xs
xsm
sm
md
lg

“สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” วิเคราะห์การเมืองไทยในกระแส “ตื่นปฏิวัติ-แก้ รธน.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยิ่งใกล้วันตัดสินคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและนักโทษผู้หนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 26 ก.พ.นี้ สถานการณ์การเมืองของไทยก็ยิ่งร้อนระอุ โดยเฉพาะใน 2 ประเด็นที่ถูกพูดถึงกันทั่วบ้านทั่วเมือง และแทบจะมีข่าวและบทวิเคราะห์ลงเผยแพร่ในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวัน คือ หนึ่ง การปฏิวัติรัฐประหาร และ สอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จากประเด็นร้อนดังกล่าว ASTVผู้จัดการ จึงถือโอกาสเข้าพูดคุยกับ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อดีตผู้นำนักศึกษาในยุค 14 ตุลาคม 2516 และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ ซึ่ง ศ.ดร.สมบัติได้ให้มุมมองต่อสถานการณ์บ้านเมือง และคาดเดาถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าไว้อย่างน่าสนใจ

อยากให้อาจารย์ช่วยวิเคราะห์ทิศทางการเมืองในช่วงนี้

ผมว่าวิกฤตการเมืองยังไม่ยุติ ยังมีความขัดแย้งในสังคม มีความพยายามของกลุ่มการเมืองที่จะเคลื่อนไหวซึ่งทำให้การเมืองไม่สงบ แต่ผมมองว่าความรุนแรงทางการเมืองในระดับสูงสุดนั้นเกิดขึ้นไปแล้ว คือในช่วงปลายปี 2551 ซึ่งกลุ่มเสื้อเหลืองยึดสนามบิน และช่วงกลางปี 2552 ซึ่งเสื้อแดงชุมนุมเคลื่อนไหวและใช้ความรุนแรงล้มการประชุมอาเซียนและการเผาบ้านเผาเมืองของกลุ่มเสื้อแดงในเหตุการณ์สงกรานต์เลือด รวมถึงการเข้าล้อมและทุบรถของนายกฯอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) จนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้ทั่วโลกมองว่าประเทศไทยไม่มีความปลอดภัย เพราะแม้แต่ผู้นำประเทศก็ยังถูกคุกคามอย่างป่าเถื่อน ส่งผลกระทบอย่างมากทั้งต่อความเชื่อมั่นทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเกิดผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงเป็นประวัติการณ์ มีนักท่องเที่ยวเข้าพักตามโรงแรมต่างๆไม่ถึง 10%

แต่หลังจากนั้นดูเหมือนว่ารัฐบาลจะสามารถจัดการกับการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงได้เป็นอย่างดี โดยประกาศใช้ พ.ร.ก.ความมั่นคงฯ ทำให้การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงไม่มีความรุนแรง ประกอบกับสภาพความบอบช้ำของสังคมทำให้คนไทยจำนวนมากไม่ยอมรับการใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหว เพราะเห็นชัดว่าที่ผ่านมามันทำให้บ้านเมืองมีปัญหา ประชาชนรู้สึกสิ้นหวัง เพราะประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตเศรษฐกิจเขาก็เดือดร้อนมากอยู่แล้ว ประชาชนที่ตกงาน ว่างงาน เขาก็มีปัญหามากอยู่แล้ว ตอนนี้สังคมไทยมีข้อสรุปชัดเจนแล้วว่ากลุ่มใดที่ชุมนุมเคลื่อนไหวโดยใช้ความรุนแรงจะไม่ได้รับการสนับสนุน

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งออกมาโฟนอินปลุกระดมในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2552 ให้กลุ่มเสื้อแดงใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหวจนก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศชาตินั้นในประชาคมโลกก็ไม่สนับสนุน ซึ่งส่งผลให้เครดิตหรือความเชื่อถือต่อตัว พ.ต.ท.ทักษิณในสายตาประชาคมโลกลดลงไปอย่างมากทีเดียว ทำให้เห็นว่าสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณทำลงไปก็เพื่อมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเองโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดกับบ้านเมือง ไม่ใช่นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเพราะพยายามจะปลุกระดมให้ประชาชนใช้ความรุนแรง ทำให้เครดิตของทักษิณในสายตาประชาคมโลกหายไปเยอะทีเดียว ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณก็รู้ตัวว่าเดินเกมผิด และหลังจากนั้นความพยายามใช้ความรุนแรงก็ไม่เป็นผล

อาจารย์มองอย่างไรกับกรณีที่ เสธ.แดง หรือ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ออกมาข่มขู่ ผบ.ทบ. ทั้งยังมีการยิงระเบิด M79 เข้าไปใน ทบ. นอกจากนั้นคนเสื้อแดงยังออกมาข่มขู่และขู่ฆ่าผู้พิพากษาและองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณด้วย

ผมคิดว่าผู้ที่กระทำคงมุ่งหวังให้การเมืองไม่สงบ เพื่อให้ประเทศมีปัญหา ทำให้รัฐบาลบริหารงานไม่ได้ เพื่อให้คนทั่วไปรู้สึกว่ารัฐบาลขาดความสามารถในการดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งจะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือ แต่ในทางตรงข้ามประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับการกระทำในลักษณะนี้เพราะมองว่าทำให้เกิดผลเสียต่อประเทศชาติ ซึ่งอาจมีประโยชน์ต่อผู้กระทำในแง่ที่ทำให้เกิดข่าวสารทางการเมือง แต่ผลลบต่อตัวเขาก็คือทำให้ประชาชนส่วนใหญ่รู้ว่าใครเป็นใคร ใครทำอะไรพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ใครทำอะไรเพื่อประโยชน์ส่วนตัว และมองออกว่าพฤติกรรมดังกล่าวนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะประชาชนก็มีความรู้ความเข้าใจในการติดตามข่าวสาร ไม่ใช่ว่าใครทำอะไรแล้วประชาชนเห็นด้วยหมด เขาก็ใช้เหตุใช้ผลในการพิจารณาว่าการกระทำต่างๆเหมาะสมหรือไม่ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่ เป็นไปตามความต้องการของประชาชนหรือไม่ หรือว่าเป็นการกระทำเพื่อรักษาสถานภาพของตัวเอง เพราะฉะนั้นไม่ได้แปลว่าทำอะไรแล้วเป็นข่าวก็จะได้ประโยชน์ จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ตรงกันข้ามอาจทำให้ประชาชนเห็นธาตุแท้ว่าทำเพื่อใครกันแน่

เขาหวังผลให้ผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมเกรงกลัวและเชื่อว่าจะส่งผลต่อการพิจารณาคดีหรือเปล่า?

ผมเชื่อว่าผู้กระทำคงมีวัตถุประสงค์เช่นนั้น แต่ในทัศนะของผมเชื่อว่าไม่ได้ผล เพราะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท่านเป็นผู้อาวุโส ทำงานโดยยึดหลักการและไม่เกรงกลัวอำนาจอิทธิพลใดๆ เพราะไม่เช่นนั้นท่านก็ไม่สามารถทำหน้าที่รักษาความยุติธรรม เมื่อเร็วๆ นี้องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็ตรัสกับผู้พิพากษาศาลฎีกาว่าจะต้องรักษาความยุติธรรมให้ได้คนถึงจะศรัทธาเชื่อถือ ผมเชื่อว่าผู้พิพากษาทุกท่านรู้ว่างานของท่านมีความเสี่ยงแต่ท่านคงยึดประโยชน์ของประเทศชาติและความยุติธรรมเป็นหลัก ถ้าระบบถูกคุกคามและไม่สามารถรักษาความยุติธรรมเอาไว้ได้ต่อไปถ้าใครมีปัญหาขึ้นมาก็ไปข่มขู่คุกคามจะฆ่าผู้พิพากษาเพื่อไม่ให้ผู้พิพากษาตัดสินตามหลักยุติธรรม สังคมก็อยู่ไม่ได้ การกระทำเช่นนี้ทำให้ประชาชนเห็นธาตุแท้ คนดีเขาไม่ทำแบบนี้

ที่แกนนำเสื้อแดงบอกว่าต้องการให้ศาลดำรงความยุติธรรม ไม่พิจารณาคดีแบบ 2 มาตรฐาน บุคคลทุกกลุ่มเหล่าก็ต้องไม่ไปคุกคามศาล เพราะถ้าศาลยอมทำตามเพราะเกรงกลัวก็จะแสดงว่าไม่ใช่แค่ 2 มาตรฐาน แต่ไม่มีมาตรฐานเลย การที่คุณบอกว่าต้องการให้คำตัดสินของศาลเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็แสดงว่าไม่ต้องการให้มีมาตรฐาน คำนึงอย่างเดียวคือเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แม้ว่าจะได้มาโดยมิชอบก็ตาม อย่างนี้เป็นนิสัยของอันธพาลที่มักคุกคามข่มขู่เพื่อให้ได้อย่างใจตัวเอง ผมคิดว่าประชาชนก็มองอย่างนี้ และผู้พิพากษาเองท่านก็คงไม่หวั่นกลัว ที่สำคัญที่สุดคือต้องรักษาความยุติธรรมของสังคมเอาไว้ให้ได้

อาจารย์มองว่าหลังวันที่ 26 ก.พ. ซึ่งเป็นวันตัดสินคดียึดทรัพย์ การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงจะแผ่วลงหรือรุนแรงยิ่งขึ้นคะ

จริงๆตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร แต่ไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไรทุกฝ่ายก็ต้องให้การยอมรับและเคารพในคำตัดสินของศาล ตอนนี้เราก็มองได้เป็น 2 ทาง คือถ้าศาลตัดสินยกฟ้อง กลุ่มที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณก็คงไม่พอใจ แต่ก็ไม่ควรออกมาเคลื่อนไหวใดๆ ควรต้องเคารพคำตัดสินของศาล ซึ่งถ้าศาลตัดสินยกฟ้อง เครดิตของคุณทักษิณก็จะดีขึ้น ซึ่งถ้าอัยการที่ยื่นฟ้องคุณทักษิณเห็นแย้งกับศาลหรือเห็นว่าศาลตัดสินไม่เป็นธรรมก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้

แต่ทางตรงกันข้าม ถ้าศาลตัดสินยึดทรัพย์ไม่ว่าจะบางส่วนหรือทั้งหมด ศาลก็ต้องให้เหตุผลและอธิบายคำตัดสินว่ามีมูลความผิดอะไร ผิดกฎหมายมาตราไหนบ้าง มีการชี้ชัดในมูลความผิด ผู้ที่ติดตามจะได้รู้ว่าคำตัดสินนั้นมีน้ำหนักและมีความน่าเชื่อถืออย่างไร ซึ่งจะทำให้ประชาชนทั่วไปได้ประจักษ์ในความเป็นจริงมากขึ้น และถึงแม้กลุ่มที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณจะไม่พอใจและออกมาเคลื่อนไหวหรือคุกคามมากขึ้นก็คงไม่เป็นผลเพราะศาลตัดสินไปแล้ว

อย่างไรก็ดีรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้นยังให้สิทธิ ให้โอกาสกับจำเลยที่ถูกตัดสินโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือให้จำเลยสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน ดังนั้นถ้าจำเลยเห็นว่าคำตัดสินของศาลไม่เป็นธรรมก็ไปอุทธรณ์ได้ตามหลักเกณฑ์ ซึ่งการยื่นอุทธรณ์นั้นต้องมีข้อมูลหลักฐานใหม่ไปแสดงต่อศาลและถ้าศาลรับอุทธรณ์ก็จะมีการพิจารณาคดีต่อไป ยังไม่ยุติ

หากทั้ง 2 ฝ่ายเคารพกระบวนการยุติธรรม บ้านเมืองก็อยู่ได้ แต่หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่พอใจคำตัดสินแล้วออกมาเคลื่อนไหวเพราะคำตัดสินของศาลไม่ตรงกับความต้องการของตัวเอง สังคมก็วุ่นวายสับสน ซึ่งก็ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ต้องรักษาความสงบ ไม่ให้คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดออกมาก่อความไม่สงบในประเทศ

สมมติว่าถ้าศาลตัดสินยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ อาจารย์มองว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงจะเป็นอย่างไรต่อไป

ผมว่าไม่แน่นะ หากศาลตัดสินยึดทรัพย์แล้วคนได้รับทราบเหตุผลในคำตัดสินของศาลก็อาจจะเห็นอะไรชัดเจนขึ้น รู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณทำผิดกฎหมายจริงๆ ก็อาจหูตาสว่าง คิดได้ว่าควรจะสนับสนุนต่อไปไหม แต่คนที่สนับสนุนโดยไม่สนใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณทำผิดหรือทำถูกก็นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียใจสำหรับสังคม เพราะเราควรสนับสนุนเฉพาะผู้นำที่ดี ส่วนผู้นำที่ใช้อำนาจที่คลุมเครือ ใช้อำนาจโดยมิชอบ แล้วเรายังไปสนับสนุนอีกต่อไปก็จะทำให้นักการเมืองที่ประพฤติมิชอบได้ใจและกล้ากระทำผิดต่อไปเพราะรู้สึกว่าแม้จะทำผิดแต่ถ้ามีคนได้ประโยชน์จากการกระทำผิดของเขาคอยให้การสนับสนุน เขาก็อยู่ได้ ดังนั้นประชาชนทุกกลุ่มควรใช้เหตุใช้ผลในการพิจารณาและดูข้อเท็จจริงมากขึ้น ไม่ใช่รักใครหลงใครแล้วคนที่เรารักถูกลงโทษเพราะกระทำผิดก็ไม่ยอมรับ เราควรสนับสนุนเฉพาะนักการเมืองที่ดี มีคุณธรรม ทำงานด้วยความโปร่งใส ส่วนพวกที่ไม่สุจริต ถูกตรวจสอบและถูกตัดสินว่ากระทำผิดจริงก็ไม่ควรสนับสนุนเพราะเท่ากับเรารักแบบหน้ามืดตามัว สนับสนุนให้คนไม่ดีมาเป็นผู้นำ แล้วเราก็ยอมเป็นผู้ตามโดยไม่ใช่เหตุไม่ใช้ผล มันจะน่าเวทนา

ถ้าศาลจะตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีความผิดจริง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลในการยึดทรัพย์อย่างชัดเจน อาจารย์คิดว่า คนเสื้อแดงที่สนับสนุนคุณทักษิณจะลดจำนวนลงไหมคะ

กลุ่มเสื้อแดงที่สนับสนุนคุณทักษิณอย่างจริงจังนั้นมีอยู่ 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มที่ไม่เอาสถาบันกษัตริย์ เช่น กลุ่มที่เคยเข้าป่าในยุค 14 ตุลาฯบางคน คนที่ฝังหัวว่าระบอบกษัตริย์ไม่ดี กลุ่มนี้สนับสนุนคุณทักษิณเพราะคิดว่าทักษิณจะช่วยเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ 2.คนที่ได้ประโยชน์จาก พ.ต.ท.ทักษิณ กลุ่มนี้ถึงจะรู้ว่าทักษิณทุจริตและทำให้บ้านเมืองเสียหายแต่เขาก็ยังสนับสนุนเพราะตัวเองได้ประโยชน์ และ 3.กลุ่มที่รักจนหลง กลุ่มนี้รักและเชื่อว่าทักษิณเป็นคนดีโดยไม่ยอมรับฟังข้อมูลอะไรเลย ซึ่ง 2 กลุ่มแรกเนี่ยเมื่อไรที่ทักษิณหมดประโยชน์เขาก็จะเลิกสนับสนุน และการสนับสนุนก็ไม่ใช่แบบยอมตายถวายชีวิต ส่วนกลุ่มที่ 3 แม้จะรักแบบยอมทุ่มเทแต่ก็ไม่มีศักยภาพ ดังนั้นผมเชื่อว่าถ้าสังคมไม่เอาด้วยคนพวกนี้ก็ทำอะไรไม่ได้ การเคลื่อนไหวก็จะป็นแบบกระหรอมกระแหรม ชุมนุมไฮปาร์กไปวันๆ ไม่มีผลอะไร และไม่กล้าทำอะไรรุนแรง เพราะถ้าแรงปุ๊บก็จะถูกสังคมต่อต้าน ส่วนกลุ่มกองกำลังใดๆที่ใช้อาวุธสร้างความรุนแรงก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเข้ามาจัดการอย่างเด็ดขาด ถ้ารัฐบาลทำไม่ได้รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน

หากถูกยึดทรัพย์จริง พ.ต.ท.ทักษิณยังจะปล่อยท่อน้ำเลี้ยงเพื่อให้มีการเคลื่อนไหวกดดันศาลและรัฐบาลอยู่หรือไม่

ผมก็ไม่รู้ใจ พ.ต.ท.ทักษิณนะ แต่คิดว่าคนที่เป็นผู้นำระดับนี้ควรมีเหตุมีผล ควรสำนึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำลงไปนั้นผิดหรือถูก ถ้าสิ่งที่ทำลงไปไม่ถูกต้องแล้วมีสำนึก ปรับตัวแก้ไขใหม่ สังคมไทยอาจจะให้อภัย แต่ถ้าไม่ยอมรับผิด ไม่สำนึกเลยก็เป็นเรื่องน่าเศร้าและไม่เป็นแบบอย่างที่ดี เพราะในการพิจารณาคดีนั้นศาลท่านมีสำนวนการกล่าวหา มีการไต่สวนพยานทั้งพยานฝ่ายโจทก์และพยานฝ่ายจำเลย มีการพิจารณาตามหลักกฎหมาย และผู้พิพากษาแต่ละท่านก็ล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์มายาวนาน การจะทำอะไรท่านก็ต้องคำนึงถึงว่ากว่าชีวิตจะก้าวมาถึงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกานั้นไม่ใช่ง่ายๆ และท่านต้องพยายามรักษาชื่อเสียงของสถาบันศาลเอาไว้ด้วย ต้องทำให้คนเคารพและเชื่อถือในการทำงานของศาลเหมือนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระบรมราโชวาท

เป็นธรรมดาคนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดแต่ไม่สำนึกในความผิดก็จะไม่ชอบ ไม่ยอมรับคำตัดสิน แต่ถ้าคนที่สำนึกเขาก็จะยอมรับและพยายามแก้ไขตัวเอง เหมือนกับพระรักเกียรติ (นายรักกียรติ สุขธนะ อดีต รมว.สาธารณสุข) ซึ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินว่ามีความผิดในคดีทุจริตในการจัดซื้อยาของกระทรวงสาธารณสุข ที่ท่านออกมาให้สัมภาษณ์ว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้ท่านจะไม่ทำอย่างนั้น แสดงว่าท่านสำนึกผิด อย่างนี้ควรให้อภัย แต่ถ้าเป็นผู้นำทางการเมืองที่ทำผิดและมีหลักฐานชัดเจนแล้วยังดื้อเพ่งไปกล่าวหาศาลว่าไม่มีมาตรฐานโดยที่ไม่ดูพฤติกรรมของตัวเองว่าทำอะไรที่ไม่ถูกต้องลงไปบ้าง อย่างนี้ไม่ควรให้อภัยและเป็นเรื่องที่น่าเวทนาอย่างยิ่งที่เราจะมีผู้นำที่ไม่รู้จักสำนึกผิดในสิ่งที่ตัวเองทำผิด ถ้าศาลตัดสินว่าผิดจริง จะมีข้อโต้แย้งอะไรก็คงฟังไม่ขึ้นแล้วล่ะเพราะศาลท่านตัดสินจากหลักฐาน แต่ควรจะสำนึกและขอโทษประชาชนในสิ่งที่ตนกระทำลงไป ไม่ใช่ไปอาละวาดฟาดงวงฟาดงา กล่าวหาศาลอีก

ถ้าเสื้อแดงออกมาก่อความวุ่นวายในช่วงการตัดสินคดี รัฐบาลเอาอยู่ไหม?

รัฐบาลไม่มีสิทธิ์พูดว่าเอาไม่อยู่นะ ถ้าเอาไม่อยู่ก็ไม่สมควรเป็นรัฐบาลต่อไป รัฐบาลมีหน้าที่รักษากฎหมาย ทำให้บ้านเมืองสงบสุข ถ้ามีกฎหมายอยู่ในมือแล้วบังคับใช้กฎหมายได้ไม่ดี ปล่อยให้เกิดความรุนแรง เกิดความเสียหายกับบ้านเมือง รัฐบาลก็ไม่ควรอยู่ต่อไป ควรลาออกไปเสีย ให้คนอื่นมาทำหน้าที่แทน ถ้าใครมากระทำสิ่งที่ละเมิดกฎหมาย รัฐบาลก็มีหน้าบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ

ในช่วงนี้เริ่มมีกระแสข่าวการปฏิวัติ ณ เวลานี้การปฏิวัติเป็นไปได้ไหม?

เรื่องการปฏิวัติรัฐประหารในประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ แต่การจะเกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ว่าใครคิดอยากทำก็ทำได้ มันต้องมีปัจจัยและสาเหตุที่มากพอที่เมื่อปฎิวัติแล้วประชาชนให้การยอมรับ แต่ถ้าดูจากสถานการณ์ในปัจจุบัน เปรียบเทียบกับเหตุการณ์ช่วงสงกรานต์เลือดเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมานั้น นับว่าช่วงสงกรานต์เลือดเนี่ยน่าจะมีปัจจัยที่กองทัพจะทำการปฏิวัติมากกว่าในปัจจุบัน เพราะตอนนั้นสถานการณ์การเมืองรุนแรงมากแต่ก็ไม่ได้มีการปฎิวัติเกิดขึ้น มาถึงวันนี้เหตุปัจจัยแบบนั้นมันไม่มีแล้ว ดังนั้นการจะปฎิวัติมันก็ไม่มีเหตุผล หากมีการยึดอำนาจทำการปฏิวัติรัฐประหารในช่วงนี้ก็อาจจะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนและอาจถูกต่อต้านด้วยซ้ำไป

ผมว่าปัจจัยที่จะทำให้การปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นก็คือ 1.มีกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวางจนกระทั่งทางกองทัพเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อสถาบันหลัก ถ้าปล่อยไปจะเกิดภัยแก่สถาบันหลักของชาติ ทหารก็อาจจะออกมายึดอำนาจ 2.มีการกระทำที่ก่อให้เกิดการจลาจลในประเทศจนกระทั่งหากปล่อยต่อไปจะทำให้ความเป็นประเทศไม่อาจดำรงอยู่ ทหารซึ่งถือว่ามีความพร้อมที่สุดเพราะมีอาวุธอยุ่ในมือ เขาก็อาจจะออกมาทำปฏิวัติได้ แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันนั้นผมเชื่อว่าไม่มีปัจจัยที่จะทำการปฎิวัติ

อีกทั้งกองทัพบกภายใต้การนำของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ก็ยังมองไม่เห็นว่าท่านจะทำการปฏิวัติรัฐประหารเพราะตอนนี้อายุราชการก็เหลืออยู่ไม่กี่เดือนแล้ว และการยึดอำนาจในปัจจุบันนั้นไม่ใช่ยึดอำนาจแล้วจะสบายเหมือนในอดีต เพราะการยึดอำนาจแล้วจะรักษาอำนาจไว้ให้คนยอมรับนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งการยอมรับจากประชาชนภายในประเทศและการยอมรับจากประชาคมโลก ประชาคมโลกอาจจะต่อต้านคัดค้านไม่ให้การยอมรับ วันนี้จะทำปฏิวัติแล้วให้ประชาคมโลกยอมรับนั้นมันยาก ประชาชนในประเทศก็ไม่ให้การยอมรับ ถ้าเป็นอย่างนั้นอันตรายก็จะเกิดกับตัวผู้ปฏิวัติเอง ดังนั้นคนที่จะปฏิวัติได้นั้นไม่ใช่แค่มีกำลังอาวุธที่จะทำการยึดอำนาจเท่านั้น แต่ยึดอำนาจแล้วต้องให้ประชาชนยอมรับ ผมคิดว่าจากสถานกาณ์โลกและสถานการณ์ภายในประเทศ ณ วันนี้คนที่คิดจะยึดอำนาจคงต้องคิดทบทวนอย่างหนัก

ข่าวปฏิวัติถูกปล่อยจากใคร?

สังคมไทยก็เป็นสังคมที่สนุกสนานกับการปล่อยข่าวอยู่แล้ว สื่อต่างๆ ก็ไม่ค่อยสนใจวิเคราะห์ที่มาของข่าวสักเท่าไร ใครพูดอะไรก็เอามาประโคมออกข่าวหมด คนพูดมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ มีต้นทุนทางสังคมสูงหรือต่ำสื่อก็ให้ค่าเท่ากันหมด คนที่ต้นทุนทางสังคมต่ำพูดอะไรแล้วก็ออกมาเป็นข่าว เขาก็รู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จก็ออกมาพูดกันใหญ่ ส่วนผู้ที่นำเสนอข่าวก็ต้องการขายข่าวอย่างเดียว ข่าวอะไรก็ขอให้เป็นข่าวก็พอ โดยไม่ได้สนใจว่านำเสนออกไปแล้วมันมีผลกระทบกับประเทศขนาดไหน ถ้าไปดูการเสนอข่าวของสื่อในประเทศที่พัฒนาแล้วเนี่ยจะไม่เห็นภาพแบบนี้เลย คนที่ต้นทุนทางสังคมต่ำแทบจะไม่มีโอกาสออกข่าวเลย เพราะสื่อจะพิจารณาว่าคนอย่างนี้สมควรจะเป็นข่าวหรือเปล่า

แล้วคนปล่อยข่าวได้อะไร?

อาจจะเป็นการตีปลาหน้าไซเพื่อปรามว่าอย่าทำปฏิวัตินะ บางคนก็อาจจะปล่อยข่าวเพื่อสร้างพาวเวอร์ให้ตัวเอง

อาจารย์มองว่าในช่วง 1-2 เดือนนี้ไม่น่าจะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น

ครับ ใครก็ตามที่จะสร้างความรุนแรงเนี่ยจะทำได้ยากเพราะคนในสังคมไม่สนับสนุน และหากมีความรุนแรงเกิดขึ้นรัฐบาลก็น่าจะสามารถรับมือได้ดีกว่าที่ผ่านมา ขณะเดียวกันที่ผ่านมาประชาชนก็ดูจะสนับสนุนให้รัฐบาลใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงเพื่อเป็นการป้องปรามผู้ชุมนุมที่นิยมความรุนแรง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงมาหลายครั้ง ประชาชนก็ไม่รู้สึกคัดค้าน โดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจนักลงทุนต่างๆ เขาก็เห็นว่านักการเมืองที่เคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติอยู่ในขณะนี้นั้นส่งผลกระทบต่อการลงทุนด้วย ทำให้เขาเดือดร้อน เขาจึงไม่สนับสนุน

ในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งประชาธิปัตย์ยืนกรานว่าจะไม่ร่วมแก้ไขตามที่พรรคร่วมเสนอ อาจารย์คิดว่าจะนำไปสู่อะไร

ส่วนใหญ่นักการเมืองจะทำอะไรก็เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองทั้งสิ้น อย่างการแก้รัฐธรรมนูญนั้นผมว่าหลายพรรครวมถึงพรรคประชาธิปัตย์มีประเด็นที่เห็นร่วมกันอยู่คือ มาตรา 190 แต่ประชาธิปัตย์ไม่อยากให้นำประเด็นนี้มาอ้างเพื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญและนำไปสู่การแก้ไขประเด็นอื่น คือมาตรา 190 ซึ่งระบุว่าการทำข้อตกลงระหว่างประเทศนั้นรัฐบาลจะต้องนำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมรัฐสภานั้นไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็เห็นตรงกันมาตรานี้มันมีปัญหาในทางเทคนิคเยอะที่ทำให้การตกลงทำสัญญากับต่างประเทศนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบากและอาจทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ

ที่มีปัญหาเพราะไม่มีการระบุรายละเอียดว่าสัญญาระหว่างประเทศในเรื่องใดบ้างที่ต้องนำเข้าพิจารณาในสภา ทำให้ตีความได้ว่าอะไรก็ตามที่เป็นสัญญาระหว่างประเทศต้องนำเข้าสภาหมด การที่ระบุว่าให้ออกกฎหมายลูกก็บอกว่าให้ออกกฎหมายลูกเฉพาะเรื่องการกำหนดขั้นตอนและวิธีการ ไม่ได้บอกให้กำหนดประเภทของสัญญาที่ต้องนำเข้าพิจารณาในสภา ดังนั้นการทำสัญญาระหว่างประเทศในทุกวันนี้จึงเป็นปัญหาหมด รัฐบาลประชาธิปัตย์เองทุกวันนี้ก็มีปัญหาเกี่ยวกับมาตรานี้ ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาถ้ามีการทำสัญญาระหว่างประเทศก็มีความเสี่ยงหมด เพราะถ้าไม่เอาเข้าสภาก็ถือว่าผิดหมด และถ้าฝ่ายตรงข้ามยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคุณก็มีความผิดหมด

ส่วนประเด็นเรื่องเขตเลือกตั้งนั้นแต่ละพรรคได้ประโยชน์ไม่เหมือนกัน ประชาธิปัตย์อาจจะเห็นว่าถ้าเป็นระบบพวงใหญ่คือ คือเขตเดียวหลายเบอร์ ตัวเองได้เปรียบเพราะอาศัยชื่อเสียงกว้างๆ จะได้เปรียบมากกว่า ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นฝ่ายค้านอาจจะเห็นว่าระบบเขตเดียวเบอร์เดียวจะทำงานง่ายกว่า ได้ประโยชน์มากกว่า เพราะสามารถที่จะใช้ปัจจัยต่างๆ ในการครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่า ทำให้โอกาสที่จะได้รับเลือกตั้งมีมากกว่า

หลายคนบอกว่าระบบเขตเดียวเบอร์เดียว จะซื้อเสียงได้ง่ายกว่า

ผมว่าซื้อง่ายพอๆ กันนะ ขึ้นกับความเชี่ยวชาญในการซื้อของแต่ละคนมากกว่า เพราะเขตใหญ่ก็ประสานความร่วมมือกันไง เขาก็แบ่งพื้นที่และกระจายกันไปซื้อ ส่วนเขตเล็กก็ปูพรมซื้อเลย เพราะฉะนั้นภายใต้บริบทของสังคมไทยที่มีคนพร้อมที่จะซื้อและมีคนพร้อมจะขาย ในหลายพื้นที่มันก็ยังสามารถซื้อเสียงได้อยู่

การแบ่งเขตที่เถียงๆ กันอยู่เนี่ยมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของพรรค แต่หากพูดถึงหลักสากลแล้วมันควรจะเป็นระบบ One man one vote หรือเขตเดียวเบอร์เดียว ซึ่งประชาชนทุกคนจะมีสิทธิในการเลือกตั้งเท่าเทียวกัน คือทุกคนกาได้ 1 เบอร์ แต่ระบบเขตเดียวหลายเบอร์ซึ่งเขตพื้นที่ใหญ่แต่ให้ประชาชนแต่ละคนกาเลือก ส.ส.ได้หลายเบอร์นั้นทำให้สิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้งของประชาชนในแต่ละพื้นที่นั้นมีไม่เท่ากัน เพราะหากเป็นจังหวัดเล็กจะเลือก ส.ส.ได้คนเดียว ขณะที่จังหวัดขนาดกลางและขนาดใหญ่สามารถกาเลือก ส.ส.ได้ 2-3 คน

แต่ทั้งนี้หากต้องการกำหนดเขตพื้นที่ใหญ่ให้เป็นแบบ One man one vote ก็สามารถทำได้ คือแม้ในจังหวัดนั้นจะมี ส.ส.ได้หลายคน แต่ให้ประชาชนแต่ละคนกาเลือก ส.ส.ได้เพียงเบอร์เดียว จากนั้นจึงนำคะแนนของผู้สมัครมาเรียงลำดับตามจำนวน ส.ส.ในเขตนั้น เช่น หากจังหวัดนั้นมี ส.ส.ได้ 3 คน ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกก็ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ซึ่งแบบนี้ก็จะเป็นไปตามหลักสากล ระบบพวงใหญ่หรือเขตเดียวหลายเบอร์ที่บ้านเราใช้กันอยู่มันไม่เป็นไปตามหลักสากล การที่เราเอามาใช้ก็เพียงเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่มเท่านั้น ผมว่าการกำหนดระบบการเลือกตั้งนั้นควรเป็นไปตามหลักสากลคือให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกัน เราจะทำอะไรก็ควรยึดหลักการสากลเอาไว้ด้วย ไม่ใช่ทำเพราะความพอใจหรือประโยชน์ของคนบางกลุ่ม การที่ทำเพื่อหวังจะไปแก้ปัญหาบางอย่างของตัวแต่ขัดกับหลักการสากลอย่างนี้ก็ไม่เหมาะ

ส่วนประเด็นเรื่องการยุบพรรค ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ระบุว่า หากมี ส.ส.ของพรรคซื้อเสียง โดยที่กรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็น พรรคนั้นจะต้องถูกยุบพรรคนั้น ผมมองว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่ามาตรานี้ไม่สามารถแก้ปัญหาการซื้อเสียงได้ เพราะถึงแม้จะมีการยุบพรรคแต่นักการเมืองก็ไม่เข็ดหลาบเพราะเขาก็ไปตั้งพรรคใหม่ได้ ส่วนกรรมการบริหารของพรรคที่ถูกยุบแม้จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เล่นการเมืองโดยตรงไม่ได้ เขาก็ตั้งนอมินีขึ้นมาแล้วดำเนินการผ่านนอมินีที่เป็นตัวแทน เรียกว่าตั้งพรรคนอมินีขึ้นมา ตั้งบุคคลที่เป็นนอมินีขึ้น มาวุ่นวายไปหมด จึงเห็นได้ว่าที่ผ่านมาผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองก็ยังเข้ามามีบทบาททางการเมืองเพราะการบังคับใช้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์

ที่สำคัญในระบบประชาธิปไตยนั้นถือว่าพรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมือง ถ้ามีการยุบพรรคกันบ่อยๆ ยุบกันเกือบทุกพรรค สถาบันพรรคการเมืองจะอ่อนแอมาก ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั้นเขาจะลงโทษผู้ที่ซื้อเสียงเลือกตั้งเป็นรายบุคคล เพราะฉะนั้นประเด็นนี้ผมว่าเราน่าจะยึดหลักการมากกว่า เช่น ถ้าผู้ซื้อเสียงเป็นสมาชิกพรรคธรรมดาก็ถอนสิทธิเลือกตั้ง 4-5 ปี แต่ถ้าเป็นกรรมการบริการพรรคก็ตัดสิทธิไปเลย 15-20 ปี แต่ไม่ควรยุบพรรคเพราะพรรคไม่ใช่คนทำผิด

การจะแก้ปัญหาเรื่องการซื้อสิทธิขายสียงนั้นมันต้องแก้ที่บริบทของสังคม ถ้าสังคมไทยยังเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่วคือฐานล่างเป็นคนยากจนด้อยการศึกษาซึ่งมีจำนวนมาก ส่วนบนยอดเป็นคนร่ำรวยที่มีการศึกษาสูงนั้นมีอยู่นิดเดียว เวลาที่เข้าคูหาเลือกตั้งคนที่ยากจนก็พร้อมจะขายเสียง เพราะเขาไม่ได้คิดถึงคุณสมบัติของผู้สมัคร แต่คิดถึงอามิสสินจ้างที่จะได้รับจากการลงคะแนน ดังนั้นเราต้องหามาตรการหรือกลไกที่จะพัฒนาคนให้มากกว่านี้ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

* * * * * * * * * * * *

เรื่อง - จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
แม้วโฟนอิน หนึ่งในกลยุทธ์การปลุกระดมมวลชน
สงกรานต์เลือด
สงกรานต์เลือด
พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ทหารเสื้อแดงที่นิยมความรุนแรง
กองกำลังนักรบพระเจ้าตาก ของ เสธ.แดง
กล้านรงค์ จันทิก อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบและทำคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการบุกค่ายทหารทั่วประเทศ โดยอ้างว่าเพื่อต่อต้านการปฎิวัติรัฐประหาร
กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการบุกค่ายทหารทั่วประเทศ โดยอ้างว่าเพื่อต่อต้านการปฎิวัติรัฐประหาร
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะตรวจเยี่ยมประชาชนที่ จ.ปราจีนบุรี ในช่วงที่ยังเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตถึงความไม่เหมาะสมในการนำธง ทรงพระเจริญ  มาโบกต้อนรับ พ.ต.ท.ทักษิณ (ภาพจาก นสพ.มติชนรายวัน  ฉบับวันที่ 8 มี.ค.2549)
กำลังโหลดความคิดเห็น