xs
xsm
sm
md
lg

“ในหลวง-พระราชินี” เสด็จฯทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ วังสระปทุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ภายในวังสระปทุม ในการนี้ ทรงพระราชปรารภว่า พระตำหนักใหญ่ และวังสระปทุม เป็นสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์พระราชวงศ์และประวัติศาสตร์ไทย ควรที่จะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เป็นแหล่งศึกษา โดยมี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการ มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า


วันศุกร์ ที่ 27 เมษายน เมื่อเวลา 17.40 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินลงจากที่ประทับชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช โดยมี ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม ตามเสด็จฯด้วย การนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ รศ.นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ผอ.โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เข็นรถพระที่นั่งถวาย พร้อมด้วย ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทย์พยาบาลตามเสด็จฯ

โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์สูทสีฟ้าทับเชิ้ตสีฟ้าขาว พระสนับเพลาสีดำ ฉลองพระบาทสีดำ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ฉลองพระองค์สีบานเย็น จากนั้นประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ จากอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ไปยังพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ภายในวังสระปทุม เพื่อทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเข้าหอนิทรรศการ ทอดพระเนตรวิดีทัศน์พระราชประวัติสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทอดพระเนตรนิทรรศการและวิดีทัศน์ชุด “บรมกษัตริย์วัฒนสถาน” สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นพระราชธิดาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 10 กันยายน พุทธศักราช 2405 ได้รับพระราชทานพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สนองพระเดชพระคุณเป็นพระภรรยาเจ้า ด้วยทรงรอบรู้การงานในราชสำนัก และขนบธรรมเนียมราชประเพณีทั้งปวง

มีพระราชโอรสธิดารวม 8 พระองค์ ที่เจริญพระชนมายุ ได้แก่ สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ และ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สนพระราชหฤทัยและทรงสนับสนุนกิจการงานต่างๆ ทั้งด้านการศึกษา การแพทย์ การสาธารณสุข ทรงริเริ่มให้มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่นำเกวียนบรรทุกยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ออกไปดูแลรักษาประชาชนในท้องที่ห่างไกล ทรงมีส่วนช่วยริเริ่มจัดตั้งสภาอุณาโลมแดง ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นสภากาชาดสยามและสภากาชาดไทย พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวนมากทำนุบำรุงจนเป็นปึกแผ่นมั่นคง และทรงดำรงตำแหน่งสภาชนนี สภาอุณาโลมแดง และต่อมาทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกา สภากาชาดสยาม นานถึง 35 ปี สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สวรรคต ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พุทธศักราช 2498 ขณะพระชนมายุ 93 พรรษา 3 เดือน 7 วัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปพระตำหนักใหญ่ ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปรารภว่า พระตำหนักใหญ่ และวังสระปทุม เป็นสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์พระราชวงศ์และประวัติศาสตร์ไทย ควรที่จะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เป็นแหล่งศึกษา และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

จากนั้นทอดพระเนตรห้องแสดงต่างๆ เริ่มด้วยห้องรับแขก ห้องนี้ในวันพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โปรดให้จัดเป็นที่รับรองเจ้านาย นายกรัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ผนังกลางห้อง มีพระฉายาสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และพระราชโอรสธิดา ทอดพระเนตรห้องพิธี ห้องนี้สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงใช้จัดงานพิธีต่างๆ เช่น การบำเพ็ญพระราชกุศลและเป็นห้องเสวยในโอกาสพระราชทานเลี้ยง เช่น ในวันคล้ายวันพระราชสมภพวันที่ 10 กันยายน งานพระราชพิธีสำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในห้องนี้ คือ เป็นสถานที่จดทะเบียนราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส เมื่อวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493 และเมื่อ 30 ปีก่อนหน้านั้น สมเด็จพระบรมราชชนก และสมเด็จพระบรมราชชนนี ก็ทรงรับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในห้องนี้เช่นกัน

ทอดพระเนตรนิทรรศการ“ยุววัฒน์รัชกรณีย์” ที่มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จัดขึ้น เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 และเพื่อเผยแพร่พระราชประวัติและพระราชจริยาวัตรอันเกี่ยวเนื่องด้วยวังสระปทุม แบ่งเนื้อหาเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 พระราชประวัติขณะทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเสด็จ สมเด็จพระบรมราชชนก และสมเด็จพระบรมราชชนนี กลับจากสหรัฐอเมริกา มาประทับ ณ วังสระปทุม เมื่อปี 2471 ส่วนที่ 2 พระราชประวัติเมื่อเสด็จนิวัติประเทศไทยปี 2493 และโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงถวายน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์ ณ พระตำหนักใหญ่วังสระปทุม

และส่วนที่ 3 พระราชจริยาวัตรของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงกตัญญู เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ วังสระปทุม อยู่เป็นนิจ จวบจนปัจจุบันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานวังสระปทุม ให้เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระราชทานพระราชดำริให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำเนินการจัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยาเจ้า” ขึ้น เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่ทรงมีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ และต่อชาวไทยตลอดพระชนม์ชีพ

ต่อจากนั้น เสด็จฯขึ้นชั้นบน ทรงเข้าห้องนมัสการที่มีพระพุทธรูป พระบรมฉายาลักษณ์ และพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงใช้เป็นห้องพระบรรทม และในช่วงปลายพระชนม์ชีพ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จสวรรคตในห้องนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูป และทรงวางพวงมาลัยถวายราชสักการะหน้าพระบรมรูปสมเด็จพระบรมราชบูรพการี

และเสด็จฯไปทอดพระเนตรห้องสมเด็จพระบรมราชชน กหรือ ห้องเทา ห้องนี้สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงจัดให้เป็นห้องบรรทมของสมเด็จพระบรมราชชนก เมื่อทรงดำรงพระอิสสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช พระราชโอรส ครั้งเสด็จฯกลับจากทรงศึกษาวิชาทหารเรือ ณ ประเทศเยอรมนี เมื่อปี 2457 ขณะยังไม่ทรงเสกสมรส และเมื่อทรงเสกสมรสแล้ว ในปี 2466 ได้เสด็จฯกลับมาประทับอีกครั้ง พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ขณะมีพระชนมายุเพียง 9 เดือน สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงยกพระตำหนักนี้ให้ครอบครัวของสมเด็จพระราชโอรสประทับเป็นเวลานานถึงปีกว่า ส่วนพระองค์เองเสด็จฯไปประทับที่พระตำหนักเขียว ริมคลองแสนแสบ ต่อจากห้องพระบรรทมมีห้องทรงพระอักษรของสมเด็จพระบรมราชชนก สมเด็จพระบรมราชชนกโปรดทรงพระอักษร จึงทรงสะสมหนังสือสาขาวิชาต่างๆ ที่ทรงศึกษาไว้มากมาย ทั้งวิชาการแพทย์ สาธารณสุข กิจการทหารเรือ ทั้งภาษาอังกฤษ เยอรมัน และ ภาษาไทย นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์วิทยาศาสตร์และการแพทย์ ที่ใช้ทรงงาน ห้องทรงพระสำราญ มีพระเก้าอี้ที่ประทับประจำ โต๊ะทรงพระอักษรมีพระฉายาลักษณ์ เอกสาร และสิ่งของที่ทรงใช้เป็นประจำเพื่อบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันทรงคุณ ประโยชน์ต่อชาติ และประชาชน เช่น กิจการด้านสภากาชาด และพระฉายาลักษณ์พระราชโอรสธิดาและพระราชนัดดา

ต่อจากนั้น ทอดพระเนตรห้องพระบรรทม สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระแท่น หรือเตียงนอนเป็นพระแท่นองค์เดิม ซ่อมแซมใหม่ โต๊ะทรงพระสำอาง ฉลองพระองค์ที่ทรงในช่วงท้ายของพระชนม์ชีพ ฉลองพระบาท และมีพระฉายาลักษณ์ ของพระราชโอรส ธิดา พระราชนัดดา และ พระสุณิสา ช่วงปลายพระชนม์ชีพ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดที่จะประทับที่พระเฉลียงชั้นบนหน้าห้องทรงนมัสการ ซึ่งจัดเป็นห้องพระบรรทม บริเวณนี้เป็นที่ประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ คือ การพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงวางพวงมาลัยถวายราชสักการะที่หน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น