xs
xsm
sm
md
lg

คุยกับ ดร.ปณิธาน … 26 ก.พ. “รัฐบาล” เตรียมรับมือเสื้อแดงอย่างไร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและรักษาการโฆษกรัฐบาล
ยิ่งใกล้วันตัดสินคดียึดทรัพย์ 76,000 หมื่นล้าน อันได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชีพจรของประชาชนชาวไทยที่รู้สึกตระหนกและประหวั่นต่อ “ความวุ่นวาย-ความไม่แน่นอน” ของบ้านเมือง อันเกิดการการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่แบ่งแนวรบออกเป็นหลายสาย ทั้งบนดิน ใต้ดิน เคลื่อนไหวอย่างสงบ เคลื่อนไหวโดยใช้ความรุนแรง หรือ รบแบบกองโจร ก็ยิ่งเต้นแรงขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงวันสุกดิบ ก่อนจะถึง 26 กุมภาพันธ์ เช่นนี้ ต้องถือว่าเป็นภารกิจหนักของรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี รัฐบาลจะมีมาตรการดูแลความสงบเรียบร้อยและสกัดกั้นการก่อความรุนแรงอย่างไร? 'ASTV ผู้จัดการ' ได้พูดคุยกับ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและรักษาการโฆษกรัฐบาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนว่า สังคมไทยจะสามารถผ่านพ้น 26 ก.พ. ไปได้อย่างเรียบร้อย

รัฐบาลเตรียมการรับมือกับสถานการณ์อย่างไรบ้าง?

การดำเนินการของรัฐบาลก็เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้จากการประเมินสถานการณ์ และมีการประเมินอย่างต่อเนื่องในรูปแบบที่ใช้กฎหมายปกติ แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษก็จะมีการประเมินสถานการณ์กัน ซึ่งจะเป็นอีกโครงสร้างหนึ่ง ตอนนี้โครงสร้างที่เราใช้คือใช้คณะกรรมการตรวจสอบความมั่นคง หรือ คตม. เป็นการประมวลในภาพรวมทั้งหมด มีการประมวลสถานการณ์รายวัน จริงๆหน่วยงานด้านความมั่นคงหลายๆ หน่วยก็มีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เช่น กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน) ซึ่งเขาก็ส่งรายงานเข้ามาทุกวัน คือ กอ.รมน.จะเน้นเฉพาะด้านความมั่นคง เป็นการประเมินเชิงลึก แต่ คตม.จะดูภาพรวมทั้งหมด โดยมีคณะกรรมการที่มาจากกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ประมาณ 24 ท่าน ก็จะเป็นการประเมินเชิงกว้าง

โครงสร้างการทำงานจะเป็นไปด้วยความรัดกุมและมีเครือค่าย คตม.ก็จะมีเครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายท้องถิ่น รับข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อมูล ชี้แจงทำความเข้าใจในระดับท้องถิ่น ซึ่งในอดีตไม่ค่อยได้ทำ มีแต่การชี้แจงข้อมูลระดับชาติ คตม.จะมีทั้งหน่วยงานจาก กทม.และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นต่างๆเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมกันแก้ปัญหา

ซึ่งต้องเรียนก่อนว่าในปัจจุบันการประเมินสถานการณ์ถือเป็นข้อบังคับ เป็นกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ.ความมั่นคง หมวด 1 บังคับให้รัฐบาลมีการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ และจากเหตุการณ์สงกรานต์เลือดในเดือนเมษายนปีที่แล้วทำให้รัฐบาลมีการเฝ้าระวังมากขึ้น จะเห็นว่าปัจจุบันเมื่อเฝ้าระวังแล้วเราก็สามารถทำแผนเข้าไปบริหารจัดการได้ เหตุการณ์ที่จะบานปลายหรือลุกลามก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นการเฝ้าระวังนั้นสำคัญ

ในเชิงปฏิบัติการ มีการวางแผนเช่นไรบ้าง?

เราใช้เวลาครึ่งเดือนแรกในการเตรียมการวางแผน สรุปแผน ประชุม แผนการดูแลความปลอดภัยเนี่ยยาวมาก แผนปฏิบัติการ 37 หน้าที่สื่อมวลชนเห็นกันนั้นจริงๆมีเยอะกว่านั้นอีก รายละเอียดก็จะเป็นขั้นเป็นตอนในการปฏิบัติว่าหน่วยงานไหนทำอะไรบ้าง 1..2..3..4.. ถ้าคนมาชุมนุมน้อยทำอะไร ถ้าคนมาชุมนุมมากทำอะไร ถ้ามาชุมนุมไม่กี่วันทำต้องยังไง คนมาชุมนุมยืดเยื้อต้องทำยังไง ผู้ชุมนุมมาจากกรุงเทพฯ-ปริมณฑล กับผู้ชุมนุมเดินทางมาจากต่างจังหวัด แผนปฎิบัติการก็ไม่เหมือนกัน รายละเอียดมันเยอะมาก เพราะในที่สุดแล้วถ้ารัฐบาลจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษเราก็ต้องไปอธิบายต่อที่ประชุมรัฐสภาว่าเพราะอะไรจึงต้องใช้กฎหมายพิเศษ การปฏิบัติการมาจากไหน ใครรับผิดชอบ ใช้เครื่องมืออะไร มันต้องตอบคำถามได้หมด

ซึ่งในแง่ของระบบเนี่ยเราใช้ระบบนี้มาตั้งแต่เดือน เม.ย.2552 แต่ที่จริงควรใช้ระบบนี้มาตั้งแต่รัฐบาลก่อนๆ เพราะกฎหมายความมั่นคงประกาศใช้แล้ว แต่เข้าใจว่าตอนนั้นโครงสร้าง กอ.รมน.ยังไม่เสร็จ แต่ถึงเสร็จแล้วก็ยังไม่สมบูรณ์จึงต้องยังไม่มีการนำระบบนี้มาใช้

สำหรับการเฝ้าระวังที่เราทำตั้งแต่ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ก็คือการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์สถานการณ์ ติดตามกลุ่มที่อาจจะฉกฉวยโอกาสสร้างความรุนแรง คือเราต้องทำความเข้าใจว่าประชาชนชุมนุมได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแต่ขอให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย และขอให้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการดูแลไม่ให้เกิดความรุนแรงในการชุมนุม ส่วนเจ้าหน้าที่ก็จะช่วยดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม คือในสังคมแบบนี้ก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อีกทั้งยังต้องดูแลเรื่องการจรจรไม่ให้ส่งกระทบต่อประชาชนทั่วไป ไม่ใช่ว่าคนมาชุมนุมเป็นร้อยเป็นพัน แต่มีแค่ตำรวจจราจร 2 คนมายืนโบกรถ เราก็จะจัดกองกำลังผสมเข้ามาดูแลตามความเหมาะสม ทั้งหมดเหล่านี้มันอธิบายสั้นๆ ได้ยาก แต่ว่ามันเป็นระบบใหม่ ซึ่งมีโครงสร้างใหม่ มีการปฏิบัติการใหม่ มีการแบ่งระดับใหม่ มีการใช้กฎหมายปกติ และกฎหมายพิเศษ ซึ่งก็มีทั้งกฎหมายพิเศษธรรมดา คือ พ.ร.บ.ความมั่นคง และพิเศษเข้มข้น คือ พ.ร.ก.ความมั่นคง

จากการประเมินสถานการณ์คิดว่าการชุมนุมจะยืดเยื้อหรือไม่?

คิดว่าคงชุมนุมกันไม่นาน เพราะถ้าดูจากการชุมนุมของคนเสื้อแดงในช่วงที่ผ่านมาเราก็ยังไม่เคยเห็นการชุมนุมที่ยืดเยื้อยาวนานหลายๆ สัปดาห์ แต่ในช่วงหลังเนี่ยการชุมนุมหลายๆ ครั้งก็ไม่ใช่แบบมาเช้าเย็นกลับ บางทีก็มีการค้างคืน 2-3 คืน ซึ่งถือเป็นแนวโน้มใหม่ ที่สำคัญคือมีการรวมตัวมาชุมนุมกันได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งถือว่าระบบเครือข่ายในการติดต่อสื่อสารค่อนข้างดี การระดมคนรวดเร็วขึ้น จากการประเมินเชื่อว่าการชุมนุมครั้งนี้ก็ไม่น่าจะยืดเยื้อ อาจจะชุมนุมสัก 2-3 วัน สำหรับจำนวนผู้มาชุมนุมจะไม่มากเท่าตอนเดือน เม.ย.52 แต่ก็ไม่ห่างกันมาก ส่วนลักษณะการชุมนุมจะต่างกันคือจะกระจายออกไปหลายจุด เป็นดาวกระจาย

และถ้าดูจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาจะเห็นว่าคนเสื้อแดงที่อยู่ในต่างจังหวัดจะไม่เดินทางมาชุมนุมในกรุงเทพฯ แต่จะเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง จากการประเมินเชื่อว่าครั้งนี้เสื้อแดงที่ชุมนุมในกรุงเทพฯจะเป็นคนที่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นหลัก แต่ถ้าคนต่างจังหวัดจะเดินทางเข้ามาก็ไม่มีปัญหา ถือเป็นสิทธิในการชุมนุม รัฐบาลไม่ได้ปิดกั้น แต่ขอให้ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย

จะป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือนตอนสงกรานต์เลือด ปีที่แล้ว

ในพื้นที่กรุงเทพฯจะมีกำลังดูแลอยู่ 50 กองร้อย กองร้อยหนึ่งก็ประมาณ 50-110 นาย แล้วแต่แต่ละหน่วยจะพิจารณาบรรจุ ซึ่งตอนนี้กำลังของเจ้าหน้าที่เข้าอยู่ในที่ตั้งและเตรียมที่จะออกมาปฏิบัติการแล้ว คือตั้งแต่ช่วงต้นเดือนถึงกลางเดือน ก.พ. ก็มีการประชุมเตรียมความพร้อม ตอนนี้ก็เข้าอยู่ในที่ตั้ง มีการตั้งจุดตรวจตามจุดต่างๆ แล้ว เช่น พื้นที่รอบทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าก็ทยอยเข้าประจำตามจุดต่างๆ

เราเชื่อว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่รักสันติ แต่ถ้ามีความพยายามจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในการสร้างความรุนแรง มีความพยายามก่อวินาศกรรม ก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแล โดยเบื้องต้นจะใช้กรอบกฎหมายปกติคือใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลักและใช้ทหารและพลเรือนเป็นกำลังเสริม จนกว่าจะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ถ้ามีการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงก็จะมีทหารเป็นกำลังหลัก แต่หากสถานการณ์บานปลายและรุนแรงมากก็จำเป็นต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ที่ดุลพินิจของฝ่ายบริหารว่าจะให้กำลังของฝ่ายไหนเข้ามาดูแล ซึ่งเมื่อใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประชาชนจะไม่สามารถฟ้องร้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติได้

คือ พ.ร.บ.ความมั่นคง กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีข้อแตกต่างกัน 3-4 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง พ.ร.บ.ความมั่นคง ประชาชนฟ้องร้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้ แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฟ้องไม่ได้ สอง พ.ร.บ.ความมั่นคง ยังอนุญาตให้มีการชุมนมได้ แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่อนุญาตให้ชุมนุม สาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจมากกว่า พ.ร.บ.ความมั่นคง เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติสามารถปิดล้อม-ตรวจค้น-จับกุมได้ และ สี่ หลังเสร็จสิ้นการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง รัฐบาลต้องทำรายงานไปยังรัฐภา และเปิดให้รัฐสภาสอบถาม ดังนั้นปฏิบัติการต่างๆจึงต้องมีแผนงานชัดเจน แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินถือเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ไม่จำเป็นต้องรายงานต่อรัฐสภา ซึ่งหากไม่จำเป็นจริงๆ รัฐบาลก็จะไม่นำ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาใช้ อย่างไรก็ดีปฏิบัติการป้องกันความรุนแรงในการชุมนุมของประเทศไทยก็แตกต่างจากต่างประเทศ คือเราเปิดให้สื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการปฏิบัติการตั้งแต่แรกเลย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส แทนที่ปฏิบัติเสร็จสิ้นไปแล้วจึงค่อยมาตรวจสอบ ก็ตรวจสอบคู่ขนานกันไปเลย

ช่วงนี้มีหน่วยงานหรือบุคคลใดบ้างที่ตกเป็นเป้าในการก่อเหตุ หรือ มีความเสี่ยงสูง?

ก็มีอยู่ 4 กลุ่ม ... กลุ่มแรก ได้แก่ ที่ทำการของฝ่ายบริหาร คือทำเนียบรัฐบาล รวมถึงที่พักของฝ่ายบริหาร เช่น ท่านนายกฯ ท่านรองนายกฯ รัฐมนตรีบางท่าน กลุ่มที่ 2 ที่ทำการของฝ่ายนิติบัญญัติ คือรัฐสภา ก็จะมีการจัดตั้งระบบดูแลที่เข้มแข็งขึ้น และในส่วนของผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งได้แก่ ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา เจ้าหน้าที่ก็จะให้การดูแลตามการร้องขอ กลุ่มที่ 3 ที่ทำการของฝ่ายตุลาการ ในกรณีนี้ก็คือ ศาลฎีกา และที่พักอาศัยของบรรดาท่านผู้พิพากษา และ กลุ่มสุดท้าย คือ ภาคประชาชน เจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปดูแลในย่านชุมชนที่เป็นเครือข่ายการคมนาคมสื่อสาร อะไรก็ตามที่จะไปกระทบต่อความเป็นอยู่ปกติของประชาชนก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล เช่น ที่ซึ่งมีคนไปชุมนุมกันมากๆ อย่าง สถานีขนส่งต่างๆ ซึ่งก็จะประเมินตามสถานการณ์

ฝ่ายผู้ก่อเหตุ ตอนนี้มีกลุ่มไหนที่กำลังเคลื่อนไหวหรืออาจจะฉวยโอกาส?

คือในสังคมหมู่มากของประเทศเนี่ยเราต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่ไม่นิยมความรุนแรง จะชุมนุมแบบสันติวิธี ต้องการเจรจา ต้องการพูดคุย ส่วนคนที่ชอบความรุนแรงนั้นเป็นคนกลุ่มน้อย ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับเนี่ยคนกลุ่มน้อยที่จะสร้างความรุนแรงก็เป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์ในการใช้ความรุนแรงมาก่อน อาจจะเชื่อว่าใช้ความรุนแรงแล้วจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

อย่างข่าวที่ว่ามี “นักรบชุดดำ” ที่มาจากอดีตทหารพรานค่ายปักธงชัย กำลังฝึกซ้อมกันที่ จ.อุดรธานี รัฐบาลได้ติดตามหรือไม่?

ไม่ว่ากลุ่มไหนที่จะใช้กำลังก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล เข้าไปดูทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมาย 38 จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ ปริมณฑล บางจังหวัดในภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนภาคใต้ก็มี 2 จังหวัด คือทั้ง 38 จังหวัดเนี่ยเป็นที่ที่อาจจะมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง อาจจะมีการชุมนุม ซึ่งจะเห็นว่าในอดีตนั้นการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร หรือกลุ่มที่มีข้อเรียกร้องในเรื่องต่างๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีการบริหารจัดการเพื่อดูแลการชุมนุม มีแค่ตำรวจจราจร 2-3 นายมาคอยดูแล แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว ในสถานการณ์แบบนี้เนี่ยการบริหารจัดการต้องเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีเจ้าหน้าที่มาดูแล อำนวยความสะดวก ตรวจตราพวกมิจฉาชีพที่แฝงเข้ามาขโมยทรัพย์สินของผู้ชุมชุม อำนวยความสะดวกเรื่องห้องน้ำห้องท่า ดูแลความปลอดภัยของสถานที่ราชการ ของคนที่มาติดต่อราชการ

คือในพื้นที่ที่มีการชุมนุมเคลื่อนไหวนั้นคนส่วนใหญ่ก็ยังยึดหลักสันติ แต่อาจมีคนบางกลุ่มเข้ามาสร้างสถานการณ์ เพราะเขาต้องการเห็นว่าเมื่อสร้างสถานการณ์แล้วรัฐบาลจัดการไม่ได้เขาก็จะโทษรัฐบาล เราก็ต้องป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ โดยเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม.ได้มีมติให้มีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นกำลังหลัก และให้ทหารเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ซึ่งในพื้นที่ 38 จังหวัดเป้าหมายนั้นให้มีกองกำลังจังหวัดละ 3-5 กองร้อย คอยดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม รวมทั้งมีกองหนุนอีกจำนวนหนึ่ง คือสมัยก่อนเวลาชุมนุมก็จะถามว่าใครจะเข้าไปดูแล สน.ไหน ตอนนี้ก็จะมี กอ.รมน.จังหวัด , กอ.รมน.ภาค มีกองกำลังผสม เข้าไปดูแล ทั้งในเรื่องการจัดการจราจร จัดที่จอดรถ สุ่มตรวจอาวุธ ตรวจตราคนต่างด้าว คือถ้าไม่มีบัตรประชาชน ไม่ใช่คนไทยก็จับกุมได้เลย หรือถ้าเจอใครพกพาอาวุธเข้ามาในที่ชุมนุมก็จะคัดกรองออกหมด

ผู้ชุมนุมมีเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จะดูแลทั่วถึงหรือ? เพราะฝ่าย นปช. เขายังบอกด้วยว่าให้ผู้ที่จะมาชุมนุมพกพาอาวุธ และนำน้ำมันเบนซินติดตัวเข้ามาเพื่อก่อความรุนแรงด้วย

เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการตั้งด่านตรวจตราตามจุดต่างๆ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.ด่านประจำที่มีการตรวจกันเป็นปกติ 2. ด่านลอยหรือด่านเคลื่อนที่ ซึ่งหากพบว่าตรงไหนมีความผิดปกติตำรวจก็จะไปตั้งด่านตรวจ และ 3.ด่านผสม ซึ่งเป็นการสนธิกำลังระหว่างตำรวจ ทหารและเทศกิจ ในการตั้งด่านตรวจ

อย่างในกรุงเทพฯมี สถานีตำรวจ (สน.) 88 แห่ง ตอนนี้ก็ให้แต่ละ สน.ตั้งด่านปกติ 2 ด่าน และตั้งด่านเคลื่อนที่ตามความจำเป็น ดูว่ากำลังพอไหม ถ้าไม่พอก็เสริมเข้าไป นอกจากนั้นยังมีด่านผสม ซึ่งเป็นจุดร่วมเข้มเข็งที่จะวางไว้ในจุดที่มีความเสี่ยงสูง เช่น พื้นที่ใกล้ทำเนียบรัฐบาล ใกล้รัฐสภา ซึ่งด่านเหล่านี้เราเริ่มตั้งแต่ 17 ก.พ.แล้ว ในต่างจังหวัดก็จะมีการตั้งด่านตรวจเช่นกัน ส่วนจะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

ส่วนการดูแลสถานการณ์ในการชุมนุมนั้นถ้ามีการชุมนุมตามปกติ ไม่มีการฉกฉวยสถานการณ์สร้างความรุนแรง การดูแลก็เป็นไปตามปกติ แต่ถ้ามีความรุนแรงก็จะยกระดับขึ้นมาใช้กฎหมายพิเศษก็คือ พ.ร.บ.ความมั่นคง ส่วนที่มีข่าวว่าอาจมีการพกน้ำมันเข้ามา เจ้าหน้าที่ก็สามารถเข้าไปสุ่มตรวจในที่ชุมนุมได้ ปกติเวลาที่เจ้าหน้าที่เข้าไปขอตรวจค้นประชาชนส่วนใหญ่เขาก็ให้ความร่วมมืออยู่แล้วเพราะเขาก็ไม่ต้องการให้ใครเข้ามาสร้างสถานการณ์ แต่ถ้าคนที่ไม่ให้ความร่วมมือก็เป็นข้อสังเกตว่าอาจจะพกพาอาวุธเข้ามาก่อความวุ่นวาย ซึ่งการเข้าไปตรวจก็จะประเมินตามสถานการณ์

ในส่วนของมวลชนเสื้อแดงอาจจะไม่กล้าใช้ความรุนแรงเพราะรู้ว่ารัฐบาลมีมาตรการองรับ แต่ที่น่ากลัวคืออาจจะมีการลอบวางระเบิดหรือยิง M79 เข้าไปในสถานที่สำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ก็ไม่เคยจับกลุ่มผู้กระทำผิดได้สักที

ก็หวังว่าเจ้าหน้าที่จะเร่งรัดจับกุมผู้ก่อเหตุ คือการก่อเหตุในลักษณะนี้มักจะฉวยโอกาสทำในยามวิกาล ทำในช่วงที่กำลังเจ้าหน้าที่กำลังจะเข้าไปดูแล เพราะเขาก็ทราบว่าก่อน 15 ก.พ.นั้นเจ้าหน้าที่ยังอยู่ระหว่างเตรียมการ แต่หลัง 17 ก.พ.เป็นต้นไป การดูแลป้องกันสถานที่จะเข้มข้นขึ้น เขาก็เลยฉวยโอกาสก่อเหตุก่อนวันที่ 15 เพื่อคุกคามข่มขู่รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดี

ทำไมที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุกล้องวงจรปิดไม่เคยจับภาพคนร้ายได้เลย?

ต้องยอมรับว่ากล้องวงจรปิดยังมีไม่ทั่ว ยังมีไม่ครบทุกจุด ซึ่งในอนาคตก็เป็นจุดหนึ่งที่ต้องเพิ่มระบบให้ครอบคลุมมากขึ้น หลายกรณีกล้องจับภาพได้แต่ไม่ชัดเจน บางที่ก็ชำรุดใช้การไม่ได้ ซึ่งก็ต้องไปตรวจสอบว่าเป็นเพราะอะไร บางครั้งเครื่องมือเหล่านี้ตากแดดตากฝน และการปฏิบัติเชิงเทคนิคต่างๆจึงไม่มีอะไรสมบูรณ์ 100% อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็เป็นบทเรียนให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องไปดูแลให้รัดกุมขึ้น

ตอนนี้ รัฐบาลได้เพิ่มมาตรการเพื่อดูแลศาลฎีกาอย่างไรบ้าง?

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการประเมินสถานการณ์และวางกำลังไว้ทุกจุด ตอนที่ท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประชุมกับผู้บริหารของส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง ท่านก็ได้หยิบยกเรื่อนี้ขึ้นมาพูดว่าแนวทางของรัฐบาลก็คือ 1.จัดกองกำลังผสมเข้าไปดูแลในพื้นที่ 2.ตั้งด่านตรวจเพื่อสกัดการขนย้ายอาวุธสงคราม รวมถึงตั้งด่านตรวจรอบๆพื้นที่ใกล้เคียงศาลฎีกาด้วย 3.ให้ความคุ้มครองดูแลท่านผู้พิพากษา และ 4.ท่านนายกรัฐมนตรีขอความร่วมมือให้สถานที่ราชการทุกแห่งจัดระบบการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง คือต้องยอมรับว่ามีสถานที่ที่ต้องดูแลเยอะ แต่เจ้าหน้าที่ยังมีไม่มากพอ ถ้ามีความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารกับเจ้าหน้าที่ที่อยู่ประจำสถานที่นั้นๆ ก็จะทำให้การตรวจตรามีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้ทำแล้ว อย่าลืมนะครับว่าเจ้าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานเนี่ยเขารู้ทางหนีที่ไล่ รู้ทางเข้าออกในจุดต่างๆ ซึ่งจะช่วยได้เยอะ ซึ่งตรงนี้ปลัดกระทรวงทุกท่านก็รับไปปฏิบัติ

หลายคนมองว่ามาตรการด้านความมั่นคงต่างๆ ของรัฐบาลค่อนข้างย่อหย่อน?

รัฐบาลพยายามดำเนินมาตรการต่างๆ ด้วยความระมัดระวัง การประกาศใช้กฎหมายพิเศษต่างๆ หรือว่าปล่อยให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายก็ล้วนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องทำทุกอย่างด้วยความรัดกุม สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำตอนนี้ก็คือการรักษาการใช้กฎหมายปกติและโครงสร้างที่เราเสริมเข้าไป เช่น คตม. และการตั้งด่านตรวจต่างๆ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยซึ่งเริ่มฟื้นตัวมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2552 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเดือน ธ.ค.ปีที่แล้วนั้นนักท่องเที่ยวเข้ามาเมืองไทยถึง 1.6 ล้านคน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ รวมแล้วปี 2552 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 14 ล้านคน ซึ่งเป็นรายได้มหาศาล เราจึงต้องการรักษาบรรยากาศการท่องเที่ยวไว้ และหลังจากวันที่ 27 ก.พ.หากไม่มีสถานการณ์รุนแรงกระบวนการต่างๆ ก็จะเดินไปภายใต้กฎหมายปกติ

ทำไมจึงไม่มีการถอนประกันบรรดาแกนนำ นปช. ที่มีคดีและยังออกมาปลุกระดมกลุ่มเสื้อแดงอยู่?

ตรงนี้อยู่ที่ดุลพินิจของอัยการซึ่งเป็นผู้พิจารณาอนุมัติให้มีการถอนประกัน หากจะมีการถอนประกันก็ต้องเป็นดุลพินิจของอัยการ รัฐบาลไม่สามารถเสนอให้อัยการถอนประกันได้เพราะอัยการเป็นหน่วยงานอิสระ

เอกสารที่ คุณจตุพร (พรหมพันธุ์) บอกว่ารัฐบาลมีแผนที่จะใช้ความรุนแรงปราบปรามกลุ่มเสื้อแดงมีจริงหรือไม่?

การวางแผนเพื่อใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามเนี่ยถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ทำไม่ได้ครับ ขณะนี้เราก็เรียกร้องให้คุณจตุพรเอาเอกสารลับดังกล่าวออกมาเปิดเผย เอกสารที่คุณจตุพรเอามาแสดงมันเป็นแค่คู่มือเพื่อซักซ้อมในการปฏิบัติ เป็นเรื่องของการเฝ้าระวังเหตุการณ์ ไม่มีตรงไหนที่ระบุว่าให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง และที่สำคัญเอกสารนี้ก็ไม่ได้เป็นความลับอะไร เป็นแค่คู่มือแนวทางปฏิบัติที่แจกให้กับเจ้าหน้าที่ และถ้ามีเอกสารที่สั่งให้ใช้ความรุนแรงจริงก็ขอให้คุณจตุพรแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องเลย เพราะสิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ขอยืนยันว่ารัฐบาลมีมาตรการดูแลการชุมนุมให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติและประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลัก การดำเนินการจะอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายและหลักมนุษยธรรม แต่หากมีกระทำเพื่อสร้างความรุนแรงก็ต้องดำเนินการกันไปตามกฎหมาย

//////////////////

เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน

กำลังโหลดความคิดเห็น