xs
xsm
sm
md
lg

“วิทยุหลวงตามหาบัว” ยื่นศาลปกครองอุดรฯ ยกเลิกประกาศ กสทช.บีบกำลังส่งไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร่างคำฟ้องมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ ต่อศาลปกครองอุดรธานี
“มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ” ยื่นฟ้องศาลอุดรธานี ให้ยกเลิกประกาศ กสทช. หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ปรับลดกำลังส่งและรัศมีการรับฟัง หนำซ้ำสั่งจับกุมคลื่นธรรมะไม่แสวงหากำไร 126 สถานี ชี้สูญเสียการรับฟังถูกบีบให้ลดกำลังส่ง กีดกันการเผยแพร่ธรรมะ สวนทางส่งเสริมคลื่นบันเทิงฟุ้งเฟ้อ ด้านทนายความเผยศาลรับฟ้องแล้ว แฉ กสทช.เคยเรียกพระร้องขอไม่ให้ฟ้อง อ้างจะยอมลืมตาข้างหนึ่ง

วันนี้ (12 ธ.ค.) มีรายงานว่า มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เตรียมยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ต่อศาลปกครองอุดรธานี เพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. 2555 ลงวันที่ 19 กันยายน 2555 เนื่องจากมีเนื้อหาลิดรอนสิทธิการประกอบการและการรับฟังวิทยุกระจายเสียง สืบเนื่องจากประกาศ กสทช. ฉบับดังกล่าวได้กำหนดลักษณะทางเทคนิคของสถานีวิทยุกระจายเสียง โดยกำลังคลื่นพาห์ (Carrier Power) ของเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงตามที่ผู้ผลิตประกาศ ต้องมีค่าไม่เกิน 500 วัตต์ ความสูงของสายอากาศไม่เกิน 60 เมตร โดยวัดจากจุดสูงสุดของสายอากาศถึงระดับพื้นดินที่ใช้ติดตั้งสายอากาศนั้น พื้นที่การกระจายเสียงมีรัศมีไม่เกิน 20 กิโลเมตร ความแรงของสัญญาณ (Field Strength) วัดที่ระยะทาง 20 กิโลเมตรจากจุดที่ตั้งสายอากาศมีค่าไม่เกิน 54 dBuV/m โดยวิธีการคำนวณค่าความแรงของสัญญาณให้เป็นไปตาม ITU-R Recommendation P.1546

การกำหนดลักษณะทางเทคนิคดังกล่าว ทำให้มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ ได้รับความเสียหาย เนื่องจากสถานีวิทยุเสียงธรรมและเครือข่าย ที่ได้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงที่มีกำลังคลื่นพาห์ของเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง กำลังส่งออกอากาศ ความสูงของสายอากาศ และรัศมีการกระจายเสียงเกินลักษณะทางเทคนิคของสถานีวิทยุกระจายเสียงตามประกาศของ กสทช. อยู่หลายสถานี การออกประกาศดังกล่าวทำให้พื้นที่กระจายเสียงของสถานีแม่ข่ายและลูกข่ายต้องลดลงไปมาก สำหรับสถานีขนาดใหญ่ สูญเสียพื้นที่การรับฟังในกรุงเทพฯ มากกว่าร้อยละ 90 และสถานีขนาดกลางสูญเสียพื้นที่การรับฟังมากกว่าร้อยละ 70 จึงเป็นการปิดกั้นเสรีภาพของสถานีวิทยุเสียงธรรมและเครือข่ายของมูลนิธิฯ และประชาชนในการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาอย่างไม่เป็นธรรม ตามที่รัฐธรรมนูญปี 2550 รับรองสิทธิไว้ตามมาตรา 47

นอกจากนี้ ประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหาย เนื่องจาก กสท. ออกประกาศในนามของ กสทช. โดยพละการ ซึ่งนอกเหนืออำนาจหน้าที่ เพราะ กสท. มีอำนาจพิจารณาอนุญาตและกำกับการใช้คลื่นความถี่และเครื่องวิทยุคมนาคม และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาต เงื่อนไข หรือค่าธรรมเนียมการอนุญาตเท่านั้น ขณะเดียวกันยังเป็นการจงใจในการเลือกปฏิบัติระหว่างผู้ประกอบการรายเดิมกับรายใหม่ เนื่องจากใช้หลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน รวมทั้งสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้แก่ประชาชนเกินสมควร ซึ่งเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกด้วย แสดงให้เห็นว่า การบริหารคลื่นความถี่ของ กสทช. ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่เอาเนื้อหาสาระที่แต่ละสถานีวิทยุดำเนินการมาประกอบการพิจารณาในการออกข้อกำหนดหรือประกาศฯ เนื่องจากสถานีวิทยุส่วนมากทั้งผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่มีผู้ประกอบการจำนวนร้อยละ 95 มีเนื้อหาเน้นการบันเทิงฟุ้งเฟ้อไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ

อาจกล่าวได้ว่า กสทช.จงใจลิดรอนสิทธิที่ประชาชนควรได้ทั้งที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองเป็นกรณีพิเศษเพื่อประชาชนจะได้รับฟังสื่อที่มีประโยชน์ โดยออกประกาศบังคับให้สถานภาพที่ด้อยลง แต่กลับจงใจเอื้อประโยชน์แก่สื่อเพื่อการบันเทิงให้มีมาตรฐานทางเทคนิคและสูงกว่า ได้เปรียบกว่า มีพื้นที่กระจายเสียงที่กว้างกว่า ซึ่งทำให้มีประชาชนรับฟังสื่อบันเทิงได้มากกว่าสื่อที่เป็นประโยชน์ ทั้งนี้ มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ โต้แย้งประกาศและคำสั่งของ กสทช. และ กสท. ได้มาโดยตลอด แต่ทั้งสองหน่วยงานมิได้รับฟังเหตุผล และมีคำสั่งให้จับกุมดำเนินคดีกับมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ และสถานีวิทยุกระจายเสียงมูลนิธิฯ และลูกข่ายทั้งประเทศอีก 126 สถานี เป็นการกีดกันมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ ให้เผยแพร่พุทธศาสนาไปยังลูกข่ายด้วยแรงศรัทธาของประชาชที่อุทิศเครื่องรับส่งให้กับวัดป่าบ้านตาด เพื่อประโยชน์ของมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ ในการเผยแพร่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ประชาชนมีจิตสำนึกในการสร้างแต่คุณงามความดี

สำหรับมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ มีพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) เป็นประธานมูลนิธิ ต่อมาหลวงตามหาบัวได้มรณภาพ มูลนิธิฯ จึงได้แต่งตั้งให้หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณเป็นประธาน โดยระหว่างปี 2545-2547 ประชาชนที่เป็นพุทธศาสนิกชนและพระสงฆ์ได้ร่วมกันก่อตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงที่วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมืองฯ จ.อุดรธานี, จ.หนองบัวลำภู รวมทั้งที่สวนแสงธรรม ถนนพุทธมณฑลสาย 3 เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ นอกจากนี้พุทธศาสนิกชนและพระสงฆ์ในจังหวัดต่างๆ ได้ร่วมกันก่อตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้นอีกหลายแห่ง โดยใช้สถานีวิทยุกระจายเสียงวัดป่าบ้านตาดเป็นสถานีวิทยุแม่ข่ายส่งกระจายสัญญาณไปทั่วประเทศ รวม 126 สถานี โดยทุกสถานีที่เป็นลูกข่ายได้ทำหนังสืออุทิศยกทรัพย์สินให้เป็นสมบัติของวัดป่าบ้านตาดเพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา สำหรับเนื้อหารายการเน้นการออกอากาศรายการเผยแผ่ธรรมะคำสั่งสอนตามหลักธรรมขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการธำรงส่งเสริมรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์โดยมิได้แสวงหาผลกำไร

ด้านนายสุกิจ พูนศรีเกษม ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ ให้สัมภาษณ์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ระบุว่า ตนได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ต่อศาลปกครองอุดรธานี เพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. 2555 ลงวันที่ 19 กันยายน 2555 แล้ว โดยศาลได้รับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว ตามคดีหมายเลขดำที่ 271/2555 โดยประเด็นในการฟ้องครั้งนี้คือประกาศฉบับดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 47 ซึ่งบัญญัติว่าให้ประชาชนมีเสรีภาพในการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งในกรณีของสถานีวิทยุหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน กสท. ก็อนุญาตทดลองออกอากาศมาแล้วถึง 4 ครั้ง โดยครั้งแรกได้มาตรวจเสาอากาศสูง 120 เมตร และกำลังส่ง 500 วัตต์ ซึ่งทาง กสท.เห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ทั้งนี้ ในปี 2545-2547 ยังไม่มีกฎหมาย อีกทั้งในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นกล่าวว่า ให้เปิดเสรีวิทยุชุมชนเลย ภายหลังเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2551 ได้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ปี 2551 แต่ก็ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.คลื่นความถี่ ปี 2543 ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับอำนาจของ กสทช. แต่เป็นอำนาจของ กสท. ซึ่งได้จำกัดวิทยุชุมชนว่าจะต้องมีลักษณะไม่เป็นการรบกวน ซึ่งสถานีวิทยุเสียงธรรมของหลวงตามหาบัวฯ ไม่ได้รบกวนอะไรเลย ก็ให้ใช้กฎหมายปี 2543 ซึ่งเป็นอำนาจของ กสท. แต่เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2555 ที่ผ่านมา คณะกรรมการจัดสรรคลื่นความถี่ได้กำหนดให้มีการลดสเปกวิทยุชุมชนลง และคำว่า “ชุมชน” จะต้องอยู่ภายในชุมชนเท่านั้น ซึ่งคำว่าชุมชนนั้นมีความหมายกว้าง หมายถึงให้ทั่วถึงกัน ซึ่งตีความได้สองนัยยะ แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระบุว่านัยยะไหนที่ไร้ผลก็ไม่ให้ใช้ ให้ใช้นัยยะที่ดีกว่า เพราะฉะนั้นจึงเป็นการลิดรอนสิทธิ

อย่างไรก็ตาม กสท.ก็ออกประกาศในนามของ กสทช. ให้ลดสเปกวิทยุชุมชนลงมา ซึ่งในกฎหมายรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.คลื่นความถี่ ปี 2543 ไม่ได้กำหนดหรือจำกัดความว่าจะต้องใช้เสาอากาศขนาดไหน ซึ่งการที่ กสท. ออกประกาศในนาม กสทช. นั้นถือว่าทำไม่ได้ และ กสท.ไม่มีอำนาจเพราะการประกาศแทนต้องมีหนังสือมอบอำนาจจาก กสทช. และ กสทช. มีหน้าที่กำกับการดูแลเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ไปออกกฎ ซึ่งหน้าที่ออกกฎเป็นหน้าที่ของ กสช.ซึ่งเป็นไปโดยกฎหมาย แต่กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ซึ่งการดำเนินการของสถานีวิทยุหลวงตามหาบัวฯ นั้นยังไม่มี กสทช. จึงเห็นว่าประกาศ กสทช.ดังกล่าวจึงไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย โดยจะส่งเรื่องไปยัง กสทช. และ กสท. ซึ่งหากยอมรับตามคำฟ้องก็ตัดสินได้เลยไม่ต้องสืบพยาน โดยคำว่าชุมชนในความหมายของมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ หมายถึงภาคประชาชน ไม่มีโฆษณาและไม่ได้แสวงหาผลกำไร จึงเห็นว่าน่าจะต้องเพิกถอนเพราะตามกฎหมาย กสทช. ไม่มีอำนาจ แต่ก็แล้วแต่ทาง กสทช. ว่าจะพลิกแพลงอย่างไร

นายสุกิจยังกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ กสทช. ได้เรียกพระจากมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ มาพูดคุยและร้องขอว่าไม่ให้ฟ้อง โดยอ้างว่าจะยอมลืมตาไว้ข้างหนึ่ง ตนจึงเห็นว่าทำไมไม่อนุญาตไปเลย ถ้าเกิดว่าลืมตาขึ้นมาแล้วพระเป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อเห็นเช่นนั้น กสทช. ก็น่าจะรู้แล้วว่าได้ออกประกาศโดยมิชอบ.

















กำลังโหลดความคิดเห็น