xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 18-24 ธ.ค.2554

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. ศาล ยกคำร้องขอปล่อยตัว “กี้ร์-อริสมันต์”รอบ 2 ด้านทนายฯ เตรียมยื่นขอรอบ 3 ขณะที่แกนนำเสื้อแดง ขู่นำม็อบบุกกรุง จี้ศาลปล่อยตัว!
นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำ นปช.ผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย
หลังจากนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) และจำเลยในคดีก่อการร้าย ต้องนอนคุก เนื่องจากศาลไม่ให้ประกันตัว เพราะคดีมีข้อหาร้ายแรงและอัตราโทษสูง จากนั้นทนายความของนายอริสมันต์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเป็นครั้งที่ 2 เพื่อขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายอริสมันต์ รวม 3 คดี ประกอบด้วย คดีร่วมกันก่อการร้าย มี น.ส.ศันสนีย์ นวลสนิท เป็นนายประกันวางเงินสด 4 ล้านบาท ,คดีหมิ่นประมาทนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และคดีหมิ่นประมาท พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล โดยมีนางระพิพรรณ พงษ์เรืองรอง ภรรยานายอริสมันต์ ใช้ตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ตีราคาประกัน 1,350,600 บาท ในการขอประกันตัวเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. โดยศาลได้นัดไต่สวนข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ซึ่งนายอริสมันต์ได้เข้าเบิกความด้วยตัวเองพร้อมนางระพิพรรณ และพยานอื่นรวม 3 ปาก

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของจำเลยในชั้นไต่สวนแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ซึ่งโทษสูงสุดให้ประหารชีวิต ถือว่าเป็นข้อหาร้ายแรงและมีอัตราโทษสูง ประกอบกับจำเลยยอมรับในชั้นไต่สวนว่า ระหว่างการชุมนุมทางการเมือง จำเลยได้กล่าวว่า “เหตุผลของการชุมนุมต่อสู้กับอำมาตย์จะต่อสู้กับพวกกองทัพที่มันรับใช้อำมาตย์มาทำการปฏิวัติ เราต้องรวมใจกันเป็นหนึ่งด้วยสโลแกน ออล ฟอร์ วัน (ALL FOR ONE) รวมใจเป็นหนึ่งล้มอำมาตย์ นัดกันคราวหน้า ถ้ารู้ว่าเขาจะปราบปราม ไม่ต้องเตรียมอะไรมาก นำขวดแก้วมาคนละใบ แล้วเติมน้ำมันเอาข้างหน้า บรรจุให้ได้ 75 ซีซี ถึง 1 ลิตร ถ้าเรามา 1 ล้านคน ในกรุงเทพมหานครจะมีน้ำมัน 1 ล้านลิตร รับรองว่า กทม.เป็นทะเลเพลิงอย่างแน่นอน”

ศาลเห็นว่า คำเบิกความของจำเลยเป็นการสะท้อนความคิดและเป้าหมายทางการเมืองที่มีลักษณะค่อนข้างรุนแรงพอสมควร ในทางนำสืบของจำเลยจึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้เชื่อได้ว่า หากศาลอนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี แล้วจำเลยจะไม่กระทำการใดใดที่ร้ายแรงในลักษณะทำนองเดียวกันอีก
ส่วนที่จำเลยเบิกความทำนองว่า เหตุที่จำเลยต้องหลบหนีตลอดมาและเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานหลังเกิดเหตุเป็นเวลานาน เนื่องจากในระหว่างและหลังจากวันที่มีการสลายการชุมนุม จำเลยถูกข่มขู่คุกคาม อีกทั้งเป็นบุคคลที่อยู่ในเป้าหมายการล่าสังหาร จำเลยจึงต้องหลบหนีซ่อนตัวเพื่อความปลอดภัย แต่ในการไต่สวนคำร้องนั้น จำเลยไม่มีพยานบุคคลหรือพยานหลักฐานอื่นๆ ที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงพอมาสนับสนุนในข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้าง คำเบิกความดังกล่าวจึงยังมีข้อน่าสงสัยอย่างมาก นอกจากนี้จำเลยมีแค่ตัวจำเลยและนางระพิพรรณ ภรรยาจำเลยเท่านั้นที่มาเบิกความและให้ถ้อยคำต่อศาลว่า หากจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้วจำเลยจะไม่หลบหนีระหว่างการพิจารณาของศาลอีก อีกทั้งจำเลยก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่น่าเชื่อเพียงพอว่าให้ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจึงเห็นว่า ในชั้นนี้คดียังไม่มีเหตุผลสมควรให้ปล่อยจำเลยชั่วคราว จึงให้ยกคำร้อง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนรู้ผลคำสั่งศาล นายอริสมันต์ ยังมีสีหน้ายิ้มแย้ม พร้อมชูกำปั้นทักทายกลุ่มคนเสื้อแดงที่มาให้กำลังใจประมาณ 200 คน แต่หลังฟังคำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว นายอริสมันต์มีสีหน้าผิดหวังอย่างเห็นได้ชัด ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะควบคุมนายอริสมันต์ขึ้นรถเรือนจำกลับไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามเดิม

ด้านนางระพิพรรณ เผยว่า รู้สึกผิดหวัง แต่ก็พร้อมยอมรับคำตัดสินของศาล และว่า หลังจากนี้จะหารือกับทนายความเพื่อยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนายอริสมันต์อีกครั้ง โดยหวังว่าจะได้รับความเมตตาจากศาล และคิดว่านายอริสมันต์คงไม่ถูกคุมขังนานถึง 6 เดือน หรือ 1 ปี

ขณะที่นายศุภชัยวุธ ชาวสวนกล้วย ทนายความนายอริสมันต์ พูดถึงการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวนายอริสมันต์ครั้งที่ 3 ว่า สามารถทำได้ทั้งการยื่นต่อศาลอาญาใหม่ หรือยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ซึ่งส่วนตัวจะใช้ช่องทางการยื่นขอประกันใหม่ เพราะเคยมีบางคดีที่ต้องยื่นขอประกันถึง 5 ครั้ง ศาลจึงอนุญาตให้ประกันตัว โดยหลังจากนี้จะเร่งรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อยื่นคำร้อง โดยคาดว่าจะยื่นอีกครั้งได้ก่อนปีใหม่ ส่วนจะมีการนำพยานที่เป็นผู้ใหญ่ในรัฐบาลและนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.ไปร่วมไต่สวนด้วยหรือไม่ นายศุภชัยวุธ บอกว่า มีความเป็นไปได้ แต่ต้องพิจารณาอีกครั้ง

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังศาลไม่ให้ประกันตัวนายอริสมันต์เป็นรอบที่ 2 แกนนำคนเสื้อแดงที่ จ.อุดรธานี ได้ออกมาเคลื่อนไหว โดย ร.ต.อ.กมลศิลป์ สิงหะสุริยะ ประธานสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย และนายอานนท์ แสนน่าน ผู้ริเริ่มโครงการหมู่บ้านเสื้อแดง ได้นำทีมคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง เปิดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.โดยส่งสัญญาณคุกคามศาลด้วยการบอกว่า จะนำคนเสื้อแดงนับหมื่นคนจากภาคอีสานและภาคเหนือเดินทางเข้า กทม.เพื่อให้กำลังใจนายอริสมันต์ พร้อมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนายอริสมันต์ เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรม

2. ที่ประชุมจีบีซี มีมติถอนทหาร 2 ฝ่ายพ้นพระวิหารตามคำสั่งศาลโลก ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ค้าน ด้าน “ประยุทธ์” ย้ำ ไทยไม่ถอน แค่สับเปลี่ยนกำลัง!

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้นำคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา(จีบีซี) ซึ่งประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารทุกเหล่าทัพ ,ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ,เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) รวมทั้งผู้แทนกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปประชุมจีบีซี ครั้งที่ 8 กับฝ่ายกัมพูชาที่โรงแรมโซฟิเทล กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยตัวแทนฝ่ายกัมพูชา ได้แก่ พล.อ.เตีย บัน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.ท.ฮุน มา เน็ต รองผู้บัญชาการทหารบก บุตรชายของสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ รวมถึงการดำเนินการตามมาตรการชั่วคราว 5 ข้อของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ศาลโลก) เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2554 เช่น การให้พื้นที่ 17.3 ตร.กม.บริเวณปราสาทพระวิหารเป็นเขตปลอดทหาร เป็นต้น ซึ่งหลังใช้เวลาประชุมหารือนานเกือบ 10 ชั่วโมง พล.อ.ยุทธศักดิ์ และ พล.อ.เตีย บัน ได้เปิดแถลงยืนยันจะปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวของศาลโลกอย่างเต็มที่และโดยเร็วในการถอนทหารออกจากชายแดนด้านประสาทพระวิหาร โดยจะปรับกำลังทหารที่ประจำการในเขตปลอดทหารออกพร้อมกัน รวมทั้งเห็นชอบให้มีการจัดตั้งและส่งผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้าไปยังพื้นที่โดยด่วน นอกจากนี้ยังได้มีการออกแถลงการณ์ร่วม 12 ประเด็น เช่น ทั้ง 2 ฝ่ายจะเสนอข่าวเฉพาะข้อเท็จจริงและเป็นเชิงบวก เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจและเคารพซึ่งกันและกัน ฯลฯ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนที่ที่ประชุมจีบีซีจะมีมติว่าไทยและกัมพูชาจะถอนทหารออกจากพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ปรากฏว่า ได้มีความเคลื่อนไหวของชาวบ้านในพื้นที่ อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ โดยนายกิตติศักดิ์ พ้นภัย แกนนำเครือข่ายประชาชนชาวกันทรลักษณ์พิทักษ์เขาพระวิหาร ได้นำสมาชิกกลุ่มกำลังแผ่นดินและเครือข่ายประชาชนชาวกันทรลักษณ์พิทักษ์เขาพระวิหารกว่า 30 คน เดินทางไปร่วมแสดงความเป็นเจ้าของแผ่นดินไทยบนพื้นที่พิพาท 4.6 ตร.กม.ใกล้กับสถูปคู่ชายแดนไทย-กัมพูชาด้านเขาพระวิหาร พร้อมทำพิธีดาบปักแผ่นดินและบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อปกป้องแผ่นดินไทย รวมทั้งประกาศความเป็นเจ้าของพื้นที่ดังกล่าว

นายกิติศักดิ์ กล่าวว่า ได้ทำประชาพิจารณ์ประชาชนใน ต.เสาธงชัยกว่า 5,000 คน ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่พระวิหาร และว่า หากที่ประชุมจีบีซีมีมติให้มีการถอนทหาร ตนและกลุ่มเครือข่ายจะไม่ยอมรับผลประชุม และจะเคลื่อนไหวไม่ให้มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ เพื่อปกป้องแผ่นดินไทย

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งร่วมประชุมจีบีซีด้วย ได้ออกมายืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีการปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวของศาลโลก ถ้าจะต้องมี ก็แค่การสับเปลี่ยนกำลัง คือเอากำลังอีกส่วนเข้าไปแทน หมายความว่ายังไงก็ต้องมีกำลังประจำอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่มีกำลังทหาร ไม่มีอาวุธในพื้นที่อยู่เลยคงไม่ได้ เพราะเป็นดินแดนของประเทศไทย ส่วนจะปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวของศาลโลกอย่างไรขึ้นอยู่กับคณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ที่เรียกว่า “IWG” พร้อมขอให้ทุกคนสบายใจว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม จะพยายามรักษาอธิปไตยและดินแดนของไทยให้ดีที่สุด

3.วิปรัฐบาล มีมติยื่นแก้ไข รธน.ในสมัยประชุมนี้ ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน ชี้ ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ควรเอาเวลาไปฟื้นฟูน้ำท่วม!
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ การแก้ไข รธน.ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน
ความคืบหน้ากรณีพรรคเพื่อไทยมีแนวคิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะยื่นญัตติต่อรัฐสภาหลังปีใหม่นั้น เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาบอกว่า พรรคจะประชุมหาข้อสรุปเกี่ยวกับประเด็นและวิธีการ รวมถึงช่องทางในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 20 ธ.ค. โดยยืนยัน พรรคจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ นายพร้อมพงศ์ ยังบอกด้วยว่า จากการฟังเสียงพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา รวมถึงพรรคร่วมฝ่ายค้านบางพรรค และพรรคภูมิใจไทยบางส่วน ก็ต้องการร่วมกับพรรคเพื่อไทยในการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ด้านนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร และคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย บอกว่า เบื้องต้นแน่นอนแล้วว่าจะมีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดโอกาสให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ขึ้นมาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ยังต้องดูว่าจะยื่นในช่องทางใด หากรัฐบาลไม่สะดวกในการเป็นผู้ดำเนินการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง ส.ส.ของพรรคก็พร้อมที่จะเข้าชื่อเสนอแก้ไขตามที่กฎหมายกำหนด หรือให้ประชาชนรวบรวมรายชื่อให้ครบจำนวนที่กฎหมายกำหนดแล้วยื่นต่อประธานรัฐสภา ให้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายพีรพันธุ์ ยังชี้ด้วยว่า มาตราที่ก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารบ้านเมืองตลอดมาและควรแก้ไข ได้แก่ มาตรา 237 เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง ,ประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ที่ควรยกเลิกแบบสรรหา แล้วให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

ส่วนประเด็นองค์กรอิสระก็ควรแก้ไขเช่นกัน เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ออกแบบมาให้อำนาจองค์กรอิสระมากกมายใหญ่โตกว่าฝ่ายนิติบัญญัติ จนทำให้รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารอ่อนแอ “มาตราที่พรรคเห็นว่าเป็นปัญหาอย่างยิ่ง และต้องดำเนินการยกเลิกบทบัญญัตินี้ไปเลย คือมาตรา 309 ที่เป็นการนิรโทษกรรมผลอันเกิดจากการรัฐประหารเอาไว้ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จนกลายเป็นมาตราของซุปเปอร์รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นมาตราที่นอกจากจะเป็นการนิรโทษกรรมให้กับพรรคพวกของการรัฐประหารแล้ว ยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้เสียหายได้มีการตรวจสอบกระบวนการเหล่านั้นได้เลย อาทิ คตส.(คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ที่ออกมาตรวจสอบนักการเมืองและบุคคลมากมาย แต่กลับไม่เปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้ได้ตรวจสอบ คตส.”

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ไปถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีที่พรรคเพื่อไทยเตรียมแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 309 แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างว่า “ยังไม่มีการคุยกันเรื่องนี้เลย” ขณะที่นายสุชาติ ลายน้ำเงิน รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า ส่วนตัวสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะมีที่มาจากการรัฐประหาร “แม้แต่ พล.อ.สนธิ (บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ) ในฐานะอดีตประธาน คมช.(คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ยังเห็นด้วยว่าประเทศต้องกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ส่วนพรรคเพื่อไทยถ้าไม่แก้ตอนที่มีอำนาจ ทำตอนที่มีเสียงข้างมากในสภา แล้วจะไปแก้ตอนไหน”

เป็นที่น่าสังเกตว่า ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ยังไม่มีมติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างที่คาดไว้ก่อนหน้า โดยนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า ส.ส.ส่วนใหญ่ของพรรคเห็นว่า พรรคได้หาเสียงเป็นสัญญาประชาคมไว้ จึงต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน โดยเริ่มต้นที่การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ก่อน เพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร. แต่พรรคยังไม่มีมติใดใด เพราะต้องหารือเรื่องวันเวลาที่เหมาะสมในการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยค่อนข้างเสียงแตกเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงนี้ โดยบอก สิ่งแรกที่รัฐบาลควรทำ คือ แก้ไขปัญหายาเสพติด 2.แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ 3.ปราบเว็บไซต์หมิ่นสถาบัน 4.ขจัดการทุจริต เมื่อ 4 ข้อไปได้ดี ค่อยไปทำเรื่องอื่น โดยเฉพาะเรื่องที่แค่เริ่มต้นก็สร้างความขัดแย้ง เรื่องแบบนี้ไม่ควรพูดพร่ำเพรื่อ ควรกำหนดประเด็นให้ตกผลึก คุยกันวงเล็กให้ชัดเจนแล้วค่อยพูด

ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เห็นว่า รัฐบาลไม่ควรชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมีบทเรียนมามากแล้ว แม้จะไม่แก้รัฐธรรมนูญ กระบวนการโค่นล้มรัฐบาลก็มีอยู่ดี เหมือนในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ไม่ได้มีการแก้ไขแม้แต่มาตราเดียว ก็ยังถูกโค่นล้ม ฉะนั้นรัฐบาลต้องรีบแก้ไขก่อนที่ประชาชนจะดำเนินการเอง เพราะทราบมาว่าภาคประชาชนได้มีการล่ารายชื่อ 5 หมื่นคนเพื่อยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 แล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น รัฐบาลไม่มีสิทธิขัดขวางประชาชน

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ได้มีมติเห็นควรให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้มีการตั้ง ส.ส.ร. โดยจะให้รัฐบาลและ ส.ส.เป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาคู่กัน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น 1 ในนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ส่วนช่วงเวลาที่จะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น วิปรัฐบาลเห็นว่า ควรจะอยู่ในสมัยประชุมนี้ โดยคาดว่าน่าจะเริ่มได้ในเดือน ม.ค.หรือ ก.พ.2555

ส่วนท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค บอกว่า ถ้าแก้เพื่อปรับปรุงระบบการเมืองให้ดีขึ้น ก็ไม่เป็นปัญหา แต่อย่าผูกขาดเฉพาะประเด็นที่รัฐบาลตั้งธงเอาไว้ในการแก้ไขมาตราใดมาตราหนึ่ง รวมทั้งต้องดูที่มาของ ส.ส.ร.- ขอบเขต และกระบวนการต่างๆ ด้วย แต่ถ้ามุ่งเรื่องนิรโทษกรรมสร้างความขัดแย้ง ก็ไม่เห็นด้วย นายอภิสิทธิ์ ย้ำด้วยว่า ส่วนตัวแล้วเห็นว่าเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนในช่วงนี้ รัฐบาลควรนำเวลาไปทุ่มเทกับการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากกว่า

ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ก็ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงนี้เช่นกัน โดยบอกว่า หากพรรคเพื่อไทยจะแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเรื่องที่หาเสียงไว้แล้ว ยิ่งจะเป็นการสุมฟืนเข้าไปในกองไฟ ทำให้บ้านเมืองร้อนเกินความจำเป็น เพราะในสภาเองมีคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน ทำหน้าที่อยู่แล้ว ควรปล่อยให้การขับเคลื่อนผ่านระบบรัฐสภาจะดีกว่า

ด้านที่ประชุมพรรคชาติไทยพัฒนาเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ได้ข้อสรุปว่า พร้อมร่วมมือหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่แตะมาตรา 309 รวมทั้งต้องไม่แก้เพื่อนำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศ เพื่อให้บรรยากาศในการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่เกิดความขัดแย้ง

ส่วนท่าทีของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)นั้น นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. และนางสดศรี สัตยธรรม 1 ใน กกต. ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรมีการทำประชามติก่อนว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ หากใช้วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนแล้วค่อยทำประชามติ จะถือว่าเป็นการผูกมัดว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจเกิดปัญหาต่อรัฐบาลได้

4. สมาคมต้านโลกร้อน จับมือชาวบ้านฟ้องศาลปกครองรัฐบาลแก้น้ำท่วมเหลว ด้านสภาทนายฯ เตรียมฟ้องแทนประชาชน 26 ธ.ค.นี้!

ตัวแทนสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้าน ยื่นฟ้องรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องต่อศาลปกครอง ฐานแก้ปัญหาน้ำท่วมล้มเหลว(21 ธ.ค.)
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้านพื้นที่ต่างๆ รวม 352 คน ได้ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้องต่อศาลปกครอง ฐานบริหารจัดการน้ำไร้ประสิทธิภาพและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จนก่อให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ สำหรับผู้ถูกฟ้องมี 11 คน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) ,นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ,นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ,นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน ,อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ,อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ,อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ,อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ,ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.

ทั้งนี้ คำฟ้องระบุว่า ผู้ถูกฟ้องได้กระทำการละเมิดในลักษณะผิดพลาด ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ความสามารถ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการบริหารจัดการน้ำ ไม่ทำตามอำนาจหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จนก่อให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ เริ่มตั้งแต่มีมวลน้ำปริมาณมากท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ ไล่มายังภาคกลางหลายจังหวัด กระทั่งมาถึง กทม.และปริมณฑล แต่ผู้ถูกฟ้องไม่ใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ ในการจัดการป้องกันและแก้ปัญหาให้ลุล่วง แต่กลับบริหารจัดการผิดพลาดสร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชน กระทบสิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2550 เช่น การที่ผู้ถูกฟ้องที่ 3-5 ไม่ชะลอน้ำในทุ่งในช่วงแรก โดยอ้างว่าเพื่อต้องการให้พื้นที่นาข้าวใน จ.สุพรรณบุรีได้เก็บเกี่ยวก่อน และการวิเคราะห์ปริมาณน้ำผิดพลาดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยปล่อยให้กักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มากเกินควร โดยหวังว่าจะเก็บกักน้ำเพื่อสนับสนุนนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนมากเกินกว่าศักยภาพที่เขื่อนจะรับได้

ขณะที่การตั้ง ศปภ.ตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องที่ 1 ควรตั้งผู้ที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำมาเป็นผู้อำนวยการ กลับตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่มีประสบการณ์เฉพาะงานตำรวจสืบสวนปราบปราม จึงสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาและความสามารถในเชิงบริหารจัดการ นอกจากนี้การแจกจ่ายสิ่งของและอุปกรณ์ยังชีพก็ไม่ทั่วถึง ไม่เป็นระบบ มีการกั๊กไว้เพื่อประโยชน์ของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล เป็นต้น ส่วนผู้ถูกฟ้องที่ 11 คือ ผู้ว่าฯ กทม.นั้น ในการบริหารปัญหาน้ำท่วม ก็ทำแต่ปกป้องพื้นที่ของ กทม.เพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้มอบภาพรวมของพื้นที่ใกล้เคียงใน จ.ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม และฉะเชิงเทรา

ผู้ฟ้องจึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดร่วมกันรับผิดชอบ โดยจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ฟ้องตามความเป็นจริงทุกคน และให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องกำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรม แก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้และไกล ภายใต้กรอบการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องที่ 1 สั่งการให้ ครม.จัดตั้งกองทุนสวัสดิการเพื่อฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยให้รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นทุกๆ 5% ของอัตราเงินเฟ้อของประเทศ โดยให้บริการจัดการโดยภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้านศาลได้รับคำฟ้องไว้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไปว่าจะประทับรับฟ้องเพื่อมีคำพิพากษาหรือไม่

ขณะที่ภาคประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมก็เตรียมฟ้องรัฐบาลฐานบริหารจัดการน้ำล้มเหลวเช่นกัน โดย รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า วันที่ 26 ธ.ค.นี้ สภาทนายความเตรียมตั้งทนาย 19 คน ยื่นฟ้องหน่วยงานภาครัฐต่อศาลปกครอง ศาลอาญา และศาลแพ่ง ฐานแก้ปัญหาน้ำท่วมผิดพลาด จนทำให้ประชาชนเดือดร้อน โดยจะฟ้องทั้ง ศปภ. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร
กำลังโหลดความคิดเห็น