xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 24-31 พ.ค.2552

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. มติมวลชน หนุน “พันธมิตรฯ”ตั้งพรรคการเมือง คาด ได้ตัว หน.พรรคใน 1 เดือน!
แกนนำพันธมิตรฯ ชูมือบนเวที ทักทายมวลชนที่มาชุมนุมที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และมีมติหนุนให้พันธมิตรฯ ตั้งพรรค(25 พ.ค.)
เมื่อวันที่ 24-25 พ.ค.กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้จัดงานรำลึก 193 วันแห่งการต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตรฯ โดยวันที่ 24 พ.ค.เป็นการจัดประชุมสภาพันธมิตรฯ ภายใต้แนวคิด “เดินหน้าสู่การเมืองใหม่” ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งมีตัวแทนพันธมิตรฯ เข้าร่วมหลายพันคน ทั้งนี้ ในงาน มีการแจกแบบสอบถามเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ของกลุ่มพันธมิตรฯ ว่า มวลชนเห็นด้วยหรือไม่ประมาณ 3,000 ชุด ส่วนอีก 70,000 ชุดเตรียมไว้แจกในวันที่ 25 พ.ค.เพื่อสอบถามผู้ที่เข้าร่วมงาน 193 วันแห่งการต่อสู้ของพันธมิตรฯ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ทั้งนี้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ กล่าวก่อนขึ้นเวทีการประชุมสภาพันธมิตรฯ ถึงแนวคิดจัดตั้งพรรคการเมืองว่า เกิดหลังจากยุติการชุมนุม โดยเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ พันธมิตรฯ หวังว่ารัฐบาลจะทำงานการเมืองอย่างที่หลายฝ่ายต้องการ แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งเห็นว่าไม่เป็นอย่างนั้น จึงเริ่มมีความคิดเสนอให้มีการตั้งพรรคการเมืองเพื่อทำการเมืองใหม่ พล.ต.จำลอง ยังปฏิเสธข่าวที่ว่าพันธมิตรฯ มีความขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์จนต้องตั้งพรรคการเมืองใหม่ด้วย โดยยืนยันว่า ไม่ได้ขัดแย้งกับพรรคใดเลย ไม่เป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มไหนทั้งสิ้น เพียงแต่ต้องการให้เกิดการเมืองใหม่ ด้านนายสนธิ ลิ้มทองกุล 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ พูดถึงการตั้งพรรคการเมืองและผู้ที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคว่า 5 แกนนำพันธมิตรฯ ต้องขอฉันทานุมัติจากพี่น้องกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นคนตัดสินใจ เป็นคนเลือก ไม่ใช่ตั้งกันเอง สำหรับผลการระดมความคิดและแลกเปลี่ยนความเห็นจากพันธมิตรฯ 10 อนุภูมิภาค และองค์กรแนวร่วม พบว่า ส่วนใหญ่เห็นในแนวทางเดียวกันคือ ค้านการแก้ รธน.2550 และการนิรโทษกรรม เนื่องจากเห็นว่าบทบัญญัติของ รธน.ฉบับนี้ป้องกันนักการเมืองทุจริตและทำเพื่อประชาชนอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการตั้งพรรคการเมืองนั้น ตัวแทนพันธมิตรฯ ส่วนใหญ่เห็นด้วยเพื่อนำไปสู่การสร้างการเมืองใหม่ ควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวในภาคประชาชน เพื่อยุติการเมืองน้ำเน่าแบบเก่า ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ เผยว่า ในการประชุมสภาพันธมิตรฯ มีผู้เห็นด้วยกับการตั้งพรรคการเมืองกว่า 90% แต่พันธมิตรฯ จะสรุปผลโหวตอีกครั้งในวันที่ 25 พ.ค. ส่วนการเลือกชื่อพรรค จะเปิดให้โหวตผ่านทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี โดยมี 3 ชื่อ คือ พรรคเทียนแห่งธรรม ,พรรคพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพรรคการเมืองใหม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในสัปดาห์หน้า ส่วนบรรยากาศการจัดงานรำลึก 193 วันแห่งการต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.นั้น ปรากฏว่า มีมวลชนเข้าร่วมงานหลายหมื่นคน แม้ช่วงค่ำจะมีฝนตกลงมาอย่างหนักก็ตาม ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ ในฐานะประธานสภาพันธมิตรฯ พูดถึงการตั้งพรรคการเมืองว่า ไม่ว่าจะมีพรรคการเมืองหรือไม่ พันธมิตรฯ ที่อยู่นอกสภาก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบเหมือนเดิม และหากตั้งพรรคการเมือง หลักการสำคัญที่พรรคจะยึดมั่นก็คือ การเมืองใหม่ คุณธรรมนำหน้า ต้องซื่อสัตย์ เสียสละ และกล้าหาญ ส่วนแกนนำพันธมิตรฯ ควรรับตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ นายสมศักดิ์ บอกว่า ขึ้นอยู่กับเสียงประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งแกนนำต้องทำตาม ส่วนผลการโหวตว่ามวลชนเห็นด้วยให้พันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมืองหรือไม่นั้น หลังนายสมศักดิ์ถามที่ชุมนุมว่า หากใครไม่เห็นด้วยกับการตั้งพรรคให้ลุกขึ้นยืน ปรากฏว่า มีผู้ยืนขึ้น 1 คน และเมื่อถามว่า หากใครเห็นด้วยกับการตั้งพรรค ให้ลุกขึ้นยืน ปรากฏว่า ผู้ชุมนุมยืนขึ้นทั้งหมด หลังได้มติจากมวลชนหลายหมื่นคนว่าหนุนพันธมิตรฯ ให้ตั้งพรรคการเมืองแล้ว แกนนำพันธมิตรฯ ได้ประชุมหารือเรื่องการตั้งพรรคเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่บ้านพระอาทิตย์ โดยหลังประชุม นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานพันธมิตรฯ เผยว่า ภายใน 1 เดือนจะมีความชัดเจนเรื่องชื่อพรรค จากนั้นจะดูเรื่องนโยบายและบุคลากรของพรรค ใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน โดยแกนนำยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุดและทุกระดับ ทั้งการคัดสรรผู้สมัคร และการตัดสินเรื่องใหญ่ๆ ในพรรค โดยจะใช้รูปแบบสภาพันธมิตรฯ หรือสภาประชาชนควบคู่ไปกับการตัดสินใจของกรรมการบริหารพรรค ด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ให้สัมภาษณ์ที่ จ.กาญจนบุรี(29 พ.ค.)ว่า จะหาหัวหน้าพรรคได้ภายใน 1 เดือน คือ 25 มิ.ย. พล.ต.จำลอง ยังพูดถึงผู้ที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคด้วยว่า “เราไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็น 5 แกนนำที่มาเป็นหัวหน้าพรรค อาจจะเป็นอาจารย์สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ (ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์)ก็ได้ หรือนักธุรกิจที่อยู่ในกฎเกณฑ์ ผมยืนยันว่า หากประกาศยุบสภาเมื่อไหร่ พรรคการเมืองใหม่ของเราพร้อมจะส่งคนลงสมัครครบทุกจังหวัด เพราะสมาชิกพันธมิตรฯ มีเป็นล้านๆ คน และสิ่งที่มีแน่นอน คือ 1.ไม่ฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้ง 2.ทำการเมืองด้วยความซื่อสัตย์ กล้าหาญ และมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เอาใครมาเป็นรัฐมนตรีก็ได้ และไม่ใช่นายทุนของพรรค” ส่วนท่าทีของแกนนำพรรคต่างๆ ต่อการตั้งพรรคของกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า การมีพรรคการเมืองตั้งขึ้นมาใหม่ ก็ถือว่าเป็นทางเลือกใหม่ พร้อมเชื่อว่า คนที่ตัดสินใจเข้าร่วมอุดมการณ์กับพรรคประชาธิปัตย์แทบทั้งหมดจะยังยืนหยัดทำงานร่วมกันต่อไป(ไม่ย้ายไปอยู่พรรคพันธมิตรฯ) นายอภิสิทธิ์ ยังไม่กังวลด้วยว่า ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพันธมิตรฯ จะเป็นกลุ่มเดียวกัน โดยมีหน้าที่ที่จะแข่งขันให้ดีที่สุด ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงการตั้งพรรคของพันธมิตรฯ ว่า ยินดีต้อนรับ ทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น และว่า ถ้าพันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมืองแล้ว ก็คงไม่ใช้มวลชนนอกสภามาเป็นเครื่องมือ ด้านนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ และ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงแนวโน้มการย้ายพรรคไปอยู่พรรคพันธมิตรฯ ว่า ตนเป็นคนมีมารยาททางการเมือง การจะย้ายพรรคหรือไม่ คงต้องรอเวลาเหมาะสม ต้องรอดูโครงสร้างความชัดเจนของพรรคพันธมิตรฯ ก่อน แต่ตอนนี้ยังเชื่อมั่นในพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเป็นพรรคเดียวที่ยังไม่ถูกยุบ และยังมีคุณค่าต่อสังคม ขณะที่แกนนำพรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค รีบดิสเครดิตแกนนำพันธมิตรฯ โดยชี้ว่า แกนนำพันธมิตรฯ ตระบัดสัตย์ มาเล่นการเมืองเพื่อประโยชน์และอำนาจของตัวเอง นายพร้อมพงศ์ ยังข้องใจด้วยว่า หากพรรคพันธมิตรฯ ได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีประชาชน ขณะที่เอเอสทีวีและหนังสือพิมพ์เอเอสทีวีก็อยู่ในความดูแลของนายสนธิ ซึ่งมีกฎหมายห้ามพรรคการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ จะถือว่ากรณีนี้ขัด รธน.มาตรา 48 หรือไม่ ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.บอกว่า ยินดีด้วยที่พันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมือง จะทำให้รู้ว่าได้รับความนิยมจากประชาชนมากน้อยแค่ไหน พร้อมหนุนให้นายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นหัวหน้าพรรค “ผมจะไม่ทวงถามถึงคำสัตย์ที่แกนนำพันธมิตรฯ บางคนเคยพูดไว้ว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมือง เพราะเป็นหน้าที่ของแต่ละคนที่จะต้องอธิบายกับสังคมให้ได้ ส่วนคนที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรค เห็นว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล มีความเหมาะสมที่สุด เพราะเป็นสัญลักษณ์ และเป็นเหมือนแม่เหล็กของกลุ่มพันธมิตรฯ อยู่แล้ว” ขณะที่ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ได้ออกมาปรามาสการตั้งพรรคของพันธมิตรฯ ว่า ไม่น่าจะไปรอด พร้อมประชดด้วยการแนะนำให้พันธมิตรฯ ใช้ชื่อพรรคว่า เอซีเค หรือพรรคอาชญากร เพราะแกนนำทุกคนที่ตั้งพรรคถูกกล่าวหาคดีก่อความไม่สงบฯ เมื่อครั้งยึดสนามบินสุวรรณภูมิ แกนนำพรรคทั้งหมดล้วนแต่ขาข้างหนึ่งอยู่ในตะราง คิดว่ายังไม่พ้นวิบากกรรมอย่างแน่นอน

2. “ชาติชาย”ยอมทิ้งเก้าอี้ รมต.ตามมติพรรค “ภท.” ด้าน “ศุภชัย”ยัน ไม่ได้จ่ายเงินเพื่อเสียบแทน!
นายชาติชาย พุคยาภรณ์ แถลงลาออกจากรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ เมื่อวันที่ 26 พ.ค.หลังถูกพรรคภูมิใจไทยใช้มติพรรคกดดัน
ความเคลื่อนไหวด้านการเมืองเรื่องปรับ ครม.หลังพรรคภูมิใจไทย(ภท.) ใช้มติพรรคกดดันให้นายชาติชาย พุคยาภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีของพรรคฯ ในโควตาของนายสรอรรถ กลิ่นประทุม แกนนำกลุ่มราชบุรี(ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี) ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อดันคนของกลุ่มเพื่อนเนวินมาเป็นรัฐมนตรีแทน โดยอ้างว่า นายชาติชายไม่เคยเข้าร่วมประชุมพรรคและไม่มีผลงาน ขณะที่นายชาติชายพยายามยื้อเวลาการลาออก โดยบอกว่าจะตัดสินใจเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม และเตรียมเปิดแถลงครั้งที่ 2 ในวันที่ 26 พ.ค.นั้น ปรากฏว่า เมื่อถึงกำหนด นายชาติชายได้แถลงลาออกจากรัฐมนตรี แต่ไม่ยอมบอกเหตุผลที่ลาออก โดยบอกเพียงว่า ไม่ได้น้อยใจที่พรรคมีมติแบบนี้ และทราบมติพรรคจากสื่อต่างๆ ตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา จึงตัดสินใจเพื่อความเหมาะสมในการทำให้ทุกอย่างราบรื่น ส่วนอนาคตจะเล่นการเมืองต่อไปหรือไม่นั้น นายชาติชาย บอกว่า จะกลับไปนั่งคิดดู และว่า การทำงานเพื่อชาติ สามารถทำได้ทุกที่ไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งใด ส่วนจะอยู่กับพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ ยังไม่ขอพูด ผู้สื่อข่าวถามว่า มีคนสงสัยว่า เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ได้ เพราะมีการใช้วิธีพิเศษเป็นหลักร้อยล้านบาท นายชาติชาย บอกว่า “ไม่ขอพูดถึงเรื่องพวกนี้แล้ว เพราะตอนนี้ไม่มีความจำเป็นอะไรกับเรื่องพวกนั้นอีกแล้ว ใครอยากจะพูดอะไรก็พูดไป มันไร้สาระ” ทั้งนี้ หลังนายชาติชายแถลงลาออก นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีมหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้ยื่นรายชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแทนนายชาติชายให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ต่อไป โดยบุคคลที่อยู่ในโผคือ นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม กลุ่มเพื่อนเนวิน นายชวรัตน์ ยังพูดถึงนายชาติชาย พุคยาภรณ์ ด้วยว่า ประตูยังคงเปิดอยู่ หากนายชาติชายต้องการกลับมาร่วมงานกับพรรค แต่ต้องมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคก่อน ทั้งนี้ หลังนายกฯ ทูลเกล้าฯ รายชื่อรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ คนใหม่ ปรากฏว่า ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมาเมื่อวันที่ 29 พ.ค.แต่งตั้งนายศุภชัย โพธิ์สุ เป็นรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ พร้อมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวโรกาสให้รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ คนใหม่ เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ในวันที่ 3 มิ.ย.(เวลา 17.30น.) ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์ ด้านนายศุภชัย โพธิ์สุ กล่าวหลังรับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ว่า สามารถสานงานต่อจากรัฐมนตรีคนก่อนได้ จะเดินหน้าอย่างเต็มที่ ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข่าวว่ามีการจ่ายเงินซื้อตำแหน่งรัฐมนตรี นายศุภชัย บอกว่า “ชีวิตนักการเมืองมักถูกปล่อยข่าวเสมอ ดังนั้นยืนยันว่าไม่จริง ไม่มีใครจ่ายเงินเป็น 100 ล้านบาท ผมเป็น ส.ส.ธรรมดา ที่มีฐานะปานกลางถึงยากจน แต่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใหญ่และสมาชิกพรรค จึงได้รับตำแหน่งนี้” ส่วนความเคลื่อนไหวภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า 40 ส.ส.หน้าใหม่ในพรรคพยายามขับเคลื่อนให้มีการปรับ ครม.ในส่วนของพรรค ร้อนถึงที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคต้องมอบหมายให้นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส.สัดส่วน ในฐานะผู้อาวุโสในพรรคเข้ามาทำหน้าที่กาวใจระหว่างรัฐมนตรีกับ ส.ส. กระนั้นก็ยังมีความเคลื่อนไหวจากนายอภิชาติ สุภาแพ่ง ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็น ส.ส.กลุ่มนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ รองหัวหน้าพรรค ได้ออกมากดดันว่า ในการปรับ ครม.ครั้งต่อไป นายเฉลิมชัยต้องได้ตำแหน่งรัฐมนตรี ถ้าไม่ได้เป็นมีแรงกระเพื่อมภายในพรรคแน่นอน ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยัน ไม่มีการทำสัญญาเรื่องตำแหน่งกับนายเฉลิมชัย และไม่มีการต่อรองกัน พร้อมขอร้องให้ทุกคนที่ออกมาให้ข่าวต้องระมัดระวัง เพราะปัญหาแบบนี้ไม่ได้ทำให้ประชาชนมั่นใจในการเมืองโดยรวม ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ เป็นเรื่องปกติที่นายอภิชาติ (สุภาแพ่ง ส.ส.เพชรบุรี) สามารถจองเก้าอี้ไว้ก่อนได้ ส่วนจะได้เป็นหรือไม่นั้น ก็ต้องเป็นไปตามกลไกของพรรคที่จะคัดเลือก “ผมได้พูดคุยกับนายเฉลิมชัย ยู่บ่อยครั้ง ซึ่งได้ยืนยันไปแล้วว่าไม่มีปัญหา” ด้านนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ และประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเตือนสติ ส.ส.ของพรรค(26 พ.ค.)ว่า “ต้องให้เกียรตินายกฯ ว่าเมื่อเลือกใครเป็นรัฐมนตรีแล้ว ต้องถือว่าพรรคเห็นชอบด้วยแล้ว แม้บางคนจะไม่พอใจ ก็ไม่ควรทำให้เกิดปัญหาอะไรขึ้นมาที่จะทำให้พรรคเสียหาย และในระบบพรรคประชาธิปัตย์ ใครไม่ถูกใจก็จะพูดกันภายใน ไม่ไปสร้างปัญหาให้เสียหายกับพรรค ...เราต้องช่วยนายกฯ ในการแก้ปัญหาวิกฤตบ้านเมือง อย่าทำให้ประชาชนเห็นว่า พอเป็นรัฐบาลก็แย่งตำแหน่งกัน” ขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ เผยหลังเข้าพบนายชวน หลีกภัย(27 พ.ค.)ว่า ได้เล่าความจริงให้นายชวนฟังว่า ในชีวิตการเมืองของตน ไม่เคยเรียกร้องหรือต่อรองตำแหน่งใดใด และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่ม 40 ส.ส. และว่า อยากรู้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นคนปล่อยข่าวทำให้ตนเสียหาย ส่วนที่นายอภิชาติเรียกร้องขอให้พรรคเลือกตนเป็นรัฐมนตรีนั้น นายเฉลิมชัย บอกว่า ไม่ทราบเรื่อง และว่า นายอภิชาติได้โทรศัพท์มาขอโทษตนแล้ว ซึ่งตนก็ได้เตือนไปและให้ออกมาแก้ข่าวด้วย นายเฉลิมชัย ยังยืนยันด้วยว่า เรื่องที่เกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องปรับความเข้าใจกับนายกฯ “คงไม่ต้องคุย เพราะมั่นใจว่านายกฯ เข้าใจดีว่า ไม่ว่าจะเป็นวันนี้หรือพรุ่งนี้ไม่มีทางที่จะต่อรองขอตำแหน่งอะไรแม้แต่ครั้งเดียว หากปรับ ครม.ครั้งหน้า แล้วไม่มีชื่อผมเป็นรัฐมนตรีก็ไม่รู้สึกอะไร เป็นคนเล่นการเมืองแบบเปิดหน้าชก เป็นลูกผู้ชายพอ กล้าทำก็กล้ารับ ความจริงจะไม่พูดเรื่องนี้ด้วยซ้ำ แต่เมื่อนายชวนบอกให้ชี้แจง ก็ต้องออกมาชี้แจง” ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่า นายเฉลิมชัยอาจย้ายสังกัดไปอยู่พรรคภูมิใจไทยในอนาคต เพราะมีความสนิทสนมกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน โดยเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ระหว่างที่นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน และประธานคณะทำงานรัฐมนตรีมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสำนักงานการประปาภูมิภาค อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายเฉลิมชัย ได้นำทีม ส.ส.ไปรอต้อนรับคณะของนายชวรัตน์ ขณะที่นายอภิชาติ สุภาแพ่ง ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มนายเฉลิมชัย ก็มาร่วมต้อนรับด้วย ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ส.ส.กลุ่มนายเฉลิมชัยต่างใส่เสื้อสีน้ำเงินที่มีข้อความว่า “ปกป้องสถาบัน”เหมือนกับที่นายชวรัตน์และคณะใส่เป็นประจำเวลาลงพื้นที่ โดยทันทีที่เดินทางถึง นายเฉลิมชัยได้เข้าไปสวมกอดนายชวรัตน์และนายศักดิ์สยาม ขณะที่นายศักดิ์สยาม กล่าวติดตลกว่า “วันนี้ไม่ได้แห่ขันหมากมาสู่ขอนายเฉลิมชัย แต่แค่มาดูตัวทาบทามกันก่อน” ผู้สื่อข่าวได้ถามนายเฉลิมชัยว่า หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยมาด้วยตัวเอง เท่ากับจะมาสู่ขอหรือไม่ ซึ่งนายเฉลิมชัย ตอบว่า “ตอนนี้ยังอยู่อย่างนี้” ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หากย้ายพรรค เกรงว่าชาวประจวบฯ จะไม่พอใจแล้วไม่ลงคะแนนให้หรือไม่ นายเฉลิมชัย ตอบแบบไม่ห่วงโดยบอกว่า “อนาคตก็เป็นเรื่องของอนาคต เชื่อว่า คนประจวบฯ เลือกคนมาทำงาน ไม่ได้เลือกพรรคมาทำงาน” ด้านนายมนตรี ปาน้อยนนท์ ส.ส.ประจวบฯ พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อนสนิทนายเฉลิมชัย ซึ่งร่วมต้อนรับคณะของนายชวรัตน์ด้วย ได้ออกมายืนยันวันต่อมา(30 พ.ค.)ว่า การใส่เสื้อสีน้ำเงินต้อนรับคณะของนายชวรัตน์ ไม่มีนัยยะทางการเมืองใดใด พร้อมปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่าจะย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย โดยย้อนถามว่า “ย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทยได้อะไร ขออยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ 100% อยู่พรรคนี้มีความสุขดีอยู่แล้ว เพราะที่นี่มีแต่คนเก่งๆ มีแต่คนน่ารัก อย่าไปทำเรื่องให้ตื่นเต้นไปเลย”

3. นายกฯ เบรก “เช่ารถเมล์”เข้า ครม.สัปดาห์นี้ ขณะที่ “โสภณ”ลั่น ต้องเข้า ด้าน “ส.ว.”ขู่ยื่นถอดถอน!
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ชี้ โครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคันคงเข้าที่ประชุม ครม.วันที่ 2 มิ.ย.นี้ไม่ทัน เพราะสำนักงบฯ และสภาพัฒน์ยังไม่ได้ข้อยุติ
ความคืบหน้ากรณีที่ประชุม ครม.(19 พ.ค.)ตีกลับโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ระยะเวลา 10 ปี มูลค่ากว่า 6.9 หมื่นล้านบาทของ ขสมก.ที่เสนอโดยกระทรวงคมนาคม เนื่องจากติดใจตัวเลขค่าเช่าและค่าซ่อมรถที่สูงกว่าค่าเช่า ที่ประชุมจึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ไปร่วมกันพิจารณาเพื่อหาข้อยุติภายใน 2 สัปดาห์ และนำกลับมาเสนอใหม่อีกครั้ง ขณะที่นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีคมนาคม ได้ประชุมร่วมกับตัวแทนกระทรวงการคลังแล้ว และสรุปว่า จะลดวงเงินโครงการนี้ลงจาก 6.9 หมื่นล้านบาท เหลือ 6.7 หมื่นล้านบาทนั้น ปรากฏว่า นายโสภณได้เตรียมผลักดันโครงการนี้เข้าที่ประชุม ครม.อีกครั้งในวันที่ 26 พ.ค. แต่ไม่สำเร็จ เพราะถูกนายสุรชัย ภู่ประเสริฐ เลขาธิการ ครม.เบรก โดยบอกว่า วาระเต็มแล้ว หากเสนอเข้า ครม. ก็จะเป็นวาระจร นายโสภณ จึงออกมาเผยว่า เหตุที่โครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคันไม่เข้า ครม.ในวันดังกล่าว เพราะไม่อยากให้เป็นวาระจร เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ ควรนำเข้าวาระปกติในสัปดาห์หน้า(3 มิ.ย.) นายโสภณ ยังชี้ด้วยว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจโครงการนี้ ซึ่งคงเป็นเพราะก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการอธิบายอย่างละเอียด ดังนั้นจะอธิบายให้ประชาชนและ ครม.รับฟังไปเรื่อยๆ โดยเชื่อว่าจะสามารถตอบได้ทุกคำถาม และว่า หาก(ครม.)ยังไม่ยอมอนุมัติอีก คงจะต้องถามว่าจะเอาอย่างไร และคน กทม.จะว่าอย่างไร ด้านกลุ่ม 40 ส.ว.นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ได้เปิดแถลง(25 พ.ค.)จี้ให้ ครม.เพิ่มความรอบคอบในการพิจารณาโครงการดังกล่าว เพราะจะทำให้ ขสมก.ขาดทุนเพิ่มขึ้น และเป็นภาระต่อประชาชนที่ต้องแบกรับไปอีก 10 ปี ทั้งราคาค่าเช่าที่สูงเกินควร(4,780 บาทต่อคันต่อวัน) ระยะเวลาเช่าที่ผูกพันยาวเกินควร(10 ปี) และยังประมาณการรายรับค่าโดยสารที่จะนำมาจ่ายค่าเช่าเกินจริงมากจนเกินไป(10 ปี ประเมินว่า ขสมก.จะมีรายได้จากค่าโดยสารไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท) และว่า ควรให้องค์กรที่น่าเชื่อถือศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้ เช่น ทีดีอาร์ไอ นอกจากนี้ ครม.อาจทำประชามติในเขต กทม.เพื่อให้ประชาชนตัดสินว่า ต้องการให้ดำเนินโครงการหรือไม่ หาก ครม.เร่งรีบอนุมัติ อาจมีประชาชนไม่พอใจและอาจมีการรวบรวมรายชื่อประชาชน 20,000 คนเพื่อถอดถอน ครม.ทั้งคณะได้ ทั้งนี้ นายไพบูลย์ ในฐานะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง ได้เปิดแถลงอีกครั้งเมื่อวันที่ 27 พ.ค.หลังจัดเสวนาเรื่อง “คำถามของประชาชนกับรถเมล์ 4,000 คัน”ว่า กรรมาธิการฯ เห็นตรงกันว่ารัฐบาลต้องยกเลิกโครงการเช่ารถเมล์ 4,000 คันทันที และว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการร่วมของวุฒิสภาได้จัดตั้งเครือข่ายประชาชนต่อต้านโครงการดังกล่าวแล้ว หาก ครม.ยังอนุมัติโครงการดังกล่าว เครือข่ายฯ จะดำเนินการยื่นถอดถอนผู้เสนอโครงการและผู้เกี่ยวข้องต่อไป โดยจะยื่นข้อเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการดังกล่าวต่อรัฐบาลในวันที่ 3 มิ.ย.ที่ทำเนียบรัฐบาล และพร้อมจะเคลื่อนไหวในทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนถึงผลกระทบจากโครงการดังกล่าว ขณะที่คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติรับเรื่องจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ขอให้ตรวจสอบโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคันว่า เหตุใดต้องเช่าในวงเงินสูงถึง 5-6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ส.ส.กรุงเทพฯ และปริมณฑลของพรรคประชาธิปัตย์เอง(เช่น นายชนินทร์ รุ่งแสง ,นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ฯลฯ) ก็ได้เปิดแถลง(28 พ.ค.) หนุนให้ ครม.พิจารณาโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคันอย่างรอบคอบเช่นกัน ด้านคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี และผู้สูงอายุ วุฒิสภา นำโดยนางยุวดี นิ่มสมบูรณ์ ก็ได้เปิดแถลง(28 พ.ค.)คัดค้านโครงดังกล่าวเช่นกัน โดยชี้ว่า จากการศึกษาพบว่า รถเมล์เอ็นจีวีที่จะเช่า 4 พันคัน คนพิการ ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ไม่สามารถใช้ประโยชน์หรือเข้าถึงได้ ถือว่าขัด รธน.มาตรา 30 และขัด พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 รวมทั้งขัดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ จึงขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ หลังนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีคมนาคม ประกาศว่าจะเสนอโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคันเข้า ครม.ในสัปดาห์หน้าอีกครั้ง หลังเลื่อนมาจากสัปดาห์ก่อน เพราะไม่อยากเป็นวาระจร ปรากฏว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ได้ออกมาบอก(30 พ.ค.)ว่า เรื่องดังกล่าวไม่น่าจะเข้าที่ประชุม ครม.ได้ทันในวันที่ 3 มิ.ย.นี้ เพราะสำนักงบประมาณและสภาพัฒน์กำลังดูอยู่ ยังไม่ได้ข้อยุติ อย่างไรก็ตาม นายโสภณ ซารัมย์ ได้ออกมาส่งสัญญาณว่า เรื่องเช่ารถเมล์ 4 พันคันควรจะเข้าที่ประชุม ครม.วันที่ 3 มิ.ย.นี้ เพราะที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 19 พ.ค.มีมติให้กระทรวงฯ หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องตัวเลขและสรุปเสนอเข้า ครม.ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งก็ถือว่าครบกำหนดตามที่ ครม.มีมติแล้ว

4. “ป.ป.ท.”ชี้ “เลขาฯ กบข.”ผิดทั้งวินัยและอาญา เตรียมส่ง “ป.ป.ช.”ฟัน ด้าน “ก.คลัง”ส่ออุ้ม!
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข.
จากกรณีที่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) ประสบปัญหาขาดทุน และสมาชิก กบข.ได้ร้องเรียนให้มีการตรวจสอบ เนื่องจากมีการหักเงินสมาชิกเพื่อชดเชยการขาดทุน กระทั่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ(ป.ป.ท.) ได้เข้ามาตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ขณะที่ทางกระทรวงการคลังก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ กบข.เช่นกัน ด้านคณะกรรมการ กบข.พยายามตั้งแง่ว่า ป.ป.ท.มีอำนาจตรวจสอบ กบข.หรือไม่นั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 พ.ค.นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการ ป.ป.ท. ได้สรุปรายงานผลการตรวจสอบเสนอนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมแล้ว โดยเบื้องต้นพบว่า การบริหารของ กบข.น่าจะผิดพลาดคลาดเคลื่อน ไม่สอดคล้องกับกฎหมายและหลักบริหารที่ดี จึงขาดทุน โดยผู้ที่อยู่ในข่ายปฏิบัติงานผิดพลาด มี 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ เลขาธิการ กบข.และเจ้าพนักงานของ กบข. ส่วนกลุ่มที่ 2 คือคณะกรรมการ กบข. ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการระดับสูง นายธาริต เผยด้วยว่า การตรวจสอบ กบข.เน้นตรวจสอบที่พฤติกรรม สาเหตุ และจรรยาบรรณของผู้บริหาร โดยตั้งประเด็นสอบไว้ 11 เรื่อง แต่ยังไม่สามารถเจาะมูลค่าความเสียหายที่แท้จริงได้ เพราะ กบข.ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง ทำให้ตัวเลขความเสียหายยังสับสนอยู่ระหว่าง 24,000 ล้านบาท กับ 18,000 ล้านบาท และว่า โทษทางวินัยของผู้บริหาร กบข.นอกจากการเลิกจ้างแล้ว อาจต้องรับผิดทางอาญาเพิ่มด้วย ด้าน กบข.ได้ออกแถลงการณ์ในวันเดียวกัน(25 พ.ค.) โดยยืนยันว่า การดำเนินการของ กบข.ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และนโยบายคณะกรรมการ กบข. โดยมีการวิเคราะห์และควบคุมความเสี่ยง ตลอดจนปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล แถลงการณ์ของ กบข.ยังระบุด้วยว่า คณะกรรมการ กบข.ยังสงสัยในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ท.ว่ามีอำนาจตรวจสอบ กบข.หรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ท. วันต่อมา(26 พ.ค.) มีรายงานข่าวว่า ได้มีการสุ่มตรวจการซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้บริหาร กบข.รายหนึ่ง ซึ่งพบว่า มีลักษณะซื้อตัดหน้ากองทุน กบข.หรือไม่ก็ซื้อวันเดียวกับที่ กบข.จะซื้อ หรือซื้อตามหลัง กบข.ไม่กี่วัน บางครั้งก็ขายหลักทรัพย์ก่อนที่ กบข.จะขายออกไม่กี่วัน บางครั้งก็ขายวันเดียวกับที่ กบข.ขาย ซึ่งการกระทำดังกล่าว นอกจากอาจเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้ว ยังเป็นการฝ่าฝืนระเบียบกองทุน กบข.และจรรยาบรรณที่ได้ลงนามประกาศไว้เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2546 ด้วย เพราะการซื้อขายหุ้นส่วนตัว ต้องขออนุญาตก่อนซื้อขายตามระเบียบกองทุน กบข.ว่าด้วยการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีของพนักงาน พ.ศ.2546 นอกจากนี้ผู้บริหารรายดังกล่าวยังขาดส่งรายงานการซื้อขายหุ้นที่กำหนดให้ต้องรายงานเป็นรายไตรมาส รวม 8 ไตรมาสด้วย ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม บอกว่า วันที่ 3 มิ.ย.นี้ จะเรียกนายธาริต พร้อมคณะทำงานตรวจสอบ กบข.มาสรุปว่า มีประเด็นใดบ้างที่ต้องดำเนินการต่อไป พร้อมยืนยัน การเมืองไม่เคยแทรกแซง กบข.และไม่มีความพยายามที่จะเปลี่ยนตัวนายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข. แต่ในทางตรงกันข้าม เชื่อว่ามีความพยายามแทรกแซงผ่านการเมืองเพื่อให้ ป.ป.ท.หยุดตรวจสอบ กบข.มากกว่า ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการ ป.ป.ท. บอกว่า หากที่ประชุมวันที่ 3 มิ.ย.มีมติไปในทางเดียวกัน จะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดต่อไป แต่ยอมรับว่าหนักใจ หากผลสอบของคณะกรรมการของกระทรวงการคลังยืนยันว่าผู้บริหาร กบข.ไม่มีความผิด สำหรับผลสอบของคณะกรรมการที่ทางกระทรวงการคลังตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบ กบข. ซึ่งมีนายสมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นประธานนั้น ปรากฏว่า ได้มีการสรุปผลสอบส่งให้ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานบอร์ด กบข.ไปแล้วเช่นกันเมื่อวันที่ 19 พ.ค. โดยนายสมพล บอกว่า หากบอร์ดมองว่า กบข.ไม่ผิด ก็ไม่ผิด แต่หากมองว่าเข้าข่ายผิด ก็ขึ้นอยู่กับบอร์ดว่าจะสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่ ด้านนายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข.ยืนยัน ไม่ได้ขาดส่งรายงานการซื้อขายหุ้นส่วนตัวแต่อย่างใด เพียงแต่ส่งล่าช้าเท่านั้น และว่า ต้องรอดูว่าคณะกรรมการ กบข.จะทำอย่างไรต่อไป ขณะที่นางเสาวนีย์ ศรีสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย 1 ในผู้จัดการกองทุน กบข. บอกว่า “คิดว่าคุณวิสิฐหรือผู้บริหาร กบข.ไม่น่าจะทราบข้อมูลการลงทุนของผู้จัดการกองทุนล่วงหน้า แต่ถ้าทราบข้อมูลล่วงหน้าจริง ก็ยอมรับว่าผู้ที่ทราบข้อมูลสามารถหาประโยชน์จากส่วนนี้ได้” ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ พูดถึงปัญหาผู้บริหาร กบข.ซื้อหุ้นตัวเดียวกับ กบข.ว่า นอกจาก กบข.แล้ว ยังเป็นห่วงกองทุนประกันสังคมที่ควรจะต้องปรับปรุงการบริหารจัดการด้วย ทั้งนี้ มีข่าวว่า ผลสอบของคณะกรรมการที่กระทรวงการคลังตั้งขึ้นเพื่อสอบ กบข.สรุปว่า นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข.กระทำผิดแค่จรรยาบรรณ ไม่ได้ผิดวินัยหรืออาญาแต่อย่างใด ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการ ป.ป.ท. ยืนยันว่า คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ป.ป.ท.เห็นว่า การซื้อหุ้นดักหน้าดักหลังการลงทุนของ กบข.ของผู้บริหาร กบข.นั้น เป็นความผิดทั้งจรรยาบรรณ วินัยและอาญา โดยความผิดทางอาญา เข้าข่ายผิดกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฐานนำข้อมูลวงในไปซื้อขายหลักทรัพย์(อินไซด์ เทรดดิ้ง) ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้อื่น นอกจากนี้ยังเข้าข่ายผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร นายธาริต ยังพูดถึงกรณีที่คณะกรรมการ กบข.อ้างว่า ป.ป.ท.ไม่มีอำนาจตรวจสอบ กบข.เพราะยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ท.ว่า ป.ป.ท.ยังไม่มีอำนาจไต่สวนเพื่อชี้มูลความผิด เพราะบอร์ด ป.ป.ท.ยังไม่ผ่านการแต่งตั้งจากสภา แต่ ป.ป.ท.มีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นก่อนส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป นายธาริต ยังย้ำด้วยว่า แม้ ป.ป.ท.ไม่มีอำนาจไต่สวน ก็ไม่สามารถกลับผิดให้เป็นถูกได้ ส่วนกรณีที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) อ้างว่า ไม่มีอำนาจตรวจสอบ กบข.นั้น นายธาริต บอกว่า ตนมองว่าความผิดเรื่องการซื้อหุ้นดักหน้าดักหลังนั้น เป็นความผิดเฉพาะตัวของเจ้าหน้าที่คนหนึ่งใน กบข.ไม่ใช่ความผิดของ กบข. ดังนั้น ก.ล.ต.จึงมีอำนาจตรวจสอบ

5. ไทย พบ ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 อีก 2 ราย หลังกลับจากสหรัฐฯ!
เครื่องเทอร์โมสแกนที่ ก.สาธารณสุขติดตั้งบริเวณสนามบิน เพื่อวัดอุณหภูมิร่างกายผู้โดยสารว่ามีไข้หรือไม่
ความคืบหน้าการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หลังพบผู้ป่วยในไทย 2 ราย แต่หายเป็นปกติแล้ว โดยทั้งคู่ติดเชื้อจากการเดินทางไปประเทศที่มีการแพร่ระบาดนั้น ล่าสุด ได้พบผู้ป่วยคนไทยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 อีก 2 ราย หลังเดินทางไปประเทศสหรัฐฯ ทั้งนี้ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้นำทีมแถลงถึงการพบผู้ป่วยคนไทยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นรายที่ 3 เมื่อวันที่ 30 พ.ค. โดยผู้ป่วยเป็นหญิงอายุประมาณ 50 ปี ซึ่งเดินทางไปท่องเที่ยวที่สหรัฐฯ และแคนาดากับญาติตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. จากนั้นได้ลงเรือท่องมหาสมุทรแปซิฟิกไปรัฐอลาสกา โดยค้างคืนบนเรือ 7 คืน จากนั้นเริ่มป่วยวันที่ 24 พ.ค. มีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ น้ำมูกไหลเล็กน้อยขณะอยู่ที่สหรัฐฯ และได้กินยาลดไข้ก่อนจะกลับถึงประเทศไทยช่วงเที่ยงคืนวันที่ 26 พ.ค. จากนั้นเช้าวันที่ 27 พ.ค.ได้ไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน กทม. ซึ่งแพทย์ให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ พร้อมทั้งส่งตัวอย่างสารคัดหลั่งของผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในวันเดียวกัน รวมทั้งส่งไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีห้องปฏิบัติการคู่ขนานด้วย และทราบผลตรวจเมื่อวันที่ 29 พ.ค.โดยผลตรวจตรงกันว่า ผู้ป่วยรายนี้ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ด้านแพทย์ได้ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดและให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์แล้ว อาการล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พ.ค.มีอาการไอเล็กน้อย ดูแลตัวเองได้ แพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้านในเขต กทม.ได้ นพ.ปราชญ์ บอกด้วยว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นคนมีความรู้ ขณะอยู่บนเครื่องบินได้ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อด้วย ส่วนผู้ที่ร่วมเดินทางกับผู้ป่วยอีก 8 คนนั้น พบว่า มีอาการระบบทางเดินหายใจจำนวน 2 ราย เก็บตัวอย่างส่งตรวจแล้ว เบื้องต้นยังไม่พบเชื้อ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามดูแลบุคคลกลุ่มดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่เป็นคนไทยรายที่ 4 นั้น นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีสาธารณสุข ได้เปิดแถลงในวันนี้(31 พ.ค.) โดยบอกว่า เป็นชายอายุประมาณ 50 ปี เริ่มป่วยเมื่อเช้าวันที่ 26 พ.ค.หลังเดินทางกลับจากสหรัฐฯ ถึงประเทศไทยเมื่อช่วงเที่ยงคืนวันที่ 25 พ.ค. โดยมีไข้ต่ำๆ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อย ได้ไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน กทม.เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ซึ่งแพทย์ได้เก็บตัวอย่างเสมหะส่งตรวจที่ศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และที่โรงพยาบาลศิริราช ผลตรวจพบตรงกันว่า ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ทั้งนี้ นายวิทยา ยืนยันว่า ขณะนี้ผู้ป่วยอาการเป็นปกติแล้ว อย่างไรก็ตาม ทีมเฝ้าระวังควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข และสำนักอนามัย กทม.ได้ติดตามเฝ้าระวังและให้การดูแลผู้ป่วยทั้งที่บ้าน รวมทั้งบุคคลที่ใกล้ชิดในครอบครัวอีก 5 คน ซึ่งทุกคนได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ เพื่อกินติดต่อกัน 5 วันตามระบบการเฝ้าระวังโรคแล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น