xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พระพิมาน-เสาวภาประดิษฐาน ที่ประทับตลอดกาล “เจ้าฟ้าเพชรรัตน์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสาวภาประดิษฐสถาน
ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ “สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี” พระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ซึ่งพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าพร้อมใจกันส่งเสด็จราชนารีแห่งบรมราชจักรีวงศ์พระองค์นี้สู่สวรรคาลัยด้วยความอาลัยรักอย่างหาที่สุดมิได้

ทั้งนี้ พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพที่มีหมายกำหนดการจัดขึ้นในวันที่ 9 เมษายน 2555 นั้น นอกจากจะเป็นไปอย่างสมพระอิสสริยยศและสมพระเกียรติตามโบราณราชประเพณีแล้ว ในวันดังกล่าวยังเกิดเหตุการณ์ “อัศจรรย์” บังเกิดขึ้นอีกด้วย นั่นก็คือการเกิด “พระอาทิตย์ทรงกลด” ในระหว่างที่สำนักพระราชวังเปิดให้ประชาชนร่วมวางดอกไม้จันทน์ และ “พระจันทร์ทรงกลด” ในระหว่างพระราชพิธีพระราชเพลิงพระศพ(จริง) ในช่วงเวลาประมาณ 22.50 น. ซึ่งเป็นที่อัศจรรย์ใจแก่พสกนิกรที่เข้าร่วมถวายความอาลัยเป็นอย่างยิ่งอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับพระอัฐิและพระสรีรางคารของ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ นั้น หลายคงอาจสงสัยว่า หลังพระราชพิธีพระราชเพลิงพระศพจบสิ้นลงในวันที่ 9 เมษายนนั้น จะมีการอัญเชิญไปประดิษฐานตลอดอนันตกาล ณ สถานที่ใดบ้างตามโบราณราชประเพณี

กล่าวสำหรับพระอัฐิและพระสรีรางคารนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารฯ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีเก็บพระอัฐิและพระสรีรางคาร แล้วอัญเชิญพระโกศบรรจุพระอัฐิประดิษฐานพระนั่งราเชนทรยาน ขณะที่พระสรีรางคารประดิษฐานพระวอสีวิกากาญจน์ออกจากราชวัตรพระเมรุเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง นำพระโกศทองคำบรรจุพระอัฐิขึ้นประดิษฐานบน พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ก่อนที่จะนำไปประดิษฐานสุดท้ายที่พระวิมาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ส่วน “พระสรีรางคาร” หรือเถ้ากระดูกนั้น เมื่ออัญเชิญพระผอบบรรจุเข้าพระบรมมหาราชวังจะนำไปพักไว้ที่พระศรีรัตนเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จากนั้นพระบราทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประกอบพระราชพิธีอัญเชิญพระสรีรางคารไปประดิษฐาน ณ สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยบรรจุไว้ใน "เสาวภาประดิษฐาน" และคาดว่าจะมีการแบ่งไปบรรจุที่พระปฐมเจดีย์ อันเป็นที่บรรจุพระราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เพื่อให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ ได้ประทับพักผ่อนร่วมกับพระบิดาและพระมารดา ณ ที่แห่งนั่น

ทั้งนี้ สาเหตุที่นำพระสรีรางคารของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ที่ไปประดิษฐานที่พระอนุสรณ์สถาน"เสาวภาประดิษฐาน"เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 กับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งพระนามเดิมคือพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ดังนั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ จึงเป็นพระราชนัดดา คือ "หลานย่า" แท้ๆ ของสมเด็จพระพันปีหลวง ด้วยเหตุผลดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสรีรางคารมาบรรจุ ณ ที่นี้ ร่วมกับเจ้านายในรัชกาลที่ 5 สายสมเด็จพระพันปีหลวง ซึ่งมีราชสกุลจักรพงษ์, ราชสกุลจุฑาธุช เป็นต้น

“เสาวภาประดิษฐานเป็นสถานที่บรรจุพระสรีรางคารในสายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งนี้ ทางวัดได้หล่อพระพุทธรูปประจำพระชนมวารปางไสยาสน์ ซึ่งเป็นพระประจำวันเกิดสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี คือวันอังคาร ขนาด 45 เซนติเมตรเพื่อประดิษฐานคู่พระสรีรางคารและแผ่นบรรจุศิลาจารึกปิดถ้ำศิลาทำจากหินอ่อนอิตาลีสำหรับปิดสถานที่ในการบรรจุพระสรีรางคาร นอกจากนี้ ทางวัดยังได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง “ศรีวิชัยชาดก” พระนิพนธ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ อดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงผนวช โดยเสด็จพระราชกุศลจำนวน 2,000 เล่ม เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้มาร่วมงานด้วย”พระพรหมมุนี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ให้ข้อมูล

อนึ่ง “สุสานหลวง” วัดราชบพิธฯ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยโปรดฯ ให้สร้างสถูปองค์หลักไว้ 4 องค์เป็นแนวประธาน คือ อนุสรณ์สถานสุนันทานุเสาวรีย์ , อนุสรณ์สถานรังษีวัฒนา ,อนุสรณ์สถานเสาวภาประดิษฐาน และอนุสรณ์สถานสุขุมาลนฤมิตร ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้ผู้ที่มีความรักใคร่ห่วงใยอย่างใกล้ชิด คือ พระมเหสี เจ้าจอมมารดา และพระราชโอรส พระราชธิดา ได้อยู่ร่วมกัน หลังจากที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ในทั่วไปจะเป็นการสร้างอนุสาวรีย์ของพระมเหสี หรือเจ้าจอมมารดา เพื่อให้ลูกได้อยู่กับแม่ หรืออย่างน้อยในบ้านของแม่ เว้นแต่ในกรณีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาสิ้นพระชนม์ก่อนพระมารดา ก็สร้างอนุสาวรีย์ของพระเจ้าลูกเธอพระองค์นั้นไปก่อน

“ทั้งนี้ พระมเหสีเทวี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมแต่ละพระองค์แต่ละท่าน เมื่อพระทายาทสายใดหาพระองค์ไม่ก็จะเชิญพระอัฐิบ้าง พระอังคารบ้างมาบรรจุ บางพระองค์สิ้นพระชนม์แต่ทรงพระเยาว์ ก็เชิญพระศพมาบรรจุเช่นกัน” ดร.ชัชพล ไชยพร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และข้าราชบริพารในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ อธิบายเพิ่มเติม

สำหรับอนุสรณ์สถานเสาวภาประดิษฐานนั้นบรรจุพระสรีรางคารพระราชโอรสและพระราชธิดาอันประสูติแต่สมเด็จพระศรี พัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง รวมทั้งสมาชิกบางพระองค์ใน ราชสกุลจักรพงษ์และราชสกุลจุฑาธุช สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ (พ.ศ. 2421 -พ.ศ. 2430) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง (พ.ศ. 2424 - พ.ศ. 2430) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ (พ.ศ. 2428 - พ.ศ. 2430) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิง (13 ธันวาคม พ.ศ. 2430 - สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ) สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (พ.ศ. 2425- พ.ศ. 2463) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย (พ.ศ. 2435 - พ.ศ. 2466) สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (พ.ศ. 2432 - พ.ศ. 2467)และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ(พ.ศ. 2468 - พ.ศ. 2554)
พระพุทธรูปปางไสยาสน์ และ แผ่นหินแกะสลักพระนาม
สุสานหลวงวัดราชบพิธฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น