xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 10-16 ก.ค.2554

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ-พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมหาสมาคม
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “ในหลวง” จะเสด็จออกมหาสมาคม ณ มุขเด็จ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท รับการถวายพระพร 5 ธ.ค.ปีนี้!

เมื่อวันที่ 13 ก.ค.นายจตุรงค์ ปัญญาดิลก ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดงานพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธ.ค. 2554 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ประชุมได้รับทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดการพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธ.ค. 2554 ระหว่างวันที่ 4-8 ธ.ค.2554 โดยวันที่ 5 ธ.ค.เวลา 10.30น. กำหนดเสด็จออกมหาสมาคม ณ มุขเด็จ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ส่วนพิธีซ้อมขบวนอัญเชิญพระเต้าปทุมนิมิตทอง เงิน นาก ซึ่งบรรจุน้ำพระพุทธมนต์ รวมทั้งการซ้อมถวายพระพรชัยมงคล จะมีขึ้นในวันที่ 27 พ.ย.

นายจตุรงค์ เผยด้วยว่า รัฐบาลได้เตรียมจัดพิธีและกิจกรรม ซึ่งเชื่อมโยงกับงานพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคม โดยจะจัดพิธีถวายพระพรชัยมงคลและงานสมโภช ระหว่างวันที่ 3-11 ธ.ค. ณ บริเวณท้องสนามหลวง ,ถนนราชดำเนินตลอดทั้งสาย ,บริเวณลานพระราชวังดุสิต รวมถึงภายในสวนอัมพรและสนามเสือป่า ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดงานพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมจะแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อสนับสนุนและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปอย่างสมพระเกียรติและเรียบร้อยต่อไป

2. ศาลเยอรมนี สั่งอายัดเครื่องบินโบอิ้งของไทย หวังให้ชดใช้แพ้คดีโทลล์เวย์ ขณะที่รัฐบาลไทย จี้ถอนอายัด ยัน เป็นเครื่องบินส่วนพระองค์!
แฟ้มภาพ-เครื่องบินโบอิ้ง 737
เมื่อวันที่ 14 ก.ค. นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงกรณีที่ศาลเยอรมนีได้สั่งอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 ของไทยที่นครมิวนิกเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ว่า ถือเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง ซึ่งศาลเยอรมนีไม่มีสิทธิทำเช่นนั้น ทั้งนี้ นายกษิต เล่าว่า รัฐบาลไทยมีปัญหาพิพาทกับบริษัทวอเตอร์ บาว ของเยอรมนี เกี่ยวกับสัมปทานการก่อสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์เมื่อปี 2543 โดยมีการต่อสู้ด้านคดีจนไปจบที่คณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2552 ซึ่งชี้ขาดให้ประเทศไทยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินเกือบ 30 ล้านยูโร หรือราว 1,200 ล้านบาท บวกดอกเบี้ย 6 เดือนในอัตราร้อยละ 2 ตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.2549 รวมถึงค่าใช้จ่ายในกระบวนการอนุญาโตตุลาการของบริษัทวอเตอร์ บาว อีกเกือบ 2 ล้านยูโร หรือราว 80 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าประเทศไทยผิดพันธกรณี

หลังจากนั้น วันที่ 26 มี.ค.2553 บริษัทวอเตอร์ บาว เริ่มดำเนินการเพื่อให้ไทยปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่นครนิวยอร์ก ขณะที่ฝ่ายไทยได้ยื่นอุทธรณ์ โดยหน่วยงานของไทยที่รับผิดชอบเรื่องนี้คือ สำนักงานอัยการสูงสุด ส่วนเจ้าของคดีคือ กระทรวงคมนาคม อย่างไรก็ตาม เมื่ออนุญาโตตุลาการชี้ขาดแล้ว เจ้าทุกข์สามารถบังคับให้รัฐบาลไทยชดใช้ที่ประเทศไหนก็ได้ที่เป็นสมาชิกอนุสัญญานิวยอร์ก

ส่วนกรณีที่เกิดเหตุการณ์ศาลเยอรมนีสั่งอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 ของไทยที่นครมิวนิคนั้น เกิดขึ้นหลังจากบริษัทวอเตอร์ บาว ได้ฟ้องต่อศาลเยอรมนีให้สั่งยึดเครื่องบินของไทยที่จอดอยู่ที่นครมิวนิก ซึ่งศาลได้ตัดสินให้อายัดเครื่องบินดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลไทยทราบเรื่องในวันที่ 13 ก.ค.จึงได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ศาลเยอรมนีถอนการอายัดเครื่องบินดังกล่าว โดยยืนยันว่า เครื่องบินโบอิ้ง 737 ที่ถูกอายัดนี้ไม่ใช่ทรัพย์สินของรัฐบาลไทย แต่เป็นเครื่องบินส่วนพระองค์

ทั้งนี้ นายกษิตได้นำคณะนักกฎหมายของไทยเดินทางไปยังประเทศเยอรมนีเมื่อวันที่ 15 ก.ค.เพื่อพบหารือเรื่องที่เกิดขึ้นกับนายกีโด เวสเตอร์เวลเล รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี แต่ได้พบรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศเยอรมนีแทน เนื่องจากนายเวสเตอร์เวลเลอยู่ระหว่างเดินทางเยือนเม็กซิโก โอกาสนี้ นายกษิตได้แจ้งความกังวลของฝ่ายไทย รวมทั้งได้มอบข้อมูลหลักฐานเพื่อยืนยันว่าเครื่องบินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินของรัฐบาล นายกษิต ได้ย้ำตั้งแต่ก่อนเดินทางไปเยอรมนีด้วยว่า “เราเคารพกระบวนการยุติธรรมของมิตรประเทศ และไม่เข้าไปแทรกแซง แต่เราอยู่ในสถานะที่ให้ข้อมูลได้ ขณะนี้ข้อมูลทั้งหมดถูกส่งไปยังศาลเยอรมนีแล้วในหลายช่องทาง เมื่อหลักฐานแน่ชัดว่าไม่ใช่ทรัพย์สินของรัฐบาล มันไม่มีเหตุผลอันใดที่จะไม่คืน ไม่อยากให้เรื่องนี้กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวและไม่อยากให้กระทบความรู้สึกดีดีที่มีต่อเยอรมนี”

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า อัยการสูงสุดได้เดินทางไปยังเยอรมนีเมื่อวันที่ 14 ก.ค. เพื่อนำข้อเท็จจริงไปให้ศาลเยอรมนีได้พิจารณาถอนการอายัดเครื่องบินดังกล่าว ซึ่งศาลได้พิจารณาแล้ว เดิมคิดว่าศาลจะตัดสินได้เลย แต่ปรากฏว่าฝ่ายบริษัทของเยอรมนีได้ไปยื่นเอกสารคัดค้าน ทำให้ศาลต้องพิจารณาเอกสารต่างๆ เพิ่มเติม และนัดตัดสินในวันที่ 18 ก.ค. นายอภิสิทธิ์ บอกด้วยว่า ตนได้สั่งการให้อธิบดีกรมขนส่งทางอากาศเดินทางไปสมทบกับทีมอัยการสูงสุดแล้ว เพื่อดูเอกสารของฝ่ายบริษัทเยอรมนีที่ยื่นคัดค้านการถอนอายัดเครื่องบินของไทย เพื่อจะได้หักล้างกัน เพราะเข้าใจว่าเอกสารของบริษัทเยอรมนีน่าจะเป็นข้อมูลเก่าในช่วงที่เครื่องบินลำดังกล่าวยังอยู่ในความดูแลของกองทัพอากาศ ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เยอรมนีแต่อย่างใด

ด้าน พล.อ.ต.มณฑล สัชฌุกร โฆษกกองทัพอากาศ ได้ออกมายืนยันว่า เครื่องบินโบอิ้ง 737 ที่ถูกอายัดไว้ที่ประเทศเยอรมนีนั้น ทางกองทัพอากาศได้ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อปี 2550 ในช่วงที่ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ ทำให้สถานะของเครื่องบินลำดังกล่าวไม่ใช่เครื่องบินของทางราชการแต่อย่างใด แต่เป็นเครื่องบินส่วนพระองค์ โดยมีหนังสือทูลเกล้าฯ อย่างถูกต้อง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ขอหนังสือดังกล่าวเพื่อนำไปยืนยันกับทางเยอรมนี โดยกองทัพอากาศได้ส่งให้เรียบร้อยแล้ว

3. กกต. ประกาศรับรอง ส.ส.ล็อตแรกแค่ 358 “ยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์”ถูกแขวน ด้านพันธมิตรฯ ร้องศาลฎีกาฯ ให้การเลือกตั้งโมฆะ!
แกนนำพันธมิตรฯ ยื่นศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค.เป็นโมฆะ(13ก.ค.)
เมื่อวันที่ 12 ก.ค.คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเป็นทางการล็อตแรกจำนวนกี่คน ท่ามกลางบรรยากาศที่มีกลุ่มคนเสื้อแดงไปชุมนุมรอฟังผลการพิจารณาที่หน้าสำนักงาน กกต.ประมาณ 50 คน อย่างไรก็ตาม หลังใช้เวลาประชุมทั้งวันนานถึง 9 ชั่วโมง กกต.ก็ยังไม่แถลงผลการพิจารณาแต่อย่างใด โดยนัดประชุมต่อในวันรุ่งขึ้น 13 ก.ค. ขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงได้สลายตัวไปก่อนที่ กกต.จะเลิกประชุม

ทั้งนี้ มีรายงานว่า กกต.เห็นควรให้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งล็อตแรกจำนวน 358 คน จากจำนวนทั้งหมด 500 คน โดยเป็นการประกาศรับรอง ส.ส.แบบแบ่งเขต 249 คน จากทั้งหมด 375 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 109 คน จากทั้งหมด 125 คน ส่วนว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 16 คนที่เหลือที่ยังไม่ได้ประกาศรับรองนั้น มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ,นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ รวมอยู่ด้วย

ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.ได้แถลงถึงเหตุที่ กกต.ประกาศรับรองการเป็น ส.ส.แค่ 358 คนว่า เนื่องจากมีผู้ร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งและร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งในส่วนของพรรคเพื่อไทย มีผู้ที่ถูกร้องเรียนว่าขาดคุณสมบัติ เนื่องจากถูกคุมขังโดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย กกต.จึงต้องตรวจสอบว่าขาดจากสมาชิกภาพพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ซึ่งมีอยู่จำนวน 12 คน ส่วนใหญ่เป็นว่าที่ ส.ส.ที่เป็นแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง เช่น นายจตุพร พรหมพันธุ์ ,นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ,นพ.เหวง โตจิราการ ,พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ,นายพิชิฎ ชื่นบาน อดีตทนาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เคยถูกศาลพิพากษาจำคุกคดีหมิ่นศาลกรณีสินบนถุงขนม 2 ล้านบาท เป็นต้น

ส่วนเหตุที่ยังไม่ประกาศรับรอง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น นายสุทธิพล บอกว่า เนื่องจากถูกร้องเรียนว่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้งจากกรณีให้เครือญาติที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งช่วยหาเสียง และกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ผัดหมี่โคราชที่ จ.นครราชสีมาช่วงหาเสียง ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกร้องเรียนว่าได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่รัฐจัดมหกรรมลดราคาสินค้าจำหน่ายสินค้าราคาถูก ซึ่งอาจเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชน กกต.จึงยังไม่ประกาศรับรอง ต้องรอตรวจสอบก่อน

ด้านนายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการ กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง บอกว่า กกต.จะรับรอง ส.ส.ที่มีเรื่องร้องเรียน แต่ กกต.ไม่รับหรือยกคำร้องในสัปดาห์หน้า(19 ก.ค.) แต่ถ้ายังเหลือว่าที่ ส.ส.คนใดยังไม่ได้รับรองอีก ต้องรอรับรองครั้งสุดท้ายไม่เกินวันที่ 28 ก.ค. พร้อมเชื่อว่า กกต.จะสามารถประกาศรับรอง ส.ส.ได้ร้อยละ 95 เพื่อให้เพียงพอต่อการเปิดประชุมสภาอย่างแน่นอน นอกจากนี้ กกต.ยังต้องเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งซ่อม สำหรับผู้ที่ กกต.แจกใบเหลือง(สั่งเลือกตั้งใหม่) ในวันที่ 31 ก.ค.นี้ด้วย

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยนับเป็นพรรคแรกที่ถูกแจกใบเหลืองแล้ว 1 ใบ คือ นายสมคิด บาลไธสง ว่าที่ ส.ส.หนองคาย เขต 2 พรรคเพื่อไทย โดยที่ประชุม กกต.(15 ก.ค.)มีมติเอกฉันท์สั่งให้เลือกตั้งใหม่ หลังมีผู้ร้องว่า นายสมคิดจ่ายเงินให้หัวคะแนนเพื่อให้ผู้ขับขี่รถสามล้อไปรับ-ส่งขนคนไปฟังการปราศรัยของนายสมคิดและพรรคเพื่อไทยที่ตลาดนัดคลองถมใหม่ ซึ่งเข้าข่ายให้ประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ เพื่อให้ลงคะแนนแก่ผู้สมัคร โดยกรณีดังกล่าวมีพยานถึง 8 ปากที่ให้การตรงกัน อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า กรณีนี้ กกต.หนองคายมีมติเอกฉันท์ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือให้ใบแดงนายสมคิด แต่ กกต.กลางกลับมีมติให้ใบเหลืองแทน

ด้านนายสมคิด บาลไธสง ได้ออกมาโวยหลังถูก กกต.แจกใบเหลืองว่า เรื่องดังกล่าวมีขบวนการจัดฉากเพื่อใส่ร้ายป้ายสีตน โดยแอบถ่ายภาพด้วยโทรศัพท์มือถือขณะที่ตนพูดคุยกับกลุ่มรถสามล้อที่เข้ามาติดต่อเพื่อขอนำป้ายหาเสียงไปติดที่รถเพื่อช่วยหาเสียง โดยมีแค่คนเดียวที่พยายามเรียกเก็บเงิน จนทำให้ตนได้รับใบเหลืองดังกล่าว

ด้านแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ ได้เข้ายื่นเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 ก.ค. เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค. และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ เนื่องจาก กกต.ไม่สามารถควบคุมดูแลและจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ โดยเฉพาะกรณีที่ กกต.วินิจฉัยให้ พล.ต.จำลอง และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกกว่า 2 ล้านคน ขาดสิทธิในการลงคะแนน เพราะมิได้ร้องขอเปลี่ยนแปลงการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง

ทั้งนี้ พล.ต.จำลอง เผยเหตุที่ต้องยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาฯ ว่า เนื่องจากเคยร้องเรื่องนี้ต่อ กกต.ขอให้อย่าเพิ่งรับรองผลเลือกตั้ง และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ กกต.กลับเพิกเฉยและได้รับรองผลเลือกตั้งไปแล้วบางส่วน ตนจึงจำเป็นต้องยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาฯ “การวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องของ กกต.นั้น ส่งผลให้ผมและคนอื่นๆ รวมแล้วกว่า 2 ล้านคน ต้องเสียสิทธิ ซึ่งหากมีสิทธิ อาจทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปจากที่ กกต.ได้รับรองไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าการยื่นคำร้องต่างๆ ไม่ได้มาจากความขุ่นข้องหมองใจกับ กกต.แต่จำเป็นต้องทำตามหน้าที่ที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง”

4. สภาอุตสาหกรรมฯ ค้านขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ชี้ หาก รบ.เดินหน้า ต้องชดเชยส่วนต่าง ด้าน “ยิ่งลักษณ์” เสียงอ่อย พร้อมคุยทุกภาคส่วน!

สภาอุตสาหกรรมภาคเหนือก็ค้านนโยบายขึ้นค่าจ้าง 300 บาทเช่นกัน
หลังจากพรรคเพื่อไทยได้หาเสียงเลือกตั้งด้วยการชูนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท และเมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ปรากฏว่า ภาคแรงงานได้ออกมาเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยทำตามสัญญาที่ได้ให้ไว้ตอนหาเสียง ด้านคณะกรรมการค่าจ้างกลาง(บอร์ดค่าจ้าง) ได้ประชุมพิจารณาเรื่องการปรับค่าจ้างตามที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอตัวเลขมาเมื่อวันที่ 11 ก.ค. โดยหลังประชุม นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยว่า ขณะนี้ทุกจังหวัดเสนอตัวเลขมาแล้ว ยกเว้นกรุงเทพมหานคร โดยมีจังหวัดที่ขอปรับค่าจ้าง 2-28 บาทจำนวน 35 จังหวัด ส่วนอีก 40 จังหวัดเห็นว่าควรปรับในเดือน ม.ค.2555 ดังนั้นบอร์ดค่าจ้างจะหารือเรื่องนี้อีกครั้งในช่วงต้นเดือน ส.ค.

ส่วนที่รัฐบาลชุดใหม่มีนโยบายจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทนั้น นายสมเกียรติ บอกว่า ที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่อยากฟังความชัดเจนจากรัฐมนตรีแรงงานคนใหม่ก่อน อย่างไรก็ตาม บอร์ดค่าจ้างมีข้อเสนอว่า หากจะปรับค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท น่าจะปรับในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึง จ.ภูเก็ตก่อน เพราะเป็นจังหวัดที่มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด จากนั้นค่อยทยอยปรับค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดอื่นๆ ในอัตราร้อยละ 40 จนกว่าจะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำที่ 300 บาทเท่ากันทุกจังหวัด

ด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ได้ประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 12 ก.ค.เพื่อหารือประเด็นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเช่นกัน หลังประชุม นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. เผยว่า ที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยกับนโยบายการขึ้นค่าจ้างดังกล่าว เนื่องจากมองว่าการปรับค่าแรงควรดำเนินไปตามกลไกตลาดที่คำนวณจากสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ คุณภาพชีวิต การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ควรดำเนินการโดยคณะกรรมการค่าจ้างกลางหรือไตรภาคี โดยปราศจากการกดดันจากรัฐบาล แต่หากรัฐบาลยืนยันจะเดินหน้านโยบายขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ส.อ.ท.ก็ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการจ่ายส่วนต่างของค่าแรงที่เพิ่มขึ้นให้ผู้ประกอบการในระยะเวลาหนึ่ง เมื่อผู้ประกอบการปรับตัวได้ค่อยหยุดช่วยเหลือ

นายพยุงศักดิ์ บอกด้วยว่า ส.อ.ท.จะประสานกับพรรคเพื่อไทยเพื่อหารือเรื่องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทอย่างเป็นทางการต่อไป แต่เบื้องต้นจะหารือนัดพิเศษกับคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. ,สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยภายในสัปดาห์หน้า

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และว่าที่นายกรัฐมนตรี พูดถึงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยยืนยันว่า ตั้งใจจะผลักดันให้เกิดขึ้นจริงในเดือน ม.ค.2555 แต่คงต้องหารือกับทุกภาคส่วนว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ต้องเร่งทำโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบและความเสียหายต่างๆ พร้อมเชื่อว่า ทุกอย่างน่าจะคุยกันได้ ส่วนที่ ส.อ.ท.ขอให้รัฐอุดหนุนส่วนต่างค่าแรงให้ผู้ประกอบการนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่า ขอเวลาทำงานอีกสักพัก และจะดูว่าจะมีคำตอบอย่างไร

ขณะที่นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ได้ออกมาย้ำว่า อยากให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ เพราะก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายว่า หากได้เป็นรัฐบาลจะขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาทต่อวัน รวมทั้งปรับเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีรุ่นใหม่เป็น 15,000 บาทต่อเดือน ทำให้พี่น้องแรงงานเทคะแนนให้ ถ้าไม่ทำตามที่สัญญา ก็เหมือนเป็นการหลอกลวงพี่น้องแรงงานทั่วประเทศ

5. กม.ให้เด็กทำบัตรประชาชนตั้งแต่อายุ 7 ปีมีผลบังคับแล้ว ด้าน “ยิ่งลักษณ์” รีบพา “น้องไปค์” ทำบัตร!

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย พาบุตรชายไปทำบัตรประชาชนที่สำนักงานเขตวังทองหลาง(11 ก.ค.)
หลังจาก พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2554 เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้บุคคลที่มีสัญชาติไทยจะต้องมีบัตรประชาชนเมื่ออายุครบ 7 ปี โดยจะต้องยื่นคำขอมีบัตรภายใน 60 วัน ส่วนผู้ที่อายุระหว่าง 7 ปีบริบูรณ์จนถึงก่อนอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ ให้ยื่นขอมีบัตรภายใน 1 ปี นับจากวันที่ 10 ก.ค.เป็นต้นไป

สำหรับบรรยากาศการยื่นขอมีบัตรประชาชนของเด็กที่อายุครบ 7 ปีทั่วประเทศ ปรากฏว่าเป็นไปอย่างคึกคัก โดยเฉพาะในวันที่สองของการเปิดให้ทำบัตร(11 ก.ค.) ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และว่าที่นายกรัฐมนตรี ก็ได้พา ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปค์ บุตรชาย เข้าทำบัตรประชาชนที่สำนักงานเขตวังทองหลาง ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันว่า การทำบัตรประชาชนให้เด็กตั้งแต่อายุ 7 ปี เป็นนโยบายที่ดี และพร้อมที่จะสานต่อ เพราะสามารถนำข้อมูลไปเข้ารับบริการสาธารณสุขให้เด็กๆ ได้ สามารถนำข้อมูลต่างๆ มาเชื่อมกับพัฒนาการของเด็กได้

ด้านนายมงคล สุรัจจะ อธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย บอกว่า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ได้จัดหน่วยบริการเคลื่อนที่ออกทำบัตรให้นักเรียน นักศึกษาตามสถานศึกษาต่างๆ โดยขณะนี้ตัวเลขผู้ที่มีอายุ 7-14 ปี มีจำนวน 8 ล้านกว่าคน ผู้สื่อข่าวถามว่า บัตรสมาร์ทการ์ดที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่ นายมงคล บอกว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ได้ทำสัญญาและทยอยส่งบัตรให้กระทรวงมหาดไทยจำนวน 26 ล้านบัตร เพียงพอที่จะรองรับการออกบัตรใหม่ให้เยาวชนแน่นอน เมื่อถามว่า บัตรประชาชนมีประโยชน์กับเด็กอย่างไร นายมงคล บอกว่า 1.มีประโยชน์ต่อความมั่นคงของประเทศ ในการเก็บข้อมูลพื้นฐานตัวบุคคลไว้ที่ฐานข้อมูลส่วนกลาง 2.เป็นการรักษาสิทธิส่วนบุคคลของพลเมืองไทย เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ และ 3.การมีบัตร สามารถเข้ารับบริการจากหน่วยงานของรัฐได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ส่วนเด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่อยู่ในสถานเลี้ยงดูต่างๆ นั้น นายมงคล บอกว่า หากพิสูจน์ได้ว่ามีสัญชาติไทยจริง ฝ่ายทะเบียนก็ต้องออกบัตรประชาชนให้ ผู้สื่อข่าวถามว่า เด็กมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอย่างรวดเร็วจะมีปัญหากรณีที่รูปในบัตรไม่เหมือนตัวจริงหรือไม่ นายมงคล ยืนยันว่า ไม่เป็นปัญหา เพราะจะพิสูจน์ตัวตนจากลายนิ้วมือ
กำลังโหลดความคิดเห็น