโรงเรือนในระบบฟาร์มสมัยใหม่ที่ต้องป้องกันภาวะโรคระบาด เช่น ไข้หวัดนก ที่สร้างความเสียหายอย่างหนักเมื่อหลายปีก่อนจึงใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 3-5 ล้านบาทขึ้นอยู่กับวัสดุและอุปกรณ์การเลี้ยง(ดูอินโฟกราฟฟิคประกอบ)

ขณะที่ต้นทุนสำคัญที่จะแปรผันต่อรายได้ของเกษตรจะมากหรือน้อย ได้แก่ ค่าอาหาร และ ค่าพันธุ์สัตว์ นั้นนายทุนคู่สัญญาได้ประกาศเปลี่ยนแปลงปรับราคาขึ้นทุกปี

ทั้งนี้ประมาณการรายได้เกษตกรตั้งแต่รับไก่มาเลี้ยงจนปลดระวางไก่ 13 เดือนงวดปี2556นั้น บริษัทประกาศรับซื้อไข่ดี 2.45 บาท รับซื้อไก่ปลดระวาง 27 บาทต่อกิโลกรัม จากราคาต้นทุนที่รับไก่รุ่นมาตัวละ 130 บาท (ขนาดน้ำหนัก1.3-1.6กิโลกรัม) ขณะที่ราคาอาหารสัตว์ที่บริษัทขายให้กระสอบ(50กก.) 685 บาท

รายรับที่เกษตรกรจะได้รับมาจาก 2 ทาง คือ การขายไข่ ไก่ 1 ตัวให้ผลผลิตราว 344 ฟองต่อปี คิดเป็นเงิน 844 บาท รวมขายไก่ปลดซึ่งน้ำหนักตัวจะไม่เกิน 2กิโลกรัมประมาณ 50 บาท รวมรายรับแล้วประมาณ 894 บาทต่อตัว

รายจ่ายแน่นอนไก่ 1 ตัวต้องจ่ายค่าพันธุ์สัตว์อยู่ที่ 130 บาทดังกล่าว ค่าอาหารเฉลี่ย 654 บาท ค่ายาสัตว์อีกประมาณ 3.44 บาท รวมรายจ่าย 788 บาท

ดังนั้น ส่วนต่างระหว่างรายรับกับรายจ่ายเมื่อเลี้ยงครบกำหนดจนปลดเล้าเหลือให้เกษตรกรยังชีพอยู่ที่ 106 บาทต่อตัวต่อรุ่น ซึ่งยังไม่นับรวม ค่าใช้จ่ายอืนๆที่กล่าวมาแล้ว
นอกจากนี้ เมื่อปลดเล้า เกษตรกรจะต้องถูกหักเป็นเงินประกันเพื่อเลี้ยงไก่รุ่นต่อไปอีกจำนวนหนึ่งด้วยจึงไม่อาจรับเงินเต็มจำนวนที่ 106 บาทต่อตัวดังกล่าว

“รวมแล้ววันนี้เราต้องเข้าเนื้อติดลบวันละหลายพันบาท ฟาร์มยิ่งเล็กยิ่งเจ๊ง ซ้ำร้ายกว่านั้นด้วยเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงใหม่ในปีนี้ทำให้ลูกเล้าเสียเปรียบมาก โอกาสในการปลดหนี้เมื่อปลดเล้าแล้วแทบไม่มี เหมือนเราเป็นแค่คนเลี้ยงให้เขาอย่างเดียวไม่ใช่ทำธุรกิจร่วมกัน เราออกเงินออกแรงแล้วไม่ได้อะไร ขมขื่นและกล้ำกลืนมาก” แหล่งข่าวกล่าว

ชั่งกิโลเงื่อนไขเปิดช่องกดราคาไข่
ทั้งนี้ เงื่อนไขในสัญญาล่าสุดที่บริษัทเอกชนรายนี้ให้ลูกเล้าปฎิบัติตามสำหรับการเลี้ยงไข่ไก่ในรุ่นปี2556นี้ คือ การเปลี่ยนแปลงการรับซื้อคืนจากการประกันราคาเป็นฟองมาเป็นระบบ “ชั่งกิโล” หรือจ่ายผลตอบแทนไข่ตามน้ำหนักหาค่าเฉลี่ยน้ำหนักต่อฟอง เพื่อเทียบราคาต่อฟองแต่ถ้าน้ำหนักไม่ถึงรายได้ก็ไม่ได้ตามที่ประกาศ 2.45 บาทต่อฟอง

กล่าวคือ เมื่อเกษตรกรเลี้ยงไข่ได้ผลผลิตมาแทนที่จะคัดฟองตามขนาดของไข่เหมือนที่นำมาขายในท้องตลาดเหมือนปีที่ผ่านๆมา กระทั่งการรับซื้อและจ่ายผลตอบแทนที่หน้าฟาร์ม ตามเงื่อนไขใหม่ที่บังคับใช้ไข่ทุก ขนาดจะถูกนำมาคละกันแล้วนำไปชั่งน้ำหนักค่อยจ่ายผลตอบแทนให้ โดยเฉลี่ยคนเลี้ยงจะได้รับราว 2.20 บาทต่อฟองเท่านั้น ซึ่งต้นทุน ณ ขณะนี้อาจจะอยู่สูงถึงฟองละ 2.75 บาท

หลังจากที่ลงทุนทำธุรกิจเลี้ยงไก่ไข่มาทั้งหมด 7 ปีแล้ว เจ้าของฟาร์มรายนี้บอกว่า ปีนี้เป็นปีที่ลำบากที่สุด ภายใต้เงื่อนไขใหม่ยิ่งทำลายความเชื่อมั่นที่ลูกเล้ามีต่อนายทุนรายนี้

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในหมู่เกษตรกรเริ่มทนไม่ไหวกับเงื่อนไขนี้ ก่อนที่จะมีกระแสข่าวเรื่องไข่แพงเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ เกษตรกรได้ทำหนังสือถึง ผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่รายนี้ เพื่อเสนอปัญหาและเรียกร้องให้ทบทวนเงื่อนไขการชั่งกิโลใหม่ เพราะ พบปัญหามากมาย

เริ่มจากในการรับซื้อ ตั้งแต่บริษัทจะมารับไข่ที่ฟาร์มโดยเกษตรกรไม่มีทางจะรู้ว่าผลผลิตของตนเองจะเป็นอย่างไร น้ำหนักเท่าไหร่ และ ผลตอบแทนจะได้เท่าไหร่ เนื่องจากจะนำไปชั่งอีกแห่งหนึ่ง แทนการรับซื้อหน้าฟาร์มตามธรรมเนียบปฎิบัติที่ผ่านมา

“น้ำหนักไข่ชั่งหน้าฟาร์มจะเป็นน้ำหนักที่แท้จริง และ จะมากว่าที่ที่บริษัทจะเอาไปชั่ง เพราะชั่งทันทีที่เก็บเสร็จ เมื่อเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนจะต่างกัน อีกทั้งเครื่องชั่งใหญ่ 500 kg มีความคลาดเคลื่อนมากว่าเครื่องชั่งเล็กละเอียดกว่า”

ระหว่างนั้น ขั้นตอนการชั่งน้ำหนักไข่ก็จะเกิดข้อผิดพลาดได้ ทั้งจาก พนักงานชั่งไข่ใส่ข้อมูลน้ำหนักถาดเปล่าแต่ละเล้าผิด ซึ่งสุดท้ายน้ำหนักไข่สุทธิจะผิดด้วย

เครื่องชั่งที่เปลี่ยนใหม่เป็นแบบดิจิตอล การใส่รหัสผิดทำให้การบันทึกน้ำหนักพานผิดไปด้วย ขณะที่ทำการชั่งพนักงานยกไข่เล้าอื่นมาปน เพราะ ถาดเหมือนกัน และขนส่งรวมกัน ถึงแม้นจะแยกสีถาดแล้วก็ตาม ที่จุดการชั่งของบริษัทเมื่อคัดไข่แล้วก็จะผสมถาดสีอื่นปนกลับไป บางครั้งมีถาดสีข้ามจังหวัด เพราะถาดไม่พอ ส่งไข่ข้ามจังหวัด ทำให้น้ำหนักคลาดเคลื่อน

กรณีเป็นไข่เล็กกว่ามาปนไข่ใหญ่ น้ำหนักเฉลี่ยจะดึงน้ำหนักไข่ใหญ่ให้ลดลงมาตกอัตราตอบแทนที่ต่ำกว่า

“ใบชั่งน้ำหนักจากโรงคัดที่ส่งกลับให้เกษตรกรล่าช้าบางครั้ง 2-3 วันนับจากส่งไข่ และไม่มีรายละเอียดของราคาผลตอบแทนที่ได้ในวันนั้นๆทำให้เกษตรกรไม่ทราบว่าขายไข่ได้เท่าไรในแต่ละวัน ถูกหักค่าไข่เปื้อนเพิ่มเติมอีกเท่าไร กว่าจะทราบผลตอบแทนต้องรอจนครบหนึ่งเดือนจากใบสรุปประสิทธิภาพและผลตอบแทน ซึ่งเกษตรกรไม่สามารถตรวจสอบอะไรได้เลย” แหล่งข่าวระบุ

สรุปแล้วเงื่อนไขเปลี่ยนจากซื้อหน้าฟาร์มเป็นนำไปชั่งน้ำหนักในสถานที่ที่บริษัทของนายทุนกำหนดเอง ลูกเล้าไม่มีโอกาสทราบข้อมูล ถูกกดน้ำหนัก เพื่อนำไปสู่การจ่ายค่าตอบแทนให้ต่ำกว่าความเป็นจริงก่อนจะนำออกจำหน่ายต่อในราคาสูงนั่นเอง
เทคนิคเพื่อกดราคารับซื้อ
เจ้าของฟาร์มเล่าต่อว่า บางรายประสบปัญหาถูกกดราคาอย่างชนิดที่แทบร้องไห้ จากราคาที่รับซื้อควรจะได้ฟองละ 2 .45หรือมากกว่านั้นกลับถูกหักไข่เปื้อนเหลือฟองละ 1.90บาทหรือต่ำกว่านี้

ทั้งนี้ บริษัทไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าไข่เปื้อนระดับไหน มาก/น้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับสายตาคนคัดไข่ซึ่งอาจคาดเคลื่อนได้ หรือ เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่จะกดราคาการรับซื้อให้ต่ำลง

“จริงๆไข่เปื้อนก็อาจจะไม่ได้มากอย่างที่บริษัทแจ้งมา สามารถเช็ดออกแล้วนำไปขายในราคาแพงอย่างที่เราเจออยู่ตอนนี้ได้เลย แต่บริษัทกลับหักจนเกษตรกรได้แค่ฟองละ 1 .90บาท 10,000 ฟอง 100,000ฟองไม่รู้เงินจะหายไปเท่าไหร่ แล้วบริษัทจะได้กำไรเท่าไหร่ถ้าเอาไปล้างแล้วขายออกไป”

ผลของการถูกเอารัดเอาเปรียบเรื่องน้ำหนักไข่ไม่เพียงเปิดช่องให้นายทุนสามารถทำกำไรได้หลายต่อจากการจำหน่ายไข่ เกษตรกรที่รับผลตอบแทนจากการชั่งน้ำหนักที่ได้น้อยมากนี้ทำให้ปลดหนี้ได้ช้ากว่าเดิม

จากประสบการเลี้ยงไก่ไข่มา 7 ปี 7 รุ่น ด้วยความรู้และจัดเก็บข้อมูลลงบนคอมพิวเตอร์อย่างเป็นระบบของเจ้าของฟาร์ม พบว่า เกษตรกรควรปลดหนี้ได้จากผลผลิตไข่ที่ส่งระหว่างการเลี้ยง ไม่ใช้ต้องรอปลดไก่จึงจะปลดหนี้ได้

นอกจากนั้นเงินจากการปลดไก่ยังจะถูกหักเป็นเงินประกันอีกทำให้เกษตรกรไม่มีรายได้เหลือตลอดการเลี้ยงเลย

“คุณมีเงินหลายแสนล้านสามารถทุ่มซื้อห้างค้าส่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางกระจายสินค้าได้มีโอกาสรับเงินสดๆอีกมาก ขยายตลาดไปอาเซียน แต่ต้องไม่ลืมว่า ลูกเล้าก็คือคนที่เป็นฐานให้คุณสร้างเม็ดเงินให้คุณเอาไปซื้อห้าง เขาทั้งซื่อสัตย์เหมือนทาส เลี้ยงไก่ให้คุณเอาไข่ไปขายทำกำไรงามๆ แต่วันนี้คุณไม่เหลียวแลรีดเลือดจากปูจากลูกเล้าและเอากำไรจากคนบริโภคไข่ มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้า” แหล่งข่าวกล่าว.

….....................

โปรดติดตามต่อตอนที่สอง …. “อีกไม่นานไข่ไก่จะฟองละ 10 บาท!” วันพรุ่งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น