xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 1-8 ก.ค.2555

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ลงจากชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ รพ.ศิริราช(7 ก.ค.)
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“ในหลวง” เสด็จฯ ทางชลมารคทรงเปิด 5 โครงการชลประทาน ด้าน ปชช.รับเสด็จเนืองแน่นสองฝั่งเจ้าพระยา!

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. เวลาประมาณ 16.30น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จลงจากที่ประทับชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ไปยังท่าเทียบเรือเพื่อประทับเรืออังสนา ที่กองทัพเรือจัดถวายเป็นเรือพระที่นั่ง เสด็จฯ ไปทรงเปิดโครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 5 โครงการ ที่บริเวณหน้ากรมชลประทาน เขตดุสิต กรุงเทพฯ พร้อมทอดพระเนตรสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ประสบอุทกภัยเมื่อปี 2554

เป็นที่น่าสังเกตว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารเรือ และทรงมีพระพักตร์ผ่องใส ทรงแย้มพระสรวลและโบกพระหัตถ์ให้ประชาชนที่พร้อมใจกันใส่เสื้อสีชมพูมารอรับเสด็จอย่างเนืองแน่นตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนถึงบริเวณเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี นอกจากนี้พระองค์ยังทรงยกกล้องขึ้นถ่ายรูปพสกนิกรเป็นระยะๆ ยังความปลาบปลื้มแก่ประชาชนเป็นอันมากที่เห็นพระองค์ทรงมีพระวรกายแข็งแรง โดยประชาชนต่างเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้องตลอดเส้นทางที่พระองค์เสด็จฯ ผ่าน

ทั้งนี้ เมื่อเสด็จฯ ถึงหน้ากรมชลประทานแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลถวายรายงาน จากนั้นมีการแสดงสื่อผสม “น้ำสร้างชีวิต” บนเรืออังสนา กระทั่งเวลา 20.23น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางพระหัตถ์บนแท่นตราสัญลักษณ์โครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก ,โครงการประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต จ.นครพนม ,โครงการประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ จ.นครศรีธรรมราช ,โครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ จ.กาฬสินธุ์ และโครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก

หลังจากทรงเปิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 5 โครงการแล้ว พระองค์ได้ทอดพระเนตรวีดิทัศน์บรรยากาศสดจากทั้ง 5 จังหวัดที่ร่วมกันแปรอักษรคำว่า “ทรงพระเจริญ” เมื่อการแสดงจบลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ กลับโรงพยาบาลศิริราชในเวลาประมาณ 20.30น.

2.ศาล รธน.ไต่สวนกรณีแก้ รธน.มาตรา 291 แล้ว นัดวินิจฉัย 13 ก.ค.นี้ ขณะที่ “เฉลิม-เสื้อแดง” ขู่ ตัดสินไม่เข้าทาง มีม็อบใหญ่!
นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอถอนตัวจากองค์คณะ ทำให้องค์คณะที่จะพิจารณาคดีนี้เหลือ 8 คน
เมื่อวันที่ 5-6 ก.ค. ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดไต่สวนกรณีที่ศาลฯ รับวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ของรัฐบาลซึ่งเป็นการแก้ไขทั้งฉบับ เท่ากับเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น เป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยวันแรก(5 ก.ค.) เป็นการไต่สวนฝ่ายผู้ร้องก่อนจำนวน 7 ปาก แบ่งเป็นผู้ร้อง 5 คน ประกอบด้วย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ,นายวันธงชัย ชำนาญกิจ ,นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ,นายวรินทร์ เทียมจรัส อดีต ส.ว.สรรหา ,นายบวร ยสินทร และพยานฝ่ายผู้ร้องอีก 2 คน คือ นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ส.ว.สรรหา

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นการพิจารณาในการไต่สวนไว้ 4 ประเด็น คือ 1.อำนาจในการฟ้องร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ 3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ และ 4.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสามและวรรคท้าย อันเป็นเหตุให้พรรคการเมืองถูกยุบพรรคหรือไม่

สำหรับการไต่สวนวันแรกกินเวลากว่า 7 ชั่วโมง โดยผู้ร้องและพยานต่างยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 ของรัฐบาลที่ดำเนินมาจนถึงวาระ 3 แล้วนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 โดยนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 แก้ไขได้เพียงบางมาตรา ไม่สามารถแก้ไขทั้งฉบับอย่างที่รัฐบาลดำเนินการอยู่

ขณะที่นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ยืนยันเช่นกันว่า มาตรา 291 ไม่อนุญาตให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หากจะแก้ไข ต้องลงประชามติก่อนว่า จะให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวของประเทศที่ผ่านการลงประชามติ และถือเป็นสัญลักษณ์ของกระบวนการใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงของประชาชนเป็นครั้งแรก “ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนี้ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์และขัดกับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เขียนในวรรคสองของมาตรา 291 ขัดที่ให้อำนาจ ส.ส.และ ส.ว.ใช้ดุลพินิจทำลายล้างสิ่งที่ประชาชนเจ้าของอำนาจได้ลงประชามติ”

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการไต่สวนวันแรก นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แจ้งให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องทราบว่า มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขอถอนตัวจากองค์คณะ 1 คน คือ นายจรัญ ภักดีธนากุล เหตุที่ขอถอนตัวเนื่องจากไม่สบายใจหลังถูกนายชูศักดิ์ ศิรินิล ผู้แทนผู้ถูกร้องของพรรคเพื่อไทย พาดพิงระหว่างซักค้าน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ว่า นายจรัญเคยระบุเมื่อครั้งเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า ให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนจะได้หลุดพ้นจาก คมช.และการรัฐประหาร พร้อมบอกด้วยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ไม่ยาก แก้ไขแค่มาตราเดียว

ซึ่งนายจรัญได้ชี้แจงกลางห้องพิจารณาคดีว่า “ผมพูดตอนนั้นว่าถ้าไม่ได้รัฐธรรมนูญ 2550 เราจะไม่พ้นจากระบอบปฏิวัติรัฐประหาร ดังนั้น น่าจะต้องรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไปก่อน แล้วถ้าเห็นว่าไม่เหมาะสมก็แก้ไขเพิ่มเติมได้ แต่ไม่ได้บอกว่าแก้มาตราเดียวแบบยกเลิกทั้งฉบับ” ทั้งนี้ การที่นายจรัญชี้แจงดังกล่าว ทำให้ตัวเองรู้สึกไม่สบายใจ เพราะหากตัดสินคดีต่อไป อาจทำให้สาธารณชนรู้ความเห็นของนายจรัญล่วงหน้าได้ จึงขอถอนตัว ซึ่งองค์คณะพิจารณาแล้วอนุญาต จึงเหลือองค์คณะเพียง 8 คนที่จะวินิจฉัยคดีนี้ โดยในการพิจารณาคดีจะต้องมีองค์คณะไม่น้อยกว่า 5 คน

สำหรับการไต่สวนวันที่สอง(6 ก.ค.) เป็นการไต่สวนผู้ถูกร้องจำนวน 8 ปาก ประกอบด้วย นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา ,นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ,นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ,นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ,นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา ,นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ,นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะผู้แทนนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ครม.มอบหมายให้มาชี้แจง

ทั้งนี้ ก่อนที่การไต่สวนจะเริ่มขึ้น นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แจ้งให้คู่กรณีทราบว่ามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขอถอนตัวจากองค์คณะอีก 3 คน คือ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ,นายนุรักษ์ มาประณีต และตน โดยนายสุพจน์และนายนุรักษ์ขอถอนตัวเนื่องจากเคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ที่ประชุมไม่อนุญาต เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะอนุญาตได้ เนื่องจากได้รับการยกเว้นไปแล้วตามข้อกำหนด ส่วนตนขอถอนตัวเนื่องจากถูกเผยแพร่คลิปในเว็บไซต์ยูทูบว่าเคยพูดอย่างนั้นอย่างนี้เมื่อปีก่อน จึงเกรงว่าจะใกล้เคียงกับกรณีนายจรัญที่ขอถอนตัวไปก่อนหน้า แต่ที่ประชุมไม่อนุญาตให้ตนถอนตัว เพราะเห็นว่าไม่ใกล้เคียงกรณีนายจรัญ

สำหรับประเด็นที่ผู้ถูกร้องให้การต่อศาลฯ นั้น ต่างยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่ได้ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย พร้อมชี้ว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มีปัญหา เพราะขาดความเป็นประชาธิปไตย ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ก็ยืนยันว่า ตนไม่เคยคิดล้มล้างการปกครอง พร้อมย้ำว่า หลัง ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ตนจะตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลางจริงๆ มาช่วยวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญไปแก้ไขเรื่องการปกครองและรูปแบบของรัฐหรือไม่

ด้านนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ซักถามนายสมศักดิ์กรณีที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจมีการลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งนายสมศักดิ์ ตอบไม่เคลียร์ โดยนายวสันต์ ถามว่า พระราชอำนาจไม่ได้มีเฉพาะในหมวด 2 แต่มีกระจายอยู่ทั่วรัฐธรรมนูญ เช่น พระราชอำนาจยับยั้งร่างกฎหมาย พระราชอำนาจโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ถ้ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงพระราชอำนาจจะถือว่าเป็นหมวดพระมหากษัตริย์หรือไม่ ซึ่งนายสมศักดิ์ ตอบว่า ความเห็นตน หลักการปกครองประชาธิปไตย มีหลักสำคัญ 3 ประการ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ตรงนี้ไม่น่าไปแตะต้อง ส่วนประเด็นอื่นพิจารณาตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ หลังใช้เวลาไต่สวนฝ่ายผู้ถูกร้องนานกว่า 10 ชั่วโมง ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 13 ก.ค.นี้ เวลา 14.00น. พร้อมเปิดโอกาสให้คู่กรณีสามารถยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรได้ภายในวันที่ 11 ก.ค. หากไม่ยื่นจะถือว่าไม่ติดใจ

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังการไต่สวนแล้วเสร็จ พรรคเพื่อไทยและกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้ออกมาส่งสัญญาณเชิงข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยเข้าทางที่ตนต้องการ โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ บอกว่า หากคำวินิจฉัยของศาลทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ยอมรับ จะมีการออกมาเคลื่อนไหวจำนวนมาก แต่จะรุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ พร้อมอ้างว่าตนไม่ได้ขู่ แต่สถานการณ์มันเป็นแบบนั้น

ขณะที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.แถลงว่า การเมืองเวลานี้อยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลม ขอให้คนเสื้อแดงเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา รอการนัดหมายจากแกนนำเพื่อเคลื่อนไหวต่อไป พร้อมประกาศว่า หากฝ่ายอำมาตย์ใช้อำนาจมิชอบ คนเสื้อแดงก็จะไม่ยอมรับ

3.ปชป. แฉคลิปเสียง “ขุนค้อน” กล่อม “ทักษิณ” ถอยแก้ รธน.-พ.ร.บ.ปรองดองฯ ชั่วคราว เพื่อรักษาอำนาจไว้!

พรรคประชาธิปัตย์ นำคลิปเสียงนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ มาเปิดในรายการ สายล่อฟ้า ทางบลูสกายแชนแนล(4 ก.ค.)
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) และนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้จัดรายการ “สายล่อฟ้า” ออกอากาศผ่านทีวีดาวเทียมช่องบลูสกายแชนแนล โดยนำคลิปเสียงนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ที่กล่าวในงานวันเกิดเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ความยาวประมาณ 25 นาทีมาเปิดในรายการ ซึ่งเนื้อหาในคลิปเป็นการเล่าของนายสมศักดิ์เกี่ยวกับเบื้องหลังที่รัฐบาลยอมถอยเรื่องการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 รวมทั้งการชะลอการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งคาดว่านายสมศักดิ์ได้เล่าให้ผู้ใกล้ชิดฟัง

ทั้งนี้ เนื้อหาในคลิปนอกจากสะท้อนชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีบทบาทอย่างมากในพรรคเพื่อไทยและมีบทบาทในการเดินหน้าเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญและการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ แล้ว ยังสะท้อนด้วยว่า นายสมศักดิ์พยายามเดินเกมเพื่อให้รัฐบาลอยู่ในอำนาจได้นานๆ ด้วยการชะลอเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญและเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ไว้ชั่วคราว 3-6 เดือน แล้วค่อยผลักดันเข้าสภาใหม่ “...ผมพูดเป็นหมื่นทีเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ผมก็พูดกับท่านไปหมื่นที ผมบอกว่าทนลำบากมาตั้ง 5 ปี แล้วจะลำบากต่ออีก 3 เดือน 6 เดือน มันจะเป็นอะไร ...เพราะฉะนั้น 1 ส.ค.นี้ ถอน พ.ร.บ.ปรองดองฯ ออกไป แล้วไปประชาเสวนาหาทางออกทุกตารางนิ้วทั่วประเทศไทย แล้วใช้สื่อของรัฐโหมประโคมความจริงวันนี้ แล้วอาศัยประชาชนเป็นกำแพงพิงฮะ... แล้วประชาชนทั้งประเทศจะเป็นเกราะคุ้มกันให้เราได้อย่างดีครับ แล้วถึงเวลานั้น ใช้เวลา 3 เดือน 6 เดือน เอา พ.ร.บ.ปรองดองฯ กลับเข้ามา(ในสภา) ประชาธิปัตย์มึงจะเอายังไง แล้วเสื้อเหลืองมึงจะเอายังไง สรุปแล้วครับ ทนลำบากมา 5 ปีแล้ว ลำบากต่ออีกสัก 6 เดือนจะเป็นอะไรครับ ...หัวใจสำคัญของพรรคเพื่อไทยนาทีนี้ ผมพูดกับผู้บริหารพรรคกับกรรมการยุทธศาสตร์ พูดกับคนทางไกลนับครั้งไม่ถ้วน ผมบอกว่าท่องไว้เป็นคาถาเลย หัวใจสำคัญของพรรคเพื่อไทยคือ การบริหารชัยชนะให้เป็นชัยชนะที่ยั่งยืน รักษาอำนาจรัฐเอาไว้ครับ” นายสมศักดิ์ ยังพูดในคลิปด้วยความภาคภูมิใจในบทบาทของตนที่สามารถโน้มน้าวให้ พ.ต.ท.ทักษิณเห็นคล้อยตามกับเหตุผลที่ควรชะลอเรื่องแก้รัฐธรรมนูญและร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ไว้ชั่วคราวได้

ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงคลิปดังกล่าวว่า เป็นการสารภาพของนายสมศักดิ์ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลไม่เคยก้าวข้ามพ้น พ.ต.ท.ทักษิณ และอยู่ภายใต้การบงการของ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงขอเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับผิดชอบต่อคลิปดังกล่าว และยอมรับความจริงว่าตัวเองเป็นแค่หุ่นเชิดให้พี่ชายและทำงานตามใบสั่งเท่านั้น

นายชวนนท์ ยังบอกด้วยว่า จะปรึกษาฝ่ายกฎหมายว่าจะนำคลิปดังกล่าวไปประกอบการยื่นถอดถอนนายสมศักดิ์ออกจากตำแหน่งประธานรัฐสภาหรือไม่ นอกจากนี้อาจยื่นคลิปดังกล่าวเป็นหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อประกอบการวินิจฉัยคำร้องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองด้วย และอาจยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณาเรื่องจริยธรรมของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งจะพิจารณาด้วยว่าสามารถนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ กรณีพรรคเพื่อไทยถูกบงการโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่ถูกต้องโทษห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ด้านนายสมศักดิ์ ได้ออกมายอมรับว่าเป็นเจ้าของเสียงในคลิปจริง โดยพูดคุยกับญาติพี่น้องเป็นการภายใน นึกไม่ถึงว่าจะหลุดออกมา พร้อมยืนยันว่า เนื้อหาในคลิปไม่มีอะไรน่าเสียหาย เพราะตนมีความบริสุทธิ์ใจ ทำอะไรก็ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก

4.ไฟไหม้โรงกลั่นน้ำมันบางจากกลางกรุง สูญ 100 ล้าน ด้านปลัดอุตสาหกรรม สั่งปิดตรวจสอบ 30 วัน!

เหตุเพลิงไหม้โรงกลั่นน้ำมันบางจาก(4 ก.ค.)
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. เวลาประมาณ 07.30น. ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในโรงกลั่นน้ำมันบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ซอยสุขุมวิท 64 เขตพระโขนง กทม. จุดเกิดเหตุอยู่บริเวณหน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 3 โดยเปลวเพลิงได้ลุกไหม้เป็นกลุ่มควันดำพวยพุ่งจากหอแยกน้ำมันก๊าดในหน่วยกลั่นดังกล่าว รวมทั้งมีเสียงระเบิดจากจุดเกิดเหตุประมาณ 2-3 ครั้ง

หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่วิศวกรรมโรงกลั่นน้ำมันบางจากได้ปิดวาล์วท่อแยกส่งน้ำมันก๊าดพร้อมหยุดระบบการเดินเครื่องส่งน้ำมันดิบทั้งระบบ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะฉีดน้ำและโฟมหล่อเลี้ยงจุดเพลิงไหม้ กระทั่งเวลาผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมง จึงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้

ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ได้เดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมเยี่ยมประชาชนในชุมชนใกล้โรงกลั่นน้ำมัน พบว่าส่วนใหญ่มีอาการแสบตา แสบคอ และคลื่นไส้จากการสำลักควัน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เผยด้วยว่า หลังจากนี้จะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะย้ายโรงกลั่นน้ำมันหรือคลังแสงออกจากพื้นที่ กทม. เพราะขณะนี้พบว่าพื้นที่ที่มีการตั้งโรงกลั่นหรือคลังแสงมีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น เกรงว่าจะสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ขณะที่นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) พูดถึงเหตุเพลิงไหม้โรงกลั่นน้ำมันครั้งนี้ว่า ได้เกิดประกายไฟไปติดบริเวณหน่วยย่อยของโรงกลั่นซึ่งรองรับน้ำมันจากหน่วยกลั่นหลัก สาเหตุเกิดจากการรั่วของท่อส่งน้ำมัน ซึ่งต้องตรวจสอบว่ารั่วเพราะอะไร แต่ยืนยันว่ามลพิษทางอากาศไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน

นายอนุสรณ์ เผยด้วยว่า หน่วยกลั่นน้ำมันของบริษัทบางจากมี 3 หน่วย โดยหน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 1 ปิดไม่ได้ใช้งานแล้ว หน่วยกลั่นที่ 2 มีกำลังผลิต 40,000 บาร์เรลต่อวัน ส่วนหน่วยกลั่นที่ 3 มีกำลังผลิต 80,000 บาร์เรลต่อวัน และว่า “หลังจากนี้บริษัทจะหยุดทำการผลิต 1 สัปดาห์ เพื่อตรวจสอบความเสียหาย ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติ จะเปิดหน่วยกลั่นที่ 2 ต่อไป ส่วนเรื่องน้ำมันขาดแคลนนั้นไม่ต้องกังวล ทางบริษัทมีโรงกลั่นน้ำมันในพื้นที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ,จ.สมุทรสาคร ,จ.เชียงใหม่ และ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อผลิตน้ำมันและส่งให้ลูกค้าแทนไปก่อน และจะนำเข้าน้ำมันเพื่อผลิตให้ทันกับที่ลูกค้าต้องการ”

ส่วนมูลค่าความเสียหายครั้งนี้ นายอนุสรณ์ คาดว่าไม่น่าเกิน 100 ล้านบาท พร้อมคาดว่าจะใช้เวลาซ่อมแซมโรงกลั่นประมาณ 2- 3 เดือน นายอนุสรณ์ ยังยืนยันด้วยว่า จะไม่มีการย้ายโรงกลั่นออกนอก กทม. เพราะบริษัทตั้งอยู่ที่นี่มา 50 ปีแล้ว และใช้เงินลงทุนไปหลายหมื่นล้านบาท

ด้านนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า ได้สั่งให้โรงกลั่นน้ำมันบางจากปิดตรวจสอบหน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 3 เป็นเวลา 30 วัน ส่วนหน่วยกลั่นที่ 2 ให้ปิดตรวจสอบ 7 วัน จนกว่าจะมั่นใจในความปลอดภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น