xs
xsm
sm
md
lg

ราชวงศ์จักรีกับนักการเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: วิทยา วชิระอังกูร


วันที่ 6 เมษายนของทุกๆ ปี ถือเป็น “วันจักรี” เพราะตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์รัตนโกสินทร์ ประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ไทย สืบต่อจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี เพื่อเป็นการรำลึกถึงองค์ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี จึงขอนำเรื่องราวประวัติศาสตร์ในอดีตมาบอกเล่าให้คนไทยยุคที่กำลังสับสนวุ่นวายกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่นำเข้าจากประเทศตะวันตกมาเป็นเวลา 80 ปีแล้ว ยังครอบลงได้ไม่สนิทกับสังคมโลกตะวันออกอย่างประเทศไทย ได้ ลองเปิดรับรู้เรื่องราวการต่อสู้ของพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่ง ว่าต้องกรำศึกเสือเหนือใต้หนักหนาสาหัสปานใด กว่าจะมาเป็นแผ่นดินยุครัตนโกสินทร์ ตราบเท่าทุกวันนี้

           พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระนามเดิมว่า ด้วง เป็นบุตรคนที่ 4 จากทั้งหมด 5 คนของนายทองดี หรือหลวงพินิจอักษร เสมียนตราในกรมมหาดไทยกับนางหยก หลานสาวของเจ้าพระยาอภัยราชา ซึ่งดำรงตำแหน่งสมุหนายก

ประสูติเมื่อวันพุธที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2279 เมื่อเด็กชายด้วง มีอายุครบ 13 ปี บิดามารดาได้ถวายตัวให้เป็นมหาดเล็กของเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต รัชทายาทแห่งองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ กระทั่งนายด้วงมีอายุครบ 22 ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดมหาทลาย เมื่อปีพุทธศักราช 2300

ระหว่างที่จำพรรษาอยู่ พระภิกษุด้วงได้มีโอกาสรู้จักเป็นมิตรกับพระภิกษุหยง(หรือนายหยง แซ่แต้ บุตรจีนไหหง และนางนกเอี้ยง ซึ่งต่อมาก็คือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ซึ่งได้บวชจำพรรษาอยู่ที่วัดโกษาวาสน์ ก่อนที่นายด้วงจะอุปสมบทประมาณ 3 พรรษา เมื่อลาสิกขาบทแล้ว นายหยงและนายด้วงก็ได้มีโอกาสเข้ารับราชการด้วยกัน

ในตอนปลายแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา โดยนายหยงได้เป็นตำแหน่งหลวงยกกระบัตรเมืองตาก และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “นายสิน” ส่วนนายด้วงก็รับราชการด้วยดีจนได้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี บิดามารดาเมื่อเห็นว่านายด้วงได้บวชเรียนและมีงานทำเป็นหลักฐานแล้ว จึงได้ไปสู่ขอลูกสาวเศรษฐีใหญ่ชาวอัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามชื่อ นางสาวนาค ให้สมรสกัน                 

ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียทีถูกพม่ายึด (เสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310) หลวงยกกระบัตรเมืองตากซึ่งตอนนั้นได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ได้ทำการรวบรวมผู้คนซึ่งแตกกระจายกันเป็นก๊กเป็นเหล่าต่างๆ มากมายมาตั้งมั่นอยู่ที่จันทบุรี เพื่อคอยหาโอกาสกอบกู้เอกราช

และเมื่อรวบรวมกำลังพลได้พอสมควรแล้ว พระยาวชิรปราการ จึงได้ยกกองทัพซึ่งมีกำลังพลประมาณ 5,000 คน โดยทางเรือจากจันทบุรีมายังกรุงธนบุรี และสามารถยึดกรุงธนบุรีกลับคืนมาได้ จากนั้นจึงเคลื่อนทัพขึ้นไปยังกรุงศรีอยุธยา แล้วเข้าตีพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้นแตก จึงเป็นอันกอบกู้เอกราชของชาติกลับคืนมาได้เมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พุทธศักราช 2310 จากนั้นพระยาตากจึงทำการอพยพผู้คนมายังกรุงธนบุรี ด้วยเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาถูกพม่าทำลายจนเสียหายยากแก่การบูรณะซ่อมแซมให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ ประกอบกับกรุงธนบุรีมีชัยภูมิที่ดีกว่าและพอเหมาะกับกำลังไพร่พลที่มีอยู่ที่จะสามารถรักษาเมืองไว้ได้ จึงทรงประกาศตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงใหม่ของไทย พร้อมกับประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ไทยทรงพระนามว่า พระบรมราชาธิราชที่ 4 ขึ้นเมื่อวันพุธที่ 28 ธันวาคม พุทธศักราช 2311 แต่ประชาชนทั่วไปมักเรียกพระองค์ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน บ้างก็เรียกว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมาทรงได้รับการเฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ภายหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วได้ทรงปูนบำเหน็จให้แก่บรรดาแม่ทัพนายกอง และผู้ร่วมกอบกู้ชาติอย่างถ้วนหน้าซึ่งก็รวมไปถึงหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี เพื่อนเก่าที่ชอบพอ และร่วมเป็นร่วมตายในการศึกนี้ด้วย โดยโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจขวานอกแล้วให้เข้ามารับราชการใกล้ชิด พระราชวรินทร์ได้รับราชการสนองพระบรมราชโองการสมเด็จพระเจ้าตากสินด้วยความเข้มแข็ง ซื่อสัตย์สุจริต และจงรักภักดีเป็นที่ยิ่ง จนได้รับอาญาสิทธิ์และเลื่อนบรรดาศักดิ์สูงขึ้นเป็นลำดับ

หลังจากที่ได้ทำการศึกสงครามนับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่การปราบปรามก๊กเมืองฝาง ยกทัพไปตีเมืองด่านขุนทด นครราชสีมาและเมืองเสียมราฐได้สำเร็จ ยกทัพไปตีเมืองเขมร จนได้เมืองบันทายเพชร และเมืองบาพนม เป็นทัพหน้ารบพุ่งได้เมืองเชียงใหม่ นครลำปาง ลำพูน และเมืองน่าน ช่วยทัพหลวงรบพม่าที่ยกมาตีเมืองราชบุรี ขับไล่พม่าหนีกระเจิง ยกทัพไปตีหัวเมืองลาวและเขมร ได้นครจำปาศักดิ์ เมืองสีทันดร เมืองอัตปือ เมืองตะลุง เมืองสุรินทร์ สังขะและขุขันธ์ และได้เมืองเวียงจันทน์ อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่กรุงธนบุรี

และการศึกครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ คือเป็นแม่ทัพยกไปรบกับอะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพใหญ่พม่าที่ยกมาตีหัวเมืองทางเหนือ รบพุ่งต่อตีพม่าอย่างเข้มแข็ง จนอะแซหวุ่นกี้ขอดูตัว และยอมรับชมเชยว่า    
               
“ท่านนี้รูปก็งาม ฝีมือก็เข้มแข็ง อาจหาญสู้รบกับเราที่เป็นผู้เฒ่าได้ จงอุตส่าห์รักษาตัวไว้เถิด ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์เป็นแน่แท้”

ต่อมาเมื่อสิ้นรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงได้รับการอัญเชิญให้ขึ้นครองราชย์สืบแทน เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี......ฯ” ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า รัชกาลที่ 3 ทรงถวายพระนามใหม่ว่า “สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก”

พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นบุรพกษัตริย์ในอดีตหรือปัจจุบัน ล้วนเป็นประมุขและผู้นำที่เคี่ยวกรำพระองค์เองอย่างเหนื่อยยากแสนสาหัสเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทยโดยส่วนรวม เปรียบเทียบกับบรรดาผู้นำทางการเมืองและนักการเมืองไทยอย่างที่เห็นที่เป็นอยู่ ที่ล้วนแล้วแต่เห็นแก่ประโยชน์สุขส่วนตัวมากกว่าประเทศชาติและประชาชน สาธุชนคนไทยทั้งมวล พึงสดับและตรึกตรองเปรียบเทียบให้ถ่องแท้เถิด

ในส่วนตัวผมเอง จึงรู้สึกเดือดดาลใจทุกครั้งที่เห็นการจาบจ้วงล่วงละเมิด และทนไม่ได้กับการไม่สัตย์ซื่อต่อคำสัตย์ปฏิญาณต่อเบื้องพระพักตร์ของบรรดานักการเมืองและเสนาบดีจอมปลอม ในยุคสมัยประชาธิปไตยปนเปื้อนอย่างทุกวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น