xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 19-24 ต.ค.2552

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ลงจากอาคารเฉลิมพระเกียรติ รพ.ศิริราช ซึ่งเป็นอาคารที่ประทับรักษาพระอาการประชวร(23 ต.ค.)
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “ในหลวง”พระอาการดีขึ้น-เสด็จฯ ลงจากอาคารที่ประทับ ด้าน “พสกนิกร”สุดดีใจ เห็นพระองค์โบกพระหัตถ์-แย้มพระสรวล!

ความคืบหน้าพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 19 ต.ค.สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 30 ว่า พระอาการโดยทั่วไปดี ไม่มีพระปรอท(ไข้) เสวยพระกระยาหารแล้วทรงพระบรรทมได้ดี วันต่อมา(20 ต.ค.) สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 31 ว่า พระอาการทั่วไปดี เสวยพระกระยาหารได้ดี ผลการตรวจพระวรกายและเอ็กซเรย์พระอุระ(อก) พบว่า การอักเสบของพระปัปผาสะ(ปอด)ทุเลาลงอีก ต่อมา วันที่ 21 ต.ค. สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 32 ว่า พระอาการโดยทั่วไปดี เสวยพระกระยาหารและทรงพระบรรทมได้ดี ผลการตรวจพระโลหิตบ่งชี้ว่า การอักเสบของพระปัปผาสะลดลง วันต่อมา(22 ต.ค.) สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 33 ว่า พระอาการโดยทั่วไปคงที่ พระกำลังพระวรกายแข็งแรงขึ้น เสวยพระกระยาหารและทรงพระบรรทมได้เป็นปกติ คณะแพทย์ยังคงถวายพระโอสถปฏิชีวนะจนครบกำหนด และถวายพระกระยาหารบำรุงตามหลักโภชนาการต่อไป

สำนักพระราชวังแจ้งด้วยว่า ต่อจากนี้ จะได้ยุติแถลงการณ์ประจำวัน แต่จะประกาศให้ทราบเมื่อพระอาการเปลี่ยนแปลง จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

ทั้งนี้ หลังจากพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดีขึ้นเป็นลำดับ ปรากฏว่า ล่าสุด วานนี้(23 ต.ค.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ประทับบนรถเข็นไฟฟ้าลงจากอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นอาคารที่ประทับ ไปยังอาคารสยามมินทร์ โดยทรงนำพวงมาลัยสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นเสด็จฯ ต่อยังศาลาศิริราช 100 ปี เพื่อนำพวงมาลัยสักการะพระรูปหล่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ก่อนเสด็จฯ ต่อไปยังลานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เพื่อนำพวงมาลัยสักการะพระราชานุสาวรีย์ จากนั้นเสด็จฯ ไปยังอาคาร 100 ปีสมเด็จพระศรีนครินทร์ เพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการสัปดาห์ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ยังอาคารต่างๆ นั้น พระองค์ทรงโบกพระหัตถ์ แย้มพระสรวล และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับพสกนิกรที่เฝ้ารับเสด็จ ขณะที่ประชาชนต่างพากันเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ”ตลอดเส้นทางพระราชดำเนิน โดยประชาชนบางส่วนก้มลงกราบพร้อมกับหลั่งน้ำตาด้วยความปลาบปลื้มที่ได้เห็นว่าพระอาการประชวรของพระองค์ดีขึ้น ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เวลาเสด็จพระราชดำเนินประมาณ 30 นาที ก่อนเสด็จฯ กลับไปประทับที่ชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติดังเดิม

2. สัมพันธ์ไทย-เขมร ส่อร้าว “ฮุน เซน” เลือกยืนข้าง “ทักษิณ” ด้าน “อภิสิทธิ์” เตือน คิดให้ดี!

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ปธ.พรรคเพื่อไทย ไปเยือนกัมพูชาและหารือกับสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา ก่อนที่ฮุน เซน จะออกมาประกาศเลือกข้างทักษิณ(21 ต.ค.)
ความเคลื่อนไหวของสถานการณ์การเมืองหลัง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เตือนสติ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะเพื่อนให้ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เพราะอาจเป็นการกระทำที่เป็นการทรยศต่อชาติ แต่ พล.อ.ชวลิตก็ไม่สนใจ เพราะยังคงเดินหน้าสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ขณะที่แกนนำพรรคเพื่อไทยและแกนนำคนเสื้อแดงต่างออกมาปกป้องและยกย่อง พล.อ.ชวลิต พร้อมโจมตี พล.อ.เปรมว่าทำเกินหน้าที่และเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง พร้อมชี้ว่า พล.อ.เปรมไม่เป็นกลาง แล้วจะมาให้ พล.อ.ชวลิตเป็นกลางได้อย่างไรนั้น ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 19 ต.ค.นายคารม พลทะกลาง ทนายความสายเสื้อแดง ได้อ้างความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.เมืองนนทบุรี ให้ดำเนินคดี พล.อ.เปรม ฐานหมิ่นประมาท พล.อ.ชวลิต-พรรคเพื่อไทย-สมาชิกพรรคเพื่อไทยให้ได้รับความเสียหาย เพราะการขอให้ พล.อ.ชวลิตไตร่ตรองให้รอบคอบ และอย่าทำอะไรที่เป็นการทรยศต่อประเทศชาติหรือบ้านเมืองนั้น เป็นการกล่าวหาที่ไม่เหมาะสม เกรงว่าประชาชนที่ได้รับทราบข่าวสารจะรู้สึกเกลียดชังพรรคเพื่อไทยและอาจนำไปสู่การแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย

ทั้งนี้ ไม่เพียงสมาชิกพรรคเพื่อไทยจะแจ้งความดำเนินคดี พล.อ.เปรม แต่แกนนำพรรคยังพยายามดึงอดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่เข้าพรรคมากๆ ตามบัญชาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยเมื่อวันที่ 20 ต.ค. พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี อดีตหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ก็ได้นำทีมอดีตนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 10(ตท.10) รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย โดยอ้างว่า เหตุที่เข้าพรรคเพื่อไทย เพราะนโยบายพรรคดี...มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ขณะที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หลังสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยและได้เป็นประธานพรรคเพื่อไทยแล้ว ก็เริ่มเดินสายเยือนประเทศต่างๆ อ้างว่าเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ โดยเริ่มด้วยการเยือนประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 21 ต.ค. เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังพบปะหารือกับสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา พล.อ.ชวลิต เผยว่า ได้หารือกับสมเด็จฯ ฮุน เซน 3 ประเด็น คือ 1.ปัญหาข้อขัดแย้งตามแนวชายแดน โดยเฉพาะกรณีปราสาทพระวิหาร 2.สิทธิในการค้นหาหรือขุดค้นบ่อน้ำมันหรือก๊าซในทะเลที่เป็นพื้นที่ทับซ้อน และ 3.ความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จฯ ฮุน เซน กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดย พล.อ.ชวลิต บอกว่า สมเด็จฯ ฮุน เซน พูดชัดเจนว่ามีความสัมพันธ์กับ พ.ต.ท.ทักษิณมานานแล้ว ตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนักธุรกิจ ยังไม่ได้เล่นการเมือง พร้อมยืนยันความสัมพันธ์ยังเหมือนเดิมทุกอย่าง พล.อ.ชวลิต บอกด้วยว่า สมเด็จฯ ฮุน เซน รู้สึกว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้รับความเป็นธรรม และพร้อมให้ พ.ต.ท.ทักษิณมาพำนักอาศัยในกัมพูชา ซึ่งเขาได้จัดบ้านพักอย่างดีสวยงามไว้พร้อมต้อนรับ พ.ต.ท.ทักษิณอย่างมีเกียรติในฐานะเพื่อนตลอดกาล

ด้านสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา ให้สัมภาษณ์หลังหารือกับ พล.อ.ชวลิตเช่นกัน โดยนอกจากจะยืนยันความเป็นเพื่อนกับ พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว ยังรู้สึกเจ็บปวดแทน พ.ต.ท.ทักษิณด้วย “ในฐานะเพื่อน ผมรู้สึกว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมือง ประสบเคราะห์กรรม แต่ผมกับทักษิณยังเป็นเพื่อนกัน ในฐานะที่ทำประโยชน์ให้ประเทศมานาน แต่ทำไมวันนี้ถึงไม่มีแผ่นดินจะอยู่ ผมมีความรู้สึกเจ็บปวดในเรื่องนี้ ทั้งที่ไม่ได้เป็นคนไทย...ภรรยาผมถึงกับร้องไห้ และมีความเห็นที่จะสร้างบ้านให้ พ.ต.ท.ทักษิณเข้ามาอยู่ในกรุงพนมเปญ ในฐานะเพื่อนอย่างมีเกียรติ”

นอกจากสมเด็จฯ ฮุน เซน จะยืนยันความสัมพันธ์กับ พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว ยังได้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างพรรคประชาชนกัมพูชาของสมเด็จฯ ฮุน เซน กับพรรคเพื่อไทยด้วย โดยได้แต่งตั้ง พล.อ.เตีย บัน รองนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา เป็นหัวหน้าคณะประสานพรรคการเมืองทั้งสอง ส่วนพรรคเพื่อไทยจะเสนอตั้ง พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ นายทหารคนสนิท พล.อ.ชวลิต เป็นหัวหน้าคณะประสานของพรรคเพื่อไทย

ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีจำคุก 2 ปี นอกจากรีบโทรศัพท์หา พล.อ.ชวลิต หลังหารือกับสมเด็จฯ ฮุน เซน ว่าผลการหารือเป็นอย่างไรบ้าง ปรากฏว่า วันต่อมา(22 ต.ค.) พ.ต.ท.ทักษิณ ยังได้ทวิตข้อความผ่านเว็บไซต์ทวิตเตอร์ ขอบคุณสมเด็จฯ ฮุน เซนด้วย “ผมขอขอบคุณสมเด็จฯ ฮุน เซน ที่กรุณาบอกต่อสาธารณชนว่าผมเป็นเพื่อนและยินดีต้อนรับผมทุกเวลา และยังได้กรุณาจัดบ้านให้ผมไปอยู่ที่พนมเปญอีกด้วย”

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี บอก ไม่ติดใจคำพูดของสมเด็จฯ ฮุน เซนที่ยืนยันความเป็นเพื่อนกับ พ.ต.ท.ทักษิณและเตรียมบ้านให้ พ.ต.ท.ทักษิณพำนัก “เคยมีโอกาสพบกับนายกฯ ฮุน เซน หลายครั้ง เวลาพูดคุย สมเด็จฯ ฮุน เซน เองก็พูดตรงไปตรงมาอยู่แล้วว่าตัวเองกับ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเพื่อนกัน แต่สมเด็จฯ ฮุน เซน ก็ได้บอกว่าเรื่องของเพื่อน ก็ต้องแยกจากการทำหน้าที่และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในฐานะเพื่อนจะทำอะไรก็สุดแล้วแต่ แต่ในแง่การดำเนินนโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระบุอยู่ ดังนั้นถ้า พ.ต.ท.ทักษิณจะอาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างที่ตกลงกันไว้”

ด้านกลุ่ม 40 ส.ว.นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ,นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ฯลฯ ได้เปิดแถลง(22 ต.ค.) เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ แสดงท่าทีตอบโต้สมเด็จฯ ฮุน เซน กรณีที่ประกาศสร้างบ้านให้ พ.ต.ท.ทักษิณและหาว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยไม่ให้ความเป็นธรรมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยนายคำนูณ บอกว่า “ที่ผ่านมา สมเด็จฯ ฮุน เซนมีท่าทีไม่เหมาะกับการเป็นมิตรประเทศ ถือเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น เป็นการโหมฟืนใส่กองไฟ การที่ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมของไทย ถือว่าไม่เป็นความจริง เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาตัดสิน กลับหนีออกนอกประเทศไปเอง จึงขอเรียกร้องไปยังนายอภิสิทธิ์ในฐานะตัวแทนของคนไทย แสดงถึงศักดิ์ศรีของประเทศเอกราช และประธานอาเซียนด้วยการตอบโต้สมเด็จฯ ฮุน เซน อย่างเป็นทางการ หากไม่ดำเนินการก็ไม่ควรที่จะดำรงตำแหน่งอีกต่อไป”

ขณะที่รัฐบาลกัมพูชาได้สำทับคำพูดของสมเด็จฯ ฮุน เซน ด้วยการออกแถลงการณ์(23 ต.ค.) ว่า การยินยอมให้ พ.ต.ท.ทักษิณอาศัยอยู่ในกัมพูชา เป็นการแสดงถึงความมีน้ำใจและความเป็นเพื่อนแท้ของสมเด็จฯ ฮุน เซน ซึ่งเป็นเพื่อนกับ พ.ต.ท.ทักษิณมาอย่างยาวนาน พร้อมอ้างว่า ความมีคุณธรรมนี้จะไม่ถูกตีความว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย แถลงการณ์ของรัฐบาลกัมพูชา ยังยืนยันด้วยว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม จะไม่ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนตามคำร้องขอของรัฐบาลไทยในกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณยินดีที่จะอาศัยอยู่ในกัมพูชา โดยกัมพูชาอ้างว่า ในมาตรา 3 ของสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัมพูชา-ไทยนั้น กัมพูชามีสิทธิที่จะปฏิเสธคำร้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้ในหลายๆ กรณี เช่น กรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อกล่าวหาในคำร้องให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เป็นข้อกล่าวหาทางการเมือง เป็นต้น

ด้านสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา ได้ตอกย้ำท่าทีของตนต่อ พ.ต.ท.ทักษิณอีกครั้งหลังเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อเย็นวันที่ 23 ต.ค.เพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน โดยคราวนี้ นอกจากสมเด็จฯ ฮุน เซน จะยืนยันว่าไม่ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนให้ไทยแล้ว ยังตบหน้าไทยด้วยการเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณให้เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของตนด้วย “เป็นเรื่องจริงที่ผมได้เชิญ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ขอแนะนำให้ไปอ่านข้อที่ 3 ของสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน(หากเป็นคดีการเมือง สามารถปฏิเสธการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้) ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณสามารถอยู่ในกัมพูชาได้ในฐานะแขก และในฐานะที่ปรึกษาเศรษฐกิจของผม ถ้าถามว่าผมทำอย่างนี้ทำไม นั่นเป็นคำถามที่มีหลายคำตอบ แต่ผมก็ไม่รู้ว่าใครจะตอบคำถามนั้น”

สมเด็จฯ ฮุน เซน ยังไม่ยอมรับด้วยว่ากำลังช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมเตือนว่า อย่ามากล่าวหาว่าตนเป็นพวกสนับสนุนทักษิณหรือสนับสนุนกลุ่มเสื้อแดง สมเด็จฯ ฮุน เซน ยังปฏิเสธด้วยว่า การกระทำของตนไม่ได้เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทย พร้อมยกชั้น พ.ต.ท.ทักษิณเทียบเท่ากับอองซาน ซูจี ของพม่า “นี่ไม่ใช่การแทรกแซงกิจการภายในของไทย แต่เป็นสิทธิและอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา...สิ่งที่ผมทำคือการให้การสนับสนุนทางด้านจิตใจของผมต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ คนไทยเสื้อแดงนับล้านสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วทำไมผมในฐานะมิตรจากแดนไกลจะไม่สามารถสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณได้ ถ้าไม่มีการปฏิวัติเมื่อปี 2549 เรื่องแบบนี้ก็ไม่เกิดขึ้น คนพูดถึงซูจี ในพม่า แล้วทำไมฮุน เซน จึงจะพูดถึงทักษิณไม่ได้ อย่ามาตำหนิผม”

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พูดถึงกรณีที่สมเด็จฯ ฮุน เซน เชิญให้ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ พร้อมยืนยันจะไม่ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณให้ไทย เพราะคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นคดีการเมืองว่า เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันโดยเปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้เสนอข้อเท็จจริงว่า ตกลงเป็นเรื่องของการเมืองหรือการทุจริตคอร์รัปชั่น จะไปพูดล่วงหน้าไม่ได้ “คำพูดของสมเด็จฯ ฮุน เซน ผมคิดว่าคงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างมาก อาจได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในการเข้าใจสถานการณ์ที่เกี่ยวกับคุณทักษิณ ซึ่งต่างกับนางอองซาน ซูจี ผมไม่คิดว่าในโลกนี้จะมีสักกี่คนที่เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีความคล้ายคลึงกับนางอองซาน ซูจี ...ผมไม่ทราบว่าข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมาจากไหน แต่เราก็มีหน้าที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง คิดว่านายกฯ ฮุน เซนต้องคิดให้ดีว่าจะยืนยันการตัดสินใจที่จะมีผลกระทบร่วมกันต่อประโยชน์ของคนทั้ง 2 ชาติเพื่ออะไร คือผมเห็นว่าท่านก็เป็นนายกฯ ที่มีความอาวุโส อย่าไปเป็นเหยื่อหรือเบี้ยให้ใครเลยครับ”

3. “วิป รบ.-วิปวุฒิฯ” เดินหน้าแก้ รธน. 6 ประเด็น แม้ไร้เงา “วิปฝ่ายค้าน” ด้าน “ก.ม.ม.- พันธมิตรฯ”พร้อมยื่นถอดถอน - ชุมนุมค้าน!

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล
สถานการณ์ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ หลังพรรคเพื่อไทยฝ่ายค้าน มีมติไม่ร่วมสังฆกรรมกับรัฐบาลในการแก้ รธน.แล้ว เพราะไม่ต้องการให้มีการทำประชามติ แต่อ้างว่าแก้ รธน.ไปก็ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน พร้อมเรียกร้องให้นำ รธน.2540 มาใช้แทน รธน.2550 นั้น ปรากฏว่า ในส่วนของรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา ต่างยืนยันว่า การแก้ รธน.ทั้ง 6 ประเด็นจะต้องเดินหน้าต่อไป แม้ไม่มีฝ่ายค้านเข้าร่วมก็ตาม โดยอ้างว่าเป็นสัญญาที่พรรคประชาธิปัตย์ให้ไว้ก่อนจับมือจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเดินหน้าให้มีการแก้ รธน.ทั้งที่ ส.ส.ในพรรคยังเสียงแตก มีทั้งผู้ที่หนุนและไม่หนุนแก้ รธน. ขณะที่วิป 3 ฝ่าย(วิปรัฐบาล-วิปฝ่ายค้าน-วิปวุฒิสภา)นัดประชุมเพื่อพิจารณาเค้าโครงร่างแก้ไข รธน.ที่คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของสองสภาได้รับมอบหมายให้ยกร่างในวันที่ 22 ต.ค.นี้ โดยหวังว่า วิปฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทยจะเปลี่ยนใจเข้าร่วมประชุมดังกล่าวด้วยนั้น ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 19 ต.ค. นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็น 1 ใน ส.ส.ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ รธน.ได้ออกมาขู่ว่า หากรัฐบาลยังดึงดันจะแก้ รธน. ตนจะนำข้อมูลและเอกสารที่พรรคประชาธิปัตย์เคยทำสัญญาไว้กับทหารและสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)2550 ว่า พรรคเคยไปเสนอแนะให้เติมมาตราไหนลงใน รธน.2550 บ้าง และมาตราต่างๆ มีข้อดีอย่างไร ลงชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นายชาญชัย ยืนยันด้วยว่า “ที่พูดไปถือเป็นการพูดในเชิงหลักการ ไม่ได้มีอะไรกับนายสุเทพ และไม่ทราบว่ามีคนคิดล่าชื่อถอดถอนนายสุเทพจริงหรือไม่ แต่ยืนยันว่าไม่ใช่แกนนำคนที่ล่าชื่อแน่นอน เพียงแต่ธรรมนูญพรรคข้อ 7 เขียนไว้ว่า หากใครกระทำผิด สมาชิกพรรคสามารถเสนอขอเปิดประชุมวิสามัญเพื่อลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ตั้งแต่ตัวหัวหน้าพรรคลงมาจนถึงกรรมการบริหารพรรค ส่วนที่อ้างว่ามี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จำนวนกว่า 30 คน เห็นด้วยกับแนวคิดตนนั้น บางทีอาจมีมากกว่านั้นด้วยซ้ำ”

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงข่าวเรื่องล่าชื่อถอดถอนตนว่า ข่าวเรื่องถอดถอนนั้น จะขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหนื่อย ไม่มีปัญหา เพราะชีวิตไม่เคยน้อยใจใคร ตราบใดที่ทำหน้าที่อยู่ ก็จะทำให้ดีที่สุด ไม่ต้องคิดอะไรมาก

ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงความขัดแย้งในพรรคเกี่ยวกับการแก้ รธน.ว่า ไม่เห็นจะมีอะไรที่ขัดแย้ง จะมีก็การเสนอความเห็นมากที่สุดคือเรื่องเขตเลือกตั้ง ที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขจากเขตใหญ่ไปเป็นเขตเล็ก เพราะเขตเล็กจะทำให้ซื้อเสียงได้ง่ายขึ้น “โดยหลักแล้วการแก้ รธน.เป็นกฎหมายหลักของประเทศ บทบัญญัติใดบกพร่องก็สามารถแก้ไข แต่การแก้ไขไม่ใช่เรื่องเล็กๆ หากจะแก้ต้องใช้เวลาพิจารณาให้ถี่ถ้วน”

ด้านนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งขู่ว่าจะนำเอกสารที่พรรคประชาธิปัตย์ทำสัญญาไว้กับทหารและ ส.ส.ร.2550 ว่าเสนอให้เพิ่มมาตราไหนลงใน รธน.บ้าง ก็ได้ทำตามที่ขู่ด้วยการเปิดแถลงพร้อมโชว์เอกสารเรื่อง “ข้อเสนอประเด็นสำคัญเพื่อบัญญัติไว้ใน รธน.ฉบับที่กำลังยกร่าง” แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า เอกสารดังกล่าวเป็นข้อเสนอที่คณะทำงานพรรคประชาธิปัตย์ 14 คนจัดทำขึ้นเมื่อเดือน ก.พ.2550 เช่น ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 200 คน มีวาระ 6 ปี แต่เลือกตั้งครึ่งหนึ่งทุก 3 ปี ฯลฯ ไม่ได้มีลักษณะการทำสัญญากับทหารและ ส.ส.ร.2550 แต่อย่างใด

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พูดถึงการกระทำของนายชาญชัยว่า นายชาญชัยไม่มีอะไรจะต้องมาขู่กันเลย เพราะประเด็นที่เสนอแนะไปก็เหมือนเดิมทุกอย่าง พรรคเคยแสดงความเห็นเรื่องเขตใหญ่และที่มาของ ส.ว.กับอำนาจต้องสอดคล้องกัน ขณะเดียวกันก็พูดชัดเจนว่า จะแก้ รธน.แต่ให้รับประชามติไปก่อน เพราะฉะนั้นทุกอย่างเหมือนเดิม “ยืนยันว่าจุดยืนเรื่อง รธน.อย่างไรก็เหมือนเดิม เพียงแต่เห็นว่าเรื่องนี้น่าจะใช้เป็นเครื่องสมานฉันท์ ถ้าใช้การบอกว่า ใครเคยอยู่ตรงไหนและไม่มีโอกาสหาข้อยุติ ก็ไม่มีทางมาคุยกันได้”

ส่วนที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ก็ได้มีมติเอกฉันท์ให้วิปรัฐบาลเดินหน้าแก้ไข รธน. โดยแสวงหาความร่วมมือจากที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายที่จะประชุมกันในวันที่ 22 ต.ค. พร้อมยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ยึดประโยชน์ส่วนรวม เคารพการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยการทำประชามติ พร้อมย้ำอีกครั้งว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีการทำข้อตกลงกับทหารและไม่มีแรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลให้แก้ รธน. ยืนยันพรรคยังมีจุดยืนเดิม จะไม่ทำอะไรที่ขัดต่ออุดมการณ์ของพรรค

ด้านนายประมวล เอมเปีย ส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ เป็นอีก 1 ส.ส.ที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเดินหน้าแก้ รธน. โดยนายประมวลใช้คำค่อนข้างแรงในการตำหนิพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค “เข้าใจว่านายสุเทพทำงานหนัก เพื่อให้รัฐบาลไปได้ แต่ถึงที่สุดยังให้พรรคร่วมรัฐบาลขี่คอ สุดท้าย ส.ส.ของพรรคก็คงต้องสร้างแรงกดดัน เพื่อไม่ให้พรรคเกิดความเสียหาย โดยอาจมีการเสนอให้นายกฯ ยุบสภาหรือลาออกไปเลย หรืออาจจะให้พรรคร่วมรัฐบาลที่มีปัญหาออก โดยต้องยอมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เรารู้ดีว่าเป็นการเอาโสเภณีมาร่วมรัฐบาล ซึ่งก็ต้องยอมในบางอย่าง แต่ทุกคนก็ต้องมีขีดจำกัดเหมือนกัน โดยขณะนี้ได้มี ส.ส.หลายคนทั้งภาคกลาง อีสาน และเหนือ ถึงกับบอกว่าไม่ไหวแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไข รธน.ที่จะเปลี่ยนเป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว จะเป็นการเปิดช่องให้มีการซื้อเสียงกันมากขึ้น พรรคต้องฟังเสียง ส.ส.ใหม่บ้าง เพราะแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกับ ส.ส.ใต้ที่ภาคนิยม เลือกแต่พรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว”

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อถึงวันนัดประชุมวิป 3 ฝ่าย(22 ต.ค.) เพื่อพิจารณาเค้าโครงร่างแก้ไข รธน.6 ประเด็นที่คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของสองสภาเป็นผู้ยกร่าง ปรากฏว่า วิปฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมประชุมตามคาด จึงมีเพียงตัวแทนของวิปรัฐบาล-วิปวุฒิสภา และคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เข้าร่วม โดยวิปฝ่ายค้านอ้างเหตุที่ไม่เข้าร่วมประชุมว่า การเหลือเพียงวิป 2 ฝ่ายน่าจะทำให้การทำงานดีขึ้นและง่ายขึ้น

ทั้งนี้ หลังประชุม นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล แถลงว่า ที่ประชุมเห็นด้วยกับหลักการที่คณะกรรมการยกร่างฯ เสนอมาทั้ง 6 ประเด็น ซึ่งประกอบด้วย 1.การยุบพรรคการเมือง(ยกเลิกการยุบพรรคและการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ให้ตัดสิทธิเฉพาะบุคคลที่ทุจริตเลือกตั้ง) 2.ที่มาของ ส.ส. ที่กำหนดให้ ส.ส.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงและจากบัญชีรายชื่อ โดยไม่มีการกำหนดจำนวนขั้นต่ำของคะแนนที่จะมาคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3.ที่มาของ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง 4.การทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยกำหนดให้รัฐสภามีอำนาจในการกำหนดประเภทของหนังสือสัญญา และกำหนดระยะเวลาในการจัดทำหนังสือสัญญา 5.การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ส. กำหนดให้ ส.ส.สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ 6.มาตรา 266 ให้ ส.ส. ส.ว.สามารถเข้าช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ ได้(เท่ากับเปิดช่องให้ ส.ส.-ส.ว.แทรกแซงการทำงานของข้าราชการและหน่วยงานของรัฐได้) นายชินวรณ์ บอกด้วยว่า ที่ประชุมขอให้คณะกรรมการยกร่างฯ ไปทำญัตติการขอแก้ไข รธน.มา 6 ฉบับ ฉบับละ 1 ประเด็น โดยให้นำมาเสนอในวันที่ 12 พ.ย.นี้

ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน และประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย พูดถึงกรณีที่พรรคไม่ร่วมสังฆกรรมแก้ รธน.กับรัฐบาลว่า พรรคปฏิเสธมาตั้งแต่สมัยเป็นพรรคไทยรักไทยแล้วว่า ไม่เอา รธน.2550 และไม่เคยมีมติสนับสนุนแก้ไข รธน.6 ประเด็น เพราะไม่มีประเด็นใดที่ระบุว่า แก้ไขแล้วจะสร้างความสมานฉันท์หรือผลประโยชน์ตกอยู่กับประชาชน ร.ต.อ.เฉลิม ยังยอมรับด้วยว่า เหตุที่ไม่ร่วมแก้ไข รธน.เพราะต้องเชื่อฟังคำสั่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ “อะไรที่ พ.ต.ท.ทักษิณแนะนำแล้วดีก็จะเชื่อ และไปวัดผลลัพธ์เอาที่การเลือกตั้ง ถ้าประชาชนเห็นว่าคำแนะนำของ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ดีก็อย่าเลือก ขอประกาศเลยว่า เลือกตั้งครั้งหน้าจะขายชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณอย่างเดียว เพราะเป็นสินค้ามีราคา”

ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ แถลงย้ำจุดยืนของพรรคการเมืองใหม่(ก.ม.ม.) และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการคัดค้านการแก้ รธน.ว่า รัฐบาลควรหยุดแนวคิดเรื่องแก้ รธน.แล้วหันมาสนใจวิกฤตของบ้านเมืองจะดีกว่า หากที่สุดแล้วรัฐบาลดันทุรังยื่นร่างแก้ไข รธน.เข้าสภา ขั้นตอนแรกที่พรรคการเมืองใหม่จะทำก็คือ ใช้สิทธิตาม รธน.ร่วมกับประชาชนเพื่อยื่นถอดถอนบรรดา ส.ส.ที่ร่วมกันเสนอญัตติ เพราะการแก้ รธน.จะทำโดยการขัดกันทางผลประโยชน์หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ได้ “ทางพรรคจะคัดค้านทั้งแนวทางตาม รธน.หรืออาจจะถึงขั้นใช้รูปแบบชุมนุมหรือไม่ คงต้องว่ากันอีกที ต้องประเมินสถานการณ์ดูก่อน”

4. ยูเนสโก ประกาศยกย่อง “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ – ครูเอื้อ” เป็นบุคคลสำคัญของโลก!

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี และ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์
นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เผย(23 ต.ค.)ว่า ได้รับรายงานจากผู้แทนของกระทรวงที่เข้าร่วมประชุมสมัยสามัญขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) ครั้งที่ 35 ที่สำนักงานใหญ่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 22-23 ต.ค.ว่า คณะกรรมการฝ่ายพิจารณาบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของยูเนสโก มีมติประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของโลกรวม 63 ท่าน/แห่ง ในวาระครบรอบ 50 ปี 100 ปี 150 ปี 200 ปี และมากกว่านั้น ประจำปี 2553-2554 โดยมีบุคคลสำคัญของไทย 2 ท่านได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ได้แก่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2528 โดยได้รับการประกาศยกย่อง 4 สาขา คือ สาขาการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ส่วนอีกท่านหนึ่งคือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ โดยได้รับการประกาศยกย่องสาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล

ทั้งนี้ ยูเนสโกได้ประกาศยกย่องบุคคลสำคัญของไทยมาแล้ว 17 ท่าน และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ 1 รายการ ซึ่งครูเอื้อจัดอยู่ในลำดับที่ 19 โดยจะครบวาระ 100 ปีชาตกาลในวันที่ 21 ม.ค.2553 ส่วน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จัดอยู่ในลำดับที่ 20 ซึ่งจะครบวาระ 100 ปีชาตกาลในวันที่ 20 เม.ย.2554

นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม บอกด้วยว่า รัฐบาลจะร่วมกับมูลนิธิสุนทราภรณ์ และหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครูเอื้อ สุนทรสนาน ตลอดทั้งปี 2553 นอกจากนี้ยังจะร่วมกับมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 พระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ตลอดทั้งปี 2554 ด้วย

สำหรับประวัติและผลงานของครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์นั้น เป็นชาวอัมพวา จ.สมุทรสงคราม เป็นลูกศิษย์ของพระเจนดุริยางค์ เรียนโรงเรียนพรานหลวงในรัชกาลที่ 6 ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อสอนดนตรีคลาสสิก มีความสามารถด้านการประพันธ์ทำนองและคำร้อง เป็นนักร้องและผู้ควบคุมวงดนตรีสุนทราภรณ์ ผลงานแต่งเพลงไทยมีมากกว่า 2,000 เพลง เช่น เพลงรำวงวันลอยกระทง ,ขอให้เหมือนเดิม ,ขวัญใจเจ้าทุย เป็นต้น ครูเอื้อเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2524 สิริรวมอายุ 71 ปี

ส่วนประวัติและผลงานของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีและศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2528 เป็นชาว จ.สิงห์บุรี จบการศึกษาปริญญาตรีเกียรตินิยมสาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เป็นบุคคลที่มีความโดดเด่นหลายด้าน เป็นนักเขียนเรื่องสั้นที่ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุด จากเรื่อง “มอม” สำหรับนวนิยายชิ้นโบว์แดงคือเรื่อง “สี่แผ่นดิน” และ “หลายชีวิต” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์สามารถเลือกใช้ภาษาไทยให้เหมาะกับวรรณกรรมแต่ละเรื่องได้อย่างลงตัวที่สุด ส่วนทางด้านวัฒนธรรม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ให้ความใส่ใจมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เช่น นาฏศิลป์โขน(โขนธรรมศาสตร์) รวมถึงดนตรีไทย ขณะที่บทบาทด้านสื่อสารมวลชน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เป็นนักเขียนประจำคอลัมน์ “ซอยสวนพลู” “ข้างสังเวียน” “ข้าวนอกนา” ฯลฯ จุดสูงสุดทางการเมืองของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ คือเป็นนายกรัฐมนตรี และดำเนินการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากทั้ง 2 ประเทศขาดความสัมพันธ์ระดับรัฐบาลมาเป็นเวลานานถึง 20 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น