1. “ภูมิใจไทย” ใช้มติพรรคขับ “ชาติชาย”พ้น รมต. สะพัด “เนวิน”ส่ง “ศุภชัย”เสียบแทน!
แม้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะยังทำงานไม่ครบ 6 เดือนและยังไม่มีการประเมินผลการทำงาน แต่เริ่มมีความพยายามจากพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคที่จะให้มีการปรับ ครม.แล้ว นั่นคือ พรรคภูมิใจไทย ที่มีนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีมหาดไทย เป็นหัวหน้าพรรค โดยมีข่าวว่า แกนนำและ ส.ส.พรรคกลุ่มเพื่อนเนวินไม่พอใจการทำงานของนายชาติชาย พุคยาภรณ์ รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ซึ่งได้เป็นรัฐมนตรีจากโควตาของนายสรอรรถ กลิ่นประทุม แกนนำกลุ่มราชบุรี(ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี) โดยนายชวรัตน์และลูกพรรคไม่พอใจที่นายชาติชายไม่เคยเข้าร่วมประชุมพรรคเลย แถมถูกมองว่าไม่มีผลงาน จึงพยายามกดดันให้นายชาติชายลาออกจากรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางให้พรรคส่งคนใหม่มาเป็นรัฐมนตรีแทน โดยมีข่าวว่า นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวินจะส่งคนของตัวเองเข้ามาเป็นรัฐมนตรีแทนโควตาของนายสรอรรถ คือ นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม กลุ่มเพื่อนเนวิน ทั้งนี้ นายชาติชาย ยอมรับ(18 พ.ค.)ว่า ที่ผ่านมาตนอาจละเลยต่อการทำกิจกรรมกับพรรค เพราะมัวมุ่งแต่ทำงานในหน้าที่ จนอาจละเลยทำให้ผู้ใหญ่หลายคนเข้าใจผิด ตนต้องขอโทษ และว่า ทุกอย่างแล้วแต่พรรคจะตัดสินใจ เพราะที่ผ่านมาตนก็มีความสุข และภูมิใจที่ได้ทำงานให้เกษตรกร อย่างไรก็ตาม นายชาติชาย ได้เปิดแถลงอย่างเป็นทางการในวันต่อมา(19 พ.ค.)ถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทยจะปรับให้พ้นจากตำแหน่ง โดยยืนยันว่า ตนไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง แต่จะตัดสินใจเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม “ผมอยากถามว่า ผมบกพร่องอะไรหรือเปล่าในตำแหน่งหน้าที่รัฐมนตรี แต่โดยส่วนตัว ผมไม่ได้เป็นคนที่ยึดติดกับตำแหน่ง ยืนยันจะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุดจนถึงเวลาที่เหมาะสม จากนั้นผมคงจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป” ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายชาติชายได้เข้าพบแกนนำพรรคเพื่อขออยู่ในตำแหน่งจนถึงวันที่ 31 พ.ค. โดยให้เหตุผลว่า ขอเคลียร์งานที่ยังคั่งค้างอยู่ในเสร็จ แล้วจะลาออกเอง ซึ่งแกนนำพรรคฯ ยินยอมตามที่ขอ โดยนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคฯ ก็ยอมรับกับผู้สื่อข่าวว่า นายชาติชายขอเวลาทำงานถึงวันที่ 31 พ.ค.จริง และยังไม่มีการเซ็นใบลาออกไว้ล่วงหน้า และว่า “ขณะนี้ได้เตรียมบุคคลไว้ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ แทนนายชาติชายแล้ว แต่ยังบอกชื่อไม่ได้ เป็นคนของพรรคที่กำลังดูๆ อยู่” เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากแกนนำพรรคภูมิใจไทยจะกดดันผ่านสื่อให้นายชาติชายทิ้งเก้าอี้รัฐมนตรีแล้ว ยังใช้มติพรรคกดดันอีกทาง โดยได้ประชุมผู้บริหารและ ส.ส.พรรค(21 พ.ค.) และมีมติเอกฉันท์ให้นายชาติชายลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี นอกจากนี้ที่ประชุมยังให้สิทธิขาดนายชวรัตน์ เป็นผู้พิจารณาผู้เหมาะสมเป็นรัฐมนตรีแทนนายชาติชายด้วย ขณะที่นายสรอรรถ กลิ่นประทุม แกนนำกลุ่มราชบุรี พรรคภูมิใจไทย บอกว่า การเสนอชื่อรัฐมนตรีจากกลุ่มเพื่อนเนวินแทนกลุ่มของตน ไม่ถือเป็นการหักหน้า เป็นการตัดสินใจของพรรค แต่โควตายังเป็นของกลุ่มภาคกลาง ด้านนายชาติชาย พุคยาภรณ์ รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ให้สัมภาษณ์อีกครั้ง(22 พ.ค.)หลังพรรคมีมติให้ตนพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี โดยบอกว่า ยังไม่ทราบเรื่อง ตอนนี้คิดแต่เรื่องงานอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ชาติชาย บอกว่า “หลังประชุม ครม.วันที่ 26 พ.ค.นี้ ผมจะเปิดแถลงข่าวชี้แจงเรื่องนี้อีกทีที่กระทรวงเกษตรฯ เอาไว้รอฟังวันนั้นก็แล้วกัน แต่บอกได้คำเดียวว่า ผมจะไม่ทำให้ผิดหวังแน่นอน” นายชาติชาย ยังยืนยันด้วยว่า ไม่เคยต่อรองกับแกนนำพรรคว่าจะจ่ายเงินเพื่อแลกกับการได้อยู่ในตำแหน่งต่อไปแต่อย่างใด ขณะที่นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยังคงกดดันให้นายชาติชายลาออก โดยบอกว่า จะเสนอชื่อบุคคลเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีคนใหม่แทนนายชาติชาย ให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ภายในสัปดาห์หน้า และว่า ตอนนี้ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ บอกได้แค่ว่าเป็นบุคคลที่มาจากภาคอีสาน ทั้งนี้ นอกจากพรรคภูมิใจไทยที่เคลื่อนไหวเพื่อปรับ ครม.แล้ว ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็มีข่าวว่า ส.ส.หน้าใหม่ในพรรคประมาณ 40 คนก็เคลื่อนไหวให้มีการปรับ ครม.ของพรรคเช่นกัน เพราะไม่พอใจการทำงานของรัฐมนตรีของพรรค โดยเฉพาะนายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม และนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม ทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และหัวหน้าพรรคฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคฯ ต่างออกมายืนยันว่า จะยังไม่มีการปรับ ครม.ในส่วนของพรรคฯ พร้อมเชื่อว่า ไม่มี ส.ส.หน้าใหม่กดดันให้พรรคปรับ ครม. เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้จะมี ส.ส.หน้าใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์บางส่วน(เช่น นายชนินทร์ รุ่งแสง ,นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ฯลฯ) เปิดแถลงปฏิเสธข่าว ส.ส.หน้าใหม่ 40 คนไม่พอใจการทำงานของรัฐมนตรีของพรรคบางคน แต่พรรคประชาธิปัตย์กลับมอบหมายให้นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส.สัดส่วน ทำหน้าที่กาวใจระหว่าง ส.ส.กับรัฐมนตรีของพรรค โดยนายไตรรงค์ ยอมรับว่า ได้รับมอบหมายจากที่ประชุม ส.ส.และกรรมการบริหารพรรคในฐานะผู้อาวุโสในพรรค ให้ทำความเข้าใจกับ ส.ส. เพื่อปรับปรุงการทำงานร่วมกับรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง โดยจะพูดคุยทำความเข้าใจในการสัมมนาพรรคที่เกาะสมุย วันที่ 22-24 พ.ค.นี้ ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยนั้น ในการประชุมกรรมการบริหารพรรคเมื่อวันที่ 18 พ.ค. นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ได้แจ้งความจำนงที่จะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยให้เหตุผลว่า พรรคเพื่อไทยต้องทำหน้าที่ฝ่ายค้าน จึงจำเป็นต้องมีผู้นำฝ่ายค้านในสภา โดยพรรคจะมีการประชุมใหญ่ เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ในวันที่ 31 พ.ค.นี้ ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย แจ้งว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะได้รับสิทธิในการคัดเลือกตัวแทนมาดำรงตำแหน่งสำคัญในพรรค 5 ตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ซึ่งมีข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้วางตัวให้ พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา ทำหน้าที่หัวหน้าพรรค ขณะที่ พ.ต.ท.สมชายไม่ปฏิเสธข่าวดังกล่าว โดยบอกว่า ยังไม่ทราบข้อเท็จจริง แต่ตามมารยาทไม่ขอแสดงความคิดเห็นใดใด ต้องรอให้ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคพิจารณาก่อน ขณะที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคฯ ต่างออกมาปฏิเสธว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้เป็นผู้กำหนดตัวบุคคลที่จะมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคแต่อย่างใด ด้านนายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยที่พรรคจะเลือกหัวหน้าพรรคใหม่ในขณะนี้ โดยบอกว่า หากพรรคยังมีสภาพแบบที่เป็นอยู่ในขณะนี้ การเปลี่ยนหัวหน้าพรรคอาจทำให้พรรคไม่เป็นเอกภาพและเกิดความขัดแย้งได้ นายสุชาติ ยังเสนอด้วยว่า ควรรอให้มีการยุบสภาก่อน แล้วค่อยเลือกหัวหน้าพรรคที่เป็นตัวจริง เพื่อชูเป็นนายกฯ คนต่อไปเลยจะดีกว่า
2. อนุฯ สมานฉันท์ฯ แนะ คู่ขัดแย้งเปิดเจรจาลับ ด้านแกนนำ “เสื้อแดง”ยังมุขเดิม เหตุรุนแรงฝีมือ “แดงเทียม”!
ความคืบหน้าการทำงานของคณะอนุกรรมการ 3 ชุดที่คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งขึ้น คือ คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความสมานฉันท์ทางการเมืองของสังคมไทย ,คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการปฏิรูปการเมือง และ คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไข รธน. เริ่มได้ข้อสรุปแล้ว โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ค. คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธาน ได้เปิดแถลงข่าวผลงานในรอบ 15 วัน พร้อมด้วยประธานคณะอนุกรรมการทั้ง 3 ชุด โดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา และประธานคณะอนุกรรมการฯ ศึกษาแนวทางการแก้ไข รธน. เผยว่า อนุฯ ได้พิจารณาหลายเรื่อง เช่น การได้มาซึ่ง ส.ส. ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบให้มี ส.ส.500 คน แบ่งเป็นเขตเดียวเบอร์เดียว 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน ส่วนมาตรา 237 เรื่องยุบพรรค อนุกรรมการฯ เห็นว่าเป็นที่มาของความแตกแยก เห็นควรให้ตัดวรรค 2 ที่กำหนดให้ยุบพรรคและตัดสิทธิหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค 5 ปีออก เพื่อให้ความผิดของกรรมการบริหารพรรคเป็นความผิดเฉพาะตัว และไม่นำไปสู่การยุบพรรค ,มาตรา 190 (การทำสัญญาระหว่างประเทศที่อาจกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ฯลฯ ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา) เห็นควรให้แก้ไข เพราะทำให้รัฐบาลทำงานยาก แต่คงหลักการเดิมเอาไว้ ,มาตรา 265 ที่ห้าม ส.ส.เป็นเลขาฯ และผู้ช่วยรัฐมนตรี ควรจะแก้ไขให้เป็นได้ ,มาตรา 266 ที่ห้าม ส.ส.ก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการ ก็ควรจะแก้ไขให้ ส.ส.สามารถดูแลประชาชนในพื้นที่ได้ ส่วนที่มาของ ส.ว. ต้องแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย โดยมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ด้านนายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา และประธานคณะอนุกรรมการฯ ศึกษาแนวทางสมานฉันท์ เผยว่า ข้อเสนอของอนุกรรมการฯ คือ ให้แกนนำของคู่ขัดแย้งได้เจรจากันในทางลับ เพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน ขณะที่สื่อมวลชนควรปิดกั้นพื้นที่ข่าวที่ใส่ร้ายป้ายสีกัน พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นหลักในการรณรงค์ให้เกิดความสามัคคีล้างทุกสีสร้างชาติไทย ขณะที่นายประเสริฐ ชิตพงษ์ ส.ว.สรรหา และประธานคณะอนุกรรมการฯ ศึกษาแนวทางปฏิรูปการเมือง เผยว่า สิ่งสำคัญในการปฏิรูปการเมืองคือ ต้องสร้างวัฒนธรรมการเมืองของประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยในทุกระดับ และว่า อนุกรรมการฯ เสนอว่า น่าจะมีการแก้ รธน.มาตรา 291 เพื่อให้มีการตั้งสภาปฏิรูปการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อปฏิรูปครั้งใหญ่ในอนาคต ทั้งนี้ นายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ได้ขีดเส้นให้คณะอนุกรรมการทั้ง 3 ชุดส่งข้อสรุปและข้อเสนอพร้อมเหตุผลที่ชัดเจนและปฏิบัติได้ให้คณะกรรมการฯ ในสัปดาห์หน้า โดยคณะกรรมการชุดใหญ่จะเริ่มพิจารณาในวันที่ 26-28 พ.ค.นี้ ส่วนท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ต่อการแก้ไข รธน.ที่ก่อนหน้านี้ถูกอนุกรรมการจากพรรคเพื่อไทยติงว่า ไม่ยอมเสนอแก้ รธน.นั้น ในที่สุด พรรคประชาธิปัตย์ ก็เสนอความเห็นต่ออนุกรรมการฯ ศึกษาแนวทางการแก้ไข รธน.ว่า ควรปรับปรุง 5 มาตรา 1.หากจะแก้ไขมาตรา 237 ไม่ให้มีการยุบพรรค ก็ควรคงการลงโทษผู้กระทำผิดและกรรมการบริหารพรรค 2.มาตรา 190 ให้บัญญัติให้ชัดว่ามีหนังสือสัญญาลักษณะใดบ้างที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา 3.ปรับปรุงที่มาของ ส.ว.และอำนาจหน้าที่ให้สอดคล้องกันและทำในเวลาที่เหมาะสม 4.ปรับปรุงมาตรา 265 ให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองได้ 5.ปรับปรุงมาตรา 266 ให้ ส.ส.หรือ ส.ว.สามารถนำความเดือดร้อนของประชาชนไปแจ้งยังหน่วยงานรัฐได้ ส่วนความคืบหน้าการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสลายการชุมนุมทางการเมือง(ของกลุ่มเสื้อแดง 8-14 พ.ค.) ที่รัฐสภาตั้งขึ้น ซึ่งมีนายสมศักดิ์ บุญทอง รองอัยการสูงสุด เป็นประธานนั้น ได้มีประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18 พ.ค. โดยมีการเชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เข้าชี้แจง โดยนายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า การสลายการชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนกรณีที่ตนถูกรุมทุบรถที่กระทรวงมหาดไทย ก็ได้ใช้ความอดทนและสั่งการไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง ขณะที่นายสุเทพ ชี้แจงกรณีกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ จากพรรคเพื่อไทย(นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์) พยายามโยงว่าเกี่ยวข้องกับนายเนวิน ชิดชอบ และคนเสื้อน้ำเงินที่ปะทะกับกลุ่มเสื้อแดงที่พัทยาก่อนประชุมอาเซียนซัมมิทว่า มี ส.ส.หลายคนลงพื้นที่พัทยาด้วยความเป็นห่วง และตนก็พบนายเนวินจริง แต่ไม่ทราบว่ามีการบงการอะไรหรือไม่ นายสุเทพยังพูดถึงกรณีที่มีข่าวว่า คณะกรรมการฯ จะทำผลสรุปออกมา 2 ชุด คือ ความจริงของคนเสื้อแดงกับความจริงของรัฐบาลว่า ต้องเป็นความจริงของคณะกรรมการฯ ไม่ใช่ความจริงของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และความจริงจะต้องมีอย่างเดียว ทั้งนี้ กรรมการฯ จากพรรคเพื่อไทยได้ตำหนิ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกด้วยที่ไม่เข้าชี้แจงคณะกรรมการฯ ด้วยตัวเอง แต่ให้ พล.ต.องอาจ พงษ์ศักดิ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 เข้าชี้แจงแทน เป็นที่น่าสังเกตว่า นายพร้อมพงศ์ กรรมการฯ จากพรรคเพื่อไทย พยายามขออนุญาตนายสมศักดิ์ บุญทอง ประธานคณะกรรมการฯ เพื่อเปิดซีดีที่อ้างว่า ทหารใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม แต่นายสมศักดิ์ ไม่อนุญาต โดยบอกว่า นายกฯ มีเวลาชี้แจงน้อย ควรเก็บไว้พิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการเอง ซึ่งภายหลังนายพร้อมพงศ์ ก็ยังพยายามขอเปิดซีดีอีก พร้อมขู่ว่า ถ้าประธานไม่ให้เปิด ตนจะขอลาออก ส่งผลให้นายสมศักด์เกิดอาการสุดทน จึงตอบกลับไปว่า “คุณก็ชอบขู่ว่าจะลาออก ผมก็อยากจะลาออกเหมือนกัน” วันต่อมา(19 พ.ค.)คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้เชิญนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ มาชี้แจงเกี่ยวกับการชุมนุม โดยทั้งคู่อ้างว่า คนเสื้อแดงชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ แต่มีเสื้อแดงเทียมมาสร้างความปั่นป่วนก่อความรุนแรง ด้านกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยกคำปราศรัยในเชิงยั่วยุของแกนนำ นปช.เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดปฏิบัติการรุนแรงตามมา เช่น “ประชาชนมีสิทธิจับอาวุธ ทั้งปืนหรือมีด ทำลายรัฐบาลโจรได้ โดยไม่มีความผิด” และ “ให้ผู้ชุมนุมขับรถพุ่งชนรถของทหารได้เลย เพราะจะมีความผิดแค่กฎหมายจราจรเท่านั้น” ด้านนายณัฐวุฒิ พยายามปัดความผิดให้พ้นตัวด้วยการอ้างว่า “คำพูดบนเวทีปราศรัยนั้นไม่ใช่เป็นคำสั่งให้มวลชนปฏิบัติตามทั้งหมด แต่มันมีทั้งเรื่องจริงและเรื่องที่เป็นสีสัน” ขณะที่กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากพรรคประชาธิปัตย์ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก ก็มีการท้าเดิมพันเก้าอี้ ส.ส.กับนายจตุพร พรหมพันธุ์ โดย นพ.วรงค์ ถามนายจตุพรว่า เหตุการณ์รุมทุบรถที่กระทรวงมหาดไทย มีนักข่าวอยู่ในเหตุการณ์ ควรให้สื่อมายืนยัน ถ้าพบว่านายกฯ อยู่ในรถ นายจตุพรจะกล้าเอาตำแหน่ง ส.ส.เป็นเดิมพันหรือไม่ ขณะที่นายจตุพร โต้กลับว่า ถ้าพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วพบว่า นายอภิสิทธิ์อยู่ในรถคันดังกล่าวจริง ก็พร้อมจะลาออกจาก ส.ส.ทันที แต่ถ้าพบว่า นายกฯ ไม่อยู่ในรถ ถามว่าจะลาออกจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ วันต่อมา(20 พ.ค.) กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้เชิญ 4 ผอ.โรงพยาบาลมาให้ข้อมูลว่า มีคนตายจากเหตุสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงช่วงสงกรานต์หรือไม่ ประกอบด้วย ผอ.โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ,โรงพยาบาลรามาธิบดี ,โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งแพทย์ยืนยันว่า ไม่มีผู้เสียชีวิต มีแต่ผู้บาดเจ็บ 138 คนกระจายรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ โดยมีทั้งผู้ชุมนุมและทหารได้รับบาดเจ็บ และว่า มีทหารได้รับบาดเจ็บจากอาวุธปืนด้วย ซึ่งไม่ใช่อาวุธสงคราม แต่เป็นอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างต่ำ เช่น ปืนสั้นขนาด 9 มม.
3. “ศาล รธน.”รับวินิจฉัย พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล. แล้ว นัด “นายกฯ –ฝ่ายค้าน”ชี้แจง 26 พ.ค.นี้!
ในที่สุด พรรคเพื่อไทยฝ่ายค้านก็เดินเกมเข้าชื่อ ส.ส.1 ใน 5 ยื่นต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 จำนวน 4 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลเสนอนั้น ขัดหรือแย้งต่อ รธน.มาตรา 184 และ 185 หรือไม่ โดยนายชัยได้แจ้งให้ที่ประชุมสภาฯ ทราบเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ก่อนที่จะมีการประชุมเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.ดังกล่าว ขณะที่วิปรัฐบาลได้มีมติให้เลื่อนการพิจารณา พ.ร.ก.ดังกล่าวออกไปก่อน จนกว่าจะทราบผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกันนี้ยังให้เลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 4 แสนล้านบาทออกไปจากวาระการประชุมเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกัน จึงน่าจะพิจารณาในคราวเดียวกัน ด้านนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย แกนนำ ส.ส.ที่ยื่นเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ยืนยันว่า เป็นการใช้สิทธิของ ส.ส.ในการตรวจสอบ ไม่ได้มีเจตนาขัดขวางรัฐบาลในการบริหารงานแต่อย่างใด ขณะที่ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลง(17 พ.ค.)ตำหนิการกระทำของพรรคเพื่อไทยว่า ขณะนี้บ้านเมืองมีวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง ต้องยอมรับว่า พ.ร.ก.นี้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องและการจ้างงาน จึงไม่อยากให้มีการดำเนินการทางการเมืองเพียงเพื่อเอาชนะหรือตีรวน แล้วไปปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ชนบท ด้านนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้ว่า พ.ร.ก.กู้เงินดังกล่าว มีความสำคัญต่อรัฐบาล เพื่อนำมาใช้ในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจและทำให้เกิดการจ้างงาน เชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นความสำคัญและเร่งพิจารณาโดยเร็ว แต่หากผลการพิจารณาออกมาว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวขัด รธน.ก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องแก้ไขต่อไป ด้านคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีนายชัช ชลวร เป็นประธาน ได้ประชุมตรวจคำร้องของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย 99 คนที่เข้าชื่อให้ศาลฯ วินิจฉัย พ.ร.ก.ดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 20 พ.ค. และมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา พร้อมทั้งให้มีหนังสือแจ้งประธานสภาฯ ในฐานะผู้ร้องเพื่อทราบ รวมทั้งให้แจ้งนายกฯ ในฐานะคณะรัฐมนตรี และนายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้แทนผู้เสนอความเห็นต่อประธานสภาฯ ให้จัดทำคำชี้แจงมายังศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 25 พ.ค. และให้นายกฯ หรือผู้แทน และนายประเกียรติหรือผู้แทน เข้าชี้แจงด้วยวาจาต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 26 พ.ค.(เวลา 9.30น.) หากไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าไม่ติดใจที่จะชี้แจงหรือแสดงความเห็นเพิ่มเติม
4. “ครม.”ตีกลับ เช่ารถเมล์ 4 พันคัน – ข้องใจค่าซ่อมสูงกว่าค่าเช่า ด้าน “รถร่วมฯ”ฟ้องศาล ปค.ให้ระงับโครงการ!
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ได้เห็นชอบในหลักการแผนการปรับปรุงการบริหารจัดการและการบริการของระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ตามการเสนอของกระทรวงคมนาคม ทั้งในส่วนการปรับโครงสร้างองค์กร การปรับลดพนักงาน และงานด้านการเงิน เพื่อเห็นชอบให้ ขสมก.กู้เงินมาปรับโครงสร้างหนี้จากการให้บริการทางการค้า แต่ในส่วนของการลงทุนเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ระยะเวลา 10 ปี มูลค่ากว่า 6.9 หมื่นล้านบาทนั้น ที่ประชุมเห็นว่า กรอบวงเงินลงทุนที่เสนอเข้ามานั้น บางส่วนยังมีความแตกต่าง จึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ไปร่วมกันพิจารณาเพื่อหาข้อยุติภายใน 2 สัปดาห์ และนำกลับมาเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ กรอบวงเงินที่มีความแตกต่างกัน มีอยู่ 2 ประเด็น คือ ค่าซ่อมรถและเรื่องดอกเบี้ย เช่น เรื่องค่าซ่อมรถ มีการเสนอมา 2 อัตรา คือ สถาบันพระปกเกล้าเสนอที่ 4.50 บาท/กิโลเมตร ขณะที่ ขสมก.เสนอที่ 8-9 บาท/กิโลเมตร ด้านนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีคมนาคม เผยหลังประชุม ครม.ว่า ครม.มีมติเห็นชอบโครงการเช่ารถเมล์ 4,000 คัน แต่มีการท้วงติงเรื่องตัวเลขค่าซ่อมรถที่สูงกว่าตัวเลขค่าเช่า จึงให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อพิจารณารายละเอียด นายโสภณ ยังยืนยันด้วยว่า โครงการนี้มีความโปร่งใส แต่ ครม.ชุดนี้ไม่มีความรู้เรื่องนี้มาก่อน “เราใส่ตัวเลขรายละเอียดไปค่อนข้างเยอะ เพื่อให้มีความโปร่งใสมากที่สุด แต่ ครม.ชุดนี้ไม่มีความรู้เรื่องนี้มาก่อน จึงมีการสอบถามและต้องอธิบายกันค่อนข้างมาก” ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ พูดถึงโครงการเช่ารถเมล์ 4,000 คันว่า รัฐบาลมีหลักการที่สามารถดำเนินการได้คือ 1.ต้องมีการประกอบรถในประเทศไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 และ 2.ให้พิจารณาเรื่องการปรับลดตัวเลขต่างๆ ตามที่คณะทำงานของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ได้ดำเนินการไว้ก่อนหน้านี้ และว่า ครม.ได้ขอให้กลับไปทบทวน นายอภิสิทธิ์ ยังชี้ด้วยว่า เป็นหน้าที่ของ ครม.ในการพิจารณาทุกเรื่องที่เข้ามาเพื่อให้เกิดความรอบคอบรัดกุม ซึ่งเป็นธรรมดา ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต้องมี ครม. ด้านนายอรรคพล สรสุชาติ รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง ได้จับพิรุธกรอบวงเงินโครงการเช่ารถเมล์ 4,000 คันว่า ข้อมูลบางอย่างที่ ขสมก.นำเสนอให้ที่ประชุม ครม.ไม่เป็นไปตามที่เคยตกลงกันไว้ เช่น ตัวเลขระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เคยตรวจพบว่า ในการนำเสนอโครงการช่วงแรก ขสมก.นำข้อมูลของรถร่วมบริการ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับโครงการมารวมด้วยเป็นจำนวน 11,684 คัน คิดเป็นเงิน 5,941.67 ล้านบาท แต่ข้อมูลที่ ขสมก.นำมาเสนอครั้งนี้ ยังมีวงเงินส่วนนี้รวมเข้ามาอีก แต่ปรับลดลงมาอยู่ที่ 4,277.80 ล้านบาท ทั้งที่ควรจะตัดออกไป เช่นเดียวกับวงเงินปรับลดค่าจัดหาอู่ ที่ของเดิมตั้งไว้ที่ 5,920 ล้านบาท โดยตกลงว่าจะตัดงบส่วนนี้ออก แต่ในการนำเสนอครั้งนี้ กลับรวมเข้ามาด้วย โดยปรับลดลงมาอยู่ที่ 4,161 ล้านบาท นายอรรคพล ยังชี้ด้วยว่า จริงๆ แล้วงบประมาณโครงการนี้น่าจะอยู่ที่ 6.2 หมื่นล้าน ไม่ใช่ 6.9 หมื่นล้าน หรือ 6.6 หมื่นล้านที่ ขสมก.อ้างว่าเป็นตัวเลขที่เคยเสนอปรับต่อที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2551 นายอรรคพล ยังยกตัวอย่างความพยายามพลิกแพลงตัวเลขของกรอบวงเงิน 6.9 หมื่นล้าน และ 6.6 หมื่นล้านด้วย เช่น ราคารถมีการปรับลดลงมาอยู่ที่คันละ 5 ล้านบาท จากคันละ 6 ล้านบาท ซึ่งมีการอ้างว่า เป็นเพราะรถจะผลิตในประเทศ แต่ในส่วนของค่าซ่อมคิดกิโลเมตรละ 7.50 บาท สูงกว่าเดิมซึ่งอยู่ที่กิโลเมตรละ 4.50 บาท นอกจากนี้ยังมีเรื่องดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นถึง 10.25% จากเดิม 9.87% ด้านนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีคมนาคม ได้ประชุมร่วมตัวแทนกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 21 พ.ค.โดยได้ข้อสรุปวงเงินโครงการเช่ารถเมล์ 4,000 คันว่า จะลดลงมาจาก 6.978 หมื่นล้านบาท เหลือ 6.790 หมื่นล้านบาท ด้าน นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการโรงพยาบาลปิยะเวท บอกว่า สนใจที่จะเข้าร่วมประมูลจัดเช่ารถเมล์ 4,000 คัน โดยจะร่วมมือกับผู้ประกอบการที่ประกอบรถในประเทศไม่น้อยกว่า 7 รายในการดำเนินการ เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่า หากดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ จะคุ้มทุนภายใน 5 ปี อย่างไรก็ตาม นพ.บุญ ได้แสดงความเป็นห่วง ขสมก.ด้วยว่า คำนวณแผนการลงทุนของ ขสมก.แล้ว น่าเป็นห่วงว่า ขสมก.จะนำเงินจากไหนมาจ่ายค่าเช่ารถรวมค่าซ่อมวันละ 4,780 บาท เพราะดูรายได้ ขสมก.แล้ว เป็นไปไม่ได้ ขณะที่นายบรรยงค์ อัมพรตระกูล ประธานชมรมรถร่วม ขสมก. ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน โดยบอกว่า ในฐานะที่ตนประกอบกิจการเดินรถและประกอบตัวรถโดยสารมา 40 ปี เห็นว่า หาก ขสมก.ดำเนินโครงการดังกล่าว ต้องขาดทุนแน่นอน และหากขาดทุน ก็ต้องนำภาษีของประชาชนมาชดใช้หนี้สินของ ขสมก.ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด นายบรรยงค์ ยังเผยด้วยว่า ขณะนี้ตนได้ยื่นหนังสือต่อศาลปกครองแล้ว เพื่อให้ระงับการดำเนินโครงการนี้ เพราะจะกระทบต่อรถร่วมบริการ โดยหวังว่าศาลฯ จะพิจารณาก่อนที่โครงการดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.
5. “สธ.” ยัน หญิงชาวเยอรมันไม่มีเชื้อหวัดใหญ่ 2009 แต่ขอรอผลชิ้นเนื้อปอดอีกครั้ง!
สัปดาห์ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังคงพบผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยองค์การอนามัยโลก(WHO) รายงานว่า จนถึงวันที่ 22 พ.ค.ยอดผู้ป่วยทั่วโลกทะลุหมื่นคนแล้ว โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 11,168 ราย(สหรัฐฯ มากสุด 5,764 ราย) ส่วนผู้เสียชีวิตมี 86 ราย โดยในส่วนของไทยนั้น หลังพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 2 ราย และรักษาจนหายเป็นปกติแล้ว ก็ยังไม่พบผู้ป่วยเพิ่ม อย่างไรก็ตามมีกรณีที่น่าสงสัย คือ นางบาร์เบล กรูกเกมัน นักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน อายุ 65 ปี ซึ่งเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยเมื่อวันที่ 12 พ.ค. และเริ่มมีอาการป่วยมีไข้ในวันที่ 16 พ.ค. โดยอยู่ในข่ายเฝ้าระวังว่าป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ 2009 หรือไม่ แต่ปรากฏว่า ได้เสียชีวิตลงระหว่างจะส่งตัวจากโรงพยาบาลซาลเปาโล หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มารักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นับเป็นผู้ป่วยรายแรกที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังและเสียชีวิต ทั้งนี้ พล.ต.ท.สมยศ ดีมาก แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ เผยถึงผลการชันสูตรศพนางบาร์เบล กรูกเกมันเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ว่า ผลการตรวจที่ทางโรงพยาบาลใน อ.หัวหินส่งมายืนยันว่า ผู้เสียชีวิตมีเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยสาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากปอดติดเชื้อ อย่างไรก็ตามได้มีการส่งเสมหะและเนื้อเยื่อปอดไปตรวจพิสูจน์ยืนยันอีกครั้งที่สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) คาดว่าจะทราบผลในช่วงบ่ายวันเดียวกัน(19 พ.ค.) ส่วนศพผู้เสียชีวิต เก็บไว้อย่างดีที่สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ นพ.สมยศ เผยด้วยว่า ได้มีคำสั่งไปยังนิติเวชวิทยาให้กักบริเวณเจ้าหน้าที่ที่ตรวจศพ ,แพทย์ ,ผู้ช่วยแพทย์ และนักศึกษาแพทย์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร 14 คนไว้ที่ชั้น 2 โรงพยาบาลตำรวจ เป็นเวลา 7 วัน เพื่อตรวจสอบเชื้อก่อน อย่างไรก็ตาม นพ.สมยศ บอกว่า การติดเชื้อจากผู้ตาย มีโอกาสน้อยมากเพียง 1% เท่านั้น หากไม่ได้สัมผัสเชื้อโดยตรง ด้านนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข ได้ออกมาแย้งผลตรวจที่นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจระบุว่า นักท่องเที่ยวหญิงชาวเยอรมันที่เสียชีวิตมีเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ในช่วงเย็นวันเดียวกัน(19 พ.ค.) โดยบอกว่า ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และห้องปฏิบัติการคู่ขนาน ยืนยันว่า นักท่องเที่ยวดังกล่าวไม่ได้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 2009 แต่เกิดจากปอดบวม และว่า หลังจากนี้จะประสานโรงพยาบาลต่างๆ ว่า ต่อไปนี้การรายงานผลตรวจเชื้อ ให้รอผลห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และห้องปฏิบัติการคู่ขนานของโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาฯ ยืนยัน เนื่องจากขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการที่มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ เป็นประธาน จึงต้องทำให้เป็นมาตรฐาน ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ได้สอบถามนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ยืนยันว่า ไม่ได้ให้ข่าวว่าผู้ป่วยดังกล่าวติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 บอกเพียงว่าต้องรอผลตรวจจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เท่านั้น และว่า จากประวัติการรักษาของผู้ป่วยดังกล่าว ไม่พบว่ามีไข้สูง เป็นเพียงไข้ต่ำๆ เท่านั้น หากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 จะต้องมีไข้สูงอย่างน้อย 3 วัน ทั้งนี้ นพ.ไพจิตร์ ได้เปิดแถลงอีกครั้งในวันต่อมา(20 พ.ค.)โดยยืนยันว่า ผลการตรวจวิเคราะห์เชื้อจากสารคัดหลั่งของหญิงชาวเยอรมันจากห้องปฏิบัติการของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการคู่ขนานกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุผลชัดเจนเช่นเดียวกันคือ ผู้เสียชีวิตรายนี้ไม่ได้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 รวมทั้งไม่ได้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิดบีด้วย แต่จำเป็นต้องตรวจสอบเชื้อที่ทำให้ปอดอักเสบ โดยส่งชิ้นเนื้อที่ปอดของผู้เสียชีวิตให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลตรวจสอบแล้ว คาดว่าจะทราบผลใน 3-7 วัน นพ.ไพจิตร์ บอกด้วยว่า ไม่มีความจำเป็นต้องกักตัวแพทย์ ผู้ช่วยแพทย์ และนักศึกษาแพทย์ทั้ง 14 คนที่โรงพยาบาลตำรวจอีกต่อไป เพราะผู้เสียชีวิตไม่ได้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า นพ.ไพจิตร์ เผยว่า สามีของผู้เสียชีวิตชาวเยอรมันเริ่มมีอาการป่วยเป็นไข้ตั้งแต่เมื่อเย็นวันที่ 19 พ.ค.โดยมีอุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส ซึ่งแพทย์ที่โรงพยาบาลหัวหินได้รับตัวไว้รักษา และส่งเชื้อไปตรวจแล้ว แต่ยังไม่ทราบผล ด้าน นพ.อมร ลีลารัศมี อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้กล่าวในงานอบรมโรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดต่ออุบัติใหม่ให้กับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข 8 จังหวัดภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 พ.ค.โดยพูดทำนองติงการรายงานผลของกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการเสียชีวิตของหญิงชาวเยอรมันว่า การรายงานผลของกระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องให้เกิดความชัดเจน ต้องมีการชี้แจงว่า หากหญิงชาวเยอรมันไม่ได้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ แล้วเสียชีวิตจากเชื้ออะไร เพื่อขจัดความคลางแคลงใจของสังคม นพ.อมร ยังชี้ด้วยว่า การนำเชื้อจากเสมหะมาตรวจ หากพบเชื้อเป็นลบ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีเชื้อเสมอไป เพราะเชื้ออาจจะลดลงเมื่อเสียชีวิต หรือการเก็บตัวอย่างอาจไม่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม กรณีที่เสียชีวิต สามารถนำชิ้นเนื้อจากปอดมาตรวจพิสูจน์ได้ ก็จะได้ผลเชื้อที่ชัดเจนที่สุด ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาพูดถึงการตรวจชิ้นเนื้อปอดของหญิงชาวเยอรมันที่เสียชีวิตอีกครั้ง(22 พ.ค.)ว่า ตนได้ประสานเพื่อหารือกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และนายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจในเร็วๆ นี้ และว่า เบื้องต้นพบว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้มีประวัติค่อนข้างสลับซับซ้อน ทั้งเรื่องที่น่าจะมีภูมิต้านทานต่ำ ทำให้เชื้อที่เกิดอาจเป็นเชื้อที่ไม่ปกติ และยังมีปัญหาเรื่องโรคหัวใจด้วย ซึ่งตำรวจอยู่ระหว่างพิสูจน์.