xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 10-15 ม.ค.2554

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. เขมร ให้ “พนิช-นฤมล” ประกันตัวแล้ว สะพัด แลกไทยปล่อยแรงงานต่างด้าวชาวเขมรนับร้อย ด้าน “วีระ-ราตรี” ถูกตั้งข้อหาเพิ่ม!
นายวีระ สมความคิด แกนนำเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ และนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์
ความคืบหน้ากรณีทหารกัมพูชาจับกุม 7 คนไทย ประกอบด้วย นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ,นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น และแกนนำเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ฯลฯ ขณะเดินทางไปตรวจสอบหลักเขตชายแดนที่ 46 ท้ายบ้านหนองจาน ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้วเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.ที่ผ่านมา หลังได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านเรื่องที่ทำกิน ด้านกัมพูชาอ้างว่าคนไทยทั้ง 7 รุกล้ำเขตแดนกัมพูชา พร้อมนำตัวไปคุมขังไว้ที่เรือนจำเปรยซอร์ กรุงพนมเปญ เพื่อรอศาลไต่สวน ขณะที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงของไทย ก็พูดเป็นเสียงเดียวกับกัมพูชาว่า 7 คนไทยรุกล้ำเขตแดนกัมพูชา แต่เครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ยืนยันว่า ทั้ง 7 คนถูกเขมรจับกุมในเขตไทย เช่นเดียวกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ออกแถลงการณ์พร้อมยกหลักฐานยืนยันว่า จุดที่ 7 คนไทยถูกเขมรจับอยู่ในเขตไทย โดยมีหลักฐาน ทั้งเอกสารสิทธิ ส.ค.1 และ น.ส.3 ของชาวบ้านบริเวณดังกล่าว รวมทั้งหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ

ปรากฏว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศ โดยนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกมาย้ำว่า คนไทยทั้ง 7 ถูกจับในเขตเขมรจริง ไม่ได้ถูกจับในจุดที่เป็นที่ตั้งค่ายลี้ภัยของยูเอ็นเอชซีอาร์ตามที่พันธมิตรฯ ระบุ แต่ถูกจับที่ อ.โคกสูง จ.สระแก้ว ซึ่งห่างจากค่ายลี้ภัย 30 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ที่ อ.ตาพระยา จ.ปราจีนบุรี และได้เปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้านทับทิมสยาม 2 และว่า ที่พันธมิตรฯ นำแผนที่แสดงพิกัดเขตแดนมาอ้างว่า 7 คนไทยถูกเขมรจับในเขตไทยนั้น นายชวนนท์ ยืนยันว่าเป็นจุดที่ไม่ตรงกับที่กรมแผนที่ทหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศลงพื้นที่ตรวจสอบมา ซึ่งเป็นพิกัดที่อยู่ต่ำลงมา ยืนยันได้อยู่ในพื้นที่ของกัมพูชาจริง และเจ้าหน้าที่ของกองเขตแดนได้ไปตรวจสอบจุดที่คนไทยทั้ง 7 ถูกจับ โดยมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายบ้านไม้ ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่คนไทยถูกจับ “เรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันช่วยเหลือ 7 คนไทย การลดการโต้เถียงบนหน้ากระดาษ บนสื่อจะช่วยทำให้เรื่องจบได้เร็ว ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมชี้แจงตามข้อเท็จจริงทุกอย่างให้สังคมรับทราบ”

ด้านสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ออกมาพูดถึงเรื่องที่ทหารกัมพูชาจับกุม 7 คนไทย โดยย้ำว่า คดีนี้อยู่ในการพิจารณาของศาลกัมพูชาแล้ว ไม่มีใครเข้าไปแทรกแซงได้ แม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็ตาม

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไม่ยอมพูดถึงการช่วยเหลือ 7 คนไทย โดยบอกว่า เพื่อป้องกันความสับสน จะให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ให้ข่าว แต่ย้ำนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือ 7 คนไทยว่า รัฐบาลมีหน้าที่ 3 อย่าง 1.การดูแลคนไทยทุกคน เมื่อมีคนของเรา 7 คนถูกจับกุมตัวไปก็ต้องดูแลให้ดีที่สุด 2.เรามีหน้าที่รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน เพื่อที่จะให้ประชาชนทั้ง 2 ประเทศ หรือกับประเทศใดก็ตามได้ประโยชน์และอยู่ร่วมกันได้อย่างดี และ 3.เรามีหน้าที่ที่จะรักษาอธิปไตยและสิทธิของประเทศและประชาชนของเรา

ด้านนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า กระทรวงฯ ไม่ได้ปล่อยปละละเลย 7 คนไทยที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเปรยซอร์ พร้อมนำญาติผู้ถูกคุมขังไปเยี่ยมเป็นระยะๆ และว่า ขณะนี้กำลังเร่งกระบวนการยุติธรรมของกัมพูชาให้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้คดีได้รับการตัดสินเร็วขึ้น จะได้ขอพระราชทานอภัยโทษโดยเร็ว นายกษิต ยังย้ำอีกครั้งว่า 7 คนไทยถูกทหารกัมพูชาจับในเขตเขมร “ยืนยันว่าดินแดนที่คนไทยทั้ง 7 คนถูกจับไปอยู่บนถนนเค 5 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทหารฝ่ายกัมพูชาใช้ปฏิบัติการ และคู่ขนานไปกับถนนศรีเพ็ญที่อยู่ฝั่งไทย ทั้ง 7 คนเดินเข้าไปในพื้นที่ซึ่งยังใช้กฎอัยการศึก โดยไม่แจ้งให้ทหารทราบล่วงหน้า แถมยังขับรถเลยตู้ยาม ตชด.ไปอีก 300 เมตร ก่อนเดินเข้าไปในถนนเค 5 ถ้าดูตามแผนที่ L7018 จะเห็นได้ว่าคนของเราล้ำไป 50 กว่าเมตร”


ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายกษิต ได้พูดในที่ประชุม ครม.(11 ม.ค.) โดยส่งสัญญาณว่า ทางกัมพูชาอาจยื่นข้อเสนอให้ไทยปล่อยตัวแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา 60 คน เพื่อแลกกับการปล่อยตัว 7 คนไทย ซึ่งสถานการณ์ที่ปรากฏในเวลาต่อมาทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า อาจมีการต่อรองและแลกเปลี่ยนกันจริงระหว่างทางการไทยและกัมพูชา เพราะหลังกระทรวงต่างประเทศได้ทำเรื่องขอประกันตัว 7 คนไทย ปรากฎว่า ศาลกัมพูชาอนุมัติให้ประกันตัว 2 คน(13 ม.ค.) คือ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ และนางนฤมล จิตรวะรัตนา เลขานุการส่วนตัวนายวีระ สมความคิด แกนนำเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ โดยใช้หลักทรัพย์คนละ 1 หมื่นบาท แต่มีเงื่อนไขห้ามทั้งสองออกนอกประเทศกัมพูชา ทั้งสองจึงได้พักอยู่ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ และหากศาลกัมพูชามีคำสั่งเรียกเมื่อใด ทั้งสองต้องไปแสดงตัวต่อศาลทันที

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังศาลกัมพูชาอนุมัติให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายพนิชและนางนฤมล 2 ใน 7 คนไทยที่ถูกกัมพูชาจับกุม ปรากฏว่า ทางการไทยก็ได้ปล่อยตัวแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาที่เข้าไทยโดยผิดกฎหมายจำนวน 100 คน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธว่า การปล่อยชาวกัมพูชาดังกล่าว ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนกับการปล่อย 2 คนไทย หรือ 7 คนไทยแต่อย่างใด แต่เป็นกระบวนการปกติ นายอภิสิทธิ์ ยังยืนยันด้วยว่า รัฐบาลไม่ได้เลือกปฏิบัติด้วยการช่วยเหลือให้นายพนิชได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก่อน เพราะได้ยื่นขอประกันตัวไปทุกคน ขณะที่กระทรวงต่างประเทศกัมพูชา เผยเหตุผลที่ปล่อยตัวชั่วคราวนายพนิชและนางนฤมลว่า เพราะทั้งสองมีปัญหาเรื่องสุขภาพ

ด้าน ม.ล.สมพงษ์วดี วิกิตเศรษฐ์ มารดานายพนิช เผยหลังรู้ว่าบุตรชายได้รับการประกันตัวว่า ไปเยี่ยมนายพนิชมา 2 ครั้ง พร้อมย้ำ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไม่ได้บอกให้นายพนิชรับสารภาพว่ารุกล้ำดินแดนกัมพูชาแต่อย่างใด “เขาบอกว่าเขามีเจตนาบริสุทธิ์ ทำไปตามหน้าที่ และเขายืนยันว่า ไปอยู่ในที่ของเรา แต่มีคนชี้ให้ไปทางโน้น ทางนี้ ก็ตามเขาไปเรื่อย ไม่รู้ว่าไปผิดไปถูกอย่างไร จนมีคนมาจับ และไม่ได้บอกว่านายกฯ ให้รับผิดตามที่เป็นข่าว เพราะอยู่ในเรือนจำไม่ได้มีการติดต่อกับนายกฯ เลย” ม.ล.สมพงษ์วดี ยังยอมรับด้วยว่า นายพนิชต้องโกนผมจริงตามที่มีข่าว เพราะถูกแมลงกัด เนื่องจากในเรือนจำ เวลานอนจะมีแมลงสาบมาขึ้นตามตัวแล้วกัดจนเป็นแผล จึงต้องโกนผม

ส่วนอีก 5 คนไทยที่ยังไม่ได้รับการประกันตัวนั้น ปรากฏว่า มี 2 คนที่ถูกอัยการกัมพูชาแจ้งข้อหาเพิ่มอีก คือ นายวีระ สมความคิด และนางราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ ผู้สื่อข่าวเอฟเอ็มทีวี เครือข่ายสันติอโศก โดยนอกจากโดนข้อหาลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและบุกรุกพื้นที่หวงห้ามทางทหารของกัมพูชาแล้ว ยังโดนข้อหาจารกรรมข้อมูลของกัมพูชาด้วย ซึ่งหากผิดจริง จะมีโทษจำคุก 5-10 ปี

ด้านนายณฐพร โตประยูร ตัวแทนจากสภาทนายความ ซึ่งจะเป็นทนายความให้ 7 คนไทยที่ถูกเขมรจับกุม เผยหลังเดินทางกลับจากกัมพูชา(13 ม.ค.)ว่า รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศไม่ใส่ใจให้ความช่วยเหลือ 7 คนไทยเหมือนที่รัฐบาลได้ให้ข่าวอยู่ในประเทศ สังเกตได้จากการไต่สวนของศาลกัมพูชาทุกครั้ง จะไม่มีตัวแทนจากสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญหรือตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศเข้าสังเกตการณ์เลย ปล่อยให้ทนายความชาวกัมพูชาเป็นผู้ดำเนินการฝ่ายเดียว “นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศยังไม่ใส่ใจให้ความร่วมมือคณะของผมและนายการุณ ใสงาม ที่ปรึกษาเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติเลย โดยเฉพาะกรณีที่ผมและนายการุณแจ้งกับกระทรวงฯ ว่าจะขอพบและปรึกษาหารือกับทนายความที่กระทรวงการต่างประเทศจัดหาเอาไว้ให้ 7 คนไทย ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้พบกันและทางสถานทูตก็บ่ายเบี่ยงตลอด”

ส่วนความเคลื่อนไหวของเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ได้เดินสายชุมนุมทั้งที่กระทรวงการต่างประเทศและทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ 7 คนไทย พร้อมเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลาออก นอกจากนี้เครือข่ายฯ ยังเคลื่อนไปยังสถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย เรียกร้องให้ปล่อยตัว 7 คนไทยโดยไม่มีเงื่อนไขด้วย ด้านนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ บอกว่า “เบื้องต้นเครือข่ายคนไทยฯ จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมาลงชื่อกับผู้ชุมนุมให้ได้ 50,000 รายชื่อ เพื่อที่จะยื่นถอดถอนบุคคลได้ตามหลักรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ และเมื่อได้รายชื่อครบตามเป้าหมาย จะกำหนดกิจกรรมสุดท้ายได้ โดยเฉพาะการเดินขบวนไปยังกระทรวงกลาโหม เพื่อกดดันให้ทหารแก้ไขสถานการณ์”

ด้านพรรคการเมืองใหม่(ก.ม.ม.) นายจาตุรันต์ บุญเพ็ญจรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคฯ ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกเอ็มโอยูปี 2543 พร้อมรื้อข้อตกลงคณะกรรมการทั่วไปเขตแดนไทย-กัมพูชา(เจบีซี) และขอให้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนในนามประเทศไทยว่า ทหารกัมพูชารุกล้ำเข้ามาจับคนไทย ซึ่งถือว่าละเมิดอธิปไตยของไทย นอกจากนี้ให้รัฐบาลใช้มาตรการผลักดันชาวกัมพูชาและทหารที่รุกล้ำดินแดนไทยออกจากพื้นที่ทันที และให้รัฐบาลดำเนินการให้กัมพูชาปล่อยตัว 7 คนไทยโดยไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งให้ทำหนังสือประท้วงไปยังสหประชาชาติว่า กระบวนการจับกุมและดำเนินคดี 7 คนไทยของกัมพูชาเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ

2. พรรคร่วม รบ.ร้าว โหวตแก้ รธน. คนละทาง ด้าน “สุเทพ” นัดกล่อมก่อนชงเข้าสภา 25 ม.ค.นี้!

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลเกี่ยวกับความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์เป็นประธาน เพื่อพิจารณาร่างแก้ไข รธน.2550 มาตรา 93-98 และลงมติเลือกสูตรที่มาของ ส.ส.ระหว่างสูตรที่ ครม.เสนอ คือ ส.ส.เขตจำนวน 375 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เป็นประธาน กับสูตรที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอ คือ ส.ส.เขตจำนวน 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งเคยใช้สูตรนี้มาแล้วใน รธน.2540

ทั้งนี้ ก่อนลงมติ ได้มีการโต้เถียงกันอย่างดุเดือดระหว่าง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งอภิปรายหนุนสูตร 375+125 กับ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่หนุนสูตร 400+100 โดยนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า “การพิจารณาจากนี้ ต้องไม่วนกลับไป 400+100 แน่นอน 375+125 ไม่ได้เป็นโอกาสสำหรับพรรคการเมืองใดเป็นการเฉพาะ แต่ถ้ามีบัญชีรายชื่อ 100 คน ประสบการณ์เราพบแล้วว่า พรรคการเมืองขนาดเล็กไม่มีโอกาสได้บัญชีรายชื่อเลย และพรรคใดก็ตามไม่มีบัญชีรายชื่อ จะทำให้ไม่มีสถานะและที่ยืนทางการเมืองระดับประเทศ และตัวเลข 400+100 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาแล้ว แต่ 375+125 เป็นทางเลือกใหม่ จะย้อนกลับทางเดิมอีกหรือ หรือจะกลับไปเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550 กันแบบเดิม”

ด้าน พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ และประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่เห็นด้วยกับนายชำนิ โดยบอกว่า ที่นายชำนิบอกว่าสูตร 400+100 ในรัฐธรรมนูญ 2540 ล้มเหลวมาแล้วนั้น ยังไม่เห็นประชาชนบ่นว่าล้มเหลวเลย ส่วนที่อ้างว่าสภารับร่าง 375+125 ไปแล้วนั้น พล.ต.สนั่น บอกว่า เหตุที่รับร่างนั้น ก็เพราะวิปเป็นคนกำหนดว่าต้องรับอย่างนี้ “ต้องขอโทษนายชำนิด้วยว่าความคิดต่างกัน แต่เราไม่ทะเลาะกันนะ ส่วนประธานก็ฟังให้ดีนะ ของดีดีก็เก็บไว้บ้าง”

หลังเกิดการโต้แย้งกันไปมา กรรมาธิการฯ ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอให้เลื่อนลงมติเรื่องที่มา ส.ส. แต่ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลไม่ยอม ทำให้ต้องขอมติที่ประชุม ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมากสนับสนุนให้โหวต อย่างไรก็ตามมีกรรมาธิการอยู่ในห้องประชุมแค่ 35 คน จาก 45 คน เมื่อมีการโหวตแบบเปิดเผย ผลปรากฏว่า เสียงออกมาเท่ากัน โดยมีผู้หนุนสูตร 375+125 จำนวน 17 คน ขณะที่ผู้หนุนสูตร 400+100 ก็ 17 คนเช่นกัน จากนั้น พล.ต.สนั่นจึงพูดดักคอนายเทอดพงษ์ซึ่งทำหน้าที่ประธานว่า ให้งดออกเสียง แล้วมาโหวตใหม่สัปดาห์หน้า แต่นายเทอดพงษ์ได้ใช้สิทธิในฐานะประธานกรรมาธิการโหวตชี้ขาด โดยโหวตหนุนสูตร 375+125 ทำให้ฝ่ายประชาธิปัตย์ชนะไปอย่างฉิวเฉียดด้วยคะแนน 18 ต่อ 17 ส่งผลให้พรรคร่วมรัฐบาลหลายคนไม่พอใจ ลุกออกจากห้องประชุมทันที โดย 1 ในนั้นมี พล.ต.สนั่นรวมอยู่ด้วย

ทั้งนี้ นายเทอดพงษ์ เผยขั้นตอนหลังจากนี้ว่า หลังจากได้โหวตเลือกสัดส่วน ส.ส.กันไปแล้ว วันที่ 18-19 ม.ค.นี้ กรรมาธิการจะประชุมเปิดให้ผู้แปรญัตติต่างๆ ได้ชี้แจง จากนั้นสัปดาห์ต่อไปต้องพิจารณามาตราอื่นอีก คือ มาตรา 94-98 และเมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมดแล้ว จะเป็นขั้นตอนตกแต่งรายละเอียดของร่างแก้ไขทั้งมาตรา 190 และ 93-98 ในขั้นสุดท้าย คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาอีกประมาณ 2-3 นัด ก่อนสรุปส่งประธานรัฐสภาบรรจุเข้าพิจารณาในวาระ 2-3 ต่อไป ซึ่งน่าจะส่งได้ในเดือน ม.ค.หรือต้น ก.พ.นี้ ด้าน พล.ต.สนั่น บอกว่า ขั้นตอนต่อไปขึ้นอยู่กับรัฐสภาจะเป็นผู้พิจารณา พร้อมเชื่อว่า การฟรีโหวตในสภาจะไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องของสภา ไม่ใช่รัฐบาล

ขณะที่นายศุภชัย โพธิ์สุ กรรมาธิการจากพรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่า พรรคร่วมรัฐบาลยังยืนยันสูตร 400+100 พร้อมติงว่า การโหวตดังกล่าวไม่สง่างาม เนื่องจากนายเทอดพงษ์ประธานที่ประชุมลงมาโหวตด้วย ทั้งที่ควรเลื่อนโหวตออกไปในสัปดาห์หน้า เพราะกรรมาธิการขาดประชุมถึง 10 คน เนื่องจากเดินทางไปต่างประเทศ

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาเย้ยพรรคประชาธิปัตย์ว่า ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะหนุนที่มา ส.ส.สูตรใด ก็แพ้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์แพ้มาทุกแบบแล้ว เมื่อสูตรนี้ยังไม่เคยแพ้ จะลองดูก็ได้ และว่า พรรคเพื่อไทยไม่จำเป็นต้องหวั่นไหว เพราะผ่านมาหมดแล้ว ตั้งแต่ ส.ส.เขตเล็ก 400 สัดส่วน 100 ก็ชนะมาแล้ว “ตอนนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีท่าทีอะไร เหมือนกับว่าตอนนี้สามีภรรยาเขาทะเลาะกัน เราเป็นคนข้างบ้าน ก็ควรทำตัวเป็นคนข้างบ้านที่ดี หากเข้าไปยุ่งตอนนี้เดี๋ยวเขาก็ตีกัน เราต้องนิ่งไว้ก่อน อยากได้อะไรก็เก็บไว้ในใจ”

เป็นที่น่าสังกตว่า จำนวน ส.ส.ในสภาขณะนี้มี 475 คน โดยกลุ่มที่หนุนสูตร 375+125 คือ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีจำนวน 173 คน ขณะที่กลุ่มหนุนสูตร 400+100 คือ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีจำนวน 107 คน บวกพรรคเพื่อไทยอีก 187 คน และพรรคประชาราชอีก 8 คน ส่วนสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) มีจำนวน 150 คน ซึ่ง ส.ว.ที่หนุนสูตรเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์มีประมาณ 50 คน หนุนสูตรเดียวกับพรรคร่วมรัฐบาลประมาณ 50 คน และไม่หนุนให้แก้รัฐธรรมนูญเลยประมาณ 50 คน แต่หาก ส.ว.สรรหา 74 คนที่จะหมดวาระในวันที่ 18 ก.พ.นี้ ลาออกก่อนวันที่ 18 ก.พ.เพื่อเข้ารับการสรรหาใหม่ อาจส่งผลให้เสียงในสภาที่จะหนุนสูตรพรรคร่วมรัฐบาล คือ 400+100 เพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก ส.ว.เลือกตั้งที่ยังเหลืออยู่ในสภาส่วนใหญ่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย

ด้าน พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ และประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ได้พูดทำนองคุยโว เกทับพรรคประชาธิปัตย์ว่าแพ้โหวตในสภาเรื่องสัดส่วนที่มา ส.ส.แน่นอน “ไปบนบานศาลกล่าวให้ดีแล้วกัน พวกที่เอาแบบ 375+125 คนน่ะ ส่วนพวกที่เอา 400+100 ไม่ต้อง ถือว่านอนมาแต่ไม่เอาพระนำนะ”

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมส่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลก่อนเปิดประชุมรัฐสภาในวันที่ 25 ม.ค.นี้ โดยนายสุเทพ บอกว่า ก่อนลงมติในวาระ 2 และ 3 พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ใช้วิธีข่มขู่พรรคร่วมรัฐบาล แต่ถ้ากราบไหว้เป็นไปได้ และว่า วันที่ 25 ม.ค.ตนจะเชิญ ส.ส.รัฐบาลทั้งหมดไปรับประทานอาหารที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี โดยพรรคประชาธิปัตย์เป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติมานานแล้วทุกครั้งก่อนเปิดสมัยประชุมสภา เพื่อให้มีความใกล้ชิดกันและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน

ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย วิเคราะห์ว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยโหวตเห็นด้วยกับพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องการสูตร 400+100 พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องแพ้ ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาในวาระ 3 ก็คือ ต้องมีการโหวตแบบขานชื่อ ซึ่งประชาธิปัตย์อาจจะไม่รับร่างแก้รัฐธรรมนูญเลย ทำให้ร่างตกไป แล้วกลับไปใช้ระบบเลือกตั้ง ส.ส.เขต 400 คน สัดส่วน 80 คนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หากเป็นเช่นนั้น นายอภิสิทธิ์จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ต้องประกาศยุบสภาตามมารยาททางการเมือง ซึ่งตนเชื่อว่านายอภิสิทธิ์จะยุบสภาแน่นอน เพราะเป็นเจ้าของเรื่อง

3. ผู้ค้าราชประสงค์ สุดทน จี้นายกฯ เบรกการชุมนุมเสื้อแดง ด้าน “ดีเอสไอ” ลุ้นศาลถอนประกัน “จตุพร” หรือไม่ 20 ม.ค.นี้!

ตำรวจประสานให้ผู้ค้าย่านราชประสงค์และแกนนำ นปช.ได้เปิดการเจรจาหาทางลดผลกระทบจากการชุมนุม(14ม.ค.)
หลังนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ในฐานะผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย ได้กระทำการท้าทายคำสั่งศาลที่อนุญาตให้ประกันตัว แต่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน และห้ามให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่สร้างความวุ่นวายหรือกระทบต่อคดีก่อการร้าย ด้วยการไปขึ้นเวทีกลุ่มเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้ตัดสินใจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนประกันนายจตุพรอีกครั้ง หลังจากเคยยื่นคำร้องมาแล้วหลายครั้ง แต่ศาลก็ยกคำร้อง โดยชี้ว่ายังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้น

ปรากฏว่า ครั้งนี้ นายธาริต เห็นว่า พฤติการณ์ของนายจตุพรที่ขึ้นเวทีคนเสื้อแดง พร้อมต่อสายโทรศัพท์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โฟนอินมายังที่ชุมนุม พร้อมให้สัมภาษณ์เชิงข่มขู่ตน ซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานชุดสอบสวน ถือว่าน่าจะเข้าข่ายผิดสัญญาประกันตัวของศาล จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุพรอีกครั้ง

ด้านนายจตุพร ได้ควงทนายความ นายคารม พลทะกลาง ยื่นคำร้องคัดค้านการถอนประกันทันที โดยชี้ว่า ดีเอสไอไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาล เนื่องจากการสอบสวนคดีนี้เสร็จสิ้นไปแล้ว ดีเอสไอไม่อยู่ในฐานะโจทก์หรือคู่ความในคดีแล้ว และการที่ดีเอสไอใช้สิทธิยื่นคัดค้านการประกันตัวถึง 4 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าดีเอสไอมีเจตนาที่จะให้ตนถูกคุมขัง ทั้งที่ดีเอสไอทราบมาตลอดว่าตนเคยขอให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ ยื่นคำร้องให้เพิกถอนการประกันตัวมาแล้ว แต่อัยการเห็นว่าการกระทำของตนไม่เป็นเหตุ แต่ดีเอสไอยังไม่หยุดยื่นคำร้อง ทั้งที่ตนได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด จึงขอโอกาสให้ตนได้เข้าชี้แจงหรือนำพยานหลักฐานเสนอต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้ ศาลนัดพร้อมคู่ความอีกครั้งในวันที่ 20 ม.ค.นี้ เวลา 10.00น. ขณะที่นายจตุพร บอกว่า ไม่ว่าวันที่ 20 ม.ค.ศาลจะตัดสินอย่างไร การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงบริเวณแยกราชประสงค์และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 23 ม.ค.จะต้องเดินหน้าต่อไป

ด้านนายชาย ศรีวิกรณ์ นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจย่านราชประสงค์ พร้อมคณะผู้ประกอบการค้ากว่า 10 คน ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ม.ค. เพื่อขอให้บริหารจัดการการชุมนุมในที่สาธารณะเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จากกรณีที่กลุ่มเสื้อแดงได้จัดชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ ทั้งนี้ นายชาย ยืนยันว่า “ไม่ได้ค้านการชุมนุม ไม่ได้เป็นศัตรูไม่ว่าสีอะไรก็ตาม แต่การชุมนุมต้องมีรูปแบบมากขึ้น ไม่เช่นนั้นความเดือดร้อนต่างๆ จะกลายเป็นความแค้น ความเกลียดชังที่จะฝังรากลึกขึ้น จนอาจกลายเป็นอีกสีที่โผล่ขึ้นมา”

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ส่วนตัวแล้วไม่อยากเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ซึ่งคิดว่า 2 ฝ่ายน่าจะมีโอกาสได้พูดคุย โดยให้ตำรวจเป็นคนกลาง ด้านนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาประธาน นปช. เปิดแถลงฝากถึงผู้ประกอบการย่านราชประสงค์ที่เรียกร้องให้กลุ่มเสื้อแดงยุติชุมนุมว่า คนเสื้อแดงเข้าใจว่าเดือดร้อนที่อาจจะหาเงินได้น้อยลง แต่ความเดือดร้อนของประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่มีความยุติธรรมนั้น ต้องถามว่าอันไหนเดือดร้อนมากกว่ากัน

ทั้งนี้ หลังจากตำรวจได้ประสานให้แกนนำ นปช.ได้พบหารือกับผู้ประกอบการย่านราชประสงค์(14 ม.ค.) ปรากฏว่า บรรยากาศการหารือ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างใส่อารมณ์กัน โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ติงว่า การที่ผู้ประกอบการไปพบนายกฯ เหมือนผลักไสให้คนเสื้อแดงเป็นผู้ร้าย เหมือนผู้ประกอบการใส่ชุดขาวไปล้างถนน ส่วนคนเสื้อแดงไปชุมนุมแล้วปล้นสะดม ซึ่งไม่ใช่ เพราะคนเสื้อแดงแค่ไปชุมนุมย้อนประวัติศาสตร์ จุดเทียนแล้วก็แยกย้ายกันกลับ

ด้านนายชาย ศรีวิกรม์ นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจย่านราชประสงค์ ย้ำว่า ผู้ประกอบการไม่เคยต่อต้านหรือขัดขวางอุดมการณ์ของคนเสื้อแดง รวมทั้งไม่ได้สนับสนุนพรรคการเมืองใด ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมือง และไม่ต่อต้านการชุมนุม แต่อยากเห็นการชุมนุมที่ไม่ละเมิดกฎหมาย ไม่เฉพาะที่ราชประสงค์ อยากให้มีกระบวนการดูแลความเดือดร้อน ไม่อยากให้เกิดความไม่ปลอดภัยจากมือที่ 3 อย่างที่เคยเห็นมา จะเป็นผลเสีย และแก้ไขยากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ หลังใช้เวลาเจรจานานกว่า 2 ชั่วโมง ได้ข้อสรุปว่า คนเสื้อแดงยังยืนยันจะจัดชุมนุม 2 ครั้งต่อเดือน และชุมนุมวันที่ 23 ม.ค.นี้เช่นเดิม แต่จะลดเวลาชุมนุมที่แยกราชประสงค์ลงเหลือ 2 ชั่วโมง โดยนัดหมายพบกันที่แยกราชประสงค์เวลา 13.00น. ก่อนเคลื่อนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเวลา 15.00น. ซึ่งผู้ค้าย่านราชประสงค์รู้สึกพอใจผลการเจรจาระดับหนึ่ง โดยจะมีการพูดคุยกันอีกครั้งในวันที่ 20 ม.ค.

4. ตร. ออกกฎ ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ออกนอกบ้านหลัง 4 ทุ่ม หวังป้องกันอาชญากรรม ด้านผู้ปกครองที่ปล่อยปละมีโทษด้วย!
เด็กแว้น
เมื่อวันที่ 13 ม.ค. พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) ได้เรียกประชุมตำรวจระดับผู้บังคับการ พร้อมสั่งการให้ผู้กำกับการทุก สน.กวดขันร้านจำหน่ายแอลกอฮอล์ประเภทยาดอง และเหล้าปั่น ซึ่งมีอยู่จำนวนมากให้ปิดบริการในเวลา 24.00น. หากพบว่าไม่มีใบอนุญาตจำหน่ายสุรา ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 รวมทั้งสถานศึกษา ,ปั๊มน้ำมัน ,สวนสาธารณะ ,สถานพยาบาล ,สถานที่ราชการ ยกเว้นสโมสร ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่การกวดขันร้านที่จำหน่ายสุรา แต่ยังออกกฎคุมเข้มห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีออกนอกบ้านหลัง 4 ทุ่มด้วย เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรมและป้องปรามไม่ให้เด็กกระทำผิด “จะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี อยู่นอกบ้านหลังเวลา 4 ทุ่ม หากพบตัวจะต้องเข้าไปสอบถาม และถ้าไม่มีเหตุอันควร ให้นำตัวมา สน.เพื่อทำประวัติ ก่อนเรียกผู้ปกครองมารับตัวกลับ และหากทำผิดซ้ำก็จะดำเนินคดีกับผู้ปกครองฐานยุยงส่งเสริม รวมถึงร้านเกม ร้านอินเตอร์เน็ต ที่ปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปใช้บริการเกินเวลาก็จะถูกลงโทษเช่นกัน ตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ซึ่งร้านเกมที่ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อเป็นการป้องกันอาชญากรรมและป้องปรามไม่ให้เด็กไปกระทำความผิด รวมถึงถูกล่อลวง เพราะหากปล่อยให้ไปขับรถแข่ง รถซิ่ง หรือไม่มีเหตุสมควร จะถือว่าละเลย”

ด้านนายสรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ชี้ว่า การจะออกกฎมาบังคับได้ ต้องมีกฎหมายรองรับ พร้อมเชื่อว่า การออกกฎดังกล่าวจะไม่ได้ผล เพราะถ้าเด็กฝ่าฝืนขึ้นมาจริงๆ จะไปทำอะไรกับเด็กได้ และว่า การห้ามเด็กออกจากบ้านต้องขึ้นอยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครองมากกว่า คนอื่นไม่มีสิทธิไปห้ามได้

ด้านนายธวัชชัย ไทยเขียว อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน บอกว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับหลักการของตำรวจ และว่า กรมพินิจฯ เคยเสนอว่าเด็กไม่ควรออกจากบ้านหลังสี่ทุ่ม ซึ่งหลายประเทศก็บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวแล้ว เช่น สหรัฐฯ ,ออสเตรเลีย ขณะที่ประเทศไทยมีข้อกังวลว่า อาจมีเจ้าหน้าที่รัฐที่พฤติกรรมไม่ดี ใช้กฎหมายไปหากินกับเด็กที่ต้องเรียนพิเศษหรือทำงานหลังเลิกเรียน อาจกลับบ้านไม่ทัน 4 ทุ่ม แต่เชื่อว่า ข้อกังวลนี้ชี้แจงได้ เพราะเด็กที่เรียนพิเศษหรือทำงานหลังเลิกเรียน จะต้องมีบัตรนักศึกษาหรือบัตรทำงานแสดงต่อเจ้าหน้าที่ จึงไม่ควรนำปัญหาเล็กน้อยไปล้มหลักการที่เป็นประโยชน์

นายธวัชชัย ยังเผยด้วยว่า จากการสำรวจของกรมพินิจฯ พบว่า เด็กที่กระทำผิดถูกส่งตัวเข้าสถานพินิจฯ ร้อยละ 80-90 มีพฤติกรรมออกจากบ้านหลัง 4 ทุ่ม เพื่อไปจับกลุ่มเที่ยวเตร่มั่วสุม ไม่เชื่อฟังผู้ปกครอง และมีการกระทำที่นำไปสู่การทำผิดกฎหมายอาญาตั้งแต่เป็นเยาวชน จึงถือว่าเด็กที่มักออกเที่ยวหลัง 4 ทุ่มไปแล้วมีความเสี่ยงสูง “กรณีเด็กแว้นเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ของกลุ่มเด็กที่ออกจากบ้านหลัง 4 ทุ่ม ทุกครั้งที่ถูกดำเนินคดี พ่อแม่ก็ให้การปกป้องว่าใช้ลูกไปซื้อของตอนตี 2 แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกพบว่า พ่อแม่จำเป็นต้องโกหกเพราะอยากปกป้องไม่ให้ลูกถูกดำเนินคดี จึงควรผลักดันให้มีมาตรการป้องกัน โดยกฎหมายดังกล่าวเป็นการคุ้มครองเด็ก ไม่ใช่ละเมิดสิทธิหรือบังคับเด็ก”
กำลังโหลดความคิดเห็น