นครศรีธรรมราช - “เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์” เสด็จเยี่ยมราษฎรนบพิตำ พร้อมพระราชทานหน่วยแพทย์เข้าช่วยเหลือ ทรงมีพระปฏิสัณฐานว่า “ในหลวง-พระราชินี” เป็นห่วงประชาชนมาก สร้างความปลาบปลื้มอย่างหาที่สุดมิได้ ขณะเดียวกัน รมต.หลายคนที่จงใจเดินทางมาเยี่ยมชาวบ้านในวันนี้มีมากเป็นพิเศษ ทำให้ จนท.ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ เพราะต้องคอยต้อนรับ ส่วน อบจ.เริ่มมีการตรวจสอบ โดยจะยื่นญัตติขอเปิดสมัยประชุมสภาฯ เร่งด่วน เพราะความช่วยเหลือที่ไม่ทั่วถึง และต้องรอให้ รมต.ลงมาร่วมจึงจะแจกของช่วยชาวบ้าน
วันนี้ (5 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระดำเนินด้วยเฮลิคอปเตอร์ ลงยังสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราวโรงเรียนนบพิตำ โดยเสด็จเข้าเยี่ยมเยียนประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.นบพิตำ ท่ามกลางประชาชนจำนวนมากที่รอเฝ้าฯ รับเสด็จ พร้อมกันนี้ได้พระราชทานหน่วยแพทย์ พอ.สว.เข้ารักษาอาการเจ็บป่วยของประชาชน และพระราชทานถุงยังชีพแก่ประชาชนจำนวน 500 ชุด และพระราชทานของเด็กเล่นแก่เด็กที่ศูนย์อพยพโรงเรียนนบพิตำ ก่อนที่จะทรงมีพระปฏิสัณฐานถึงความเป็นอยู่ ความเดือดร้อนต่อประชาชนในศูนย์อพยพอย่างไม่ถือพระองค์ สร้างความปลื้มปีติแก่ประชาชนผู้ประสบภัย
นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงห่วงใยพสกนิกรอย่างมาก และทรงมีพระปฏิสัณฐานว่า เมื่อปี 2531 นครศรีธรรมราชเกิดภัยแบบนี้มาแล้ว ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถ เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่มประชาชน มาวันนี้พระองค์ท่านทรงเป็นห่วงประชาชนผู้เดือดร้อนจากอุทกภัยอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชินี ทรงให้มาดูแลเยี่ยมให้กำลังใจ ขอให้ทุกคนมีกำลังกายที่เข้มแข็ง มีกำลังใจที่แข็งแกร่งให้มาก ท่ามกลางความปีติของบรรดาข้าราชบริพารและประชาชนที่เฝ้าฯ รับเสด็จ
นอกจากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ยังได้พระราชทานหน่วยแพทย์ พอ.สว.เข้าดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยของประชาชน ซึ่งได้คัดกรองตามอาการเจ็บป่วย พิการ มอบให้ สสจ.รับไปดูแลตามขั้นตอน และถ้าเกินกำลังจะส่งต่อไปยังมอ.
พบหมู่บ้านกลางหุบพังราบ ต้องเดินเท้าออกมารับถุงยังชีพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พบกับหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างคือบ้านเหนือคลอง หมู่ที่ 3 ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ นครศรีธรรมราช เนื่องจากถูกน้ำป่าที่เชี่ยวกราก และดินพังถล่มลงมาจากภูเขาถ้ำหงส์พัดพาดินโคลน และต้นไม้ขนาดใหญ่มาทับบ้านของชาวบ้านจำนวน 8 หลัง พร้อมทั้งทรัพย์สินอื่นๆ หายไปหมดสิ้น ถนนและสะพานทางเข้าหมู่บ้านเสียหายทั้งหมด ชาวบ้านต้องใช้วิธีเดินเท้าเท่านั้น เนื่องจากเฮลิคอปเตอร์ไม่สามารถบินเข้าไปได้
สำหรับพื้นที่ดังกล่าวล้อมรอบด้วยภูเขาทุกด้าน มีชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ 30 ครัวเรือน หลังจากที่เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากและดินถล่มเมื่อหลายวันก่อน ทำให้สภาพภายในหมู่บ้านพังเสียหายยับเยิน โชคดีที่ไม่มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เนื่องจากชาวบ้านในหมู่บ้านทราบว่าพื้นที่ตั้งหมู่บ้านพื้นที่ที่เสี่ยงเพราะตั้งอยู่ภายในหุบเขา เมื่อฝนตกหนักติดต่อกันหลายจึงอพยพมาอยู่บ้านญาติซึ่งเป็นที่ปลอดภัยทำให้รอดชีวิตมาได้ และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายได้เข้าไปจึงพบว่าบ้านเรือพังเสียหายยับเยิน
แดดแรงฟ้าเปิด เร่งลุ่มน้ำปากพนังเน่า
สำหรับวันนี้ฝนตกปริมาณน้อยลงท้องป้าเปิด แดดจัด ระดับน้ำในพื้นที่เกษตรบ้านเรือนราษฎรลดลงเกือบเข้าสู่ภาวะปกติในหลายพื้นที่ ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ใกล้ทางน้ำ และทางน้ำที่เกิดจากดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ยังมีน้ำท่วมในพื้นที่ราบลุ่มต่ำและพื้นที่รับน้ำ พื้นที่อำเภอในลุ่มน้ำปากพนัง ที่ยังมีน้ำท่วมระดับน้ำทรงตัวและลดลง คือ อำเภอหัวไทร เฉลิมพระเกียรติ ปากพนัง เชียรใหญ่ จุฬาภรณ์ ทุ่งใหญ่ ทุ่งสง และอำเภอบางขัน พื้นที่อำเภอที่ระดับน้ำลดลงคง เหลือน้ำในพื้นที่ลุ่มบางหมู่บ้านและในพื้นที่ใกล้ลำน้ำธรรมชาติ คือ อำเภอลานสกา, พิปูน, พระพรหม, เมืองนครศรีธรรมราช, นบพิตำ, พรหมคีรี, ท่าศาลา, สิชล, ขนอม, ช้างกลาง, นาบอน, ร่อนพิบูลย์, ฉวาง, ชะอวด และถ้ำพรรณรา
อย่างไรก็ตาม เฉพาะในพื้นที่ลุ่มปากพนังได้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังที่ยังไม่ลดลง ส่งผลให้พืชต่างๆ เน่าส่งกลิ่นและมีแมลงรำคาญจำนวนมากออกอาละวาด รวมทั้งการท่วมขังดังกล่าวทำให้วัวและควายไม่มีอาหารกิน อาหารสำรองจากการช่วยเหลือไม่สามารถเข้าไปถึงได้ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามาอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ในความเสียหายของจังหวัดนครศรีธรรมราชในภาพรวมทั้ง 23 อำเภอ 165 ตำบล 1,551 หมู่บ้าน 312,500 ครัวเรือน 909,251 คน อพยพ 22,261 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 22 บางส่วน 2,446 หลัง อาคารพาณิชย์ 8 ห้อง พื้นที่การเกษตรคาดว่าเสียหาย 580,816 ไร่ ถนนเสียหาย 2,279 สาย ปศุสัตว์ 1,439,148 ตัว สัตว์ปีก 166,198 ตัว บ่อปลาบ่อกุ้ง 7,961 บ่อ สะพาน/คอ 222 แห่ง ฝาย/ทำนบ/ผนังกั้นน้ำ 35 แห่ง วัด 99 แห่ง โรงเรียน 66 แห่ง สถานที่ราชการ 83 แห่ง บ่อน้ำ/อ่างเก็บน้ำ 13 แห่ง ท่อระบายน้ำ 249 แห่ง
ถนนสายทางหลวง (แขวง ฯ ที่ 2 ทุ่งสง) มีความเสียหายจำนวน 18 สายทาง 42 แห่ง ในพื้นที่ 8 อำเภอ มูลค่า 70,301,697 บาท (แขวง ฯ ที่ 1 นครศรีฯ ) มีความเสียหาย 21 สายทาง 57 แห่ง มูลค่า 161,200,000 บาท เส้นทางของทางหลวงชนบท เสียหาย 135 สาย มูลค่า 851,820,000 บาท และอื่นๆ อยู่ระหว่างสำรวจเพิ่มเติม มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 2,300,000,000 บาท
รัฐมนตรีแห่ลงพื้นที่ เจ้าหน้าที่ต้องรอรับไม่เป็นอันทำงาน
สำหรับการติดตามการช่วยเหลือในพื้นที่ วันที่มีรัฐมนตรีเดินทางมายังพื้นที่ประสบภัยมากที่สุด เช่น นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นรายแรก นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง และ อ.สิชล และมีรายงานว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ อ.นบพิตำ ตามมาด้วย และคณะสุดท้ายคือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ อ.สิชล และอ.นบพิตำ ท่ามกลางข้าราชการระดับสูงที่ต้องมารอคอยต้อนรับ
สนามบินเช็กความพร้อมความปลอดภัยเต็มพิกัดก่อนเปิดบริการ
นายนิสิต สมบัติ ผอ.ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ในการเตรียมพร้อมวันนี้ กรมการขนส่งทางอากาศได้จัดเครื่องบินติดตั้งเครื่องมือทดสอบระบบต่างๆ ที่ถูกซ่อมแซมปรับปรุงในท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช บินตรงมาจาก กทม.และได้ทำสอบระบบนำร่อน ระบบไฟนำทางรันเวย์ ไฟพื้นผิวจราจรและระบบไฟฟ้าต่างๆ ทุกระบบให้มีความพร้อมสูงสุดซึ่งมีการตรวจสอบแล้วหลายเที่ยวยังไม่พบปัญหา
หลังจากนี้จะมีการแจ้งไปยังกรมการขนส่งทางอากาศ และการท่าอากาศยาน เพื่อแจ้งถึงความพร้อม หลังจากนั้นคาดว่าจะสามารถเปิดบริการได้ในราววันที่ 6 เม.ย.นี้ หากไม่มีความผิดพลาดหรือความบกพร่องใดๆ เกิดขึ้น ทุกอย่างเราต้องตรวจสอบให้แน่ชัดเพื่อความปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ในทุกส่วน
รมต.เกษตรฯ รุดเยี่ยม ระบุการช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนเกษตรกร
ที่ศาลาประชาคมอำเภอเชียรใหญ่ นครศรี นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมที่ดินเดินทางมาตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยและมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัยที่ศาลาประชาคมอำเภอเชียรใหญ่ โดย รมต.เกษตรได้ระบุว่า สถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ได้ส่งผลกระทบด้านการเกษตรในวงกว้าง ด้านพืชมีเกษตรกรประสบภัย 10 จังหวัด เกษตรกร 181,511 ราย พื้นที่ประสบภัย 1,090,609 ไร่ แบ่งเป็นข้าว 319,878 ไร่, พืชไร่ 56,110 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 714,621 ไร่ ด้านปศุสัตว์สัตว์ที่ได้รับผลกระทบ 4,374,418 ตัว แบ่งเป็นโค-กระบือ 182,307 ตัว สุกร-แพะ,แกะ 666,790 ตัว สัตว์ปีก 3,525,321 ตัว แปลงหญ้า 5,304 ไร่ ด้านประมงพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์ประสบภัย 25,333 บ่อ ปลาในกระชัง 3,343 กระชัง
นายธีระกล่าวอีกว่า การช่วยเหลือเกษตรกรจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ในเรื่องของเงินจะมีการช่วยเหลือเป็นเงินร้อยละ 55 ของต้นทุนเกษตรกร ส่วนเกษตรกรที่เป็นหนี้ธนาคารของรัฐจะมีการพักหนี้ให้ 3 ปี ปลอดดอกเบี้ย และจะสามารถกู้ลงทุนได้เพิ่มเติมรายละไม่เกินแสนบาท ส่วนปัญหาเฉพาะเร่งด่วนตอนนี้ก็ได้มีการจัดส่งเสียบงอาหารสัตว์ลงมาให้ ซึ่งทั้งประเทศมี 5,000 ตัน ภาคใต้มี 1,200 ตัน หากไม่พอก็จะขอสนับสนุนมาเพิ่มเติมได้ พื้นที่ใดมีน้ำท่วมขังก็จะระดมเครื่องสูบน้ำสูบออก จุดไหนมีน้ำเสียมีกลิ่นก็จะมีการใส่สารขจัดเรื่องกลิ่นซึ่งจะมีมาตรการรองรับไว้แล้ว
ส่วนขั้นตอนการช่วยเหลือเกษตรกรนั้น ครั้งนี้จะช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรที่ลงทะเบียนเกษตรกรเท่านั้น ส่วนเกษตรกรรายใดไม่ได้ลงทะเบียนเกษตรกรไว้ก็จะไม่ให้การช่วยเหลือและผ่อนผันให้ เพื่อให้เกษตรกรได้มีวินัยในตัวเอง ซึ่งเป็นมติ ครม.เรียบร้อยแล้ว เพราะจะต้องมีการจัดระบบและวินัยที่ถูกต้อง ซึ่งช่วงน้ำท่วมรอบก่อนเราช่วยหมดทั้งเกษตรกรที่ลงทะเบียนและไม่ลงทะเบียน แต่รอบนี้จะให้การช่วยเหลือเฉพาะที่ลงทะเบียนเกษตรกรเท่านั้น เพื่อความเป็นระบบ โดยงบประมาณที่ขออนุมัติ ครม.เป็นเงิน 33,260 ล้านบาท โดยนำงบที่เหลือจากครั้งก่อนมาใช้ 1,600 ล้านบาท
ส.อบจ. เข้าชื่อฟันนายก อบจ.เหนียวแจกจ่ายถุงยังชีพ
ส่วนที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ส.อบจ.นครศรีธรรมราช รวม 16 คน นำโดยนายชนะ วงศ์มุสิก สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ยื่นหนังสือขอเปิดสมัยประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช สมัยวิสามัญ ต่อว่าที่ร้อยตรี พีรพันธุ์ สุวรรณโอภาส ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นการเร่งด่วนเพื่อเปิดอภิปรายถึงการช่วยเหลือประชาชนในกรณีภัยพิบัติที่เกิดขึ้น
นายชนะ วงศ์มุสิก ส.อบจ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า การที่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชทั้ง 16 คน มายื่นหนังสือในวันนี้ เพื่อที่จะยื่นญัตติเรื่องการบริหารของนายก พิชัย บุณยเกียรติ ว่าไม่มีความเป็นธรรม และมองข้ามการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.อบจ การดำเนินการใช้งบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่นของ อบจ. ในปีงบประมาณ 2553 และ 2554 ซึ่งได้ล่วงเลยมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่เห็นความก้าวหน้าในการบริหารพัฒนา และในบางเขตบางท้องถิ่น งบประมาณยังไม่ได้ลงมาดำเนินการในพื้นที่
ตลอดถึงการแก้ปัญหาของอุทกภัย นายกพิชัย บุณญเกียรติ ได้ประสานงานข้ามสมาชิกในพื้นที่แต่ประสานไปยัง อบต.ให้แจ้งจำนวนผู้ได้รับความเสียหาย เพื่อส่งถุงยังชีพ ทำไมไม่ประสานให้สมาชิกเป็นผู้ส่งเอกสารร้องขอมาโดยตรง ตลอดถึงการจัดซื้อของช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมไม่โปร่งใส และการวางแผนการดำเนินงานรับสถาณการณ์อุทกภัยของ นายก อบจ.ไม่มีมาตรฐาน ซึ่งกรมอุตุฯ ได้แจ้งล่วงหน้าแล้ว
นายชนะ วงศ์มุสิก ส.อบจ.นครศรีธรรมราช กล่าวต่ออีกว่า นายกพิชัย บุณยเกียรติ ทำงาน สองมาตรฐาน เช่น ปัญหาน้ำท่วม การแจกถุงยังชีพนั้นนายกยังคงใช้อำนาจหน้าที่เป็นใหญ่ ถ้าไม่ใช่ฝ่ายตัวเองแล้วจะไม่ให้ และถ้านายก อบจ.จะแจกถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัยแล้ว ต้องรอให้ชิณวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาร่วมแจกด้วยจึงจะได้แจกจ่าย ดังนั้น ส.อบจ.ทั้ง 16 คน จึงมีความประสงค์ที่จะยื่นญัตติขอเปิดสมัยประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช สมัยวิสามัญอย่างเร่งด่วน เพื่ออภิปรายในกรณีนี้