xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 27 ก.ย.- 3 ต.ค.2552

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. พระอาการ “ในหลวง” ดีขึ้น แพทย์งดถวายสารอาหารทางหลอดพระโลหิตแล้ว!

ประชาชนยังคงทยอยมาลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ รพ.ศิริราชอย่างต่อเนื่อง
ความคืบหน้าพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังจากสำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 7 เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ว่า ทรงไม่มีพระปรอท(ไข้) ผลการตรวจทางโลหิตวิทยา ปรากฏว่า อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทรงพระบรรทมได้มากขึ้นนั้น ปรากฏว่า วันต่อมา(27 ก.ย.) สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 8 ว่า พระอาการโดยทั่วไปดี เสวยพระกระยาหารได้มากขึ้น คณะแพทย์ยังคงถวายการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดต่อไป และถวายพระโอสถปฏิชีวนะจนครบกำหนด ต่อมาวันที่ 28 ก.ย. สำนักพระราชวัง ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 9 ว่า เมื่อเย็นวันที่ 27 ก.ย. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระปรอท(ไข้) คณะแพทย์ได้ถวายตรวจพระอุระ(อก) และช่องพระนาภี(ช่องท้อง) ด้วยเครื่องเอ๊กซเรย์คอมพิวเตอร์ ปรากฏว่า พระปัปผาสะ(ปอด)อักเสบ แต่ไม่ทรงพระกรรสะ(ไอ) และไม่พบการอักเสบของช่องพระนาภี จึงได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะชนิดใหม่ และสารอาหารทางหลอดพระโลหิต พระปรอทได้ลดลงตั้งแต่เช้าวันที่ 28 ก.ย. พระอาการทั่วไปดี

วันต่อมา(29 ก.ย.) สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 10 ว่า พระอาการโดยทั่วไปดีขึ้น พระปรอท(ไข้) ลดต่ำลง การตรวจพระอุระ(อก) ด้วยเครื่องเอกซเรย์ พบว่า การอักเสบของพระปัปผาสะ(ปอด)ลดลง คณะแพทย์ยังคงถวายพระโอสถปฏิชีวนะและสารอาหารทางหลอดพระโลหิตต่อไป ต่อมาวันที่ 30 ก.ย. สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 11 ว่า พระอาการโดยทั่วไปดีขึ้น อุณหภูมิพระวรกายลดลงจนอยู่ในระดับปกติ เสวยพระกระยาหารได้มากขึ้น และพระบรรทมได้ดี คณะแพทย์ยังคงถวายพระโอสถปฏิชีวนะกับสารอาหารทางหลอดพระโลหิตต่อไป วันที่ 1 ต.ค. สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 12 ว่า พระอาการโดยทั่วไปดีขึ้น ไม่มีพระปรอท(ไข้) เสวยพระกระยาหารได้มากขึ้น และทรงพระบรรทมได้ดี ผลการตรวจพระอุระ(อก) ด้วยเครื่องเอกซเรย์พบว่า การอักเสบของพระปัปผาสะ(ปอด) ลดลงจากเดิม คณะแพทย์ได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะลงขนานหนึ่ง แต่ยังคงถวายการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดต่อไป ต่อมาวันที่ 2 ต.ค.สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 13 ว่า พระอาการโดยทั่วไปดี เสวยพระกระยาหารได้มากขึ้น และทรงพระบรรทมได้ดี คณะแพทย์ได้ลดปริมาณสารอาหารที่ถวายทางหลอดพระโลหิตลง แต่ยังคงถวายการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดต่อไป

ล่าสุด วันนี้(3 ต.ค.) สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 14 ว่า พระอาการโดยทั่วไปดี เสวยพระกระยาหารได้มากขึ้น คณะแพทย์จึงงดถวายสารอาหารทางหลอดพระโลหิต

ทั้งนี้ ประชาชนและบุคคลทั่วไปยังคงทยอยเดินทางมาร่วมลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ศาลาศิริราช 100 ปีอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 2 ต.ค.นายภานุ อุทัยรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้นำคณะผู้ว่าราชการจังหวัด 10 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ชัยนาท นครพนม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช และมหาสารคาม เป็นตัวแทนประชาชนร่วมลงนามถวายพระพร พร้อมทั้งนำรายชื่อประชาชนที่ร่วมลงนามจาก 10 จังหวัดรวม 382,606 คน ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

วันเดียวกัน(2 ต.ค.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ได้มีการจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ประเทศไทย โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส โดยนิมนต์พระสงฆ์ 353 รูปร่วมพิธี

2. คดีหวยบนดิน “ศาลฎีกาฯ”ชี้ ผิดแค่ 3 ด้าน “ยงยุทธ”ถูกตัดสิทธิฯ อีก 5 ปี ฐานปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ขณะที่ “ป.ป.ช.” ฟัน “สมัคร-นพดล”คดีพระวิหาร!
นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีช่วยคลัง ถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี ปรับ 20,000 บาทในคดีหวยบนดิน(30 ก.ย.)
เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว(หวยบนดิน) ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นจำเลยที่ 1 ,คณะรัฐมนตรีเป็นจำเลยที่ 2-30 และผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นจำเลยที่ 31-47 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดซื้อหรือจัดการทรัพย์ ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต(ยักยอกทรัพย์) ,ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการดูแลกิจการ เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น และฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่าย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ,ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากรโดยทุจริต เรียกเก็บหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร และฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ,152 ,153 ,154 ,157 ประกอบมาตรา 83 ,84 ,86 ,90 ,91 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3 ,4 ,8 ,9 ,10 ,11 จากกรณีที่จำเลยได้ร่วมกันมีมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2546 ให้ดำเนินการออกสลากหวยบนดินตั้งแต่งวดวันที่ 1 ส.ค.2546-พ.ย.2549 ทั้งนี้ นอกจาก คตส.จะขอให้ศาลลงโทษจำเลยแล้ว ยังขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันคืนหรือใช้ทรัพย์ที่จำเลยทั้งหมดร่วมกันมีมติอนุมัติให้จ่ายเงิน ซึ่งเป็นรายได้จากการออกสลากของสำนักงานสลากฯ ที่เป็นผู้เสียหาย จำนวนกว่า 14,800 ล้านบาทด้วย และขอให้นับโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 ต่อจากคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาฯ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ศาลได้สั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว เนื่องจากหนีคดี ส่วนจำเลยอีก 46 คนนั้น ปรากฏว่า มี 4 คนที่ไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษา ประกอบด้วย นายอดิศัย โพธารามิก อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ ,ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ อดีตรัฐมนตรีคลัง ,พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ อดีต ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และนายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับมาฟังคำพิพากษาในวันที่ 18 พ.ย.นี้ และให้ปรับนายประกันจำเลยที่เป็นรัฐมนตรีคนละ 2 ล้านบาท ส่วนจำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานสลากฯ ปรับ 5 แสนบาท

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานในคดีนี้แล้ว มีคำพิพากษาให้จำคุกผู้กระทำผิด 3 คน ประกอบด้วย นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีช่วยคลัง จำเลยที่ 10 เป็นเวลา 2 ปี ปรับ 20,000 บาท ให้จำคุกนายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง จำเลยที่ 31 และนายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีต ผอ.สำนักงานสลากฯ จำเลยที่ 42 เป็นเวลา 2 ปี ปรับ 10,000 บาท ฐานร่วมกันเสนอให้มีการออกรางวัลเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัวหรือหวยบนดิน ต่อ ครม.โดยมิชอบ และขัดต่อกฎหมาย แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสามไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามไว้คนละ 2 ปี ส่วนจำเลยที่เหลืออีก 44 คนไม่มีความผิด

ด้านนายสิทธิโชค ศรีเจริญ ทนาย ป.ป.ช.ในฐานะผู้รับผิดชอบคดีหวยบนดิน พูดถึงผลคำพิพากษาของศาลว่า พอใจ แม้จะเอาผิดจำเลยไม่ได้ครบทุกคน เพราะศาลมองที่เจตนาการนำเสนอโครงการอย่างเร่งด่วนผิดปกติ ส่วน ครม.ศาลเห็นว่า บางคนเข้าใจบางคนไม่เข้าใจในโครงการ จึงมีมติอนุมัติโครงการโดยขาดเจตนาพิเศษ ส่วนที่ไม่สามารถเรียกร้องเงินที่อนุมัติไปแล้วกลับคืนมาได้นั้น ศาลมองว่าจำเลยไม่ได้ทำผิดยักยอกทรัพย์

นอกจากคดีหวยบนดินแล้ว ยังมีคดีที่น่าสนใจอีก 2 คดี คือคดีพระวิหารที่ ป.ป.ช.นัดชี้มูลความผิด ครม.นายสมัคร สุนทรเวช และคดีนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ สำหรับคดีพระวิหารนั้น ที่ประชุม ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ได้มีมติ 6 ต่อ 3 ชี้มูลความผิดนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ และนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ฐานออกมติ ครม.สนับสนุนการลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา สนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา อันเป็นการกระทำผิด รธน.มาตรา 190 เพราะแถลงการณ์ร่วมถือเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็เคยมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 8 ก.ค.2551 การกระทำของนายสมัครและนายนพดล จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หลังจากนี้ ป.ป.ช.จะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการส่งฟ้องบุคคลทั้งสองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

สำหรับรัฐมนตรีคนอื่นๆ รวมทั้งข้าราชการที่ถูกกล่าวหาด้วยนั้น ป.ป.ช.มีมติ 8 ต่อ 1 ให้ยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่า การดำเนินการของนายสมัครและนายนพดลเป็นลักษณะงานวิชาการและทางเทคนิค การรับรู้ข้อเท็จจริงที่ได้รับแจ้งในที่ประชุม ครม.ในเวลาอันสั้น จึงไม่น่าจะรู้ข้อเท็จจริง ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งเป็น 1 ในผู้ถูกกล่าวหาด้วยนั้น ป.ป.ช.เห็นว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี จึงให้คำร้องตกไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า ป.ป.ช.ได้พูดถึงความผิดของนายสมัคร ในฐานะอดีตนายกฯ ว่า นับเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อที่นายสมัครกล้าทำกับประเทศถึงขนาดนี้ “นายสมัครยังเป็นฝ่ายขอให้นายนพดลดำเนินการช่วยเหลือสมเด็จฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 27 ก.ค.2551 การนำผลประโยชน์ของประเทศชาติมาใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงของพรรคการเมืองต่างประเทศอย่างนี้ หากมองถึงสถานะของนายสมัครที่ได้รับความไว้พระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ แล้ว เห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อที่จะมีนักการเมืองไทยคนใดจะมีความคิดเช่นนี้ นายสมัครจึงมีเจตนาร่วมกระทำผิดกับนายนพดล”

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยว่า ขณะนี้นายสมัครอยู่ระหว่างพักรักษาตัวอาการป่วยโรคมะเร็งในห้องไอซียู โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โดยญาติยังไม่ได้แจ้งให้นายสมัครทราบว่าถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด เพราะเกรงจะกระทบกระเทือนต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจนายสมัคร

ด้านนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดแถลงตอบโต้ ป.ป.ช.(30 ก.ย.)ที่ชี้มูลความผิดตนและนายสมัครว่า มติของ ป.ป.ช.ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม เป็นการตัดสินโดยให้น้ำหนักกับพยานหลักฐานจากฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองกับ พ.ต.ท.ทักษิณ นายนพดล ยังยืนยันด้วยว่า “ขณะที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ได้ปกป้องแผ่นดินไทยและพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.เป็นผลสำเร็จ เรื่องดังกล่าวจะเป็นตำนานของการทำคุณบูชาโทษไปอีกนาน”

สำหรับคดีนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถูก ป.ป.ช.ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย ฐานจงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของตนเอง คู่สมรส หรือบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบรวม 5 ครั้ง คือ ก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลทักษิณ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2548 ,กรณีพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ,กรณีพ้นจากตำแหน่งเป็นเวลา 1 ปี เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2550 ,กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2551 และพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.นั้น ป.ป.ช.ฟ้องว่า นายยงยุทธมีทรัพย์สินเป็นเงินให้กู้ยืมจำนวน 1,600,000 บาท ที่ได้จากการขายหุ้นบริษัท มิติฟู้ด โปรดักส์ จำกัด จำนวน 24,500 หุ้น รวม 2,450,000 บาท ให้กับ พ.ต.ท.นัฎฐวุฒิ ยุววรรณ น้องภรรยา มีการชำระเงินสด 800,000 บาท ส่วนที่เหลือทำหนังสือรับสภาพหนี้ แต่ไม่มีเจตนาซื้อขายหุ้นและไม่มีการชำระเงินจริง เป็นการอำพรางทรัพย์สิน เพื่อที่นายยงยุทธจะได้มีคุณสมบัติเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ ได้

ด้านศาลฎีกาฯ ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 ก.ย. โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า นายยงยุทธทำนิติกรรมอำพรางให้ พ.ต.ท.นัฎฐวุฒิถือหุ้นแทน เพื่อไม่ให้นายยงยุทธมีคุณสมบัติต้องห้ามเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีตามที่ พ.ร.บ.จัดการหุ้นส่วนและหุ้นรัฐมนตรี พ.ศ.2543 ระบุห้ามรัฐมนตรีถือหุ้นในบริษัทเกินร้อยละ 5 องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติเสียงข้างมากว่า นายยงยุทธเจตนาจงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ จึงพิพากษาจำคุก 2 เดือน ปรับ 4,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกเป็นเวลา 1 ปี นอกจากนี้ยังห้ามนายยงยุทธดำรงตำแหน่งทางการเมืองและในพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย

3. ปัญหา ผบ.ตร.บานปลาย - สะพัด “นิพนธ์” ไขก๊อกเลขาธิการนายกฯ ด้าน “อภิสิทธิ์” ให้รอฟังความชัดเจน 5 ต.ค.!

นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกฯ
หลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.) ยังไม่เรียกประชุม ก.ต.ช.เพื่อตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)คนใหม่ แทน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่เกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ขณะที่ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร.ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้รักษาราชการแทน ผบ.ตร.ก่อนหน้านี้ ก็เกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 ก.ย.เช่นกัน ส่งผลให้นายอภิสิทธิ์ต้องตั้งรักษาราชการแทน ผบ.ตร.จนกว่าจะได้ตัว ผบ.ตร.คนใหม่ ซึ่งหากนายอภิสิทธิ์ไม่มีคำสั่งแต่งตั้งใคร จะส่งผลให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร.พี่ชายคุณหญิงพจมาน อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ขึ้นรักษาราชการแทน ผบ.ตร.โดยอัตโนมัติ เนื่องจากอาวุโสสูงสุดนั้น ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ย.นายอภิสิทธิ์ได้มีคำสั่งสำนักนายกฯ แต่งตั้ง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ ให้รักษาราชการแทน ผบ.ตร.ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้การปฏิบัติราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย คล่องตัว และมีประสิทธิภาพ ในระหว่างที่ตำแหน่ง ผบ.ตร.ว่างลง

นายอภิสิทธิ์ ยังให้สัมภาษณ์ถึงการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ด้วยว่า “อีกสักพักหนึ่งการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คงจบ” ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดจึงตั้ง พล.ต.อ.ปทีปให้รักษาราชการแทน ผบ.ตร. นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ตั้งตามความเหมาะสม ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า เหตุใดจึงไม่ตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ให้รักษาราชการแทน ผบ.ตร. นายอภิสิทธิ์ บอกว่า “ขออนุญาตไม่แสดงความคิดเห็น”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. มีข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกฯ ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งกับนายอภิสิทธิ์ แต่นายอภิสิทธิ์ยังไม่ยอมรับ โดยขอเก็บใบลาออกเอาไว้ก่อน ส่วนสาเหตุที่นายนิพนธ์ลาออก คาดว่ามาจากปัญหาการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ ที่นายนิพนธ์หนุน พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รอง ผบ.ตร.โดยอ้างว่าได้รับสัญญาณพิเศษมา แต่นายอภิสิทธิ์ ยืนยันหนุน พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ เป็น ผบ.ตร.เนื่องจากไม่อยากหนุนตำรวจที่ใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะเกรงจะทำคดีเอื้อประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ

ด้านนายอภิสิทธิ์ พูดถึงข่าวนายนิพนธ์ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ ว่า “ไม่ทราบ ผมยังไม่เห็นใบลาออก” ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก็บอกว่า ยังไม่เห็นใบลาออกของนายนิพนธ์เช่นกัน ผู้สื่อข่าวถามว่า นายนิพนธ์เคยปรับทุกข์อย่างไรบ้าง นายสุเทพ บอกว่า คงบอกไม่ได้ นายสุเทพ ยังส่งสัญญาณด้วยว่า หากนายนิพนธ์ลาออกจริง ตนก็จะไม่ลาออกตามนายนิพนธ์ “ผมมีหน้าที่และตั้งใจตั้งแต่วันแรกที่คิดตั้งรัฐบาลว่า จะทำงานให้บ้านเมืองในภาวะที่เกิดวิกฤต ดังนั้นจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปให้ดีที่สุด ถือเอาผลประโยชน์ของบ้านเมืองและประชาชนเป็นสำคัญ หากนายนิพนธ์ลาออกจริง ก็คิดว่าไม่น่าจะมีผลต่อการทำหน้าที่ของผม” ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ก็บอกเช่นกันว่าไม่ทราบข่าวการลาออกของนายนิพนธ์ และว่า เมื่อเจอนายกฯ ก็จะสอบถาม เพราะไม่อยากให้ผู้ที่ช่วยงานนายกฯ ต้องออกไปกลางคัน นายนิพนธ์มีประสบการณ์ ช่วยได้มากหลายเรื่อง ช่วยประหยัดงบฯ แผ่นดินได้หลายเรื่องเวลาเสนองบประมาณอะไรไป เพราะเข้าใจด้านบริหารและงบประมาณ ทั้งนี้ มีข่าวว่า เมื่อเย็นวันที่ 1 ต.ค.นายชวนได้เชิญนายนิพนธ์มาพบ และขอร้องให้ทบทวนการลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ ซึ่งนายนิพนธ์รับปากจะนำกลับไปทบทวน แต่ไม่ยืนยันว่า จะทำตามที่นายชวนขอร้องหรือไม่

ขณะที่นายสุชาติ ลายน้ำเงิน รองโฆษกพรรคเพื่อไทย พูดถึงข่าวการลาออกของนายนิพนธ์ โดยแนะให้ประชาชนจับตาปฏิกิริยาของนายสุเทพ ที่มีความเห็นเกี่ยวกับ ผบ.ตร.คนใหม่ในทิศทางเดียวกับนายนิพนธ์ โดยนายสุชาติอ้างว่า มีข่าวว่านายสุเทพอยากจะลาออกอยู่เหมือนกัน นายสุชาติ ยังพูดถึงการตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ด้วยว่า “วันนี้ดูเหมือนว่า การตั้ง ผบ.ตร.คนเดียวจะไม่สามารถทำได้ง่ายๆ อีกแล้ว จึงอยากแนะนำว่า หากนายอภิสิทธิ์ยังยืนยันที่จะตั้ง พล.ต.อ.ปทีป เป็น ผบ.ตร. โดยที่ตัวเองไม่สามารถคุมเสียง ก.ต.ช.ได้ ก็ขอให้ใช้อำนาจของนายกฯ มอบหมายให้ พล.ต.อ.ปทีป รักษาราชการแทน ผบ.ตร.ไปจนกว่าจะเกษียณอายุ”

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และประธาน ก.ต.ช.พูดถึงความชัดเจนเกี่ยวกับข่าวนายนิพนธ์จะลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ อีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ว่า “วันจันทร์(5 ต.ค.) ชัดเจนครับ” ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ กำลังถูกบีบอยู่คนเดียวจากปัญหาการแต่งตั้ง ผบ.ตร. นายอภิสิทธิ์ บอกว่า “มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม ก็ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดและรับผิดชอบในสิ่งที่ตัดสินใจ”

4. “นายกฯ”เห็นคล้อยวิป 3 ฝ่ายแก้ รธน.6 ประเด็น –ให้ฝ่าย กม.ของสภายกร่าง ด้าน “กลุ่ม 40 ส.ว.”แถลงค้าน!

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ประชุมร่วมกับวิป 3 ฝ่ายเรื่องแก้ รธน.(2 ต.ค.)
หลังที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย วิปรัฐบาล-วิปฝ่ายค้าน-วิปวุฒิสภา มีมติเห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.6 ประเด็นตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ รวมทั้งมีมติให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เป็นผู้ไปยกร่างแก้ไข รธน. แต่ยังไม่ได้ข้อยุติว่า จะยกร่างเดียว 6 ประเด็น หรือจะยกร่างประเด็นละ 1 ฉบับ รวม 6 ฉบับ รวมทั้งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะต้องทำประชามติหรือไม่ โดยจะมีการหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ต่อไป ซึ่งหลายพรรคไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร.3 และการทำประชามติ เช่น พรรคเพื่อไทย ,พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนานั้น ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ย.นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า “แนวทางที่ดีที่สุดคือ การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ถ้าเป็นการทำประชามติก็จะชัดเจนดี ไม่มีข้อโต้แย้ง ไม่เช่นนั้นจะมีคำถามอยู่ตลอดเวลาว่า สิ่งที่พวกเราทำกันในสภานั้น มันเป็นความต้องการของประชาชนจริงหรือไม่” นายอภิสิทธิ์ ยังประเมินด้วยว่า การแก้ รธน.น่าจะใช้เวลาไม่เกิน 9 เดือนก็เรียบร้อย “สมมติทุกพรรคมาร่วมกันยกร่าง รธน.แล้วพิจารณากันในสภา โดยหลักก็อาจจะประมาณ 1-2 เดือน จากนั้น ถ้ามีการลงประชามติ ก็จะใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 เดือน เมื่อได้ข้อยุติก็อาจจำเป็นต้องแก้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งคงไม่ได้แก้หลายประเด็นนัก คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2-3 เดือนก็จบ รวมกันแล้วคิดว่าไม่ถึง 9 เดือน”

เป็นที่น่าสังเกตว่า พรรคภูมิใจไทยซึ่งส่งสัญญาณตอนแรกว่าไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ แต่ภายหลัง ท่าทีกลับเปลี่ยนไป โดยเมื่อวันที่ 28 ก.ย. นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคฯ และรัฐมนตรีมหาดไทย และนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคฯ และรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ต่างออกมาแสดงความเห็นด้วยกับการทำประชามติ หลังจากนั้นวันต่อมา(29 ก.ย.) ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้าน ที่ผลักดันโดยพรรคภูมิใจไทย ทำให้หลายฝ่ายออกมาตั้งข้อสังเกตว่า การที่ ครม.เห็นชอบโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน เพื่อแลกกับการที่พรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยกับการทำประชามติแก้ รธน.ใช่หรือไม่ ซึ่งแกนนำทั้ง 2 พรรคต่างออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวกัน

ด้านนายเนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน ได้ออกมาแสดงความเห็นด้วยกับการทำประชามติเช่นกัน พร้อมจี้ให้มีการกำหนดให้ชัดว่า มาตรา 237 ที่จะยกเลิกโทษยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคนั้น จะให้มีผลย้อนหลังถึงผู้ที่ถูกตัดสิทธิไปแล้วหรือไม่ “เห็นด้วยที่จะมีการทำประชามติ เพราะ รธน.2550 ได้ผ่านการทำประชามติ โดยทำหลังจากผ่านการพิจารณาของสภาฯ ในวาระที่ 1 เพื่อให้เห็นตัวร่างที่จะแก้ไขว่ามีกรอบอย่างไร ส่วนการแก้ไขมาตรา 237 เรื่องยุบพรรค ต้องกำหนดให้ชัดว่าแก้แล้ว มีผลย้อนหลังกับคณะกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิหรือไม่ เพราะจะได้ไม่ต้องมีปัญหาถกเถียงถึงตัวบุคคลที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองก่อนหน้านี้”

ด้านวิป 3 ฝ่าย ได้ประชุมร่วมกันอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 ต.ค. โดยได้ข้อยุติให้แก้ รธน.6 ประเด็นตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เสนอ แต่เปลี่ยนแปลงไม่ให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เป็นผู้ยกร่างแล้ว แต่จะให้นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา มอบหมายให้สำนักกฎหมายของ 2 สภาเป็นผู้ยกร่าง เพื่อความรวดเร็ว ส่วนการยกร่างจะมี 2 แนวทาง 1.ยกย่าง 6 ฉบับ ฉบับละ 1 ประเด็น และ 2.ยกร่างฉบับเดียวทั้ง 6 ประเด็น คาดว่าจะใช้เวลายกร่างไม่เกิน 2 สัปดาห์ จากนั้นให้นำมาเสนอวิป 3 ฝ่ายเพื่อหาข้อสรุปว่าจะเลือกแนวทางใด

ทั้งนี้ หลังวิป 3 ฝ่ายได้เข้ารายงานผลสรุปดังกล่าวให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ทราบเมื่อวันที่ 2 ต.ค.แล้ว นายอภิสิทธิ์ แถลงว่า จะให้ฝ่ายสภาเป็นผู้ยกร่างแก้ไข รธน.โดยจะยึด 6 ประเด็นตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เสนอ ส่วนจะทำประชามติช่วงใดนั้น จะให้วิป 3 ฝ่ายกลับไปพิจารณาอีกครั้ง เพราะในแต่ละขั้นตอนมีข้อกฎหมายที่แตกต่างกัน ส่วนระยะเวลาในการแก้ รธน.นั้น นายอภิสิทธิ์ ยังคงยืนยันว่า น่าจะไม่เกิน 9 เดือน โดยแบ่งเป็นขั้นตอนทำประชามติ 3 เดือน ในสภา 3 เดือน และทำกฎหมายลูก 3 เดือน

ด้านแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. เช่น นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้เปิดแถลงคัดค้านการแก้ รธน.เมื่อวันที่ 1 ต.ค. โดยเผยถึงเหตุผลที่ต้องคัดค้านว่า 1.กลุ่ม 40 ส.ว.ไม่เห็นด้วยกับการรีบเร่งแก้ไข รธน.ทุกประเด็น เพราะไม่ใช่หนทางสู่ความสมานฉันท์ 2.รธน.นี้ใช้มา 2 ปี ไม่สร้างปัญหาให้ประชาชน แต่สร้างปัญหาให้กับนักการเมือง ฉะนั้นควรรอบังคับใช้ครบ 5 ปีก่อน 3.ทั้ง 6 ประเด็น ยกเว้นมาตรา 190 เป็นเรื่องการมีส่วนได้ส่วนเสียของนักการเมืองทั้งสิ้น จึงไม่ควรให้คนพวกนี้มาแก้กันเอง ส่วนมาตรา 190 ก็ไม่ต้องเร่งแก้ไข เพราะที่มีปัญหา เนื่องจากข้าราชการและนักการเมืองไม่ใช้วิจารณญาณในการส่งสัญญาระหว่างประเทศฉบับไหนเข้ารัฐสภาเอง 4.รธน.2550 เป็นครั้งแรกที่มีประชาชน 10 คนที่เสียชีวิตเพื่อปกป้อง ส่วนอีก 7 คนเสียอวัยวะ อีก 3 คนอยู่ในขั้นโคม่า ผู้คิดแก้ รธน.ต้องเคารพและคำนึงถึง 5.กลุ่ม 40 ส.ว.จะไม่ร่วมลงชื่อเสนอร่างทุกประเด็น และจะไม่โหวตให้ในวาระ 1 และ 3 ส่วนวาระ 2 จะเข้าไปคัดค้านในชั้นกรรมาธิการ และจะร่วมกับภาคประชาชนคัดค้านด้วย 6.นายกฯ ควรกล้าหาญกล้าตัดสินใจ อย่าโยนให้สภาหรือวิป 3 ฝ่ายตัดสินใจ ถ้านายกฯ เห็นควรให้ทำประชามติ ก็ให้ทำได้เลย หากผลออกมาประชาชนเห็นด้วย รัฐบาลก็ดำเนินการ โดยกลุ่มจะไม่คัดค้าน แต่การทำประชามติ ต้องเปิดให้ทุกฝ่ายเสนอความเห็นสู่สาธารณะ และการออกเสียงต้องบริสุทธิ์ แต่ถ้าแค่ทำประชาพิจารณ์ กลุ่ม 40 ส.ว.ไม่เห็นด้วย

5. “ชวลิต”ทิ้งจุดยืนโซ่ข้อกลาง โดดซบ “เพื่อไทย”อ้าง เพื่อแก้ความขัดแย้ง ด้าน “ทักษิณ”อ้อนอีก ให้ประชาชนเลือก “เพื่อไทย”จะได้กลับบ้าน!
พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ เปิดแถลงข่าวหลังสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย(2 ต.ค.)
เมื่อวันที่ 2 ต.ค. พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ ได้นำคณะนายทหารคนสนิท เช่น พล.ท.พิรัช สวามิวัศดิ์ เดินทางไปยังพรรคเพื่อไทย เพื่อสมัครเป็นสมาชิกพรรค โดยมีผู้บริหารพรรคเพื่อไทยรอต้อนรับ เช่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีจำคุก 2 ปี

ทั้งนี้ หลังจากกรอกใบสมัครเสร็จ พล.อ.ชวลิต เปิดแถลงข่าวถึงเหตุผลที่หวนคืนสู่สนามการเมืองอีกครั้งว่า เนื่องจากไม่สามารถทนเห็นประเทศชาติแตกแยกอย่างหนักต่อไปได้ และสถานการณ์ขณะนี้ค่อนข้างรุนแรงจนกระทบกับหลายสถาบันที่คนไทยเคารพบูชา และที่เลือกพรรคเพื่อไทย เพราะได้สอบถามประชาชน โดยเฉพาะคนจนและคนด้อยโอกาสแล้ว ทุกคนชี้ให้มาอยู่ที่นี่ ซึ่งได้ตั้งความหวังว่า จะทำให้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคมหาชน เป็นพรรคของมวลชน เพื่อเป็นพรรคการเมืองหลักของประเทศอย่างแท้จริง โดยพรรคเพื่อไทยจะไม่ไปแย่งชิงอะไรกับใคร แต่จะร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลือบ้านเมือง โดยเสริมสิ่งที่ได้ทำกันอยู่แล้วและเพิ่มเติมในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังจะดำเนินนโยบายโซ่ข้อกลางหรือไม่ พล.อ.ชวลิต บอกว่า “วันนี้ไม่ใช่โซ่ข้อกลาง แต่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้งแล้วก็แก้ไขจากจุดนี้ จะง่ายกว่าการเป็นโซ่ข้อกลาง”

ด้านนายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ พูดถึงกรณีที่ พล.อ.ชวลิตสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยว่า ดีใจกับพรรคเพื่อไทยที่จะมีหัวหน้าพรรคอย่างจริงจัง และ พล.อ.ชวลิตเคยสร้างประโยชน์ให้บ้านเมือง ทั้งยังไม่แก่เกินไปที่จะมารับใช้ทางการเมือง หากพรรคเพื่อไทยไม่หลอกใช้ พล.อ.ชวลิต จะทำให้บรรยากาศทางการเมืองดีขึ้น แต่ถ้าหลอกใช้เพื่อเป็นทางผ่านแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ก็น่าเสียใจน่าสงสาร

ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึง พล.อ.ชวลิตว่า ดีใจกับพรรคเพื่อไทยที่มีโอกาสได้คนที่เป็นหัวหน้าพรรคตัวจริง หลังจากปล่อยข่าวควานหามาเป็นเวลานาน แต่ไม่แน่ใจว่า พล.อ.ชวลิตมาเป็นหัวหน้าพรรคครั้งนี้ จะมีอำนาจตัดสินใจมากน้อยแค่ไหน เพราะดูจากการเข้ามา บางคนบอกว่า เข้ามาเองโดยกลุ่มความหวังใหม่ไปทาบทาม เป็นคนบงการ ไม่รู้ว่าการตัดสินใจของ พล.อ.ชวลิตครั้งนี้เกี่ยวกับเรื่องเบี้ยยังชีพของ พล.อ.ชวลิตหรือไม่ และถ้าจะเข้ามาสร้างความสมานฉันท์ ก็ควรไปสร้างในพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดงให้ได้ก่อน เพราะคนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยแยกกันไม่ออก และต้องไปทำความเข้าใจกับกลุ่มแดงสยามแดงสยองเรื่องแนวคิดของ พล.อ.ชวลิตเรื่องล้มเจ้า ล้มทุน ล้มปืนให้ได้ก่อน

ขณะที่แกนนำ นปช.ได้นัดชุมนุมวันที่ 11 และ 17 ต.ค.นี้ โดยวันที่ 11 ต.ค.จะชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อทวงคืน รธน.2540 พร้อมยืนยัน วันดังกล่าวจะไม่ยืดเยื้อและจะไม่เคลื่อนไปที่ไหน ส่วนวันที่ 17 ต.ค.จะชุมนุมบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาล หลังจากกลุ่มเสื้อแดงยื่นรายชื่อประชาชน 3.5 ล้านชื่อเพื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณครบ 60 วัน ส่วนวันดังกล่าวจะชุมนุมยืดเยื้อหรือค้างคืนหรือไม่นั้น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. บอกว่า จะพิจารณากันอีกครั้ง

ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีจำคุก 2 ปี ได้โฟนอินไปยังเวทีคนเสื้อแดงที่วัดป่าชัยมงคล จ.ขอนแก่นเมื่อวันที่ 2 ต.ค.โดยอ้อนให้ประชาชนช่วยกันเลือก ส.ส.พรรคเพื่อไทยให้ได้เป็นรัฐบาล เพื่อที่ตนจะได้กลับมาแก้ปัญหาให้ประเทศ “ต่อไปนี้จะกลับบ้านได้เมื่อไหร่ก็อยู่ที่พี่น้องช่วยเลือก ส.ส.พรรคเพื่อไทย อย่าไปเลือกคนที่มาแอบอยู่กับพรรคผมแล้วหนีผมไป พวกนี้มันเคยต้มผมได้ มันก็ต้มประชาชนได้แน่นอน ...หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ให้เลือกพรรคผม จะกลับไปแน่นอน และขอให้เลือก ส.ส.เพื่อไทยเกินกึ่งหนึ่ง เพราะไม่อยากไปง้อคนอื่น เพราะเดี๋ยวก็หักหลังผมอีก ...รัฐบาลชุดต่อไปจะต้องทำคลอดโดยประชาชน ไม่ใช่ทหาร ไม่เหมือนรัฐบาลชุดนี้ทำคลอดโดยทหารก็เป็นหนี้ทหาร”
กำลังโหลดความคิดเห็น