คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ
1. “พท.-ภท.” ประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมหลังเลือกตั้ง สะพัด “ทักษิณ” สั่งแกนนำเดินสายทาบพรรคร่วมฯ ตั้ง รบ.แล้ว!
กระแสการเมืองในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้สรุปยอดผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขตทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 24-28 พ.ค.ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 2,422 คนจาก 34 พรรคการเมือง โดยมีแค่ 2 พรรคที่ส่งผู้สมัครครบทั้ง 375 เขต คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ปรากฏว่า ไฮไลต์ที่น่าสนใจยังอยู่ที่การประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกันระหว่างพรรคเพื่อไทย(พท.) และพรรคภูมิใจไทย(ภท.)ด้วย
เหตุเกิดเมื่อ ส.ส.ภาคอีสานบางคนของพรรคภูมิใจไทยไปหาเสียงกับประชาชนทำนองว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคภูมิใจไทยพร้อมร่วมรัฐบาลและหนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้แกนนำหลายคนในพรรคเพื่อไทยไม่พอใจ เช่น นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรค รีบออกมาบอกว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทย ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ยืนยันเช่นกันว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่กลับไปจับมือกับพรรคภูมิใจไทย เพราะพรรคภูมิใจไทยทำร้ายใจประชาชน
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ตอนแรกยังสงวนท่าทีไม่ตอบรับหรือปฏิเสธพรรคภูมิใจไทย โดยบอก(1 มิ.ย.)ว่า ต้องรอหลังเลือกตั้งก่อน แต่ให้หลังแค่ 1 วัน(2 มิ.ย.) พรรคเพื่อไทยก็ได้ออกแถลงการณ์ว่าจะไม่จับมือพรรคภูมิใจไทยจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยมีอุดมการณ์แตกต่างกันอย่างมาก ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมาสำทับการออกแถลงการณ์ดังกล่าวว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนในจุดยืนของพรรคเพื่อไทยว่า หากได้เป็นรัฐบาล พร้อมจะจับมือกับพรรคที่มีอุดมการณ์เดียวกัน
ทั้งนี้ มีรายงานว่า เหตุที่พรรคเพื่อไทยต้องปฏิเสธพรรคภูมิใจไทยครั้งนี้ เพราะไม่ต้องการให้พรรคภูมิใจไทยเกาะกระแสนิยมของพรรคเพื่อไทย แถมยังทำให้คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยในภาคอีสานลดลงด้วย
ด้านแกนนำพรรคภูมิใจไทยไม่พอใจอย่างมากที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์เหมือนตบหน้า จึงเปิดแถลงบ้างในวันต่อมา(3 มิ.ย.) โดยนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่า ไม่ว่าพรรคจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ก็จะไม่ทำงานกับพรรคที่มีความขัดแย้งและมีอุดมการณ์ที่แตกต่างกันอย่างเด็ดขาด ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรค ก็ย้ำว่า พรรคภูมิใจไทยจะไม่ร่วมงานทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทยแน่นอน เพราะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันแบบสุดขั้ว “ถึงแม้ว่าเราจะเป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ แต่เราก็มีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกัน แถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยไม่เคารพพรรคการเมืองด้วยกัน ขณะที่ผู้สมัคร ส.ส.หลายคนทั้งในระบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตก็มีคดีเผาบ้านเผาเมือง ถูกกล่าวหาว่ามีความผิด ส่วนที่ต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ประกันตัว ดังนั้น บุคลิกของพวกท่านก็ร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทยไม่ได้เหมือนกัน”
เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่พรรคเพื่อไทยประกาศตัดขาดพรรคภูมิใจไทย แต่มีรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้พยายามดึงพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นๆ ในขณะนี้ให้มาจับมือกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง โดยให้นายเสนาะ เทียนทอง ที่ปรึกษาพรรค และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขย ไปเจรจากับนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ส่วนนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ให้ไปเจรจากับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา สำหรับพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ที่มีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นแกนนำนั้น ให้นายสมชาย และนายวัฒนา เมืองสุข ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย รับหน้าที่ไปเจรจา ส่วนพรรคเพื่อแผ่นดิน ให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ช่วยไปเจรจา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพรรคไทยพัฒนา นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกพรรค เผยว่า พรรคจะตัดสินใจว่าจะเลือกอยู่ข้างไหนหลังรู้ผลเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.แล้ว
นอกจากความพยายามฟอร์มรัฐบาลตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยแล้ว ยังมีกรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ออกมาอ้างว่า พรรคได้รับร้องเรียนจากทหารหลายนายที่ประจำการในค่ายกฤษณ์สีวะรา จ.สกลนครว่า ผู้บังคับบัญชากำชับให้กำลังพลออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า โดยให้เลือกพรรคประชาธิปัตย์ สร้างความไม่สบายใจให้กำลังพลและครอบครัวอย่างมาก เพราะหลายคนเป็นคนเสื้อแดง พร้อมกันนี้ นายณัฐวุฒิ ได้จี้ให้ พล.ต.สิทธิ จันทร์สมบูรณ์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาค่ายกฤษณ์สีวะรา ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าว รวมทั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกมายืนยันว่า ไม่มีนโยบายให้ทหารเข้าไปแทรกแซงการเมือง พร้อมย้ำ อย่าเอาทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง อย่าดูถูกสติปัญญาของทหาร พล.อ.ประยุทธ์ ยังฝากถึงแกนนำ นปช.และพรรคเพื่อไทยด้วยว่า “ถ้าท่านมาเป็นรัฐบาล ท่านก็ต้องถูกแย่งชิงไปเหมือนกัน เพราะต้องมีคนออกมาต่อต้าน เนื่องจากท่านมาด้วยวิธีการที่ใช้คนหมู่มาก ใช้การละเมิดกฎหมายมาตลอด ผมขอพูดอีกครั้งว่าอย่ามายุ่งกับทหาร ผมไม่อยากทะเลาะกับเด็กเลี้ยงแกะ”
เช่นเดียวกับ พล.ต.สิทธิ จันทร์สมบูรณ์ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสกลนคร ที่ยืนยันเช่นกันว่า ไม่เคยสั่งกำลังพลว่าต้องเลือกพรรคนั้นพรรคนี้ เปิดโอกาสให้กำลังพลและครอบครัวมีอิสระในการเลือกตั้งอย่างเต็มที่
2. ศาลโลกยังไม่ออกมาตรการชั่วคราวพระวิหาร จี้ “ไทย-กัมพูชา” แจงเพิ่ม ด้านเขมร โว ชั้นเชิงเหนือกว่าไทย!
สัปดาห์ที่ผ่านมา สายตาหลายคู่ต่างจับจ้องไปที่กรณีกัมพูชายื่นศาลโลกให้ตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 คดีปราสาทพระวิหาร โดยอ้างว่า พื้นที่ใต้ปราสาทและรอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตร.กม.เป็นของกัมพูชา แต่ไทยได้รุกราน จนเกิดการปะทะกันหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา จึงขอให้ศาลตีความให้ชัดเจน พร้อมขอศาลด้วยว่า ระหว่างที่รอการตีความ ขอให้ศาลออกมาตรการชั่วคราวด้วยการสั่งให้ไทยถอนทหารออกจากบริเวณปราสาทพระวิหารทันทีและไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งห้ามไทยทำกิจกรรมทางทหารบริเวณปราสาทพระวิหาร และห้ามกระทำการใดที่อาจกระทบต่อสิทธิของกัมพูชาหรือเพิ่มความขัดแย้งในคดีที่จะมีการตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ด้วย ซึ่งศาลโลกได้นัดให้ทั้งสองฝ่ายเข้าชี้แจงด้วยวาจาในวันที่ 30-31 พ.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับองค์คณะผู้พิพากษาศาลโลกที่ขึ้นพิจารณาคดีนี้ ประกอบด้วย ผู้พิพากษาประจำ 14 คน และผู้พิพากษาเฉพาะกิจ 2 คน ส่วนทีมชี้แจงของฝ่ายไทย มีนายวีระชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นตัวแทนรัฐบาลไทย โดยมีที่ปรึกษากฎหมาย 3 คนที่ไทยว่าจ้างช่วยชี้แจงด้วย เป็นที่ปรึกษาชาวฝรั่งเศส ,ชาวออสเตรเลีย และชาวแคนาดา ขณะที่ฝ่ายกัมพูชา มีนายฮอ นัมฮง รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา เป็นผู้ชี้แจง ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากกัมพูชาจะมีที่ปรึกษากฎหมาย 3 คนแล้ว ยังมีผู้พิพากษาเฉพาะกิจที่เป็นถึงอดีตประธานศาลโลกมาช่วยด้วย คือ นายชิลแบร์ กีโญม
ทั้งนี้ วันแรก(30 พ.ค.) ฝ่ายกัมพูชา ชี้แจงโดยยืนยันว่า พื้นที่รอบปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา และเกิดปัญหาขึ้น เมื่อยูเนสโกขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก จากนั้นไทยก็เริ่มก้าวร้าวและเกิดการปะทะกับกัมพูชา จึงถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องถอนทหารออกจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร เพราะความขัดแย้งยืดเยื้อนานเกินไปแล้ว
ขณะที่ฝ่ายไทย ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา ไทยปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 ครบถ้วนแล้ว และคำพิพากษาในครั้งนั้นก็เป็นเรื่องของอธิปไตยเหนือตัวปราสาทพระวิหาร ไม่เกี่ยวกับเรื่องเขตแดนแต่อย่างใด และกัมพูชาก็ไม่เคยทักท้วงใดใดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนเหตุปะทะที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะที่บริเวณปราสาทพระวิหารหรือที่ปราสาทตาควาย-ปราสาทตาเมือนธม ไทยก็ไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มก่อน แต่ไทยจำเป็นต้องใช้สิทธิในการป้องกันตนเอง เพื่อปกป้องอธิปไตยและพลเรือนของไทยที่ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของกัมพูชา พร้อมกันนี้ ไทยยังมองว่า เหตุที่กัมพูชายื่นเรื่องให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 เพราะกัมพูชาต้องการพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ในการบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร เพื่อให้กระบวนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมีผลโดยสมบูรณ์
ส่วนการชี้แจงวันที่สอง(31 พ.ค.) ฝ่ายกัมพูชาได้ขอให้ศาลโลกสั่งให้ทหารไทยออกจากบริเวณปราสาทพระวิหารทันที ขณะที่ตัวแทนของไทยยืนยันว่า ศาลไม่มีอำนาจที่จะแทรกแซงเรื่องดังกล่าว เพราะไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 ครบถ้วนแล้ว
ด้านนายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เผยหลังตัวแทนฝ่ายไทยเสร็จสิ้นการชี้แจงต่อศาลโลกว่า ผู้พิพากษาอยากทราบว่า การปะทะระหว่างไทย-กัมพูชาเมื่อเดือน เม.ย.ส่งผลกระทบต่อประชาชนของทั้งสองประเทศอย่างไร มีการเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่มากน้อยแค่ไหน ความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างไร โดยให้เวลาทั้งสองประเทศ 1 สัปดาห์ในการตอบเป็นลายลักษณ์อักษรกลับมายังศาลโลก หรือภายในวันที่ 7 มิ.ย. จากนั้นศาลจะนำคำตอบของแต่ละฝ่ายส่งให้อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้ชี้แจงกลับมาภายในวันที่ 14 มิ.ย.ต่อไป
ด้านนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์โดยยืนยันว่า ศาลโลกไม่มีอำนาจในการตัดสินเรื่องเขตแดน และคาดว่า อีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ ศาลจะตัดสินว่าจะออกมาตรการชั่วคราวตามที่กัมพูชาร้องขอหรือไม่ อย่างไรก็ตาม นายกษิต ส่งสัญญาณว่าไทยไม่จำเป็นต้องทำตามคำตัดสินของศาลโลกก็ได้ โดยบอกว่า หากไทยไม่ปฏิบัติตามคำตัดสิน เรื่องทั้งหมดจะไม่กลับมาที่ศาลโลก เพราะศาลไม่มีอำนาจบังคับ แต่การบังคับให้เป็นไปตามมติของศาลโลกเป็นอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นเอสซี) ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของประชาคมโลก ดังนั้นหากไทยไม่ทำตามคำตัดสินของศาลโลก เรื่องก็จะไปที่ยูเอ็นเอสซีให้เป็นผู้ตัดสิน ซึ่งไทยต้องทำตามเพราะเป็นสมาชิกที่ดีของยูเอ็น
ขณะที่ฝ่ายกัมพูชา นายฮอ นัมฮง รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ได้ออกมาคุยโวว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายได้เปรียบไทยในการต่อสู้ทางกฎหมายในศาลโลกที่กรุงเฮก “ตามกลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศ กัมพูชาอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบเหนือประเทศไทย เนื่องจากมีหลักฐานและแผนที่ที่ใช้สนับสนุนเรื่องเขาพระวิหารซึ่งได้รับการยอมรับระหว่างประเทศมากกว่าไทย” พร้อมย้ำ ไม่ว่าคำตัดสินของศาลโลกจะออกมาอย่างไร กัมพูชาก็ไม่มีอะไรเสียหาย เพราะกัมพูชาเป็นผู้ร้องขอต่อศาลในกรณีนี้
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พูดถึงการต่อสู้ของฝ่ายไทยในศาลโลกว่า ถือว่าไทยได้ยืนยันจุดยืนที่ชัดเจนแล้วว่า ปัญหาจากคำพิพากษาในปี 2505 นั้น ไทยได้ปฏิบัติครบถ้วนไปตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว และรัฐบาลขณะนั้นก็ได้ทำรั้วลวดหนามกั้นชัดเจน กัมพูชาก็ยอมรับ ดังนั้น เรื่องต้องจบ
ด้าน พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 เผยถึงการเตรียมข้อมูลผลกระทบจากการปะทะระหว่างไทย-กัมพูชาเพื่อยื่นต่อศาลโลกในวันที่ 7 มิ.ย.ว่า ขณะนี้มีข้อมูลหลักฐานครบถ้วนแล้ว เป็นหลักฐานหนัก 10 กิโลกรัม ซึ่งไม่สามารถดูได้ทัน ดังนั้นจะทำเป็นคลิปวิดีโอ บางส่วนมีการแปลภาษาแล้ว บางส่วนยังไม่ได้แปล ซึ่งตนมั่นใจในข้อมูลที่มีอยู่
นอกจากเรื่องการต่อสู้ในศาลโลกระหว่างไทยและกัมพูชาแล้ว ยังมีกรณีที่ไทยเสนอให้คณะกรรมการมรดกโลกเลื่อนประชุมพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารของกัมพูชาที่จะมีขึ้นในวันที่ 19-29 มิ.ย.นี้ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ออกไปเป็นปีหน้า ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้าเท่าใดนัก เพราะแม้ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) จะเปิดทางให้ตัวแทนฝ่ายไทยและกัมพูชาได้หารือทวิภาคีเพื่อตกลงเรื่องนี้กัน โดยฝ่ายไทยมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแทน ส่วนฝ่ายกัมพูชามีนายซก อาน รองนายกฯ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทน แต่การหารือก็ยังไม่จบแบบที่ไทยต้องการ
ซึ่งนายสุวิทย์ บอกว่า สาเหตุที่ตกลงกันไม่ได้ เพราะกัมพูชาไม่ยอมรับร่างข้อตกลงที่ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกร่างขึ้นเพื่อให้คณะกรรมการมรดกโลกเลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารออกไปเป็นปีหน้า นอกจากนี้ยูเนสโกยังขอเข้าไปบูรณะปราสาทพระวิหารด้วย ซึ่งไทยก็ไม่สามารถยอมรับได้เช่นกัน เพราะเกรงจะมีการรุกล้ำอธิปไตยของไทย ด้วยเหตุนี้ ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกจึงให้ฝ่ายไทยและกัมพูชาไปเจรจากันอีกครั้ง ก่อนที่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกจะเริ่มขึ้น โดยนายสุวิทย์ เผยว่า จะเดินทางไปฝรั่งเศสในวันที่ 17 มิ.ย. เพื่อร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในวันที่ 19 มิ.ย. โดยคาดว่า วันที่ 18 มิ.ย.น่าจะหารือทวิภาคีกับฝ่ายกัมพูชาได้
3. คนร้าย ปาระเบิดใส่พันธมิตรฯ เจ็บ 3 “จำลอง” แฉ ตร.ไม่ดูแล มัวแต่เฝ้าผู้สมัคร ส.ส. ด้าน “ปานเทพ” เผย ยุติชุมนุม 29 มิ.ย.!
เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 31 พ.ค.เวลาประมาณ 22.30น.ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ห่างจากเวทีปราศรัยของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประมาณ 10 เมตร ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 3 ราย โดยรายที่บาดเจ็บสาหัสคือ นายหนูปัน ภูทองเงิน อายุ 56 ปี เป็นชาว จ.อุดรธานี และขายไอศกรีมอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ โดยได้รับบาดเจ็บสาหัสกระดูกขาขวาแตกและเสียเลือดมาก
ทั้งนี้ ในที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่พบกระเดื่องระเบิดชนิดขว้าง 1 อัน จากการสอบถามพยานที่เห็นเหตุการณ์ซึ่งเป็นกลุ่มแท็กซี่ ให้การว่า ก่อนเกิดเหตุ ได้มีคนร้ายเป็นชาย 1 ราย รูปร่างผอมสูง สวมเสื้อแจ็กเกตสีดำ ใส่หมวกกันน็อคแบบเต็มใบ ขี่จักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า ไม่ทราบหมายเลขทะเบียน เข้ามาจอดใกล้เวทีที่ชุมนุมประมาณ 5 นาที จากนั้นได้ขว้างระเบิดเข้ามาบริเวณที่ชุมนุม ก่อนขี่รถหลบหนีไปทางยูเอ็น มุ่งหน้าสะพานขาว
ด้าน พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) บอกว่า จากการตรวจสอบพบว่า ระเบิดที่ใช้ก่อเหตุ เป็นระเบิดชนิดแสวงเครื่อง แบบเพลิง มีลักษณะการประกอบคล้ายระเบิด M 26 ไม่สามารถทำอันตรายถึงชีวิตได้ เชื่อว่าน่าจะเป็นการสร้างสถานการณ์ในช่วงเลือกตั้ง เพราะไม่ประสงค์ให้ถึงแก่ชีวิต
ขณะที่ พล.ต.ต.สุเมธ เรืองสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เผยในเวลาต่อมาว่า ระเบิดที่คนร้ายใช้เป็นระเบิดชนิด 82-2 ผลิตในประเทศจีน ไม่มีใช้ในราชการไทย มีขนาดเท่าลูกมะนาว ส่วนความรุนแรงจะไม่เท่าระเบิดทั่วไป และไม่พบสะเก็ดระเบิดบริเวณที่เกิดเหตุ ทั้งนี้ พล.ต.ต.สุเมธได้ให้ชุดสืบสวนตรวจสอบกล้องวงจรปิด เพื่อติดตามคนร้ายแล้ว
ด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ ได้ออกมาแฉว่า จุดเกิดเหตุเป็นจุดที่มีการเปิดเส้นทางการจราจรไปแล้ว และไม่มีการ์ด หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคอยดูแลความปลอดภัย แต่ตนกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ผู้ชุมนุม จึงได้ทำหนังสือขอกำลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลไปเมื่อ 7 วันที่ผ่านมา แต่ก็ได้รับคำตอบว่า กำลังไม่เพียงพอ เพราะต้องส่งกำลังไปดูแลความปลอดภัยให้ผู้สมัคร ส.ส. กระทั่งเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
ด้าน พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบช.น.ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ได้ดูแลอย่างเต็มที่แล้ว แต่เนื่องจากที่ผ่านมา พ.ร.บ.มั่นคงฯ ได้ถูกยกเลิกไป จึงทำให้กำลังเจ้าหน้าที่ต้องลดลงตามไปด้วย
ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปยังจุดเกิดเหตุบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ใกล้กับเวทีของกลุ่มพันธมิตรฯ โดยใช้เวลาประมาณ 5 นาที ก่อนเดินทางไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลหัวเฉียว
ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ แถลงว่า เหตุระเบิดที่เกิดขึ้น สะท้อนว่าคำมั่นสัญญาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่บอกว่าจะรักษาความปลอดภัยให้ผู้ชุมนุมอย่างเต็มที่หลังขอให้เปิดพื้นที่จราจรบริเวณด้านหน้ากระทรวงศึกษาธิการนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะหลังจากยุบสภา เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เคยประจำการบริเวณพื้นที่ชุมนุมก็หายหมด แม้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ จะได้ทำหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อขอกำลังเจ้าหน้าที่มาดูแลความปลอดภัยถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ขนาดหลังเกิดเหตุระเบิดแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาประจำที่ด้านหลังเวทีแค่ 2 นายเท่านั้น “รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิชุมนุมอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 ,70 และ 71 สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการทำงานด้านความมั่นคง รวมไปถึงตลอดหลายปีที่ผ่านมาที่รัฐบาลนี้ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ”
นายปานเทพ ยังบอกด้วยว่า พันธมิตรฯ จะยุติชุมนุมหลังทราบผลประชุมของคณะกรรมการมรดกโลกที่จะพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารของกัมพูชาในวันที่ 26-29 มิ.ย.นี้ ซึ่งไม่ว่าผลประชุมจะออกมาทางใด จะถือว่าภาคประชาชนได้ทำหน้าที่จนสุดทางอย่างสมบูรณ์แล้ว หากผลออกมาเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทย ก็ถือว่าการทำภารกิจของภาคประชาชนครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นประโยชน์ต่อประเทศ แต่หากผลออกมาเป็นผลร้ายต่อประเทศ ก็เชื่อว่า ในการเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค. ประชาชนจะออกมาร่วมใช้สิทธิลงคะแนน “โหวตโน”กับพันธมิตรฯ เป็นจำนวนมาก เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง
4. “ประยุทธ์” แฉ คนบงการป่วนใต้อยู่นอก ปท. ด้าน “ทักษิณ” เสียใจ เคยใช้กำปั้นเหล็กมากเกินไป!
สถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ได้เกิดเหตุระเบิดขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจยะลา 8 นาย ขับรถลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยเส้นทางเพื่อให้พระเดินบิณฑบาต โดยเมื่อมาถึงบริเวณริมทางรถไฟ ถนนรถไฟ เจ้าหน้าที่ได้พบเชือกผูกติดอยู่บนพื้นทางเท้า จึงได้จอดรถเพื่อตรวจสอบ แต่ขณะตรวจสอบ เจ้าหน้าที่เดินสะดุดเชือกที่คนร้ายผูกติดกับระเบิด ทำให้เกิดระเบิดขึ้น ส่งผลให้เจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 5 นาย
อย่างไรก็ตาม แม้โจรใต้จะพยายามก่อเหตุรายวัน แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ละความพยายามที่จะหาแหล่งกบดานของคนร้าย โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ทหารหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ ค่ายจุฬาภรณ์ และทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 กองทัพเรือ ได้สนธิกำลังทหารขึ้นไปติดตามความเคลื่อนไหวของคนร้ายบนสันเขาปูลา-รามัน ซึ่งเป็นสันเขาบริวารของเทือกเขาบูโด โดยอยู่บริเวณตะเข็บรอยต่อระหว่าง อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส และ อ.รามัน จ.ยะลา ปรากฏว่าพบคนร้ายกลุ่มนายมะรอโซ จันทราวดี แกนนำคนร้ายกลุ่มอาร์เคเค กับพวกประมาณ 6-8 คน จึงได้เกิดการยิงปะทะกันนานประมาณ 20 นาที เมื่อเสียงปืนสงบลง พบคนร้ายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 3 ศพ ส่วนที่เหลือหลบหนีไปได้ สำหรับคนร้ายที่เสียชีวิต ทราบชื่อเพียงคนเดียว คือ นายรอยะ กะลามอ ชาวบ้านบาดง อ.บาเจาะ โดยมีหมายจับคดีก่อเหตุไม่สงบมาแล้วหลายคดี พร้อมกันนี้ยังยึดของกลางได้หลายรายการ ทั้งปืนและระเบิดนอกจากนี้ยังพบแผนผังที่ตั้งของฐานปฏิบัติการทหารและที่ตั้งสถานียุทธศาสตร์ตำรวจ รวมทั้งหน่วยราชการอื่นที่ตั้งอยู่รอบเชิงเขาบูโด ทั้งใน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ,อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี และ อ.รามัน จ.ยะลา ที่คาดว่าคนร้ายเตรียมบุกซุ่มโจมตีซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าเสื้อของคนร้ายด้วย
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกมาแฉระหว่างลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ว่า คนที่บงการป่วนใต้ เป็นคนที่อยู่นอกประเทศ “วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป ปัญหาเกิดจากหลายกลุ่ม แต่ผมพูดไม่ได้ เพราะเป็นงานการข่าวลับ ไม่ใช่ไม่รู้ว่าคนเหล่านั้นเป็นใคร แต่เขาไม่ได้อยู่ในประเทศ เขาสั่งการมายังกลุ่มต่างๆ ในประเทศเรา ทั้งกลุ่มการเมือง กลุ่มผิดกฎหมาย รวมหัวกันทำให้เกิดความวุ่นวาย เราพยายามแก้ปัญหาทุกปัญหาเพื่อคลี่คลายให้ดีที่สุด”
เป็นที่น่าสังเกตว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดาฯ และอดีตนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เดอะ สเตรทไทม์ส ของสิงคโปร์เมื่อวันที่ 26 พ.ค.และเผยแพร่วันที่ 28 พ.ค.เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยยอมรับว่า การกระทำที่รุนแรงต่อชาวมุสลิมในภาคใต้ในสมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ถือเป็นความผิดพลาด พร้อมอ้างว่า การเป็นตำรวจของตนนั้น ทำให้ถูกสอนมาว่า ต้องใช้ทั้งกำปั้นเหล็กและถุงมือกำมะหยี่ ซึ่งที่ผ่านมาตนได้ใช้กำปั้นเหล็กมากไปและเสียใจในสิ่งที่เคยทำ
1. “พท.-ภท.” ประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมหลังเลือกตั้ง สะพัด “ทักษิณ” สั่งแกนนำเดินสายทาบพรรคร่วมฯ ตั้ง รบ.แล้ว!
กระแสการเมืองในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้สรุปยอดผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขตทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 24-28 พ.ค.ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 2,422 คนจาก 34 พรรคการเมือง โดยมีแค่ 2 พรรคที่ส่งผู้สมัครครบทั้ง 375 เขต คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ปรากฏว่า ไฮไลต์ที่น่าสนใจยังอยู่ที่การประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกันระหว่างพรรคเพื่อไทย(พท.) และพรรคภูมิใจไทย(ภท.)ด้วย
เหตุเกิดเมื่อ ส.ส.ภาคอีสานบางคนของพรรคภูมิใจไทยไปหาเสียงกับประชาชนทำนองว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคภูมิใจไทยพร้อมร่วมรัฐบาลและหนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้แกนนำหลายคนในพรรคเพื่อไทยไม่พอใจ เช่น นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรค รีบออกมาบอกว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทย ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ยืนยันเช่นกันว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่กลับไปจับมือกับพรรคภูมิใจไทย เพราะพรรคภูมิใจไทยทำร้ายใจประชาชน
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ตอนแรกยังสงวนท่าทีไม่ตอบรับหรือปฏิเสธพรรคภูมิใจไทย โดยบอก(1 มิ.ย.)ว่า ต้องรอหลังเลือกตั้งก่อน แต่ให้หลังแค่ 1 วัน(2 มิ.ย.) พรรคเพื่อไทยก็ได้ออกแถลงการณ์ว่าจะไม่จับมือพรรคภูมิใจไทยจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยมีอุดมการณ์แตกต่างกันอย่างมาก ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมาสำทับการออกแถลงการณ์ดังกล่าวว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนในจุดยืนของพรรคเพื่อไทยว่า หากได้เป็นรัฐบาล พร้อมจะจับมือกับพรรคที่มีอุดมการณ์เดียวกัน
ทั้งนี้ มีรายงานว่า เหตุที่พรรคเพื่อไทยต้องปฏิเสธพรรคภูมิใจไทยครั้งนี้ เพราะไม่ต้องการให้พรรคภูมิใจไทยเกาะกระแสนิยมของพรรคเพื่อไทย แถมยังทำให้คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยในภาคอีสานลดลงด้วย
ด้านแกนนำพรรคภูมิใจไทยไม่พอใจอย่างมากที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์เหมือนตบหน้า จึงเปิดแถลงบ้างในวันต่อมา(3 มิ.ย.) โดยนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่า ไม่ว่าพรรคจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ก็จะไม่ทำงานกับพรรคที่มีความขัดแย้งและมีอุดมการณ์ที่แตกต่างกันอย่างเด็ดขาด ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรค ก็ย้ำว่า พรรคภูมิใจไทยจะไม่ร่วมงานทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทยแน่นอน เพราะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันแบบสุดขั้ว “ถึงแม้ว่าเราจะเป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ แต่เราก็มีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกัน แถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยไม่เคารพพรรคการเมืองด้วยกัน ขณะที่ผู้สมัคร ส.ส.หลายคนทั้งในระบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตก็มีคดีเผาบ้านเผาเมือง ถูกกล่าวหาว่ามีความผิด ส่วนที่ต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ประกันตัว ดังนั้น บุคลิกของพวกท่านก็ร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทยไม่ได้เหมือนกัน”
เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่พรรคเพื่อไทยประกาศตัดขาดพรรคภูมิใจไทย แต่มีรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้พยายามดึงพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นๆ ในขณะนี้ให้มาจับมือกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง โดยให้นายเสนาะ เทียนทอง ที่ปรึกษาพรรค และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขย ไปเจรจากับนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ส่วนนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ให้ไปเจรจากับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา สำหรับพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ที่มีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นแกนนำนั้น ให้นายสมชาย และนายวัฒนา เมืองสุข ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย รับหน้าที่ไปเจรจา ส่วนพรรคเพื่อแผ่นดิน ให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ช่วยไปเจรจา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพรรคไทยพัฒนา นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกพรรค เผยว่า พรรคจะตัดสินใจว่าจะเลือกอยู่ข้างไหนหลังรู้ผลเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.แล้ว
นอกจากความพยายามฟอร์มรัฐบาลตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยแล้ว ยังมีกรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ออกมาอ้างว่า พรรคได้รับร้องเรียนจากทหารหลายนายที่ประจำการในค่ายกฤษณ์สีวะรา จ.สกลนครว่า ผู้บังคับบัญชากำชับให้กำลังพลออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า โดยให้เลือกพรรคประชาธิปัตย์ สร้างความไม่สบายใจให้กำลังพลและครอบครัวอย่างมาก เพราะหลายคนเป็นคนเสื้อแดง พร้อมกันนี้ นายณัฐวุฒิ ได้จี้ให้ พล.ต.สิทธิ จันทร์สมบูรณ์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาค่ายกฤษณ์สีวะรา ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าว รวมทั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกมายืนยันว่า ไม่มีนโยบายให้ทหารเข้าไปแทรกแซงการเมือง พร้อมย้ำ อย่าเอาทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง อย่าดูถูกสติปัญญาของทหาร พล.อ.ประยุทธ์ ยังฝากถึงแกนนำ นปช.และพรรคเพื่อไทยด้วยว่า “ถ้าท่านมาเป็นรัฐบาล ท่านก็ต้องถูกแย่งชิงไปเหมือนกัน เพราะต้องมีคนออกมาต่อต้าน เนื่องจากท่านมาด้วยวิธีการที่ใช้คนหมู่มาก ใช้การละเมิดกฎหมายมาตลอด ผมขอพูดอีกครั้งว่าอย่ามายุ่งกับทหาร ผมไม่อยากทะเลาะกับเด็กเลี้ยงแกะ”
เช่นเดียวกับ พล.ต.สิทธิ จันทร์สมบูรณ์ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสกลนคร ที่ยืนยันเช่นกันว่า ไม่เคยสั่งกำลังพลว่าต้องเลือกพรรคนั้นพรรคนี้ เปิดโอกาสให้กำลังพลและครอบครัวมีอิสระในการเลือกตั้งอย่างเต็มที่
2. ศาลโลกยังไม่ออกมาตรการชั่วคราวพระวิหาร จี้ “ไทย-กัมพูชา” แจงเพิ่ม ด้านเขมร โว ชั้นเชิงเหนือกว่าไทย!
สัปดาห์ที่ผ่านมา สายตาหลายคู่ต่างจับจ้องไปที่กรณีกัมพูชายื่นศาลโลกให้ตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 คดีปราสาทพระวิหาร โดยอ้างว่า พื้นที่ใต้ปราสาทและรอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตร.กม.เป็นของกัมพูชา แต่ไทยได้รุกราน จนเกิดการปะทะกันหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา จึงขอให้ศาลตีความให้ชัดเจน พร้อมขอศาลด้วยว่า ระหว่างที่รอการตีความ ขอให้ศาลออกมาตรการชั่วคราวด้วยการสั่งให้ไทยถอนทหารออกจากบริเวณปราสาทพระวิหารทันทีและไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งห้ามไทยทำกิจกรรมทางทหารบริเวณปราสาทพระวิหาร และห้ามกระทำการใดที่อาจกระทบต่อสิทธิของกัมพูชาหรือเพิ่มความขัดแย้งในคดีที่จะมีการตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ด้วย ซึ่งศาลโลกได้นัดให้ทั้งสองฝ่ายเข้าชี้แจงด้วยวาจาในวันที่ 30-31 พ.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับองค์คณะผู้พิพากษาศาลโลกที่ขึ้นพิจารณาคดีนี้ ประกอบด้วย ผู้พิพากษาประจำ 14 คน และผู้พิพากษาเฉพาะกิจ 2 คน ส่วนทีมชี้แจงของฝ่ายไทย มีนายวีระชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นตัวแทนรัฐบาลไทย โดยมีที่ปรึกษากฎหมาย 3 คนที่ไทยว่าจ้างช่วยชี้แจงด้วย เป็นที่ปรึกษาชาวฝรั่งเศส ,ชาวออสเตรเลีย และชาวแคนาดา ขณะที่ฝ่ายกัมพูชา มีนายฮอ นัมฮง รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา เป็นผู้ชี้แจง ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากกัมพูชาจะมีที่ปรึกษากฎหมาย 3 คนแล้ว ยังมีผู้พิพากษาเฉพาะกิจที่เป็นถึงอดีตประธานศาลโลกมาช่วยด้วย คือ นายชิลแบร์ กีโญม
ทั้งนี้ วันแรก(30 พ.ค.) ฝ่ายกัมพูชา ชี้แจงโดยยืนยันว่า พื้นที่รอบปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา และเกิดปัญหาขึ้น เมื่อยูเนสโกขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก จากนั้นไทยก็เริ่มก้าวร้าวและเกิดการปะทะกับกัมพูชา จึงถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องถอนทหารออกจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร เพราะความขัดแย้งยืดเยื้อนานเกินไปแล้ว
ขณะที่ฝ่ายไทย ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา ไทยปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 ครบถ้วนแล้ว และคำพิพากษาในครั้งนั้นก็เป็นเรื่องของอธิปไตยเหนือตัวปราสาทพระวิหาร ไม่เกี่ยวกับเรื่องเขตแดนแต่อย่างใด และกัมพูชาก็ไม่เคยทักท้วงใดใดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนเหตุปะทะที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะที่บริเวณปราสาทพระวิหารหรือที่ปราสาทตาควาย-ปราสาทตาเมือนธม ไทยก็ไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มก่อน แต่ไทยจำเป็นต้องใช้สิทธิในการป้องกันตนเอง เพื่อปกป้องอธิปไตยและพลเรือนของไทยที่ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของกัมพูชา พร้อมกันนี้ ไทยยังมองว่า เหตุที่กัมพูชายื่นเรื่องให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 เพราะกัมพูชาต้องการพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ในการบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร เพื่อให้กระบวนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมีผลโดยสมบูรณ์
ส่วนการชี้แจงวันที่สอง(31 พ.ค.) ฝ่ายกัมพูชาได้ขอให้ศาลโลกสั่งให้ทหารไทยออกจากบริเวณปราสาทพระวิหารทันที ขณะที่ตัวแทนของไทยยืนยันว่า ศาลไม่มีอำนาจที่จะแทรกแซงเรื่องดังกล่าว เพราะไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 ครบถ้วนแล้ว
ด้านนายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เผยหลังตัวแทนฝ่ายไทยเสร็จสิ้นการชี้แจงต่อศาลโลกว่า ผู้พิพากษาอยากทราบว่า การปะทะระหว่างไทย-กัมพูชาเมื่อเดือน เม.ย.ส่งผลกระทบต่อประชาชนของทั้งสองประเทศอย่างไร มีการเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่มากน้อยแค่ไหน ความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างไร โดยให้เวลาทั้งสองประเทศ 1 สัปดาห์ในการตอบเป็นลายลักษณ์อักษรกลับมายังศาลโลก หรือภายในวันที่ 7 มิ.ย. จากนั้นศาลจะนำคำตอบของแต่ละฝ่ายส่งให้อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้ชี้แจงกลับมาภายในวันที่ 14 มิ.ย.ต่อไป
ด้านนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์โดยยืนยันว่า ศาลโลกไม่มีอำนาจในการตัดสินเรื่องเขตแดน และคาดว่า อีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ ศาลจะตัดสินว่าจะออกมาตรการชั่วคราวตามที่กัมพูชาร้องขอหรือไม่ อย่างไรก็ตาม นายกษิต ส่งสัญญาณว่าไทยไม่จำเป็นต้องทำตามคำตัดสินของศาลโลกก็ได้ โดยบอกว่า หากไทยไม่ปฏิบัติตามคำตัดสิน เรื่องทั้งหมดจะไม่กลับมาที่ศาลโลก เพราะศาลไม่มีอำนาจบังคับ แต่การบังคับให้เป็นไปตามมติของศาลโลกเป็นอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นเอสซี) ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของประชาคมโลก ดังนั้นหากไทยไม่ทำตามคำตัดสินของศาลโลก เรื่องก็จะไปที่ยูเอ็นเอสซีให้เป็นผู้ตัดสิน ซึ่งไทยต้องทำตามเพราะเป็นสมาชิกที่ดีของยูเอ็น
ขณะที่ฝ่ายกัมพูชา นายฮอ นัมฮง รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ได้ออกมาคุยโวว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายได้เปรียบไทยในการต่อสู้ทางกฎหมายในศาลโลกที่กรุงเฮก “ตามกลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศ กัมพูชาอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบเหนือประเทศไทย เนื่องจากมีหลักฐานและแผนที่ที่ใช้สนับสนุนเรื่องเขาพระวิหารซึ่งได้รับการยอมรับระหว่างประเทศมากกว่าไทย” พร้อมย้ำ ไม่ว่าคำตัดสินของศาลโลกจะออกมาอย่างไร กัมพูชาก็ไม่มีอะไรเสียหาย เพราะกัมพูชาเป็นผู้ร้องขอต่อศาลในกรณีนี้
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พูดถึงการต่อสู้ของฝ่ายไทยในศาลโลกว่า ถือว่าไทยได้ยืนยันจุดยืนที่ชัดเจนแล้วว่า ปัญหาจากคำพิพากษาในปี 2505 นั้น ไทยได้ปฏิบัติครบถ้วนไปตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว และรัฐบาลขณะนั้นก็ได้ทำรั้วลวดหนามกั้นชัดเจน กัมพูชาก็ยอมรับ ดังนั้น เรื่องต้องจบ
ด้าน พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 เผยถึงการเตรียมข้อมูลผลกระทบจากการปะทะระหว่างไทย-กัมพูชาเพื่อยื่นต่อศาลโลกในวันที่ 7 มิ.ย.ว่า ขณะนี้มีข้อมูลหลักฐานครบถ้วนแล้ว เป็นหลักฐานหนัก 10 กิโลกรัม ซึ่งไม่สามารถดูได้ทัน ดังนั้นจะทำเป็นคลิปวิดีโอ บางส่วนมีการแปลภาษาแล้ว บางส่วนยังไม่ได้แปล ซึ่งตนมั่นใจในข้อมูลที่มีอยู่
นอกจากเรื่องการต่อสู้ในศาลโลกระหว่างไทยและกัมพูชาแล้ว ยังมีกรณีที่ไทยเสนอให้คณะกรรมการมรดกโลกเลื่อนประชุมพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารของกัมพูชาที่จะมีขึ้นในวันที่ 19-29 มิ.ย.นี้ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ออกไปเป็นปีหน้า ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้าเท่าใดนัก เพราะแม้ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) จะเปิดทางให้ตัวแทนฝ่ายไทยและกัมพูชาได้หารือทวิภาคีเพื่อตกลงเรื่องนี้กัน โดยฝ่ายไทยมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแทน ส่วนฝ่ายกัมพูชามีนายซก อาน รองนายกฯ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทน แต่การหารือก็ยังไม่จบแบบที่ไทยต้องการ
ซึ่งนายสุวิทย์ บอกว่า สาเหตุที่ตกลงกันไม่ได้ เพราะกัมพูชาไม่ยอมรับร่างข้อตกลงที่ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกร่างขึ้นเพื่อให้คณะกรรมการมรดกโลกเลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารออกไปเป็นปีหน้า นอกจากนี้ยูเนสโกยังขอเข้าไปบูรณะปราสาทพระวิหารด้วย ซึ่งไทยก็ไม่สามารถยอมรับได้เช่นกัน เพราะเกรงจะมีการรุกล้ำอธิปไตยของไทย ด้วยเหตุนี้ ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกจึงให้ฝ่ายไทยและกัมพูชาไปเจรจากันอีกครั้ง ก่อนที่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกจะเริ่มขึ้น โดยนายสุวิทย์ เผยว่า จะเดินทางไปฝรั่งเศสในวันที่ 17 มิ.ย. เพื่อร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในวันที่ 19 มิ.ย. โดยคาดว่า วันที่ 18 มิ.ย.น่าจะหารือทวิภาคีกับฝ่ายกัมพูชาได้
3. คนร้าย ปาระเบิดใส่พันธมิตรฯ เจ็บ 3 “จำลอง” แฉ ตร.ไม่ดูแล มัวแต่เฝ้าผู้สมัคร ส.ส. ด้าน “ปานเทพ” เผย ยุติชุมนุม 29 มิ.ย.!
เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 31 พ.ค.เวลาประมาณ 22.30น.ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ห่างจากเวทีปราศรัยของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประมาณ 10 เมตร ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 3 ราย โดยรายที่บาดเจ็บสาหัสคือ นายหนูปัน ภูทองเงิน อายุ 56 ปี เป็นชาว จ.อุดรธานี และขายไอศกรีมอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ โดยได้รับบาดเจ็บสาหัสกระดูกขาขวาแตกและเสียเลือดมาก
ทั้งนี้ ในที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่พบกระเดื่องระเบิดชนิดขว้าง 1 อัน จากการสอบถามพยานที่เห็นเหตุการณ์ซึ่งเป็นกลุ่มแท็กซี่ ให้การว่า ก่อนเกิดเหตุ ได้มีคนร้ายเป็นชาย 1 ราย รูปร่างผอมสูง สวมเสื้อแจ็กเกตสีดำ ใส่หมวกกันน็อคแบบเต็มใบ ขี่จักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า ไม่ทราบหมายเลขทะเบียน เข้ามาจอดใกล้เวทีที่ชุมนุมประมาณ 5 นาที จากนั้นได้ขว้างระเบิดเข้ามาบริเวณที่ชุมนุม ก่อนขี่รถหลบหนีไปทางยูเอ็น มุ่งหน้าสะพานขาว
ด้าน พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) บอกว่า จากการตรวจสอบพบว่า ระเบิดที่ใช้ก่อเหตุ เป็นระเบิดชนิดแสวงเครื่อง แบบเพลิง มีลักษณะการประกอบคล้ายระเบิด M 26 ไม่สามารถทำอันตรายถึงชีวิตได้ เชื่อว่าน่าจะเป็นการสร้างสถานการณ์ในช่วงเลือกตั้ง เพราะไม่ประสงค์ให้ถึงแก่ชีวิต
ขณะที่ พล.ต.ต.สุเมธ เรืองสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เผยในเวลาต่อมาว่า ระเบิดที่คนร้ายใช้เป็นระเบิดชนิด 82-2 ผลิตในประเทศจีน ไม่มีใช้ในราชการไทย มีขนาดเท่าลูกมะนาว ส่วนความรุนแรงจะไม่เท่าระเบิดทั่วไป และไม่พบสะเก็ดระเบิดบริเวณที่เกิดเหตุ ทั้งนี้ พล.ต.ต.สุเมธได้ให้ชุดสืบสวนตรวจสอบกล้องวงจรปิด เพื่อติดตามคนร้ายแล้ว
ด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ ได้ออกมาแฉว่า จุดเกิดเหตุเป็นจุดที่มีการเปิดเส้นทางการจราจรไปแล้ว และไม่มีการ์ด หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคอยดูแลความปลอดภัย แต่ตนกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ผู้ชุมนุม จึงได้ทำหนังสือขอกำลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลไปเมื่อ 7 วันที่ผ่านมา แต่ก็ได้รับคำตอบว่า กำลังไม่เพียงพอ เพราะต้องส่งกำลังไปดูแลความปลอดภัยให้ผู้สมัคร ส.ส. กระทั่งเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
ด้าน พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบช.น.ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ได้ดูแลอย่างเต็มที่แล้ว แต่เนื่องจากที่ผ่านมา พ.ร.บ.มั่นคงฯ ได้ถูกยกเลิกไป จึงทำให้กำลังเจ้าหน้าที่ต้องลดลงตามไปด้วย
ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปยังจุดเกิดเหตุบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ใกล้กับเวทีของกลุ่มพันธมิตรฯ โดยใช้เวลาประมาณ 5 นาที ก่อนเดินทางไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลหัวเฉียว
ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ แถลงว่า เหตุระเบิดที่เกิดขึ้น สะท้อนว่าคำมั่นสัญญาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่บอกว่าจะรักษาความปลอดภัยให้ผู้ชุมนุมอย่างเต็มที่หลังขอให้เปิดพื้นที่จราจรบริเวณด้านหน้ากระทรวงศึกษาธิการนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะหลังจากยุบสภา เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เคยประจำการบริเวณพื้นที่ชุมนุมก็หายหมด แม้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ จะได้ทำหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อขอกำลังเจ้าหน้าที่มาดูแลความปลอดภัยถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ขนาดหลังเกิดเหตุระเบิดแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาประจำที่ด้านหลังเวทีแค่ 2 นายเท่านั้น “รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิชุมนุมอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 ,70 และ 71 สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการทำงานด้านความมั่นคง รวมไปถึงตลอดหลายปีที่ผ่านมาที่รัฐบาลนี้ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ”
นายปานเทพ ยังบอกด้วยว่า พันธมิตรฯ จะยุติชุมนุมหลังทราบผลประชุมของคณะกรรมการมรดกโลกที่จะพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารของกัมพูชาในวันที่ 26-29 มิ.ย.นี้ ซึ่งไม่ว่าผลประชุมจะออกมาทางใด จะถือว่าภาคประชาชนได้ทำหน้าที่จนสุดทางอย่างสมบูรณ์แล้ว หากผลออกมาเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทย ก็ถือว่าการทำภารกิจของภาคประชาชนครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นประโยชน์ต่อประเทศ แต่หากผลออกมาเป็นผลร้ายต่อประเทศ ก็เชื่อว่า ในการเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค. ประชาชนจะออกมาร่วมใช้สิทธิลงคะแนน “โหวตโน”กับพันธมิตรฯ เป็นจำนวนมาก เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง
4. “ประยุทธ์” แฉ คนบงการป่วนใต้อยู่นอก ปท. ด้าน “ทักษิณ” เสียใจ เคยใช้กำปั้นเหล็กมากเกินไป!
สถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ได้เกิดเหตุระเบิดขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจยะลา 8 นาย ขับรถลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยเส้นทางเพื่อให้พระเดินบิณฑบาต โดยเมื่อมาถึงบริเวณริมทางรถไฟ ถนนรถไฟ เจ้าหน้าที่ได้พบเชือกผูกติดอยู่บนพื้นทางเท้า จึงได้จอดรถเพื่อตรวจสอบ แต่ขณะตรวจสอบ เจ้าหน้าที่เดินสะดุดเชือกที่คนร้ายผูกติดกับระเบิด ทำให้เกิดระเบิดขึ้น ส่งผลให้เจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 5 นาย
อย่างไรก็ตาม แม้โจรใต้จะพยายามก่อเหตุรายวัน แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ละความพยายามที่จะหาแหล่งกบดานของคนร้าย โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ทหารหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ ค่ายจุฬาภรณ์ และทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 กองทัพเรือ ได้สนธิกำลังทหารขึ้นไปติดตามความเคลื่อนไหวของคนร้ายบนสันเขาปูลา-รามัน ซึ่งเป็นสันเขาบริวารของเทือกเขาบูโด โดยอยู่บริเวณตะเข็บรอยต่อระหว่าง อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส และ อ.รามัน จ.ยะลา ปรากฏว่าพบคนร้ายกลุ่มนายมะรอโซ จันทราวดี แกนนำคนร้ายกลุ่มอาร์เคเค กับพวกประมาณ 6-8 คน จึงได้เกิดการยิงปะทะกันนานประมาณ 20 นาที เมื่อเสียงปืนสงบลง พบคนร้ายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 3 ศพ ส่วนที่เหลือหลบหนีไปได้ สำหรับคนร้ายที่เสียชีวิต ทราบชื่อเพียงคนเดียว คือ นายรอยะ กะลามอ ชาวบ้านบาดง อ.บาเจาะ โดยมีหมายจับคดีก่อเหตุไม่สงบมาแล้วหลายคดี พร้อมกันนี้ยังยึดของกลางได้หลายรายการ ทั้งปืนและระเบิดนอกจากนี้ยังพบแผนผังที่ตั้งของฐานปฏิบัติการทหารและที่ตั้งสถานียุทธศาสตร์ตำรวจ รวมทั้งหน่วยราชการอื่นที่ตั้งอยู่รอบเชิงเขาบูโด ทั้งใน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ,อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี และ อ.รามัน จ.ยะลา ที่คาดว่าคนร้ายเตรียมบุกซุ่มโจมตีซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าเสื้อของคนร้ายด้วย
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกมาแฉระหว่างลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ว่า คนที่บงการป่วนใต้ เป็นคนที่อยู่นอกประเทศ “วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป ปัญหาเกิดจากหลายกลุ่ม แต่ผมพูดไม่ได้ เพราะเป็นงานการข่าวลับ ไม่ใช่ไม่รู้ว่าคนเหล่านั้นเป็นใคร แต่เขาไม่ได้อยู่ในประเทศ เขาสั่งการมายังกลุ่มต่างๆ ในประเทศเรา ทั้งกลุ่มการเมือง กลุ่มผิดกฎหมาย รวมหัวกันทำให้เกิดความวุ่นวาย เราพยายามแก้ปัญหาทุกปัญหาเพื่อคลี่คลายให้ดีที่สุด”
เป็นที่น่าสังเกตว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดาฯ และอดีตนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เดอะ สเตรทไทม์ส ของสิงคโปร์เมื่อวันที่ 26 พ.ค.และเผยแพร่วันที่ 28 พ.ค.เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยยอมรับว่า การกระทำที่รุนแรงต่อชาวมุสลิมในภาคใต้ในสมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ถือเป็นความผิดพลาด พร้อมอ้างว่า การเป็นตำรวจของตนนั้น ทำให้ถูกสอนมาว่า ต้องใช้ทั้งกำปั้นเหล็กและถุงมือกำมะหยี่ ซึ่งที่ผ่านมาตนได้ใช้กำปั้นเหล็กมากไปและเสียใจในสิ่งที่เคยทำ