xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 21-26 ก.ย.2552

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. พระอาการประชวร “ในหลวง”ดีขึ้น ไม่มีพระปรอท เสวยพระกระยาหารได้มากขึ้น!

ชาวไทยมุสลิมที่ จ.ปัตตานีร่วมละหมาดฮายัตให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหายจากพระประชวร(22ก.ย.)
ความคืบหน้าพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังทรงเข้าตรวจพระวรกายที่โรงพยาบาลศิริราชเมื่อคืนวันที่ 19 ก.ย. และสำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 20 ก.ย.ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปรอท(มีไข้) ตลอดจนเสวยพระกระยาหารได้น้อยลง คณะแพทย์จึงได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช เพื่อตรวจหาสาเหตุ พร้อมกับถวายการรักษาด้วยน้ำเกลือทางหลอดพระโลหิตร่วมกับยาปฏิชีวนะนั้น วันต่อมา(21 ก.ย.) สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 ว่า พระปรอทลดต่ำลง แต่ยังเสวยพระกระยาหารได้น้อย คณะแพทย์ยังคงถวายพระโอสถปฏิชีวนะร่วมกับสารอาหารทางหลอดพระโลหิตต่อไป วันต่อมา(22 ก.ย.) สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 ว่า พระอาการโดยทั่วไปดีขึ้น แต่ยังมีพระปรอทต่ำๆ คณะแพทย์ยังคงถวายพระโอสถปฏิชีวนะร่วมกับสารอาหารทางหลอดพระโลหิตต่อไป

วันต่อมา(23 ก.ย.) สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 4 ว่า อุณหภูมิพระวรกายลดลงจนอยู่ในระดับปกติ เสวยพระกระยาหารได้มากขึ้น ทรงพระบรรทมได้ดี คณะแพทย์จึงได้ลดพระโอสถปฏิชีวนะและลดปริมาณสารอาหารที่ถวายทางหลอดพระโลหิตลง วันต่อมา(24 ก.ย.) สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 5 ว่า ทรงไม่มีพระปรอท เสวยพระกระยาหารได้มากขึ้น คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาเพิ่มด้วยการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูพระกำลัง ผลการตรวจพระโลหิตไม่พบเชื้อแบคทีเรีย และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาโดยวิธี Polymerase Chain Reaction ไม่พบเชื้อไวรัส วันต่อมา(25 ก.ย.) สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 6 ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสวยพระกระยาหารได้มากขึ้น ไม่มีพระปรอท คณะแพทย์จึงงดถวายสารอาหารและสารน้ำทางหลอดพระโลหิต แต่ยังคงถวายพระโอสถปฏิชีวนะต่อไปจนครบกำหนด และได้ถวายการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 2 ครั้ง

ล่าสุด วันนี้(26 ก.ย.) สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 7 ว่า ทรงไม่มีพระปรอท ผลการตรวจทางโลหิตวิทยา ปรากฏว่า อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทรงพระบรรทมได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ได้มีบุคคลสำคัญในบ้านเมืองและประชาชน รวมทั้งทูตจากประเทศต่างๆ ทยอยเข้าร่วมลงนามถวายพระพรอย่างต่อเนื่องทุกวันเพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็ว ด้านสำนักพระราชวัง ได้ย้ายสถานที่ลงนามถวายพระพรจากบริเวณชั้นล่าง อาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ ไปยังศาลาศิริราช 100 ปี เพื่อความสะดวกกับผู้ที่มาลงนามตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.เป็นต้นไป โดยเปิดให้ประชาชนลงนามถวายพระพรได้ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00น. นอกจากนี้ ยังเปิดให้ประชาชนลงนามถวายพระพรได้ที่ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30น. สำหรับยอดผู้ลงนามถวายพระพรตั้งแต่วันที่ 20-24 ก.ย.รวม 5 วัน มีจำนวนทั้งสิ้น 119,170 คน

ด้านสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีบัญชาให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ออกประกาศให้ทุกวัดทั่วประเทศเจริญจิตตภาวนาเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยให้พระสงฆ์เจริญจิตตภาวนาหลังทำวัตรเช้าและทำวัตรเย็นทุกวัน จนกว่าพระองค์จะหายจากพระอาการประชวร นอกจากนี้วันที่ 28 ก.ย.เวลา 16.00น. กรรมการมหาเถรสมาคมและพระสังฆาธิการทุกระดับในเขตกรุงเทพฯ และทุกวัดทั่วประเทศ จะประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาโดยพร้อมเพรียงกัน ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อถวายพระพรชัยมงคลและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็ว

2. “ศาลฎีกาฯ” ยกฟ้อง 44 จำเลยคดีกล้ายาง ด้าน “อัยการ”ฉวยโอกาสเอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้ “คตส.”!

นายเนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ 1 ใน 44 จำเลยคดีทุจริตกล้ายาง ดีใจศาลยกฟ้อง(21 ก.ย.)
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้นัดพิพากษาคดีทุจริตจัดซื้อกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) รับไม้ต่อจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร(คชก.) เป็นจำเลยที่ 1 , นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีช่วยคลัง จำเลยที่ 2 , นายสรอรรถ กลิ่นประทุม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จำเลยที่ 3 , นายเนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ จำเลยที่ 4 , นายอดิศัย โพธารามิก อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ จำเลยที่ 5 ในฐานะกรรมการ คชก. นอกจากนี้ยังฟ้องคณะกรรมการบริหารโครงการ(กำหนดทีโออาร์) ,คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา และบริษัทเอกชน ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในฐานะผู้ชนะการประกวดราคา , บริษัท รีสอร์ตแลนด์ จำกัด ผู้ร่วมเสนอราคา และบริษัท เอกเจริญ การเกษตร จำกัด ผู้ร่วมเสนอราคา เป็นจำเลยที่ 6-44 ด้วย

ทั้งนี้ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 44 ในหลายความผิด เช่น เป็นเจ้าพนักงานและผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 มีโทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 2,000-20,000 บาท ,เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์สินใดใด ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐตามมาตรา 151 มีโทษจำคุก 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,000-40,000 บาท ,ผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ(ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 10 และ 13 ฯลฯ พร้อมกันนี้ โจทก์ได้ขอให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายในคดีนี้ด้วยจำนวนกว่า 1.3 พันล้านบาท

เป็นที่น่าสังเกตว่า จำเลยได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาลเกือบครบทุกคน ขาดเพียงนายอดิศัย โพธารามิก อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ เพียงคนเดียว ที่เคยขอเลื่อนศาลเมื่อวันที่ 17 ส.ค.โดยอ้างว่ารักษาตัวอยู่ต่างประเทศ ซึ่งศาลเห็นว่า คำอ้างไม่มีเหตุผลเพียงพอ จึงสั่งริบเงินประกันพร้อมออกหมายจับ ซึ่งครั้งนี้ นายอดิศัยก็ยังคงยื่นคำร้องขอเลื่อนฟังคำพิพากษาและขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย ด้านศาลฯ อ่านคำพิพากษา โดยยกฟ้องจำเลยทั้ง 44 คน โดยในส่วนของนายเนวิน ชิดชอบ จำเลยที่ 4 ศาลมีมติ 8 ต่อ 1 ว่าไม่ผิด ส่วนนายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร จำเลยที่ 19 ศาลมีมติ 7 ต่อ 2 ว่าไม่ผิด โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ยังฟังไม่ได้ว่านายเนวินและนายฉกรรจ์มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริง เพื่อให้มีการใช้เงินรายได้จากค่าธรรมเนียมการส่งออกยางและเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยมิชอบด้วยการปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบตามที่โจทก์ฟ้องแต่อย่างใด เพราะได้ความว่า จำเลยเสนอให้นำเงินค่าธรรมเนียมการส่งออกยางมาใช้ก่อน เพราะขณะนั้นผ่านช่วงเวลาเสนองบประมาณแล้ว หากจะรอเสนองบประมาณ ก็จะทำให้โครงการล่าช้า

สำหรับที่มาของโครงการนั้น ศาลเห็นว่า จำเลยทั้งสองได้เสนอโครงการโดยไม่ได้กระทำเพียงลำพัง แต่ยังมีองค์กรอื่นเกี่ยวกับการทำสวนยางร่วมด้วย เช่น สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง(สกย.) ดังนั้น จำเลยที่ 4 และ 19 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง และไม่ต้องชดใช้งบประมาณทั้งหมดคืนรัฐ

ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1-3 และ 5-8 ซึ่งประกอบด้วย ครม.และข้าราชการกลุ่ม คชก.อนุมัติงบประมาณให้โครงการจัดซื้อกล้ายางกว่า 1,400 ล้านบาทโดยฝ่าฝืนมติ คชก.เดิมที่ห้ามช่วยเหลือกิจการยางพาราที่มีมาตรการตามกฎหมายช่วยเหลือเป็นระบบอยู่แล้วนั้น ศาลเห็นว่า ข้อกำหนดห้ามช่วยเหลือดังกล่าว น่าจะเป็นการห้ามช่วยเหลือในรูปแบบที่มีข้อกำหนดคุ้มครองช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่หากเป็นการช่วยเหลือในลักษณะอื่นย่อมสามารถทำได้ การกระทำของจำเลยกลุ่ม คชก.จึงไม่เข้าข่ายกระทำผิดตามฟ้องของโจทก์

สำหรับกลุ่มข้าราชการและเอกชนนั้น ศาลเห็นควรให้ยกฟ้องเช่นกัน เนื่องจากเห็นว่า ขั้นตอนการกำหนดเงื่อนไข และหลักเกณฑ์การประกวดราคามีการเปิดกว้าง ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติเพื่อกีดกันผู้ประกวดราคารายใดรายหนึ่ง จึงเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่

ทั้งนี้ หลังศาลพิพากษายกฟ้อง นายเนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ถึงกับน้ำตาไหลและให้สัมภาษณ์สื่อด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า “ผมเชื่อว่า รายได้จากการจำหน่ายยางพารา จะเป็นรายได้ที่นำมาสู่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาติ สำหรับผมจะไม่มีการดำเนินการใดใดต่อ ชีวิตหลังจากวันนี้ไป ยังเหลือภารกิจเดียวที่จะทำก็คือ จะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์”

ด้านนายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีต คตส. พูดถึงกรณีที่ศาลยกฟ้องคดีทุจริตกล้ายางว่า เป็นเรื่องธรรมดาของการฟ้องร้องคดีที่จะต้องมีจุดจบออกมาแบบใดแบบหนึ่ง ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร เราต้องยอมรับ ยืนยันว่า การทำสำนวนฟ้องร้องคดีกล้ายาง ไม่ได้อ่อนหรือมีช่องโหว่แต่อย่างใด กรรมการทุกคนได้ทำหน้าที่ตรวจสอบตามข้อกฎหมายและหลักฐานเท่าที่มีอย่างดีที่สุดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานอัยการสูงสุด โดยนายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายโกศล อินทุจันยง ผู้ช่วยโฆษกฯ ได้ออกมาแถลง(22 ก.ย.)ดิสเครดิตการทำงานของ คตส.ที่ฟ้องคดีกล้ายางเอง โดยไม่สอบสวนเพิ่มเติมตามที่อัยการสูงสุดได้ชี้ข้อที่ไม่สมบูรณ์ของสำนวนให้ ทำให้ศาลยกฟ้องคดีในที่สุด “คดีนี้อัยการสูงสุดยังไม่ได้มีคำสั่งคดีว่าจะฟ้องหรือไม่ หากมองดูแล้วเสมือนว่า คตส.ไม่ร่วมมือกับอัยการทำงานตามกระบวนการยุติธรรม ที่จะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน และให้อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง เมื่อศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้อง ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐที่จะต้องเสียเงินว่าจ้างทนายความ จำเลยบางคนที่ไม่ควรถูกฟ้องต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติประวัติและเสียเงินจ้างทนาย เรื่องนี้สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตระหนักเป็นพิเศษ ต้องให้ความยุติธรรมแก่คู่ความ และหากจะฟ้องใคร ต้องมีหลักฐานเพียงพอให้ศาลลงโทษได้” นายธนพิชญ์ ยังพูดเหมือนต้องการชี้นำศาลฎีกาฯ ที่จะพิพากษาคดีทุจริตโครงการออกสลากเลขท้ายพิเศษ 2 ตัว และ 3 ตัว(หวยบนดิน) ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ด้วยว่า คดีหวยบนดิน อัยการสูงสุดก็ได้แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ให้ คตส.กลับไปสอบสวนเพิ่มเติมหลายประเด็นเช่นเดียวกับคดีทุจริตกล้ายางฯ เช่นกัน แต่ คตส.ก็ไม่ได้สอบสวนเพิ่มเติมและจ้างทนายฟ้องเอง

ด้านนายนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธาน คตส.และอดีตกรรมการ คตส.ได้เปิดแถลง(23 ก.ย.)ชี้แจงและตอบโต้โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด โดยยืนยันว่า เหตุที่ คตส.ต้องยื่นฟ้องคดีทุจริตกล้ายางฯ เอง ก็เพราะอัยการไม่ทำหน้าที่ทนายแผ่นดิน คตส.ยังถามกลับอัยการด้วยว่า เมื่อศาลตัดสินคดีกล้ายางแล้ว อัยการมีหน้าที่ต้องชี้แจงเกี่ยวกับคดีนี้ด้วยหรือไม่ ถ้าไม่ใช่หน้าที่ แล้วออกมาพูดให้สังคมวุ่นวายทำไม พร้อมสงสัยว่า ถ้าอัยการคิดว่า ศาลฯ ยกฟ้องคดี เพราะ คตส.ไม่ได้ให้อัยการฟ้องคดีให้ แล้วที่ผ่านมา คดีต่างๆ ที่อัยการส่งฟ้องต่อศาล ศาลไม่เคยยกฟ้องเลยหรืออย่างไร คตส.ยังแฉพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระบวนการยุติธรรมบางคนด้วยว่า “มีผู้รับผิดชอบระดับสูงของกระบวนการยุติธรรมไปเบิกความเป็นพยานฝ่ายจำเลย ทั้งคดีกล้ายางฯ และคดีหวย 2 ตัว 3 ตัว(หวยบนดิน) และตอบคำถามทนายจำเลยบางประการ เช่น ทนายจำเลยที่ 31 ถามคำถามสุดท้ายว่า “พยานมีความเห็นเกี่ยวกับที่โจทก์(คตส.)นำคดีไปฟ้องเป็นคดีอาญาในเรื่องนี้อย่างไร” พยานตอบว่า “ถ้าจะให้ผมเรียนโดยตรง พยานมีความรู้สึกว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องข้อกฎหมาย เรื่องอะไรโดยตรง มันเป็นเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวพันพอสมควร”

ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ ได้ออกมาเรียกร้องให้สำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีที่ คตส.ระบุว่า มีบุคคลระดับสูงในสำนักงานอัยการสูงสุดไปเป็นพยานให้จำเลยในคดีกล้ายางและคดีหวยบนดิน เพราะหากจำเลยสามารถเรียกบุคคลระดับสูงในสำนักงานอัยการสูงสุดไปเบิกความเป็นพยานได้ จะเป็นอันตราย จนส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้ เพราะอัยการย่อมรู้สำนวนข้อกล่าวหาเป็นอย่างดี อาจไปแก้ต่างให้จำเลยหลุดพ้นคดีความได้ในที่สุด

ด้านนายพิชา วิจิตรศิลป์ ประธานชมรมกฎหมายภิวัฒน์แห่งประเทศไทย และ 1 ในทีมทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ยื่นคำร้องต่อนายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา ขอให้ตรวจสอบองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาคดีทุจริตกล้ายางทั้ง 9 คนและเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาว่า เหตุใดก่อนศาลมีคำพิพากษา นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ จึงทราบผลคดีล่วงหน้าว่าศาลจะยกฟ้องจำเลยทั้งหมด โดยเฉพาะนายเนวิน ชิดชอบ ศาลจะมีมติ 8 ต่อ 1 ซึ่งตรงกับข่าวของสื่อมวลชนหลายฉบับ อีกทั้งตรงกับคำปราศรัยของนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.และส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทยด้วย ด้านประธานศาลฎีกา ได้สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่ามีบุคคลภายนอกล่วงรู้คำพิพากษาคดีทุจริตกล้ายางก่อนที่องค์คณะผู้พิพากษาจะอ่านคำพิพากษาจริงหรือไม่ แต่ไม่ขอเปิดเผยชื่อผู้พิพากษาระดับสูง 3 คนที่เป็นคณะกรรมการ เพื่อให้คณะกรรมการได้ทำงานอย่างอิสระ ไม่ถูกคนภายนอกรบกวนการสอบสวน

ด้านนายบุญรอด ตันประเสริฐ ประธานแผนกคดีเลือกตั้ง ในฐานะเจ้าของสำนวนคดีทุจริตกล้ายาง บอกว่า รับทราบเรื่องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่าผลคำพิพากษารั่วหรือไม่แล้ว แต่ไม่รู้สึกเครียดอะไร พร้อมยืนยัน ผู้พิพากษาทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และไม่ได้รับแรงกดดันใดใด “ผู้พิพากษาเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ทำสิ่งถูกต้องแล้วจะไม่ถูกใจใครทุกคน ก็ถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งวิจารณ์ แต่เราผู้พิพากษาก็ไม่หวั่นไหว เพราะเรายึดหลักความถูกต้อง ไม่ใช่ถูกใจ ซึ่งการพิจารณาคดี เราก็ดูจำเลยทั้ง 44 คน ไม่ใช่ดูเฉพาะใครคนใดคนหนึ่ง ยืนยันว่า ระหว่างพิจารณาคดี ไม่มีใครติดต่อหรือโทรศัพท์มาหา หรือกดดันใดใดทั้งสิ้น” ขณะที่นายพงษ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พูดถึงกรณีมีผู้วิจารณ์ว่าผลคำพิพากษาคดีทุจริตกล้ายางรั่วก่อนศาลอ่านคำพิพากษาว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากระบบจัดเก็บคำพิพากษาของศาลฎีกามีความรัดกุมและถือว่าดีที่สุด 100% ดังนั้นน่าจะเป็นเรื่องของการคาดเดามากกว่า

3. วิป 3 ฝ่าย “รัฐบาล-ฝ่ายค้าน-วุฒิสภา”มีมติเดินหน้าแก้ รธน. 6 ประเด็น พร้อมให้ “กก.สมานฉันท์ฯ”เป็นผู้ยกร่าง!
วิป 3 ฝ่าย(วิปรัฐบาล-วิปฝ่ายค้าน-วิปวุฒิสภา)มีมติเห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.6 ประเด็นตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ (23 ก.ย.)
สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงมีความเคลื่อนไหวของ ส.ส.และ ส.ว.ที่ต้องการแก้ รธน.โดยหลังจากญัตติที่ 152 ส.ส.-ส.ว.นำโดยนายประสิทธิ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี ยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอแก้ไข รธน.7 ประเด็น ได้ตกไป เนื่องจากมี ส.ว.แห่ถอนชื่อ(เนื่องจากกลัวถูกถอดถอน เพราะหลายประเด็นที่เสนอแก้ ล้วนแล้วแต่เอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง) ส่งผลให้จำนวนผู้ลงชื่อไม่ครบ 1 ใน 5 ตามที่ รธน.กำหนด ญัตติดังกล่าวจึงตกไปไม่ได้เข้าพิจารณาในที่ประชุมสภา อย่างไรก็ตาม แม้ญัตติดังกล่าวจะตกไปแล้ว แต่ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช.(22 ก.ย.) ขอให้ดำเนินการถอดถอน ส.ส.และ ส.ว.124 คนที่เข้าชื่อเสนอญัตติแก้ไข รธน.ดังกล่าว เนื่องจากมีการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งแม้ ส.ส.-ส.ว.ดังกล่าวจะถอนญัตติออกไปแล้ว แต่ถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว

ทั้งนี้ หลังจากรัฐสภาได้มีการประชุมเพื่ออภิปรายเรื่องการแก้ รธน.ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการแก้ไข รธน.เมื่อวันที่ 16-17 ก.ย.แล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ได้ออกมาส่งสัญญาณเสนอ 3 แนวทางในการแก้ รธน.1.ตั้งองค์กรเฉพาะหรือสมาชิกสภาร่าง รธน.(ส.ส.ร.)ที่มาจากสมาชิกรัฐสภา ,ส.ส.ร.ปี 2540 และ ส.ส.ร.ปี 2550 และนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ 2.ตั้งคณะกรรมการอิสระที่มาจากคนนอกสภา เพื่อศึกษาและนำผลมาเปรียบเทียบกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ก่อนทำประชามติ และ 3.ให้ทุกพรรคการเมืองร่วมกับวุฒิสภาช่วยกันยกร่างแก้ไข รธน.ใน 6 ประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เสนอ (1 ใน 6 ประเด็น คือ ยกเลิกโทษยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค โดยกำหนดให้ความผิดฐานทุจริตเลือกตั้งเป็นความผิดเฉพาะตัว ฯลฯ)

สำหรับท่าทีของพรรคต่างๆ ต่อข้อเสนอของนายกฯ นั้น นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลงผลการประชุมพรรค(22 ก.ย.)ว่า ยังคงจุดยืนสนับสนุนให้แก้ รธน.ใน 2 ประเด็น คือ มาตรา 190 (การทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศต้องให้รัฐสภาเห็นชอบก่อน) และการแบ่งเขตเลือกตั้งให้เป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว เพราะทั้ง 2 มาตราสามารถแก้ไขได้ทันที ไม่ต้องทำประชาพิจารณ์ พร้อมแสดงความไม่เห็นด้วยที่นายกฯ เสนอให้ตั้ง ส.ส.ร.3 ขณะที่นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา แถลงจุดยืนของพรรคว่า ไม่ขัดข้องว่าจะแก้ รธน.กี่ประเด็น แต่ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร. นายวัชระ ยังพูดดักคอพรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่า “ขอเรียกร้องพรรคประชาธิปัตย์ว่า อย่าหยิบยกเรื่องตั้ง ส.ส.ร.มาเป็นเงื่อนไขหรือข้อเสนอในการเจรจาต่อรองที่ทำให้เวลายืดเยื้อออกไป ทั้งที่ ส.ส.ร.3 จะเกิดขึ้นได้หากแก้ รธน.ทั้งฉบับ” ด้านที่ประชุมพรรคเพื่อไทย มีมติเห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.6 ประเด็นตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เสนอ แต่ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร.3 หรือการทำประชามติ โดยอ้างว่า เนื่องจาก ส.ส.ก็เป็นผู้แทนประชาชนอยู่แล้ว ควรให้กระบวนการจบที่สภาได้เลย ซึ่งคาดว่าไม่เกินสิ้นปี น่าจะมีการยุบสภาได้

ด้านคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) ได้ประชุมหารือกับวิปฝ่ายค้านและวิปวุฒิสภาเมื่อวันที่ 23 ก.ย.ก่อนนัดหารือร่วมกับนายกฯ อีกครั้งหลังเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา(วันที่ 27 ก.ย.) โดยที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายมีมติเห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.6 ประเด็นตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ส่วนกระบวนการและวิธีแก้ไข รธน.นั้น ให้วิปแต่ละฝ่ายไปศึกษาหาวิธีการการมีส่วนร่วมของประชาชนก่อนจะนำข้อสรุปของวิปทั้ง 3 ฝ่ายมาหารือกันนอกรอบอีกครั้งในวันที่ 24 ก.ย.

ทั้งนี้ หลังหารือกันอีกครั้งในวันที่ 24 ก.ย. วิป 3 ฝ่ายได้มีมติให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เป็นผู้ไปยกร่างแก้ไข รธน.ภายใต้กรอบ 6 ประเด็น แต่ยังไม่ได้ข้อยุติว่า จะยกร่างเดียว 6 ประเด็น หรือจะยกร่างประเด็นละ 1 ฉบับ รวม 6 ฉบับ รวมทั้งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะต้องทำประชามติหรือไม่ โดยวิป 3 ฝ่ายได้นัดประชุมหารือถึงวิธีการยกร่างในวันที่ 1 ต.ค. นายดิเรก ถึงฝั่ง วิปวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ บอกว่า ส่วนตัวมองว่ายกร่างเดียว 6 ประเด็นน่าจะสะดวกกว่า เพราะการยกร่างแยกแต่ละประเด็น อาจมีปัญหาภายหลัง เพราะบางพรรคที่อาจอยากแก้เพียง 2-3 มาตรา อาจไม่โหวตให้ ในที่สุดก็จะทำอะไรไม่ได้อีก

ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา และแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. พูดถึงกรณีที่วิป 3 ฝ่ายมีมติให้แก้ รธน.6 ประเด็นตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ว่า กลุ่ม 40 ส.ว.ยังยืนยันตามข้อเสนอที่มอบให้นายกฯ คือ การตั้งคณะกรรมการอิสระจากทุกภาคส่วนมาพิจารณาแก้ รธน.6 ประเด็น เพราะคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ มาจาก ส.ส.และ ส.ว. ซึ่งอาจถูกสังคมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน และขั้นสุดท้ายก็ให้มีการทำประชามติ โดยแยกมาทำแต่ละประเด็น เพราะถ้าทำรวมเป็นก้อนเดียวทั้ง 6 ประเด็น จะมีความไม่ชัดเจน

ด้านนางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง พูดถึงการแก้ รธน.และการทำประชามติว่า “ส่วนตัวเห็นว่า การทำประชามติก็ไม่สามารถทำให้เกิดความสมานฉันท์หรือลดความขัดแย้งได้ เพราะแม้จะแก้ รธน.ก็ยังมีเสื้อสีเหลืองสีแดงเหมือนเดิม อีกทั้ง 6 ประเด็นที่จะแก้ รธน.ก็เป็นการทำเพื่อนักการเมือง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชน ซึ่งเป็นเพียงต้องการให้ประชาชนรับรองความถูกต้องให้ตัวเองเท่านั้น”

ด้านนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา พูดถึงกรณีที่วิป 3 ฝ่ายมีมติให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เป็นผู้ยกร่างแก้ไข รธน.6 ประเด็นตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ว่า ขณะนี้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ได้หมดลงแล้ว หากวิปจะให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ทำงานต่อ รัฐบาลก็ต้องดำเนินการ ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล บอกว่า จะหารือกับนายชัย ชิดชอบ เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมทั้งให้อำนาจและภารกิจใหม่ทั้งหมด เพราะภารกิจเดิมทำแค่ศึกษาการแก้ รธน.

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำเกี่ยวกับการแก้ รธน.ว่า ยังยืนยันแนวทางเดิมที่นายกฯ ได้เสนอไว้ต่อรัฐสภา คือให้ยกร่างแก้ไขเป็น 6 ร่าง ทุกฝ่ายเข้าชื่อรับเป็นเจ้าภาพร่วมกัน จากนั้นจะทำประชามติเพียงครั้งเดียว แต่เรื่องนี้ยังไม่ใช่ข้อยุติ ตราบใดที่นายกฯ ยังไม่ได้ประชุมร่วมกับวิป 3 ฝ่าย

4. “ป.ป.ช.” เลื่อนชี้มูล “ครม.สมัคร”คดีพระวิหาร เป็น 29 ก.ย.- สะพัด “นพดล”โดนฟันคนเดียว!

นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการและโฆษก ป.ป.ช.
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล 1 ในกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะผู้รับผิดชอบสำนวนกล่าวหาคณะรัฐมนตรี(ครม.)นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ กับพวกรวม 44 คน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีออกมติ ครม.และเห็นชอบแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่สนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา เผยว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.วันที่ 22 ก.ย.จะมีการพิจารณาคดีดังกล่าว หากไม่มีกรรมการ ป.ป.ช.คนใดคัดค้านหรือเห็นว่าควรสอบสวนพยานหลักฐานเพิ่มเติม เชื่อว่าน่าจะสามารถลงมติชี้มูลคดีนี้ได้ โดยจะให้เจ้าหน้าที่อ่านพฤติการณ์และความผิดของผู้ถูกกล่าวหาทีละคน จากนั้นจะลงมติเป็นรายบุคคล อย่างไรก็ตาม น.ส.สมลักษณ์ บอกว่า ล่าสุด นายสุวิทย์ คุณกิตติ อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีอุตสาหกรรม ได้ส่งหลักฐานเพิ่มเติมมาอีก 1 แผ่น ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะนำเข้าประกอบการพิจารณาด้วย ส่วนจะส่งผลขนาดให้ต้องเลื่อนการชี้มูลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม

น.ส.สมลักษณ์ ยังบอกด้วยว่า “ส่วนตัวเห็นว่า จะต้องดูเจตนาของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนว่ามีเจตนาพิเศษที่จะทำให้รัฐเกิดความเสียหายหรือไม่ เช่นเดียวกับที่เคยพิจารณาเจตนาพิเศษในการชี้มูลความผิดในคดีสลายม็อบ 7 ต.ค.2551 เพราะก่อนหน้านี้ ศาลฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยว่า ผู้ที่กระทำผิดจะต้องมีเจตนาชัดว่าจะทำให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเกิดความเสียหาย และคดีนี้ผู้ถูกกล่าวหาถูกร้องว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คือปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”

ทั้งนี้ มีรายงานว่า คณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช.ชุด น.ส.สมลักษณ์ เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ชี้มูลความผิดนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเพียงคนเดียวในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนผู้ถูกกล่าวหารายอื่นๆ เสนอให้ยกคำร้อง

อย่างไรก็ตาม หลังที่ประชุม ป.ป.ช.พิจารณาคดีดังกล่าวในวันที่ 22 ก.ย.แล้ว ยังไม่มีมติชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้แต่อย่างใด โดยนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการและโฆษก ป.ป.ช.แถลงว่า คณะกรรมการได้ดูการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 44 คน ว่ามีการกระทำหรือพฤติการณ์ว่า เจตนาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้เกิดความเสียหาย อันเป็นความผิดทางอาญาหรือไม่ และเข้าข่ายถอดถอนได้หรือไม่ โดยพิจารณาเป็นรายบุคคล ซึ่งพิจารณาเสร็จเพียง 12 คน เหลืออีก 32 คน คณะกรรมการจึงมีมติให้เลื่อนไปพิจารณาต่อในวันที่ 29 ก.ย.นี้ ก่อนแถลงผลการพิจารณาครั้งเดียวในวันดังกล่าว ผู้สื่อข่าวถามถึงข่าวที่อนุกรรมการชี้มูลความผิดนายนพดลเพียงคนเดียวว่าจริงหรือไม่ นายกล้านรงค์ บอกว่า ที่ประชุมยังพิจารณาไม่ถึงตรงนั้น เพราะยังอยู่ระหว่างการดูเป็นรายบุคคล เมื่อถามต่อว่า หากรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันถูกชี้มูลความผิด ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นายกล้านรงค์ บอกว่า ยังไม่ขอตอบ เพราะต้องพิจารณาต่อไปในข้อกฎหมาย

ทั้งนี้ ในบรรดาผู้ถูกกล่าวหา มีอดีตรัฐมนตรีรัฐบาลนายสมัครที่ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีอยู่ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ 4 คน คือ 1.พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี 2.นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3.นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยคลัง และ 4.ร.ต.(หญิง)ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)

5. ศาลฎีกาฯ สั่งจำคุก “สมบัติ อุทัยสาง” 2 เดือน ฐานซุกหุ้น ด้าน “ยงยุทธ”จ่อคิว 28 ก.ย.นี้!
นายสมบัติ อุทัยสาง อดีตรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย และอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงไอซีที
เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดอ่านคำพิพากษากรณีที่ ป.ป.ช.ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยกรณีที่นายสมบัติ อุทัยสาง อดีตรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย และอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ตาม รธน.2550 มาตรา 263 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 119 เนื่องจากนายสมบัติไม่แสดงทรัพย์สินของนางสุจิวรรณ ภรรยา ที่อยู่ในนามของบุตรสาวและบุตรชายรวม 3 คน และที่มีชื่อร่วมกับบุตร ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากรวม 9 บัญชี จำนวนกว่า 106 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยเมื่อวันที่ 14 มี.ค.2544 และวันที่เข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีวันที่ 29 ต.ค.2545 และวันที่พ้นจากตำแหน่งภายใน 30 วัน และวันที่พ้นจากตำแหน่งมาแล้ว 1 ปี รวม 9 ครั้ง ซึ่งนายสมบัติให้การปฏิเสธ

โดยนายสมบัติอ้างว่า ได้แบ่งเงินให้บุตรทั้งสามที่บรรลุนิติภาวะตั้งแต่ปี 2534 แล้ว แต่เหตุที่ภรรยามีชื่อร่วมอยู่ในบัญชีของบุตร เพราะบุตรชายต้องการให้ช่วยบริหารเงิน เนื่องจากต้องเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ ไม่สามารถทำนิติกรรมได้ ขณะที่บุตรสาวกำลังจะสมรส จึงให้ภรรยามีชื่อในบัญชี เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สินหลังสมรส นอกจากนี้บุตรทั้ง 3 คนยังให้ช่วยจัดการเรื่องปลูกสร้างบ้านระหว่างปี 2543-2548 ในที่ดินที่ตนและภรรยายกให้

ด้านศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า นายสมบัติและภรรยาไม่ได้ยกเงินให้บุตรจริง เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่แบ่งเงินฝากในบัญชีให้บุตรทั้งสามแล้ว นางสุจิวรรณยังคงใช้อำนาจเป็นผู้มีชื่อร่วมเบิก-ถอนเงินในบัญชี ทั้งที่นายสมบัติอ้างว่าบุตรทั้งสามบรรลุนิติภาวะแล้ว สามารถดำเนินนิติกรรมเองได้ ส่วนที่นายสมบัติอ้างว่า บุตรให้อำนาจนางสุจิวรรณบริหารเงินปลูกบ้านนั้น ก็ปรากฏว่า เงินที่ใช้จ่าย นางสุจิวรรณกลับไม่ลงบัญชีใช้จ่ายของบุตรแต่ละคนอย่างไร ทั้งที่นายสมบัติ บอกว่า นางสุจิวรรณนำเงินส่วนตัวสำรองจ่ายไปกับเงินบัญชีบุตร แล้วจะมาหักลบกลบหนี้กัน ซึ่งนางสุจิวรรณเป็นนักธุรกิจ นักบริหาร และนักบัญชี แต่กลับไม่ดำเนินการดังกล่าวให้ชัดเจน จึงเชื่อว่า เงินในบัญชีดังกล่าวเป็นของนายสมบัติและภรรยา พยานหลักฐานของนายสมบัติจึงขัดต่อเหตุผล ไม่น่าเชื่อถือ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติ 7 ต่อ 2 ว่า นายสมบัติจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อ ป.ป.ช.ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตาม รธน.มาตรา 263 วรรค 1 และผิดตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช.มาตรา 119 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 4,000 บาท แต่เนื่องจากนายสมบัติไม่เคยต้องโทษมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลวินิจฉัย

ทั้งนี้ นอกจากคดีนายสมบัติ อุทัยสาง แล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยังได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่ ป.ป.ช.ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยกรณีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ หลังพ้นจากตำแหน่งตาม รธน.2550 มาตรา 263 ในวันที่ 28 ก.ย.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น