xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 3-9 เม.ย.2554

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ เยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยที่ศูนย์อพยพโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี(5 เม.ย.)
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “ฟ้าหญิงจุฬาภรณฯ” เสด็จฯ เยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยในภาคใต้ ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตทะลุครึ่งร้อยแล้ว ครูนครศรีฯ เครียดถึงขั้นฆ่าตัวตาย!

ความคืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดภาคใต้ของไทย สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ได้อนุมัติงบประมาณฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างเร่งด่วนจำนวน 3 พันล้านบาท โดยจ่ายให้ครอบครัวละ 5 พันบาท คาดว่าสามารถจ่ายให้ผู้เดือดร้อนได้ภายในสงกรานต์นี้ นอกจากนี้ ครม.ยังได้อนุมัติงบประมาณเพื่อชดเชยให้เกษตรกรที่ผลผลิตได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมด้วย วงเงิน 3 พันล้านบาท

ไม่เท่านั้น ครม.ยังได้ออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม 3 มาตรการ คือ 1.มาตรการด้านการเงิน ให้ธนาคารกรุงไทยและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่งลดดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระคืนเงินต้น ผ่อนผันการชำระหนี้ ฯลฯ แก่ผู้ประสบอุทกภัย 2.มาตรการด้านภาษี เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินที่ผู้ประสบภัยได้รับจากรัฐบาลหรือเงินบริจาค ยกเว้นภาษีนิติบุคคลสำหรับเงินค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัย เป็นต้น 3.มาตรการความช่วยเหลือจากกรมบัญชีกลาง ได้ขยายวงเงินทดรองราชการที่อยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ได้แก่ จ.พัทลุง ,ชุมพร ,นครศรีธรรมราช ,สุราษฎร์ธานี ,ตรัง , กระบี่ ,สงขลา และพังงา จากจังหวัดละ 50 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท เพื่อให้เงินถึงมือผู้เดือดร้อนเร็วที่สุด

ด้านนายวิทเยนทร์ มุตตามะระ รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย(ศชอ.) เผยว่า ขณะนี้(7 เม.ย.) ยังต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงดินถล่มใน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช ,สุราษฎร์ธานี ,พัทลุง ,ตรัง และชุมพร เนื่องจากดินอุ้มน้ำสะสมไว้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ อ.นบพิตำ และ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ขณะที่ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ยังมีปริมาณน้ำไหลสะสมในหลายพื้นที่ แต่ที่น่ากังวลที่สุดคือ พื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ที่ไม่สามารถผลิตน้ำประปาได้มานานกว่า 7 วันแล้ว

ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี แม้จะยังทรงไม่หายดีจากพระอาการประชวร แต่ด้วยทรงห่วงใยผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้ จึงได้เสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปเยี่ยมผู้ประสบภัยที่ศูนย์อพยพโรงเรียนนบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ในการนี้ พระองค์ได้พระราชทานถุงยังชีพแก่ผู้เดือดร้อนจำนวน 500 ชุด รวมทั้งพระราชทานของเด็กเล่นให้ลูกหลานของผู้ประสบภัย โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้รับสั่งกับราษฎรที่ประสบอุทกภัยด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวนครศรีธรรมราชและชาวภาคใต้ทุกคน หลังเสร็จสิ้นการเยี่ยมผู้ประสบภัยชาว อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราชแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ยังได้เสด็จฯ ไปเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยที่ศูนย์อพยพโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมให้คณะแพทย์ พอ.สว.ตรวจรักษาผู้ประสบภัยด้วย ยังความปลาบปลื้มแก่ผู้ประสบภัยเป็นอันมาก

ขณะที่ผู้นำต่างประเทศ เช่น ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ก็ได้แสดงความเสียใจและเห็นใจต่อเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ของไทยเช่นกัน พร้อมส่งกำลังใจมาให้ประชาชนที่เดือดร้อนจากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นด้วย

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยตัวเลขผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมภาคใต้(4 เม.ย.) ว่า มีผู้เสียชีวิต 51 ราย อย่างไรก็ตาม จากการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการผู้ประสบภัยน้ำท่วม ปรากฏว่า มีผู้มารับบริการ 8 หมื่นกว่าราย โดยในจำนวนนี้พบผู้ที่มีความเครียดสูงถึง 108 ราย มีอาการซึมเศร้า 169 ราย และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายถึง 72 ราย ซึ่งล่าสุด(8 เม.ย.) พบว่า มีครูที่ จ.นครศรีธรรมราชเกิดอาการเครียดจนฆ่าตัวตายไปแล้ว 1 ราย ทราบชื่อคือ นายวิทยา เทพบุรี อายุ 47 ปี เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนมารีย์พิทักษ์ ต.โพธิ์เสด็จ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โดยได้กระโดดแม่น้ำตาปีฆ่าตัวตาย ล่าสุดยังไม่พบศพแต่อย่างใด ขณะที่เพื่อนบ้าน เล่าว่า ก่อนเกิดเหตุ นายวิทยาบอกว่าเครียดมาก เพราะที่บ้านถูกน้ำท่วมเสียหายหมด

ทั้งนี้ ปัญหาน้ำท่วมและดินถล่มไม่ใช่เฉพาะภาคใต้เท่านั้นที่เป็นพื้นที่เสี่ยง เพราะล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาเตือนให้ภาคอื่นเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน โดยนายอดิศักดิ์ ทองไข่มุกต์ รักษาการอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เปิดแถลงเกี่ยวกับ “ธรณีพิบัติภัยดินถล่มที่ต้องจับตา” โดยชี้ว่า เดือน พ.ค.นี้จะเข้าฤดูฝน ต้องระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มในภาคเหนือและภาคตะวันตก โดยเฉพาะใน จ.น่าน 4 อำเภอ คือ อ.ปัว ,อ.เฉลิมพระเกียรติ ,อ.สันติสุข และ อ.บ่อเกลือ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการทำไร่ข้าวโพดมาก ทำให้ดินเกิดการชะล้างและเสียสมดุล ซึ่ง อ.เฉลิมพระเกียรติและ อ.บ่อเกลือ เคยเกิดดินถล่มมาแล้วเมื่อปี 2553

2.ผู้บัญชาการทั้ง 4 เหล่าทัพ เรียงหน้าแถลงไม่มีปฏิวัติแน่ ลั่น ใครฝ่าฝืนคำสั่ง ถือว่าเป็น “กบฏ”!
พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส.นำทีมผู้บัญชาการเหล่าทัพแถลงยืนยันไม่มีการปฏิวัติแน่นอน(5 เม.ย.)
หลังจากนางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง ออกมาระบุว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับทหาร ทำให้ทราบว่าขณะนี้มีทหารบางกลุ่มมีความคิดที่จะทำการปฏิวัติ โดยถ้าไม่ใช่ปฏิวัติเงียบ ก็ปฏิวัติโดยใช้อาวุธใช้รถถังกัน แต่ไม่ยอมบอกว่าเป็นทหารกลุ่มไหน โดยมีการวางแผนถึงขั้นกำหนดตัวแล้วว่า ใครจะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหลังทำการปฏิวัตินั้น ปรากฏว่า ร้อนถึงแกนนำรัฐบาลและผู้นำเหล่าทัพต้องรีบออกมาปฏิเสธเป็นการใหญ่

เริ่มจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้ออกมาการันตี(4 เม.ย.)ว่าจะไม่มีการปฏิวัติของทหารตามที่นางสดศรีระบุแน่นอน “ข้อมูลที่คุณสดศรีออกมาพูด ไม่จริง ยืนยันเลยว่าไม่เคยได้ยิน ผมคุมงานด้านความมั่นคง มีข่าวกรอง มีการข่าวจากฝ่ายโน้นฝ่ายนี้มา ไม่เคยปรากฏข่าวแบบนี้ ผมเชื่อมั่นว่ากองทัพโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ไม่เคยคิดจะปฏิวัติ เพราะเขาต้องการให้บ้านเมืองเดินหน้าในระบอบประชาธิปไตย”

ส่วนทางฟากทหารนั้น ผู้บัญชาการทั้ง 4 เหล่าทัพก็ได้ออกมาสำทับเช่นกันว่าจะไม่มีการปฏิวัติแน่นอน โดยการยืนยันดังกล่าวมีขึ้นหลัง พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เรียกประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ,พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ ,พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ รวมทั้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หลังประชุม พล.อ.ทรงกิตติ ได้นำทีมเปิดแถลงยืนยันจะไม่มีการปฏิวัติ ขอประชาชนอย่ากลัวและอย่าเชื่อข่าวลือ พล.อ.ทรงกิตติ ยังประกาศด้วยว่า หากมีทหารหน่วยใดเคลื่อนย้ายกำลังโดยไม่ได้รับคำสั่งจะถือว่าเป็นกบฏ พร้อมฝากถึงคนที่พยายามจุดกระแสปฏิวัติด้วยว่า “หยุดเอากองทัพมาอ้าง และหยุดผลักกองทัพออกจากประชาชน เราขอเดินทางในการสร้างสรรค์พัฒนาประเทศ...ผมคิดว่านับแต่วันนี้ไป คงไม่มีข่าวอะไรที่ทำให้กองทัพออกจากประชาชน กองทัพแยกออกจากกัน”

ทั้งนี้ หลังผู้บัญชาการเหล่าทัพแถลงยืนยันว่าจะไม่มีการปฏิวัติ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง รีบออกมาชื่นชมว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพทำถูกต้องแล้ว พร้อมแสดงความเห็นใจว่า ผู้บัญชาการเหล่าทัพคงทนมามากแล้ว จึงต้องเปิดแถลงท่าทีครั้งนี้

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้เปิดแถลงทำนองไม่เชื่อว่าทหารจะไม่ปฏิวัติ โดยบอกว่า ที่ผ่านมามักจะได้ยินคำว่าไม่ปฏิวัติก่อนการปฏิวัติทุกครั้ง ตั้งแต่การปฏิวัติปี 2534 จนถึงเหตุการณ์ในเดือน ก.ย.2549 ซึ่งท้ายที่สุดก็จะอ้างว่าเป็นความจำเป็นของชาติบ้านเมือง ทั้งๆ ที่ความจริงเป็นเรื่องของตัวเองทั้งสิ้น นายจตุพร ยังอ้างด้วยว่า ไม่ใช่แค่ทหารคิดปฏิวัติเท่านั้น แต่ยังมีการวางแผนเพื่อโกงการเลือกตั้งด้วย โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ได้ตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นมา ใช้ชื่อว่า “ศูนย์กำกับและควบคุมการเลือกตั้ง” มีการมอบหมายให้ พล.อ.คนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ โดยศูนย์นี้จะทำหน้าที่เกาะติดและบล็อคแกนนำของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม นอกจากนี้ยังมีการจัดชุดเฉพาะกิจขึ้นมาอีก 2 ชุด ชุดหนึ่งไว้ทำหน้าที่เปลี่ยนหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ส่วนอีกชุดหนึ่งไว้สำหรับไปเป็นกรรมการนับคะแนนตามหน่วยเลือกตั้ง ทั้งนี้ นายจตุพร ได้เตือนให้กองทัพยุติชุดปฏิบัติการพิเศษของ พล.อ.คนดังกล่าวเสีย ไม่เช่นนั้น ถ้าคนเสื้อแดงพบทหารไปปฏิบัติการช่วงเลือกตั้งเมื่อไหร่ จะจับทหารส่ง กกต.ให้หมด

ขณะที่ท่าทีของพรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค ก็ได้ออกมาเตือนให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพรักษาคำพูดที่ได้ยืนยันว่าจะไม่ปฏิวัติ หากทหารผิดคำพูดเมื่อไหร่ พรรคเพื่อไทยและประชาชนจะออกมาต่อต้านแน่นอน

3. กม.ลูกว่าด้วยเลือกตั้ง 3 ฉบับผ่านสภาฉลุย ด้าน “รช.-พผ.” จับมือรวมพรรค-ใช้ชื่อใหม่ “ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน” ขณะที่ “ทักษิณ” ชูนิรโทษกรรมหลังเลือกตั้ง!
บรรยากาศในงานแถลงข่าวจับมือรวมพรรคของพรรคเพื่อแผ่นดินและพรรครวมชาติพัฒนา(7 เม.ย.)
เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 3 ฉบับในวาระ 3 แล้วด้วยมติเอกฉันท์ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ประชุมเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 354 ต่อ 0 ,ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 349 ต่อ 0 ,ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 355 ต่อ 0 หลังจากนี้จะมีการส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป

ส่วนสถานการณ์การเมืองในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวของหลายพรรคการเมืองเพื่อรับศึกเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ โดยในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการทำบุญครบรอบ 65 ปีของการก่อตั้งพรรคเมื่อวันที่ 6 เม.ย. ในงาน นอกจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค จะปลุกลูกพรรคให้เตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นประมาณปลายเดือน มิ.ย.หรือต้นเดือน ก.ค.แล้ว ยังมีการเปิดตัวหนังสือ “ประเทศไทยของเรา อย่าให้ใครเผาอีก” ซึ่งเป็นหนังสือที่เรียบเรียงจากการชี้แจงของพรรคประชาธิปัตย์ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา พร้อมภาพเหตุการณ์จลาจลช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรค ได้ตั้งโต๊ะขายหนังสือดังกล่าวจำนวน 2,000 เล่ม เล่มละ 100 บาท

วันเดียวกัน(6 เม.ย.) พรรคภูมิใจไทย ก็มีการทำบุญครบรอบ 2 ปีของการก่อตั้งพรรคเช่นกัน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ในงาน มีการปล่อยขบวนรถเพื่อไปแจกพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมสมุดลงนามถวายพระพรด้วย โดยจะเดินสายแจกจ่ายทั่วประเทศ ทั้งนี้ นายเนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวินและแกนนำพรรคภูมิใจไทย พูดถึงสาเหตุที่ปล่อยขบวนรถดังกล่าวว่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ต้องการเดินทางมาถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่โรงพยาบาลศิริราช แต่ไม่สามารถเดินทางมาได้ จึงนำรูปภาพพร้อมสมุดลงนามไปให้ลงนามถึงที่ จากนั้นจะนำกลับไปมอบให้สำนักพระราชวัง เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนกรณีที่อาจมีผู้มองว่าการกระทำดังกล่าวไม่เหมาะสมหรือนำสถาบันมาหาเสียงนั้น นายเนวิน พูดแบบไม่แคร์ว่า “ใครจะคิดอะไรก็คิดได้หลายอย่าง แต่ต้องบริสุทธิ์ เพราะเราทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความจงรักภักดี ใครที่จะพูดหรือจะติอะไร ต้องถามตัวเองว่าคุณเคยทำอะไรเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีหรือไม่ หรือดีแต่ติแล้วไม่ทำอะไรเลย”

ด้านพรรคเพื่อแผ่นดิน(พผ.) และพรรครวมชาติพัฒนา(รช.) ก็ได้ทำเซอร์ไพรส์ด้วยการแถลงเป็นพันธมิตรทางการเมืองร่วมกัน ภายใต้ชื่อใหม่ “พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน” ทั้งนี้ แกนนำของทั้ง 2 พรรคได้เปิดแถลงเมื่อวันที่ 7 เม.ย. นำโดยนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ,นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรครวมชาติพัฒนา และนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เลขาธิการพรรครวมชาติพัฒนา โดย นพ.วรรณรัตน์ ให้เหตุผลที่จับมือเป็นพันธมิตรกันว่า เพราะทั้ง 2 พรรคมีความเห็นตรงกันว่าจะร่วมกันแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง และฟื้นฟูเศรษฐกิจของชาติ และว่า หลังจากนี้จะมีการประชุมใหญ่สามัญของพรรครวมชาติพัฒนา เพื่อขอมติเปลี่ยนชื่อพรรคใหม่เป็นพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ขณะที่นายชาญชัย บอกว่า หากมีพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) เลือกตั้งทั่วไปเมื่อไหร่ สมาชิกพรรคเพื่อแผ่นดินร้อยละ 99 จะลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเก่า แล้วมาสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคใหม่ ส่วนพรรคเพื่อแผ่นดินก็จะยังคงอยู่ต่อไป ไม่ได้ยุบ เพราะมีคนที่ยังยืนยันอุดมการณ์เดิมอยู่กับพรรคเพื่อแผ่นดินอีกร้อยละ 1

ด้านนายอิสสระ สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พูดถึงการจับมือตั้งพรรคใหม่ของพรรค ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดินและพรรครวมชาติพัฒนาว่า คงไม่ส่งผลกระทบกับฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคอีสาน นายอิสสระ ยังบอกด้วยว่า เท่าที่ได้พูดคุยกับ ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดินและพรรครวมชาติพัฒนาทราบว่า ส.ส.บางส่วนของทั้ง 2 พรรคจะไม่ไปอยู่พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน แต่จะไปอยู่พรรคอื่น เช่น นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เลขาธิการพรรครวมชาติพัฒนา จะไปอยู่กับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ที่พรรคชาติไทยพัฒนา

ขณะที่นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา แม้ยังไม่ได้พูดว่านายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ จะย้ายจากพรรครวมชาติพัฒนามาอยู่กับพรรคชาติไทยพัฒนาตามที่นายอิสสระพูดจริงหรือไม่ แต่นายบรรหารก็ส่งสัญญาณออกมาทำนองนั้น โดยบอกว่า แม้ตัวเลข ส.ส.ของพรรคชาติไทยพัฒนาจะนิ่งแล้วและยังอยู่ที่จำนวนเท่าเดิม แต่อาจจะมีเซอร์ไพรส์บ้างหลังเทศกาลสงกรานต์

ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยนั้น นอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะออกมาให้ความชัดเจนว่า คนที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ กับหัวหน้าพรรคจะเป็นคนละคนกัน โดยคนที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ คือคนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณยังได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ ดิ เอเชียน วอลสตรีท เจอร์นัล ฉบับวันที่ 8 เม.ย. เกี่ยวกับความเห็นและบทบาทของตนกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ด้วย โดยพูดชัดเจนว่า ตนจะกลับมามีบทบาทในการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง พร้อมเผยสิ่งที่ตนจะทำ 2 เรื่อง คือ 1.ปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคล ซึ่งปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 30% สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่เก็บ 25% ขณะที่สิงคโปร์เก็บ 17% ส่วนอีกเรื่องที่จะทำคือ ผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองทั้งหมด นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อปี 2549 เป็นต้นมา ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชี้ว่า “ความขัดแย้งครั้งนี้ดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมาจนเข้า 5 ปีแล้ว และทำให้หลายคนลำบาก ทุกข์ยากทั้งทางร่างกายและจิตใจ ควรเริ่มต้นใหม่เพื่อให้ประเทศรุ่งเรืองอีกครั้ง”

พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเปรียบเทียบสถานการณ์การเมืองในไทยกับประเทศในตะวันออกกลางด้วยว่า ประชาธิปไตยไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือบอกคุณว่า ทั้งโลก ประชาชนส่วนใหญ่กำลังเปลี่ยนแปลง” อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ได้แสดงความกังวลว่า การเลือกตั้งอาจจะไม่ได้เกิดขึ้น โดยอ้างว่า “มือที่มองไม่เห็น” อาจเข้ามาแทรกแซงไม่ให้มีการเลือกตั้งหรือโน้มน้าวชักจูงบรรดาพรรคการเมืองขนาดเล็กไม่ให้เข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทยเพื่อจัดตั้งรัฐบาล เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับรัฐบาลพรรคพลังประชาชนเมื่อปี 2551

4. ญาติ “วีระ-ราตรี” ขอ “ทักษิณ” ช่วยพ้นคุกเขมร ด้านกองทัพ กร้าว ห้ามทหารอินโดฯ เข้าไทยสังเกตการณ์พื้นที่ 4.6 ตร.กม.!
 นายวีระ สมความคิด แกนนำเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ
สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องที่ต้องติดตามทั้งการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา(เจบีซี) ที่เดินหน้าประชุมกันที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 7-8 เม.ย. แม้จะติดปัญหาร่างบันทึกการประชุมเจบีซี 3 ฉบับยังไม่ผ่านการรับรองจากที่ประชุมรัฐสภาก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้การประชุมเจบีซีต้องหยุดชะงัก โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า แม้บันทึกเจบีซี 3 ฉบับยังค้างอยู่ ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการประชุมเจบีซี เพราะเรื่องที่หารือเป็นเรื่องการคัดเลือกคนมาทำภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งอยู่ในกรอบเจรจาเจบีซีที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่อินโดนีเซียจะส่งผู้สังเกตการณ์มาไทยบริเวณพื้นที่พิพาท 4.6 ตร.กม. ซึ่งกองทัพไม่เห็นด้วย รวมถึงการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา(จีบีซี) ที่มีปัญหาว่า ทางกัมพูชาต้องการให้อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่รัฐมนตรีกลาโหมและผู้บัญชาการเหล่าทัพยืนยันว่า ต้องประชุมที่ไทยหรือกัมพูชาเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องทวิภาคี

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีกลาโหม ยืนยันหนักแน่น(4 เม.ย.) ว่า ไม่มีความจำเป็นต้องไปประชุมจีบีซีที่ประเทศอินโดนีเซียตามที่ พล.อ.เตีย บัน รองนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหมของกัมพูชาระบุ “ผมไม่ทราบว่าจะไปประชุมที่อินโดนีเซียทำไม ส่วนเจบีซีจะประชุมก็ประชุมไป แต่การประชุมจีบีซีเป็นเรื่องของแนวชายแดน เวลานี้ประชาชนทั้งสองประเทศไปมาหาสู่กัน การค้าขายก็ปกติ ไม่เห็นมีความจำเป็นต้องไปประชุมที่อินโดนีเซีย”

ด้าน พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ออกมาสำทับอีกครั้งในวันต่อมา(5 เม.ย.) ด้วยท่วงทำนองเดียวกับรัฐมนตรีกลาโหม โดยยืนยันว่า การประชุมจีบีซีต้องจัดขึ้นในไทยหรือไม่ก็กัมพูชาเท่านั้น หากจัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซียหรือประเทศอื่น จะถือว่าขัดต่อบันทึกความเข้าใจที่ผู้แทนรัฐบาลไทยและกัมพูชาได้ตกลงกันไว้เมื่อปี 2538 ที่ระบุว่า ให้ไทยและกัมพูชาจัดประชุมจีบีซีปีละ 1 ครั้ง โดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเมื่อปี 2553 ไทยเป็นเจ้าภาพจัดที่พัทยา จ.ชลบุรี ส่วนปีนี้ เดิมกัมพูชารับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในเดือน มิ.ย. ดังนั้นต้องประชุมตามข้อตกลง “กองทัพยึดมั่นต่อพันธกรณีระดับทวิภาคี ซึ่งรัฐบาลไทยและกัมพูชาตกลงกันเมื่อปี 2538 ดังนั้นกองทัพยินดีไปร่วมประชุมจีบีซีที่กัมพูชา ในสถานที่และเวลาที่เหมาะสม และหากหลังประชุมครั้งนี้ จำเป็นต้องประชุมกันอีก ก็ต้องหารือว่าจะประชุมที่ใด เวลาใด ใครเป็นเจ้าภาพ ตามพันธกรณีที่ได้ยึดถือ หากไม่ปฏิบัติถือว่าเรายกเลิกพันธกรณีปี 2538 ซึ่งกองทัพไม่สามารถทำได้... ถ้าฝ่ายกัมพูชายังไม่พร้อมที่จะจัดการประชุมก็รอ และถ้าไม่พร้อม มาจัดที่ประเทศไทยก็ได้...” ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้พูดคุยกับนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือไม่ เพราะนายกษิตหนุนให้อินโดนีเซียเป็นตัวกลางในการจัดประชุมจีบีซี แต่ พล.อ.ทรงกิตติ ไม่ตอบ โดยบอกเพียงว่า ตนไม่ล่วงละเมิดเข้าไปในขอบเขตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

พล.อ.ทรงกิตติ ยังส่งสัญญาณที่ตรงข้ามกับท่าทีของนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีกเรื่องหนึ่ง คือกรณีที่อินโดนีเซียจะส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามายังประเทศไทยบริเวณพื้นที่พิพาท 4.6 ตร.กม. ซึ่งกองทัพไม่เห็นด้วย เพราะจะขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ โดย พล.อ.ทรงกิตติ ยืนยันว่า กองทัพจำเป็นต้องรักษาอธิปไตยเหนือดินแดน โดยไม่ให้กำลังทหารจากประเทศใดประเทศหนึ่งเข้ามาประเทศไทย เพราะจะส่งผลต่อการดำเนินกลยุทธ์ตามแผนป้องกันประเทศ

ด้านนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกมายืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องที่อินโดนีเซียจะส่งผู้สังเกตการณ์มาไทยจำนวน 15 คน ส่วนกระทรวงกลาโหมมีหน้าที่กำหนดว่าจะให้ผู้สังเกตการณ์ไปประจำที่จุดใด เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับการหยุดปะทะกับฝ่ายกัมพูชา อย่างไรก็ตาม นายกษิต บอกว่า “ได้หารือกับกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 6 เม.ย. ได้ข้อตกลงร่วมกันว่า กระทรวงการต่างประเทศจะรับผิดชอบทั้ง 2 เรื่อง คือการกำหนดหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์จากฝ่ายอินโดนีเซีย และกำหนดที่ตั้งที่ผู้สังเกตการณ์จะมาประจำที่จุดใด” นายกษิต ยังยืนยันด้วยว่า ทุกอย่างไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และจะไม่มีผู้สังเกตการณ์อยู่ในพื้นที่ 4.6 ตร.กม. พร้อมย้ำว่า กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมไม่ได้ขัดแย้งกันแต่อย่างใด

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีกลาโหม เผยถึงผลการหารือกับนายกษิตว่า ได้บอกไปว่า ให้นายกษิตดำเนินการในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนการประชุมจีบีซี ตนจะรับผิดชอบเอง โดยการดำเนินการทุกอย่างจะไม่ให้ขัดต่อกฎหมาย

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง พยายามเคลียร์ปัญหาการประชุมจีบีซี-การประชุมเจบีซี และการที่อินโดนีเซียจะส่งผู้สังเกตการณ์มาไทย โดยบอกว่า ต้องแยกเรื่องจีบีซีและเจบีซีออกจากกัน โดยจีบีซีเป็นเรื่องชายแดนทั่วไป กระทรวงกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนเจบีซีเป็นเรื่องปักปันเขตแดน ซึ่งมีปัญหาและยูเอ็นเอสซีให้อาเซียนมาดูแลแทน ซึ่งอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน จะเป็นผู้สังเกตการณ์จัดประชุม “เรื่องผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียที่จะมา แล้วจะอยู่ตรงไหน อย่างไร และการประชุมจะดำเนินการได้เมื่อไรนั้น กระทรวงการต่างประเทศจะต้องเข้าไปดำเนินการหารือกับกัมพูชาและอินโดนีเซีย โดยฝ่ายทหารก็ยืนยันว่า ผู้สังเกตการณ์จะต้องไม่ใช่กองกำลังทหาร เพราะจะกระทบกับอธิปไตยของไทยและไม่เหมาะสมหากจะให้ชาติอื่นเอากองกำลังทหารมาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศก็เข้าใจและจะต้องไปหารือต่อรอง”

ส่วนความคืบหน้าการช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด แกนนำเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ ผู้สื่อข่าวเอฟเอ็มทีวี เครือข่ายสันติอโศก ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งก่อนหน้านี้ บุคคลทั้งสองได้ตัดสินใจไม่อุทธรณ์คดีที่ศาลกัมพูชาพิพากษาจำคุกฐานบุกรุกดินแดนและจารกรรมข้อมูล พร้อมลงนามขอพระราชทานอภัยโทษ โดยญาติของนายวีระได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้รัฐบาลช่วยเหลือแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดใดนั้น ปรากฏว่า ล่าสุด มารดา-น้องชาย และหลานสาวนายวีระ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ช่วยเหลือนายวีระและ น.ส.ราตรีอีกทางแล้ว เนื่องจากเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณเคยช่วยเหลือนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรชาวไทย ในข้อหาจารกรรม ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกันกับบุคคลทั้งสอง จึงอยากให้พรรคเพื่อไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณช่วยเหลือในฐานะคนไทยด้วยกัน พร้อมยืนยันว่า การทำเช่นนี้ไม่ได้ขัดแย้งกับภาครัฐแต่อย่างใด

ด้านนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บอกว่า จะส่งหนังสือของญาตินายวีระไปให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งขณะนี้เดินทางอยู่แถวประเทศในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม นายนพดล บอกว่า ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะดำเนินการใดใด คงต้องรอให้นายวีระ และ น.ส.ราตรีแสดงความจำนงด้วยตนเองก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในขั้นตอนปฏิบัติ

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พูดถึงกรณีที่ญาตินายวีระขอความช่วยเหลือจาก พ.ต.ท.ทักษิณว่า ไม่ถือเป็นการตบหน้ารัฐบาลแต่อย่างใด เพราะทางไหนช่วยได้ ครอบครัวของนายวีระและ น.ส.ราตรีก็คงอยากให้ช่วย พร้อมยืนยันว่า ในส่วนของรัฐบาล ได้ประสานเพื่อช่วยเหลือบุคคลทั้งสองอยู่ตลอดเวลา
กำลังโหลดความคิดเห็น