เวลา 10.00 น.วันที่ 14 ธ.ค.54 คือวันที่ศาลเบิกตัว “นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง” (กี้ร์) จำเลยก่อการร้าย ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อไต่สวนตามคำร้องขอประกันตัวครั้งที่ 2 หลังจากเมียรัก “นางระพิพรรณ พงษ์เรืองรอง” ฐานะ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางหลักทรัพย์ประกันตัวสูงถึง 4 ล้านบาท พร้อมอ้างเหตุผลนายอริสมันต์ ถูกคุกคาม ทำให้ไม่ได้รับความปลอดภัยในชีวิตจึงต้องหลบหนี!
สำหรับชีวิตในคุก นับตั้งแต่วันที่นายอริสมันต์เข้ามอบตัวต่อดีเอสไอในวันที่ 7 ธ.ค.54 จนถึงขณะนี้เขาถูกจองจำนาน 7 วันแล้ว ส่วนเหตุผลการไต่สวนขอปล่อยตัวชั่วคราวที่เขาอ้าง อย่างไม่สำนึกผิดต่อหน้าศาลว่า เขาถูกไล่ล่าหมายชีวิต พร้อมกับยืนยันว่าเขาเป็นผู้ถูกกระทำ ส่วนชีวิตเขาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เขาเป็นคนรักสงบ มีความยุติธรรม ไม่นิยมความรุนแรง เป็นคนเรียบร้อย เที่ยงตรง ต่อสู้ในกรอบของกฎหมาย และพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ต่อสู้คดีต่อศาลอย่างไม่ผิดเงื่อนไขในทุกคดี
19 ธันวาคม 54 ศาลสถิตยุติธรรม จะเชื่อในคำให้การของ “อริมันต์ พงษ์เรืองรอง” หรือไม่ และศาลจะมีดุลพินิจออกมาอย่างไร ไม่นานเกินรอมีคำตอบ ว่าเขาจะต้องใช้ชีวิตต่อไปในคุก หรือได้รับอิสรภาพชั่วคราวออกมานอกคุก และถือเป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ ที่จำเลยผู้มีหมายจับติดตัวหลายคดี กล้ายกข้อต่อสู้เรื่องการถูกไล่ล่ามาเป็นประเด็นสำคัญในการยื่นขอประกันตัวต่อศาล ทั้งๆ ที่ความจริงสิทธินั้นเขาอาจจะไม่มีเสียด้วยซ้ำไป ในฐานะจำเลยปลุกระดมเผาบ้านเผาเมือง
สำหรับชะตากรรมของ “ไอ้กี้ร์” แดงฮาร์ดคอร์ผู้นี้ ขอพักไว้เพื่อรอฟังดุลพินิจของศาลก่อน และเพื่อให้ครบถ้วนกระบวนความ ต่อขบวนการแดงก่อการร้าย จึงขอย้อนไปดูบรรดาเหล่าผู้ก่อการร้าย นปช. โดยเฉพาะแกนนำทั้งหลาย ว่าแต่ละคนถูกจองจำ (ในคุก) นานเพียงใด กว่าที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
นับจาก 15 มิ.ย.53 เจ้าหน้าที่ได้นำตัวแกนนำ และการ์ด นปช.ทั้ง 11 คน ขึ้นเฮลิคอปเตอร์จากค่ายนเรศวร จ.เพชรบุรี มาฝากขังที่ศาล ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่ดีเอสไอยื่นคำร้องฝากขัง 11 แกนนำ นปช. ซึ่งประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธานกลุ่มแนวร่วประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ.เหวง โตจิราการ, นายขวัญชัย สาราคำ หรือไพรพนา, นายวิภูแภลง พัฒนภูมิไท, นายนิสิต สินธุไพร นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก นายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช. รวม 8 คน และนายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดา คนสนิท พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล,นายอำนาจ อินทโชติ และนายสมบัติ มากทอง กลุ่มการ์ด นปช. อีก 3 คน รวม 11 คน ซึ่งทั้งหมดตกเป็นผู้ต้องหาคดีร่วมกันใช้หรือสนับสนุนผู้อื่นให้กระทำความผิดฐานก่อการร้ายตาม ป.อาญา ม.135/1-3 และ ม.83-86 มีอัตราโทษสูงสุดประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุก 3-20 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-1,000,000 บาท
โดยในวันเดียวกันนั้นเอง การประกันตัวครั้งแรกได้เริ่มขึ้น โดยทนายยื่นขอประกันตัวคนละ 1 ล้านบาท แต่ศาลไม่ให้ประกัน 11 แกนนำ-แนวร่วม นปช. พร้อมให้เหตุผลสั้นๆ เข้าใจง่ายว่า “เป็นคดีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวไปหวั่นว่าจะหลบหนี จากนั้นได้ส่งตัวเข้าคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที”
29 ก.ค.53 ทนายความนายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช.ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเช็คเงินสด 3 ล้านบาท แต่ศาลไม่อนุญาต อ้างไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
30 ก.ค. 53 ฟ้าเปิดสำหรับชะตากรรมของ “วีระ มุสิกพงศ์” แกนนำ นปช. เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งปล่อยตัว หลังยื่นประกัน 6 ล้าน โดยศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศหรือพ้นพื้นที่ กทม.พร้อมกับให้รายงานตัวทุก 15 วัน
หลังเวลาผ่านไปร่วม 8 เดือน ต่อมา 24 มี.ค.54 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งคลายปม ลดเงื่อนไขการประกันตัวให้นายวีระ จากวงเงิน 6 ล้านบาท เหลือ 6 แสนบาท
รวมระยะเวลาที่ “นายวีระ” ติดคุกตั้งแต่ 15 มิ.ย. - 30 ก.ค.53 ยื่นขอประกันตัว 2 ครั้ง แต่ไม่ได้รับการประกันตัว รวมติดคุกจนถึงวันปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเวลา 45 วัน
ส่วนนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ.เหวง โตจิราการ ,นายขวัญชัย สาราคำ หรือไพรพนา, นายวิภูแภลง พัฒนภูมิไท, นายนิสิต สินธุไพร และนายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก และนายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช. รวม 7 คน และนายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดา คนสนิท พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล, นายอำนาจ อินทโชติ และนายสมบัติ มากทอง กลุ่มการ์ด นปช. รวม 11 คน
16 มิ.ย.53 ทนายยื่นประกันตัว 11 ผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย ศาลนัดฟังคำสั่ง 29 มิ.ย.53
29 มิ.ย.53 ศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง ไม่ให้ประกัน 11 ผู้ก่อการร้าย ชี้โทษถึงตาย หากให้ประกันเกรงจะหลบหนี เพราะเป็นภัยแก่ประชาชนส่วนรวม
17 ส.ค. 53 ทนายยื่นประกัน 7 แกนนำ นปช. ได้แก่ นายณัฐวุฒิ, นายก่อแก้ว, นพ.เหวง, นายยศวริศ, นายนิสิต,นายวิภูแถลง, นายขวัญชัย พร้อมหลักทรัพย์คนละ 2 ล้านบาท และในวันเดียวกันศาลอาญาได้อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ นพ.เหวง ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินย่านดอนเมือง 3 งาน 43 ตารางวา ตีราคาประเมิน 7 ล้านขอประกันตัว แต่ศาลยกคำร้อง โดยทนายความอุทธรณ์ต่อ แต่ก็ต้องผิดหวังอีกครั้ง เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
27 ธ.ค.53 นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. ยื่นประกันตัว 7 แกนนำ ให้เหตุผลเข้ามอบตัวเอง ไม่ยุ่งพยาน และไม่เคยมีประวัติเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ แต่ศาลไม่อนุญาต สั่งยกคำร้อง
4 ม.ค.54 นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. ยังไม่ละความพยายาม ได้นำเงินสด 21 ล้านบาท ขอประกัน 7 แกนนำ นปช. โดยตีราคาคนละ 3 ล้าน
จากความพยายามครั้งนี้ ประกอบกับอยู่ในช่วงปรองดอง ต่อมา 22 ก.พ.54 ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว 7 แกนนำ นปช. และอีก 1 แนวร่วม นปช. คือ นายภูมิกิตติ สุขจินทอง เนื่องจากป่วยเป็นโรคหัวใจ พร้อมสั่งห้ามปลุกม็อบ-ออกนอกประเทศ โดยศาลให้เหตุผลว่า ข้อเท็จจริงมีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
รวม 7 แกนนำคนสำคัญ ยื่นขอประกัน 5 ครั้ง และติดคุกตั้งแต่ 15 มิ.ย.53 - 22 ก.พ.54 รวมเป็นเวลากว่า 9 เดือน ในการชดใช้กรรมในคุก ก่อนได้รับการปล่อยตัว
สำหรับนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ ปช. ที่เคยได้เอกสิทธิ์ ส.ส.คุ้มครองมาตลอด แต่ก็ไม่รอด เมื่อ 12 พ.ค.54 ศาลมีคำสั่งถอนประกัน “จตุพร พรหมพันธุ์ และ นิสิต สินธุไพร” เนื่องจากเห็นว่าพฤติการณ์คำพูดมีลักษณะส่อไปในทางที่อาจทำให้ประชาชนทั่วไปสับสนในข้อเท็จจริงจนถึงขั้นก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งนับว่าเป็นการก่อเหตุอันตรายและเป็นภัยร้ายแรง ต่อความมั่นคงของรัฐ ทำให้ทั้ง 2 คน ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
18 พ.ค.54 ศาลยกคำร้องไม่ให้ประกันตัวชั่วคราว “จตุพร” ในการยื่นขอไปลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ระหว่าง 19-23 พ.ค. ที่สนามกีฬาไทยญี่ปุ่น-ดินแดง แม้ว่าจะอ้าง “ก่อแก้ว” เคยขอได้มาก่อน และยินดีที่จะออกค่าใช้จ่ายเอง
21 มิ.ย.54 ทนาย “จตุพร” ยังไม่ละความพยายาม ได้ยื่นขอประกันตัวชั่วคราวให้ลูกความ ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ในวันที่ 3 ก.ค.54 แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง อ้างไม่มีเหตุอื่นต้องเปลี่ยนแปลง คงคำสั่งเดิม
ถัดมาอีก 1 วัน 22 มิ.ย.54 ทนาย “จตุพร” ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยขอไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยกล่าวถึงเหตุผลว่า ขณะมีข้อเท็จจริงที่น่าจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ ซึ่งก่อนหน้าที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูงนั้น ก็ชี้ให้ศาลเห็นว่าจำเลยร่วมอีก 17 คน ที่ถูกฟ้องคดีต่อศาลไปแล้วก็ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ได้รับปล่อยตัวชั่วคราว ส่วนที่เหตุผลศาลยังมีข้อกังวล ว่า หากปล่อยตัวจะก่อเหตุอันตรายอื่น ข้อเท็จจริงเห็นแล้วว่านับตั้งแต่เพิกถอนประกัน จำเลยไม่มีการกระทำใดๆ ที่ให้เกิดเหตุอันตราย หรือความวุ่นวายประกอบกับจำเลย ก็ลงสมัคร ส.ส.เลือกตั้ง ซึ่งมีกฎหมายการเลือกตั้งควบคุมอยู่แล้ว ย่อมไม่อาจทำการใดๆ ได้
ขณะที่ “จตุพร และทนาย” ยังไม่ยุติแค่นั้น เขาได้ยื่นประกันต่อศาลอุทธรณ์ ต่อมา 27 มิ.ย. 54 ศาลอุทธรณ์มีสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัว “จตุพร-นิสิต” อีกครั้ง โดยศาลชี้ชัดคดีก่อการร้ายมีโทษหนัก พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง หากอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวอาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อย จึงไม่มีเหตุสมควรปล่อย
1 ก.ค.54 “นิสิต สินธุไพร” ให้ทนายยื่นขอประกันด้วยหลักทรัพย์เงินสด 2 ล้าน แต่ศาลอ่านคำสั่งวันที่ 6 ก.ค. ไม่ให้ประกัน ชี้เป็นคดีอุกฉกรรจ์ โทษสูง เกรงออกไปยุ่งพยานหลักฐาน สร้างความวุ่นวายให้บ้านเมือง
1 ก.ค.54 ทนาย นปช. ยื่นคำร้องขอประกันตัว “จตุพร พรหมพันธุ์” ด้วยหลักทรัพย์ 2 ล้านบาท เพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต ชี้ไม่ปรากฏเหตุใหม่ที่จะให้ปล่อยตัวชั่วคราว จึงไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
6 ก.ค.54 ทนายของ “จตุพร” ลักไก่ย่องเงียบหอบเงินสด 2 ล้าน ยื่นขอประกันอีกรอบ แต่ศาลไม่อนุญาต ชี้ กกต.ไม่รับรองสถานภาพ ส.ส. ให้ “จตุพร” และยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
จากความพยายามของทนายความ ต่อมา 2 ส.ค.54 เขาก็ประสบความสำเร็จ เมื่อศาลอนุญาตให้ประกันตัว “จตุพร-นิสิต” วงเงินคนละ 6 แสนบาท โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามก่อเหตุวุ่นวาย ห้ามออกนอกประเทศ
รวม นายจตุพร ยื่นขอประกัน 8 ครั้ง ส่วนนายนิสิต ยื่นขอประกัน 4 ครั้ง ติดคุกตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. - 2 ส.ค.54 รวมติดคุก 4 เดือน จึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
ขณะที่ระดับแกนนำที่เข้ามอบตัวและได้รับการประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน ดีเอสไอ
เริ่มจาก 18 พ.ย.53 นายวิเชียร ขาวขำ ผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย ได้เข้ามอบตัวที่ดีเอสไอ โดยดีเอสไอให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 6 แสนบาท เพราะไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ข่มขู่พยาน
10 มี.ค.54 นายอดิศร เพียงเกษ แกนนำ นปช. ผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย เข้ามอบตัวดีเอสไอ พร้อมยื่นประกันตัว 6 แสนบาท เจ้าหน้าที่อนุญาต พร้อมมีเงื่อนไขห้ามยุยง ปลุกปั่น และห้ามออกนอกประเทศ
11 มี.ค.54 นายอารีย์ ไกรนรา หัวหน้าการ์ด นปช., นายวิสา คัญทัพ และนางไพจิตร อักษรณรงค์ ผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย เข้ามอบตัวที่ดีเอสไอ โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกันตัว แต่มีเงื่อนไขห้ามยุยง ปลุกปั่น และห้ามออกนอกประเทศ
ส่วน นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์, พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์, นายพายัพ ปั้นเกตุ และนายชินวัฒน์ หาบุญพาด 4 แกนนำ นปช. ผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย เข้ามอบตัวกับดีเอสไอ วันที่ 14 มี.ค. 54 โดยได้รับการประกันตัวในวงเงินประกันคนละ 6 แสนบาท แต่ห้ามปลุกระดม ยั่วยุ ปลุกปั่น
และล่าสุด 7 ธ.ค. 54 นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง (กี้ร์) แกนนำ นปช. เข้ามอบตัวที่ดีเอสไอ ถูกแจ้ง 3 ข้อหา คือคดีก่อการร้าย คดีบุกรุกอาคารรัฐสภา และคดีปราศรัยยุยงปลุกปั่น
โดยที่ในวันเดียวกัน อัยการควบคุมตัว “อริสมันต์” ส่งฝากขังศาล และศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยศาลชี้โทษสูง เป็นคดีร้ายแรง และหลบหนีไปนาน
ดังนั้น ท้ายสุดสุดท้าย 19 ธ.ค.54 ศาลจะปล่อยตัวชั่วคราว “อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง” จำเลยแดงฮาร์ดคอร์ผู้นี้ หรือไม่? คงต้องขึ้นอยู่กับ “ข้าแต่ศาลที่เคารพ” ครับผ้ม!!!!