xs
xsm
sm
md
lg

ส่งเสด็จพระดวงแก้วแห่งพระมหาธีรราชเจ้าสู่สวรรคาลัย ณ ..สุสานหลวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อนุสรณ์สถานเสาวภาประดิษฐาน”
9 เมษายน 2555 เป็นวาระอันสำคัญยิ่งที่ปวงชนชาวไทยทั้งประเทศจะร่วมร้อยใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อส่งเสด็จสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สู่สวรรค์ครรลาลัย ซึ่งถือเป็นการถวายความจงรักภักดีแด่พระองค์เป็นครั้งสุดท้าย
อย่างไรก็ตามหลังจากงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ เสร็จสิ้นลง พอขึ้นสู่วันที่ 10 เมษายน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมงกุฏราชกุมารจะเสด็จมาทรงเก็บพระอัฐิ ซึ่งตามพระราชประเพณีโบราณปฎิบัติมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้นพระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ จะแบ่งบรรจุพระโกศทองคำ 2 องค์ องค์ใหญ่เป็นของหลวง อัญเชิญเข้าพระบรมมหาราชวัง ประดิษฐานบนพระวิมาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ส่วนพระโกศองค์น้อยจะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วังรื่นฤดี สุขุมวิท 38 ชึ่งเป็นที่ประทับส่วนพระองค์

สำหรับ “พระสรีรางคาร” หรือเถ้ากระดูกนั้น ริ้วขบวนที่ 6 จะทำพิธีอัญเชิญไปบรรจุไว้ ณ พระอนุสรณ์ที่ชื่อว่า "เสาวภาประดิษฐาน" ในสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในวันที่ 12 เมษายน และคาดว่าจะมีการแบ่งไปบรรจุที่พระปฐมเจดีย์ อันเป็นที่บรรจุพระราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เพื่อให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ ได้ประทับพักผ่อนร่วมกับพระบิดาและพระมารดา ณ ที่แห่งนั่น
ส่วนพระสรีรางคารของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ที่ต้องอัญเชิญไปไว้ที่พระอนุสรณ์สถาน"เสาวภาประดิษฐาน"เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 กับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งพระนามเดิมคือพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ดังนั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ จึงเป็นพระราชนัดดา คือ "หลานย่า" แท้ๆ ของสมเด็จพระพันปีหลวง ด้วยเหตุผลดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสรีรางคารมาบรรจุ ณ ที่นี้ ร่วมกับเจ้านายในรัชกาลที่ 5 สายสมเด็จพระพันปีหลวง ซึ่งมีราชสกุลจักรพงษ์, ราชสกุลจุฑาธุช เป็นต้นนั่นเอง
 พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ประดิษฐานภายในอนุสรณ์สถานเสาวภาประดิษฐาน ถัดไปเป็นช่องบรรจุพระสรีรางคารของ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
“สุสานหลวง” สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงโปรดให้สร้างสถูปองค์หลักไว้ 4 องค์เป็นแนวประธาน คือ อนุสรณ์สถานสุนันทานุเสาวรีย์ , อนุสรณ์สถานรังษีวัฒนา ,อนุสรณ์สถานเสาวภาประดิษฐาน และอนุสรณ์สถานสุขุมาลนฤมิตร ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้ผู้ที่มีความรักใคร่ห่วงใยอย่างใกล้ชิด คือ พระมเหสี เจ้าจอมมารดา และพระราชโอรส พระราชธิดา ได้อยู่ร่วมกัน หลังจากที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ในทั่วไปจะเป็นการสร้างอนุสาวรีย์ของพระมเหสี หรือเจ้าจอมมารดา เพื่อให้ลูกได้อยู่กับแม่ หรืออย่างน้อยในบ้านของแม่ เว้นแต่ในกรณีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาสิ้นพระชนม์ก่อนพระมารดา ก็สร้างอนุสาวรีย์ของพระเจ้าลูกเธอพระองค์นั้นไปก่อน
หรือถ้าจะกล่าวง่ายๆ คือเหมือนสร้างบ้านแม่แต่ละสายไว้ เมื่อลูกสายใดสิ้นพระชนม์ ก็จะเชิญพระสรีรางคารมาบรรจุไว้ในบ้านแม่นั่นเอง พระสถูปทั้ง 4 องค์นั้นสร้างเป็นพระบรมราชูทิศ เป็นส่วนของพระมเหสีเทวี 4 พระองค์ ต่อมาก็มีการสร้างพระอนุสาวรีย์เพิ่มเติมเรื่อยมา ด้วยลักษณะศิลปกรรมที่หลากหลาย

“ทั้งนี้ พระมเหสีเทวี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมแต่ละพระองค์แต่ละท่าน เมื่อพระทายาทสายใดหาพระองค์ไม่ก็จะเชิญพระอัฐิบ้าง พระอังคารบ้างมาบรรจุ บางพระองค์สิ้นพระชนม์แต่ทรงพระเยาว์ ก็เชิญพระศพมาบรรจุเช่นกัน” ดร.ชัชพล ไชยพร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และข้าราชบริพารในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ กล่าวกล่าว
พระพุทธรูปปางไสยาสน์ และ แผ่นหินแกะสลักพระนาม
“อนุสรณ์สถานเสาวภาประดิษฐาน” มีลักษณะเหมือนกับ “อนุสรณ์สถานรังษีวัฒนา” เป็นอาคารจตุรมุขยอดสถูป เชื่อมกันด้วยมุขกระสัน ตรงกลางเป็นสถูปขนาดใหญ่บุด้วยโมเสคสีทอง ส่วนสถูปอีก 3 องค์มีขนาดย่อมกว่าทาด้วยสีขาว สำหรับอนุสรณ์สถานเสาวภาประดิษฐานบรรจุพระสรีรางคารพระราชโอรสและพระราชธิดาอันประสูติแต่สมเด็จพระศรี พัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง รวมทั้งสมาชิกบางพระองค์ใน ราชสกุลจักรพงษ์และราชสกุลจุฑาธุช สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ (พ.ศ. 2421 -พ.ศ. 2430) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง (พ.ศ. 2424 - พ.ศ. 2430)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ (พ.ศ. 2428 - พ.ศ. 2430) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิง (13 ธันวาคม พ.ศ. 2430 - สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ) สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (พ.ศ. 2425- พ.ศ. 2463) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย (พ.ศ. 2435 - พ.ศ. 2466) สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (พ.ศ. 2432 - พ.ศ. 2467)และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ(พ.ศ. 2468 - พ.ศ. 2554)
ภายใน“อนุสรณ์สถานเสาวภาประดิษฐาน” ซึ่งเป็นที่บรรจุพระสรีรางคาร สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ นั้น พระพรหมมุนี แห่งวัดราชบพิตรกล่าวถึงการเตรียมสถานที่ไว้ว่าขณะนี้ทางวัดได้ปรับปรุงสถานที่อย่างงดงามสมพระเกียรติยศ สภาพภายในเมื่อเปิดประตูอนุสรณ์สถานเสาวภาประดิษฐาน เข้าไป จะพบพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรประดิษฐานอยู่ตรงหน้า ซึ่งเปรียบเสมือนดั่งศูนย์กลางขององค์สถูป หากเราเลี้ยวขวาจะเป็นที่เก็บพระสรีรางคารสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ ซึ่งเมื่ออัญเชิญไปบรรจุแล้วจะมีแผ่นหินแกะสลักมาปิดทับอีกชั้นหนึ่ง
พระสรีรางคารของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิง
“แผ่นหินแกะสลักที่จะปิดหน้าช่องที่จะบรรจุพระสรีรางคารทำจากหินไวท์คาราร่า เป็นหินจากหุบเขาแห่งหนึ่งในอิตาลี ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.ว.ช.ลิขิตการสร้าง ทำถวาย ด้านหน้าแผ่นหินแกะสลักประดิษฐานด้วยพระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหู หรือ ปางไสยาสน์ หรือ ปางปรินิพพาน อยู่ในพระอริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองข้างซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย (หมอน) รองรับ ความยาว 45 ซม. เป็นพระประจำวันอังคาร ซึ่งเป็นวันประสูตรเกิดของพระองค์” พระครูอภิญญา วัดราชบพิตร กล่าวถึงการเตรียมงานในส่วนของสุสานหลวง
ตลอดพระชนม์ชีพ 85 พรรษา พระองค์ทรงเป็นขัตติยราชนารีในมหาจักรีบรมราชวงศ์ทรงมิ่งขวัญของพสกนิกรชาว ไทยทุกหมู่เหล่าทรงปฏิบัติพระกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง ตราบจนถึงวาระสุดท้ายของพระองค์
พระจริยวัตรอันงามพิสุทธิ์และน้ำพระทัยที่ใสบริสุทธิ์เปี่ยมพระเมตตาของ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯจะยังคงตราตรึงและสถิตอยู่ในใจของพสกนิกรชาวไทยทุก หมู่เหล่า....ไปตราบนานเท่านาน เฉกเช่นกับบทหนึ่งในพระราชนิพนธ์ของพระราชบิดา ที่ได้ทรงแต่งไว้เป็นบทขับกล่อมพระบรรทมว่า“..พระเอยพระหน่อนาถ งามพิลาศดังดวงมณีใส พระเสด็จจากฟ้าสุราลัย มาเพื่อให้ฝูงชนกมลปรีดิ์..”
บัดนี้พระองค์ทรงลาจากโลกมนุษย์เพื่อเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ ปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอกราบแทบพระบาท ส่งเสด็จพระดวงแก้วแห่งพระมหาธีรราชเจ้าสู่สวรรคาลัยด้วยใจภักดี
กำลังโหลดความคิดเห็น