xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลปากรมอบพระโกศทองคำลงยาประดับพลอย สำหรับทรงพระอัฐิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อม อธิบดีกรมศิลปากร ส่งมอบพระโกศอัฐิทองคำลงยาประดับพลอย สำหรับทรงพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ให้กับสำนักพระราชวัง ณ กรมศิลปากร

วันนี้ (5 เม.ย.) ที่โรงประติมากรรมต้นแบบ กรมศิลปากร นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการ จ.เพชรบุรี พร้อมด้วยนายวิริยะ สุสุทธิ ช่างแทงหยวก ซึ่งเป็นลูกหลานของ นายประสม สุสุทธิ ช่างแทงหยวกพื้นบ้าน จ.เพชรบุรี พร้อมด้วย คณะช่าง กว่า 30 ชีวิต นำกล้วยตานีที่ยังไม่ออกเครือ จำนวน 50 ต้น มาเก็บรักษายังโรงประติมากรรมต้นแบบ โดยมี นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร ให้การต้อนรับ จากนั้น คณะช่างฯ ได้จัดทำพิธีบูชาครูพระเพชรฉลูกรรม เพื่อขอความเป็นสิริมงคล

โดย นายวิริยะ สุสุทธิ ช่างแทงหยวก จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ทางคณะช่างจะได้เตรียมการเข้าไปวัดขนาดของพระจิตกาธาน ก่อนที่จะมีการดำเนินการแทงหยวก ซึ่งลวดลายที่ใช้ในครั้งนี้ เป็นไปตามโบราณราชประเพณี ได้แก่ ลายจำปา ลายกลีบบัว ลายเกสร โดยจะเริ่มดำเนินการแทงหยวกในช่วงค่ำของวันที่ 7 เม.ย และจะนำไปประกอบที่พระเมรุในรุ่งเช้าของวันที่ 8 เม.ย.ทั้งนี้เพื่อให้หยวกกล้วยมีความสด เมื่อประกอบกับพระจิตกาธานจะมีความสวยสดงดงาม

นางโสมสุดา กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งให้คณะช่างแทงหยวก จาก จ.เพชรบุรี ซึ่งประกอบด้วยครอบครัว และลูกหลาน ของ นายประสม สุสุทธิ เป็นผู้ดำเนินการเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากทรงเห็นว่า งานช่างแทงหยวกถือเป็นภูมิปัญญา และแบบแผนประเพณีโบราณที่สืบทอดกันมา และ จ.เพชรบุรี ยังเป็นจังหวัดที่มีการสืบสานงานแทงหยวกไว้ และอยากให้มีการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาแทงหยวกของชาวบ้านที่สามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างวิจิตรงดงามนี้ไว้สืบไป อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 6 เม.ย. ทางกรมศิลปากรจะส่งมอบพื้นที่พระเมรุให้สำนักพระราชวัง เพื่อเตรียมการพระราชทานพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ

วันเดียวกัน เวลา 15.00 น.กรมศิลปากร ได้จัดพิธีส่งมอบการจัดสร้างพระโกศทองคำลงยาประดับพลอย สำหรับทรงพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จำนวน 1 องค์ ประกอบด้วย พระโกศพร้อมฝา, ยอดส่วนที่เป็นพุ่มข้าวบิณฑ์, ยอดส่วนที่เป็นสุวรรณฉัตร 7 ชั้นและถ้ำศิลา พร้อมด้วย ช่อไม้จันทน์ช่อเอก ปลายยอดกระหนก จำนวน 2 ช่อ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ช่อไม้จันทน์ขนาดกลาง จำนวน 4 ช่อ สำหรับพระบรมวงศ์ ชั้นเจ้าฟ้า 4 พระองค์ และช่อไม้จันทน์ขนาดเล็ก 8 ช่อ สำหรับพระบรมวงศ์ โดยมี นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ส่งมอบให้ นางพรจันทร์ นุกุลประดิษฐ์ ที่ปรึกษาสำนักพระราชวัง เป็นผู้แทนรับมอบ

นางสุกุมล กล่าวว่า การจัดสร้างพระโกศทองคำลงยานี้ ออกแบบโดย นายนิยม กลิ่นบุบผา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านช่างศิลปกรรม และดำเนินการโดยกลุ่มงานช่างโลหะและช่างศิราภรณ์ กลุ่มประณีตศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่กรมศิลปากร ซึ่งในส่วนของรายละเอียดองค์พระโกศฯ เป็นลายดอกไม้ไหว ดอกไม้เอว เฟื่องพู่ระย้าปากพระโกศ พุ่มข้าวบิณฑ์ และลักษณะขนาดของพระโกศทองคำลงยาฯ ทรงกลม จัดทำด้วยวัสดุทองคำ และโครงสร้างภายในจัดทำด้วยวัสดุเงิน ขนาดความสูงจากฐานพระโกศถึงยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ สูง 67.5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางที่ฐานพระโกศ 16.4 เซนติเมตร ส่วนงานจัดสร้างสุวรรณฉัตร 7 ชั้น จำนวน 1 คัน สำหรับประดิษฐานบนยอดพระโกศจัดสร้างด้วยวัสดุทองคำ บุดุนลวดลาย ขอบบนของชั้นฉัตรประดับเข็มขัดฉัตรขนาดความสูงของพระโกศเมื่อสวมเป็นยอดสุวรรณฉัตร 7 ชั้น จากฐานพระโกศถึงยอดสุวรรณฉัตร 7 ชั้น สูง 84.5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางที่ฐานพระโกศ 16.4 เซนติเมตร

รมว.วัฒนธรรม กล่าวอีกว่า งานจัดสร้างถ้ำศิลา จำนวน 1 องค์ จัดสร้างด้วยศิลาสีขาวขนาดความสูง 23.3 เซนติเมตรเส้นผ่าศูนย์กลางที่ฐาน 7.5 เซนติเมตร ทั้งนี้น้ำหนักของพระโกศพร้อมฝา 2,119.3 กรัม น้ำหนักของยอดส่วนที่เป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ 3.1 กรัม น้ำหนักของยอดส่วนที่เป็นสุวรรณฉัตร 7 ชั้น 118.8 กรัม และเงิน, พลอย ยาสี วัสดุอื่นๆ รวมทั้งชุดหนัก 2,671.8 กรัม

ต่อมา เวลา 16.00 น.วธ.ได้นำคณะทูตานุทูต ประจำประเทศไทย จาก 37 ประเทศ อาทิ เวียดนาม สเปน ตุรกี เปรู โรมาเนีย เม็กซิโก ลาว อินเดีย พร้อมด้วย ข้าราชบริพารในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ 60 คน เข้าเยี่ยมชมพระเมรุ ราชรถ และราชยาน ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และมณฑลพิธีท้องสนามหลวง

เพื่อให้คณะทูตานุทูตได้มีความรู้ความเข้าใจ และชื่นชมศิลปวัฒนธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธี ที่จัดสร้างสนองพระเดชพระคุณตามราชประเพณีด้วยเชิงช่าง ซึ่งทรงคุณค่าและมีความงดงาม ทั้งงานประณีตศิลป์ งานจิตรกรรม และงานประติมากรรม ที่ออกแบบและจัดสร้างโดยผู้เชี่ยวชาญด้านงานช่างของไทย เป็นการแสดงถึงความจงรักภักดี และเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นเครื่องรำลึกถึงพระคุณูปการอย่างยิ่งใหญ่ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศบริเวณมณฑลพิธีสนามหลวง ขณะนี้กรมศิลปากรได้จัดเตรียมเวทีสำหรับแสดงมหรสพในงานพระราชพิธีเพลิงพระศพฯ จำนวน 2 เวที ทางด้านทิศเหนือของพระเมรุ รวมทั้งมีประชาชนให้ความสนใจมาถ่ายรูปพระเมรุภายหลังที่กรมศิลปากรได้รื้อนั่งร้านออก ทำให้พระเมรุมีความสวยสดงดงาม โดยช่วงเย็นวันเดียวกันนี้สำนักการสังคีต ได้ทำการซ้อมการแสดงมหรสพในพระราชพิธีดังกล่าวด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น